วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

4 Dimensions of Relational Work [Butler and Waldroop]


ทักษะ 4 ประเภทในงานที่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่น

          ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น (interpersonal savvy) เข้าใจปัญหาของผู้ร่วมงานและสามารถเข้าไปจัดการกับความขัดแย้งที่สมาชิกในทีมมีต่อกัน เป็นคุณสมบัติที่เรามักพบเห็นได้ในตัวผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์และผู้จัดการฝ่ายขาย แต่ที่จริงแล้ว คุณสมบัติเช่นว่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากในเกือบจะทุกเรื่องทางธุรกิจ ไม่ใช่เฉพาะแต่กับงานด้านทรัพยากรมนุษย์หรืองานขายเท่านั้น จากผลงานวิจัยตลอดระยะเวลา 18 ปีของ Thimothy Butler และ James Waldroop เพื่อหาคำตอบว่า นักธุรกิจได้พัฒนาตนเองขึ้นมาจนประสบความสำเร็จในงานอาชีพได้อย่างไร ผลการศึกษาพบว่า บุคคลเหล่านั้นประสบความสำเร็จได้มากเมื่อได้ทำงานที่เขาให้ความสนใจอย่างจริงจัง ผลการศึกษานี้ได้ถูกนำมาปรับใช้ในการเพิ่มผลผลิตและการคัดเลือกคนเข้าทำงาน โดยก่อนจะมอบหมายงานหรือก่อนจะรับบุคคลเข้าทำงาน จะศึกษาทดสอบว่าบุคคลนั้นมีความสนใจในงานที่จะได้รับมอบหมาย หรืองานที่มาสมัคร อย่างจริงจังหรือไม่เพียงใด และถือเป็นปัจจัยคัดสรรที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าวุฒิหรือประวัติการศึกษา

          โดยหลักบริหารทั่วไป ผู้บริหารสามารถเพิ่มผลผลิตหรือผลงานได้ด้วยการ
     1. คัดสรรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน
     2. มอบหมายงานที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ
     3. ให้รางวัลที่สมควรเพื่อตอบแทนผลการปฏิบัติงาน
     4. ส่งเสริมผู้ปฏิบัติให้ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน


          การคัดสรรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน เป็นคำที่ได้ยินบ่อยและฟังดูเป็นเรื่องพื้นๆ แต่ในทางปฏิบัติ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ผู้คัดสรรมักอาศัยประสบการณ์การผ่านงานหรือวุฒิการศึกษาที่ตรงกับงานที่เปิดรับเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารทุกคนต่างทราบอยู่แก่ใจว่า นอกเหนือจากประสบการณ์ทำงานและวุฒิการศึกษาแล้ว ยังมีปัจจัยเชิงจิตวิทยาที่เป็นคุณสมบัติสำคัญอีกประการหนึ่งที่บ่งชี้ว่าบุคคลนั้นเหมาะสมกับงานที่เปิดรับหรือที่ตั้งใจจะมอบหมายให้ไปทำหรือไม่ ปัญหาคือ ยังไม่มีการศึกษาวิจัยอันเป็นที่ยอมรับว่า ปัจจัยเชิงจิตวิทยาประเภทใดเป็นองค์ประกอบหรือคุณสมบัติเพื่องานชนิดใด

    Butler และ Waldroop ได้ทำการทดสอบเชิงจิตวิทยากับนักธุรกิจมืออาชีพจำนวนมากกว่า 7,000 คน โดยใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบ (factor analysis) ทางสถิติ พวกเขาได้พบว่า งานที่ต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น (relational work) จะต้องการทักษะหรือคุณสมบัติซึ่งส่งเสริมความสำเร็จอยู่ 4 ประเภท (dimension) ส่วนการที่จะรู้ว่าบุคคลนั้นๆ มีทักษะประเภทใด อาจใช้การสัมภาษณ์หรือการประเมินสิ่งที่เขาพูดและแสดงออกในบทบาทสมมุติ (ดูรายละเอียดในหัวข้อ การเลือกรับบุคคลเข้าทำงาน) ทักษะทั้ง 4 ประเภทนี้เป็นคุณสมบัติเด่นในการทำงาน การแยกแยะผู้มีทักษะออกจากผู้ไม่มีทักษะจึงทำได้ไม่ยากนัก ส่วนการให้คะแนนมากน้อย Butler และ Waldroop ไม่ได้ให้หลักไว้ว่าต้องเป็นอย่างไร จึงต้องใช้ความเห็นของผู้สัมภาษณ์หรือผู้ประเมินที่ผ่านการอบรมในทักษะดังกล่าวเป็นหลัก คะแนนที่ได้จะเหมือนคำทำนายคุณลักษณะของบุคคล ช่วยให้ผู้บริหารสามารถคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานหรือที่จะมอบหมายงานได้ถูกต้องและสะดวกขึ้น และเมื่อผู้บริหารสามารถมอบหมายงานให้บุคคลได้ตรงกับความสนใจและทักษะของเขาแล้ว องค์กรก็จะมีศักยภาพในการทำงานดีขึ้นด้วย  

