วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2564

8 Common Goal Setting Mistakes


ความผิดพลาดพื้นฐาน 8 ประการในการกำหนดเป้าหมายส่วนบุคคล

          บุคคลย่อมมีเป้าหมาย (personal goal) ในการดำเนินชีวิตของตน อาจเป็นปณิธานที่เก็บซ่อนไว้ในใจแต่ผู้เดียว, อาจเขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเตือนตน, หรืออาจบอกคนใกล้ชิดให้เป็นพยานรับรู้ความตั้งใจดังกล่าว เป้าหมายเป็นทั้งเครื่องชี้ทิศทางและแรงจูงใจที่ผลักดันให้บุคคลยอมอดทนฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้ได้ในสิ่งที่มุ่งหวัง ส่วนเป้าหมายที่ไม่เคยพบความสำเร็จแม้จะได้ใช้ความพยายามไปมากมายเพียงใด ก็อาจเป็นสิ่งที่สร้างความผิดหวังให้กับชีวิตจนไม่อยากอยู่ร่วมในสังคมอีกต่อไป การกำหนดเป้าหมายจึงเป็นจุดเริ่มต้นของทั้งความสำเร็จหรือล้มเหลว และเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องเรียนรู้ว่า อะไรคือความผิดพลาดที่ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้มีอยู่ในเป้าหมายของเรา  

          ความผิดพลาดพื้นฐานในการกำหนดเป้าหมายส่วนบุคคลมี 8 ประการ ได้แก่

1. กำหนดเป้าหมายที่ไม่สมจริง (Setting unrealistic goals)
          ในการกำหนดเป้าหมาย เราจำเป็นต้องใช้จินตนาการและความใฝ่ฝันเพื่อค้นหาสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นความปรารถนาที่แท้จริงสำหรับเรา อย่างไรก็ตาม เราต้องมั่นใจด้วยว่า สิ่งที่เป็นเป้าหมายนั้น จะต้องมีความสมจริง คือมีโอกาสสำเร็จได้ถ้าใช้ความมานะพยายามอย่างเต็มที่ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด หลายคนกำหนดเป้าหมายที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วน (perfection) ในทุกด้านซึ่งเป็นเป้าหมายที่ไม่สมจริง หรือเป้าหมายที่ตนเองไม่มีคุณสมบัติหรือความสามารถที่จะทำให้สำเร็จ

          ในทางตรงข้ามก็มีหลายคนกลัวความล้มเหลวหากกำหนดเป้าหมายให้ยากเกินไป จึงลดคุณค่าของเป้าหมายลงจนกลายเป็นความคาดหวังดาด ๆ พื้น ๆ ที่ขาดความท้าทาย เป็นเรื่องที่สามารถทำให้สำเร็จได้โดยแทบไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ และไม่มีความรู้สึกผูกพันกับเป้าหมายนั้น ที่กล่าวว่าเป้าหมายที่ธรรมดาหรือง่ายเกินไปเป็นเป้าหมายที่ไม่สมจริงเพราะเป็นการขัดกับคุณสมบัติพื้นฐานของเป้าหมายที่จะต้องมีโอกาสล้มเหลวได้หากไม่ใช้ความมุมานะพยายามอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังจะต้องมีคุณค่าและความสำคัญที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิต หากขาดคุณสมบัติเหล่านี้ไป สิ่งนั้นก็ไม่ใช่เป้าหมาย เป็นเพียงสิ่งที่คาดหมายว่าจะทำในการใช้ชีวิตตามปกติเท่านั้น

