วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564

12 Rules for Life [Peterson]


กฎ 12 ข้อในการดำเนินชีวิต

          12 Rules for Life: An Antidote to Chaos หรือ กฎ 12 ข้อในการดำเนินชีวิต เป็นชื่อหนังสือติดอันดับหนังสือขายดี เขียนโดย Jordan B. Peterson นักจิตวิทยาชาวแคนาดา และศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโตรอนโต้ เนื้อหามีความสัมพันธ์กับการพัฒนาจิตใจของตนด้วยการสร้างความรู้สึกมั่นใจในตนเอง ค้นหาคุณค่าในตนเอง เลือกคบคนที่จะไม่ดึงเราลงต่ำ ไม่นำคนไปเทียบกับคนอื่น ให้ความรักความเมตตากับผู้คนรอบข้าง รวมไปถึงการเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่ดี

          หนังสือเล่มนี้เน้นการพัฒนาตนเองด้วยแนวคิดหลัก 2 ประการ

     1. บุคคลควรรับผิดชอบกับชีวิตของตนเองและผู้อยู่ในความดูแล
     2. ควรกำหนดให้การเป็นคนดี เป็นความหมายและความมุ่งหมายของชีวิต


          กฎ 12 ข้อในการดำเนินชีวิต ประกอบด้วย

กฎข้อที่ 1: ยืดตัวตรง อย่าจ๋อง (Stand up straight with your shoulder back)
          Peterson กล่าวว่า มนุษย์เราจะคอยตรวจสอบสภาพแวดล้อมทางสังคมอยู่ตลอดเวลาว่าคนอื่นคิดอย่างไรกับตน ข้อมูลที่ได้รับจะส่งผลเป็นวัฏจักรเพิ่มพูน ขึ้นอยู่กับว่าเรารับข้อมูลนั้นมาในแง่บวกหรือแง่ลบ เมื่อใดที่มีความรู้สึกว่าคนอื่นปฏิบัติกับเราในเชิงบวก คิดว่าเราเป็นที่พึ่งหรือผู้นำของพวกเขาได้ เมื่อนั้นฮอร์โมน serotonin จะพรั่งพรูเข้าในสมอง ทำให้รู้สึกสดชื่นและมองชีวิตว่ามีคุณค่า เมื่อมองชีวิตว่ามีคุณค่า ก็จะมี seroronin หลั่งเข้าในสมองอีก วนเวียนเป็นวัฏจักร ในทางกลับกัน หากเรารู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติในเชิงลบหรือถูกลดค่าให้เป็นเพียงลูกน้องหรือลูกไล่ จะไม่มี serotonin หลั่งเข้าในสมองหรือหลั่งก็ในปริมาณที่น้อยจนทำให้รู้สึกหดหู่ มองโลกไม่สดใส เกิดอารมณ์ซึมเศร้า มองชีวิตว่าไร้ค่า วนเวียนเป็นวัฏจักรความเศร้าหมองเก็บกด จนในที่สุดอาจถึงขั้นทำลายชีวิตของตนเอง

          การจะเปลี่ยนวงจรหรือวัฏจักรจากแง่ลบมาเป็นแง่บวก ง่ายที่สุดก็ด้วยการแสดงท่าทางที่พร้อมจะสร้างการเปลี่ยนแปลงออกมา คำว่ายืดตัวตรง (stand up) มีความหมายทั้งทางกายภาพและอารมณ์ เป็นการเผชิญหน้ากับความท้าทาย ยอมรับความรับผิดชอบที่จะแก้ไขปัญหา แทนที่จะกอดจมอยู่ในความทุกข์จนตายไปกับมัน

