Raymond Cattell นักวิทยาศาสตร์สาขาเคมีและฟิสิกส์ ได้หันความสนใจมาศึกษาจิตวิทยาในทศวรรษที่ 1920 ซึ่งในตอนนั้น เขารู้สึกผิดหวังที่พบว่าจิตวิทยาเป็นสาขาความรู้ที่เต็มไปด้วยนามธรรม ทฤษฎีและแนวคิดก็ไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและยังแทบไม่มีพื้นฐานในทางวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีด้านบุคลิกลักษณะส่วนใหญ่จะอิงกับหลักปรัชญาและการคาดการณ์เป็นการส่วนตัว หรือไม่ก็พัฒนาขึ้นมาโดยคนในวงการแพทย์ เช่น Jean Charcot และ Sigmund Freud ซึ่งได้สร้างทฤษฎีบุคลิกภาพขึ้นมาตามสัญชาติญาณความรู้สึกและจากการสังเกตพฤติกรรมของบุคคลที่มีความผิดปกติในด้านสติปัญญา (psychopathology) เป็นหลัก
Cattell จึงสร้างแบบทดสอบบุคลิกภาพขึ้นมาอย่างเป็นระบบด้วยความมุ่งหมายที่จะค้นหาบุคลิกภาพพื้นฐานของบุคคล รวมถึงวิธีที่ใช้วัดระดับของบุคลิกภาพดังกล่าว เขาเชื่อว่าบุคลิกภาพของบุคคลต้องมีสิ่งที่เป็นหลักพื้นฐานเปรียบได้กับโลกทางวัตถุที่มีอ็อกซิเจนและไฮโดรเจนเป็นพื้นฐาน หากสามารถค้นพบและวัดหลักพื้นฐานทางบุคลิกภาพของบุคคลได้ ก็จะสามารถเข้าใจและทำนายพฤติกรรม เช่น ความคิดสร้างสรรค์, ภาวะผู้นำ, ความบริสุทธิ์ใจ, หรือความก้าวร้าวของบุคคลได้มากขึ้น เขาได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ Charles Spearman ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ในเวลานั้น Spearman กำลังพัฒนา factor analysis เพื่อนำมาใช้ค้นหาปัจจัยพื้นฐานความสามารถของบุคคล Cattell คิดว่า factor analysis นี้น่าจะเป็นเครื่องมือที่นำมาปรับใช้กับเรื่องบุคลิกภาพได้
ที่มาของ 16 Personality Factors
ในปี ค.ศ. 1936 Gordon Allport และ H.S. Odbert ได้นำข้อสมมุติฐานของ Sir Francis Galton (1884) ที่เรียกว่า Lexical Hypothesis มาทบทวน ข้อสมมุติฐานดังกล่าวมีสาระสำคัญว่า
< การกระทำหรือพฤติกรรมใดๆ ของบุคคลที่แสดงให้เห็นในสังคม ในไม่ช้าจะมีการบัญญัติ (encode) คำขึ้นมาในภาษาเพื่อให้ความหมายหรือเป็นสื่อในการทำความเข้าใจการกระทำนั้น ยิ่งเป็นการกระทำที่สำคัญ หรือแตกต่างจากการกระทำหรือพฤติกรรมอื่นมากเท่าไร คำที่สร้างขึ้นมาก็จะยิ่งกระชับเพื่อให้สะดวกในการกล่าวขานและเข้าใจ >
Allport และ Odbert ได้ใช้ข้อสมมุติฐานนี้เป็นแนวทางในการสืบค้นบุคลิกลักษณะของบุคคลจากพจนานุกรมภาษาอังกฤษที่มีคำครอบคลุมมากที่สุดในสมัยนั้นจำนวนสองเล่ม และสามารถคัดลอกคำที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกลักษณะจากพจนานุกรมได้จำนวน 18,000 คำ หลังจากนั้นจึงนำมาเลือกเอาเฉพาะคำที่แสดงบุคลิกลักษณะของบุคคลได้อย่างเด่นชัดจำนวน 4,500 คำ
Cattell มีความเชื่อตามข้อสมมุติฐาน (Lexical Hypothesis) ว่า บุคลิกลักษณะของบุคคล ได้รับการบัญญัติไว้แล้วในภาษา แต่เนื่องจากคำที่ Allport และ Odbert คัดเลือกไว้ยังมีจำนวนมากเกินไป เขาจึงนำ factor analysis มาใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของคำจำนวนดังกล่าว โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากสามแหล่งคือ
