วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

7 Habits of Highly Effective People [Stephen Covey]

 


อุปนิสัย 7 ประการของผู้ประสบความสำเร็จ

          Stephen R. Covey เขียนหนังสือชื่อ 7 Habits of Highly Effective People (1989) หรือ อุปนิสัย 7 ประการของผู้ประสบความสำเร็จด้วยความเชื่อว่า ความคิดเห็นที่เรามีต่อสิ่งใด ล้วนเป็นผลมาจากการรับรู้ (perception) ของเราที่มีต่อสิ่งนั้น การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ใดที่เกิดขึ้นกับตัวเรา จะต้องเปลี่ยนที่การรับรู้ของเราเอง การที่บุคคลจะมีการรับรู้ที่ถูกต้องจะต้องฝึกฝนการค้นพบและควบคุมตนเอง ทำงานร่วมกับคนอื่นแบบเป็นทีมงานที่ชนะด้วยกันทุกฝ่าย และพัฒนาต่อเนื่องจนเป็นนิสัย หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มียอดขายตั้งแต่จัดพิมพ์ครั้งแรกถึง 25 ล้านเล่ม

          จากการศึกษาแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จในช่วงระยะกว่า 200 ปีที่ผ่านมา Covey ได้พบว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงนิยามความหมายของความสำเร็จเป็นสามช่วง กล่าวคือ

          ก่อนทศวรรษที่ 1920: ความสำเร็จเป็นเรื่องของการมีจริยธรรมเป็นคุณสมบัติประจำตัว (character ethic) เช่น ความซื่อสัตย์, การถ่อมตัว, ความซื่อตรง, ความอดทนอดกลั้น, ความกล้าหาญ, ความยุติธรรม, ความเรียบง่าย หากใครสามารถดำรงตนให้เป็นผู้มีคุณสมบัติทางจริยธรรม ผู้นั้นก็คือผู้ประสบความสำเร็จ

          ทศวรรษที่ 1920 เป็นต้นมา: ความสำเร็จได้เปลี่ยนความหมายมาเป็นเรื่องของบุคลิกภาพทางจริยธรรม (personality ethic) ได้แก่ภาพ, ทัศนคติ, และพฤติกรรมที่แสดงให้ปรากฏในสังคม ผู้ประสบความสำเร็จจึงเป็นผู้ที่สังคมให้การยอมรับในภาพ ทัศนคติ และพฤติกรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับ

          ปัจจุบัน ความสำเร็จเปลี่ยนความหมายมาเป็นการขึ้นสู่จุดสูงสุดในเรื่องต่าง ๆ เช่น การงาน ฐานะ ความรู้ ชื่อเสียง ทุกคนพยายามประหยัดเวลาในการบรรลุเป้าหมายด้วยการเลือกบุคคล ทีม หรือองค์กรที่ประสบความสำเร็จตามความเห็นของตนและขอให้เขาเหล่านั้นสอนหรือให้คำแนะนำว่าทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ความต้องการรวบรัดประหยัดเวลาในการฝึกฝนเรียนรู้เช่นนี้อาจให้ผลบ้างในระยะต้น แต่การลอกเลียนแบบคนอื่นก็ไม่ได้เป็นการปรับปรุงแก้ไขที่ฐานราก ความสำเร็จที่ได้มานั้นจึงมักเป็นความสำเร็จที่ฉาบฉวย ไม่ยั่งยืน

          Covey กล่าวว่า ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่วิธีการมองปัญหา ผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นบุคคล ทีมงาน หรือองค์กร จะต้องยอมเปลี่ยนแปลงทั้งวิธีคิดและการปฏิบัติของตน (paradigm shift) โดยเปลี่ยนให้ลึกถึงฐานราก ไม่ใช่เพียงแค่ปรับทัศนคติหรือพฤติกรรมแบบผิวเผิน นอกจากนั้นเขายังได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการสู่ความมีวุฒิภาวะ (maturity continuum) โดยมีแนวคิดว่า มนุษย์มีพัฒนาการจากเด็กสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะเป็น 3 ระยะ

     o ระยะที่หนึ่งเรียกว่า ระยะที่ต้องพึ่งพาผู้อื่น (dependence) มนุษย์ทุกคนเริ่มชีวิตด้วยการเป็นทารกที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นเลี้ยงดูให้เติบโต หัวใจสำคัญของความสัมพันธ์คือ “you”

     o ระยะที่สองเรียกว่า ระยะที่พึ่งพาตนเอง (independence) เป็นระยะที่มีอิสระจากปัจจัยภายนอกและการเกื้อหนุนของผู้อื่น เป็นเป้าหมายของคนหลายคนซึ่งมองว่าความมีอิสระจากการต้องพึ่งพาผู้อื่นเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดเรื่องหนึ่งของชีวิต หัวใจสำคัญของความสัมพันธ์คือ “I”

     o ระยะที่สามเรียกว่า ระยะที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (interdependence) ในโลกแห่งความเป็นจริง มนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้โดยลำพังตนเอง การพึ่งพาอาศัยกันเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับความสำเร็จของการปฏิบัติงานทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำ สมาชิกทีมงาน หรือแม้แต่กับผู้ที่คิดว่าตนทำงานเป็นเอกเทศโดยไม่ขึ้นต่อใคร หัวใจสำคัญของความสัมพันธ์คือ “We”