2. กำหนดเป้าหมายที่ขาดความสมดุล (Focusing on too few areas)
          ในการกำหนดเป้าหมายในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราจำเป็นต้องมีเป้าหมายการกระทำหรือภารกิจอื่นที่สามารถรักษาความสมดุลของชีวิตเอาไว้ด้วย เช่น การกำหนดเป้าหมายว่าจะสอบเข้าแพทย์ในปีหน้า แม้จะเป็นเป้าหมายที่มีความเป็นไปได้หากเรากำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ แต่การตั้งเป้าหมายเพื่อผ่านการคัดเลือกแต่เพียงอย่างเดียว อาจทำให้เราคร่ำเคร่งอยู่กับการอ่านหนังสือจนขาดการพักผ่อน ร่างกายอ่อนล้า สมองสับสนจนไม่สามารถรับข้อมูลอย่างมีคุณภาพ เราจึงควรตั้งภารกิจอื่น ๆ ประกอบเพื่อรักษาสมดุลของร่างกายและสุขภาพไว้ด้วย เช่น นอนไม่น้อยกว่าวันละห้าชั่วโมง, ทานอาหารครบทั้งสามมื้อ, ออกกำลังกายเบา ๆ, เดินช้า ๆ ในที่มีอากาศถ่ายเท, นึกทบทวนความรู้ที่อ่านไปอย่างเป็นระบบ เป็นต้น

          การกำหนดเป้าหมายใด ๆ ในชีวิต ต้องให้มั่นใจว่าไม่ใช่การได้อย่างเสียอย่าง แม้ว่าการทุ่มเทเพื่อบรรลุเป้าหมายจะเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ แต่หากการทุ่มเทนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง, ทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัว, เสียมิตร ฯลฯ ก็จำเป็นจะต้องกำหนดภารกิจอื่นที่ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบเหล่านั้นไว้ด้วยจึงจะถือว่าเป็นการกำหนดเป้าหมายโดยไม่ผิดพลาด

3. ประมาณเวลาที่ไม่สมเหตุสมผลกับเป้าหมาย (Irrational completion time)
          เป้าหมายย่อมมีกำหนดเวลาว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด ความปรารถนาที่จะได้รับความสำเร็จตามเป้าหมายให้เร็วที่สุด ประกอบกับการขาดประสบการณ์ในเส้นทางสู่เป้าหมาย มักทำให้ผู้กำหนดเป้าหมายมองข้ามปัญหาอุปสรรคที่สำคัญบางอย่างไป และประมาณระยะเวลาที่ต้องใช้เพื่อบรรลุความสำเร็จตามเป้าหมาย น้อยกว่าที่ควรเป็น ผลก็คือ เมื่อลงมือปฏิบัติก็ไม่สามารถสร้างความสำเร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เกิดความรู้สึกผิดหวังท้อแท้และยกเลิกเป้าหมายนั้นไปในที่สุด ดังนั้น แม้จะได้วางแผนงานกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติและระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนไว้อย่างครบถ้วนเพียงใดก็ตาม ในการกำหนดเป้าหมายก็ควรสำรองเวลาให้กับเหตุที่คาดไม่ถึงไว้ด้วย

          ในทางตรงข้าม จะต้องไม่เผื่อเวลาไว้มากเกินไปจนขาดแรงกระตุ้นให้ต้องรีบปฏิบัติ (lacking a sense of urgency) เมื่อมีเวลามาก ผู้กำหนดเป้าหมายก็มักจะปล่อยเวลาให้ผ่านไปเรื่อย ๆ จนเมื่อใกล้ถึงกำหนดจึงค่อยมาเร่งเพื่อชดเชยเวลาที่เสียไป ในกรณีที่เป้าหมายมีความยุ่งยากและจำเป็นต้องกำหนดเวลาไว้นานในลักษณะเป้าหมายระยะยาว ก็ควรแบ่งเป้าหมายนั้นออกเป็นเป้าหมายย่อย หรือแบ่งเป็นช่วง (phrase) ของการดำเนินการเพื่อประเมินความก้าวหน้าและปรับแผนให้สัมพันธ์กับสภาวการณ์ในขณะนั้น