L - data (การสังเกต)
Q – data (ข้อมูลจากแบบสอบถาม)
T – data (ข้อมูลจากการทดสอบ)
Factor analysis ช่วยลดจำนวนคำที่มีความหมายเกี่ยวกับบุคลิกภาพบุคคลและไม่ซ้ำซ้อนกับคำอื่นจาก 4,500 เหลือ 171 คำ ถึงกระนั้น Cattell ก็ยังรวมคำที่เขาเห็นว่ามีความหมายในกลุ่มเดียวกันเข้าด้วยกันอีก จนเหลือ 35 คำ หลังจากนั้นจึงนำ factor analysis มาใช้หาความสัมพันธ์ระหว่างคำดังกล่าวอีกครั้ง เหลือคำที่เป็นปัจจัยบ่งชี้คุณลักษณะบุคคลจำนวน 12 ปัจจัยในปี ค.ศ. 1948 แต่ต่อมาอีกเพียงหนึ่งปี คือในปี 1949 เขาได้พบว่า ยังมีปัจจัยบุคลิกภาพซึ่งสามารถรู้ได้จากการประเมินตัวเอง (self-rating) อีก 4 คำ รวมเป็นคำหรือปัจจัยบ่งชี้เพื่อใช้ในการทดสอบบุคลิกลักษณะบุคคลจำนวน 16 ปัจจัย (16 Personality Factor: 16 PF Test)
Cattell ให้นิยามคำว่าบุคลิกลักษณะ (personality) ว่าหมายถึง องค์ประกอบทางจิตวิทยาที่ช่วยให้คาดหมายได้ว่าบุคคลจะตอบสนองหรือมีพฤติกรรมอย่างไรในสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่กำหนด Cattell เชื่อว่าคนทุกคนมีปัจจัยทั้ง 16 ตัวนี้เป็นบุคลิกลักษณะของตน มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไปในแต่ละปัจจัย ความแตกต่างของปัจจัยแต่ละรายการ ส่งผลให้แต่ละบุคคลมีบุคลิกลักษณะที่ต่างกัน
ปัจจัยทดสอบบุคลิกลักษณะ 16 ประการของบุคคล (16 PF Test)
Cattell จัดบุคลิกลักษณะของบุคคลออกเป็น 16 กลุ่ม หรือ 16 ปัจจัย ประกอบด้วย
บุคลิกลักษณะของผู้ได้คะแนนในเกณฑ์ต่ำ | Primary Factor (Group) |
บุคลิกลักษณะของผู้ได้คะแนนในเกณฑ์สูง |
แยกตัว อ้างว้าง เก็บตัว ไม่สุงสิง รักษาระยะห่าง | ความอบอุ่นใจ (Warmth – A) |
อบอุ่นใจ ใกล้ชิด มีเมตตา อยากมีส่วนร่วม เป็นมิตร |
คิดตามที่เห็น ไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่ซับซ้อน | การใช้เหตุผล (Reasoning – B) |
คิดครอบคลุม มีปัญญา เรียนรู้ได้เร็ว |
ใช้แต่อารมณ์ ทำตามความรู้สึก โกรธง่าย | ความมั่นคงทางอารมณ์ (Emotional Stability – C) |
หนักแน่น รู้จักปรับตัว เป็นผู้ใหญ่ ไม่โวยวาย |
ให้ความเคารพ ร่วมมือ หลีกข้อขัดแย้ง ถ่อมตัว | การวางตัว (Dominance – E) |
ทำตัวเด่น ก้าวร้าว แข่งขัน แก่งแย่ง ดื้อรั้น ทำตัวเหนือ |
เคร่งเครียด หมกมุ่น ย้ำคิดย้ำทำ เงียบขรึม | ความมีชีวิตชีวา (Liveliness – F) |
สดใส ร่าเริง กระตือรือร้น เบิกบาน เปิดเผย |
ฝ่าฝืน ไม่สนใจกฎระเบียบ ทำตามอำเภอใจ | การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Rule Consciousness – G) |
เคารพกฎระเบียบ ทำตามหน้าที่ ไม่ฟุ้งเฟ้อ |
ขี้อาย ขี้กลัว ลังเล ปอดกระเส่า | ความกล้าเข้าสังคม (Social Boldness – H) |
กล้าเข้าสังคม รักสนุก ไม่อายใคร เฉิดฉาย |
ถ้าได้ก็เอา, ไม่สะทกสะท้าน, หยาบกระด้าง | ความรู้สึกอ่อนไหว (Sensitivity I) |
อ่อนไหว, เคลิบเคลิ้ม, ละเอียดอ่อน |
ไว้ใจคน, ไม่ขี้ระแวง, ไม่โยกโย้งี่เง่า | ความระแวดระวัง (Vigilance – L) |
