ลักษณะสำคัญ 12 ประการ
ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย
Kevin Kelly เขียนบทความชื่อ New Rules for the New Economy ลงพิมพ์ในนิตยสาร Weird ฉบับเดือน กันยายน ค.ศ. 1997 โดยเสนอแนวคิดเกี่ยวกับหลัก 12 ประการที่ใช้เพื่อสร้างการเจริญเติบโตในโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง เขากล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงจากระบบ analogue มาเป็นระบบ digital หรือที่เรียกว่า digital revolution ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวขวัญกันครึกโครม แต่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งซึ่งดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มั่นคง และเป็นการปฏิวัติที่มีความรุนแรงมากกว่า digital revolution นั่นคือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย หรือ Network Economy ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกแผ่นดิน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จัดระเบียบชีวิตของผู้คนทั้งโลกขึ้นมาใหม่อย่างที่ลำพัง hardware และ software ของคอมพิวเตอร์ไม่เคยทำได้ มันมีโอกาสที่เด่นชัดและมีกฎเกณฑ์ใหม่ของมันเอง มีแต่ผู้ที่ปฏิบัติตามกฎใหม่ของมันเท่านั้นที่จะก้าวต่อไปได้ บทความนี้กล่าวถึงเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในทางเศรษฐกิจ จึงใช้คำที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ คือ “กิจกรรมทางเศรษฐกิจ” แทนคำว่า “เศรษฐกิจ” ส่วนคำว่าเครือข่าย (network) ในที่นี้มีความหมายสามประการ คือ
· การเชื่อมโยงข้อมูลเข้าถึงกันผ่านระบบ internet
· ความรู้หรือข้อมูลที่ประมวลไว้ในรูป chip ที่ช่วยให้การทำงานของส่วนต่างๆ ของสินค้าทำงานแบบเชื่อมต่อถึงกันโดยไม่เกี่ยวข้องกับ internet
· สินค้าที่อาจเชื่อมต่อหรือไม่เชื่อมต่อกับ internet แต่เมื่อมีการใช้สินค้านั้นเพิ่มขึ้น ก็จะมีลักษณะเป็นเครือข่ายที่ทำให้มีผู้เข้ามาร่วมใช้ได้รับประโยชน์จากสินค้านั้นมากขึ้น เช่น เครื่องส่ง Fax หรือโทรศัพท์
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เข้าใจผิดว่าคำว่าเครือข่ายจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ internet เท่านั้น จึงใช้คำว่า “แบบเครือข่าย” แทนคำว่า “บนเครือข่าย”
ย้อนหลังไปในปี 1969 เมื่อ Peter Drucker ได้กล่าวถึงกำเนิดของแรงงานอีกประเภทหนึ่งที่ต่างจากแรงงานที่ทำการผลิตสินค้าหรือให้บริการแบบที่เป็นอยู่ในขณะนั้น นั่นคือ แรงงานที่พัฒนาและใช้ความรู้ในการทำงาน (knowledge worker) ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจข้อมูลข่าวสาร (Information Economy) ซึ่งถือว่าข้อมูลข่าวสารมีบทบาทต่อการสร้างความมั่งคั่งทางธุรกิจมากกว่าวัตถุดิบหรือเงินทุนเพราะเป็นการให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานและผู้บริโภค