          การเปลี่ยนแปลงที่ต้องทำให้เกิดขึ้นตามความเห็นของ Covey คือการเปลี่ยนนิสัยของตนให้เป็นนิสัยเจ็ดประการของผู้ประสบความสำเร็จ มีพัฒนาการของวุฒิภาวะที่พึ่งพาอาศัยกันซึ่ง Covey ถือว่าเป็นหลักที่ถูกต้องน่นอนเหมือนเข็มทิศที่ย่อมต้องชี้ไปยังทิศเหนือ (true north) สาระสำคัญของแนวคิดและเป้าหมายของอุปนิสัยแต่ละอย่างมีดังนี้


นิสัยของผู้ประสบความสำเร็จ เน้น เป้าหมาย
1. เป็นฝ่ายรุก การค้นพบและเข้าใจในตนเอง (self mastery) เปลี่ยนจากพึ่งคนอื่น (dependence) มาเป็นพึ่งตนเอง (independence)
2. นำเป้าหมายมาเป็นจุดเริ่ม
3. เลือกทำสิ่งสำคัญก่อน

4. ชนะด้วยกันทุกฝ่าย การพัฒนาทีมงาน (teamwork) เปลี่ยนจากการพึ่งตนเอง (independence) มาเป็นพึ่งพาอาศัยกัน (interdependence)
5. เข้าใจสาเหตุของปัญหา
6. รวมพลังและความคิด

7. หมั่นฝึกฝนพัฒนาอุปนิสัย ความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง (growth and improvement)

 

รวมอุปนิสัยทั้ง 6 เข้าด้วยกัน (embodiment) เป็นอุปนิสัยของผู้ประสบความสำเร็จ

1. เป็นฝ่ายรุก (Be proactive)
           พวกที่ทำตนเป็นฝ่ายรับ (reactive) เชื่อว่าโลกได้กำหนดเส้นทางชีวิตซึ่งรวมถึงปัญหาที่กำลังประสบไว้ล่วงหน้า คนพวกนี้พร้อมที่จะตกเป็นเหยื่อของชะตากรรมเพราะยอมรับตั้งแต่แรกว่าจะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ต่างจากพวกที่เป็นฝ่ายรุก (proactive) ซึ่งเชื่อในความสามารถและความรับผิดชอบของตนว่าจะต้องเลือกกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งกับสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ที่เป็นอยู่ Covey เรียกความเชื่อมั่นนี้ว่า response ability

          บุคคล ทีมงาน องค์กร ล้วนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นปัญหาปิดกั้นทางออก ความสามารถของเราจึงเปรียบเหมือนวงกลมอิทธิพล (circle of influence) ที่วางอยู่ภายในวงกลมอีกวงหนึ่งซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง (circle of concern) ผู้มีนิสัยเชิงรุกจะพยายามพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาของตน ส่งผลให้วงกลมอิทธิพลขยายเข้าไปกินพื้นที่ในวงกลมสภาพแวดล้อม ส่วนผู้มีนิสัยแบบตั้งรับ จะได้แต่ตำหนิติเตียนสภาพแวดล้อมว่าเป็นตัวสร้างปัญหา ไม่พยายามแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาความสามารถของตน ส่งผลให้สภาพแวดล้อมสร้างแรงกดดันมากขึ้น กระชับตัวเข้ามากินพื้นที่วงกลมอิทธิพลจนไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์หรือปัญหาอะไรได้


            ผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตจึงจำเป็นต้อง

     1.1 เปลี่ยนความคิดจากฝ่ายรับ เช่น “มันทำให้ฉันแทบบ้า” มาเป็นฝ่ายรุก เช่น “ฉันควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของฉันได้”

     1.2 เปลี่ยนการกระทำในลักษณะยอมรับผลที่เกิดขึ้น มาเป็นการมองหาหนทางที่จะแก้ไขปัญหา

