วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563

6 Rules for Success [Schwarzenegger]


กฎ 6 ข้อแห่งความสำเร็จ

          เชื่อว่าทุกคนคงรู้จัก Arnold Schwarzenegger กันดี เขาเป็นผู้ประสบความสำเร็จทั้งการเป็นแชมป์โลกกีฬาเพาะกาย ดาราฮอลลิวูด ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนในตลาดการเงิน เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้นคือ กฎ 6 ข้อแห่งความสำเร็จที่เขาสร้างขึ้นมาเองและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในชีวิตประจำวัน แม้กฎที่ว่านี้จะมีบางส่วนขัดแย้งกับกฎทางสังคมอยู่บ้าง แต่ Arnold ยืนยันว่ากฎที่เขาสร้างขึ้นมาทั้ง 6 ข้อนี้สามารถนำไปใช้ปฏิบัติให้บรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายได้จริง

1. ยึดมั่นตามความใฝ่ฝันของตน (Trust Yourself) 
          กฎข้อแรกของความสำเร็จ คือ ต้องมีความใฝ่ฝันหรือเป้าหมาย มิเช่นนั้นก็จะเป๋ไปเป๋มา (drift around) อย่างไร้จุดหมายและไม่พบกับความสำเร็จใดๆ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าการมีความใฝ่ฝัน คือ ความใฝ่ฝันหรือเป้าหมายที่มีนั้นจะต้องเป็นของเราเอง ไม่ใช่เอาความใฝ่ฝันที่พ่อแม่มีต่อตัวเรามาเป็นความใฝ่ฝันของเรา Arnold เล่าว่า เมื่อตอนเป็นเด็ก เขาใฝ่ฝันจะเป็นแชมป์โลกกีฬาเพาะกาย อยากเป็นนักเพาะกายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในความทรงจำ ไม่ใช่แค่ชนะการแข่งขันสักครั้งสองครั้ง แต่พ่อแม่ของ Arnold มีความใฝ่ฝันที่ต่างออกไป พวกเขาอยากให้ Arnold เป็นตำรวจเหมือนพ่อ แต่งงานกับผู้หญิงที่ชื่อ Heidi และมีลูกเป็นโขลงเหมือนครอบครัว Trapp ในภาพยนตร์เรื่อง The Sound of Music ในขณะที่ Arnold ต้องการไปจากบ้านเกิดของเขาในออสเตรียและมุ่งหน้าสู่อเมริกาเพื่อเป็นแชมป์ เขาเชื่อมั่นในความตั้งใจของตนเองและทำตามนั้น เขาเชื่อว่าตราบใดที่เรามีความใฝ่ฝันที่แข็งแกร่งพอ ทุกสิ่งจะกลายเป็นเรื่องง่ายเพราะเราจะสนุกไปกับการทำให้สำเร็จตามความใฝ่ฝันนั้น

          แต่เราก็อาจมีความใฝ่ฝันได้หลายๆ อย่างในชีวิต มันคงเป็นเรื่องยุ่งยากและไม่มีทางประสบความสำเร็จหากเราตั้งเป้าที่จะทำความใฝ่ฝันเหล่านั้นให้สำเร็จพร้อมกันทั้งหมด Arnold แนะให้เราลองขุดลึกลงไปในความใฝ่ฝันเหล่านั้นและถามตัวเองว่า เราต้องการเป็นใคร หรือพูดให้ชัดๆ ก็คือ เราต้องการให้ตัวเราเป็นอย่างไร คำถามนี้จะช่วยให้เราเห็นภาพความใฝ่ฝันที่เด่นชัดที่สุด ”ใคร” ในคำถามนี้ Arnold หมายถึงตัวเขาเองที่จะต้องฝึกฝนเคี่ยวกรำ พัฒนาไปทีละขั้นตอนจนกว่าจะได้เป็น Arnold คนใหม่ที่มีคุณสมบัติอย่างที่ต้องการ