Kelly ให้ความเห็นว่า คำว่าข้อมูลข่าวสาร มีความหมายไม่เพียงพอที่จะใช้อธิบายสภาวะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น องค์กรทั้งหลายที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ความรู้ ต่างก็สร้างข้อมูลข่าวสารที่เป็นความรู้ขึ้นมากมาย แต่ก็เป็นแค่ช่วงระยะหลังนี้เท่านั้นที่ข้อมูลซึ่งนำเสนอในแบบเครือข่ายได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจทั้งระบบ เขาจึงเสนอให้ใช้คำว่า Network Economy แทน Information Economy เขากล่าวว่าตอนนี้หมดยุคคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตแล้ว เทคโนโลยีที่สร้างความสำเร็จในนวัตกรรม ล้วนเป็นผลมาจากการสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ คือ ประโยชน์ของคอมพิวเตอร์จึงอยู่ที่การนำไปใช้ในการเชื่อมต่อสื่อสารกันมากกว่าจะใช้ในการคำนวณ และโดยเหตุที่การสื่อสารเป็นรากฐานของวัฒนธรรม การเชื่อมต่อกันเป็นเครอข่ายจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมในอนาคต
Kelly กล่าวว่า กฎเกณฑ์ใหม่ที่ควบคุมการจัดโครงสร้างของโลกทั้งใบนี้ เป็นวิวัฒนาการใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่
· นวัตกรรม (innovation)
ความมั่งคั่งในเศรษฐกิจแบบใหม่ เป็นผลโดยตรงจากนวัตกรรม ความมั่งคั่งไม่ได้เกิดจากการทำสิ่งเก่าซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ให้สมบูรณ์ไม่ผิดพลาด แต่เป็นการทำสิ่งใหม่ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จัก ให้ปรากฏ โดยยังไม่ต้องไปห่วงหรือคำนึงถึงความสมบูรณ์ครบถ้วนใดๆ
· ความแคล่วคล่องรวดเร็ว (agility)
สภาพแวดล้อมในอุดมคติเพื่อการพัฒนาสิ่งใหม่ คือ การสร้างหรือพัฒนาเครือข่ายให้มีความเร็วมากที่สุด
· การพัฒนาสิ่งใหม่ (domestication of the unknown)
การจะทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา จำเป็นต้องตัดใจทิ้ง หรือวางมือ จากสิ่งเก่าที่เคยสร้างความสำเร็จมาแล้ว และหันมาจับทำสิ่งใหม่แม้จะยังทำได้ไม่สมบูรณ์
· วัฏจักรการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป (cycle of find, nurture, destroy)
การยอมรับสัจธรรมที่ว่า ในการทำเศรษฐกิจแบบใหม่ให้แข็งแรงขึ้นได้นั้น จะมีวัฏจักรของการค้นพบสิ่งใหม่ การพัฒนาสิ่งนั้นให้เป็นที่ยอมรับ และการทำลายสิ่งนั้นเพื่อสร้างสิ่งที่ใหม่กว่าขึ้นมาแทนที่ จึงไม่ควรไปหลงยึดติดอยู่กับสิ่งที่มีอยู่แล้วจนไม่กล้าสร้างความเปลี่ยนแปลง
กิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของนวัตกรรม มันอาจเป็นที่นิยมอยู่สักหนึ่งหรือสองชั่วอายุคน หลังจากนั้นก็จะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมาแทน ลักษณะ 12 ประการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่ายต่อไปนี้ จึงเป็นลักษณะหรือหลักชั่วคราวที่นำมาใช้จนกว่าจะมีนวัตกรรมอื่นขึ้นมาแทน
1. คุณประโยชน์เกิดจากการเชื่อมต่อ (The Law of Connection)
กิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย เป็นผลมาจากการใช้ chip ให้มีประโยชน์อย่างกว้างขวางทั้งการเก็บข้อมูลและการเชื่อมต่อข้อมูล การเปลี่ยนแปลงนี้ได้ฉีกกฎความมั่งคั่งแบบเก่าลงอย่างสิ้นเชิง พร้อมปูทางให้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น silicon chip ได้ถูกย่อขนาดลงจนถึงระดับที่ต้องใช้กล้องส่องจึงจะมองเห็นวงจร ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลงจนสามารถนำไปใช้กับสิ่งใดๆ ก็ได้โดยแทบจะไม่ได้ทำให้ราคาของสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่นกับบัตรเครดิต บัตรประชาชน
