วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2563

การสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง

          
          ความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่ใช่เป็นเพียงคุณสมบัติที่นักพูดทุกคนจำเป็นต้องมีเท่านั้น แต่ยังเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นในเกือบทุกเรื่องของการดำรงชีวิต คนส่วนใหญ่ไม่กล้าเสี่ยงที่จะให้ความสนับสนุนโครงการหรืองานที่นำโดยคนที่ละล้าละลัง ซุ่มซ่าม หรือจะทำอะไรก็ออกตัวขอโทษขอโพยจนเฝือ ตรงกันข้าม เราท่านทั้งหลายคงเคยรู้สึกชื่นชมผู้ที่สามารถอธิบายเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างชัดเจน มีบุคลิกภาพสง่างามน่าเชื่อถือ ตอบคำถามได้อย่างมั่นใจ และกล้าที่จะยอมรับในสิ่งที่ตนไม่รู้ ผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตนเองจะเป็นผู้ที่สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ฟัง เพื่อน เจ้านาย หรือลูกค้า การที่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากผู้เกี่ยวข้องได้นี้ นับเป็นหัวใจสำคัญต่อการกระทำการให้สำเร็จ เมื่อความเชื่อมั่นในตนเองเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเช่นนี้ ผู้คนทั้งหลายจึงมุ่งหวังที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ตัวเอง แต่ในทางปฏิบัติ คนที่ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเองก็คงรู้สึกอับจน ไม่รู้ว่าจะสร้างความเชื่อมั่นขึ้นมาได้อย่างไร

          แท้จริงแล้ว การสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับตนเองเป็นเรื่องที่เรียนรู้และสร้างให้เกิดขึ้นได้ และที่สำคัญ การสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะแก่ตนเองหรือแก่ผู่อื่น แม้จะยากแต่ก็คุ้มค่าต่อความพยายาม

คุณมีความเชื่อมั่นในตนเองมากน้อยเพียงใด
          ความเชื่อมั่นในตนเอง เป็นเรื่องมองเห็นได้ง่าย ๆ ทั้งจากพฤติกรรม การแสดงออกด้วยภาษากาย การพูดจา ลองพิจารณาตัวชี้วัดต่อไปนี้และประเมินว่าคุณเป็นผู้มีความเชื่อมั่นในตนเองในระดับใด

มีความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง
    ทำในสิ่งที่ตนเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแม้คนอื่นจะหัวเราะเยาะหรือวิพากย์วิจารณ์     แสดงพฤติกรรมตามความคิดของคนอื่น
    พร้อมที่จะเสี่ยง กล้าทำเพื่อสิ่งที่ดีกว่า     รักษาเนื้อรักษาตัว กลัวความล้มเหลว และหลีกเลี่ยงที่จะเสี่ยง
    ยอมรับความผิดของตนและเรียนรู้จากความผิดนั้น    พยายามปกปิดความผิดของตนเองโดยหวังว่าจะสามารถกลบเกลื่อนความผิดนั้นได้ก่อนที่คนอื่นจะทราบเรื่อง
   รอให้ผู้อื่นแสดงความยินดีกับความสำเร็จของตน    ยกย่อง ปิดทองใส่หน้าตัวเองให้บ่อยครั้งที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ต่อผู้คนทั้งหลายให้มากที่สุดที่จะทำได้
   รับผลตอบแทนความสำเร็จด้วยความภาคภูมิ ยินดีที่ผู้อื่นได้มองเห็นในความพยายามที่ตนได้กระทำ    บอกปัดผลตอบแทนความสำเร็จด้วยการออกตัวว่าไม่มีผู้ใดเป็นคนทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้จริง

          จะเห็นได้ว่าผู้ที่ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง จะทำลายคุณค่าในตนเองให้ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ เป็นความคิดและพฤติกรรมเชิงลบ ในขณะที่ผู้มีความเชื่อมั่นในตนเองจะคิดในเชิงบวก เชื่อในความสามารถของตัวเองและพร้อมที่จะพัฒนาตนเองให้ก้าวสู่จุดสูงสุดในชีวิต

สิ่งที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง
     1.  มีความรู้ความสามารถ (Self-Efficacy)
               คนเราจะมีความเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถที่มีเมื่อเห็นว่าผู้ที่มีความรู้ความสามารถเช่นเดียวกับตนสามารถใช้ความรู้นั้นทำสิ่งที่เป็นเป้าหมายได้สำเร็จ ทำให้กล้าที่จะยอมรับความท้าทายและไม่ท้อถอยต่อปัญหาที่อยู่ตรงหน้า

