วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564

14 Misconceptions About Leadership

 


ความเข้าใจผิด 14 ประการ
ในเรื่องภาวะผู้นำ

          ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำ เช่น ผู้นำคือผู้ที่มีความสามารถพิเศษกว่าคนทั่วไป อาจส่งผลได้ทั้งทางบวกและทางลบ ผลในทางบวกคือ เกิดเป็นความศรัทธาและความเชื่อมั่นในตัวผู้นำ ส่วนผลในทางลบคือ การวางมือ ปล่อยให้ผู้นำได้ใช้ความสามารถที่เป็นพิเศษนั้นดำเนินการไปเพียงลำพัง โดยทีมงานคอยแต่จะรับคำสั่งและความช่วยเหลือจากผู้นำ

          ถึงจะมีผลในทางบวกอยู่บ้าง แต่ความเข้าใจผิดก็คือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ผู้นำที่ดีจะไม่ปล่อยให้ความเข้าใจผิดนั้นคงมีอยู่ต่อไปแม้ความเข้าใจผิดนั้นจะเกิดประโยชน์แก่ตน เพราะหากปล่อยให้ทีมงานได้ทราบความจริงด้วยตนเองในภายหลังว่า ผู้นำที่แท้ก็เป็นปุถุชนคนหนึ่งที่มีโอกาสผิดพลาดและมีความสามารถจำกัดเช่นเดียวกับคนอื่นๆ คนเหล่านั้นอาจไม่ได้คิดว่าที่ผู้นำไม่ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทีมงานทราบ เป็นเพราะการมองข้ามความจำเป็นในเรื่องนี้ แต่พวกเขาอาจคิดไปได้ว่า ผู้นำตั้งใจสร้างความเข้าใจผิด หรือตั้งใจหลอกให้พวกเขาเข้าใจเช่นนั้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการทำงานเป็นทีม

          ความเข้าใจผิดในเรื่องภาวะความเป็นผู้นำ มีมากมาย แต่ที่พบเห็นกันบ่อยๆ มี 14 ประการ ดังนี้

1.  ผู้นำ ถ้าไม่มั่นใจก็คงไม่สั่ง (Leaders are confident in their decisions)
          ทีมงานจะมีขวัญกำลังใจเพิ่มมากขึ้นเมื่อเห็นว่าผู้นำมั่นใจในการตัดสินใจของตน ผู้นำเองก็เข้าใจเหตุผลข้อนี้ดี จึงมักใช้ท่าทีที่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวทุกครั้งที่ประกาศนโยบายหรือการตัดสินใจของตน ท่าทีที่แสดงออกด้วยความมุ่งมั่นเหี้ยมหาญ หรือถ้อยคำที่ตรงไปตรงมาซึ่งใช้ในประกาศของผู้นำ ทำให้ทีมงานหรือผู้เกี่ยวข้องเกิดความรู้สึกชื่นชมและมั่นใจตลอดเวลาว่าการตัดสินใจของผู้นำนั้นต้องไม่ผิดพลาดอย่างแน่นอน มิเช่นนั้นผู้นำคงไม่กล้าที่จะแสดงความมั่นใจออกมาเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริง ผู้นำหลายคน แม้จะได้แสดงท่าทีดังกล่าวออกไป ก็ยังคงมีคำถามอยู่กับใจตนเองตลอดเวลาว่า สิ่งที่ได้ตัดสินใจไปนั้น ถูกต้องแล้วจริงหรือ แต่ในฐานะผู้นำ พวกเขาไม่อยู่ในฐานะที่จะแสดงความไม่มั่นใจออกมาให้ปรากฏได้เท่านั้น