นอกจากนั้น ยังมีการนำ chip ไปใช้กับอุปกรณ์อื่นที่ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ เช่น ในรถยนต์ วิทยุ หรือแม้แต่ในหม้อหุงข้าว ในวงการอุตสาหกรรมเรียก chip ประเภทนี้ว่า jelly bean ความโดดเด่นของมันอยู่ที่ มันไม่จำเป็นจะต้องมีความเฉลียวฉลาดถึงขั้นปัญญาประดิษฐ์ เป็นพลังเงียบ (dumb power) ที่ใช้หน่วยความจำเพียงไม่กี่ bit เชื่อมต่อกัน คล้ายกับสมองที่เชื่อมโยงเส้นประสาทต่างๆ เข้าด้วยกัน อินเตอร์เน็ตที่เชื่อมโยงเข้ากับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) คอมพิวเตอร์ก็เหมือนกับเส้นประสาทเส้นหนึ่งที่อยู่ในกล่องพลาสติก เมื่อเชื่อมต่อให้เป็นเครือข่าย เส้นประสาท PC เหล่านี้ก็สามารถสร้างเครือข่ายที่ชาญฉลาดขึ้นมาได้
Chip จำนวนล้านๆ ตัวที่เชื่อมโยงกัน เปรียบเหมือน hardware ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย หรือ network economy ที่วิ่งผ่าน hardware เหล่านี้ ก็คือ software ของระบบ
2. คุณค่าเกิดจากการขยายจำนวน (The Law of Plentitude)
เมื่อคุณเชื่อมต่อสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน ก็จะเกิดเป็นเครือข่าย ตามหลักคณิตศาสตร์ ผลรวมของเครือข่ายจะเพิ่มเป็นกำลังสองของจำนวนสมาชิก จำนวนหน่วยหรือ node บนเครือข่าย จะเพิ่มแบบอนุกรมเลขคณิต ในขณะที่คุณค่าของเครือข่ายจะเพิ่มเป็นแบบอนุกรมเลขยกกำลัง การมีสมาชิกเพิ่มขึ้นหนึ่งคน จึงเพิ่มคุณค่าให้กับสมาชิกอื่นทุกๆ คนที่อยู่ในเครือข่าย ลองนึกถึงเครื่องส่งเอกสารทางสายโทรศัพท์ (facsimile หรือ fax) หากมีเพียงเครื่องเดียวก็ไม่มีประโยชน์อะไร ต่อเมื่อมี fax เครื่องที่สองนั่นแหละที่ทำให้ fax เครื่องแรกมีค่าขึ้นมา เหตุเพราะทั้งสองเครื่องได้กลายเป็นเครือข่ายกัน ยิ่งมีเครื่อง fax เพิ่มมากขึ้นก็ยิ่งเพิ่มคุณค่าให้กับเครื่อง fax ทั้งหมดที่ผลิตขึ้นมาก่อนหน้านั้น คุณค่าที่เกิดจากการขยายจำนวนนี้เป็นแนวคิดเดียวกับการมีบัญชี email, facebook, twitter ที่ยิ่งมีมากก็จะยิ่งมีคุณค่าแก่ผู้อยู่ในเครือข่ายได้มาก
ความเป็นเหตุเป็นผลของเครือข่าย ได้ลบล้างหลักซึ่งได้รับการยอมรับกันมา (axiom) ตั้งแต่สมัยยุคอุตสาหกรรมที่ว่า (1) คุณค่าเกิดจากความขาดแคลน และ (2) เมื่อใดที่ของมีจำนวนมาก ของนั้นจะมีคุณค่าลดลง เพราะสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย คุณค่าไม่ได้มาจากความขาดแคลน แต่มาจากปริมาณ ยิ่งมีปริมาณที่ได้รับการยอมรับเป็นสากลมากเท่าไร ก็จะยิ่งดึงดูดลูกค้าให้ต้องยึดติดอยู่กับมันมากเท่านั้น เช่น การใช้ smart phone
3. การเพิ่มแบบเลขยกกำลัง (The Law of Exponential)
ผลกำไรอันมหาศาลของ Microsoft เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของดาวเด่นในกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย ในระยะ 10 ปีแรก Microsoft แทบไม่มีกำไร มาเริ่มรับรู้กำไรก็ประมาณปี 1985 และหลังจากนั้นก็พุ่งเร็วราวจรวด กรณีคล้ายกับ Federal Express ซึ่งแทบไม่มีกำไรในตอนเริ่ม แต่พอเริ่มติดกระแสในต้นทศวรรษที่ 1980 ก็พุ่งจนฉุดไม่อยู่
อาจกล่าวได้ว่า ต้นแบบความสำเร็จแบบดังระเบิดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย ก็คือตัว Internet เอง Internet ตกอยู่ในสภาพน้ำนิ่งมานานกว่าสองทศวรรษก่อนที่จะได้ใช้เรดาร์เป็นสื่อ จำนวน host ที่ใช้ใน Internet ทั่วโลกในทศวรรษที่ 1960 อยู่ปริ่มระดับต่ำสุดที่อยู่ได้ แต่พอถึงต้นทศวรรษที่ 1990 จำนวน host ทั่วโลกก็เพิ่มเป็นดอกเห็ดแบบเลขยกกำลัง ความสำเร็จทั้งหลายของ Microsoft, FedEx, Fax และ Internet ล้วนได้รับอิทธิพลจากกฎหลักของเครือข่ายที่ว่า คุณค่าเพิ่มขึ้นตามจำนวนสมาชิกที่เข้ามาร่วมแบบเลขยกกำลังและรอเวลาที่จะขยายเพิ่มขึ้นตามจำนวนสมาชิกที่กำลังเข้ามาสมทบอย่างต่อเนื่อง และจะหยุดการเพิ่มเมื่อสมาชิกทุกคนได้เข้ามาร่วมแล้วทั้งหมด
