วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2565

10 Fatal Leadership Flaws [Zenger and Folkman]


ข้อบกพร่องร้ายแรง 10 ประการ
ในความเป็นผู้นำ

          ผู้นำทุกคน ไม่ว่าจะเก่งกาจสามารถเพียงใด ดำรงตำแหน่งใด ตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์ปุถุชน ก็ย่อมจะต้องมีข้อบกพร่อง จะต่างกันก็เพียงแต่ ผู้นำที่ประสบความสำเร็จจะหมั่นทบทวนค้นหาข้อบกพร่องของตนเองและจัดการแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้น การพยายามเป็นผู้สมบูรณ์แบบชนิดที่หาข้อบกพร่องไม่ได้เลย น่าจะเป็นเป้าหมายที่ทำให้สำเร็จไม่ได้ และไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นอะไรที่จะต้องพยายามทำเช่นนั้น แต่การพยายามปรับปรุงแก้ไขตนเองอย่างต่อเนื่อง เป็นเป้าหมายที่ทำให้สำเร็จได้และจำเป็นต้องทำ เพราะในยามที่สถานการณ์ต่างๆ ราบรื่นเป็นปกติ ข้อบกพร่องของผู้นำอาจไม่ส่งผลกระทบต่อองค์กรมากนัก แต่ยามใดที่สถานการณ์เลวร้ายลง ข้อบกพร่องของผู้นำอาจสร้างความเสียหายที่ร้ายแรงแก่องค์กรได้          Jack Zenger และ Joseph Folkman ที่ปรึกษาผู้มีชื่อเสียงในเรื่องภาวะผู้นำ ได้ร่วมกันศึกษาเพื่อค้นหาว่าอะไรคือข้อบกพร่องซึ่งมีอยู่ในตัวผู้นำที่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยแบ่งการศึกษาออกเป็นสองชิ้น

          การศึกษาชิ้นที่หนึ่ง เป็นการรวบรวมข้อมูลป้อนกลับแบบ 360 องศาของผู้บริหารองค์กรใน Fortune 500 จำนวน 450 คน แล้วจำแนกลักษณะร่วมกันของผู้บริหาร 31 คนซึ่งได้พ้นจากตำแหน่งในระยะสามปีต่อมา

          การศึกษาชิ้นที่สอง วิเคราะห์ข้อมูลป้อนกลับแบบ 360 องศาของผู้นำมากกว่า 11,000 คนแล้วจำแนกลักษณะของผู้นำที่ประสบความสำเร็จน้อยที่สุด 10% สุดท้าย มาเปรียบเทียบกับผลการศึกษาชิ้นที่หนึ่ง

          จากการเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้จากการศึกษาทั้งสองครั้ง Zenger และ Folkman ได้พบข้อบกพร่องที่มีร่วมกันมากที่สุด 10 ประการของผู้นำที่ไม่ประสบความสำเร็จ และนำมาเขียนเป็นบทความลงในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมิถุนายน 2009 เรื่อง “Ten Fatal Flaws That Derail Leaders” บทความนี้เป็นบทความใหม่ ความยาวไม่ถึงหนึ่งหน้า แต่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้อยู่ในตำแหน่งหรือสถานะความเป็นผู้นำ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะ หนังสือหรือบทความส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับภาวะผู้นำ มักกล่าวถึงแต่คุณสมบัติที่ดีของผู้นำซึ่งผู้นำทั้งหลายมักไม่สนใจเพราะคิดเข้าข้างตนเองว่าตนมีคุณสมบัติเหล่านั้นอยู่แล้ว ในขณะที่ผลการศึกษาของ Zenger และ Folkman เป็น spotlight ที่ฉายตรงไปที่ข้อบกพร่องซึ่งมาจากข้อมูลจริงของผู้นำที่ไม่ประสบความสำเร็จ ข้อบกพร่อง มักเป็นสิ่งที่ทุกคนรวมถึงผู้นำมักจะลืมนึกถึงหรือมองข้ามไป บทความนี้จึงสามารถเรียกความสนใจของผู้นำทั้งหลายได้อย่างรวดเร็ว ในความเห็นของ Zenger และ Folkman ผู้นำที่ไม่ประสบความสำเร็จจะมีข้อบกพร่องที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งอย่าง แต่ส่วนใหญ่จะมีมากกว่านั้น