     2.  มีความเคารพในตนเอง (Self-Esteem) 
          การมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะทำภารกิจนั้นๆ ได้ อาจยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้บุคคลนั้นทำงานได้ตลอดรอดฝั่ง ยังมีปัญหาและอุปสรรคอีกมากที่นึกไม่ถึง รวมทั้งความล้มเหลวโดยเฉพาะในระยะเริ่มต้นที่บั่นทอนความเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถของตน สิ่งที่บุคคลต้องการเพิ่มขึ้นไปกว่าความรู้ความสามารถ คือ การความเคารพและเห็นคุณค่าในตนเองซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความเชื่อมั่นในตนเอง

          เมื่อพูดว่าการเคารพในตนเองเป็นหัวใจของความเชื่อมั่น บางคนจึงอาจคิดว่า เพียงมีความมุ่งมั่นและคิดเชิงบวก เชื่อในคุณค่าของตน เพียงแค่นี้ก็จะเกิดความเชื่อมั่นในตนเองขึ้นมาได้แล้ว ที่ว่ามานี้ก็มีส่วนถูกอยู่ แต่ความเชื่อเช่นนั้นเป็นความเชื่อที่ไม่มีสิ่งใดรับรองได้ว่าจะประสบความสำเร็จ เราจึงต้องการทั้งความรู้ความสามารถและการเคารพในคุณค่าของตนประกอบกันเข้าเป็นความเชื่อมั่นในตนเอง

          ขั้นตอนสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองอยู่ที่การกำหนดเป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จแล้วสร้างเสริมความสามารถเพื่อทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้จริง หากเรายังไม่มีความสามารถพอที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้ แม้จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ ก็คงเป็นเพียงความเชื่อมั่นที่เกินความเป็นจริง หรือกล้าทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เท่านั้น

          ความเชื่อมั่นในตนเอง จึงเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองที่มีอยู่จริง (Self confidence = Confidence + Competencies) การขึ้นพูดในที่ชุมนุมชน ต่อให้เราปลุกปลอบความรู้สึกจนควบคุมตนเองได้ แต่หากเราไม่มีความรู้หรือทักษะในเรื่องที่จะพูด ความสำเร็จก็คงเกิดขึ้นไม่ได้

การสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง
          แม้จะไม่มีสูตรสำเร็จหรือทางลัดในการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง แต่การสร้างความเชื่อมั่นในตนเองก็เป็นสิ่งที่สร้างให้เกิดขึ้นได้ตราบใดที่เราไม่ละความพยายามไปเสียก่อน และจากนิยามของความเชื่อมั่นในตนเองที่ต้องมีทั้งความศรัทธาและความสามารถ การสร้างความเชื่อมั่นในตนเองจึงเป็นการพัฒนาความรู้และสติปัญญาของตนเองโดยมีขั้นตอนที่สำคัญ 3 ขั้น ได้แก่

ขั้นที่หนึ่ง: เตรียมตัวเดินทาง
          การสร้างความเชื่อมั่นในตนเองเป็นภารกิจที่ต้องมีเป้าหมาย ขั้นแรกของการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองจึงเปรียบเหมือนการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเดินทางเข้าสู่จุดหมาย เตรียมเสบียงให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการเดินทาง ทำจิตใจให้รับกับการเดินทาง และตั้งใจให้มั่นว่าจะไม่เลิกล้มการเดินทางจนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมาย ในการเตรียมตัวดังกล่าว มี 5 สิ่งที่ต้องทำเพื่อปรับทัศนคติของตน ดังนี้

     1)  มองสิ่งที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว
               ลองเขียนสิ่งที่เราเคยทำได้ดีที่สุดในชีวิตมาให้มากที่สุด เช่นเคยทำคะแนนสอบได้ดี เป็นตัวเก่งในทีมงานหรือทีมกีฬา ขายสินค้าทำยอดได้ดีในช่วงเวลาหนึ่ง ทำบางอย่างที่เด่นกว่าคนอื่น ๆ หรือทำโครงการที่มีความหมายเป็นอย่างมากต่อธุรกิจของตนหรือขององค์กร เขียนความสำเร็จเหล่านี้ไว้ในที่ ๆ สามารถมองเห็นได้บ่อย ๆ แล้วใช้เวลาสัปดาห์ละสองสามนาทีชื่นชมความสำเร็จที่เคยทำได้นั้น