จะสังเกตได้ว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของทั้งสี่ตัวอย่าง เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1980 เมื่อมีปรากฏการณ์สองอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน นั่นคือ ราคาของ chip ลดลงจนสามารถนำไปใช้ในการส่งถ่ายข้อมูลหรือคำสั่งได้กับทุกอุปกรณ์ และ internet ที่เชื่อมต่อข้อมูลที่แลกเปลี่ยนระหว่าง chip เหล่านั้น ปรากฏการณ์ทั้งสองเปรียบเหมือนการพุ่งชนกันของดาวสองดวงและทำให้เกิดเครือข่าย (network) ขึ้นมาในโลก
4. สาระสำคัญมาก่อนแรงเฉื่อย (The Law of Tipping Point)
จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเรื่องของความสำเร็จที่แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว เหมือนโรคระบาดที่ยากจะต่อต้าน การที่คนที่มีอาการหนักใกล้ตายจะกลับมารอด ในทางการแพทย์จะเรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยน (tipping point) กิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการทำธุรกิจเช่นกัน จะต่างกันก็ตรงที่ จุดเปลี่ยนในทางการแพทย์จะมีค่าสูงมาก คือเปลี่ยนได้ยาก ผิดกับจุดเปลี่ยนในทางเทคโนโลยีซึ่งมีค่าต่ำกว่ามาก
ในทุกธุรกิจ อุตสาหกรรม และในทุกเครือข่าย ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จมายาวนานเพียงใด ก็จะต้องมีจุดเปลี่ยน ซึ่งจุดเปลี่ยนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่ายสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยต้นทุนคงที่ที่ต่ำ ด้วยต้นทุนส่วนเพิ่มจากการขยายขนาดการผลิตและบริการที่น้อยจนไม่ใช่สาระสำคัญ และด้วยความสามารถในการขยายขอบเขตการใช้ออกไปได้อย่างกว้างขวาง จุดเปลี่ยนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่ายจึงต่ำกว่าที่เคยเป็นมาในยุคอุตสาหกรรม ความคิดริเริ่มหรือนวัตกรรมเพียงเรื่องหนึ่งก็สามารถกลายเป็นโรคระบาดที่มีพลังให้เกิดจุดเปลี่ยน แรงเฉื่อย (momentum) ของความสำเร็จที่เคยมีอยู่จึงมีความหมายน้อยกว่าสาระของนวัตกรรมที่นำเสนอเข้ามาในเครือข่าย และนี่เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมนวัตกรรมจึงกลายมาเป็นประเด็นที่นักธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งหลายถือเป็นไม้กายสิทธิ์ที่ชี้เป็นชี้ตายให้กับกิจการ
5. ได้แล้วได้อีก (The Law of Increasing Return)
หลักสำคัญประการหนึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่ายก็คือ กฎการเพิ่มของผลได้ คุณค่าจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนสมาชิก และการเพิ่มของคุณค่าจะขึ้นอยู่กับว่าใครหาสมาชิกได้มากกว่า อย่างคำกล่าวที่ว่า ใครได้ก่อน กินหมด (Them that’s got shall get) ตัวอย่างเช่นการเติบโตของ Silicon Valley แต่ละหน่วยธุรกิจที่เริ่มเปิดใหม่ ล่อใจให้เกิดหน่วยธุรกิจใหม่เปิดตาม ดึงดูดเงินทุนและทักษะจากภายนอกเข้ามา ผลก็คือ Silicon Valley ได้กลายเป็นเครือข่ายของคนเก่ง ทรัพยากร และโอกาส รายได้ที่เพิ่มขึ้นใน Silicon Valley จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของบริษัทใดบริษัทหนึ่งเพียงบริษัทเดียว