          ความมั่นใจที่มีต่อผู้นำ เป็นคุณสมบัติที่สำคัญข้อหนึ่งในการทำงานเป็นทีม แต่การเชื่อผู้นำหมดใจจนไม่คิดที่จะแสดงความคิดเห็นใดๆ ทั้งๆ ที่ตนมีข้อมูลบางเรื่องหรือข้อมูลใหม่ที่ผู้นำอาจไม่มี แต่ก็ไม่กล้านำเสนอหรือท้วงติงเพราะเชื่อในความเป็นผู้นำมากเกินไป ซึ่งความเข้าใจนั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องทุกครั้งไป ทีมงานหรือผู้เกี่ยวข้องจึงควรแสดงความคิดเห็นหรือมีข้อมูลป้อนกลับให้ผู้นำเป็นระยะ

2.  ผู้นำ รู้เสมอว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร (Leaders always know the answer)
          เป็นความเข้าใจผิดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อแรก คือ เป็นความศรัทธาที่เกิดจากความเข้าใจผิดในภาวะความเป็นผู้นำ เข้าทำนอง ทำๆ ไปเถอะ มีปัญหาเดี๋ยวผู้นำก็แก้ไขได้ ความเข้าใจผิดนี้จะยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นถ้าตัวผู้นำเองก็เข้าใจเช่นนั้น จะเกิดการถือดีในตนเอง ปฏิเสธการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะเชื่อในความรู้ที่ตนร่ำเรียนมาแต่เดิม หรือเชื่อในบุญวาสนาของตนว่าสามารถหาทางออกได้เสมอในยามคับขัน ซึ่งโลกแห่งความเป็นจริง โอกาสที่จะเป็นเช่นนั้นมีไม่มากและคงไม่บังเอิญเกิดขึ้นได้บ่อยนัก

          การลอยตัว ปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของผู้นำแต่เพียงฝ่ายเดียวเพราะเชื่อว่าผู้นำจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้เอง เป็นความเข้าใจผิดที่ส่งผลเสียต่อการทำงานเป็นทีม แต่ละคนจะขาดความระมัดระวังในผลเสียที่อาจเกิดขึ้น ไม่สนใจตรวจสอบข้อมูลและการทบทวนการปฏิบัติงาน จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำที่นอกจากจะหมั่นศึกษาหาความรู้แล้ว ยังต้องทบทวนบทบาทหน้าที่ของทีมงานอยู่เป็นประจำ ชี้ให้เห็นความสำคัญของการประสานงาน และการไม่เข้าใจผิดว่าผู้นำจะรู้ทุกเรื่องหรือแก้ปัญหาได้ทุกอย่างหากไม่ได้รับความร่วมมือจากทีมงาน

3.  ผู้นำ สนุกกับการไล่คนออกและการลงโทษทีมงาน (Leaders enjoy firing and chastising people)
          การลงโทษสมาชิกทีมงานในลักษณะต่างๆ เช่นการไล่ออกจากทีม หรือโอนย้ายสลับหน้าที่ เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ตลอดเวลาในการทำงานเป็นทีมจนหลายคนคิดว่านั่นคือรูปแบบการทำงานที่ผู้นำชอบที่จะนำมาใช้ แต่จากการสอบถามผู้นำหลายคนที่ได้ตัดสินใจไปดังกล่าว พบว่า ส่วนใหญ่รู้สึกอึดอัด ไม่ต้องการตัดสินใจเช่นนั้นถ้ามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า

          หากทีมงานเข้าใจว่าการไล่ออกหรือการลงโทษทีมงาน เป็นอาวุธข้างกายของผู้นำที่ชอบนำออกมาใช้ ก็จะระวังและกลัวจนตัวลีบ ทำทุกอย่างตามที่ได้รับมอบหมาย ไม่คิดที่จะช่วยเหลือกันเพราะกลัวจะเป็นการทำนอกคำสั่งหรือถูกมองว่าพยายามปกปิดข้อบกพร่องของผู้อื่น หรือหวาดระแวงกันเองเพราะกลัวจะถูกเพื่อนร่วมงานนำเรื่องบกพร่องของตนไปรายงาน หากเป็นเช่นนั้น สภาพการทำงานเป็นทีมก็จะล้มเหลว โอกาสประสบความสำเร็จตามเป้าหมายก็คงแทบไม่เหลือ ด้วยเหตุนี้ ผู้นำจึงควรชี้แจงเหตุผลให้ผู้รับการลงโทษได้ทราบถึงความผิดและเหตุผลที่เลือกใช้มาตรการลงโทษนั้นๆ อย่าคิดว่าผู้รับการลงโทษจะเข้าใจความคิดของผู้นำได้เอง หรือคิดว่าอีกไม่นานคงทำใจได้