          ข้อบกพร่อง 10 ประการของผู้นำที่ไม่ประสบความสำเร็จ ได้แก่

1.  ท้อแท้ ขาดความกระตือรือร้น
          ผู้นำที่ไม่ประสบความสำเร็จ แทนที่จะสร้างพลังและกำลังใจในการทำงานให้กับทีมงาน กลับมองความคิดริเริ่มหรือการดำเนินการโครงการใหม่ใดๆ ว่าเป็นภาระ ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง จะได้ไมเปลืองตัวและเสียอารมณ์กับเรื่องเหล่านั้น โครงการหรือทีมงานใดหากมีผู้นำเช่นนี้ ก็ถือว่าพังไปตั้งแต่เริ่ม มีผู้กล่าวกระทบกระเทียบผู้นำประเภทนี้ว่า เป็นคนเก่ง สามารถดูดกลืนความกระตือรือร้นของทีมงานไปได้ในทุกเรื่อง

2.  กำหนดเป้าหมายต่ำเพื่อให้ตนทำได้สำเร็จ
          ผู้นำที่ไม่ประสบความสำเร็จ จะตั้งเป้าหมายในการทำงานไว้เพียงแค่พอให้ผ่าน หรือต่ำเสียจนใครๆ ก็สามารถทำได้ และเมื่อตนทำงานนั้นเสร็จ ก็จะคุยโม้โอ้อวดเสียใหญ่โตว่าเป็นงานที่ยากราวกับต้องไต่บันไดขึ้นสู่สวรรค์ การที่ผู้นำตั้งเป้าหมายที่ไม่ท้าทาย การทำงานจึงเป็นลักษณะ routine ที่ไม่สร้างความคิดริเริ่มหรือความกระตือรือร้นให้เกิดขึ้นในการทำงาน ผู้นำประเภทนี้จึงไม่สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าหรือความสำเร็จใดๆ ให้กับองค์กร แม้แต่จะพาองค์กรให้รอดไปได้วันๆ หนึ่งก็ยังยาก

3.  ไม่มีวิสัยทัศน์และทิศทางที่ชัดเจน
          ในการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จ หรือการจะให้เกิดแนวทางที่นำไปสู่ข้อสรุปที่ดีแก่ทีมงาน ผู้นำจำเป็นต้องแสดงวิสัยทัศน์ออกมา และใช้ความเชื่อมั่นและความชัดเจนในความคิดของตนชี้ให้เห็นประโยชน์ของทางเลือกหรือแนวความคิดใหม่ที่ตนนำเสนอ ความเป็นผู้นำที่แท้จริงจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง บุคคลไม่สามารถเป็นผู้นำได้หากขาดวิสัยทัศน์และทิศทางของตนเอง เขาอาจจะเป็นผู้นำโดยตำแหน่ง แต่เป็นผู้ตามของผู้นำที่แท้จริงอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า เสมอกัน หรือต่ำกว่าเขา ผู้นำที่ไม่ประสบความสำเร็จ เชื่อว่า หน้าที่ของเขามีเพียงอย่างเดียว คือ การทำภารกิจให้สำเร็จโดยทำไปตามอย่างที่คนอื่นได้เคยทำไว้ เปรียบเหมือนนักเดินทางที่ไม่มีเป้าหมาย ทิศทาง หรือหลักในการเดินทางของตนเอง ได้แต่เดินไปตามรอยของผู้อื่นที่ปรากฏอยู่บนพื้น มารู้ตัวอีกทีว่าหลงทางก็ตอนที่หารอยนั้นไม่เจอแล้ว

