ความผิดพลาดพื้นฐาน 10 ประการ
ของผู้บริหารและผู้นำ
มีผู้กล่าวว่า ความผิด ให้โอกาสในการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ แต่ที่จริงแล้ว ถ้าเราสามารถเรียนรู้ด้วยวิธีอื่นโดยไม่เกิดความผิดขึ้นมาก่อนได้ ก็น่าจะดีกว่า ผู้บริหารมีเรื่องที่ต้องรับผิดชอบมากมาย ทั้งต่อองค์กรรวมถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกน้องและทีมงาน หากคุณเป็นผู้บริหาร คุณต้องพร้อมที่จะทบทวนทุกสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหา ต้องตระหนักถึงจุดอ่อนที่มีอยู่ในระบบการทำงาน วางกลยุทธ์ และแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ อย่างรู้เท่าทัน ความผิดพลาด 10 ประการที่มักเกิดขึ้นกับผู้นำและผู้บริหารดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณสามารถเรียนรู้ไม่ให้เกิดความผิดพลาดได้ และเพื่อความสะดวก ไม่เยิ่นเย้อ บทความนี้จะใช้คำว่า “ผู้บริหาร” ในความหมายรวมถึงผู้นำด้วย
1. ไม่ให้ข้อมูลป้อนกลับ
ผู้บริหารบางคน รับรู้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพนักงานภายใต้การบังคับบัญชา แต่แทนที่จะแจ้งให้พวกเขาได้รู้ตัวและรีบจัดการแก้ไข กลับรอที่จะทำตามรูปแบบวิธีการ เช่น รอที่จะแจ้งลงไปในรายงานผลการปฏิบัติงาน จนความล่าช้าดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์กร
The Ken Blanchard Companies ได้จัดการสำรวจสอบถามผู้บริหารจำนวน 1,400 คน ผลการศึกษาพบว่า การไม่ให้ข้อมูลป้อนกลับ เป็นความผิดพลาดที่ผู้บริหารกระทำกันมากที่สุด การให้ข้อมูลป้อนกลับที่ถูกต้อง ฉับไว มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อความสำเร็จในการทำงาน ผู้บริหารจึงควรให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ทีมงานอย่างสม่ำเสมอซึ่งสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ เช่น การแจ้งผลการปฏิบัติงาน การให้รางวัลแก่ผู้ปฏิบัติงานดี การแจ้งสิ่งที่ควรปรับปรุงแก้ไข การไม่ให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ลูกน้องหรือทีมงาน จะเป็นการตัดโอกาสการปรับปรุงตัวของพวกเขา ผู้บริหารทุกคนจึงจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการให้ข้อมูลป้อนกลับที่เหมาะสมด้วย
2. ไม่ให้เวลากับทีมงาน
เมื่อคุณขึ้นเป็นผู้บริหาร คุณก็อาจติดอยู่กับภาระหน้าที่การงานจนไม่มีเวลาให้กับผู้ร่วมงาน แต่ไม่ว่าคุณจะมีงานยุ่งมากมายเพียงใด ขอคิดอยู่เสมอว่าลูกน้องคุณต้องมาก่อน คุณต้องพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและคำชี้แนะในเวลาที่พวกเขาต้องการ เพื่อทำให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ คุณจำเป็นต้องวางกำหนดการทำงานโดยเฉพาะที่จะให้กับลูกน้องหรือทีมงานของคุณและเรียนรู้ที่จะฟังพวกเขาอย่างตั้งใจ พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์เพื่อรู้จักพวกเขาและสิ่งที่พวกเขาต้องการให้มากขึ้น มีเวลาที่จัดไว้ให้พวกเขาได้เข้ามาพบหากต้องการความช่วยเหลือ นอกจากนั้นคุณอาจใช้การเดินพบปะทักทายเพื่อสร้างความใกล้ชิดกับคนของคุณได้อีกทางหนึ่งด้วย