4. ผู้นำ ไม่ทำงาน ดีแต่มอบหมายให้คนอื่นทำ (Leaders just delegate tasks to others)
          ผู้ที่อยู่วงนอกมักเข้าใจว่างานของผู้นำคือการชี้นิ้ว สั่งให้คนนั้นทำนั่นคนนี้ทำนี่ โดยตนเองนั่งรอรับความดีความชอบไปเต็มๆ หากมีความบกพร่องใดเกิดขึ้น ก็จะโทษว่าเป็นเพราะผู้ปฏิบัติงานทำผิดพลาดหรือไม่ทำตามคำสั่ง แต่ในสภาพความเป็นจริง แม้ว่าผู้นำจะไม่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง โดยจะมอบหมายให้ผู้ที่เหมาะสมกับงานนั้นมากที่สุดเป็นผู้รับไปปฏิบัติก็ตาม แต่ผู้นำก็ยังต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหาทรัพยากรและให้การสนับสนุนการทำงาน, ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล, จัดประชุม, วางแผนงาน, วางโครงสร้างกิจกรรมการทำงานในลำดับต่อๆ ไป, ใช้วิสัยทัศน์ในการมองปัญหา อุปสรรค และโอกาสความสำเร็จ รวมถึงประสานการทำงานของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน นี่ก็คืองาน และเป็นงานในบทบาทหน้าที่ของผู้นำ

          ความเข้าใจผิดที่ว่าผู้นำไม่ทำงาน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างอันตราย เพราะหากทีมงานใดมีความเข้าใจเช่นนั้น ก็คงจะหมดกำลังใจทำงาน ไม่ต้องการทำตนเป็นเบี้ยให้ผู้นำใช้ วางมือไม่ปฏิบัติงานตามที่รับมอบหมาย หรือทำแบบซังกะตายไปวันๆ ผู้นำจึงควรจัดอบรมทีมงานตั้งแต่เริ่มโครงการโดยชี้ให้เห็นภาพรวมของการทำงานเป็นทีมว่าแต่ละส่วนรวมถึงตัวผู้นำมีการทำงานในลักษณะอย่างไร มีการประสานการทำงานกันอย่างไร

5. ผู้นำ ไม่เคยใส่ใจในความรู้สึกของทีมงาน (Leaders don’t experience the same feelings as other people)
          ทีมงานบางคน ติดอยู่กับความรู้สึกแย่ๆ เมื่องานไม่ประสบผลสำเร็จหรือมีปัญหาอุปสรรคมากกว่าที่คิด หลายคนอยากให้ผู้อื่นโดยเฉพาะผู้นำหรือหัวหน้างานได้รับรู้และเข้าใจบ้างว่า แม้งานจะล้มเหลวหรือต้องล่าช้าออกไปนั้น ตนได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้ว และเข้าใจไปว่าผู้นำคงไม่สนใจว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรกับปัญหาดังกล่าว ความรู้สึกเช่นนี้ก็เป็นความเข้าใจผิดอีกเช่นกัน ตัวผู้นำเองก็มีความรู้สึกไม่ต่างไปจากทีมงานเพราะความรับผิดชอบในความล้มเหลวหรือความล่าช้าต่างๆ ก็เป็นความรับผิดชอบที่ผู้นำต้องแบกรับไว้ เพียงแต่การแสดงอาการทุกข์ร้อนวุ่นวายให้ทีมงานเห็น ไม่ใช่ทางออกของปัญหา มิหนำซ้ำยังอ่านบั่นทอนขวัญกำลังใจของทีมงานให้ปั่นป่วนหนักขึ้นไปอีก