ไม่ไว้ใจใคร, หวาดระแวง, มองคนอื่นเป็นศัตรู |
ก้มหน้าก้มตาทำ, จืดชืด, น่าเบื่อ, หัวเก่า | การมีจินตนาการ (Abstractedness- M) |
ช่างฝัน, ใจลอย, ทำไม่ได้จริง, เชื่อคนง่าย |
ตรงไปตรงมา, โผงผาง, ไม่อ้อมค้อม, | ความเป็นส่วนตัว (Privateness – N) |
รอบคอบ, หลักแหลม, กลั่นกรอง, มีลีลา |
มั่นคง, ไม่กังวล, มั่นใจ, ปลื้มปิติ | ความตื่นตระหนก (Apprehension – O) |
กระวนกระวาย, หวาดระแวง, โทษตัวเอง |
ติดยึดกับสิ่งที่คุ้นเคย, เชื่อในความคิดเดิมๆ | รับการเปลี่ยนแปลง (Openness to Change – Q1) |
พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง, คิดแบบเสรี, ยืดหยุ่น |
เกาะติดกลุ่ม, เฮโลสาระพา | การเป็นตัวของตัวเอง (Self-Reliance – Q2) |
พึ่งพาตนเอง, พร้อมลุย |
ไร้วินัย, สับสน, ไม่สนใจระเบียบสังคม | ความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism – Q3) |
เนี้ยบ, ระเบียบจัด, ทุกเรื่องต้องไม่มีที่ติ |
ผ่อนคลาย, สงบ, อดทน, คอยได้ | ความเครียด (Tension – Q4) |
เขม็งเกลียว, ตึงเครียด, พลุ่งพล่าน, รั้งไม่อยู่ |
Cattell นำปัจจัยบ่งชี้บุคลิกลักษณะบุคคลทั้ง 16 กลุ่มมาจัดทำเป็นแบบสอบถามในชื่อ 16 PF Questionnaire และนำออกเผยแพร่ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1949 หลังจากนั้น ก็มีการปรับปรุงต่อเนื่องมาอีก 4 ครั้ง คือในปี 1956, 1962, 1968 และล่าสุดในปี ค.ศ. 1993
ทฤษฎีบุคลิกลักษณะสำคัญ 5 ประการ (Big Five traits)
Cattell ได้พบตั้งแต่เริ่มงานวิจัยแล้วว่า บุคลิกลักษณะของบุคคล แม้จะแยกให้เหลือเป็นคำที่มีความเป็นอิสระในตัวเองอย่างไร คำเหล่านั้นก็ยังสามารถนำมาจัดกลุ่มเพื่ออธิบายคุณลักษณะของบุคคลต่อไปได้อีก ดังนั้นหลังจากที่ได้กำหนดปัจจัยบุคลิกลักษณะ 16 ประการแล้ว เขาจึงนำ factor analysis มาหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทั้ง 16 เพื่อค้นหาปัจจัยที่โดยปกติแล้วมักเกิดร่วมกันและสามารถจัดเข้าเป็นกลุ่มเดียวกันได้
จากการศึกษาได้พบว่า สามารถนำปัจจัยในลำดับแรก (primary factor) มาจัดกลุ่มเป็นบุคลิกลักษณะลำดับที่สอง (secondary factor หรือ global factor) จำนวน 5 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มมีชื่อและที่มาจาก primary factor ดังนี้
Big Five Personality Trait | ||||
Introversion / Extroversion | Low Anxiety / High Anxiety | Receptivity / Tough - Mindness | Accommodation / Independence | Lack of Restraint / Self - Control |
เก็บตัว - แสวงหาความอบอุ่นใจ (A) |
มั่นคง - หวั่นไหว (C) | เก็บตัว - แสวงหาความอบอุ่นใจ (A) | ถ่อมตัว - ยกตัว (E) | เครียด - สดชื่นแจ่มใส ( F) |
เครียด - สดชื่นแจ่มใส ( F) |
ไว้ใจ - ระแวง (L) | เปราะบาง - หนักแน่น (I) | ขี้อาย - ใจกล้า ( H) | มั่นใจ - วิตก (O) |
ขี้อาย - ใจกล้า ( H) |
มั่นใจ - วิตก (O) | เพ้อฝัน - จริงจัง (M) | ไว้ใจ - ระแวง (L) | เพ้อฝัน - จริงจัง (M) |
เป็นส่วนตัว - แสดงออก ( N) |
ผ่อนคลาย - ตึงเครียด (Q4) |