          เมื่อแต่ละคนล้วนจับจ้องมองคนอื่นเพื่อหาสถานะที่เหมาะสมของตนในสังคม เราก็น่าจะใช้มุมมองของพวกเขาให้เป็นประโยชน์ด้วยการยืดตัวให้ตรง เปิดไหล่ให้กว้าง แสดงความมั่นใจออกมาให้ปรากฏ เมื่อใดที่คนอื่นรู้สึกและเชื่อว่าเรามีความมั่นใจในตนเอง พวกเขาก็จะปฏิบัติกับเราดีขึ้น serotonin จะพรั่งพรูเข้าในสมอง ทำให้รู้สึกดีขึ้น เมื่อใดที่เรารู้สึกมั่นใจ คนอื่นก็ปฏิบัติกับคุณดีขึ้นในวงกว้างขึ้นไปอีก วนกันเป็นวัฏจักร Peterson นำการแสดงความมั่นใจของคน มาเปรียบเทียบกับการวางท่าเป็นผู้ชนะของกุ้ง lobster ที่ต่อสู้กัน ตัวที่ชนะจะมีฮอร์โมน serotonin : ฮอร์โมน octopamine ในสัดส่วนที่สูงกว่าตัวที่แพ้ ฮอร์โมน serotonin มีผลต่อพฤติกรรมการแสดงออก กล่าวคือ lobster ตัวที่มีฮอร์โมนนี้สูงจะมีลำตัวเหยียดตรงและมีความคล่องแคล่วสูงกว่าตัวที่แพ้ เป็นที่ยำเกรงแก่กุ้งตัวอื่นๆ

          อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตในสังคมคงไม่ได้อาศัยเพียงท่าทีที่มั่นใจ หลังตรงไหล่ตั้งเท่านั้น คนเรายังคบหาและให้ความสำคัญต่อคนอื่นด้วยเหตุผลอื่นๆ อีกมากมาย จึงควรศึกษาและปฏิบัติตามกฎการดำเนินชีวิตข้ออื่นๆ ด้วย

กฎข้อที่สอง: ช่วยตนเองให้แข็งขันเหมือนที่ทำให้คนอื่น (Treat yourself like someone you are responsible for helping)
          หลายคนมีความรู้สึกดีๆ ต่อสัตว์เลี้ยงมากกว่าความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อตนเอง เหตุก็เพราะการมองแต่สิ่งบกพร่องของตนและโทษความผิดพลาดทั้งหลายว่ามาจากความบกพร่องนั้น ลดคุณค่าตัวเองด้วยความรู้สึกตอกย้ำจนโงหัวไม่ขึ้น ละเลยการดูแลสุขภาพของตน หากคุณเป็นผู้หนึ่งที่มีความคิดดังกล่าว คุณจะต้องรีบเปลี่ยนวิธีคิดจากที่มองตนเองว่าไร้ค่าเกินกว่าที่จะแก้ไข มาคิดเสียใหม่ว่าตนเองยังมีสิ่งที่ดีอยู่และการได้ใช้ชีวิตอยู่กับมัน เป็นสิ่งที่มีคุณค่า

          Peterson แนะนำให้เริ่มสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับตนเองด้วยการ

     o เขียนคุณค่าของตนลงในกระดาษ แม้ว่าจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ขอให้ยึดมั่นกับสิ่งนั้นไว้
     o เมื่อใดที่ได้ใช้คุณค่านั้น จงให้รางวัลแก่ตนเองด้วยความรู้สึกว่ามีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำนั้น
     o เมื่อใดที่ล้มเหลวกับสิ่งใด อย่าตีโพยตีพาย พยายามทำสิ่งนั้นให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป


กฎข้อที่สาม: เลือกคบแต่เพื่อนที่ดี (Make friends with people who wants the best for you)
          คนเรามักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเลือกคบเพื่อน ความเป็นเพื่อนมักเกิดจากการมีกิจกรรมที่ชอบเหมือนๆ กัน เช่น อาจชอบการศึกษาเรียนรู้ หรือชอบการท่องเที่ยวเหมือนกัน เพื่อนที่ดีจะช่วยดึงเราให้สูงขึ้น พวกเขาจะช่วยให้คำแนะนำแก่เราเพราะจะไม่ยอมทนกับพฤติกรรมแย่ๆ ของเรา ส่วนเพื่อนที่ไม่ดีจะดึงเราลงต่ำหรือสนับสนุนให้เราทำพฤติกรรมที่ไม่ดีเพียงเพื่อพวกเขาจะได้มีความรู้สึกว่ามีคนเช่นเดียวกับเขาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนโดยไม่คิดถึงผลเสียใดๆ ที่จะเกิดกับเรา หากเราต้องการปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อนที่เป็นสภาพแวดล้อมของเราด้วย

