วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2565

20 Mile March [Collins and Hansen]


ปฏิบัติตามแผนงานทุกวันอย่างสม่ำเสมอ

          ในปลายทศวรรษที่ 2000 Jim Collins และ Morten T. Hansen รวมทั้งนักวิจัยอีกประมาณ 20 คน ได้พยายามตอบคำถามทางธุรกิจข้อหนึ่งที่ว่า ทำไมบางบริษัทจึงสามารถผ่านความไม่แน่นอน หรือบางครั้งถึงขนาดวิกฤติทางธุรกิจไปได้ ในขณะที่บริษัทอื่นๆ ไม่สามารถทำได้ กลุ่มฯ ได้คัดเลือกบริษัทที่มีผลประกอบการดีกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ถึงสิบเท่าหรือมากกว่า จำนวน 7 บริษัทมาศึกษา และได้พบคำตอบที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ สิ่งที่ปรมาจารย์ทางธุรกิจได้พร่ำสอนว่าเป็นปัจจัยสร้างความแตกต่างระหว่างธุรกิจที่ประสบและไม่ประสบความสำเร็จ เช่น นวัตกรรม, ความคิดสร้างสรรค์, หรือความสามารถในการปรับตัวให้รับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม้จะเป็นสิ่งที่จำเป็นในการสร้างความแตกต่าง แต่สิ่งที่เป็นหัวใจในความสำเร็จที่แท้จริงของบริษัทเหล่านี้คือ ความเคร่งครัดในวินัย (fanatic discipline)          ผู้นำของบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่เหล่านี้ ให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนการดำเนินงาน เกาะติดกับแผนงานอย่างระมัดระวัง มีระเบียบวิธีการที่ชัดเจน และมุ่งมั่นอยู่กับแผนงานเพื่อไปสู่เป้าหมายระยะยาวแทนที่จะโผไปโผมาเพราะสิ่งยั่วยุ ความกลัว และสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะสั้น บริษัทเหล่านี้จะไม่ตื่นตกใจเมื่อตกอยู่ท่ามกลางมรสุม และไม่ขยายการดำเนินงานมากเกินไปในช่วงที่มีโอกาส

          Collins and Hansen ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาบริษัท Southwest Airlines โดยชี้ให้เห็นว่า บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างไปจากบริษัทอื่นและสามารถสร้างกำไรให้กับธุรกิจทุกปีแม้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำที่อุตสาหกรรมการบินโดยรวมต้องสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาลไป เมื่อเปรียบเทียบกับสายการบินอื่นๆ ที่ต้องปลดคนงานออก Southwest Airlines กลับบรรลุเป้าหมาย สามารถรักษาตนผ่านวิกฤตต่อเนื่องยาวนาน สร้างกำไรในช่วงวิกฤติระหว่างปี 1990 – 2003 ได้ทุกปีโดยไม่มีการสั่งพักงานพนักงานคนใดเลยแม้แต่คนเดียว และยังสามารถรักษาการเจริญเติบโตของธุรกิจมาได้อย่างต่อเนื่องมั่นคง

          Collins and Hansen ขนานนามวิธีการก้าวไปข้างหน้าช้าๆ อย่างสม่ำเสมอของ Southwest Airlines และบริษัทที่ประสบความสำเร็จทั้ง 10 นี้ว่า “The 20 Mile March” โดยพัฒนาแนวคิดนี้ไว้ในหนังสือชื่อ “Good to Great”

          Collins ได้บังเอิญมาอ่านเรื่องการแข่งขันเดินทางสู่ขั้วโลกใต้ระหว่าง Robert Falcon Scott กับ Roald Amundsen ซึ่งแข่งกันว่าใครจะไปถึงขั้วโลกใต้ได้ก่อนโดยใช้เครื่องมือและทีมงานที่ใกล้เคียงกัน เป็นการแข่งขันกันในปี 1911 หรือกว่า 100 ปีมาแล้ว Collins ต้องแปลกใจมากที่พบว่าเรื่องนี้ช่างสอดคล้องกับแนวคิด “The 20 Mile March” ของเขาจนเกือบเป็นเรื่องเดียวกัน เขาจึงได้พัฒนาแนวคิด the 20 Mile March โดยเปรียบเทียบกับการแข่งขันเดินทางสู่ขั้วโลกใต้ระหว่าง Scott กับ Amundsen ไว้ในหนังสือเล่มต่อมาที่ชื่อ “Great by Choice”

