วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2563

5 Stages of Grief [Ross and Kessler]


5 ลำดับการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์
ต่อความสูญเสียในชีวิต

          Elisabeth Kubler-Ross นักจิตวิทยาชาวสวิส-อเมริกัน และ David Kessler ได้นำเสนอแนวคิดที่ว่า ผู้ป่วยหนักที่ใกล้จะเสียชีวิต และผู้ที่สูญเสียบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก จะมีสภาระอารมณ์ที่สับสนและเปลี่ยนแปลงไปเป็นห้าลำดับ เริ่มตั้งแต่การปฏิเสธไม่ยอมรับกับเรื่องที่เกิดขึ้น, ความโกรธเพื่อระบายความอัดอั้น, การต่อรองเพื่อแลกกับการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น, ความสิ้นหวัง ท้อแท้, และการยอมรับความเป็นจริงของชีวิต แม้สภาวะทางอารมณ์ทั้งห้านี้จะอ่านพบได้ทั่วไป แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นทฤษฎี ในทางจิตวิทยามองแนวคิดนี้ว่าอาจมีคุณค่าอยู่บ้างในอดีต แต่ค่อนข้างจะล้าสมัยสำหรับวงการวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์ในปัจจุบัน

          แนวคิดนี้ ได้จัดพิมพ์ในหนังสือชื่อ On Death and Dying ในปี ค.ศ. 1969 โดย Kubler-Ross เธอมีความสนใจเป็นพิเศษว่าบุคคลจะมีความรู้สึกและการตอบสนองอย่างไรเมื่อทราบว่าตนจะต้องตายไปในไม่ช้า เธอจึงได้ศึกษาเรื่องนี้กับผู้ป่วยใกล้ตายที่ University of Chicago’s Medical School โดยใช้การสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การสัมภาษณ์ผู้ป่วยใกล้ตาย และการศึกษางานวิจัยในอดีตเป็นฐานข้อมูลในการเขียน แม้ว่า Kubler-Ross จะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้สร้างลำดับสภาวะอารมณ์ที่เรียกว่า Kubler-Ross model แต่ในความเป็นจริง มีนักทฤษฎีในเรื่องผู้สูงวัยและความตายหลายคน เช่น Erich Lindermann, Collin Murray Parkes และ John Bowlby ได้เคยนำเสนอ model ซึ่งมีลำดับขั้นตอนที่คล้ายๆ กันนี้มาแล้วตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940

          Kubler-Ross ได้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมในช่วงท้ายชีวิตของเธอว่า สภาวะทางอารมณ์ในขั้นตอนทั้งห้า ไม่ได้มีลักษณะเป็นเส้นตรง และไม่สามารถคาดหมายได้ว่าแต่ละขั้นตอนจะคงอยู่กับบุคคลนานเท่าไรก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงสู่ขั้นต่อไป จึงมีผู้วิจารณ์งานเขียนของเธอว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับการยอมรับความเจ็บป่วยและความตายที่กำลังจะมาถึง มากกว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเศร้าโศกของบุคคลที่ใกล้ตาย

ลำดับความรู้สึกของคนใกล้ตายและของผู้สูญเสียบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก 
          งานของ Kubler-Ross เดิมตั้งใจใช้อธิบายลำดับความรู้สึกของผู้ป่วยหลังจากทราบว่าจะต้องตายในไม่ช้า ต่อมาได้นำมาประยุกต์ใช้กับความรู้สึกของผู้ต้องสูญเสียสิ่งหรือบุคคลอันเป็นที่รักด้วยเพราะกระบวนการความรู้สึกที่เกิดขึ้นมีลำดับคล้ายกัน ลำดับความรู้สึกนี้นิยมเรียกเป็นคำย่อตามอักษรตัวแรกว่า DABDA ประกอบด้วย

1. การปฏิเสธไม่ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น (Denial)   
          ความเศร้าโศก (grief) เป็นอารมณ์ที่ท่วมทับเข้ามา การหลอกตัวเองว่าข่าวร้ายนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยสิ้นเชิงคงเป็นเรื่องยาก แต่การปฏิเสธในลักษณะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง จะช่วยให้ผู้ได้รับข่าวมีเวลามากขึ้นในการค่อยๆ ดูดซับอารมณ์ไม่ให้จู่โจมเข้าสู่จิตใจอย่างรุนแรงและรวดเร็วเกินไป เป็นกลไกการปกป้องตนเองตามธรรมชาติที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกช็อค มึนงง รับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ว่าการปฏิเสธข่าวร้ายจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยาจิตใจ แต่มันก็มีผลอยู่ได้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นเพราะความจริงย่อมพิสูจน์ตัวมันเองได้ในที่สุด เมื่อถึงเวลานั้น ความเศร้าโศกก็จะกลับเข้ามาโจมตีซ้ำอีก