พร้อมเปลี่ยน - หัวเก่า (Q1) |
พร้อมเปลี่ยน - หัวเก่า (Q1) | มั่ว - เจ้าระเบียบ Q3) |
พึ่งพาตนเอง - ติดกลุ่ม (Q2) |
|
|
|
|
จะเห็นได้ว่า ปัจจัยใน primary factor หลายตัว เช่น ปัจจัย A, F, H, L, M, Q1 เป็นบุคลิกลักษณะที่พบร่วมอยู่ในสองกลุ่ม ในขณะที่ปัจจัย B การใช้เหตุผล (Reasoning) กลับไม่ได้รับการจัดเข้าในกลุ่มใดในห้ากลุ่มนี้เลย สาเหตุเพราะ Cattell เห็นว่า ความมีเหตุมีผลหรือการใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา แม้จะเป็นบุคลิกลักษณะอย่างหนึ่งของบุคคล แต่ก็เป็นบุคลิกลักษณะที่อาศัยความรู้ในข้อเท็จจริง มากกว่าการใช้ทัศนคติหรือความคิดเห็น เขาจึงไม่ได้นำปัจจัยเรื่องความมีเหตุมีผลมาจัดไว้ใน Big Five
คำว่า Big Five หรือ Global Factor ของ Cattell มีส่วนคล้ายคลึงกับ Big Five personality traits ที่นักจิตวิทยาท่านอื่นๆ เช่น Norman ได้ทำไว้เช่นกัน ดังตารางเปรียบเทียบนี้
Global Factors (16 PF) |
Big Five Personality Trait (BF) |
Openness / Tough-mindedness | Openness |
Self-Control | Conscientiousness |
Extraversion | Extraversion |
Independence / Accommodation | Agreeableness / Disagreeableness |
Anxiety | Neuroticism |
แม้ Big Five ทั้งสองจะมีที่มาจากการนำ factor analysis มาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัย 16 รายการเหมือนกัน แต่ Big Five ของ Cattell กับ Big Five ของ Norman ก็มีองค์ประกอบของบุคลิกลักษณะในแต่ละกลุ่มที่ต่างกัน อันเป็นผลมาจากการใช้เทคนิคหมุนแกนใน factor analysis คนละแบบ สำหรับ Big Five personality trait มีรายละเอียดค่อนข้างมาก จึงขอเขียนแยกเป็นอีกหนึ่งบทความต่างหากและจะนำมาเผยแพร่ในโอกาสต่อไป
การนำไปใช้ประโยชน์
Cattell ได้ปรับปรุงแก้ไขหนังสือของเขามาเป็นลำดับนับตั้งแต่ฉบับแรก (1949) จนถึงฉบับที่ 5 (1993) ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด ในฉบับที่ 5 นี้ประกอบด้วยแบบสอบถามแบบตัวเลือก 185 ข้อ เป็นการถามเกี่ยวกับความคิดเห็น ความสนใจ และพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง PF Test กับแบบสอบถามทางจิตวิทยาอื่นๆ คือ .ในขณะที่แบบสอบถามบุคลิกภาพโดยทั่วไปจะตั้งเรื่องให้ผู้ตอบประเมินตนเองด้วยการให้คะแนนมากน้อยตามความสอดคล้องกับคำถาม (1 -5) เช่น
o ผมมีความเป็นมิตร ผู้ใกล้ชิดจะรู้สึกอบอุ่นใจ
o ผมไม่ใช่นักต่อสู้
o ผมไม่ชอบใช้อารมณ์
แต่ Cattell เห็นว่า การให้คะแนนประเมินตัวเอง ผู้ประเมินหรือผู้เข้าทดสอบจะได้รับอิทธิพลจากความต้องการปกป้องตนเองและทำให้ตนเองดูดี จึงมักประเมินด้วยการให้คะแนนที่สูงกว่าบุคลิกภาพที่เป็นจริง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว Cattell จึงให้ผู้เข้าทดสอบฟันธงลงไปเลยว่า เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่กำหนด ตนจะมีพฤติกรรมหรือการตัดสินใจตามคำถามนั้นอย่างไรในสามทางเลือก (ใช่ / ไม่แน่ใจ / ไม่ใช่) เช่น