          Amundsen เดินทางทุกวันๆ ละ 15-25 ไมล์ เขาสามารถเอาชนะ Scott โดยสามารถไปถึงขั้วโลกใต้ได้ก่อน Scott ถึง 34 วัน มีการเดินทางที่ราบรื่นทั้งขาไปและกลับ ในขณะที่ Scott เดินทางจนเหนื่อยล้าสุดๆ ในวันที่อากาศดี และหยุดการเดินทางในวันที่อากาศไม่ดี Scott ต้องจบชีวิตลงพร้อมเพื่อนร่วมงาน 4 คนในการเดินทางขากลับเพราะขาดแคลนอาหารและเป็นไข้ สิ่งที่เรียนรู้จากการแข่งขันครั้งนี้ก็คือ หลักความสำเร็จของ Amundsen เป็นผลมาจากการมีแผนการเดินทางที่ดี กำหนดระยะการเดินทางสูงสุด (upper limit) และต่ำสุด (lower limit) ได้อย่างเหมาะสม แล้วปฏิบัติตามแผนนั้นอย่างเคร่งครัด

          แนวคิดเรื่อง the 20 Mile March ไม่เพียงสามารถนำไปใช้กับองค์กรหรือการแข่งขันเดินทางไปสู่ขั้วโลกใต้เท่านั้น แต่ยังนำมาใช้กับการดำเนินชีวิตของแต่ละคนได้เช่นกัน หลายคนดิ้นรนพัฒนาตนเองให้บรรลุเป้าหมายในชีวิตด้วยการตั้งเป้าหมายหรือโครงการใหม่ให้กับตนเองอยู่ตลอดเวลาและทุ่มเทตนให้กับเป้าหมายนั้นอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่ก็ได้พบว่าไม่สามารถทำให้สำเร็จได้เพราะมีเรื่องที่อยากได้อยากเป็น มาเบี่ยงเบนเส้นทางการปฏิบัติออกไปอยู่ตลอดเวลา

หลัก 7 ประการในการเดินทางวันละ 20 ไมล์
          Collins และ Hansen ได้นำการบริหารกิจการหรือการมุ่งสู่ความสำเร็จในชีวิต มาเปรียบเทียบกับการเดินทางวันละ 20 ไมล์ โดยเสนอหลัก 7 ประการที่สมควรนำมาใช้เพื่อความสำเร็จไว้ดังนี้

1.  กำหนดเกณฑ์ปฏิบัติที่ชัดเจน (Clear performance markers)
          การเดินทางที่ดีจะต้องมีเกณฑ์ปฏิบัติ (performance marker) ที่ระบุความสำเร็จขั้นต่ำไว้ให้ชัดเจน เกณฑ์ดังกล่าวจะต้องมีความท้าทายแต่สามารถทำให้สำเร็จได้แม้ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความยุ่งยากลำบาก