ทักษะ 4 ประเภท
          แนวคิดในเรื่องทักษะ 4 ประเภทในงานที่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่น (4 Dimensions of Relational Work) นี้ Butler และ Waldroop ได้เสนอไว้ในบทความชื่อ Understanding People ทักษะ 4 ประเภท ได้แก่

     1) ทักษะการมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้อื่น (influence)
          ผู้ได้รับคะแนนสูงในทักษะประเภทนี้ เป็นผู้ชอบสร้างและแผ่ขยายอิทธิพลทางความคิดของตนไปให้ผู้อื่น มีความสุขกับการชักชวน ต่อรอง ครอบครองข้อมูลหรือความคิดดีๆ สามารถเปลี่ยนมุมมองหรือพฤติกรรมของผู้อื่น ไม่ว่าเขาจะพูดกับลูกค้าหรือเพื่อนร่วมงาน ไม่ว่าจะพูดถึงสินค้า บริการ หรือแนวความคิดใดๆ ก็จะพยายามหว่านล้อมให้คนเหล่านั้นเชื่อและยอมรับในสิ่งที่เขาพูด แม้ว่าบุคคลที่ได้คะแนนสูงในทักษะประเภทนี้จะพบเห็นได้ในทุกหน้าที่การงานและในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม แต่สำหรับผู้ให้บริการทางด้านการเงิน การขาย และการเจรจาต่อรอง ดูจะมีคุณสมบัติด้านนี้โดดเด่นเป็นพิเศษ พวกเขาชอบที่จะแบ่งปันความรู้ ความคิด และสร้างเครือข่าย จนดูเหมือนเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่ในกลุ่ม

     2) ทักษะให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือ (interpersonal facilitation)
          เป็นทักษะที่หลายคนนึกถึงเป็นลำดับแรกเมื่อกล่าวถึงคุณสมบัติที่ดีของบุคคล ผู้ได้คะแนนการทดสอบสูงในทักษะประเภทนี้ จะเก่งในการประเมินสถานการณ์และการปรับตัวให้เข้ากับผู้ร่วมงาน สนใจศึกษาประสบการณ์ความเป็นมาของผู้อื่นอย่างเงียบๆ และสานความผูกพันเพิ่มมากขึ้นด้วยการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือแก้ไขปัญหา ให้ความเห็นอกเห็นใจในความทุกข์หรือข้อขัดข้องของผู้อื่น ได้รับความไว้วางใจจากผู้ร่วมงานทั้งหลายจนพร้อมจะให้ความร่วมมือในการทำงานจนสำเร็จตามเป้าหมาย ความสามารถหรือทักษะเหล่านี้มักไม่ถูกนำไปกล่าวหรือเขียนไว้ในรายงาน แต่ผู้บริหารต่างทราบดีว่าเป็นผลมาจากความสามารถของผู้ใด

     3) ทักษะการจูงใจด้วยภาพหรือคำที่ทำให้คล้อยตาม (relational creativity)
          เป็นทักษะการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มบุคคลด้วยการใช้ภาพหรือคำพูดในการถ่ายทอดความคิด แม้ว่าในทางธุรกิจ ทักษะประเภทนี้มักใช้ในการชักชวนลูกค้าให้ซื้อหรือชักชวนนักลงทุนให้มาลงทุน แต่มันก็ต่างจากการสร้างอิทธิพลในใจของผู้อื่น (influence) ซึ่งเป็นทักษะข้อแรก ผู้มีทักษะในการสร้างอิทธิพลทางความคิด จะชักจูงผู้อื่นแบบต่อหน้า ขณะที่ผู้มีทักษะด้านการจูงใจจะใช้ภาพและคำมาปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลคล้อยตามผ่านสื่อหรือช่องทางการสื่อสาร ซึ่งเราอาจไม่เคยรู้เลยว่าผู้สร้างภาพหรือคำพูดที่กระชากใจเหล่านั้นคือใคร เช่น การใช้คำในพาดหัวข่าว หรือการใช้ภาพที่ดึงดูดความสนใจบนหน้าปกนิตยสาร