          ความรู้สึกฝังใจว่าผู้นำไม่เคยคิดจะดูดำดูดีอะไรกับงานที่ตนปฏิบัติ หากสะสมเพิ่มพูนมากขึ้นๆ ก็อาจทำให้ท้อ ที่เคยทุ่มเทให้กับการทำงานก็จะเริ่มเนือยลง ส่งผลให้งานที่ผิดพลาด ผิดมากขึ้นไปอีก หรือที่เริ่มช้ากลับสะดุดหยุดลง กลายเป็นวัฏจักรแห่งความชั่วร้ายที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของผู้อื่น ดังนั้น แม้ผู้นำจะไม่ควรแสดงอาการหวาดวิตกกังวลในผลงานของทีมงาน แต่ควรปลุกปลอบขวัญกำลังใจด้วยการพูดคุย สอบถามปัญหาและความต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นความเอาใจใส่ที่ผู้นำมีต่องานแล้ว ยังเป็นการให้ทีมงานได้รู้สึกว่า พวกเขาไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวในเวลาที่มีปัญหา

6. ผู้นำ ต้องเป็นมาโดยกำเนิด (Leaders are born, not made)
          เป็นการมองบทบาทอันน่าประทับใจของผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพ ความสามารถในการพูดในที่สาธารณะ หรือความฉลาดทางอารมณ์ของผู้นำว่า น่าจะเป็นผลมาจากพลังธรรมชาติที่มอบให้คนบางคนเป็นพิเศษมาตั้งแต่เกิด ส่วนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้รับพลังพิเศษเช่นนั้น หรือไม่ได้ตกฟากในดวงผู้นำ แม้จะพยายามศึกษาเล่าเรียนอย่างไร ก็คงเป็นได้แค่ผู้รู้ ไม่สามารถสร้างบุคลิกภาพหรือความสามารถขึ้นเป็นผู้นำได้ ความเข้าใจนี้ตกทอดมายาวนานเพียงใดไม่ทราบชัด แต่เชื่อว่าในปัจจุบันก็คงมีไม่น้อยที่ยังมีความเข้าใจดังกล่าวอยู่ แต่จากผลการวิจัยมากมายหลายชิ้นได้ออกมายืนยันแล้วว่า ภาวะผู้นำเป็นเรื่องของทักษะซึ่งสามารถฝึกฝนได้ อย่างไรก็ตาม ทักษะเป็นเรื่องของความถนัดพื้นฐานตามอุปนิสัย แต่ละคนจึงอาจใช้เวลามากน้อยต่างกันในการฝึกฝน ทำนองเดียวกับการเล่นดนตรีหรือการเรียนภาษา อย่างไรก็ตาม หากใช้ความพยายามแล้ว ทุกคนก็สามารถขึ้นเป็นผู้นำได้โดยการหมั่นฝึกฝนและหาโอกาสแสดงทักษะนั้นให้ปรากฏเพื่อประเมินระดับความก้าวหน้าในการพัฒนาของตน

          การยอมรับในพรพิเศษของผู้นำ ทำให้เกิดสิทธิพิเศษในตัวผู้นำ ทีมงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องแม้จะมีความเห็นต่าง ก็อาจไม่กล้าแสดงความคิดเห็นนั้นออกมาเพราะไปยอมรับความด้อยของตนเสียตั้งแต่แรก ภาวะเช่นนี้ส่งผลเสียต่อการทำงานเป็นทีมโดยอาจถูกผู้นำพาเข้ารกเข้าพงไปโดยไม่รู้ตัว ผู้นำที่ดี จะไม่มองความเข้าใจผิดนั้นว่าเป็นโอกาสของตน แต่จะพยายามปลูกฝังความเข้าใจที่ถูกต้องพร้อมทั้งพัฒนาทีมงานหรือผู้เกี่ยวข้องให้ขึ้นมาเป็นผู้นำ

