วันศุกร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2563

สิ่งที่ผู้ประสบความสำเร็จเขาทำกัน

          คำตอบสำหรับเรื่องนี้มักจะออกมาในรูปที่ว่า ที่จริงเขาก็ทำเหมือนเรานั่นแหละ ต่างกันตรงพวกที่ประสบความสำเร็จเขามีพรสวรรค์ หรือถ้าเป็นคำตอบของประเทศแถวสาระขัณฑ์ก็จะตอบว่า ก็เขามีเส้นไง
    
          ที่ตอบมาก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่จากผลการวิจัยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาชี้ชัดว่า ความสำเร็จของคนเหล่านั้นไม่ได้เป็นเพราะ “เขาคือใคร” แต่เป็นเพราะ “เขาทำอย่างไร    

          Dr. Halvorson นักจิตวิทยาการจูงใจที่มีชื่อเสียงได้แนะให้เราดูว่าผู้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเขามีวิธีการปฏิบัติอย่างไร มีความแตกต่างกับผู้ไม่ประสบความสำเร็จอย่างไรในเรื่องต่อไปนี้”
    
1. มีเป้าหมายที่จำเพาะเจาะจง
          เวลาตั้งเป้าหมาย ผู้ประสบความสำเร็จจะตั้งเป้าหมายที่มีความจำเพาะเจาะจงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะจะทำให้เขาทราบว่าความสำเร็จที่ต้องการนั้นรูปร่างหน้าตามันเป็นอย่างไร เช่นต้องการลดน้ำหนักยังไม่ใช่เป้าหมายของผู้ประสบความสำเร็จ แต่ต้องชี้ชัดไปเลยว่าจะลดเท่าไร ภายในเวลาเมื่อไร เป้าหมายที่จำเพาะเจาะจงจะเป็นสิ่งกระตุ้นและจูงใจจนกว่าจะได้สิ่งนั้นมา นอกจากจะกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วจะต้องกำหนดการกระทำที่จำเพาะเจาะจงที่จะให้บรรลุเป้าหมายนั้นไว้ด้วย อย่าปล่อยให้เป็นความเคลือบแคลงว่าที่จริงแล้วเราต้องการอะไร หรือต้องทำอะไร แล้วที่ต้องทำนั้นได้ทำไปแล้วหรือยัง

2. กำหนดเวลาที่จะทำให้บรรลุตามเป้าหมาย
          พวกเราส่วนใหญ่จะมีธุระยุ่งวุ่นวายกันทั้งวัน และส่วนใหญ่ก็มีเป้าหมายที่ต้องการให้สำเร็จมากกว่าหนึ่งอย่าง ผลก็คือไม่มีเวลาหรือพลาดโอกาสที่จะทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพียงเพราะไม่ได้สังเกตว่าเรายังไม่ได้ทำสิ่งนั้นแต่กลับไปทำสิ่งอื่นซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ จงอย่าปล่อยให้โอกาสเช่นนั้นหลุดมือไปง่าย ๆ วิธีการของผู้ประสบความสำเร็จคือ วางแผนไว้ให้ชัดเจนว่าเมื่อไรจะต้องทำอะไร จากผลการศึกษาพบว่าการทำเช่นนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จได้สูงถึง 300%

3. ต้องรู้ว่าความสำเร็จยังอยู่อีกไกลเท่าไร
          การจะบรรลุความสำเร็จได้ ผู้กระทำต้องซื่อสัตย์ต่อตนเองและหมั่นตรวจสอบความก้าวหน้าของตน หากเราไม่ทราบว่าเราได้ทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำไปได้ดีเพียงใดเราก็จะไม่สามารถปรับพฤติกรรมหรือกลยุทธ์ให้เหมาะสมได้ ผู้ประสบความสำเร็จจึงตรวจสอบความก้าวหน้าการกระทำของตนอยู่บ่อย ๆ อาจเป็นทุกวันหรือ ทุกสัปดาห์ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของการกระทำนั้น

4. มองเชิงบวกอย่างสมเหตุสมผล
          เวลากำหนดเป้าหมายขอให้คิดเชิงบวกเอาไว้เสมอว่าเราทำได้ การเชื่อมั่นในตนเองว่าสามารถทำให้สำเร็จได้เป็นการสร้างและรักษากำลังใจให้เดินหน้า แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็อย่าประเมินความยากลำบากที่จะทำให้สำเร็จไว้ต่ำจนเกินไป เป้าหมายที่มีคุณค่าส่วนใหญ่ต้องอาศัยเวลา การวางแผน ความมานะพยายาม และการไม่ท้อถอย จากการศึกษาพบว่าความประมาทว่าจะได้อะไรมาง่าย ๆ จะทำให้ต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป ผลที่ได้ก็คือความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าเท่านั้นเอง
   