          Amundsen ไม่ได้วัดความก้าวหน้าในการเดินทางในแต่ละวันเป็นชั่วโมงหรือไมล์ แต่ใช้องศาตามละติจูดเป็นตัววัด เขารู้ว่า 15 ไมล์ทะเลเท่ากับ 1 ใน 4 ของละติจูด และคิดว่าการเดินทางให้ได้ 1 ละติจูดในทุก 4 วันโดยกำหนดความก้าวหน้าที่ชัดเจนไว้ในแผนที่ น่าจะเป็นสิ่งที่สร้างแรงจูงใจให้กับทีมงานได้มากที่สุด การเดินทางให้ได้วันละ 1 ใน 4 ละติจูด จึงเป็นเกณฑ์การปฏิบัติที่ชัดเจนของ Amundsen ระยะทาง 15 ไมล์ไม่ใช่ระยะการเดินทางในสวนสาธารณะ แต่ก็เป็นระยะทางที่ไม่ทำให้เหนื่อยเกินไปสำหรับภารกิจนี้เช่นกัน แม้ว่ามันต้องใช้ทั้งความกล้าหาญและการเคร่งครัดในระเบียบวินัย แต่มันก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในแต่ละวันทั้งในสภาพอากาศปลอดโปร่ง ท้องฟ้าแจ่มใส หรือจะมืดมัวซึมเซา เต็มไปด้วยหมอก หรือสภาพที่ทีมงานและสุนัขลากเลื่อนต้องตกไปในรอยแยกของน้ำแข็งจนต้องช่วยฉุดกันขึ้นมา

          Scott ไม่ได้กำหนดเป้าหมายที่แน่นอนว่าวันหนึ่งจะต้องเดินทางเป็นระยะทางเท่าไร เขาใช้สภาพอากาศและความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวันเป็นตัวกำหนด ในวันที่สภาพอากาศดีๆ เขาอาจบอกให้ทีมงานย่ำไปไกลรวดเดียวโดยไม่หยุดพักเลยไกลถึง 9 ไมล์ และได้ระยะการเดินทางในวันนั้นถึง 40-50 ไมล์ แต่ในวันที่สภาพอากาศไม่ดี เขาก็ตัดสินใจที่จะไม่เดินทางเลยแม้แต่ไมล์เดียวทั้ง ๆ ที่ในสภาพอากาศเช่นเดียวกันนั้น Amundsen กำลังเดินทางอยู่

          ในการนำหลักการนี้มาใช้กับการดำเนินชีวิต คุณควรกำหนดเกณฑ์การปฏิบัติ (performance marker) หรือความก้าวหน้าในแต่ละวันหรือสัปดาห์ที่จะนำคุณไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจ เกณฑ์หรืออัตราความก้าวหน้านี้ควรพอเหมาะพอดีกับความสามารถและโอกาสที่คุณมีไม่ว่าสภาพแวดล้อมนั้นจะเอื้อหรือไม่เอื้อต่อการปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น หากคุณยังไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน แต่ตั้งใจว่าต่อไปนี้จะเริ่มทำและจะทำเป็นประจำทุกวัน การตั้งเกณฑ์ไว้ว่าจะออกกำลังกายให้ได้ทุกวันๆ ละ 90 นาที อาจเป็นเกณฑ์ที่สูงเกินไปจนไม่สามารถปฏิบัติได้ คุณจึงควรปรับมันลงมาให้ยากพอที่จะต้องใช้ความพยายาม โดยศึกษาหรือประมาณการว่า ในการทำแบบต่อเนื่องในระยะยาว การออกกำลังนานเท่าไรจึงควรเป็นเวลาที่สั้นที่สุดและยาวที่สุดของคุณที่สามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าวันนั้นจะมีภารกิจหรือเหนื่อยล้าเพียงใด เช่น ไม่ต่ำกว่าวันละ 30 นาทีและไม่เกินวันละ 45 นาที จากการประมาณได้เช่นนี้ the 20 Mile March ของคุณคือ 45 นาทีซึ่งเป็น upper limit แต่ถ้าวันนั้นทำ 45 นาทีไม่ไหวจริงๆ ก็ไม่ควรน้อยกว่า 30 นาที 

2.  รู้ขีดจำกัดของตนเอง (Self-imposed constraints)
          ขีดจำกัด เป็นตัวกำหนดว่าคุณควรก้าวไปได้ไกลมากที่สุดเพียงใดในสภาพโอกาสที่เอื้ออำนวยหรือเต็มไปด้วยอุปสรรค ขีดจำกัดนี้ควรสร้างความลำบาก แรงกดดัน และความกลัวที่จะไม่ประสบผลสำเร็จให้แก่คนหากต้องการจะไปให้ไกลเกินกว่านั้น