2. นำเป้าหมายที่ต้องการมาเป็นจุดเริ่ม (Begin with an end in mind)
          เริ่มด้วยการมีเป้าหมายที่ชัดเจน ใช้จินตนาการสร้างวิสัยทัศน์ว่าต้องการอะไรในอนาคต แล้วเลือกคุณค่าที่จะใช้เป็นตัวนำไปสู่เป้าหมายนั้น คนเราส่วนใหญ่มักคิดแต่จะเอาชนะทุกสิ่งที่อยู่ในเส้นทางชีวิตของตน ทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อทำสิ่งที่อยู่ข้างหน้าให้สำเร็จ เช่น ให้มีตำแหน่งสูงขึ้น มีรายได้มากขึ้น มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องยอมรับมากขึ้นโดยไม่เคยหยุดคิดว่าชัยชนะที่ได้มานั้นมีความหมายที่แท้จริงกับตัวเองหรือไม่ บันไดที่พยายามปีนป่ายขึ้นไปนั้น ได้พาดกับกำแพงที่ต้องการจะปีนหรือไปพาดกับกำแพงอื่นที่ไม่ใช่เป้าหมาย ต่อให้ปีนข้ามไปได้ก็เหนื่อยเปล่า

          Covey แนะนำนิสัยที่สองของผู้ประสบความสำเร็จ คือการนำภาพเป้าหมายที่ชัดเจนมาเป็นจุดเริ่มต้นของทุกการกระทำเพื่อให้มีทิศทางและขั้นตอนที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่ม เปรียบเหมือนการเลือกกำแพงที่จะปีน ความสูงที่จะขึ้น ให้เป็นเป้าหมายที่ชัดเจนก่อน แล้วจึงเลือกขั้นตอนและวิธีการ เช่น ชนิดและความสูงของบันไดที่จะใช้ ช่วงเวลาที่จะปีน ฯลฯ

          ในทางธุรกิจ การมีเป้าหมายที่ถูกต้องชัดเจนตั้งแต่แรก เป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้บริหารองค์กรจะต้องกำหนดวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องเป็นเป้าหมายเสียก่อนว่าต้องการให้องค์กรประสบความสำเร็จในเรื่องใด ในการกำหนดเป้าหมายดังกล่าว ผู้บริหารต้องกำหนดนิยามคุณค่าขององค์กรให้เป็นเชิงรุกด้วย

          Covey กล่าวว่า ทุกคนมีจุดยืน (center) เป็นของตน จุดยืนจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ การกระทำ แรงจูงใจ และการตีความหมาย เช่นหากผู้ใดมีครอบครัวเป็นจุดยืน (family-centered) เขาจะรู้สึกมั่นใจถ้าได้ทำอะไรตามการยอมรับและความคาดหวังของครอบครัว สิ่งที่บุคคลนั้นกระทำก็จะเป็นไปตามรูปแบบและธรรมเนียมปฏิบัติของครอบครัว หากผู้ใดมีเงินเป็นจุดยืน (money-centered) ก็จะมองคุณค่าที่ความมั่งคั่งร่ำรวย การตัดสินใจก็จะเน้นไปที่การสร้างกำไร แต่ Covey มีความเห็นว่าสิ่งที่บุคคลนำมาใช้เป็นหลักการ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว, ทรัพย์สินเงินทอง, เพื่อน, ความรู้สึกกดดัน, ศาสนา, ศัตรู, หน้าที่การงาน ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งฉาบฉวยซึ่งเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม เขาเห็นว่าบุคคลควรใช้ภาพสุดท้ายของชีวิตมาเป็นหลัก (principle-centered) ในการดำเนินพฤติกรรม ความเชื่อ และคุณค่าของตน หลักการนี้จะต้องนำมาวางเป็นจุดเริ่มต้นและรักษาไว้ให้มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

          การนำภาพสุดท้ายมาเป็นหลักการหรือจุดยืนของชีวิต ทำได้ดังนี้

     2.1 จินตนาการงานศพของคุณในรายละเอียดว่าต้องการให้มีใครมาร่วมพิธีบ้าง อยากให้แขกที่มา กล่าวถึงคุณว่าอย่างไร หากคุณรู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกเพียง 30 วัน จะเสียใจกับการใช้เวลาในชีวิตที่ผ่านมาหรือไม่ จะจัดลำดับความสำคัญในชีวิตและบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างไร ใช้สิ่งที่สรุปได้มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันเพื่อเมื่อวันนั้นมาถึง แม้จะยังไม่สำเร็จอย่างที่ตั้งใจ แต่อย่างน้อยก็อิ่มใจที่ได้เริ่มทำในสิ่งที่ควรแล้ว

     2.2 แบ่งบทบาทในชีวิตออกเป็นด้านต่าง ๆ เช่น ชีวิตการทำงาน ชีวิตส่วนตัวหรือชีวิตทางสังคม แล้วตั้งเป้าหมาย 3-5 อย่างในแต่ละด้าน