4. ไม่นำบทเรียนที่เคยได้รับจากความผิดพลาดมาใช้ในการกำหนดเป้าหมาย (Not appreciating failure)
          ไม่ว่าเราจะใช้ความระมัดระวังในการใช้ชีวิตและการปฏิบัติตามเป้าหมายเพียงใดก็ตาม ความผิดพลาดก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราต้องใช้เวลาในการปฏิบัติตามเป้าหมายนานขึ้นกว่าที่คาดไว้ เมื่อความผิดพลาดเป็นส่วนหนี่งของธรรมชาติในการทำงาน เราจึงไม่ควรตีอกชกหัวฟูมฟายอะไรมากมายกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเรา สิ่งที่ควรทำคือ ปรับหรือกำหนดเป้าหมายใหม่ด้วยความรู้เท่าทันว่าจะแก้ไขหรือควบคุมความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นอย่างไรจึงจะไม่เกิดซ้ำ

          ความผิดพลาดที่มักเป็นสาเหตุให้ต้องมาปรับเป้าหมายกันใหม่ คือการกำหนดเป้าหมายที่กว้างเกินไป (too general) เช่นกำหนดว่าต้องการรวยขึ้น, หรือมีความสุขมากขึ้น, หรือมีสุขภาพดีขึ้น ซึ่งเป็นคำที่กว้างจนไม่สามารถวัดความสำเร็จที่แท้จริงได้ เช่น หากมีคนเอาเงินมาให้เรา 1 บาท เราก็รวยขึ้น 1 บาทซึ่งเป็นการรวยขึ้นจริงตามเป้าหมาย แต่ความรวยขึ้นเช่นนั้นก็คงไม่มีความหมายอะไรกับชีวิตของเรา ในการกำหนดเป้าหมายจึงต้องกำหนดนิยามที่ชัดเจนว่าที่ว่ามากขึ้นนั้นคือเท่าไร ภายในกรอบระยะเวลาใด เป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้เราประเมินได้ตั้งแต่แรกว่ามีความสมจริงหรือไม่ จะต้องวางแผนการปฏิบัติและการวัดความสำเร็จอย่างไร

5. นำเป้าหมายของผู้อื่นมาเป็นของตน (Setting other people’s goals)
          เป้าหมายคือความมุ่งหวังของแต่ละคน เป็นแรงผลักดันให้บุคคลยอมอดทนต่อความยากลำบากเพื่อความสำเร็จตามที่มุ่งหวัง ความมุ่งมั่นหรือพร้อมจะอดทนเช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้นกับใจเราหากเป้าหมายนั้นเป็นของคนอื่น กรณีตัวอย่างที่เชื่อว่าผู้อ่านเกือบทุกท่านน่าจะมีประสบการณ์มาด้วยตนเอง คือการที่พ่อแม่หรือครูอาจารย์มุ่งหวังให้เราเข้าเรียนคณะโน้นคณะนี้เพื่อจบออกมาประกอบอาชีพซึ่งท่านเห็นว่าจะสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับชีวิต เป็นการเอาเป้าหมายของท่านมาฝากไว้เป็นเป้าหมายของเรา ที่จริงแล้ว ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่ตัวเป้าหมายที่แนะนำ แต่อยู่ที่การรับเอาเป้าหมายนั้นมาทั้ง ๆ รู้ว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่ตนต้องการ ถึงจะสามารถเรียนจบออกมาได้ตามเป้าหมายของผู้หวังดีเหล่านั้น แต่การจะนำความรู้ที่ไม่ใช่เป้าหมายของตนไปสร้างความก้าวหน้าในชีวิตก็คงจะสำเร็จได้ยาก