     4) ทักษะการบริหารทีมงาน (team leadership)
          ผู้ได้รับคะแนนสูงในทักษะประเภทนี้ ชอบพบปะพูดคุยกับผู้คนและจะรู้สึกแย่หากได้รับมอบหมายให้ต้องทำงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับใคร บุคคลประเภทนี้ชอบการทำงานกับกลุ่มบุคคลที่มีความกระตือรือร้น ยิ่งมีงานเยอะยิ่งชอบ ความแตกต่างระหว่างบุคคลที่มีความสนใจในการขยายอิทธิพลทางความคิด (influence) กับบุคคลประเภทนี้ จะอยู่ที่ความสนใจในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้คน ผู้ที่ได้คะแนนสูงในทักษะการบริหารมักชอบที่จะทำงานกับกลุ่มหรือทีมงานในลักษณะเป็นผู้สอนหรือให้คำแนะนำ (coach) โดยมุ่งเน้นที่กระบวนการบริหารจัดการ ส่วนผู้มีทักษะด้านการขยายอิทธิพลทางความคิด จะสนใจที่ผลของการเข้าไปมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องว่าสามารถเปลี่ยนความคิดหรือพฤติกรรมของผู้ที่เป็นเป้าหมายได้หรือไม่ (closed deal)

การเลือกรับบุคคลเข้าทำงาน 
          ในการประเมินความสามารถเพื่อรับบุคคลเข้าทำงาน หากเป็นการประเมินความสามารถในการทำงานด้านเทคนิค เช่น ความสามารถในการวิเคราะห์การเงิน การตลาด การบริหารผลิต การจัดการข้อมูลข่าวสาร การขาย หรืออื่นๆ ที่คล้ายกัน ก็คงไม่ยุ่งยากเท่าการประเมินความสามารถการทำงานที่ต้องใช้การเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว Butler และ Waldroop จึงได้เสนอเทคนิคที่จะช่วยสืบค้นทักษะความสามารถในการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลออกเป็น 4 ประเภท (คุณสมบัติแต่ละประเภทได้กล่าวมาก่อนแล้ว) ดังนี้

     (1) การค้นหาทักษะด้านอิทธิพลความคิด (influence skills)