5. พยายามทำให้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่ทำให้ดี          
          คนส่วนมากมักจะเชื่อว่าความฉลาด บุคลิกภาพ และความถนัดของคนเรามีข้อจำกัด ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ทำให้ดีขึ้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เวลาที่เราตั้งเป้าหมายอะไรจึงมักจะเพียงเพื่อพิสูจน์ว่า ด้วยความฉลาด บุคลิกภาพ และความถนัดเท่าที่มีอยู่นี้จะสามารถทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้หรือไม่ได้ แทนที่จะตั้งเป้าหมายในลักษณะที่จะพัฒนาให้ตนเองมีความฉลาด มีบุคลิกภาพ หรือความถนัดที่ดีขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ท้าทาย ความสามารถในเรื่องทั้งหลายของคนเราสามารถพัฒนาได้ ขอเพียงแต่เรามีความเชื่อว่าเราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ เพียงแค่นี้ก็ช่วยให้เรามีทางเลือกที่ดีขึ้นแล้ว คนที่มีเป้าหมายว่าจะทำสิ่งใดให้ดีขึ้น แทนที่จะคิดเพียงทำสิ่งใดให้ดี แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จ ก็จะมีความสุขและความพอใจในความพยายามและความก้าวหน้าของตน
  
6. มีความอดทน
          ความอดทนเป็นความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายในระยะยาวและไม่ท้อถอยต่อความยากลำบาก ผู้ที่ไม่มีความอดทนมักเชื่อว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะเขาไม่มีพรสวรรค์ที่พระเจ้าประทานมาให้ตั้งแต่เกิดจึงต่างจากพวกที่ประสบความสำเร็จ เป็นความลำเอียงของสวรรค์อะไรไปโน่น หากพวกเรามีใครที่คิดอย่างนั้นก็ขอให้เปลี่ยนความคิดเสียเพราะนั่นเป็นความคิดที่ผิด ความพยายาม การวางแผน ความไม่ท้อถอย และการมีกลยุทธ์ที่ดีเป็นสิ่งที่นำให้เราประสบความสำเร็จ ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้เรามองเห็นตนเองและเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้น แต่ยังช่วยให้เราเกิดความอดทนขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์
    
7. สร้างสมความตั้งใจ
          การควบคุมตนเองให้เกิดเป็นความตั้งใจที่แน่วแน่ เป็นสิ่งที่ต้องฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เปรียบเหมือนกล้ามเนื้อ หากได้รับการออกกำลังอย่างถูกวิธีก็จะมีความแข็งแกร่ง การสร้างสมความตั้งใจก็เช่นเดียวกัน หากได้ควบคุมตนเองไม่ให้ตามใจตนเองจนล้มเลิกความตั้งใจไปเสียก่อน ความตั้งใจที่มุ่งมั่นนั้นก็จะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้ การพัฒนาการควบคุมตนเองต้องการความซื่อสัตย์กับตนเอง จะผัดผ่อนไปวัน ๆ ไม่ได้
   
8. อย่าหลอกตัวเอง
          ไม่ว่าจะมีความตั้งใจมั่นเพียงใด สิ่งสำคัญคือต้องยอมรับความจริงว่าความตั้งใจนั้นก็มีข้อจำกัด หากฝืนมากก็อาจสติแตก อย่าพยายามทำสิ่งที่ยาก ๆ สองอย่างให้สำเร็จในเวลาเดียว บางคนมีความเชื่อมั่นมากจนเกินไปว่าตนมีความสามารถต้านทานสิ่งยั่วยุใด ๆ ได้ สุดท้ายก็ต้องมีชีวิตอยู่กับการต้องอดกลั้นกับสิ่งนั้นสิ่งนี้จนหาความสุขไม่ได้ คนที่ประสบความสำเร็จจะรู้ดีว่าไม่ควรตั้งเป้าหมายที่ใหญ่เกินสมควร
   
9. เน้นสิ่งที่จะทำ ไม่ใช่เน้นสิ่งที่จะไม่ทำ
          เมื่อต้องการทำสิ่งใดก็จงวางแผนกระทำสิ่งนั้น เช่นถ้ารู้ว่าตนมีนิสัยอะไรที่ไม่ดี ก็ควรวางแผนว่าจะทำอะไรเพื่อให้เกิดนิสัยดี ๆ ที่จะไปแทนที่นิสัยที่ไม่ดีนั้น เช่นหากเป็นคนโกรธง่ายก็ควรเตรียมตัวก่อนที่จะมีการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่นว่าไม่ว่าการสนทนาจะน่าโมโหเพียงใดเราจะนับหนึ่งถึงสิบ ก่อนโต้ตอบออกไป ลำพังการเตือนตนว่าจะไม่โมโหอาจได้ผลน้อยกว่าวิธีแรกก็ได้

          วิธีการทั้ง 9 นี้เป็นผลจากการทดสอบวิจัยที่ทำต่อเนื่องมาเป็นสิบปี ไม่ใช่เพียงความคิดเห็นของใครคนใดคนหนึ่งที่นึกขึ้นมาเอง ลองนำไปใช้ปฏิบัติและประเมินตนเองเป็นระยะ ๆ ว่ามีความสำเร็จเกิดขึ้นจริงหรือไม่ครับ

       บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
  • 6 Rules for Success
  • 17 Principles of Success [Napoleon Hill]
  • Critical Success Factors

------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น