          ความผิดพลาดในอีกรูปแบบหนึ่งของการนำเป้าหมายของผู้อื่นมาเป็นของตน คือ การกำหนดเป้าหมายตามกระแสนิยม (popularity) แม้ว่าเราจะรู้สึกชื่นชมในเป้าหมายและต้องการประสบความสำเร็จตามเป้าหมายนั้นก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นความรู้สึกที่เกิดตามกระแส เห่อตามคนอื่น ไม่ใช่ความมุ่งหวังของตนเองมาตั้งแต่แรก เมื่อกระแสนิยมนั้นหมดไป เป้าหมายจึงพลอยถูกยกเลิกตามไปด้วย ตัวอย่างของการกำหนดเป้าหมายตามกระแสนิยม เช่น ในช่วงการแข่งขัน Futsal Youth Olympic ปี ค.ศ. 2010 ซึ่งสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพและได้เหรียญเงินในการแข่งขัน สมาคมฟุตซอลได้โหมการประชาสัมพันธ์ว่า ถ้าสิงคโปร์ทำได้ ไทยก็ต้องทำได้เพราะอยู่ภูมิภาคเดียวกันและไทยมีจำนวนประชากรให้คัดเลือกมากกว่า เกิดเป็นกระแสนิยมที่นายทุนเอกชนพากันระดมสร้างสนามฟุตซอลขึ้นทั่วประเทศ เยาวชนจำนวนมากทุ่มเทเวลาหลังเลิกเรียนไปกับการฝึกซ้อมอย่างเอาเป็นเอาตาย จนเสียผลการเรียน เพียงเพื่อให้ได้เป็นนักกีฬาทีมชาติ แต่เมื่อกระแสความนิยมลดลง สนามก็ร้าง ไม่มีใครมาเช่าใช้ เป้าหมายยอดนิยมในช่วงเวลานั้นก็ถูกยกเลิกไป นี่คือความผิดพลาดและบทเรียนจากการกำหนดเป้าหมายตามกระแสนิยม

6. ไม่ทบทวนความก้าวหน้าตามเป้าหมาย (Not reviewing progress)
          เป้าหมายมีช่วงระยะเวลาในการปฏิบัติ เราจึงควรแบ่งระยะเวลานั้นออกเป็นช่วง เพื่อประเมินความก้าวหน้าว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่ จำเป็นต้องปรับปรุงเพิ่มเติมการปฏิบัติหรือปรับเปลี่ยนเป้าหมายอย่างไร การทบทวนความก้าวหน้าในการเดินทางเข้าสู่เป้าหมาย เป็นการยืนยันอีกครั้งว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ยังคงเป็นเป้าหมายที่ต้องการ หรือจำเป็นต้องตัดทอน, เพิ่มเติม, ลด / เพิ่มระยะเวลาดำเนินการ หรือปรับเปลี่ยนขั้นตอนการปฏิบัติให้เหมาะสมขึ้น ความผิดพลาดอย่างหนึ่งในการกำหนดเป้าหมาย คือการคิดว่า เป้าหมายเป็นสิ่งที่กำหนดไว้เพียงครั้งเดียว และมาตัดสินความสำเร็จกันเมื่อครบกำหนด

          แม้ว่าความมั่นคงในเป้าหมายจะเป็นคุณสมบัติที่ดี แต่ผู้กำหนดเป้าหมายก็จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น (room for compromise) พอที่จะปรับเป้าหมายให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและการเรียนรู้หรือบทเรียนที่ได้รับในระหว่างการปฏิบัติด้วย

7. กำหนดเป้าหมายไว้ในเชิงลบ (Setting negative goals)
          ธรรมชาติของเป้าหมาย คือความรู้สึกที่อยากไปให้ถึง เป็นสิ่งที่เข้ามาเพิ่มพูนเติมเต็มความใฝ่ฝัน การกำหนดเป้าหมายจึงต้องเป็นเชิงบวกจึงจะสามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกและสร้างแรงบันดาลใจให้ลุกโชนอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง แต่บ่อยครั้งที่เราจะพบการกำหนดเป้าหมายในเชิงลบซึ่งนับเป็นความผิดพลาดและเข้าใจผิดที่ต้องแก้ไข ตัวอย่างเช่น กำหนดเป้าหมายให้ลดน้ำหนักได้ 5 กิโลกรัมภายใน 2 เดือน จากตัวอย่างที่ยกมา การลดน้ำหนักไม่ใช่เป้าหมาย (goal) แต่เป็นภารกิจ (task) เป้าหมายที่แท้จริงของการลดน้ำหนักน่าจะเป็นการมีสุขภาพที่ดี หรือการมีรูปร่างที่สมส่วนหรือทำงานได้แคล่วคล่องขึ้น การนำภารกิจมากำหนดเป็นเป้าหมายจึงอาจทำให้ผู้กำหนดเป้าหมายนำวิธีการที่ไม่ถูกต้องมาใช้ เช่น ด้วยการอดอาหาร หรือการกินยาระบายซึ่งแม้จะสามารถลดน้ำหนักได้ตามที่มุ่งหวัง ก็จะได้รับผลกระทบจากการมีสุขภาพที่อ่อนแอ