     2.3 ค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณกลัว เป็นการพูดในที่ชุมนุมชน หรือเป็นคำวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับหนังสือที่คุณเขียน ฯลฯ ลองจดบันทึกสภาพการณ์เลวร้ายที่ทำให้คุณกลัวมากที่สุดแล้วคิดดูว่าจะจัดการกับสถานการณ์นั้นอย่างไร เขียนลงไปให้ชัดในวิธีการที่จะใช้จัดการนั้น การเขียนจะทำให้คุณสามารถนำกลับมาอ่านซ้ำและแก้ไขทั้งในส่วนที่เป็นสถานการณ์และวิธีการแก้ไขให้ครบถ้วนอย่างที่ตั้งใจ

          ทั้งสามกรณีข้างต้นเป็นคุณค่าความสำเร็จที่คุณกำหนดให้กับชีวิตของคุณเอง ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่มันเหมือนหรือต่างจากของคนอื่นหรือไม่อย่างไร แต่อยู่ที่เวลาในชีวิตของคุณมีจำกัด คุณจึงควรนำเป้าหมายนั้นมาไว้ใกล้ตัวให้มากที่สุด คือวางมันไว้ในปัจจุบัน หมั่นทบทวนทั้งวิธีการและผลสำเร็จว่าเป็นอย่างที่มุ่งหวังไว้หรือไม่ จะต้องปรับวิธีการหรือการกระทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายได้ก่อนวันสุดท้ายจะมาถึง

3. เลือกทำสิ่งสำคัญก่อน (Put first thing first)
          ในการบริหารจัดการตนเองให้บรรลุผลสำเร็จที่ต้องการ คุณต้องทำสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อน นั่นหมายความว่าคุณต้องจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมที่จะทำในแต่ละวัน ตามความสำคัญ ไม่ใช่ตามความเร่งด่วน มีบางกรณีที่เรื่องเร่งด่วนเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะต้องทำ แต่ก็มีหลายกรณีที่ความเร่งด่วนนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อคุณน้อยกว่าเรื่องอื่น แต่คุณก็หลงไปยุ่งอยู่กับมันจนไม่ได้ทำสิ่งที่สำคัญกว่า

           กิจกรรมที่สำคัญ คือกิจกรรมที่ช่วยให้คุณเข้าใกล้และบรรลุเป้าหมายความสำเร็จในชีวิต มันเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง สะสมให้เพิ่มพูนมากขึ้นเป็นลำดับ มันจึงเป็นสิ่งที่ไม่เร่งด่วนว่าต้องให้สำเร็จภายในวันนี้พรุ่งนี้เหมือนภารกิจหรือกิจกรรมอื่น ๆ ขอให้พิจารณาตารางที่นำเสนอต่อไปนี้

 

ด่วน ไม่ด่วน



สำคัญ
Quadrant 1

· เรื่องวิกฤต
· ปัญหากดดัน
· โครงการที่มีกำหนดเส้นตาย

Quadrant 2

· การสร้างความสัมพันธ์
· การพัฒนาระยะยาว
· การวางแผน


ไม่สำคัญ
Quadrant 3

· เรื่องแทรก
· โทรศัพท์, การประชุม
· กิจกรรมตามสมัยนิยม
Quadrant 4

· เรื่องเบ็ดเตล็ดปลีกย่อย
· เรื่องเสียเวลาต่าง ๆ
· เรื่องสนุกสนานบันเทิง


          Quadrant 1 เป็นการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการวิกฤตและปัญหา หากทำอย่างต่อเนื่อง วิกฤตและปัญหาเหล่านั้นจะเข้ามาพัวพันกับเรามากยิ่ง ๆ ขึ้นจนกลืนกินเราไปในที่สุด ผลที่ได้ คือความเครียด ท้อแท้ และลุกลี้ลุกลนจนจับต้นชนปลายไม่ถูก (put out fires)

           Quadrant 2 เป็นหัวใจความสำเร็จในการบริหารจัดการตนเอง เกี่ยวข้องกับการสร้างความสัมพันธ์, การวางแผนระยะยาว, การเตรียมการและจัดการทุกสิ่งที่คุณรู้ว่าจำเป็นต้องทำแต่มักไม่ได้ให้ความสนใจอย่างจริงจังเพราะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน กิจกรรมใน quadrant นี้เป็นการมองไปข้างหน้า พัฒนาที่ฐานรากของความสำเร็จ และหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอุปสรรคที่จะมาขัดขวางความก้าวหน้าของคุณ

          Quadrant 3 คนเรามักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับกิจกรรมที่ดูจะเป็นเรื่องเร่งด่วนทั้ง ๆ ที่เรื่องเหล่านั้นไม่ได้มีความสำคัญอะไร และความรู้สึกที่ว่าเร่งด่วนนั้น จริง ๆ แล้วก็เป็นเรื่องในความคาดหวังของคนอื่น คุณจึงอาจเป็นผู้ที่ทำงานวุ่นได้ทั้งวันในเรื่องของคนอื่นแต่กลับไม่ได้สร้างหรือรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับใครเลย

          Quadrant 4 เป็นกิจกรรมที่ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวมากนักเพราะไม่มีส่วนช่วยสร้างความสำเร็จใด ๆ ให้กับชีวิต และเมื่อคุณไม่มีสิ่งใดเป็นฐานความสำเร็จของตนเอง คุณจึงมักจะต้องกลายเป็นลูกไล่คอยทำงานสนองความต้องการของผู้อื่นเพื่อให้เขาเหล่านั้นยังเห็นคุณค่าของคุณ

           การที่คุณจะมีเวลาทำกิจกรรมใน quadrant ที่สองได้มากขึ้น คุณต้องรู้จักปฏิเสธคำร้องขอของผู้อื่น ในกรณีที่เป็นเรื่องด่วนจริง ก็ต้องรู้ว่าควรจะมอบหมายให้ใครรับไปทำแทนจึงจะไม่เกิดความเสียหายและยังได้ผลสัมฤทธิ์ไม่ต่างไปจากคุณทำเอง การสร้างนิสัยทำสิ่งที่สำคัญก่อน มีข้อแนะนำดังนี้

     3.1 ระบุให้ชัดว่ากิจกรรมใน quadrant ที่สองของคุณคืออะไร มีอะไรที่คุณได้ละเลยหรือไม่ได้ให้ความสำคัญมาก่อนบ้างหรือไม่ เขียนมันลงไปเพื่อตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่ได้หลงลืมหรือมองข้ามเรื่องใด แล้วสัญญากับตนเองว่าต่อไปนี้จะทำสิ่งเหล่านั้นอย่างจริงจัง

     3.2 สร้างตารางเวลาเพื่อจัดลำดับกิจกรรมในแต่ละวันและสัปดาห์

     3.3 ประมาณการว่าจะใช้เวลามากน้อยเพียงใดกับกิจกรรมในแต่ละ quadrant แล้วทดลองปฏิบัติอย่างจริงจังเป็นเวลาสามวันเพื่อให้รู้ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างใดบ้าง ที่สำคัญคือต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์และผลที่ได้รับ

4. ชนะด้วยกันทุกฝ่าย (Think win-win)
          ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เป็นผลสำเร็จ คุณต้องสัญญากับตนเองว่าจะสร้างสถานการณ์ที่ชนะด้วยกันทุกฝ่าย คือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องล้วนมีความพอใจและได้รับประโยชน์ Covey กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมี 6 รูปแบบ ดังนี้

     (1) Win-Win: ชนะด้วยกันทั้งสองฝ่าย เป็นสถานการณ์ที่ให้ประโยชน์และสร้างความพึงพอใจแก่ทั้งสองฝ่าย

     (2) Win-Lose: ฝ่ายหนึ่งชนะ อีกฝ่ายหนึ่งแพ้ ฝ่ายที่มุ่งเอาชนะจะใช้ทุกวิถีทางทั้งโอกาส อำนาจ บารมี และสถานภาพของตนเพื่อให้ได้รับชัยชนะ

     (3) Lose=Win: ฝ่ายหนึ่งเลือกที่จะเป็นผู้แพ้ และยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ชนะ ฝ่ายที่ยอมเป็นผู้แพ้จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและต้องการได้รับความชื่นชมยกย่องมากกว่าการได้เป็นผู้ชนะ

     (4) Lose-Lose: ทั้งสองฝ่ายมุ่งจะเอาชนะโดยเข้าห้ำหั่นกันอย่างเต็มที่ ผลก็คือความสูญเสียและเป็นผู้แพ้ทั้งสองฝ่าย

     (5) Win: ผู้ที่ต้องการเป็นผู้ชนะ ไม่สนใจว่าใครจะเป็นผู้แพ้เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ สนใจแต่จะเป็นผู้ชนะเท่านั้น

     (6) Win=Win or No Deal: หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่ได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ก็แยกย้ายกันไป

          ทางเลือกความสัมพันธ์ที่ดีที่สุด คือ Win-Win ส่วนความสัมพันธ์ประเภท Win-Lose และ Lose-Win จะมีอยู่เพียงฝ่ายเดียวซึ่งได้รับสิ่งที่ต้องการ แต่สิ่งที่ผู้ชนะได้รับไปนั้นจะทำลายความสัมพันธ์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง Covey เห็นว่าควรใช้ความสัมพันธ์ที่เรียกว่า Win-Win or No Deal เป็นตัวเลือกสำรองของ Win-Win กล่าวคือ หากยังไม่ได้ประโยชน์ร่วมกัน ก็ไม่พยายามบีบให้ใครเป็นฝ่ายแพ้ หรือมุ่งที่จะให้ตนเป็นผู้ชนะอย่างไม่ยอมปล่อยวาง ทั้งสองฝ่ายควรใช้เวลาทำความเข้าใจเรื่องราวที่เป็นประเด็นปัญหาให้ลึกซึ้งขึ้นเพื่อให้ได้รับประโยชน์ร่วมกันในโอกาสต่อไป

          ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ความสัมพันธ์เกิดเป็นสถานการณ์แบบ Win-Win ก็คือการมีความเชื่อว่าสิ่งที่ดีมีอยู่เหลือเฝือและมากพอสำหรับทุกคน (abundance mentality) และปัจจัยที่ทำให้เกิดการห้ำหั่นเอาชนะแต่เพียงฝ่ายเดียวก็มาจากความเชื่อที่ว่า สิ่งทั้งหลายมีจำกัด (scarcity mentality) หากคนอื่นได้เราก็อด (zero sum) ผู้ที่มีความเชื่ออย่างหลังนี้จะไม่ยอมรับความพ่ายแพ้หรือยอมรับในความสำเร็จของฝ่ายชนะ ในใจของพวกเขาจึงมีแต่ต้องการแก้แค้นเอาคืนหรือจ้องทำลายสิ่งที่ผู้ชนะได้ไปให้ย่อยยับลงไปในที่สุด

การสร้างนิสัยการสร้างความสัมพันธ์แบบ Win-Win ทำได้ดังนี้

     4.1 เมื่อใดที่พยายามจะบรรลุข้อตกลงในเรื่องใด นึกถึงสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น (upcoming interaction) ว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร และคุณควรเสนออะไรเพื่อสนองความต้องการดังกล่าวในขณะที่คุณก็ยังได้รับประโยชน์จากข้อตกลงนั้น

     4.2 ระบุความสัมพันธ์สามอย่างที่สำคัญในชีวิตของคุณ เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัว, ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน, ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ฯลฯ ทบทวนดูว่าความสัมพันธ์นั้นมีลักษณะอย่างไร คุณเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับหรือเป็นผู้รับมากกว่าผู้ให้ ลองเขียนวิธีที่จะทำให้คุณเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับขึ้นมา 10 วิธี ในแต่ละความสัมพันธ์

     4.3 ความสัมพันธ์ตามข้อ 4.2 มีแนวโน้มเป็นอย่างไร จะมีผู้แพ้ผู้ชนะ (Win-Loss) หรือไม่ วิธีการที่คุณใช้ในความสัมพันธ์ดังกล่าวส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนอื่น ๆ อย่างไร เขียนลงไปให้ละเอียดเพื่อให้สามารถนำกลับมาอ่านทบทวนซ้ำได้หลาย ๆ ครั้ง

5. เข้าใจและรู้ถึงสาเหตุที่มาของปัญหา (Seek first to understand, then to be understood)
          คุณควรตั้งใจฟังเพื่อทำความเข้าใจ (understand) ปัญหาตลอดจนแง่คิดมุมมองของบุคคลให้ชัดเจน (understood) ก่อนจะให้ข้อเสนอหรือคำแนะนำใด ๆ สมมุติว่าคุณเข้าไปในร้านแว่นและบอกเจ้าหน้าที่ประจำร้านว่ามีปัญหามองเห็นไม่ชัด แทนที่เขาจะสอบถามอาการหรือวัดสายตาด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย กลับถอดแว่นของเขาออกมาให้คุณใส่ด้วยเหตุผลว่า เป็นแว่นที่เขาใส่แล้วมองเห็นชัดเจน ซึ่งเมื่อคุณรับมาใส่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาแต่อย่างใด คุณคิดว่าจะกลับไปที่ร้านนี้อีกหรือไม่ คำตอบก็คือ “ไม่” แต่ในชีวิตประจำวัน เรามักมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นคล้ายกับที่ช่างตัดแว่นผู้นี้ทำ คือบรรยายวิธีการแก้ไขก่อนเข้าใจปัญหา

          การทำความเข้าใจปัญหาของผู้อื่น ไม่ใช่เรื่องง่าย และเมื่อใดที่เขาเหล่านั้นรู้สึกว่าถูกคุณกดดัน เขาจะหวาดระแวงว่าคุณอาจมีเจตนาซ่อนเร้นและจะไม่ยอมเปิดเผยอะไรให้คุณทราบอีก ดังนั้นแม้การฟังจะเป็นเทคนิคสำคัญในการทำความเข้าใจ แต่การสอบถามเพิ่มเติมประกอบการฟังก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณจำเป็นต้องมีทักษะในการฟังและซักถามด้วยความเห็นอกเห็นใจ (empathic listening) ที่ผู้ฟังรู้สึกผ่อนคลายและปลอดภัยที่จะตอบคำถามของคุณ


