ความรับผิดชอบหลักของผู้นำ
[John Adair]
เป็นรูปแบบภาวะผู้นำตามแนวคิดของ John Adair ที่ให้แนวทางแก่ผู้นำและผู้บริหารในการพาทีมและองค์กรสู่ความสำเร็จ มีรูปแบบที่ง่ายต่อการจดจำ ใช้ปฏิบัติได้จริง ตามแนวคิดนี้ ผู้บริหารและผู้นำที่ดี คือผู้นำที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความรับผิดชอบที่สำคัญสามเรื่อง มักแสดงในรูปวงกลมสามวงซ้อนเหลื่อมกัน (three overlapping circles) ประกอบด้วย การปฏิบัติภารกิจ (Task), การพัฒนาทีมงาน (Team), และการพัฒนาบุคลากร (Individual) ผู้นำที่สามารถรักษาสมดุลทั้งสามเรื่องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จะสามารถสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นกับองค์กรทั้งด้านผลการปฏิบัติงาน, สินค้าบริการที่มีคุณภาพ, ทีมงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน, รวมถึงพนักงานที่มีขวัญกำลังใจและความมุ่งมั่นในการทำงาน
John Adair เกิดในปีค.ศ. 1934 เสนอแนวคิดเรื่อง Action Centred Leadership ในหนังสือของเขาชื่อ The Skills of Leadership ในช่วงเป็นอาจารย์สอนที่ Sandhurst Royal Military Academy และเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการและหัวหน้าภาควิชาภาวะผู้นำที่ The Industrial Society โดยนำมิติเรื่ององค์กร เสริมเข้าไปในแนวคิดเกี่ยวกับความต้องการและแรงจูงใจของมนุษย์ที่ Maslow, Hertzberg และ Fayol ได้เคยเสนอไว้ Action Centred Leadership ได้รับการยอมรับว่าเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลสูงสุดในสหราชาณาจักรในเรื่องการพัฒนาภาวะผู้นำ
Adair มีความเห็นว่า ภาวะผู้นำเป็นทักษะที่ฝึกสอนและถ่ายทอดให้กันได้ ไม่ใช่บุคลิกภาพหรือความสามารถที่มีมาตั้งแต่เกิด Adair แยกความแตกต่างระหว่างผู้นำกับผู้บริหาร ตามความคิดของเขา ผู้บริหารจะผูกยึดอยู่กับโครงสร้างขององค์กรมากกว่าผู้นำ Adair อาจไม่ค่อยมีชื่อเสียงในแนวคิดเรื่องอื่นนอกเหนือไปจากเรื่อง Action Centred Leadership
ความรับผิดชอบสามเรื่องของผู้นำในทุกสภาพแวดล้อมการทำงาน ประกอบด้วย
1. ทำภารกิจให้สำเร็จ (Achieve the task)
การทำภารกิจให้สำเร็จ จำเป็นต้องใช้การทำงานเป็นทีมเพราะลำพังใครคนใดคนหนึ่งคงไม่สามารถรับภารกิจนั้นไปปฏิบัติได้ทั้งหมด ความรับผิดชอบในส่วนนี้ของผู้นำจึงครอบคลุมเรื่องต่อไปนี้
o กำหนดความมุ่งหมาย, วิสัยทัศน์, ทิศทางการทำงานของทีมงานให้ชัดเจนและสื่อสารให้สมาชิกทั้งหมดทราบโดยทั่วกัน
o กำหนดทรัพยากร, บุคคลากร, กระบวนการ, ระบบ, และเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ในการทำภารกิจ เช่น การเงิน การสื่อสาร
o กำหนดความรับผิดชอบ วัตถุประสงค์ และการวัดผล โดยมีการชี้แจง ปรึกษาหารือ และเห็นชอบร่วมกันเพื่อให้เกิดความผูกพันในความรับผิดชอบนั้น (accountability)
o กำหนดมาตรฐาน คุณภาพ ระยะเวลาการทำงาน ตลอดจนเวลาที่ต้องรายงานผล (reporting parameter)
o กำหนดเวลาสิ้นสุดของภารกิจของโครงการ และอธิบายมาตรฐานคุณภาพที่คาดหวัง
o ควบคุมดูแลกิจกรรมการปฏิบัติให้เป็นไปตามกำหนดเวลา
o ติดตามดูแลการปฏิบัติงานทั้งของทีมงานโดยรวมและของสมาชิกทีมงานแต่ละคนเปรียบเทียบกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของภารกิจ
o รายงานความก้าวหน้าตามเป้าหมายของทีมงาน
o ทบทวน ประเมินซ้ำ และปรับแผน วิธีการ รวมถึงเป้าหมายตามที่เห็นสมควร
2. พัฒนาทีมงาน (Build and maintain the team)
ทีมงานจำเป็นต้องมีความสามัคคีภายในกลุ่ม (team cohesiveness) เพื่อให้มั่นใจว่าจะปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้นำจึงมีความรับผิดชอบที่จะต้องสร้างความสามัคคีนั้นให้เกิดและคงอยู่ตลอดการทำงานด้วยการ
o กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานและพฤติกรรมการทำงาน ด้วยความเห็นพ้องต้องกันของทีมงาน และสื่อสารออกไปให้รับรู้ทั่วกัน
o กำหนดจรณทักษะ (soft skill) ของทีมงาน ได้แก่ รูปแบบ (style), วัฒนธรรม และแนวทางการทำงาน (approach)
o ติดตามและดูแลรักษาวินัย จริยธรรม ความซื่อตรงของทีมงานโดยมุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์ของภารกิจ
o คาดหมายและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การทะเลาะวิวาท หรือความไม่ลงรอยในทีมงาน
o ประเมินและเปลี่ยนองค์ประกอบของทีมงานตามความจำเป็น
o พัฒนาความร่วมมือในการทำงาน ส่งเสริมขวัญกำลังใจและความมีน้ำใจต่อกัน (team spirit) ระหว่างสมาชิกทีมงาน
o พัฒนาวุฒิภาวะ (collective maturity) และความสามารถของกลุ่ม ขณะเดียวกันก็ปรับเพิ่มเสรีภาพและอำนาจของกลุ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป
o กระตุ้นทีมงานให้มุ่งสู่เป้าหมาย ปลุกสำนึกในความมุ่งหมายที่มีร่วมกัน
o ชี้ให้เห็นบทบาทความเป็นผู้นำโครงการที่ทุกคนจะต้องพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
o สร้างความมั่นใจว่ามีการสื่อสารที่ดีทั้งภายในและภายนอกทีมงาน
o ระบุและตอบสนองความต้องการการฝึกอบรมของทีมงาน
o แจ้งให้สมาชิกทีมงานหรือกลุ่มได้ทราบถึงความก้าวหน้าโดยรวมของภารกิจ ให้คำปรึกษา และส่งเสริมให้สมาชิกแต่ละคนแสดงความคิดเห็น
3. พัฒนาบุคลากร (Develop the individual)
สมาชิกทีมงานแต่ละคนต้องการทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่น เงินเดือนและค่าตอบแทน และสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น การยกย่องเชิดชู, การรับรู้ของบุคคลทั้งหลายในความมุ่งมั่นตั้งใจของตนที่มีต่อภารกิจและต่อทีมงาน ผู้นำจึงต้องรับผิดชอบในการพัฒนาขวัญกำลังใจ และเพิ่มเสริมความสามารถของสมาชิกทีมงาน กล่าวคือ
o เข้าใจบุคลิกภาพ ทักษะ จุดอ่อน จุดแข็ง ความต้องการ และเป้าหมายของสมาชิกทีมงานแต่ละคน
o ช่วยเหลือและให้การสนับสนุนสมาชิกทีมงานแต่ละคนในการดำเนินงานตามแผน ช่วยแก้ไขปัญหาหรือความท้าทายไม่ว่าจะมากหรือน้อย
o ระบุและสร้างการยอมรับในเป้าหมายตลอดจนความรับผิดชอบที่เหมาะสมให้กับสมาชิกทีมงาน
o ยกย่อง ชื่นชมในความพยายามและผลงานที่ดีของสมาชิก
o ให้รางวัลสมาชิกที่มีความรับผิดชอบและผลงานโดดเด่นตามจังหวะเวลาที่สมควร
o พัฒนาจุดแข็งหรือความสามารถของทีมงาน และนำมาใช้เพื่อความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของภารกิจ
o พัฒนาและฝึกอบรมสมาชิกทีมงาน
o ส่งเสริมความเป็นอิสระและอำนาจในการทำงานของสมาชิกแต่ละคน
การเหลื่อมซ้อนกันของวงกลมสามวง หมายถึงความรับผิดชอบทั้งสามของผู้นำ มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องและส่งผลกระทบต่อกัน กล่าวคือ
(1) การปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จ (task) จำเป็นต้องสร้างทีมงาน (team) และให้สมาชิกทีมงาน (individual) มีความพึงพอใจในการปฏิบัติภารกิจ
(2) หากทีมงานขาดความร่วมมือร่วมใจในการทำงาน ผลงานก็จะบกพร่อง และความพึงพอใจของสมาชิกทีมงานก็จะลดลง
(3) หากความต้องการของสมาชิกทีมงานไม่ได้รับการตอบสนอง ความร่วมมือร่วมใจในการทำงานของทีมก็จะลดลง ผลงานของทีมก็จะบกพร่อง
Adair จึงกำหนดหน้าที่หลัก (core function) 8 ประการที่ผู้นำจะต้องปฏิบัติร่วมไปในความรับผิดชอบที่กล่าวถึงข้างต้นโดยถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้แนวคิดเรื่อง Action-Centred Leadership ประสบความสำเร็จ ได้แก่