การสร้างความพอใจให้กับลูกค้าเป็นกุญแจความสำเร็จของธุรกิจ แต่การสร้างความพอใจให้กับทีมงานก็มีความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ให้ความสำคัญแก่พวกเขาในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ที่มีคุณค่า แล้วพวกเขาจะสร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้แก่คุณ มิเช่นนั้นคุณอาจต้องปวดหัวกับการทยอยลาออกของทีมงานซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น อะไรก็ไม่สามารถที่จะเหนี่ยวรั้งพวกเขาไว้ได้
3. เข้าใจผิดในเรื่องการให้อิสระในการทำงาน
เป็นความผิดพลาดจากการที่ผู้บริหารให้เสรีภาพในการทำงานแก่ลูกน้องแบบสุดโต่งโดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ เพราะเกรงว่าจะเป็นการเข้าไปก้าวก่ายการทำงาน ขณะเดียวกันก็ไม่มีเวลาที่จะให้พวกเขาได้ปรึกษาเพื่อยืนยันสิ่งที่พวกเขาคิดว่าถูกต้องหรือไม่ ผลที่มักเกิดขึ้นคือการตีความมุ่งหมายในการดำเนินการใดๆ ไปตามที่พวกเขาเข้าใจ กว่าจะรู้ว่าไปผิดทางและไม่ใช่สิ่งที่ควรเป็นหรือไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการ ก็อาจเกิดความเสียหายจนไม่สามารถแก้ไขอะไรได้
ดังนั้น เมื่อมอบหมายงานให้ทีมงานแล้ว คุณจะต้องให้มั่นใจว่างานนั้นมีการกำกับดูแลที่เหมาะสมกับลักษณะงานและคุณสมบัติของทีมงาน คุณอาจกำกับดูแลเองหรือมอบหมายให้สมาชิกในทีมงานเป็นผู้ทำ แต่ที่แน่ๆ คือคุณจะวางมือไม่ทำอะไรเลยไม่ได้เพราะนี่เป็นการมอบหมายงาน ไม่ใช่การทิ้งงาน
4. สนิทกับลูกน้องมากเกินไป
ผู้บริหารส่วนมาก ต้องการให้ตนเองเป็นที่รัก จึงพยายามทำตัวให้เป็นมิตรและใกล้ชิดกับทีมงาน แต่การกระทำดังกล่าวจะต้องไม่แลกกับผลการปฏิบัติงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ คุณจึงไม่ควรตีสนิทกับลูกน้องมากเกินไป จริงอยู่ที่สภาพแวดล้อมในการทำงานควรมีบรรยากาศที่ผ่อนคลายเพื่อให้พนักงานไม่เครียดจนเกินไป แต่ก็ไม่ใช่หย่อนยานหรือบันเทิงจนถึงขั้นขาดความกระตือรือร้นในการทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายและภายในเวลาที่กำหนด ในฐานะที่เป็นปุถุชนคนหนึ่ง คุณอาจมีความสนิทหรือชอบพอลูกน้องคนใดเป็นพิเศษกว่าคนอื่น แต่ในความเป็นผู้บริหาร คุณจะต้องวางตัวเป็นกลางและปฏิบัติต่อพนักงานคนอื่นๆ อย่างเท่าเทียม มิเช่นนั้น ถึงคุณจะสามารถสร้างความรักให้เกิดขึ้นกับพนักงานกลุ่มหนึ่ง แต่ก็อาจมีพนักงานอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่ากันเกลียดคุณ
ความผิดพลาดพื้นฐานอีกประการหนึ่งของผู้บริหาร คือ การหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในการทำงานตั้งแต่แรกที่รับทราบ เพราะเกรงว่าการเข้าไปให้ความเห็นหรือแนะนำจะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ แม้ความขัดแย้งนั้นจะบานปลายต่อไปจนกระทบผลการปฏิบัติงาน ผู้บริหารก็มักจะพยายามลดความสำคัญในการแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้น พฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแต่กลับเป็นการบ่มเพาะความขัดแย้งและความไม่พอใจให้เพิ่มมากขึ้น ต่อเมื่อถึงจุดแตกหัก จะแก้ไขอย่างไรก็คงต้องเหลือรอยร้าวอยู่ดี
5. ไม่ได้กำหนดเป้าหมาย