กฎการเพิ่มของผลได้ หรือได้แล้วได้อีกนี้ ต่างจากกฎการประหยัดเนื่องจากขนาด (economy of scale) ก่อนนี้ Henry Ford เพิ่มความสำเร็จของตนโดยการขายรถที่มีวิธีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ฟอร์ดสามารถขายรถได้ในราคาที่ต่ำลง นำไปสู่การมีนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้นและการผลิตที่ดีขึ้นจนธุรกิจการผลิตรถยนต์ของฟอร์ดขึ้นถึงจุดสูงสุด แม้ว่าทั้งกฎการเพิ่มของรายได้และกฎการประหยัดเนื่องจากขนาดจะขึ้นอยู่กับผลตอบรับที่เป็นบวกเหมือนกัน แต่ความแตกต่างอยู่ที่
(1) กฎการเพิ่มของผลได้ เติบโตขึ้นด้วยพลังหรืออิทธิพลของ internet ในลักษณะเลขยกกำลัง เปรียบเหมือนการฝากธนาคารและได้รับดอกเบี้ยทบต้น ในขณะที่กฎการประหยัดเนื่องจากขนาด ไม่ได้อาศัย internet ในการเจริญเติบโต คุณค่าเพิ่มเป็นเส้นตรง เปรียบเหมือนการเก็บเงินไว้ในกระปุกออมสิน
(2) การประหยัดเนื่องจากขนาด เกิดจากองค์กรเพียงองค์กรเดียวที่พยายามเอาชนะการแข่งขันด้วยการสร้างคุณค่าให้มากกว่าคู่แข่ง ความเชี่ยวชาญและความได้เปรียบต่างๆ เกิดขึ้นจากบริษัทผู้นำ ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของผลได้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย เป็นผลมาจากการสร้างและแบ่งปันกันในเครือข่ายทั้งหมด มีตัวแทน ผู้ใช้ และคู่แข่งมากมายที่มาร่วมกันสร้างคุณค่าของเครือข่าย แม้ว่าผลรับที่เพิ่มขึ้นของแต่ละบริษัทในเครือข่ายอาจไม่เท่ากัน แต่คุณค่าโดยรวมทั้งหมดก็อยู่ในความสัมพันธ์ที่เติบโตขึ้นในเครือข่ายนั้นเอง
6. คุณภาพสูงขึ้นด้วยราคาที่ต่ำลง (The Law of Inverse Pricing)
ในยุคอุตสาหกรรม ลูกค้ายอมรับว่า สินค้าและบริการที่มีคุณภาพดีกว่า ย่อมมีราคาสูงกว่า แต่เมื่อมีการนำ chip หรือ microprocessor เข้ามาใช้ สังคมได้เปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรมมาเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร และทำให้สมการราคาที่เคยยอมรับกันมาแต่เดิม เปลี่ยนแปลงไป ลูกค้าจะได้รับการบริการที่มีคุณภาพชั้นนำในราคาที่ลดลง เส้นราคาและเส้นคุณภาพตัดกันจนทำให้เข้าใจว่า ยิ่งทำให้มีคุณภาพดีขึ้น ต้นทุนก็ยิ่งลดลง สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือนี้ก็คือ chip วิศวกรอาศัย chip ในการจัดเก็บความรู้เพื่อนำมาพัฒนาคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่า และด้วยการสะสมการเรียนรู้ในลักษณะนี้ ผู้ผลิตจึงสามารถผลิตสินค้าอื่นๆ ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เสื้อผ้า อาหาร ฯลฯ ด้วยวัตถุดิบที่น้อยลง chip สามารถควบคุมการผลิตแบบ just-in-time หรือจ้างผู้ผลิตภายนอก (outsource) ที่มีเทคโนโลยีสูงหรือมีค่าแรงต่ำกว่า ส่งผลให้ต้นทุนของสินค้าต่ำลง รวมไปถึงการสร้างการสื่อสารในระบบเครือข่ายที่ส่งข้อมูลความรู้กันได้ทั่วทั้งโลก เป็นรอบของการพัฒนาครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้เกิดนวัตกรรมและสินค้าที่มีคุณภาพสูงด้วยราคาที่ต่ำลง
7. ให้ก่อน รับทีหลัง (The Law of Generosity)