          ในการเลือกคบเพื่อนที่ดี จึงควรใช้แนวทางต่อไปนี้

     o คัดเพื่อนที่ใกล้ชิดหรือสนิทกับเรามากที่สุดขึ้นมา 10 คน
     o ทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่า ใครที่ช่วยให้เราดีขึ้น และใครที่ดึงให้เราต่ำลง
     o หากพบว่าเพื่อนบางคนในจำนวนนี้กำลังดึงเราลงต่ำ ลองถามตนเองว่าเขาต้องการให้มีคนช่วยเขาหรือไม่ เราไม่สามารถช่วยคนที่ไม่ต้องการให้ใครช่วย หากเพื่อนของเราเป็นคนประเภทนั้น ทางที่ดีที่สุดคือควรถอยห่างจากเขา


          กฎข้อที่สามนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราควรทอดทิ้งเพื่อนให้อยู่ในความลำบาก หรือตัดสัมพันธ์เมื่อไม่ได้รับประโยชน์ แต่หมายความว่าเราควรเลือกคบเพื่อนที่ดีตั้งแต่แรก ไม่เข้าไปอยู่ในสังคมที่ดึงให้เราลงต่ำ เช่น ไม่คบเพื่อนที่ชอบเล่นการพนัน หรือติดยาเสพติด เมื่อพบว่าเพื่อนของเรากำลังจะเดินผิดทาง หากเราได้ให้คำแนะนำและพยายามดึงเขาให้กลับมาสู่เส้นทางที่เหมาะสม แต่ได้รับการปฏิเสธ เมื่อนั้นก็ไม่ควรเดินตามเขาลงสู่อบาย

กฎข้อที่ 4: เปรียบตัวเองกับเมื่อวาน อย่าไปเทียบกับคนอื่น (Compare Yourself To Who You Were Yesterday, Not To Who Someone Else Is Today)
          คนเรามักชอบนำตนเองไปเทียบกับคนอื่น ทำให้ได้ข้อสรุปที่ไม่เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ในกรณีที่ไปเทียบกับคนที่ด้อยกว่า ก็หลงระเริงว่าตนเก่ง แต่เมื่อไปเทียบกับคนที่เหนือกว่า ก็พาลโทษโชคชะตาและโอกาสอันต่ำต้อยของตน หมดกำลังใจที่จะสู้ชีวิต Peterson เสนอให้ใช้วิธีการต่อไปนี้

     o ยอมรับว่าจะมีคนที่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดีกว่าเราอยู่เสมอ จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะนำตนเองไปเทียบกับคนอื่น
     o สิ่งที่ควรทำคือเปรียบเทียบตัวเราวันนี้กับเมื่อวาน
     o ดูไปที่พฤติกรรม การทำงาน การดูแลตนเอง และความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่นๆ พิจารณาว่ามีอะไรที่เราจะสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้บ้างในวันนี้ แม้มันจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม
     o หากทำได้เช่นนี้เป็นประจำ ต่อเนื่องได้สักระยะหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
     o เมื่อหมั่นเปรียบเทียบตัวเราเองเช่นนี้ทุกวัน เราจะหยุดการนำตนเองไปเทียบกับคนอื่นเพราะเราได้ใช้เวลาและความคิดไปกับการพิจารณาและปรับปรุงตนเองหมดแล้ว


กฎข้อที่ 5: สั่งสอนอบรมลูกหลาน (Do not let your children do anything that makes you dislike them)
          เด็กจะลองผิดลองถูกเพื่อค้นหาว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ พ่อแม่หรือผู้ปกครองจึงควรสอนลูกหลานให้พวกเขารู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ มิเช่นนั้น เด็กๆ อาจเรียนรู้ในสิ่งที่ผิดเพราะไม่ได้รับแนวทางที่ถูกต้องจากผู้ใหญ่ เมื่อเติบโตขึ้นมาจึงยากที่จะปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานของสังคม สร้างปัญหาให้กับทั้งตัวเองและสังคม และต้องรับโทษที่สังคมกำหนดไว้โดยพ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่สามารถทำอะไรได้แล้วในตอนนั้น การสั่งสอนอบรมลูกหลาน จึงควรใช้แนวทางต่อไปนี้

     o ให้เวลาพูดคุยกับเด็กๆ เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาเข้าใจกฎเกณฑ์พื้นฐานของสังคมว่า อะไรควรทำและไม่ควรทำ
     o อย่าใช้อารมณ์เปลี่ยนกฎหรือแนวทางการปฏิบัติตามอำเภอใจ เพราะจะสร้างความสับสนให้กับเด็ก