7. ผู้นำ คือผู้ที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำ (Leadership is a title)
          เป็นความเข้าใจที่ไม่ถึงกับผิดเสียทั้งหมด เพราะเมื่อบุคคลใดขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำ เช่น เป็นผู้จัดการ ก็มีอำนาจสั่งการให้ผู้อื่นปฏิบัติตามและสามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้อื่นได้ ผู้นำดังกล่าวคือ ผู้นำโดยตำแหน่ง ซึ่งเป็นผู้นำระดับแรกในห้าระดับของความเป็นผู้นำ (John C. Maxwell) นั่นหมายความว่ายังมีอีกสี่ระดับที่ผู้นำโดยตำแหน่ง หรือผู้ที่ไม่มีตำแหน่ง สามารถพัฒนาตนเองให้ขึ้นเป็นผู้นำได้ ความเป็นผู้นำขึ้นอยู่กับอิทธิพลหรือความสามารถในการทำให้ผู้อื่นยอมรับ (influence) ในเป้าหมายว่าเป็นเป้าหมายที่มีร่วมกัน และความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนพยายามบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ไม่ได้อยู่ที่อำนาจสั่งการ (authority) เมื่อใดที่ผู้นำไม่มีอิทธิพลใดๆ ในความรู้สึกของผุ้ตามหรือทีมงาน ผู้นั้นก็หมดสภาพความเป็นผู้นำ ที่เหลืออยู่ก็เพียงความเป็นหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาเท่านั้น

          ผู้นำโดยตำแหน่งอาจได้รับการยอมรับในระยะแรก เนื่องจากมีฐานะความเป็นผู้บังคับบัญชา แต่เมื่อเวลาผ่านไป หากไม่มีการพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติมากกว่าตำแหน่ง จะทำให้ทีมงานหรือผู้เกี่ยวข้องลดความเชื่อถือหรือความเคารพ อาจพากันสาปแช่งให้พ้นจากตำแหน่งไปให้เร็วที่สุด เพราะผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติในการเป็นผู้นำ ย่อมไม่สามารถนำพาทีมงานให้บรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายได้ ผู้ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำโดยตำแหน่งจึงจำเป็นต้องสร้างอิทธิพลของตนให้เกิดขึ้นในใจของทีมงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่อิทธิพลโดยตำแหน่ง แต่เป็นการสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจให้ทีมงานเกิดความรักและผูกพัน (passion) ที่จะสร้างผลงานที่โดดเด่นแตกต่างไปจากที่ผู้อื่นได้ทำไว้

8. ผู้นำที่ดีที่สุด คือผู้นำที่มุ่งเน้นให้ทุกคนมีความสุข (The best leaders focus on making everyone happy)
          เป็นความเข้าใจผิดในภาระหน้าที่ของผู้นำ คิดว่าผู้นำจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทีมงานหรือผู้เกี่ยวข้อง วิธีที่ดีที่สุดในความคิดของคนกลุ่มนี้คือ ผู้นำควรจะทำให้ทีมงานและทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานมีความพอใจและมีความสุขในการทำงาน แต่ในทางปฏิบัติ หากผู้นำต้องการให้ทุกคนมีความสุข คงจะไม่มีผู้ใดมีความสุขอย่างจริงจังเพราะแต่ละคนต่างมีปัญหาและความมุ่งหวังที่แตกต่างกัน

          การมุ่งหวังให้ทุกคนมีความสุข เปรียบเหมือนการทำให้ผู้ซื้อล็อตตารี่ทุกคนได้รับรางวัลคนละเท่าๆ กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะหมายความว่า ทุกคนจะได้รับรางวัลที่ไม่สูงไปกว่าราคาขายของล็อตตารี่ และคงไม่มีใครมีความสุขจากการทำเช่นนั้น ผู้นำจึงจำเป็นต้องมีความกล้าหาญพอที่จะตัดสินใจทำในสิ่งที่อาจไม่เป็นที่พอใจของคนบางคนเพื่อให้ภารกิจสำเร็จตามความมุ่งหมาย