          การปฏิเสธข่าวร้ายจะเกิดขึ้นพร้อมกับการสร้างเหตุผลขึ้นมาเข้าข้างตนเองเพื่อให้ตนรู้สึกดีขึ้น เช่น

ข่าวร้าย การปฏิเสธและให้เหตุผลปลอบใจตนเอง
  คู่สมรสขอแยกทาง  คงแค่หัวเสีย พรุ่งนี้ก็หาย
  ถูกให้ออกจากงาน  น่าจะมีอะไรผิดพลาด พรุ่งนี้ก็คงมีคนโทรมาเรียกให้กลับไปทำงาน
  บุคคลอันเป็นที่รักตาย  ไม่จริง พรุ่งนี้ก็ต้องได้เจอกันอีก
  ผลตรวจว่ากำลังจะตาย  มันไม่เกิดกับเราได้หรอก ต้องวินิจฉัยผิดแน่นอน

2. ความโกรธเพื่อระบายความอัดอั้น (Anger)
          เมื่อรู้ว่าไม่สามารถปฏิเสธความจริงนั้นได้อีกต่อไป บุคคลจะเริ่มมีโทสะเพื่อระบายอารมณ์ที่พลุ่งพล่านสับสนและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นภายใน ความโกรธอาจระบายใส่กับคน สัตว์ สิ่งของ หรือเหตุการณ์ที่เป็นสภาพแวดล้อม แม้ในใจจะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เกี่ยวข้อง แต่ความเจ็บปวดจากความสูญเสียที่อัดอั้นอยู่ ทำให้ไม่สามารถควบคุมอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้น ความโกรธเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยา เป็นการปลดปล่อยอารมณ์ไม่ให้อัดแน่นอยู่ภายใน ยังมีอารมณ์อื่นอีกหลายแบบที่เกิดขึ้นในสภาวะอารมณ์นี้ เช่น การฟูมฟาย ตีอกชกหัว แต่ความโกรธจะเป็นอารมณ์ที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด ผู้ใกล้ชิดควรรับทราบถึงความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยหรือผู้สูญเสียจะมีความโกรธและอารมณ์รุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ควรเข้าใจ และให้อภัยกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้น

          ความโกรธจะเกิดขึ้นพร้อมกับการกล่าวโทษผู้ที่เป็นสาเหตุของความสูญเสีย เช่น

ข่าวร้าย การปฏิเสธและให้เหตุผลปลอบใจตนเอง
  คู่สมรสขอแยกทาง  ฉันเกลียดเขา แล้วจะต้องเสียใจที่ไปจากฉัน
  ถูกให้ออกจากงาน  เป็นนายที่แย่มากๆ คงจะพบความวิบัติในไม่ช้า
  บุคคลอันเป็นที่รักตาย  ถ้าเพียงแต่ดูแลตนเองดีกว่านี้ เหตุนี้คงไม่เกิดขึ้น
  ผลตรวจว่ากำลังจะตาย  พระเจ้าไปอยู่ที่ไหน ทำไมปล่อยให้มันเป็นเช่นนี้

3. การต่อรองเพื่อแลกกับการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น (Bargaining) 
          หลังจากได้ระบายอารมณ์ที่พลุ่งพล่านออกไปบ้างแล้ว ผู้ป่วยหรือผู้สูญเสียจะมองสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่น่าเกิดขึ้น ทั้งผู้ป่วยใกล้ตาย ผู้สูญเสียสิ่งหรือบุคคลอันเป็นที่รัก ล้วนต้องการให้เวลาอันเลวร้ายถอยย้อนกลับไปใหม่ เป็นความต้องการโอกาสให้ได้แก้ตัวอีกครั้งไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม ผู้ที่หายจากอาการช็อคจะเริ่มมองหาโอกาสต่อรอง เช่น อ้อนวอนพระเจ้า, บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ

          การต่อรอง มักประกอบด้วยการตำหนิตนเองที่เป็นสาเหตุของความสูญเสียนั้น เช่น

ข่าวร้าย การปฏิเสธและให้เหตุผลปลอบใจตนเอง
  คู่สมรสขอแยกทาง  ถ้าฉันใช้เวลาอยู่กับเธอมากกว่านี้ เธอคงไม่ไป
  ถูกให้ออกจากงาน  ถ้าฉันทำงานในวันหยุดมากกว่านี้ เขาคงเห็นว่าฉันมีคุณค่ามากเพียงใด
  บุคคลอันเป็นที่รักตาย  ถ้าคืนนั้นฉันได้โทรหาเธอ เธอคงไม่จากฉันไป
  ผลตรวจว่ากำลังจะตาย  ถ้าฉันไปหาหมอแต่เนิ่นๆ ก็น่าจะรักษาโรคนี้ได้

4. ความสิ้นหวัง ท้อแท้ (Depression) 
          อารมณ์โกรธและการบนบานศาลกล่าวอาจทำให้ผู้ป่วยหรือผู้สูญเสียมีความรู้สึกในเชิงรุก คือได้แสดงออกถึงความรู้สึกที่อัดอั้นอยู่ภายใน และความหวังที่จะได้รับโอกาสจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ตนเคารพนับถือ แต่เมื่อมาถึงลำดับที่สี่ หากไม่มีปาฏิหาริย์ใดๆ เกิดขึ้น ผู้ป่วยใกล้ตายหรือผู้สูญเสีย จะจมดิ่งสู่ความว่างเปล่า สิ้นหวังท้อแท้ ไร้ที่ยึดเหนี่ยว ไม่เห็นเป้าหมายที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป หลายคนชิงจบชีวิตตนเองในช่วงนี้ ส่วนใหญ่จะเก็บตัว ไม่ยอมพบใคร ใช้เวลาไปกับการร้องไห้คร่ำครวญ ผู้ใกล้ชิดจำเป็นต้องคอยปลุกปลอบและให้กำลังใจเพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้สูญเสีย ใช้ชีวิตผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้

          ความสิ้นหวัง มักประกอบด้วยการตั้งคำถามกับตนเองว่าจะทำอย่างไรต่อไปเพราะอับจนหนทาง เช่น

ข่าวร้าย การปฏิเสธและให้เหตุผลปลอบใจตนเอง
  คู่สมรสขอแยกทาง  จะอยู่ต่อไปทำไม
  ถูกให้ออกจากงาน  แล้วจะทำอย่างไรต่อ
  บุคคลอันเป็นที่รักตาย  จะใช้ชีวิตโดยไม่มีเธอได้อย่างไร
  ผลตรวจว่ากำลังจะตาย  ชีวิตทั้งหมดต้องมาจบลงเช่นนี้หรือ

5. การยอมรับความเป็นจริงของชีวิต (Acceptance) 
          การยอมรับในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งได้รับการแก้ไขจนกลับเข้าสู่สภาพปกติ หรือสามารถยุติความเศร้าโศกกับความตายที่กำลังจะเกิดกับตนเองหรือความเศร้าโศกกับการสูญเสียสิ่งหรือบุคคลอันเป็นที่รัก โดยแท้จริงแล้ว เขาเหล่านั้นไม่เคยหยุดเศร้าโศกกับสิ่งที่เกิดขึ้น การยอมรับซึ่งเป็นลำดับสุดท้ายของอารมณ์เศร้าโศก หมายถึงการยอมรับความจริงว่าสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้วกับชีวิต เป็นสิ่งที่เกิดได้กับทุกคน เรียนรู้ที่จะอยู่และเผชิญหน้ากับมัน คนใกล้ตายจะเข้าถึงสัจธรรมข้อนี้ได้ดีกว่าคนปกติทั่วไปที่ยังประมาทในการใช้ชีวิต เริ่มสงบ ย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต ปล่อยวางกับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้น

          การยอมรับ มักประกอบด้วยการสรุปสัจธรรมของชีวิตเพื่อให้ตนได้จากไปอย่างสงบ หรือสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปแม้จะต้องพบกับความสูญเสียสิ่งหรือบุคคลที่มีความสำคัญในชีวิตของตน เช่น