1. Organizing กำหนดองค์ประกอบทีมงานตลอดจนโครงสร้างและกระบวนการทำงานที่ชัดเจน มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำงานให้ประสบผลสำเร็จ
2. Planning แสวงหาทางเลือกในการปฏิบัติหลายแบบโดยแลกเปลี่ยนความคิดกับทีมงานอย่างเปิดเผย สร้างสรรค์ และเป็นเชิงบวก แล้วนำมาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติ (action plan) และแผนฉุกเฉิน (contingency plan)
3. Defining the task นิยามวัตถุประสงค์และแผนงานของภารกิจที่ชัดเจนให้แก่สมาชิกและทีมงานในรูป SMART objectives คือ มีความจำเพาะเจาะจง (Smart), วัดความสำเร็จได้ (Measurable), สามารถทำให้สำเร็จได้ (Achievable), สมจริง (realistic), มีกำหนดเริ่มต้นและสิ้นสุด (Timing)
4. Briefing สรุปแผนงานและภารกิจเพื่อความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของสมาชิกแต่ละคน สร้างขวัญ กำลังใจ และความมั่นใจในความสำเร็จ
5. Controlling ผู้นำจะต้องควบคุมตนเองและระบบการทำงานรวมถึงมอบหมายงานให้สอดคล้องกับทักษะ ความรู้ ความสามารถของสมาชิกทีมงาน และติดตามแก้ไขไม่ให้ผิดไปจากที่วางแผนไว้ หากจำเป็นต้องปรับแผนให้รับกับสถานการณ์ จะต้องมั่นใจว่าทีมงานทุกคนมีความเข้าใจในแผนที่ปรับนั้น
6. Motivating การจูงใจที่ประสบความสำเร็จ ผู้นำจะต้องทำครบในหกเรื่อง ได้แก่
o ผู้นำต้องสร้างขวัญกำลังใจให้กับตนเอง เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ทีมงาน
o ผู้นำต้องเลือกผู้ที่มีขวัญกำลังใจในการทำงานเป็นสมาชิกทีมงาน
o ผู้นำต้องกำหนดภารกิจที่ท้าทายแต่สามารถทำให้สำเร็จได้
o ผู้นำต้องตระหนักว่าความสำเร็จคือแรงจูงใจของผู้ปฏิบัติงาน
o ผู้นำต้องให้รางวัลตอบแทนความสำเร็จแก่สมาชิกทีมงานอย่างเป็นธรรม
o ผู้นำต้องแสดงการยกย่อง พูดคุย ใส่ใจ และให้เกียรติสมาชิกทีมงานทุกคน
7. Setting an example ประพฤติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดี (role model) แก่ทีมงานทั้งในด้านพฤติกรรมและทัศนคติ
8. Evaluating ประเมินผลงานและการปฏิบัติของทีมงาน ให้การฝึกอบรมหรือทรัพยากรเสริมเมื่อจำเป็น
จะเห็นได้ว่า แนวคิดเรื่อง Action-Centred Leadership ของ John Adair ไม่ใช่แนวคิดโดด ๆ ที่เป็นอิสระจากแนวคิดอื่น แต่จะต้องผสานความรับผิดชอบของผู้นำเข้ากับหน้าที่หลักทางการบริหารให้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน อย่างไรก็ตามก็มีหลายคนที่ให้ความเห็นว่าแนวคิดของ Adair เป็นแนวคิดล้าหลังซึ่งค่อนข้างเน้นการควบคุมและใช้อำนาจ (authoritarian) จึงไม่สอดคล้องกับโครงสร้างการทำงานขององค์กรสมัยใหม่ที่เห็นว่า ผู้นำควรเน้นไปในเรื่องการมอบอำนาจ (empowerment) รวมถึงการสร้างและส่งเสริมนวัตกรรมการทำงาน (innovation)
แม้คำวิพากษ์วิจารณ์นั้นจะมีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่ก็เป็นความเห็นที่เสริมขึ้นมาให้รับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนแนวคิดในเรื่องความรับผิดชอบหลัก ๆ ทั้งสามของผู้นำไม่ได้ถูกโต้แย้งหรือปฏิเสธแต่อย่างใดและยังคงใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาภาวะผู้นำมาจนถึงปัจจุบัน
บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
- 5 Key Team Performance Factors
- 7 Transformations of Leadership [Rooke and Torbert]
- Action Planning
- Building a Positive Team
- Evaluating Performance
- Keeping Valued Team Members
- Lead by Example
- Monitoring Delegated Tasks
- Motivating Your Team
- Organizing Team Decision-Making
- Task Allocation
- Team Briefings
- ผ่าทฤษฎีผู้นำ
---------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น