กฎข้อที่ 6: ทำตนเองให้ดีก่อนจะวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น (Put your house in perfect order before you criticize the world)
          การวิพากษ์วิจารณ์หรือเพ่งชี้ความบกพร่องของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องพฤติกรรม หรือผลงาน เป็นเรื่องที่ใครก็ทำได้ บางครั้งยังลามไปถึงการดูถูกชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อื่นในลักษณะยกตนข่มท่านโดยไม่เคยมองตัวเองเลยว่ามีข้อบกพร่องในเรื่องใด การทำเช่นนั้นอาจได้ความรู้สึกสะใจบ้าง แต่ไม่นานก็คงได้รับการโต้กลับจากคนรอบข้างที่รังเกียจพฤติกรรมดังกล่าว หากคุณคิดจะแก้ไข ควรปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้

     o ทบทวนว่าตนเองได้เคยทำอะไรผิดพลาดมาบ้างหรือไม่ แม้ว่าคุณจะเป็นคนที่เข้าข้างตนเองมากมายเพียงใด อย่างน้อยก็น่าจะนึกออกได้บ้าง
     o เมื่อนึกได้แล้ว ก็ควรหยุดทำสิ่งนั้นทันทีและตั้งใจมั่นว่าจะไม่ทำสิ่งนั้นอีก
     o อย่าเสียเวลาไปกับการตั้งคำถามว่าอะไรเป็นเหตุให้คุณทำความผิดนั้นเพราะคุณอาจได้ข้อแก้ตัวขึ้นมามากมายแทนที่จะเห็นโทษของการกระทำความผิด


กฎข้อที่ 7: ทำในสิ่งที่มีคุณค่าแก่ชีวิต (Pursue what is meaningful, not what is expedient)
          ในการใช้ชีวิต เราอาจแสวงหาความสุขไปวันๆ โดยไม่สนใจว่าชีวิตที่ผ่านไปในแต่ละวันจะมีความหมายหรือคุณค่าอะไรที่ต้องคิดเป็นพิเศษ อาจพยายามหลีกเลี่ยงงานหนักทั้งๆ ที่รู้ว่าการทำงานหนักจะช่วยชีวิตของตนที่ดีขึ้นได้ในอนาคต

          แม้คุณจะยังมองไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิต แต่ในความเป็นจริง โอกาส คือสิ่งที่เราสามารถสร้างมันขึ้นมาได้หากมีความมุ่งมั่นกับมัน ลดการให้ความสำคัญกับความสุขที่ได้มาจากกิเลสตัณหาต่างๆ ด้วยการปฏิบัติตามวิธีการต่อไปนี้

     o ให้ความสนใจกับโลกรอบตัวคุณ อย่าพร่ำรำพันแต่ว่าหมดหวัง
     o ถามตนเองว่าสามารถทำอะไรให้รอบตัวเราดีขึ้นบ้างแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม
     o ถามตนเองว่าสามารถทำอะไรในปัจจุบันได้บ้างเพื่อให้ชีวิตของเราดีขึ้นในอนาคต
     o คิดให้ใหญ่ขึ้นไปอีกว่า ในการทำอะไรให้โลกรอบตัวให้ขึ้นนั้น จะต้องปรับปรุงหรือพัฒนาตนเองอย่างไรจึงจะสามารถทำเช่นนั้นได้ ยิ่งคิดใหญ่ ก็หมายความว่าเราจำเป็นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวเองให้มาก ทำให้มองเห็นความหมายในชีวิตของตนได้เด่นชัดขึ้น


กฎข้อที่ 8: พูดความจริง อย่าโกหก (Tell the truth, or at least don’t lie)
          การโกหกมีได้หลายลักษณะและวัตถุประสงค์ เช่น

     · อาจโกหกเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ
     · อาจโกหกเพื่อไม่ทำร้ายความรู้สึกของผู้อื่น
     · อาจโกหกโดยปิดบังความจริงบางส่วนไว้
     · อาจโกหกแม้กับตัวเองเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง


          การโกหก เป็นการหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดของตนเองหรือของผู้อื่น อาจให้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่เป็นการทำลายคุณค่าของผู้โกหกในระยะยาว ปัญหาจะยิ่งพัวพันไม่จบสิ้นหากต้องโกหกในเรื่องใหม่เพื่อปกปิดสิ่งที่ได้เคยโกหกไว้ ใครก็ตามที่เสียคุณค่าของตนเองไปในการโกหก จะมีความเปราะบางและเสียความเป็นตัวตนได้ง่ายเมื่อต้องประสบกับปัญหาที่ไม่สามารถอาศัยการโกหกแก้ไขได้ Peterson กล่าวว่า กฎการดำเนินชีวิตในข้อที่ 4 (เปรียบตัวเองกับเมื่อวาน) จะได้ผลหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีความซื่อตรงต่อตัวเองมากเพียงใด การแก้ไขปัญหาจากการโกหกควรทำดังนี้

     o เมื่อการโกหกจะส่งผลย้อนกลับมาทำร้ายคุณ ทางที่ดีที่สุดจึงควรพูดแต่ความจริง หรืออย่างน้อยจะต้องไม่โกหก
     o ถามตนเองว่ากำลังพยายามหลีกเลี่ยงข้อเท็จจริงเรื่องใดอยู่ มีอะไรที่เป็นอุปสรรคในการพูดความจริงทั้งกับตนเองและผู้อื่น แล้วอย่าไปให้ความสำคัญกับมันมากกว่าการพูดแต่ความจริง


กฎข้อที่ 9: ยอมรับฟังคนอื่น (Assume The Person You Are Listening To Might Know Something You Don’t)
          คนเรามักเข้าใจว่าตนเองรู้เรื่องราวมากมาย ไม่ว่าจะโดยวุฒิการศึกษาหรือการค้นคว้าที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง จนบางครั้งดูถูกความคิดเห็นของคนอื่น ในการสนทนาใดๆ ก็มักทำตนเป็นน้ำเต็มแก้ว ไม่รับความคิดเห็นหรือข้อมูลใหม่ ตัดสินผู้อื่นตั้งแต่แรกว่ารู้น้อยกว่าตน จึงพลาดโอกาสได้แนวคิดหรือความคิดใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มพูนความรู้ไปอย่างน่าเสียดาย

          เราไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้จริงจังจากการพูด แต่สามารถเรียนรู้ได้มากจากการฟัง ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ คือ การทำให้ผู้อื่นฟังและเข้าใจในสิ่งที่เราพูด ดังนั้น หากเรายอมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น นอกจากจะเป็นการสนองความต้องการพื้นฐานของผู้พูดและทำให้เข้าใจความคิดของเขาแล้ว ยังช่วยสร้างความไว้วางใจและมิตรภาพที่มีต่อกันอีกด้วย การสร้างทักษะการเป็นผู้ฟัง ทำได้ดังนี้

     o ตั้งใจฟังสิ่งที่ผู้พูดหรือคู่สนทนากำลังกล่าวด้วยความเข้าใจในพื้นฐานความคิดและบุคลิกลักษณะของเขา
     o สรุปเนื้อหาสาระสำคัญของผู้พูดและถามกลับไปเพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่เราเข้าใจนั้นถูกต้องตามเจตนาของผู้พูด
     o หากมีข้อทักท้วง ให้ย้อนกลับไปในท่อนแรกที่เกี่ยวกับความเข้าใจในพื้นฐานความคิดและบุคลิกลักษณะของผู้พูด หากผู้นั้นเป็นผู้ที่ไม่ยอมรับฟังความคิดของผู้อื่น ก็ขอให้เข้าใจว่าเขามีความคิดเช่นนั้น ไม่จำเป็นต้องพยายามไปเปลี่ยนความคิดของเขาซึ่งนอกจากจะสำเร็จยากแล้ว ยังอาจสร้างความขัดแย้งขึ้นมาโดยไม่จำเป็น