     2)  คิดถึงความสามารถ (Strength) ของตนเอง
               ใช้เทคนิค เช่น SWOT เพื่อดูว่าเรามีจุดอ่อนจุดแข็งอะไรบ้าง เปรียบเทียบความสำเร็จที่ผ่านมากับชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คุณสมบัติอะไรบ้างที่น่าจะเป็นจุดอ่อนหรือจุดแข็งในสายตาของเพื่อนร่วมงาน และพิจารณาว่าอะไรคือโอกาสหรืออุปสรรคที่เรามีหรือเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

      3)  คิดถึงสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับเราและเป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จ
          การกำหนดเป้าหมายเป็นกระบวนการที่ใช้ในการกำหนดจุดมุ่งหมายของตนเองและใช้วัดความสำเร็จว่าได้ตามที่มุ่งหมายไว้หรือไม่ นำเป้าหมายที่กำหนดมาแตกออกตามหลักการวิเคราะห์ SWOT โดยอาศัยจุดแข็งของตน ลดสิ่งที่เป็นจุดอ่อน หาว่าอะไรเป็นโอกาสและควบคุมภัยคุกคามที่มีอยู่ จากนั้นให้กำหนดก้าวแรกของการดำเนินการตามผลการวิเคราะห์ ก้าวแรกนั้นควรเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่สามารถทำให้สำเร็จได้ภายในเวลาสั้น ๆ

     4)  จัดการกับใจของตนเอง
          ทบทวนว่ามีเสียงอะไรที่ก้องอยู่ในหัวซึ่งเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของเราบ้าง คิดให้ลึกลงไปว่า สิ่งที่หลอกหลอนเราอยู่นั้นมีเหตุมีผลเพียงพอและมีความเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด ในกรณีที่ภารกิจคือการกล่าวปาฐกถาในห้องประชุมใหญ่ ก็ควรคิดว่าเราไม่ใช่คน ๆ แรกในโลกที่ต้องทำเช่นนั้น และยังมีอีกหลายคนที่ถึงจะมีความรู้ความสามารถน้อยกว่าเรา ก็ยังทำได้

      5)  ตั้งใจให้มั่นว่าเราทำได้
         สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำในขั้นการเตรียมตัวเดินทาง คือการทำสัญญาที่ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะมีอุปสรรคปัญหาอะไรก็ตาม เราก็จะไม่หยุดการเดินทางสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้และจะใช้ความรู้ความสามารถทั้งหมดที่มีเพื่อทำให้สำเร็จให้ได้ หากในขณะนั้นมีความลังเลสงสัยใด ๆ ผุดขึ้นมาในใจ จดบันทึกมันไว้แล้วใช้สติใคร่ครวญว่ามันมีเหตุผลเพียงพอที่จะมาทำให้เราต้องเปลี่ยนความตั้งใจหรือไม่ หากสะสางเรื่องรกสมองนั้นไปได้ จะเป็นการเริ่มต้นเดินทางที่วิเศษสุด แต่หากคิดไปคิดว่าก็ยังรับรู้ได้ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ขอให้กำหนดเป้าหมายสำรองไว้ใช้จัดการกับความเสี่ยงนั้น

          ที่กล่าวมาทั้งหมดจนถึงตอนนี้ ไม่ใช่คำแนะนำให้พยายามหลอกตัวเองว่าอะไรก็ทำได้ ความเชื่อมั่นในตนเองนั้นมีสองขั้ว คือไม่มีความเชื่อมั่นเอาเสียเลยกับมีความเชื่อมั่นมากเกินไปโดยไม่ประมาณตนว่ามีความรู้ความสามารถที่แท้จริงอยู่เพียงใด การสร้างความเชื่อมั่นในตนเองที่ถูกต้องจึงต้องเริ่มด้วยการประเมินจุดอ่อน จุดแข็งของตนเอง และพยายามเพิ่มทักษะหรือความรู้ความสามารถเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้สูงขึ้น ในทางตรงกันข้ามก็ลดความเสี่ยงอันเกิดจากการประเมินตัวสูงเกินไปเพื่อให้เข้าสู่ภาวะความเชื่อมั่นที่สมดุล ไม่เสี่ยงจนเกิดความเสียหายแต่ก็ไม่กลัวเสียจนไม่ได้ใช้ความสามารถที่มีอยู่

ขั้นที่สอง: ออกเดินทาง
          การเดินทางที่ถูกต้องไม่ได้อยู่ที่ความเร็วในการออกตัว แต่อยู่ที่การออกเดินทางตามเส้นทางที่มุ่งสู่ความสำเร็จและเก็บเกี่ยวความเชื่อมั่นในตนเองไปตลอดเส้นทางนั้น เรื่องที่ต้องเก็บเกี่ยวมีดังนี้