          การกำหนดเป้าหมายที่ถูกต้องจึงต้องกำหนดไว้เป็นเชิงบวกเสมอเพื่อจะได้วางแผนงานและเลือกวิธีการตามภารกิจให้ไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมาย เช่นตามตัวอย่างข้างต้น วิธีการที่เลือกใช้ในการลดน้ำหนักหากเป้าหมายคือการมีสุขภาพดี ก็น่าจะเป็นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่ไม่มีแป้งและไขมัน เป็นต้น

8. กำหนดเป้าหมายหลายอย่างเกินไป (Setting too many goals)
          ในการกำหนดเป้าหมายเรื่องหนึ่ง มักจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่น ๆ ทำให้ผู้กำหนดเป้าหมายนำเรื่องทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง มากำหนดเป็นเป้าหมายไปพร้อมกัน แต่ในความเป็นจริง ทุกคนมีทรัพยากรและเวลาอันจำกัด เราจึงไม่สามารถใช้สิ่งที่มีจำกัดนั้นสร้างความสำเร็จได้ทุกเรื่องที่ต้องการ ความผิดพลาดในการกำหนดเป้าหมายที่พบบ่อยคือ การนำทุกสิ่งที่ต้องการมาเป็นเป้าหมาย พอลงมือปฏิบัติจริงจึงเกิดความห่วงหน้าพะวงหลัง เริ่มที่เป้าหมายหนึ่งแล้วก็เปลี่ยนไปทำอีกเป้าหมายหนึ่ง จับต้นชนปลายไม่ถูก เกิดอาการที่เรียกว่ารักพี่เสียดายน้องจนในที่สุดก็ล้มเหลวทุกเรื่อง

          การกำหนดเป้าหมาย ควรเริ่มที่การจัดทำกรอบเวลา เช่น 6-12 เดือนข้างหน้าว่าเรามีเป้าหมายความสำเร็จอะไรบ้างในช่วงเวลานั้น เป้าหมายเหล่านั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันหรือไม่อย่างไร จัดลำดับความสำคัญและลำดับก่อนหลังและเลือกที่สำคัญที่สุดสำหรับเราให้เป็นเป้าหมายหลัก ให้ความต้องการที่เหลือไม่เกิน 3 เรื่องเป็นเป้าหมายรองหรือเป็นภารกิจที่จะกระทำตามเป้าหมาย วางกำหนดการติดตามความก้าวหน้าเพื่อเพิ่มเติมหรือปรับแผนงานให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ตามกำหนดการ สิ่งที่ได้รับก็คือ เป้าหมายที่มีความเป็นไปได้ตามข้อจำกัดของทรัพยากร

          การกำหนดเป้าหมายเป็นกระบวนการที่สร้างแรงบันดาลใจและแรงจูงใจได้มาก เมื่อใดที่กำหนดเป้าหมายได้อย่างไม่มีข้อผิดพลาด ก็จะเป็นการเริ่มก้าวเข้าสู่ชีวิตที่ปรารถนา ไม่เสียเวลาของชีวิตไปเปล่า ๆ กับเป้าหมายที่ไม่มีทางสำเร็จหรือสำเร็จได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ

---------------------------------



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น