o ในเวลาที่รู้สึกเบื่อ ผมจะหยุดเรื่องที่ทำและเปลี่ยนไปคิดถึงเรื่องอื่นที่สร้างความสุขให้มากกว่า
o ผมสามารถใช้คำพูดหรือการกระทำใดๆ เพื่อชักจูงบุคคลได้ เมื่อจำเป็น
แบบสอบถามเพื่อการทดสอบบุคลิกลักษณะ 16 ประการของบุคคล ได้นำไปใช้ปฏิบัติอย่างกว้างขวาง ทั้งในวงการอุตสาหกรรม สถานประกอบการ งานวิจัย การศึกษา และการแพทย์ นอกจากนั้นยังได้นำไปใช้เพื่อ
1. เป็นข้อมูลประกอบการให้คำแนะนำเรื่องอาชีพการงาน (career counseling)
2. เป็นข้อมูลประกอบการบริหารงานบุคคล ทั้งในการคัดเลือก เลื่อนตำแหน่ง สอนงาน และการพัฒนาเส้นทางอาชีพ
3. เป็นข้อมูลช่วยวินิจฉัย ทำนาย และวางแผนการรักษาความบกพร่องทางจิต
4. เป็นปัจจัยบ่งชี้ความเข้ากันได้และความพึงพอใจของคู่สมรส
5. เป็นข้อมูลบ่งชี้ปัญหาด้านการศึกษา อารมณ์ และสังคมของนักเรียนและผู้สูงวัย
Cattell และทีมงานได้ขยายขอบเขตการใช้ประโยชน์ของทฤษฎีในรายละเอียดโดยสร้างแบบสอบถามที่สัมพันธ์กับบุคลิกลักษณะของเด็กในวัยต่างๆ เช่น
- แบบทดสอบบุคลิกลักษณะเด็กมัธยม (High School Personality Questionnaire: HSPQ)
- แบบทดสอบบุคลิกลักษณะเด็กวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี (Adolescent Personality Questionnaire: APQ)
- แบบทดสอบบุคลิกลักษณะเด็กนักเรียน (Children Personality Questionnaire: CPQ)
- แบบทดสอบบุคลิกลักษณะเด็กเริ่มเรียน (Early School Personality Questionnaire: ESPQ)
- แบบทดสอบบุคลิกลักษณะเด็กก่อนวัยเรียน (Preschool Personality Questionnaire: PSPQ)
แบบทดสอบ 16 PF ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 30 ภาษา มีการสร้างเกณฑ์วัดด้วยการสุ่มตัวอย่างผู้ตอบทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับสากล และนำมาจัดทำเป็นโปรแกรมอธิบายผลการทดสอบในภาษาต่างๆ ประมาณ 23 ภาษา ผลการทดสอบจึงมีความสอดคล้องกับลักษณะนิสัยและพื้นวัฒนธรรมของผู้ตอบในแต่ละพื้นที่
นอกจากนั้นยังมีการจัดทำโปรแกรมแปลผลการทดสอบออกตามความมุ่งหมายแต่ละอย่างด้วย เช่น
o การพัฒนางานอาชีพ
o การพัฒนาทีมงาน
o การพัฒนาศักยภาพการบริหาร
o การสอนและพัฒนาผู้นำ
ตัวอย่างคำถามในแบบประเมิน 16 PF Test
1. ข้าพเจ้ามีความเข้าใจในคำชี้แจงการทำแบบสอบถามเป็นอย่างดีแล้ว
a) ใช่ b) ไม่แน่ใจ C) ไม่ใช่
2. ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะตอบคำถามแต่ละข้ออย่างจริงใจที่สุดเท่าที่จะทำได้
a) ใช่ b) ระหว่าง a กับ C C) ไม่ใช่
3. ผมอยากมีบ้าน
a) ในเมือง b) ระหว่างทั้งสอง C) ในป่าที่ไม่มีใครรบกวน
4. ผมมีพลังเพียงพอที่จะจัดการกับความยากลำบาก
a) ตลอดเวลา b) มักเป็นเช่นนั้น C) นานๆ ครั้ง
บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
- Big Five Personality Trait (OCEAN)
- DISC Personality Test
- HEXACO Personality Inventory
- Personality Test (Myers Briggs)
- Personality Types [Benziger]
- Personality Types (Jung )
- Preparing for Personality Tests
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น