          พื้นฐานของการฟังอย่างเห็นอกเห็นใจคือ คุณต้องเปลี่ยนความเชื่อที่เคยยึดติด (paradigm shift) เพื่อจะได้เข้าใจผู้พูดอย่างแท้จริง ไม่ใช่เลือกเข้าใจตามที่คุณคิดหรือพร้อมที่จะตอบโต้ก่อนที่จะเข้าใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารได้เคยประมาณไว้ว่า

  • 10% ของการสื่อสารของเรา เป็นการสื่อสารด้วยคำพูด
  • 30% ของการสื่อสารของเรา เป็นการสื่อสารด้วยน้ำเสียง
  • 60% ของการสื่อสารของเรา เป็นการสื่อสารด้วยภาษากาย

          และเมื่อเราฟังผ่านมุมมองซึ่งเป็นกรอบอ้างอิงความคิด (frame of reference) ของเรา จะมีการตอบสนองสิ่งที่รับเข้ามาใน 4 วิธี คือ

     (1) ประเมิน (evaluate) ว่าเชื่อหรือไม่เชื่อในสิ่งที่เขาพูด
     (2) ใคร่รู้ (probe) ตั้งคำถามตามจุดยืนของตนเอง
     (3) แนะนำ (advise) ตามประสบการณ์ของตนเอง
     (4) สรุป (interpret) ความคิดและพฤติกรรมของผู้พูดตามความคิดและพฤติกรรมของตนเอง


          หากคุณเปลี่ยนความเชื่อที่เป็นพื้นฐานของอคติออกไป การตอบสนอง 4 วิธีที่กล่าวมาข้างต้นจะเปลี่ยนไปเป็นการตอบสนองบนพื้นฐานของความเข้าใจในเรื่องราวที่เกิดขึ้น แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นเรื่องทำได้ยาก ต้องใช้ทั้งเวลาและใจที่เปิดกว้าง แต่เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจและการตีความผิด ๆ ตามความคิดและความเชื่อของตนเอง ก็จำเป็นต้องฝึกฝนให้ได้ แนวทางเบื้องต้นในการฝึกการฟังด้วยความเข้าอกเข้าใจมีดังนี้

     5.1 เมื่อใดที่คุณพบบุคคลสองฝ่ายกำลังสื่อสารโต้ตอบกัน ลองปิดหูเพื่อไม่ได้ยินคำพูดและน้ำเสียง ใช้แค่ตาเพื่อดูภาษากายของพวกเขา คุณได้เห็นอารมณ์อะไรที่แสดงออกมาโดยไม่ผ่านคำพูดและน้ำเสียง ใครน่าจะเป็นฝ่ายที่ดูน่าเชื่อถือมากกว่ากัน วิธีนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจความสำคัญของภาษากายที่มีต่อบุคคลภายนอกได้ชัดเจนขึ้น

     5.2 เมื่อใดที่คุณเป็นผู้นำเสนอเรื่องราวต่อที่ประชุม (presentation) ขอให้เริ่มด้วยการนำแนวคิดของผู้ฟังมากล่าวแบบเจาะใจว่าพวกเขากำลังเผชิญกับปัญหาหรือคำถามอะไร สิ่งที่คุณกำลังจะนำเสนอต่อไปนี้จะให้คำตอบหรือทางออกต่อปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร การเสนอเรื่องราวแบบเข้าใจความต้องการของผู้ฟัง จะช่วยลดความรู้สึกต่อต้านที่ผู้ฟังใช้ในการอ้างอิงออกไปและพร้อมที่จะทำความเข้าใจเรื่องที่คุณนำเสนอได้มากขึ้น

6. รวมพลังและความคิดเข้าด้วยกัน (Synergize)
          ความเข้าใจในคุณค่าของมุมมองที่แตกต่าง ช่วยให้ทุกฝ่ายกล้าที่จะเปิดใจให้กัน มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่มองผู้ที่เห็นต่างเป็นศัตรู เกิดความคิดสร้างสรรค์และมองเห็นทางออกของปัญหาได้กว้างขวางขึ้น การสร้างอุปนิสัย 5 ประการที่กล่าวมา ล้วนเป็นรากฐานเพื่อให้เกิดนิสัยในเรื่องที่หกนี้ดังคำกล่าวที่ว่า หนึ่งบวกหนึ่งได้มากกว่าสอง หรือยอดรวมของผลที่ได้ มีค่ามากกว่าการนับรวมส่วนต่าง ๆ การรวมพลังและความคิดเป็นการนำความปรารถนาของแต่ละคน เข้ากับความปรารถนาของคนอื่นในกลุ่ม ทุกฝ่ายจะมายืนอยู่ฝั่งเดียวกันเพื่อเอาชนะปัญหาที่มีร่วมกัน สาระสำคัญของรวมพลังและความคิดจึงอยู่ที่การให้ความสำคัญกับความแตกต่างทั้งความคิด อารมณ์ และความรู้สึกของผู้อื่น