4.  ใช้ดุลยพินิจที่ไม่เหมาะสม
          การตัดสินใจและการมีดุลยพินิจที่เหมาะสม เป็นหัวใจของการเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ผู้นำคือผู้ที่มีบุคคลอีกคนหนึ่งหรืออีกทีมงานหนึ่งที่เรียกว่าผู้ตามเป็นผู้เอาทางเลือกที่ผู้นำได้ตัดสินใจหรือคัดเลือกไว้ ไปปฏิบัติ ผู้นำที่ไม่ประสบความสำเร็จ จะตัดสินใจเลือกสิ่งที่ไม่ได้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่องค์กร แต่เป็นทางเลือกที่ตนรู้สึกปลอดภัยเพราะไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือสร้างสรรค์ ส่วนผู้ตามทั้งหลายก็จำเป็นต้องปฏิบัติไปตามนั้นๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นทางเลือกที่มาจากการใช้ดุลยพินิจที่ไม่เหมาะสมของผู้นำ เพราะมีสายงานหรือสายการบังคับบัญชาค้ำคออยู่

5.  แยกตัวโดดเดี่ยว
          การเป็นผู้นำเพราะอยู่ในตำแหน่งที่มีลูกน้อง ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเลือกทำอะไรก็ได้ที่ตนชอบโดยไม่สนใจความคิดเห็นของผู้อื่น ผู้นำที่ไม่ประสบความสำเร็จ จะไม่เข้าใจว่าการให้ผู้อื่นได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เป็นโอกาสอันดีที่จะได้สร้างความเข้าใจร่วมกันและได้รับแนวคิดที่มีคุณค่าจากผู้อื่นที่มีประสบการณ์มากกว่า ผู้นำประเภทนี้จะไม่ชอบเข้ากลุ่มเพื่อนฝูง และมองผู้นำคนอื่นว่าเป็นคู่แข่ง ผลก็คือ ถูกผู้ที่ควรให้การสนับสนุนแก่เขา ลอยแพ

6.  ไม่เป็นตัวอย่างที่ดี
          ผู้นำที่ไม่ประสบความสำเร็จ จะไม่ทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี เมื่อใดที่เขากำหนดแนวทางหรือความคาดหวังให้ผู้อื่นต้องปฏิบัติ แทนที่เขาจะเป็นบุคคลแรกที่เคารพและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น กลับละเลยไม่ให้ความสำคัญ หรืออาจปฏิบัติต่างไปจากแนวทางหรือความคาดหวังนั้นเสียเอง ความเคารพหรือซื่อตรงกับแนวทางและการปฏิบัติใด จะเกิดขึ้นได้อย่างจริงจังและต่อเนื่องก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติมีศรัทธาในสิ่งนั้น มองเห็นคุณค่าที่จะเคารพแนวทางดังกล่าว

7.  ต่อต้านความคิดใหม่ๆ
          ความคิดที่ดีมาได้จากทุกที่ แต่ผู้นำที่ไม่ประสบความสำเร็จจะดื้อรั้นและปฏิเสธที่จะยอมรับความคิดที่ไม่ได้มาจากสมองของเขาเอง เป็นทิฏฐิที่คิดว่าตนเองเหนือเลิศกว่าผู้อื่น และคิดว่าการรับเอาความคิดที่ดีของผู้อื่นมาปฏิบัติเท่ากับยอมรับว่าตนเองด้อยกว่าในทางความคิด ยิ่งเป็นความคิดของลูกทีมหรือผู้ใต้บังคับบัญชายิ่งแล้วใหญ่ การปฏิเสธความคิดที่ดีที่สร้างสรรค์ จึงเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้องค์กรต้องย่ำอยู่กับที่