9. ผู้นำ มีความสุขกับอำนาจและบารมี (The best leaders enjoy power and prestige)
          เป็นการมองผู้นำว่าเข้ามาเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม ยิ่งทำงานได้สำเร็จมากเท่าไร ก็ยิ่งได้รับสิ่งตอบแทนสูงรวมไปถึงการมีอำนาจและบารมี ส่วนทีมงานจะได้รับค่าตอบแทนเพียงค่าจ้างเท่านั้น จริงอยู่ที่ผู้เป็นผู้นำจะได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่องานนั้นประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย แต่นั่นก็เป็นเรื่องของผลตอบแทนซึ่งผู้นำสมควรจะได้รับแต่สำหรับผู้นำที่ดี เขาจะไม่ได้มุ่งเอาผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง

          ความเข้าใจผิดในเรื่องนี้นับว่าเป็นสิ่งบั่นทอนกำลังใจในการทำงานของทีมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มุ่งหวังผลประโยชน์ตอบแทนในรูปตัวเงินหรืออำนาจบารมี เข้าทำนองอิจฉาผู้นำจนไม่ยินดีที่จะสร้างผลงานเพราะเห็นว่าผู้นำได้รับสิ่งตอบแทนมากกว่าตน ผู้นำจึงควรรู้จักอุปนิสัยของผู้เข้ามาร่วมทีมทุกคน หากมีผู้ใดที่มีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว ก็ควรทำความเข้าใจในเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมและผลประโยชน์ที่มีร่วมกันทั้งระยะสั้นและระยะยาว หากไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ก็ควรมอบหมายให้ผู้นั้นทำหน้าที่ที่ไม่ใช่หัวใจความสำเร็จของงาน หรือหากเป็นงานที่เป็นภารกิจลับ ก็ควรถอดผู้นั้นออกไปจากทีมงานเพราะอาจนำความลับออกไปแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์

10.  ผู้นำ คือผู้ที่เรียนมาทางด้านผู้นำและทำงานมาได้ระยะหนึ่ง (Leadership comes from education and time in a job)
          หลายคนต้องการเป็นผู้นำ จึงเลือกเรียนวิชาที่เกี่ยวกับภาวะผู้นำด้วยความเข้าใจว่า เมื่อจบออกไป ทำงานไปสักระยะหนึ่ง ก็จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้นำเอง แม้ว่าใครๆ ก็สามารถเป็นผู้นำได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเรียนมาทางนี้แล้วจะต้องได้เป็นผู้นำเสมอไป ผู้นำเป็นได้ด้วยการฝึกฝน ไม่ใช่เพียงการปล่อยเวลาให้ผ่านไปและรอให้ผู้อื่นเห็นคุณค่าในตนเอง

          ความเข้าใจผิดนี้มักเกิดกับผู้ที่ลงเรียนวิชาทางด้านผู้นำและคิดว่าตนมีความรู้สายตรง ควรได้เปรียบผู้ที่ไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้ ใช้ทฤษฎีที่ร่ำเรียนมาโดยไม่มีจิตใจที่พร้อมทำงานเพื่อส่วนรวมซึ่งเป็นทัศนคติที่สำคัญในการเป็นผู้นำ ยิ่งเวลาผ่านไป หากตนยังไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำทีม หรือได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งบริหาร ก็จะพาล ออกอาการตีรวน ขัดขวางการทำงานของผู้อื่นเพราะเห็นว่ามีความรู้น้อยกว่าตน สถาบันการศึกษาทั้งหลายที่สอนเรื่องภาวะผู้นำจึงควรเน้นสร้างทัศนคติของผู้นำให้มุ่งสร้างความสำเร็จแก่ส่วนรวม มุ่งมั่นที่จะสร้างความแตกต่างที่เด่นชัดในผลงาน รวมถึงพร้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ในเชิงทฤษฎี

