วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

Action Plan

 

แผนปฏิบัติ

          Action plan หรือแผนปฏิบัติ คือแผนงานซึ่งระบุขั้นตอนของภารกิจที่จะต้องกระทำเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนด แผนปฏิบัติเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ (Strategic plan) แผนปฏิบัติไม่ได้จำกัดการใช้อยู่เพียงในระดับหน่วยงานหรือองค์กร ผู้ที่ต้องการความสำเร็จในหน้าที่การงานของตนหรือในชีวิตส่วนตัวก็สามารถจัดทำแผนปฏิบัติได้เช่นกัน การมีแผนปฏิบัติจะช่วยสร้างความชัดเจนแก่ผู้จัดทำแผนและผู้เกี่ยวข้องว่าจะต้องมีข้อมูล, ทรัพยากร, และการกระทำอะไร เมื่อไร โดยใคร จึงสามารถบรรลุเป้าหมายนั้น กลยุทธ์แต่ละกลยุทธ์อาจมีแผนปฏิบัติได้มากกว่าหนึ่งแผน

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

Account-Based Marketing

 


การทำการตลาด
ตามคุณสมบัติของลูกค้าแต่ละราย

          การทำการตลาดตามคุณสมบัติของลูกค้าแต่ละราย (Account-Based Marketing: ABM) หรือการตลาดแบบ ABM คือกลยุทธ์การตลาดสำหรับธุรกิจกับธุรกิจ (Business to Business: B2B) ที่ผู้ขายสินค้าบริการ (ต่อไปในบทความนี้จะใช้คำว่า บริษัท) คัดเลือกลูกค้าเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเติบโตก้าวหน้าและสามารถสร้างผลกำไรที่แน่นอนให้กับธุรกิจของบริษัท หลังจากนั้นจึงใช้วิธีทางการตลาดและการขายที่ออกแบบมาเป็นการเฉพาะกับลูกค้าหรือกลุ่มลูกค้านั้นเป็นเครื่องมือในการปิดการขาย กลยุทธ์การตลาดแบบนี้จะมีอัตราผลตอบแทนการลงทุน (ROI) ค่อนข้างสูงเพราะเน้นไปที่การคัดเลือกลูกค้าที่มีศักยภาพสูงในทางธุรกิจมาตั้งแต่แรกและมีโอกาสปิดการขายได้มากจากข้อเสนอที่ศึกษาและออกแบบมาเพื่อลูกค้านั้นเป็นการเฉพาะ

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

Action Learning [Reginald Revans]

 


การเรียนรู้จากการกระทำ

          Action Learning เป็นกระบวนการคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหาในธุรกิจ อุตสาหกรรม กลุ่มบุคคล และสังคม ด้วยการหยิบยกประเด็นปัญหาขึ้นมาหารือ, ไตร่ตรองทบทวน, เรียนรู้, วางแผนแก้ไข, นำแผนไปปฏิบัติ และนำผลที่ได้มาทบทวนอีกครั้งเป็นวัฏจักร ศาสตราจารย์ Reginald Revans อาจารย์มหาวิทยาลัยและที่ปรึกษาด้านการบริหารเป็นผู้ให้กำเนิดแนวคิดเรื่อง Action Learning ในกลางทศวรรษที่ 1940 เขาเชื่อว่า วิธีการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาที่ได้ผล คือการจัดตั้งกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับปัญหา จำนวน 6-8 คน ขึ้นมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นเพื่อร่วมกันค้นหาหนทางแก้ไข การดำเนินการตามข้อเสนอของกลุ่มอาจไม่สามารถแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ภายในครั้งเดียว แต่สำหรับศาสตราจารย์ Revans เขาคิดว่าสิ่งสำคัญที่ต้องแก้ไขไม่น้อยกว่าตัวปัญหา คือความยึดติดในความคิดและความเชื่อของบุคคล การให้โอกาสผู้ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาได้แสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ เปิดรับแนวคิดใหม่ และลดทิฐิที่ยึดติดของพวกเขาลงได้ เขาได้ใช้วิธีดังกล่าวพัฒนาการบริหารจนสามารถฟื้นฟูองค์กรหลายแห่งที่กำลังจะต้องปิดกิจการให้สามารถกลับมาดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างมั่นคง Revans นำประสบการณ์ของเขามาเรียบเรียงเป็นหนังสือชื่อ ABC of Action Learning ในปี ค.ศ. 1983