2. ไม่ติดยึดกับกฎทั่วไป (Break Some Rules)
          เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามความใฝ่ฝัน เราต้องคิดให้นอกกรอบ ไม่ติดยึดอยู่กับกฎทั่วไปที่ท้าทายการพิสูจน์ จะมีประโยชน์อะไรถ้าสิ่งที่เราต้องการทำทั้งหมดนั้นไปเหมือนกับของคนอื่นๆ เคยมีกฎทั่วไปอยู่ข้อหนึ่งว่า เฉพาะคนที่สูงและรูปร่างใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถเป็นแชมป์เพาะกายระดับ Mr. Universe, Mr. Olympia, และตำแหน่งใหญ่ๆ ในวงการกีฬาเพาะกาย Franco Columbu เป็นผู้ที่สูงเพียง 5 ฟุต 5 นิ้ว เขาเคยถูกปรามาสว่าไม่มีทางชนะในตำแหน่งสำคัญๆ เหล่านี้ หากเขาเชื่อตามกฎเหล่านั้น Columbu ก็คงไม่ได้เป็น Mr. Olympia 2 สมัย สำหรับ Arnold เขาประสบความสำเร็จยิ่งกว่า Columbu คือได้เป็น Mr. Olympia ถึง 6 สมัยก็เพราะไม่ยึดติดกับกฎทั่วไปเช่นกัน

          Arnold เคยถูกปรามาสว่าไม่มีทางได้เป็นดาราภาพยนตร์ในบท action เพราะเขาไม่มีคุณสมบัติอะไรที่จะได้รับบทเด่นในภาพยนตร์ ทั้งร่างกายก็ใหญ่โตเกินไป มีสำเนียงที่ใครก็ฟังไม่รู้เรื่อง มิหนำซ้ำนามสกุลก็ออกเสียงลำบาก เขาไม่สนใจกฎเหล่านั้น เขาเข้าเรียนในสถาบันฝึกการแสดงและสถาบันสอนภาษาอังกฤษ และด้วยการทุ่มเทอย่างหนัก ในที่สุดเขาก็ได้รับบทเด่นในภาพยนตร์อย่างที่เราคงได้ดูกันมาแล้วหลายๆ เรื่อง เช่น The Terminator, The Predator, Commando, Conan ฯลฯ เป็นหนึ่งในดาราค่าตัวแพงที่สุดในฮอลลิวู้ด เป็นดาราที่คนรู้จักกันทั้งโลกก็ด้วยความแตกต่างไปจากคนอื่นและไม่นำกฎทั่วไปมาเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาตนเอง

3. ไม่กลัวความล้มเหลว (Don’t be Afraid to Fail – No Plan B) 
          Arnold กล่าวว่า ทุกสิ่งที่เขาได้ลงมือทำ เขาพร้อมที่จะพบกับความล้มเหลว ถึงแม้คนเราจะไม่สามารถเป็นผู้ชนะได้ทุกครั้ง แต่ก็อย่าได้กลัวจนไม่กล้าตัดสินใจทำ อย่าปล่อยให้ความกลัวมาทำให้คุณด้านชาจนขยับอะไรไม่ได้ คนเราจะมีความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งใดให้สำเร็จก็ต่อเมื่อเขาคนนั้นมีความเชื่อมั่นในตนเอง เชื่อในความใฝ่ฝัน รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นหนทางที่ถูกต้อง เมื่อนั้นความสำเร็จก็จะเกิดขึ้น อย่ากลัวที่จะล้ม เพราะการล้มไม่ใช่สิ่งผิด หากเรามีความมุ่งมั่นพอ เมื่อใดที่เราล้ม เราจะสามารถลุกขึ้นยืนใหม่ได้เสมอ ถ้าเราต้องการทำลายสถิติอะไรสักอย่าง เราจำเป็นต้องเสี่ยง สมมุติว่าน้ำหนักสูงสุดที่เรายกได้คือ 400 ปอนด์ แต่เราต้องการจะยกให้ได้ 420 ปอนด์ หากเรากลัวจะยกไม่ไหว ไม่กล้าแม้แต่จะลอง ก็ไม่มีวันที่เราจะรู้ว่าเราทำได้หรือไม่ ความล้มเหลวคือผลจากการที่บุคคลล้มแล้วไม่ยอมลุก ชัยชนะคือผลจากการที่บุคคลล้มแล้วลุกขึ้นมาสู้ต่อ การล้มไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวเพราะทุกคนในโลกล้วนแต่เคยล้มกันมาแล้ว จงอย่ากลัวที่จะทำความใฝ่ฝันของเราให้สำเร็จ