11.  ผู้นำ คือผู้มีบุคลิกภาพน่าติดตาม (Leaders have powerful personalities)
          ผู้ที่มีบุคลิกภาพผู้นำที่ชวนให้ติดตาม (leadership presence) สามารถสร้างความสนใจดึงดูดผู้คนรอบข้างได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีบุคลิกภาพดังกล่าว แต่บุคลิกภาพอย่างเดียวคงไม่พอที่จะทำให้ภารกิจสำเร็จลงไปได้ ผู้นำที่แท้จริงจะต้องมีความสามารถในด้านอื่นประกอบด้วย เช่น การสร้างแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นในการทำงาน การระดมความคิด การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับร่วมกัน การมอบหมายภารกิจให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของทีมงาน การมีวิสัยทัศน์มองเห็นโอกาสความสำเร็จคลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่ต้องเตรียมการแก้ไข ฯลฯ

          ผู้ที่ยึดติดอยู่กับบุคลิกภาพที่น่าติดตามของผู้นำ อาจลดบทบาทในส่วนของตนลงไป เช่น ไม่แสดงความคิดเห็น ไม่ซักถาม เชื่อทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจในเหตุผล ยอมรับอิทธิพลทางความคิดทุกเรื่องที่ผู้นำพูด ทำทุกเรื่องที่ผู้นำบอกทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติที่ถูกต้อง ผู้นำที่ดีจะต้องไม่ปล่อยให้พฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นกับทีมงานแม้ว่าจะช่วยให้การทำงานของตนง่ายขึ้นหรือเหนื่อยน้อยลงในระยะแรก แต่การทำไปด้วยความเชื่อและศรัทธามากเกินไปอาจส่งผลเสียได้ในระยะยาว ผู้นำจึงควรซักซ้อมความเข้าใจทั้งในเหตุผลและขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อให้มั่นใจว่าทีมงานนั้นสามารถทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้ตามที่มุ่งหวัง

12.  ผู้นำ ไม่จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของใคร (Leaders do not have to listen to others)
          ผู้นำบางคนคิดว่าแนวคิดของตนถูกต้อง หรือเป็นแนวคิดที่ได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารแล้ว จึงพยายามผลักดันแนวคิดนั้นให้มีผลในทางปฏิบัติให้เร็วที่สุดโดยไม่รับฟังคำทักท้วงหรือความคิดเห็นใดๆ จากทีมงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะเห็นเป็นเรื่องรบกวนใจและเกรงจะทำให้ความสำเร็จตามเป้าหมายต้องล่าช้าออกไป แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครที่ถูกในทุกเรื่องและทุกสถานการณ์ นอกจากนั้น การเป็นผู้นำคือ การเป็นผู้นำของทีมงาน การไม่รับฟังความคิดเห็นของทีมงานจึงเป็นการปิดโอกาสที่จะได้ทราบปัญหาหรือขีดจำกัดของทีมงาน และปิดโอกาสที่จะได้ทางออกหรือแนวทางที่อาจเหมาะสมกว่าสิ่งที่ตนคิด

          เมื่อทีมงานเห็นว่าตนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานหรือไม่ได้มีส่วนร่วมในเป้าหมาย ก็จะไม่เกิดความรู้สึกจงรักหรือความมุ่งมั่นในการทำงาน ผลก็คือการทำงานจะขาดพลังและการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หากเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นมา แต่ละคนก็จะวางเฉย ไม่ช่วยกันแก้ไข ปล่อยให้ปัญหาบานปลายเพราะเห็นว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ผู้นำจึงควรรับฟังความคิดเห็นของทีมงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อสร้างความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของ ทุกคนต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการและมีบทบาทในการทำงาน สนับสนุนให้มีการระดมสมองควบคู่ไปกับการทำภารกิจ เห็นความสำคัญในศักยภาพของทีมงาน เลือกข้อเสนอที่เหมาะสมซึ่งเห็นพ้องกันมาใช้ปฏิบัติ ไม่บั่นทอนกำลังใจทีมงานด้วยการแสดงท่าทีเบื่อหน่ายรำคาญความคิดเห็นที่พวกเขานำเสนอ ขอให้คิดอยู่เสมอว่า ความกระตือรือร้นในการทำงานเป็นสิ่งที่สร้างได้ยาก หากมีอยู่แล้ว อย่าให้มันต้องสูญเสียไป