กฎข้อที่ 10: อย่าพูดเยิ่นเย้อ (Be precise with your speech)
          เมื่อจำเป็นต้องขึ้นกล่าวบางอย่างที่ไม่ได้เตรียมมา ควรพูดให้กระชับ เอาแต่เนื้อๆ และจบให้ไว จะช่วยลดความประหม่าซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนว่าจะมีอะไรเกิดตามมา การพูดไปขณะที่ใจก็คิดถึงโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด ทำให้สมองสับสนและความกระวนกระวายใจเพิ่มสูงขึ้น วิธีการแก้ไข

     o เมื่อรู้สึกว่ามีความคิดสับสนเริ่มเข้ามารุมเร้า ควรพูดให้กระชับและรีบจบลงในขณะที่ยังไม่มีความผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้น
     o เมื่อผ่านพ้นสถานการณ์นั้นมาแล้ว ควรเขียนลงไปในกระดาษหรือในบันทึกว่าอะไรที่มาสร้างความสับสนให้แก่เรา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และจะแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร การเขียนหรือพิมพ์ลงในคอมพิวเตอร์ จะช่วยให้เรามีโอกาสอ่านซ้ำว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ครบถ้วนตามที่คิดหรือไม่ ดีกว่าการนั่งคิดซึ่งอาจตกหล่นข้อเท็จจริงบางอย่างไป หรืออาจผ่านเข้ามาในความคิดเร็วเกินไปจนไม่สังเกตความสำคัญของมัน


กฎข้อที่ 11: ให้เด็กมีอิสระในการเล่นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง (Leave children alone when they are skateboarding)
          เมื่อใดก็ตามที่เราเผชิญกับความเสี่ยงเล็กๆ น้อยๆ และสามารถผ่านมันไปได้อย่างปลอดภัย เราจะเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์และมีทักษะการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในลักษณะคล้ายกันได้ดีขึ้น ผู้ที่มีความสามารถในการแก้ปัญหา ย่อมดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพมากกว่าผู้ที่ไม่มีความสามารถในการแก้ปัญหา

          เช่นเดียวกันกับการพัฒนาเด็กให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ผู้ปกครองไม่ควรทะนุถนอมเด็ก กลัวเด็กจะมีอันตรายเสียจนเด็กไม่รู้วิธีการดูแลตนเองและไม่ได้ใช้ความคิดในวัยที่กำลังศึกษาสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัว Peterson ยกตัวอย่างการเล่น skateboard ซึ่งผู้ปกครองมักไม่ยอมให้เด็กเล่นเพราะกลัวอันตราย แต่หากผู้ปกครองสอนให้เด็กสวมใส่อุปกรณ์ความปลอดภัยและให้เด็กได้เล่นในสภาพแวดล้อมที่สมควร จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ ดีกว่าการสั่งห้ามปิดกั้นจนเด็กแอบไปลองเล่นกับเพื่อนโดยไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกัน หรือไปเล่นตามถนนจนเกิดอันตราย

กฎข้อที่ 12: หาความสุขด้วยการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อย (Pet a cat when you encounter one on the street)
          บางครั้งเราก็ต้องพบกับสิ่งไม่พึงประสงค์ เรามีทางเลือกว่าจะโกรธเกลียดโชคชะตาชีวิตของตนเอง เกลียดสังคมที่เหมือนคอยมากระหน่ำซ้ำเติมตนแต่ผู้เดียว หรือจะยอมรับว่าสิ่งไม่พึงประสงค์เหล่านั้นคือธรรมชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คุณสามารถเปลี่ยนความรู้สึกหดหู่เหล่านั้นได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

     · สังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัว มองหาส่วนที่ดีเพื่อสร้างความสุขขึ้นในใจ
     · อาจเปลี่ยนชีวิตที่จำเจออกไปบ้าง เช่น นำสัตว์มาเลี้ยง หากาแฟกินในร้านที่ยังไม่เคยไป หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนเส้นทางกลับบ้าน การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต จะช่วยให้คุณเข้าใจได้ว่า คุณสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของคุณได้ด้วยการเริ่มค้นหาด้วยตัวคุณเอง


          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ

--------------------------




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น