จากหลักข้อ 2 (คุณค่าเกิดจากการขยายจำนวน) และข้อ 6 (คุณภาพสูงขึ้นด้วยราคาที่ต่ำลง) นำไปสู่ความคิดว่า วิธีที่ดีที่สุดในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย คือการแจกให้ใช้ฟรี (เพื่อสร้างจำนวนผู้ใช้ให้มากขึ้น โดยมีภาระค่าใช้จ่ายที่น้อยมากเมื่อเทียบกับผลที่จะได้รับ) เราจะเห็นว่า Microsoft และ Google ให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึง web browser ของเขาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้พัฒนาโปรแกรมนอก Microsoft หรือ Mac ก็ยินยอมให้ผู้ใช้สามารถ download โปรแกรมต่างๆ ของเขา เช่น Photoshop, Pdf. Architect, McAfee ฯลฯ มาใช้ได้ฟรี เพียงแต่ถ้าต้องการ upgrade เป็น version ใหม่กว่านั้น ถึงจะเสียค่าใช้จ่าย ถ้าพอใจ version เก่าก็ยังสามารถใช้ไปได้เรื่อยๆ ซึ่งก็เท่ากับการรักษาสภาพความเป็นเครือข่ายเอาไว้
การเปิดโอกาสที่ใครก็เข้ามาเอาของออกไปใช้ฟรี ได้กลายเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมและนำไปใช้ปฏิบัติมากขึ้น เป็นการสร้างกฎใหม่ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพราะการรวมผู้ใช้เข้ามาเพิ่มในเครือข่าย ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการทำข้อมูลเพิ่มขึ้นหนึ่งชิ้นแทบจะเป็นศูนย์ ยิ่งมีข้อมูลมากก็ยิ่งมีคุณค่า ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นมาหนึ่งชิ้นได้เพิ่มคุณค่าให้กับสิ่งที่มีอยู่เดิมทั้งหมด ยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นก็จะยิ่งเป็นที่ต้องการ สินค้าและบริการที่มีอยู่ในเครือข่ายจึงแผ่ขยายมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใดที่มูลค่าและความจำเป็นของสินค้านั้นเป็นที่ยอมรับ บริษัทก็จะสามารถให้บริการแก่ลูกค้ามากขึ้น ซึ่งก็จะยิ่งไปเพิ่มความรู้สึกที่ดีๆ ของลูกค้าที่มีต่อบริษัทให้มากยิ่งขึ้น หมุนวนเป็นวัฏจักรของการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย
8. เครือข่ายสำคัญกว่าตัวบริษัท (The Law of Allegiance)
ลักษณะเด่นของเครือข่ายคือ การไม่มีศูนย์กลางหรือเส้นพรมแดนที่ชัดเจน ความแตกต่างระหว่างความเป็นเราและความเป็นเขาซึ่งเคยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากในการบริหารงานองค์กร ดูจะลดความหมายลงไปในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย ความแตกต่างที่ยังเหลืออยู่ก็มีเพียงว่า คุณอยู่หรือไม่อยู่ร่วมในเครือข่ายเท่านั้น เราจึงเห็นลูกค้าให้ความสนใจไปที่สถาปัตยกรรมของ platform ว่าน่าสนใจเพียงใด มีเครือข่ายให้เข้าถึงได้กว้างขวางเพียงใด เครือข่ายมีความเสถียรหรือไม่ โดยบางครั้งไม่รู้หรือจำชื่อบริษัทผู้ให้บริการไม่ได้ด้วยซ้ำ ในส่วนของบริษัทที่ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็เช่นกัน คือ เปลี่ยนจากการให้คุณค่าที่องค์กร ไปเป็นการให้คุณค่าที่องค์ประกอบขั้นพื้นฐาน (infrastructure) ของธุรกิจ เมื่อใดที่ web ของเขาไปไม่รอด ธุรกิจก็ไปไม่รอด และหากต้องการสร้างความมั่งคั่งให้ธุรกิจ ต้องทำ web ของตนให้เป็นเครือข่ายที่น่าสนใจและตอบความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด
9. ไม่ยึดติด (The Law of Devolution)
ธรรมชาติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย คือ ความเจริญรุ่งเรืองขององค์กร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติขององค์กรแต่เพียงลำพัง แต่ยังขึ้นอยู่กับเพื่อนในวงการ พันธมิตร คู่แข่ง และสภาพแวดล้อมขององค์กร บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นมา แม้จะมีการเจริญเติบโตก้าวหน้าที่ดูว่ามีความมั่นคงเพียงใด ก็จะมีคู่แข่งที่คอยฉกฉวยโอกาสช่วงชิงความนิยมนั้นอยู่ไม่ห่าง ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย การเกิดขึ้นและดับไปจึงเป็นเรื่องปกติที่มีให้เห็นได้ตลอดเวลา
ลักษณะตามธรรมชาติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย คือ เมื่อ domain ของ web ใดหายไป ก็จะมี domain ใหม่ขึ้นมาแทน ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย การมุ่งทำลายสินค้าหนึ่งให้ดับไป จึงเป็นการสิ้นเปลืองสูญเปล่าเพราะจะมีรายใหม่เกิดขึ้นมาให้ต้องทำลายไม่มีวันจบสิ้น วิธีเดียวที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่ายจะรุ่งเรืองได้ จึงเป็นการทำองค์กรของตนให้มีความยืดหยุ่น พร้อมที่จะปรับรูปแบบ ชนิด ตลอดจน function ของสินค้าเพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่สนองหรือสร้างความต้องการของลูกค้าโดยอาศัยการเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสารในเครือข่ายเป็นเครื่องมือให้มากที่สุด
10. ทดแทนด้วย chip ที่อัดแน่นด้วยข้อมูล (The Law of Displacement)
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงวัสดุที่ใช้ในสินค้าและบริการไปทีละเล็กทีละน้อยอย่างต่อเนื่องมาโดยคลอด เช่น รถยนต์ในปัจจุบันมีน้ำหนักน้อยกว่าที่ผลิตขึ้นมาในครั้งแรกแต่มีสมรรถนะที่สูงกว่า วัสดุที่หายไปถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีในรูปของพลาสติกหรือไฟเบอร์ซึ่งแทบไม่มีน้ำหนัก เครือข่ายของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และ software กำลังเข้ามาแทนที่พลังที่เคยมีอิทธิพลควบคุมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบเก่าอย่างต่อเนื่อง จนทั้งระบบกลายเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย คือ ควบคุมด้วย chip ที่อัดแน่นไว้ด้วยข้อมูล ที่เห็นได้ชัดในขณะนี้ คือ การใช้ chip ในรถยนต์เพื่อควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ทั้งระบบส่งกำลัง ระบบเชื้อเพลิง ระบบความปลอดภัย ส่งผลให้รถมีขนาดเล็กลง มีน้ำหนักเบาขึ้น เปลี่ยนต้นกำเนิดพลังงานจากการเผาผลาญ fossil ซึ่งทำลายสภาพแวดล้อม มาเป็นระบบไฟฟ้า จนถึงขั้นใช้ chip ในการควบคุมการขับเคลื่อนของรถแทนมนุษย์ เป็นต้น
11. เปลี่ยนแปลงอย่างพลิกแผ่นดิน (The Law of Churn)
ในยุคอุตสาหกรรม จะมองธุรกิจว่าเหมือนเครื่องจักรที่ต้องได้รับการปรับแต่ง เมื่อเข้าที่แล้วก็รักษาสภาพนั้นไว้ให้ต่อเนื่องมั่นคง แต่เมื่อมีเครือข่ายเข้ามาในระบบการทำงาน เครือข่ายก็ได้ทำหน้าที่เหมือนระบบนิเวศ (ecology) ทางธรรมชาติ คือไม่เคยรักษาดุลยภาพของมัน ธรรมชาติมีวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา เกิดสายพันธ์ใหม่แทนที่สายพันธ์เก่าที่อ่อนแอ สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง
ในยุคอุตสาหกรรมหรือยุคข้อมูลข่าวสาร การเปลี่ยนแปลง (change) ใดๆ นับเป็นเรื่องแปลกและกลายเป็นข่าวใหญ่ แต่ในยุคกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเครือข่าย สมควรเปลี่ยนมาใช้คำว่า พลิกแผ่นดิน (churn) จึงเหมาะสมกว่า เป็นการเกิดแล้วเกิดอีก (compound rebirth) ที่สามารถสร้างความวุ่นวายได้ทุกขณะ ความเป็นเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น internet หรือความรู้ที่บรรจุไว้ใน chip จะคงความมีชีวิตชีวาอยู่ได้ก็ต่อเมื่อได้รับการกระตุ้นให้มีสภาพที่ขาดความสมดุล เมื่อใดที่ระบบลงตัวเข้าสู่สภาวะที่เป็นดุลยภาพ เมื่อนั้นมันก็จะหนืดและตายไปเพราะลูกค้าจะหันไปใช้เครือข่ายอื่นที่มีการพัฒนา