ถ้าพนักงานไม่มีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน พวกเขาจะสับสน ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันเนื่องจากไม่รู้ว่าจะทำไปเพื่ออะไรและงานมีความสำคัญต่อตนและองค์กรอย่างไร ไม่สามารถจัดอันดับความสำคัญ นั่นหมายความว่างานไม่ด่วนอาจถูกนำขึ้นมาทำก่อนในขณะที่งานที่ด่วนหรือมีความจำเป็นมากกว่ากลับไม่ได้รับการปฏิบัติ ทุกๆ หน่วยงานจึงควรมีแผนงานและเป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ลำพังเป้าหมายอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ คุณจำเป็นต้องมีกรอบเวลาที่ต้องการทำเป้าหมายให้สำเร็จด้วย เพื่อคุณจะได้ติดตามความก้าวหน้าและผลสำเร็จของการดำเนินการ นอกจากนั้นยังได้ทราบว่ามีงานใดที่คุณจำเป็นจะต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้ทันกับกำหนดเวลา
6. ใช้วิธีการจูงใจที่ไม่เหมาะกับบุคคล
คุณทราบหรือไม่ว่าสิ่งจูงใจที่แท้จริงของทีมงานของคุณคืออะไร ผู้บริหารหลายคนเข้าใจผิดว่าลูกน้องของตนทำงานเพื่อสิ่งตอบแทนที่เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วเงินไม่ใช่แรงจูงใจแต่เพียงอย่างเดียวที่พวกเขาต้องการ คนที่ต้องการความสมดุลในชีวิตครอบครัวและชีวิตการทำงานอาจจูงใจด้วยการให้ทำงานที่บ้านผ่านอุปกรณ์สื่อสารระยะไกลหรือการให้เลือกสลับวันหยุด คนที่ต้องการความก้าวหน้าในชีวิตการงานอาจจูงใจด้วยการกำหนดเป้าหมายความสำเร็จ การมอบความรับผิดชอบพิเศษ การยกย่องชมเชย หรือการได้ใกล้ชิดกับผู้บริหาร
7. ไม่ละเอียดในการเลือกคนเข้าร่วมงาน
เวลาที่ทีมงานได้รับมอบหมายงานจำนวนมาก การจัดเตรียมบุคคลให้เพียงพอกับการทำงานของทีมเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่การจัดหาบรรจุบุคคลลงในตำแหน่งที่ว่าง อย่างรีบด่วนเกินไปจนไม่มีการประเมินตามขั้นตอนที่ถูกต้อง อาจได้คนที่ไม่มีความสามารถในการทำงานหรือทำงานไม่เป็นมาร่วมงาน ทำให้เสียเวลาและทรัพยากรในการให้การฝึกอบรมเพิ่มเติมและถ่วงคนอื่นในทีม ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ทำให้สมาชิกทีมงานคนอื่นๆ เกิดความเครียดที่ต้องมาคอยแก้ไขงานที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด
8. ไม่วางตนให้เป็นตัวอย่าง
หากคุณทำตัวไม่เหมาะสมให้ลูกน้องเห็นในระหว่างเวลาทำงาน เช่น ใช้โทรศัพท์พูดคุยเรื่องส่วนตัว หรือนินทาเจ้านาย คุณคิดว่าลูกน้องของคุณจะไม่ทำแบบเดียวกันหรือ ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร คุณจำเป็นจะต้องทำตนให้เป็นแบบอบ่างที่ดีแก่ทีมงาน เช่น หากทีมงานของคุณจำเป็นต้องอยู่ทำงานดึก คุณก็ควรอยู่ด้วยเพื่อช่วยเหลือพวกเขา หรือถ้าองค์กรของคุณมีกฎว่าห้ามนำอาหารมาทานบนโต๊ะทำงาน คุณก็ควรทานอาหารเฉพาะที่ห้องพัก หากคุณไม่อยากให้ลูกน้องมองโลกในแง่ลบ คุณก็ไม่ควรมีทัศนคติเช่นนั้นให้เขาเห็นหรือรู้สึก โปรดระลึกไว้เสมอว่า ลูกน้องจับจ้องมองคุณอยู่ตลอดเวลา ถ้าคุณต้องการให้ลูกน้องมีพฤติกรรมเป็นอย่างไร ทำอย่างนั้นไว้ แล้วพวกเขาจะทำตาม
ผู้บริหารต้องกล้ายอมรับความบกพร่องของตนเองด้วย คุณย่อมต้องเคยทำผิดพลาดมาบ้าง สิ่งที่สำคัญคือ คุณต้องสามารถนำประสบการณ์ดังกล่าวมาเรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนาตนเอง การทำตนให้เป็นตัวอย่างจึงไม่ใช่การทำแบบอย่างที่ดีและพยายามปกปิดข้อบกพร่องของตนเอง แต่เป็นการนำความผิดพลาดที่ตนเองมีประสบการณ์ มาสอนหรือแนะนำให้ทีมงานทราบว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ
9. กอดงานไว้ทำเอง
ผู้บริหารบางคนไม่ยอมมอบหมายงานเพราะเข้าใจว่ามีแต่เขาเท่านั้นถึงจะสามารถทำงานสำคัญเช่นนั้นได้ หรือเกรงว่าหากมอบหมายงานไปจะเกิดความผิดพลาด หากคุณเป็นผู้บริหารที่คิดเช่นนั้นก็จะเกิดเป็นผลเสียแก่งานเพราะงานทั้งหลายจะไปสุมรอเป็นคอขวดอยู่ที่ตัวคุณ สร้างความเครียดและการตัดสินใจมี่ผิดพลาดได้ง่ายๆ การมอบหมายงาน แม้จะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามและลำบากใจที่จะเชื่อว่าลูกน้องจะสามารถทำงานได้ถูกต้อง แต่หากคุณไม่ยอมมอบหมายงานออกไป คุณก็จะไม่มีเวลามองภาพในมุมกว้างซึ่งเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหาร นอกจากนั้น คุณก็จะไม่สามารถพัฒนาคนของคุณให้มาช่วยลดภาระของคุณได้
ทีมงานแต่ละคนจะมีจุดแข็งที่คนอื่นอาจไม่มี หน้าที่ของคุณในฐานะผู้บริหาร คือการค้นหาศักยภาพที่ซ่อนอยู่และนำมันออกมาใช้ คุณต้องรู้จักคนของคุณว่าเขาเก่งในเรื่องใด พนักงานที่รู้ว่าคุณชอบกอดงานไว้ทำเอง จะไม่ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จสมบูรณ์ทั้งหมด แต่จะเหลือส่วนสำคัญที่ต้องตัดสินใจหรือต้องการความคิดริเริ่มไว้ให้เป็นเรื่องของคุณ นานไปพนักงานเหล่านั้นก็จะทำแต่เฉพาะส่วนที่เป็นงานประจำ ขาดความคิดริเริ่ม และไม่กล้าตัดสินใจ
10. ยังติดอยู่กับบทบาทก่อนขึ้นเป็นผู้บริหาร
เมื่อคุณได้ขึ้นเป็นผู้บริหาร ความรับผิดชอบของคุณจะแตกต่างไปจากเดิม แต่คุณก็มักที่จะลืมไปว่างานของคุณได้เปลี่ยนไปแล้ว ลืมไปว่าจำเป็นต้องใช้ทักษะที่แตกต่างออกไปเพื่อทำให้งานสำเร็จ ความผิดพลาดนี้เป็นเหตุให้คุณไม่ได้ทำหน้าที่ในการเป็นผู้บริหารให้สมกับค่าจ้างในตำแห่งทางการบริหารของคุณ
คุณจำเป็นต้องทำงานในเชิงรุก ไม่ใช่ตั้งรับหรือรอการมอบหมายเหมือนแต่ก่อน ต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและ forces ต่างๆ ทั้งภายนอกภายในที่จะมีผลกระทบต่อการทำงาน ต้องพัฒนาทีมงานให้มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานในเชิงกลยุทธ์ มีวิสัยทัศน์ที่จะนำความคิดริเริ่มเรื่องใดมาสร้างความก้าวหน้าให้กับองค์กร สร้างบรรยากาศการทำงานที่สามารถเหนี่ยวรั้งคนเก่งให้อยู่ร่วมงาน ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทบาทหน้าที่ใหม่ที่คุณจะต้องทำในฐานะผู้บริหาร
บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
- 6-Box Model [Weisbord]
- 10 Fatal Leadership Flaws [Zenger and Folkman]
- 14 Misconceptions About Leadership
- Avoiding Micromanagement
- Delegation Dilemma
- Effective Goal-Setting
- Effective Recruitment
- Effective Scheduling
- Emotional Intelligence
- Feedback Matrix
- Giving Feedback
- Laissez Faire Leadership
- Learning Management Skills
- Management by Objectives (MBO)
- Management by Wandering Around
- Managing Former Peers
- Managing Your Boundaries
- Motivating Manager
- Motivation Theory [Handy]
- Overcoming a Blame Culture at Work
- Team Charters
- Theory X and Theory Y [McGregor]
---------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น