ลำดับการเรียนรู้ 9 ขั้นตอน
Robert M. Gagne (1916 – 2002) นักจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกัน ผู้บุกเบิกศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ในทศวรรษที่ 1940 ระหว่างทำงานให้กับกองทัพอเมริกันในสงครามโลกครั้งที่สอง Gagne ได้วางรากฐานการสอนที่ดี (good instruction) และมาได้รับชื่อเสียงมากที่สุดจากหนังสือชื่อ The Conditions of Learning (1965) ในหนังสือดังกล่าว เขาได้กล่าวถึงสภาพจิตใจ (mental condition) ของผู้เรียนว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อความสำเร็จในการเรียนรู้ ลำดับการเรียนรู้ 9 ขั้นตอนของ Gagne เป็นข้อแนะนำที่จำเป็นและเป็นประโยชน์กับการเรียนรู้ทุกประเภท แต่ที่ Gagne เน้นเป็นพิเศษในหนังสือของเขา คือการให้การฝึกอบรมในสภาพแวดล้อมการทำงานซึ่งวิทยากรหรือผู้สอนสามารถใช้เป็น checklist ตรวจความพร้อมและการเตรียมการของตนก่อนเริ่มการฝึกอบรมหรือการสอน แต่ละขั้นจะเน้นรูปแบบการสื่อสารที่ช่วยสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ สามารถเก็บความรู้และทักษะที่เรียนรู้ (retain) ไว้กับตัวได้นานขึ้น และยังสามารถนำไปประยุกต์กับ Bloom Taxonomy เพื่อออกแบบการสอนที่น่าสนใจต่อการติดตามและการเรียนรู้ได้อีกด้วย
กระบวนการเรียนรู้ของ Gagne (Gagne’s Nine Levels of Learning) รู้จักกันในชื่ออื่น ๆ อีกหลายชื่อ เช่น
o Gagne's Nine Conditions of Learning
o Gagne's Taxonomy of Learning
o Gagne's Nine Events of Instruction
กระบวนการเรียนรู้ตามแนวคิดของ Gagne แบ่งออกเป็น 3 หมวด 9 ขั้นตอน ได้แก่
หมวดที่หนึ่ง: การเตรียมการ (Preparation)
ขั้นที่หนึ่ง: เรียกความสนใจเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่บทเรียน (Gaining attention)
ทำให้มั่นใจว่าผู้เรียนพร้อมที่จะเรียนและพร้อมจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยการกระตุ้นความสนใจและความตื่นตัวของผู้เรียนว่าการเรียนการสอนกำลังจะเริ่ม โดยอาจ
o ยกสุภาษิต, สถิติและผลการวิจัย มาปูพื้น หรือ
o ตั้งคำถามที่เรียกความสนใจ หรือ
o ให้ผู้เรียนตั้งคำถามที่ตนสนใจอยากรู้ในเรื่องที่กำลังจะเรียน และให้ผู้เรียนคนอื่น ๆ แสดงความเห็นหรือให้คำตอบต่อคำถามนั้น
o ในกรณีที่ผู้เรียนมาจากหลากหลายหน่วยงานหรือประสบการณ์ที่แตกต่างกัน เช่น ในการฝึกอบรม อาจใช้กิจกรรมละลายพฤติกรรม (icebreaker) เพื่อสร้างความเป็นกันเองระหว่างผู้เรียนให้กล้าแสดงความคิดเห็นหรือเล่าประสบการณ์ของตนซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
o ใช้วิดีโอที่เกี่ยวข้องเพื่อรวมความสนใจของผู้เรียนไปที่เรื่องที่จะสอน
o หรืออาจใช้วิธีพื้นฐาน เช่น พูดให้ดังขึ้น, แสดงท่าทางให้เห็นว่าผู้เรียนควรให้ความสนใจกับเรื่องที่ผู้สอนกำลังจะพูดหรือบรรยาย
ความพร้อมที่จะเรียน เป็นขั้นตอนแรกของการเรียนรู้ซึ่งผู้สอนจะต้องสร้างให้เกิดขึ้น เมื่อผู้สอนเห็นว่าผู้เรียนมีความตื่นตัวและพร้อมที่จะเรียนรู้แล้ว ก็อาจปิดท้ายขั้นตอนที่หนึ่งนี้ด้วยการป้อนคำถามซึ่งเกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้เพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้เรียนทราบว่ากำลังจะนำเข้าสู่บทเรียน