          วิธีฝึกรวมพลังและความคิด มีดังนี้

     6.1 เขียนชื่อคนที่สร้างความรู้สึกขุ่นเคืองให้กับคุณแล้วเลือกที่เห็นเด่นชัดขึ้นมาเพียงคนเดียว นึกดูว่าเขามีแนวคิดอะไรที่ต่างไปจากคุณ ลองเอาใจคุณไปใส่ในใจเขา สมมุติตัวคุณว่าเป็นเขา ทำความเข้าใจเขาให้มากขึ้น และตั้งใจให้มั่นคงว่านับจากนี้ไป เมื่อใดที่คุณมีความขัดแย้งอะไรกับบุคคลนั้น ให้พยายามค้นหาเหตุผลว่าทำไมเขาถึงไม่เห็นด้วยกับคุณ ยิ่งคุณเข้าใจเขาได้มากขึ้น ก็จะช่วยเปลี่ยนความคิดทั้งของเขาและของคุณให้มาอยู่ฝั่งเดียวกันได้ง่ายขึ้น

     6.2 เขียนชื่อคนที่ไปได้ดีกับคุณ เลือกขึ้นมาเพียงคนเดียว ในโลกแห่งความเป็นจริง แม้จะเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเพียงใดก็ย่อมจะต้องมีบางสิ่งที่ต่างกันอยู่บ้าง ค้นหาให้ได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรและทำไมคุณกับเขาจึงยังมาอยู่ฝั่งเดียวกันได้ จะสามารถนำสิ่งนั้นไปใช้กับคนตามข้อ 6.1 ได้หรือไม่ เพราะอะไร มีอะไรที่ต้องปรับเปลี่ยนบ้าง

          ประโยชน์ที่ได้รับจากการเปิดใจเพื่อรวมพลังและความคิด

     o เห็นคุณค่าความแตกต่างที่มีอยู่ในตัวคนอื่น ช่วยให้มีมุมมองที่กว้างขวางขึ้นจากเดิม
     o หลีกเลี่ยงการตอบโต้ การขัดขวาง และมองในส่วนดีของผู้อื่น
     o กล้าที่จะแสดงและสนับสนุนให้ผู้อื่นแสดงความคิดเห็นในสถานการณ์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน
     o มีความคิดสร้างสรรค์และได้พบทางออกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคนจากทางเลือกซึ่งอาจไม่คาดคิดมาก่อน


7. หมั่นฝึกฝนพัฒนาอุปนิสัย (Sharpen the saw)
          การจะเป็นผู้มีความสามารถได้นั้น เราต้องใช้เวลาในการปรับปรุงตนเองทั้งด้านร่างกาย (physical), จิตใจ (spiritual), สติ (mental), และการรักษาความสัมพันธ์ทางสังคม (emotional / social) การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้เราได้ฝึกใช้อุปนิสัยแต่ละอย่างให้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน อุปนิสัยที่เจ็ดนี้จึงเน้นไปที่การฝึกฝนและพัฒนาอุปนิสัยแต่ละอย่างให้ส่งผลต่อความสำเร็จของคุณ

          คนเราจะประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่ด้วยการทำงานไปเรื่อย ๆ จนกว่างานจะเสร็จ แต่จะต้องรู้จักใช้เวลาทบทวนสิ่งที่ได้ทำลงไป แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด ปรับปรุงทรัพยากร เครื่องมือ วิธีการ ให้พร้อมที่จะทำภารกิจต่อไปได้จนสำเร็จตามเป้าหมาย ปรับปรุงพัฒนานิสัยที่เป็นพื้นฐานของความสำเร็จให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่สามารถนำมาใช้ได้ตามสัญชาติญาณ เปรียบเหมือนช่างไม้ที่ต้องหมั่นลับเลื่อยให้คม ตรวจดูงานที่ทำไปแล้วและที่จะทำต่อไปจนมั่นใจว่าได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องสมควรแล้ว จึงเดินหน้าต่อไปเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีมีคุณภาพตามเป้าหมาย

          Covey ให้นิยามความสำเร็จว่าเป็น สมดุลระหว่างการได้รับผลที่ต้องการ (P: getting desired results) กับ สิ่งที่ทำให้เกิดผล (PC: that which produces results) แสดงในรูปประสิทธิภาพการทำงานคือ P / PC เขาเรียกอุปนิสัย 7 ประการนี้ว่าเป็นคุณสมบัติที่ช่วยจัดความเชื่อและทัศนคติภายในของบุคคล (value) ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับหลักสากล (universal principles) ที่อยู่ภายนอก ความเชื่อและทัศนคติเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมในขณะที่หลักสากลเป็นตัวกำหนดผลที่จะได้รับ

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
---------------------------------


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น