ข่าวร้าย การปฏิเสธและให้เหตุผลปลอบใจตนเอง
  คู่สมรสขอแยกทาง  ในที่สุด นี่ก็คือทางออกที่ดีที่สุดแล้ว
  ถูกให้ออกจากงาน  ฉันจะต้องสามารถหาทางออกจากปัญหานี้ได้ และจะเริ่มเส้นทางชีวิตใหม่
  บุคคลอันเป็นที่รักตาย  ฉันโชคดีที่ได้มีเวลาอันแสนวิเศษกับเธอ เธอจะยังอยู่ในใจฉันตลอดไป
  ผลตรวจว่ากำลังจะตาย  ฉันยังมีเวลาพอที่จะสะสางเรื่องราวต่างๆ ที่ต้องการได้ทันก่อนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

คำวิจารณ์และการชี้แจง 
          คำวิจารณ์แนวคิดเรื่องลำดับความเศร้าโศกของผู้ป่วยใกล้ตาย ส่วนมากเป็นเรื่องที่มาของวัตถุดิบซึ่งนำมาใช้เขียนว่าไม่ได้มาจากการทำวิจัย ไม่มีกรรมวิธีทางการวิจัยที่ยืนยันความเที่ยงตรงว่าผู้สัมภาษณ์ไม่มีอคติในการเลือกผู้รับการสัมภาษณ์หรือไม่ได้เลือกเฉพาะคำตอบที่ต้องการ งานเขียนจึงไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนโดยใช้การสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือเพิ่มความน่าเชื่อถือเท่านั้น Robert J. Kastenbaum ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องผู้สูงวัย ได้วิจารณ์ว่า แนวคิดของ Kubler-Ross ว่าเป็นการประมวลความเห็นของผู้ป่วยซึ่งมีวัฒนธรรมแบบเดียวกัน จึงเป็นข้อมูลเฉพาะถิ่น ผู้มีวัฒนธรรมแตกต่างออกไปอาจมีความรู้สึกมากหรือน้อยกว่าห้าชนิด และอาจสลับลำดับ ไม่เหมือนกับที่ Kubler-Ross เขียนไว้ก็ได้

          David Kessler ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ร่วมกับ Ross ได้ออกมาชี้แจงเจตนาการเขียนหนังสือภายหลังการเสียชีวิตของ Kubler-Ross หรือประมาณ 40 ปีหลังจากหนังสือได้รับการจัดพิมพ์ว่า ทั้งตัวเขาและ Ross เคารพความรู้สึกของผู้ที่กำลังจะตายและผู้อยู่ในอารมณ์เศร้าโศกทุกคน แต่ละคนมีความรู้สึกและการแสดงออกที่แตกต่างกัน ลำดับของความรู้สึกและอารมณ์ อาจไม่เหมือนกันทุกคน แต่อารมณ์และความรู้สึกของผู้เศร้าโศกที่เขียนไว้ในหนังสือ On Death and Dying ก็เป็นอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วยและผู้สูญเสียจำนวนมาก มันอาจไม่ใช่รูปแบบตายตัว (typical) ของผู้สูญเสียทุกคนว่าจะต้องเริ่มต้นด้วยการปฏิเสธ (denial) และจบลงด้วยการยอมรับ (acceptance) อย่างที่เขียน แต่ละคนมีอารมณ์เศร้าโศกที่แตกต่างกัน บางคนแสดงอารมณ์ของตนออกมาอย่างเปิดเผย ในขณะที่บางคนสามารถเก็บงำความรู้สึกจนยากจะสังเกตเห็น เราจึงไม่ควรเอาตนเองไปตัดสินคนอื่นที่มีอารมณ์หรือการแสดงออกที่แตกต่างจากตนหรือต่างไปจาก Kubler-Ross model อย่างไรก็ตาม การมีกรอบความคิดเรื่องความเศร้าโศกไว้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยใกล้ตายหรือผู้สูญเสียสิ่งหรือบุคคลอันเป็นที่รักว่า แต่ละช่วงของความเศร้าโศกนั้น เขาต้องการหรือไม่ต้องการอะไร หรือเมื่อเหตุร้ายนั้นเกิดขึ้นกับตนเอง อย่างน้อยก็ยังเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจตนเองได้ว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์น่าจะเป็นเช่นไร

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
---------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น