ขั้นที่สอง: แจ้งวัตถุประสงค์ของบทเรียน (Informing learners of the objective)
ผู้เรียนจำเป็นต้องรู้ว่าพวกเขากำลังจะเรียนรู้เรื่องอะไรและทำไมเขาจึงต้องเรียนเรื่องดังกล่าว ผู้สอนจึงต้องแจ้งให้ผู้เรียนทราบว่าบทเรียนหรือเรื่องที่กำลังจะเรียนต่อไปนี้ มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับอะไร เมื่อจบบทเรียนแล้วผู้เรียนควรมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องใด อะไรคือพฤติกรรมที่คาดหวังจะให้มี อะไรคือประโยชน์ที่ผู้เรียนและองค์กรจะได้รับ โดยผู้สอนอาจใช้วิธี
o ชี้แจงให้ทราบถึงความรู้หรือพฤติกรรมที่คาดหวังว่าผู้เรียนจะมีหรือสามารถกระทำได้หลังจบการเรียนการสอน
o อธิบายเกณฑ์หรือมาตรฐานความรู้และพฤติกรรมที่คาดหวัง
o ให้ผู้เรียนช่วยกันเสนอความคิดว่ามาตรฐานความรู้และพฤติกรรมที่คาดหวังในการเรียนรู้ครั้งนี้ควรเป็นอย่างไร
o ใช้วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินความสำเร็จ
o ให้ผู้เรียนเสนอความคิดเห็นว่านอกจากวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้แล้ว ยังสามารถใช้อะไรเป็นตัววัดความสำเร็จของการเรียนรู้ในครั้งนี้ได้อีกบ้าง หรือมีปัญหาอะไรที่ควรค้นหาคำตอบเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่กำลังจะเรียนรู้อย่างแท้จริง
จุดมุ่งหมายของขั้นที่สองนี้ เพื่อให้ผู้เรียนได้รู้ว่า ในการเรียนรู้ ผู้เรียนควรมุ่งความสนใจไปที่เรื่องใดและสามารถประเมินตนเองได้ว่ามีความรู้ความเข้าใจตามวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้นั้นหรือไม่ การได้รู้ผลประโยชน์ที่ตนและองค์กรจะได้รับตั้งแต่เริ่ม จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้เรียนตั้งใจเรียนมากขึ้น
ขั้นที่สาม: ทบทวนความรู้เดิม (Stimulating recall prior to learning)
เชื่อมโยงเนื้อหาของเรื่องที่จะเรียนรู้กับประสบการณ์ที่คล้ายกันซึ่งผู้เรียนได้เคยรู้มาในอดีต เป็นการปูพื้นฐานให้ผู้เรียนสามารถปรับฐานความรู้ให้เข้ากับเรื่องที่กำลังจะเรียน ในขั้นที่สามของการเรียนรู้นี้ ผู้สอนจะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการแก้ไขความเข้าใจที่อาจผิดพลาดคลาดเคลื่อนของผู้เรียนเพื่อไม่ให้สับสนกับเรื่องใหม่ที่กำลังจะเรียน ตลอดจนช่วยประสานความเชื่อมโยงระหว่างความรู้เก่าและความรู้ใหม่ให้กลายเป็นพัฒนาการทางความรู้ (proximal development) ด้วยวิธีการต่อไปนี้
o ตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ในอดีตของผู้เรียน
o ถามผู้เรียนว่ามีความเข้าใจในเรื่องที่กำลังจะเรียนอย่างไร
o เชื่อมโยงความรู้พื้นฐานของผู้เรียนเข้ากับเรื่องที่กำลังจะเรียน
o ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงสิ่งที่เคยเรียนรู้หรือมีประสบการณ์เข้ากับสิ่งที่จะเรียนรู้ต่อไป
o ชี้แจงให้ผู้เรียนเข้าใจว่าความรู้ความเข้าใจที่เคยมีอยู่ก่อนนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ต้องปรับปรุงแก้ไขในเรื่องใด
