วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563

3 Levels of Strategy

       

กลยุทธ์ 3 ระดับในองค์กร

          ธุรกิจทุกประเภทย่อมต้องมีการแข่งขัน กลยุทธ์จึงเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินธุรกิจและเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจหนึ่งมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าธุรกิจอื่น ต่อให้คุณมีความคิดดีๆ ในการดำเนินธุรกิจและมีสินค้าที่น่าจะได้รับความนิยมเป็นอย่างดี แต่หากปราศจากกลยุทธ์เสียแล้ว ความคิดและสินค้าที่ดีเหล่านั้นก็อาจไม่สามารถสร้างความสำเร็จให้กับคุณได้ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั้งหลายที่คุณก็คงพอจะนึกชื่อออกมาได้มากมาย ล้วนแล้วแต่เป็นนักคิดเชิงกลยุทธ์ชั้นยอดทั้งสิ้น ความสำเร็จของบุคคลไม่ใช่สิ่งที่ได้มาด้วยความบังเอิญ ดังนั้นหากคุณประสงค์จะประสบความสำเร็จ คุณจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์เป็นตัวนำในการทำธุรกิจ

          ในโลกธุรกิจ กลยุทธ์จะเกี่ยวข้องตั้งแต่การปฏิบัติงานปกติรายวัน ไปจนถึงการวางแผนระยะยาวทางธุรกิจ กลยุทธ์ที่นำมาใช้ทั่วไปในองค์กรมีอยู่ 3 ระดับซึงคุณจะต้องจัดการกับมันอย่างระมัดระวัง ให้แต่ละระดับทำงานส่งเสริมซึ่งกันและกันจนเกิดเป็นพลังร่วมขององค์กร ธุรกิจคุณจึงจะพบความสำเร็จอย่างที่มุ่งหวัง

          กลยุทธ์ 3 ระดับขององค์กร ประกอบด้วย

กลยุทธ์ระดับองค์กร (Corporate Level)
               เป็นกลยุทธ์ระดับมหภาคที่ครอบคลุมทุกแง่มุมในการดำเนินธุรกิจ เป็นจุดเริ่มที่สำคัญที่ทุกองค์กรควรจะกำหนดขึ้นก่อนเริ่มธุรกิจเพราะจะช่วยทำให้เห็นวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและเป็นเต้าโครงที่จะขยายความเป็นรายละเอียดต่อไป นอกจากนั้นยังช่วยให้ผู้บริหารและพนักงานได้เห็นภาพรวมของกิจการตลอดจนคุณค่าที่ต้องมีหรือสร้างขึ้นมาเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ กลยุทธ์ระดับองค์กรจะเรียบง่ายหรือซับซ้อนขึ้นอยู่กับขยาดของกิจการ

          ในการเริ่มธุรกิจ ผู้ประกอบการหลายรายมักมองข้ามความสำคัญของการกำหนดกลยุทธ์ขั้นบนสุดนี้ แต่เมื่อดำเนินธุรกิจไปได้สักระยะหนึ่ง พวกเขาจะรับรู้ได้ถึงความเสียหายและการเสียโอกาสในธุรกิจอันเป็นผลจากการมองข้ามการกำหนดกลยุทธ์ระดับองค์กรไว้ตั้งแต่แรก เพราะกลยุทธ์นี้จะเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจในเรื่องอื่นๆ ทั้งหมดซึ่งรวมถึงการกำหนดกลยุทธ์ระดับล่างลงไปอีกสองระดับ คือ กลยุทธ์ธุรกิจ และกลยุทธ์การปฏิบัติด้วย

          กลยุทธ์ระดับองค์กรสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก เช่น การทำและขายขนมคุกกี้ในตลาดใดๆ สักหนึ่งหรือสองตลาด คงเป็นกลยุทธ์ที่เรียบง่ายและทำเสร็จได้อย่างรวดเร็วเพราะสินค้าหรือบริการที่จะนำมากำหนดไว้ในกลยุทธ์ มีความชัดเจน และความมุ่งหมายก็คงไม่พ้นไปจากการขายให้ได้มากที่สุด แต่สำหรับธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่านั้น เรื่องที่ดูว่าง่ายก็จะมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น สมมุติว่านอกจากการทำและขายคุกกี้แล้ว หากธุรกิจมีการขายอุปกรณ์ในการทำคุกกี้ด้วย เช่น เตาอบ เครื่องผสมแป้ง ฯลฯ กิจการที่มีสายธุรกิจเพิ่มขึ้นมาก็ย่อมมีความแตกต่างไปจากกิจการที่มีแต่การทำและชายคุกกี้เท่านั้น กลยุทธ์ระดับองค์กรจะมีความซับซ้อนมากขึ้น การกำหนดกลยุทธ์ระดับองค์กรไว้จะช่วยให้ทราบได้ว่าธุรกิจได้มีการเปลี่ยนเนื้อหาไปจากเดิม มีเป้าหมายทั้งด้านการตลาดและลูกค้า ตลอดจนเป้าหมายของธุรกิจที่เปลี่ยนไป   

          ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จึงมักจะกำหนดพันธะกิจและวิสัยทัศน์เอาไว้ในกลยุทธ์ระดับองค์กรด้วย โดยพันธะกิจ (mission statement) เป็นการแจ้งให้ทราบว่าองค์กรนี้ทำอะไร มีการแข่งขันที่แตกต่างจากผู้อื่นอย่างไร ส่วนวิสัยทัศน์ (vision statement) เป็นการแจ้งให้ทราบว่า มุ่งหวังให้องค์กรมีสถานะการดำเนินการอย่างไรในอนาคต เช่นใน 10, 15 หรือ 20 ปีข้างหน้า นอกจากพันธะกิจและวิสัยทัศน์แล้ว ยังต้องระบุเป้าหมายขององค์กร เช่น เป้าหมายทางการเงิน เป้าหมายด้านลูกค้า และความเติบโตก้าวหน้าขององค์กรไว้ด้วย ผู้บริหารระดับสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างกลยุทธ์นี้

          กลยุทธ์ระดับองค์กร มีลักษณะโดยสรุปดังนี้

  • มุ่งเน้นความมุ่งหมายขององค์กรว่า ต้องการจะทำอะไรในระยะยาวให้สำเร็จ
  • กำหนดขอบเขตเนื้อหา (area) ของธุรกิจที่จะเข้าดำเนินการ
  • ระบุเป้าหมายและนิยามที่ชัดเจนของตลาดและลูกค้าว่ามีลักษณะหรือองค์ประกอบเป็นอย่างไร
  • กำหนดวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว


กลยุทธ์ระดับธุรกิจ (Business Level)
               เป็นกลยุทธ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแปลงวิสัยทัศน์หรือความมุ่งหวังของกลยุทธ์ระดับองค์กรให้มีความจำเพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ขั้นตอนในรายละเอียดของวิธีการที่จะนำมาใช้เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย ในกรณีที่มีการแตกสายธุรกิจออกไปมากกว่าหนึ่งสาย กลยุทธ์ระดับธุรกิจจะช่วยให้เห็นความสอดคล้องและความเชื่อมโยงของธุรกิจสายต่างๆ ที่มีกับกลยุทธ์ระดับองค์กรได้ชัดเจนขึ้น การลงรายละเอียดในขั้นปฏิบัติการ เช่น การวางแผนทรัพยากร การใช้กำลังคนให้เหมาะสม ก็เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระดับธุรกิจด้วย

          จากตัวอย่างแรก จะเห็นได้ว่าการทำและขายคุกกี้ กับการขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำคุกกี้ เป็นคนละสายธุรกิจ ใช้กลยุทธ์คนละอย่าง ในการทำและขายคุกกี้ คุณอาจใช้กลยุทธ์การขายผ่านร้านสะดวกซื้อ ขณะที่การขายอุปกรณ์ทำคุกกี้ คุณอาจใช้กลยุทธ์การขายผ่านห้างสรรพสินค้าหรืออินเตอร์เน็ต ความเข้าใจในความแตกต่างของสายธุรกิจจะช่วยให้คุณบริหารจัดการงานในแต่ละสายได้ชัดเจนขึ้น และเป็นการนำกลยุทธ์ระดับองค์กรมา

  • กำหนดวิธีการ (tactic) ที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละสายธุรกิจและแต่ละตลาด
  • วางแผนว่าจะใช้วิธีการนั้นๆ อย่างไรในแต่ละสายธุรกิจ


          สำหรับกลยุทธ์ระดับธุรกิจนี้ มีความเห็นแตกออกเป็นสองทาง ทางหนึ่งเห็นว่าเป็นกลยุทธ์สำหรับองค์กรที่มีสายธุรกิจมากกว่าหนึ่งสายเท่านั้น หากเป็นองค์กรที่มีสายธรกิจเพียงสายเดียวก็ไม่จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ระดับธุรกิจ อีกทางหนึ่งเห็นว่า ทุกองค์กรไม่ว่าจะมีสายธุรกิจเพียงสายเดียวหรือหลายสาย ก็ควรมีกลยุทธ์รองรับทั้งสามระดับ