  • เมื่อใดที่คุณคิดว่าจะรับผู้สมัครที่อยู่ตรงหน้าโดยไม่สนใจที่จะทดสอบหรือสืบค้นในเรื่องสติปัญญาความสามารถอะไรเป็นการเพิ่มเติม คิดแต่เพียงอย่างเดียวว่าบุคคลที่อยู่ตรงหน้าคุณนี่แหละคือคนที่ใช่ เมื่อนั้นคุณอาจกำลังสัมภาษณ์ผู้ที่มีทักษะในการสร้างอิทธิพลทางความคิด หรือพูดอีกอย่างคือ คุณอาจกำลังถูกครอบงำทางความคิดจากคำพูดของบุคคลนั้นเข้าแล้ว
  • ในกรณีที่คุณต้องการหลักฐานมาประกอบว่าบุคคลนั้นมีทักษะในเรื่องการสร้างอิทธิพลทางความคิดหรือไม่ ก็อาจหาได้จากประวัติว่าเคยได้รับเลือกให้เป็นผู้นำในเรื่องใดมาก่อนหรือไม่ หรือมีเครือข่ายในอาชีพการงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นอกเหนือไปจากอาชีพที่ทำอยู่ในปัจจุบันอะไรบ้าง ผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดมักจะเป็นผู้ทำงานหรือเคยทำงานให้กับองค์กรวิชาชีพหรือองค์กรทางสังคม
  • ผู้สัมภาษณ์ควรตั้งคำถามที่ต้องใช้การแสดงความคิดเห็น ไม่มีผิดไม่มีถูก และสังเกตดูว่าผู้ตอบมีความเชื่อมั่นในการใช้เหตุผลประกอบคำตอบอย่างไร
  • อาจถามวิกฤติที่มีในชีวิตการทำงานแล้วดูการตัดสินใจของเขาในวิกฤติดังกล่าว   
     (2) การค้นหาทักษะการให้คำปรึกษาแนะนำ (interpersonal facilitation skills)
          ถ้าคุณต้องการทราบว่าบุคคลนี้มีทักษะการให้คำปรึกษาหรือแนะนำชวยเหลือเพื่อการแก้ปัญหาหรือไม่ ลองให้เขา
  •   อธิบายสถานการณ์การทำงานที่คนสองคนมีความขัดแย้งกัน ผู้ที่มีทักษะในเรื่องนี้จะสามารถอธิบายให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นที่เรียกว่าเป็นความขัดแย้ง เพราะก่อนจะให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องใด ผู้ให้คำแนะนำจำเป็นต้องเข้าใจในสถานการณ์นั้นอย่างแท้จริง ผู้ที่สามารถแยกแยะองค์ประกอบของสถานการณ์มาอธิบายได้อย่างชัดเจน จึงเป็นผู้มีทักษะในการจับประเด็นเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำได้ถูกต้องกับเหตุหรือผลที่เกิดขึ้น
  •   คุณอาจยกกรณีตัวอย่างความขัดแย้งที่เกิดจริงในที่ทำงานของคุณและขอให้เขาให้ความคิดเห็นว่าจะคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าวนี้ได้อย่างไร โดยให้ความสนใจกับคำถามของเขาที่เกี่ยวกับภาวะดังกล่าวว่าเป็นคำถามที่น่าจะนำไปสู่การหาทางออกหรือคำแนะนำที่สมเหตุสมผลหรือไม่
  •   สอบถามเกี่ยวกับเครือข่ายที่เขามี โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอาชีพการงานในปัจจุบันและให้เขาอธิบายประสบการณ์การเข้าไปเกี่ยวข้องกับเครือข่ายนั้น
  •   ขอให้อธิบายงานที่เขาไม่ต้องการทำซึ่งไม่ใช่ด้วยเหตุผลการไร้ความสามารถ แต่เป็นด้วยเหตุผลส่วนตัว เช่น ไม่ชอบงานปลดคนออก เพราะเป็นงานที่ทำให้พนักงานจำนวนมากต้องตกงาน ทั้งนี้เพื่อศึกษาลักษณะนิสัยโดยธรรมชาติของจิตใจ ว่าเป็นคนอย่างไร
     (3) การค้นหาทักษะการจูงใจ (relational creativity skills)
          อาจเริ่มด้วยการขอให้ผู้สมัคร
  •   เล่าให้ฟังว่ามีโฆษณา คำขวัญ หรือภาพจูงใจอะไรที่เขาชอบเป็นพิเศษ พร้อมเหตุผลว่าทำไมถึงชอบ และทำไมถึงคิดว่าว่าสิ่งเหล่านั้นสามารถจูงใจผู้ชมหรือผู้ฟังให้คล้อยตามได้
  •   ให้เขาแสดงความเห็นว่า อะไรเป็นสิ่งที่จูงใจผู้คนได้มากที่สุด และบริษัทจะสามารถนำสิ่งนั้นมาใช้ได้อย่างไร
  •   อาจตามด้วยคำถามเช่น หากบริษัทต้องการเข้าไปมีส่วนในตลาด X จะกำหนดสถานะของสินค้าของบริษัทในตลาดนั้นอย่างไร จะเข้าถึงจิตใจของผู้มีอำนาจตัดสินใจอย่างไร
  •   ขอให้เขาอธิบายช่วงเวลาที่เขายุ่งกับงานมากๆ จนไม่สามารถจัดการกับเวลาของตนได้ ว่าเป็นช่วงเวลาแบบใด
  •   ถามถึงงานอาชีพอื่นๆ ที่เขาสนใจ ผู้มีทักษะในการสร้างสิ่งจูงใจมักจะให้คำตอบที่สร้างสรรค์และไม่ธรรมดา
     (4) การค้นหาทักษะการบริหารทีมงาน (team leadership skills)
          ผู้มีทักษะประเภทนี้มักเคยทำงานร่วมกับกลุ่มต่างๆ มาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกีฬา กลุ่มสังคม หรือชมรม ผู้สัมภาษณ์ควรถามผู้สมัครเกี่ยวกับ
  •   กิจกรรมที่นอกเหนือจากงานที่ทำว่า เขาได้มีบทบาทในความเป็นผู้นำในกลุ่มเหล่านั้นหรือไม่อย่างไร
  •   งานในอุดมคติ หากจะต้องทำงานร่วมกับคนอื่น อยากทำงานร่วมกับคนสักกี่คนในรูปแบบไหน คำตอบที่ได้อาจเป็นว่าเขาชอบที่จะเป็น CEO ที่มีหน่วยงานในกำกับดูแลจำนวนเท่านั้นเท่านี้ หรืออาจจะชอบเป็นหัวหน้าทีมงานบริหาร คำตอบที่ได้จะทำให้เห็นภาพระดับความสนใจที่มีต่อการเป็นผู้นำ
  •   ให้ผู้สมัครอธิบายประสบการณ์ที่มีเกี่ยวกับการให้บริการลูกค้าซึ่งผู้สมัครอาจอยู่ในฐานะผู้ให้บริการหรือเป็นลูกค้าที่ได้รับบริการ ขอให้สังเกตเวลาที่เขาอธิบายว่ามีความรู้สึกตื่นเต้นอย่างไร
  •   ให้ความสำคัญกับความกระตือรือร้นที่ผู้สมัครแสดงออกในระหว่างการสนทนาว่าทำให้คุณรู้สึกอยากออกไปร่วมในกิจกรรมนั้นๆ กับเขาหรือไม่ หากใช่ ผู้สมัครนั้นก็คือผู้มีทักษะในกาบริหารจัดการทีมงาน
งานกับทักษะที่ควรมี
     1. Sales and Sales Management
          ผู้ทีเก่งในด้านงานขายหรือการบริหารงานขายมักจะสนใจและได้รับคะแนนการประเมินสูงในเรื่องการบริหารจัดการทีมงาน (team leadership) เขาเหล่านี้จะเป็นผู้ที่เข้าสังคมเก่ง มีความสุขในการทำงานกับลูกค้า และชอบที่จะทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับผู้คน นอกจากนั้น เรายังพบว่า พนักงานขายจะได้รับคะแนนประเมินสูงในเรื่องการมีอิทธิพลทางความคิด (influence) จึงพอกล่าวเป็นแนวทางในเรื่องการขายได้ว่า บุคคลที่ได้รับคะแนนสูงในเรื่องอิทธิพลทางความคิด ควรทำงานเกี่ยวกับการขายตรง และผู้ที่ได้รับคะแนนสูงในด้านการบริหารจัดการทีมงาน ควรทำในเรื่องการบริหารการขาย
  