วัตถุประสงค์ของขั้นที่สาม เพื่อปรับพื้นฐานความรู้ความเข้าใจของเรื่องที่ผู้เรียนได้เคยเรียนรู้มาแล้ว ให้ถูกต้องครบถ้วน และเตรียมผู้เรียนให้พร้อมที่จะรับความรู้และประสบการณ์ใหม่ที่จะเรียนรู้ในลำดับต่อไป
หมวดที่สอง: การสอนและฝึกปฏิบัติ (Instruction and Practice)
ขั้นที่สี่: กระตุ้นผู้เรียนด้วยวิธีการที่เหมาะสม (Presenting the stimulus)
เลือกใช้กิจกรรมและสื่อรูปแบบต่าง ๆ ในการป้อนข้อมูลและความรู้ใหม่แก่ผู้เรียนด้วยการจัดลำดับความเป็นเหตุเป็นผลของเรื่องราวและทำให้ง่ายต่อความเข้าใจ ผู้เรียนแต่ละคนมีความถนัดในการทำความเข้าใจด้วยสื่อที่แตกต่างกัน ผู้สอนจึงควรใช้สื่อหลากหลายรูปแบบในการสอน เช่น วิดีโอ, อภิปราย, จัดกลุ่มงานเพื่อผลัดกันเสนอความคิดเห็น รวมทั้งการให้ link ที่ผู้เรียนสามารถนำไปค้นหาข้อมูลในเรื่องนั้นเป็นการเพิ่มเติม
การนำเสนอเนื้อหา (content) แก่ผู้เรียน มีหลายวิธี ได้แก่
o ใช้การนำเสนอหลาย ๆ แบบและข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งในการนำเสนอเนื้อหาที่จะเรียน เช่น วิดีโอ, แผนภูมิ, การบรรยาย, ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นความเป็นสากลของเรื่องที่เรียน และกระตุ้นผู้เรียนซึ่งอาจถนัดในการรับรู้ข้อมูลด้วยช่องทางที่แตกต่างกัน
o ใช้กลยุทธ์การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (active learning) ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การวิเคราะห์ การระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
o นำความรู้ที่เรียนเผยแพร่ทาง internet หรือปิดบนกระดานที่ผู้เรียนสามารถกลับมาเก็บรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในภายหลัง
ขั้นที่ห้า: แนะนำวิธีการเรียนรู้และการทำความเข้าใจ (Providing learning guidance)
แนะนำกลยุทธ์และข้อมูลที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เนื้อหาและเข้าใจเรื่องที่เรียนได้อย่างน่าสนใจ เช่น
o สถานการณ์จำลอง (scenario-based learning) หรือกรณีศึกษา (case study) โดยให้ผู้เรียนนำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์หรือกรณีตัวอย่างว่าจะสามารถจัดการแก้ไขหรือหาทางออกที่เหมาะสมให้กับสถานการณ์หรือกรณีปัญหานั้นอย่างไร
o การเล่าเรื่อง (narrative-based learning) ในลักษณะคล้ายการเล่านิทานให้เด็กฟัง เป็นวิธีการที่ได้รับการศึกษายืนยันว่าหากสามารถใช้น้ำเสียง ท่วงทีการเล่าที่สัมพันธ์กับเนื้อหา จะช่วยให้เรื่องเหล่านั้นติดอยู่ในความทรงจำของเด็กไปตลอดชีวิต
o ยกตัวอย่างสิ่งที่ควรทำ (examples) และตัวอย่างของสิ่งที่ไม่ควรทำ (non-examples)
นอกจากการเล่าด้วยวาจาแล้ว ผู้สอนยังควรใช้สื่อหรือเทคนิคการสอนอื่น ๆ มาประกอบด้วย เช่น กราฟฟิค, เทคนิคช่วยจำ (mnemonics), ผังความคิด (mind map) เพื่อให้ผู้เรียนเห็นภาพของเรื่องที่เรียนรู้และฝังลงเป็นประสบการณ์เพิ่มขึ้นไปจากการฟังแต่เพียงอย่างเดียว
ขั้นที่หก: ให้ผู้เรียนแสดงออก (Eliciting performance)