นวัตกรรม เป็นการเข้าแทรกแซง (disruption) ธุรกิจที่กำลังดำเนินอยู่ และถือเป็นเป้าหมายของเครือข่ายที่จะรักษาความไม่มีดุลยภาพเอาไว้ ด้านมืดของการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกแผ่นดิน (churn) ก็คือความโหดร้ายของมัน ทักษะและความรู้ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานจะต้องได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาให้รับกับนวัตกรรมที่ไม่รู้ว่าคืออะไรและจะมาเมื่อไร การที่วันนี้ยังมีงานทำ แต่วันรุ่งขึ้นเป็นคนว่างงาน จะกลายเป็นสภาพการณ์ที่เป็นปกติ อุตสาหกรรมเก่าจะถูกแทนที่ด้วยอุตสาหกรรมใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ภารกิจที่สำคัญจึงเป็นการบริหารจัดการ churn ไม่ให้เกิดสภาพนิ่ง มีความมั่นคงและความสำเร็จต่อเนื่องทั้งตัวสินค้า บริการ และผู้ปฏิบัติงาน โดยยังคงรักษาคุณสมบัติที่ดี คือธรรมชาติการไม่มีดุลยภาพในตัวมันเอาไว้
12. อย่ามัวแต่แก้ปัญหา ควรแสวงหาโอกาส (The Law of Inefficiencies)
ในระบบเศรษฐกิจแบบเดิม มองความสำเร็จที่การเพิ่มผลผลิต แต่ในกิจกรรมเศรษฐกิจแบบเครือข่าย กลับมองว่าผลผลิตเป็นประเด็นรองที่ไม่ควรให้ความสำคัญ Peter Drucker ได้ให้ข้อสังเกตว่า ในยุคอุตสาหกรรม คงงานแต่ละคนจำเป็นต้องแสวงหาวิธีที่จะทำให้ตนทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของผลผลิต แต่ในยุคเศรษฐกิจแบบเครือข่าย เครื่องจักรทำหน้าที่การผลิตเกือบทั้งหมดแทนคน ภารกิจของคนงานแต่ละคนในยุคนี้จึงไม่ใช่เรื่อง “จะทำงานนี้ให้ดีได้อย่างไร” แต่เป็น “จะทำงานอะไรจึงจะดี” การได้ทำงานที่ถูกต้องกับยุคสมัย มีคุณค่ามากกว่าการทำงานเดิมที่อาจไม่เหมาะสมแล้ว ให้ดีขึ้น
ในกิจกรรมเศรษฐกิจแบบเครือข่าย ผลผลิตไม่ใช่ข้อจำกัด เราอาจมีกิจกรรมเศรษฐกิจแบบเครือข่ายโดยไม่มีผลผลิตเองเลยสักชิ้นก็ได้ ความสามารถในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมมักถูกจำกัดเพราะมัวไปพยายามหาทางออกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา แทนที่จะใช้จินตนาการไปในการแสวงหาโอกาส Peter Drucker เคยกล่าวว่า อย่าหาทางแก้ปัญหา แต่ให้พยายามแสวงหาโอกาส การที่คุณพยายามแก้ปัญหา เป็นการที่คุณพยายามลงทุนไปในจุดอ่อนของคุณเอง ถึงจะแก้ได้ สิ่งที่ได้มานั้นก็อาจสู้คนอื่นที่มีจุดแข็งในเรื่องนั้นไม่ได้อยู่ดี คุณจึงควรมุ่งเน้นไปที่การแสวงหาโอกาส เครือข่ายเป็น platform ที่คุณสามารถได้รับโอกาสในการใช้จุดแข็งที่มีอยู่ในเครือข่ายได้อย่างเต็มที่
วิวัฒนาการต่อจาก network economy ที่ได้ยินกันมาก คือ blockchain economyซึ่งแม้จะเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจแบบเครือข่ายเช่นกัน แต่เน้นไปที่เครือข่ายในการเก็บสถิติการทำธุรกรรมทางการเงินและสินทรัพย์อื่นๆ online โดยไม่มีสถาบันการเงิน หรือสำนักชำระบัญชีเป็นตัวกลาง ตัวอย่างกิจกรรมเศรษฐกิจของ blockchain เช่น การทำธุรกรรม bitcoin ซึ่งนอกจากจะเป็น network economy แล้ว ยังเป็น trust economy อีกด้วย ผู้สนใจเรื่อง blockchain สามารถติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง blockchain technology ซึ่งจะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
- Avoiding Generosity Burnout
- Blockchain Technology
- Exponential Organizations
---------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น