          Arnold ไม่ชอบการมีแผนสำรอง (Plan B) เพราะเท่ากับยอมรับความพ่ายแพ้ตั้งแต่แรกและพร้อมที่จะล้มเลิกความพยายามเพื่อมาเริ่มต้นใหม่ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เขากล่าวว่า เราควรทุ่มเทให้กับความใฝ่ฝันหรือเป้าหมายของเราให้เต็มที่ การที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จก็เพียงเพราะเรายังอยู่ระหว่างการเดินทางเท่านั้น

4. ไม่สนใจใครจะว่า เป็นไปไม่ได้ (Ignore the Naysayers) 
          เราคงเคยได้ยินคำท้วงติงที่ว่า อย่าทำนั่น อย่าทำนี่ ไม่เคยมีใครทำมาก่อน Arnold กล่าวว่า เขาชอบที่จะทำสิ่งที่ไม่มีใครทำมาก่อนเพราะหากเขาทำสำเร็จ ก็หมายถึงเขาได้กลายเป็นคนแรกที่ทำสิ่งนั้นได้ เพราะฉะนั้นไม่ควรไปสนใจกับคนที่ชอบพูดว่า มันทำไม่ได้ จงพูดกับตัวเองว่า “เราทำได้” จริงอยู่ มันอาจไม่สำเร็จในการทำเพียงครั้งเดียว เราอาจต้องล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่อย่าไปกลัวมัน Arnold เล่าว่า เมื่อตอนอายุ 15 เขาบอกกับคนในหมู่บ้านว่าอยากเป็นแชมป์โลกเพาะกาย ทุกคนบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ พวกเขาบอกว่าเพาะกายเป็นกีฬาของคนอเมริกัน อยู่ที่ออสเตรียดีกว่า ยังมีโอกาสได้เป็นแชมป์สกี จักรยาน หรือกีฬาประเภทลู่ประเภทลานได้ แต่หากไปอเมริกาจะไม่มีทางได้แชมป์เพาะกายได้เลย Arnold กล่าวว่าหากเขารับฟังสิ่งที่คนพวกนี้พูด ป่านนี้ก็คงนั่งร้องโห่ละเล (yodel) อยู่แถบเทือกเขาแอลป์ ประเทศออสเตรีย เขาไม่เพียงไม่ฟัง แต่กลับมุ่งสู่อเมริกาและสร้างประวัติศาสตร์การเป็นแชมป์กีฬาเพาะกายตามความใฝ่ฝัน

          Arnold เล่าต่อว่า ตอนที่เขาจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่ารัฐแคลิฟอร์เนีย ก็มีคนออกมาเตือนว่า อย่าเลย คุณทำไม่ได้หรอก ถ้าต้องการลงเลือกตั้งต้องไปเริ่มที่ตำแหน่งนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกวุฒิสภา แล้วจึงค่อยมาลงสมัครผู้ว่าการรัฐ เขาได้บอกคนเหล่านั้นไปว่า เขาอยากทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะและตอบแทนสังคมอย่างแท้จริง เขาจะต้องลงสมัครในตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ และในอีกสองเดือนต่อมา เขาก็ได้กลายเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย

5. ทำงานเป็นบ้าเป็นหลัง (Work Like Hell & Advertise) 
          Arnold เกลียดคนที่พูดว่าไม่มีเวลาจะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ เขากล่าวว่าวันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง หักเวลานอนออกไป 6 ชั่วโมง ก็เหลือ 18 ชั่วโมง ทำงานประจำสัก 8-10 ชั่วโมง ก็ยังเหลือตั้ง 10 ชั่วโมง มันยังไม่พอที่จะใช้ทำเรื่องที่ว่านั้นอีกหรือ อ่านหนังสือ ดูแลครอบครัว พบปะเพื่อนฝูง เหลือเวลาไว้สักวันละ 30-45 นาทีไว้ทำเรื่องที่อยากทำ แค่นี้ก็น่าจะแก้ปัญหาที่ว่าไม่มีเวลาได้แล้ว ที่จริงวันหนึ่งมีตั้ง 24 ชั่วโมง เราไม่ควรไปจำกัดว่าจะต้องทำอะไรแค่นั้นแค่นี้ชั่วโมง ลุยมันไปเลย ไม่มีใครประสบความสำเร็จได้โดยไม่ทำงานหนัก มันไม่มีทางลัด ทุ่มไปสุดๆ แล้วคุณจะได้พบกับความสำเร็จ เคยมีคนไปถาม Mohammed Ali แชมป์โลกมวยสากลที่โด่งดังเป็นพลุแตกในช่วงทศวรรษที่ 1970 ว่า เขาออกกำลังกล้ามท้อง (sit-up) วันละกี่ครั้ง Ali ตอบว่า เขาไม่ได้นับตั้งแต่แรก จะมาเริ่มนับเอาเมื่อตอนรู้สึกเจ็บ เพราะหากไม่ยอมเจ็บ ก็จะไม่ได้สิ่งที่มุ่งหวัง (No pain, no gain)

          Arnold ให้ความสำคัญกับการใช้สื่อสังคมในการโฆษณาตัวเอง เขากล่าวว่าการให้คนอื่นรู้ว่าเรามีอะไรดี เป็นเรื่องที่จำเป็นและไม่ทำให้ความเหนื่อยยากทั้งหลายที่ทำไปต้องสูญเปล่า

6. ตอบแทนสังคม (Give Something Back) 
          เราไม่สามารถมาอยู่ ณ ที่ปัจจุบันได้โดยไม่มีใครช่วย ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราไม่ได้ทำอะไรด้วยตนเองเพียงลำพัง Arnold กล่าวว่าสิ่งที่เขาทำมาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จทางธุรกิจ การเมือง รายได้ รวมถึงการเพาะกาย การจัดตั้งมูลนิธิ องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้ล้วนได้รับความช่วยเหลือจากผู้คนมากมาย ก็เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่นมา ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องช่วยเหลือผู้อื่นบ้าง นี่เป็นเหตุที่ Arnold ได้จัดตั้งโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน (afterschool program), ให้ความช่วยเหลือกีฬาสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา (special Olympics), รวมถึงการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อให้โลกเป็นสถานที่น่าอยู่อาศัยมากกว่าที่เป็นอยู่ Arnold กล่าวว่า เราจำเป็นต้องช่วยเหลือประชาชน มีเด็กเป็นล้านๆ คนที่รอการช่วยเหลือ เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนหรือไม่ได้เรียนหนังสือ เราต้องช่วยให้พวกเขาอ่านออกเขียนได้ ให้พวกเขาสามารถลุกขึ้น จงช่วยกันทำสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ ตอบแทนสิ่งดีๆ คืนให้กับสังคม

          ถ้าผู้อ่านได้เคยอ่านบทความเรื่อง 17 Principles of Success ของ Napoleon Hill ซึ่งผู้เขียนลงใน drpiyanan.com เมื่อเดือนเมษายน 2562 จะเห็นว่า แม้ความสำเร็จของ Arnold Schwarzenegger และ Napoleon Hill จะอยู่ห่างกันเกือบหนึ่งศตวรรษ แต่ข้อสรุปของทั้งสองคนไม่มีข้อใดที่ขัดแย้งกัน จะต่างกันก็ตรงที่ Napoleon Hill ลงในรายละเอียดมากกว่าและกล่าวถึงการทำงานเป็นทีมด้วย ส่วน Arnold ยกตัวอย่างความสำเร็จเฉพาะของปัจเจกบุคคล เช่น ของตัวเขาเอง, Franco Columbu, และ Mohammed Ali แต่ก็ตงไม่ผิดอะไรที่จะนำไปใช้กับทีมงานหากความใฝ่ฝัน (vision) ที่กำหนดขึ้นมาเป็นแสงนำทางนั้น เป็นความใฝ่ฝันของทีมงานอย่างแท้จริง

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น