ให้ผู้เรียนแสดงความเข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปเพื่อเสริมความแม่นยำและความสามารถนำไปใช้ประโยชน์ และเพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่ผู้เรียนเข้าใจนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เช่น
o ตั้งคำถามลงลึกในเรื่องที่เรียนไป อาจเป็นคำถามที่มีคำตอบแบบตัวเลือก (multiple choices), คำถามอิงสถานการณ์ (scenario-based), คำถามแบบที่มีคำตอบแบบถูกผิด หรือคำถามที่ใช้การผสมผสานคำตอบแบบต่าง ๆ รวมไว้ด้วยกัน
o มอบหมายงานโครงการทั้งแบบรายบุคคลและแบบกลุ่ม นำมาเสนอหน้าชั้น เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องที่สอนอย่างถูกต้องแม่นยำ
o ให้ผู้เรียนแสดงบทบาทสมมุติ (role playing) เพื่อแสดงพฤติกรรมและวิธรการในการแก้ปัญหา
ขั้นที่เจ็ด: ให้ข้อมูลป้อนกลับ (Providing feedback)
เมื่อผู้เรียนได้แสดงให้เห็นว่าตนมีความรู้ความเข้าใจอย่างไรในเรื่องที่เรียนรู้ไปนั้น ผู้สอนจำเป็นต้องให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ผู้เรียนว่าความรู้ความเข้าใจดังกล่าวถูกต้องหรือมีความคลาดเคลื่อนอย่างไร ข้อมูลป้อนกลับมีหลายลักษณะ แบ่งออกตามวัตถุประสงค์ของการให้ข้อมูล ได้แก่
o ข้อมูลป้อนกลับเพื่อยืนยันว่าสิ่งที่ผู้เรียนเข้าใจนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (confirmatory feedback) วัตถุประสงค์ของข้อมูลป้อนกลับประเภทนี้ไม่ได้ต้องการบอกว่าผู้เรียนควรแก้ไขปรับปรุงในเรื่องใด แต่ต้องการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เรียนว่าความเข้าใจของตนนั้นถูกต้องแล้ว
o ข้อมูลป้อนกลับว่าความรู้ความเข้าใจของผู้เรียนมีความถูกต้องแม่นยำในระดับใด (evaluative feedback) แต่ไม่ได้ให้แนวทางว่าจะพัฒนาให้ก้าวหน้าหรือดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร
o ข้อมูลป้อนกลับที่แนะนำผู้เรียนว่าจะสามารถหาคำตอบที่ถูกต้องได้อย่างไร (remedial feedback) แต่ไม่ได้บอกว่าคำตอบที่ถูกต้องคืออะไร
o ข้อมูลป้อนกลับที่ให้คำแนะนำและข้อมูลที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถปรับปรุงแก้ไขความรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง (descriptive or analytic feedback)
o ข้อมูลป้อนกลับที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถมองเห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เข้าใจกับสิ่งที่ถูกต้องในการเรียนรู้ (gap) ทั้งของตนเองและกลุ่มงาน (Peer-evaluation and self-evaluation)
หมวดที่สาม: การประเมินผลและถ่ายโอนความรู้ (Assessment and transfer)
ขั้นที่แปด: ประเมินความรู้และความเข้าใจในภาคปฏิบัติ (Assessing performance)
ทดสอบและประเมินความรู้ความเข้าใจของผู้เรียนเพื่อให้ทราบระดับความรู้และความเข้าใจในเรื่องที่เรียนรู้หรือที่กำลังจะเรียน ควรจัดให้มีการประเมินความรู้ความเข้าใจตลอดหลักสูตรโดยมีเกณฑ์การให้คะแนนที่มีความแม่นตรง การทดสอบที่กระทำบ่อย ๆ ทั้งแบบมีคะแนนและไม่มีคะแนน จะเป็นข้อมูลป้อนกลับที่ช่วยทดสอบและแก้ไขความเข้าใจหรือการปฏิบัติที่ยังไม่ถูกต้องแก่ผู้เรียนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถจดจำ เก็บรักษา และนำไปประยุกต์ใช้ในโอกาสต่อไป