     1) เรียนรู้สิ่งที่จำเป็นต้องใช้เพื่อความสำเร็จ
          มองเป้าหมายแล้วแยกแยะทักษะที่จำเป็นต้องใช้เพื่อความสำเร็จ ไตร่ตรองว่าจะได้ทักษะนั้นมาได้อย่างไร วิธีการที่ว่านั้นไม่ใช่สักแต่เป็นเพียงเรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไป แต่ต้องเป็นโครงการหรือหลักสูตรที่สามารถทำให้คุณได้สิ่งที่ต้องการและเสริมสร้างคุณสมบัติที่คุณต้องการได้อย่างสมใจ

     2) ไม่ต้องเลอเลิศเพอร์เฟ็ค
          ในการเริ่มออกเดินทางสู่ความสำเร็จ ไม่ต้องทำอะไรที่หรูหราประณีตหรือครบถ้วนสมบูรณ์แบบอะไร เพียงแต่ทำเรื่องที่ง่าย ๆ พื้น ๆ ให้สำเร็จ ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีพอแล้ว

     3) แตกเป้าหมายใหญ่ให้เป็นเป้าหมายเล็ก ๆ และพยายามทำเป้าหมายเหล่านั้นให้สำเร็จ
          กำหนดเป้าหมายที่ไม่ใหญ่โตแล้วแยกแยะทักษะที่จำเป็นต้องใช้เพื่อความสำเร็จอย่างที่กล่าวมาแล้ว หลังจากนั้นพยายามให้การกำหนดเป้าหมาย การบรรลุเป้าหมาย และการชื่นชมยินดีในความสำเร็จทีละก้าวเล็ก ๆ นั้นกลายเป็นกิจวัตร สะสมพอกพูนความสำเร็จนั้นไปทีละเล็กทีละน้อย

     4) ควบคุมจิตใจของตนเอง
          คิดเชิงบวกไว้ ชื่นชมความสำเร็จกับเป้าหมายเล็ก ๆ ทั้งหลายและสร้างภาพความสำเร็จนั้นให้เกิดขึ้นในจิตใจ ขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะยอมรับความล้มเหลวว่าเป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์ของการเรียนรุ้ ถ้าทำได้ ความล้มเหลวเหล่านั้นแทนที่จะเป็นตัวทำลายแต่จะกลับเป็นสิ่งที่ทำให้คุณแกร่งขึ้น

ขั้นที่สาม: เร่งเข้าสู่จุดหมายความสำเร็จ
          มาถึงขั้นนี้คุณอาจรู้สึกได้แล้วว่าคุณมีความมั่นใจในตนเองเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน มีเรื่องที่เรียนรู้เพิ่มมากขึ้นและมีความสำเร็จในเป้าหมายที่แตกออกเป็นส่วนเล็ก ๆ หลายเรื่องที่ทำได้สำเร็จ จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องเพิ่มความตั้งใจ กำหนดเป้าหมายให้ยิ่งใหญ่ขึ้น ท้าทายขึ้น เพิ่มความมุ่งมั่นให้มากขึ้น แล้วใช้ทักษะที่มากขึ้นของคุณพุ่งเข้าสู่เป้าหมายที่ว่านั้น

          สิ่งสำคัญที่ต้องคอยเตือนตนอยู่เสมอก็คือ อย่ามั่นใจเวอร์ เป้าหมายสุดท้ายของเราอยู่ที่การพูดในที่ชุมนุมชน ไม่ใช่ไปสร้างหอคอยปิรามิดที่ไหน ตัวชี้วัดสำคัญในขั้นนี้ หากเป็นการขึ้นไปปราศรัยบรรยายอะไรในที่ชุมนุมชน ก็คือการกล้าสบตาคนที่เฝ้ามองคุณและออกท่าทางประกอบคำพูดที่ไม่ลนลาน ไม่วกวน เสียงไม่สั่นเครือ นำเสนอเรื่องราวได้ตามที่เตรียมมา ตอบคำถามได้ตรงประเด็น ไม่เดินกลับไปกลับมาเหมือนหลงทางบนเวที ก็เป็นความสำเร็จที่ควรค่าแก่การภาคภูมิใจ ส่วนการจะใช้ความเชื่อมั่นในตนเองไปสานต่อให้เกิดความสำเร็จในเรื่องอื่น เช่น การเป็นผู้นำ ก็จะเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาหาความรู้และฝึกฝนทักษะในเรื่องนั้นเป็นการเพิ่มเติมต่อไป

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ 


--------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น