13.  ผู้นำ ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตนเอง (Be yourself)
          ผู้นำบางคนไม่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตนเองเพราะคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอยู่ คือปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้ผู้บริหารหรือสมาชิกทีมงานทั้งหลายยอมรับให้ตนเป็นผู้นำ ความเห็นนี้อาจถูกต้องสำหรับสิ่งที่ผ่านมาแล้วในอดีต แต่จะต้องไม่ลืมว่า ภาระหน้าที่ของผู้นำคือ การนำพาทีมงานบรรลุเป้าหมายในอนาคต การปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับเป้าหมาย สถานการณ์ จุดอ่อนจุดแข็งของทีมงาน จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้นำที่ประสบความสำเร็จ

          ผู้นำที่ไม่พร้อมจะปรับเปลี่ยนตัวเอง จึงเป็นผู้นำที่ขายของเก่าไปวันๆ มีมุมมองเก่าๆ มีวิธีคิดแบบเก่าๆ ซึ่งไม่สามารถสร้างความเข้าใจกับทีมงานที่มักจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีการพัฒนาตนเองตลอดเวลา ผู้นำประเภทนี้มักหลอกตัวเองว่าธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ผลที่เกิดขึ้นคือความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกันระหว่างผู้นำกับทีมงาน ไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน ผู้นำจึงจำเป็นต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลา หมั่นเรียนรู้ทั้งโดยการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองและการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น ไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบการทำงานที่เคยทำมาในอดีต ทดลองวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ เพื่อเรียนรู้และแสวงหาสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมในแต่ละเงื่อนไขและสถานการณ์ ที่สำคัญคือ ต้องลดอัตตาที่มีในตนลงไปให้มากที่สุด สร้างศรัทธาในหมู่ผู้ตามว่าเป็นผู้นำที่มีความยืดหยุ่นพอที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้

14.  ความเป็นผู้นำ สำคัญมากกว่าการบริหาร (Leadership is more important than management)
          ผู้นำบางคนคิดว่าการเป็นผู้นำมีความหมายและความสำคัญมากกว่าการเป็นผู้บริหารเพราะคุ้นเคยกับคำหรูๆ เช่น กลยุทธ์, วิสัยทัศน์ บางคนมองว่าผู้นำคือผู้ที่รับผิดชอบงานใหญ่ๆ ส่วนผู้บริหารเป็นพวกที่รับผิดชอบงานประจำหรืองานแทรกเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งในความเป็นจริง ผู้นำที่ดีจะต้องมีความสามารถทั้งการเป็นผู้นำและผู้บริหาร จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ได้

          ผู้นำที่มองการบริหาร เป็นการทำงานตามคำสั่งของผู้นำ มักจะแต่งตั้งมอบหมายให้ผู้มีทักษะในการบริหารมาเป็นผู้ช่วยของตน แม้ว่านั่นจะเป็นรูปแบบหนึ่งในการทำหน้าที่ของผู้นำ แต่การการละเลยการบริหารซึ่งเป็นการขับเคลื่อนกลยุทธ์ให้เกิดผลในการปฏิบัติ ก็เป็นการลดบทบาทที่สำคัญและความน่าเชื่อถือในตัวผู้นำลงไป ผู้นำจึงควรแสดงให้ทีมงานเห็นว่า ตนมีความรู้และความเข้าใจว่าเมื่อใดควรใช้ทักษะการเป็นผู้นำ และเมื่อใดที่ควรใช้ทักษะการเป็นผู้บริหาร ไม่จมอยู่กับการจัดการเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียวจนสร้างความเครียดให้ทีมงานต้องจมอยู่กับงานบางอย่างที่ดูเหมือนไม่มีจุดจบ ขณะเดียวกันก็กังวลกับปัญหาที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาหรือหาหนทางแก้ไข

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ

---------------------------------



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น