การทดสอบการเรียนรู้ควรทำในหลายลักษณะเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความรู้ความเข้าใจของตนออกมาให้มากและชัดเจนที่สุดตลอดการเรียนการสอน เช่น
o ทดสอบก่อนการเรียน (pre-test) และหลังการเรียน (post –test) เพื่อตรวจสอบความก้าวหน้า หรือพัฒนาการของความรู้และทักษะ
o ตั้งคำถามให้ตอบแบบปากเปล่า, การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นครั้งคราว, การสอบย่อย (quiz) ทั้งแบบแจ้งล่วงหน้าและไม่แจ้งล่วงหน้า
รูปแบบคำถามที่แนะนำให้นำมาใช้ในการทดสอบ คือคำถามที่อิงสถานการณ์ (scenario-based) คำถามที่สอดคล้องสัมพันธ์กับการนำไปใช้จริงของผู้เรียนจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ความรู้และทักษะที่เรียนให้เข้ากับการทำงานจริง ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเก็บรักษา (retain) ความรู้และทักษะเหล่านั้นไว้กับตัวทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติ เมื่อเสร็จการทดสอบแล้ว ผู้สอนก็ควรมีข้อมูลป้อนกลับให้ผู้เรียนด้วยเช่นกันว่ามีเรื่องใดที่ผู้เรียนยังเข้าใจผิดพลาด จุดมุ่งหมายของการทดสอบไม่ใช่เพียงการวัดระดับความเข้าใจ แต่ยังรวมถึงการแก้ไขสิ่งที่ยังไม่เข้าใจและเพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องอีกด้วย
ขั้นที่เก้า: สรุปเนื้อหาเพื่อสะดวกต่อการจดจำและนำไปใช้ปฏิบัติ (Enhancing preparation and transfer)
เป็นขั้นสุดท้ายในลำดับการเรียนรู้ของ Gagne ซึ่งมุ่งหมายให้ผู้เรียนสามารถเก็บรักษาความรู้ไว้กับตนได้นานขึ้นด้วยการให้ผู้เรียนได้มีโอกาสนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้ในชีวิตจริงซึ่งอาจเป็นสถานการณ์ที่เหมือนหรือแตกต่างจากที่ได้เรียนรู้มาในชั้นเรียน การฝึกปฏิบัติซ้ำหลาย ๆ ครั้งเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้มั่นใจว่าผู้เรียนสามารถใช้ความรู้และทักษะที่เรียนมาได้อย่างมีประสิทธิผล ผู้สอนจึงต้องมั่นใจว่าผู้เรียนมีโอกาสมากพอสมควรที่จะได้ใช้สิ่งที่เรียนรู้ไป
การที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้และทักษะที่เรียนไปใช้ในการทำงานจริง หรือสามารถถ่ายทอดต่อไปยังผู้อื่นในรูปการสอนหรือการแนะนำที่เป็นประโยชน์ ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (behavioral change) ของผู้เรียนซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของการเรียนรู้
บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
- 4-Frame Model [Bolman and Deal]
- 4-Level Training Evaluation Model
- 4MAT Learning Cycle Model
- 10 Dimensions of a Learning Organization [Schein]
- 70-20-10 Rule
- ADDIE Model of Instructional Design
- Bloom's Taxonomy
- Case Study-Based Learning
- Communication Cycle Model (Shannon and Weaver)
- Giving Feedback
- Learning Styles
- Motivated Sequence (Monroe)
- Role-Playing Game (RPG)
- Storytelling
------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น