          โดยเหตุที่แนวคิดเรื่องกลยุทธ์สามระดับนี้ ไม่มีที่มาชัดเจนว่าใครเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้นำเสนอ จึงไม่สามารถฟันธงลงไปได้ว่าความคิดดั้งเดิมกล่าวไว้อย่างไร แต่ในความเห็นของผู้เขียน เห็นว่าไม่ว่าองค์กรจะมีสายธุรกิจมากน้อยเพียงใดก็สมควรจะมีกลยุทธ์ทั้งสามระดับด้วยเหตุผลที่ว่า กลยุทธ์แต่ละระดับ ล้วนมีบทบาทเป็นการเฉพาะของตนมี่สนับสนุนการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานได้

กลยุทธ์ระดับปฏิบัติ (Functional Level)
               เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในงานประจำวันซึ่งต้องจัดทำเพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรกำลังมุ่งไปสู่เป้าหมาย เป็นฐานล่างสุดของการจัดทำกลยุทธ์ แต่ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะเป็นตัวชี้ขาดความสำเร็จหรือล้มเหลวในการทำธุรกิจ เป็นการทำงานตามภาระหน้าที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายซึ่งเชื่อมโยงกับเป้าหมายของกลยุทธ์ระดับธุรกิจและระดับองค์กร บางภาระหน้าที่จัดเป็นสายงานหลัก (line) ในขณะที่บางภาระหน้าที่จัดเป็นสายสนับสนุน (staff)

          กลยุทธ์ระดับปฏิบัติ จึงเป็นกลยุทธ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของหน่วยธุรกิจโดยอาศัยศักยภาพขององค์กรเป็นฐานในการพิจารณาว่าจะจัดรูปองค์กรอย่างไร และจะมอบหมายความรับผิดชอบอย่างไร เป็นการวางกลยุทธ์ให้สายงานต่างๆ เช่น การตลาด การผลิต การเงิน ทรัพยากรมนุษย์ ว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่มุ่งหวังอย่างไร และต้องทำอย่างไร ภารกิจต่างๆ จึงจะดำเนินไปได้โดยไม่ติดปัญหาหรืออุปสรรค ผู้บริหารและทีมงานของแต่ละสายงานจะเป็นผู้กำหนดกลยุทธ์ระดับปฏิบัติ

          กลยุทธ์ระดับปฏิบัติ มีลักษณะที่สำคัญโดยสรุป ดังนี้

  • เป็นกลยุทธ์ที่ทำเพื่อควบคุมการปฏิบัติงานรายวันให้อยู่ในเส้นทางที่ทำให้กลยุทธ์ระดับธุรกิจและกลยุทธ์ระดับองค์กรบังเกิดผล
  • มุ่งให้เกิดความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกันในการทำงานระหว่างส่วนงาน หน่วยงาน และทีมงาน
  • เป็นการวางแผนเพื่อให้ภารกิจประจำวันได้รับการปฏิบัติและประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย


          กลยุทธ์ทั้งสามระดับมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันและจะต้องผสมผสานกลมกลืนกันเป็นอย่างดี ความสำเร็จหรือล้มเหลวของกลยุทธ์ระดับหนึ่งส่งผลต่อกลยุทธ์อีกระดับหนึ่ง ดังนั้น แม้จะใช้ตำว่าระดับ ก็มีความหมายเพียงในเรื่องขอบเขตความกว้างขวางครอบคลุมและการลงในรายละเอียดว่ามีทิศทางจากบนลงล่างเท่านั้น แต่ความหมายนี้ไม่ได้นำมาใช้กับทิศทางของการสื่อสารระหว่างกลยุทธ์ คือจะไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวจากบนลงล่าง แต่จะอยู่ในรูปสามเหลี่ยมซึ่งแต่ละกลยุทธ์สามารถสื่อสารข้อมูลถึงกันได้โดยตรง ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ กลยุทธ์ไม่ใช่สิ่งที่สร้างแล้วนำขึ้นหิ้ง พอถึงเวลาก็นำผลที่ได้รับมาประเมินว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่กลยุทธ์เป็นสิ่งที่ต้องติดตามดูผลและปรับแต่งให้รับกับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่า การดำเนินงาน ยังอยู่ในเส้นทางที่มุ่งไปสู่เป้าหมายและความสำเร็จขององค์กร

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ


---------------------------------






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น