8.  ไม่เรียนรู้จากความผิดพลาด
          ผู้นำที่ประสบความสำเร็จจะยอมรับความผิดพลาดของตน เรียนรู้ถึงสาเหตุ ความผิดพลาดและหาหนทางแก้ไขที่ต้นเหตุ ความผิดพลาดจึงกลายเป็นบทเรียนที่พัฒนาผู้นำให้สามารถทำสิ่งนั้นได้ดีขึ้นในครั้งต่อไป ไม่ทำความผิดนั้นซ้ำอีกในอนาคต

          ส่วนผู้นำที่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่ได้ทำอะไรผิดมากไปกว่าผู้อื่น แต่ชอบแก้ตัวในความผิดพลาดที่ตนได้ทำ และไม่พร้อมที่จะเรียนรู้อะไรจากความผิดพลาด ผู้นำประเภทนี้จึงไม่มีการพัฒนาและมักทำผิดซ้ำผิดซากอยู่อย่างนั้น

9.  ไม่มีมนุษย์สัมพันธ์
          มนุษย์สัมพันธ์เป็นแก่นของความเป็นผู้นำ วิธีที่ผู้นำปฏิบัติต่อสมาชิกทีมงานและบุคคลทั้งหลายในองค์กร จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวของผู้นำในระยะยาว ผู้นำซึ่งเป็นที่รักและสามารถสร้างสัมพันธ์กับบุคคลที่อยู่แวดล้อมเขา จะเป็นผู้นำที่น่าชื่นชมมากกว่าผู้นำคนอื่นที่มีผลการปฏิบัติงานใกล้เคียงกัน ผู้นำที่มีมนุษย์สัมพันธ์ มักเป็นผู้ที่สามารถก้าวหน้าขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระกับสูงขององค์กรได้เร็วกว่าผู้อื่น

          ส่วนผู้นำที่ไม่ประสบความสำเร็จ จะเป็นผู้ที่เก็บกด เคียดแค้นสังคมแวดล้อม มองว่าการขาดเพื่อนร่วมงานและผู้ให้การสนับสนุน เป็นความอยุติธรรมที่เขาไม่ควรได้รับ ผู้นำประเภทนี้จะระบายความรู้สึกด้วยความก้าวร้าว หยาบคาย ใช้วาจาท่าทางข่มขู่ผู้อื่น นอกจากนั้นยังทำตัวไม่เป็นมิตร ไม่สุงสิง และไม่ชื่นชมในความสำเร็จของผู้ใด

10.  ไม่สามารถพัฒนาผู้อื่น
          ผู้นำที่ประสบความสำเร็จจะให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าของสมาชิกทีมงาน พยายามส่งเสริมให้พวกเขาได้มีโอกาสพัฒนาตนเองให้ดีที่สุด

          ส่วนพัฒนาผู้นำที่ไม่ประสบความสำเร็จจะคิดถึงแต่ตัวเอง ไม่คิดที่จะพัฒนาลูกน้องให้มีความรู้ความสามารถ ทำให้ทีมงานและผู้เกี่ยวข้องหมดกำลังใจ

          ผู้นำทุกคนควรศึกษาเรื่องนี้ด้วยใจที่เปิดกว้าง คุณอาจไม่ยอมรับว่าตนเองมีข้อบกพร่องตามที่กล่าว หรือไม่ยอมรับความจริงว่าตนได้ทำความผิดพลาดในฐานะผู้นำไปด้วยข้อบกพร่องเหล่านี้ แต่ถ้าคุณคิดว่าการยอมรับความจริงเป็นขั้นแรกของการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น คุณจะพบว่าผลการศึกษาของ Zenger และ Folkman เปรียบเหมือนกระจกเงาที่คุณใช้สำรวจความเรียบร้อยของตัวคุณก่อนออกจากบ้านไปทำงาน หากคุณพบสิ่งใดที่บกพร่องและพยายามแก้ไขมัน คุณก็จะเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ

---------------------------------





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น