          Amundsen รักษาระยะการเดินทางวันละ 15 ไมล์ไว้สำหรับ 3 ใน 4 ของการเดินทางทั้งขาไปและขากลับ ในตอนที่เขาเดินทางมาถึงเส้นละติจูดใต้ที่ 90 เขาได้เพิ่มการเดินทางขึ้นเป็นวันละ 20 ไมล์ และทำเช่นเดียวกันนี้กับการเดินทางขากลับเมื่อใกล้ถึงฐานซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง เหตุผลที่ Amundsen ไม่เดินทางให้ได้วันละ 20 ไมล์ตลอดการเดินทางทั้งๆ ที่รู้ว่าทีมงานและสุนัขลากเลื่อนมีความกระเหี้ยนกระหือรือที่จะทำเช่นนั้น ก็เพราะเขาไม่ต้องการให้ทีมงานและสุนัขเหนื่อยเกินไปจนเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือล้มป่วย ส่วนใหญ่ของการเดินทาง ทีมงานและสุนัขจะได้พักผ่อนวันละ 16 ชั่วโมง เขารู้ดีว่าการพักผ่อนเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของแผนงานทั้งหมด

          Scott มีจุดอ่อนตรงที่ขาดความอดทน การล้อมวงพูดคุยหรือความล่าช้าในการเดินทาง ทำให้เขารู้สึกหงุดหงิด ขนาดเดินทางกันมาวันละ 9-10 ชั่วโมงแล้ว เขาก็ยังกล่าวว่า น่าจะเดินทางต่ออีกหน่อย กว่าจะตั้งแคมป์พักกันจริงๆ ก็อาจจะต้องเดินทางต่อไปอีก 1-2 ชั่วโมง Scott เร่งการเดินทางจนมองไม่เห็นว่าการพักผ่อนก็มีความสำคัญต่อความสำเร็จของเป้าหมายเช่นเดียวกัน เขาเร่งทีมงานเดินทางเสียจนทีมงานไม่มีแรงเหลือพอที่จะเดินทางกลับ

          จะเห็นได้ว่า หลักการปฏิบัติของ Amundsen แม้จะไม่ทำให้ทีมงานเหนื่อยมากในบางวัน และสบายเกินไปในบางวัน แต่มันก็สร้างความเครียดขึ้นสองประการ

     (1) ความเครียดที่จะต้องทำให้ได้ตามเป้าหมาย คือ ชนะการแข่งขัน
     (2) ความเครียดที่จะควบคุมตนไม่ให้ทำมากเกินกว่าเกณฑ์เมื่อโอกาสอำนวย


          คุณอาจอยากลุยต่อให้เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดเมื่อเห็นคนอื่นทำได้มากกว่าคุณ แต่การรู้ขีดจำกัดของตนเองว่าการทำเหมือนคนอื่นอาจสร้างปัญหาให้กับคุณได้ในระยะยาว จะช่วยลดความอยากที่เกิดในระยะสั้น และช่วยให้คุณสามารถเดินหน้าสู่เป้าหมายด้วยก้าวย่างที่มั่นคง

          ตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังเริ่มธุรกิจของตนเองหรือทำงานนอกเวลา (side hustle) อะไรสักอย่าง คุณอาจให้ความสำคัญกับคู่แข่งหรือผู้ที่กำลังทำในเรื่องเดียวกับคุณว่าเขากำลังทำอะไรและอย่างไร คุณอาจเกิดความเครียดหรือหงุดหงิดขึ้นมาเมื่อเห็นคนอื่นก้าวไปได้ไกลกว่า เร็วกว่า หรือดีกว่าที่คุณทำ เป็นเหตุให้คุณตัดสินใจขยายกิจการหรือขอบเขตการดำเนินงานเพื่อแข่งกับเขาทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ในแผนงานของคุณมาตั้งแต่แรก ผลก็คือทำให้ธุรกิจหรืองานที่คุณทำอ่อนแอลงหรือเกิดความผิดพลาด จริงๆ แล้ว การมองผู้อื่นหรือคู่แข่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่คุณไม่ควรไปพยายามทำในสิ่งที่คนอื่นทำ แต่ควรยึดแผนงานของคุณไว้ให้มั่นคง ศึกษาผลได้ผลเสียและความแตกต่างระหว่างคุณกับคนอื่นให้ชัดเจนก่อนที่จะเปลี่ยนออกไปจากแผนงานที่ได้วางไว้

3.  กำหนดวิธีการของตนเอง (Appropriate to the enterprise or individual)
          ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของความสำเร็จหรือล้มเหลวของการเดินทางสู่ขั้วโลกใต้ นี้อยู่ที่รูปแบบการเดินทางที่ผู้นำของแต่ละฝ่ายเลือกใช้

          Scott ลอกเลียนการเดินทางในปี 1907 ของ Ernest Schackleton ที่เรียกว่า Nimrod expedition มาเกือบทั้งหมด คือ เลือกใช้ม้า 1 ใน 4 ส่วนแรกของการเดินทางหลังจากนั้นจึงใช้คนเป็นผู้ลากเลื่อนไปตามพื้นซึ่งปกคลุมด้วยหิมะและน้ำแข็ง เหมือนกับที่ Schackleton เคยทำ แต่ม้าเป็นสัตว์ที่ไม่เหมาะกับสภาพการเดินทางสู่ขั้วโลกใต้ เหงื่อม้าที่ออกใต้บังเหียนได้จับตัวเป็นแผ่นน้ำแข็ง Scott ต้องนำผ้าห่มมาคลุมทับเพื่อสร้างความอบอุ่น น้ำหนักตัวที่มากและฝ่าเท้าที่เล็กของม้า ทำให้ขาของมันจมลึกลงไปในน้ำแข็งในแต่ละก้าวที่เดิน การใช้คนลากเลื่อนก็ไม่เหมาะเพราะน้ำหนักของเลื่อนมีมากเกินกำลังที่คนจะลากไปได้ในระยะทางไกลๆ นอกจากจะลอกเลียนรูปแบบการเดินทางของ Schackleton มาทั้งดุ้นแล้ว Scott ยังใช้ที่ตั้งแคมป์และเส้นทางเดียวกับที่ Schackleton เคยใช้ นอกจากนั้นยังตรวจสอบเปรียบเทียบความก้าวหน้าของเขากับที่ปรากฏในรายงาน Nimrod expedition ไปตลอดทางอีกด้วย

          Amundsen ใช้วิธีการที่ต่างออกไป เขาศึกษาวิธีการใช้ชีวิตของพวกเอสกิโมและเห็นว่าสุนัขน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในสภาพแวดล้อมที่เป็นทุ่งน้ำแข็งแบบขั้วโลกเพราะสามารถวิ่งไปบนพื้นน้ำแข็งและกองหิมะได้อย่างรวดเร็ว น้ำหนักเบา ทานอาหารได้หลายชนิดรวมถึงอาหารของคน นอกจากนั้นยังรู้จักการสร้างความอบอุ่นให้กับตัวเองจากลมหนาวด้วยการขุดหลุมฝังตัวลงไปนอนในโพรงหิมะ Amundsen เลือกตั้งแคมป์ตามอ่าวน้ำแข็งธรรมชาติที่เรียกว่า the Bay of Whales ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นักเดินทางไม่เคยใช้มาก่อน เป็นการบุกเบิกเส้นทางใหม่ในการเดินทางสู่ขั้วโลกใต้ Amundsen ไม่รู้ว่าสภาพภูมิประเทศจะเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าเป็นเส้นทางที่ตัดตรงสู่เป้าหมาย ช่วยให้เขาประหยัดระยะการเดินทางทั้งขาไปและกลับได้ถึง 120 ไมล์ และยังเป็นเส้นทางที่เดินทางได้สะดวกกว่าของ Scott อีกด้วย

          เราจึงไม่ควรลอกเลียนเป้าหมายและแผนงานของคนอื่นดื้อๆ แต่ควรศึกษาและกำหนดให้สอดคล้องกับความพร้อมของตนและสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ สิ่งที่ใช้ได้ผลดีกับคนๆ หนึ่งอาจไม่เหมาะกับคนอีกคนหนึ่ง หรือแม้กับตัวคุณเองหากเวลาและเงื่อนไขแตกต่างกัน

4.  ต้องควบคุมเป้าหมายและวิธีการได้ (Largely within your control)
          หลักการในข้อนี้เป็นส่วนขยายความออกมาจากหลักการข้อที่ 3 คือ การกำหนดเป้าหมายและแผนงานของตนขึ้นมาเอง มีคุณประโยชน์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ

     (1) เมื่อเป็นเป้าหมายและแผนงานที่คุณสร้างเอง จึงมีอิสระในการควบคุมและใช้มันได้ดีกว่าเป้าหมายหรือแผนงานที่ลอกเลียนมาจากคนอื่น เกิดแรงจูงใจที่จะทำให้สำเร็จได้มากกว่า
     (2) สามารถปรับแต่งให้เป็นไปตามความต้องการซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จได้มากขึ้น


          แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรมองเป้าหมายหรือแผนงานของคนอื่นที่ประสบความสำเร็จบ้างเลย ประเด็นสำคัญอยู่ที่เมื่อศึกษาเป้าหมายและแผนงานของคนอื่นแล้ว ไม่ควรลอกเลียนของเขามาทั้งดุ้น แต่ควรใช้เป็นแรงบันดาลใจเพื่อนำมาปรับสร้างเป้าหมายและแผนงานที่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่คุณมีอยู่ ซึ่งแน่นอนย่อมมีส่วนที่ต่างไปจากของคนอื่นอยู่บ้าง

5.  มีกำหนดเวลาความสำเร็จที่เหมาะสม (A proper timeframe)
          เป้าหมายและแผนงานที่มุ่งหมายจะทำให้สำเร็จ ต้องมีกรอบเวลาที่เหมาะสม (goldilocks) คือ ยาวพอที่จะจัดการกับอุปสรรคที่ยังมองไม่เห็นในปัจจุบัน และสั้นพอที่จะใช้แรงจูงใจและประสบการณ์ที่มีให้เป็นประโยชน์ ตัวอย่างเช่น หากคุณมีเป้าหมายที่จะลดน้ำหนักให้ได้ 15 กิโลกรัมภายใน 2 เดือน มันอาจเป็นเป้าหมายที่สั้นเกินไป ต่อให้ทำได้สำเร็จ ก็น่าจะเป็นโทษแก่ร่างกายมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ แต่หากกำหนดเป้าหมายให้ทำได้ใน 2 ปีก็อาจนานเกินไป คุณจึงควรกำหนดเป้าหมายและแผนงานที่สามารถทำให้สำเร็จได้โดยไม่ได้รับผลเสียจากความสำเร็จนั้น

6.  ไม่เหนื่อยยากลำบากจนเกินไป (Designed and self-imposed by the enterprise or individual)
          คล้ายกับหลักในข้อ 5 ต่างกันที่จุดเน้น หลักข้อ 5 จะเน้นไปที่กรอบเวลา ส่วนหลักข้อนี้จะเน้นไปที่ความเป็นไปได้ในการทำให้สำเร็จภายในกรอบเวลาโดยไม่สร้างความทุกข์หรือความลำบากแก่ตนเองมากจนเกินไป สามารถควบคุมการปฏิบัติได้ตามศักยภาพของตนหรือขององค์กร ไม่ยากจนเสี่ยงต่อความล้มเหลว หรือต้องสร้างหนี้จนเสี่ยงต่อสภาวะการเป็นบุคคลหรือองค์กรที่ล้มละลาย

7.  ทำให้สำเร็จด้วยย่างก้าวที่สม่ำเสมอ (Achieved with high consistency)
          ปัจจัยความสำเร็จของ Amundsen คือความสม่ำเสมอ แม้สภาพอากาศจะมีพายุโหมเพียงใด เขาก็ยังรักษาระยะการเดินทางไว้ที่วันละ 15-20 ไมล์ คลำไปข้างหน้าเหมือนคนตาบอด แม้จะเคลื่อนไปได้ช้า แต่ก็แม่นยำด้วยวิธีการและทิศทางที่วางแผนไว้เป็นอย่างดี ในขณะที่ Scott ไม่มีความสม่ำเสมอในการกระทำ วันที่สภาพอากาศดีหรือรู้สึกมีเรี่ยวแรง เขาจะเดินทางถึงวันละ 45 ไมล์ แต่ในวันที่เหนื่อยล้าหรือคิดว่าสภาพอากาศจะไม่ดี เขาจะไม่ยอมออกเดินทางเพราะไม่คุ้มกับการย้ายแคมป์

          การดำเนินชีวิตและธุรกิจ ก็เหมือนกับการเดินทาง มีหลายอย่างที่อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุม เราไม่สามารถควบคุมลูกค้า สภาพดินฟ้าอากาศ หรือสภาพเศรษฐกิจ สิ่งที่พอจะควบคุมได้ก็คือพฤติกรรมและสิ่งที่มุ่งเน้นในแต่ละวัน เราจึงจำเป็นต้องมีเป้าหมายและแผนงานที่เรากำหนดขึ้นมาตามข้อจำกัดของตนเอง มีวิธีการปฏิบัติที่มีความเป็นไปได้ มีกรอบเวลาที่ไม่สั้นหรือยาวจนเกินไป กระทำไปอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องโดยไม่ท้อหรือล้มเลิกความตั้งใจ ไม่ฝืนดิ้นรนจนกลายเป็นความลำบากของชีวิต คติในนิทานอีสบเรื่องกระต่ายกับเต่า มีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกับ the 20 Miles March จะเห็นได้ว่าเต่ามีทั้งความสม่ำเสมอและความมีระเบียบวินัยในตัวเองในการเดินทางเข้าสู่จุดหมาย เต่าเอาชนะกระต่ายได้ไม่ใช่เพราะมีความสามารถในการเดินทางเหนือกว่ากระต่าย แต่เป็นเพราะ the 20 Mile March ของเต่านั่นเอง

          เชื่อว่ามีผู้อ่านไม่น้อยที่มีข้อถกเถียงอยู่ในใจว่า สมัยนี้เป็นยุคการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน (radical change and disruptive force) หมดสมัยกระต่ายกับเต่า หรือ the 20 Mile March แล้ว แต่ไม่ว่าจะเป็นสมัยใด สัจธรรมที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยก็คือ ความไม่แน่นอน เราไม่สามารถควบคุมตลาดการเงิน ลูกค้า ธรรมชาติ การแข่งขันในตลาดโลก หรือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การมี 20 Mile March อยู่ในใจว่าอะไรคือส่วนที่เป็น upper และ lower limit ของการดำเนินการ จะช่วยให้เรามีสิ่งยืดถือที่พาเรามุ่งไปข้างหน้า ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะมีความผันผวนสับสน ไม่แน่นอน หรือวิกฤติการณ์เพียงใด เราก็จะไม่ถึงกับต้องพังพาบล่มจมลงไปกับเหตุนั้นๆ จะต้องไม่ลืมว่า ความสำเร็จไม่ได้วัดกันที่ผลลัพธ์สุดท้ายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังวัดกันที่ความสำเร็จของเป้าหมายในแต่ละวันด้วย

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ

---------------------------------




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น