     2. Marketing
          การตลาด จำเป็นต้องมีทั้งการวิเคราะห์และจินตนาการ เป็นบทบาทที่มุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมของมนุษย์ นักการตลาดมักได้รับคะแนนมากที่สุดในทักษะประเภท การจูงใจโดยใช้ภาพหรือคำ (relational creativity) และยังมีคะแนนสูงในการบริหารทีมงาน (team leadership) และการมีอิทธิพลเหนือความคิดของผู้อื่น (influence) แม้ว่านักการตลาดจะไม่ได้มาพบปะกับลูกค้าโดยตรง แต่พวกเขาจะมีความสนใจในความคิดและความรู้สึกของลูกค้าเป็นอย่างมากในลักษณะการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งเป็นคุณสมบัติเชิงจิตวิทยาที่มีค่ายิ่งในการทำการตลาดให้ประสบความสำเร็จ สาเหตุที่นักการตลาดมักมีคะแนนสูงในด้านการบริหารทีมงานด้วยก็เพราะ การตลาดเป็นงานที่เน้นการทำงานเป็นทีม ผู้มีทักษะเรื่องการบริหารทีมงานจึงมีส่วนเสริมที่สำคัญในการทำการตลาด

     3. Human Resources
          นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยทั่วไปจะได้มีคะแนนสูงในทักษะการให้คำปรึกษาและการช่วยเหลือ (interpersonal facilitation) มากกว่าทักษะการมีอิทธิพลทางความคิด (influence)

     4. Negotiations and Financial Deal Making
          ส่วนใหญ่ของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในส่วนของการควบรวมกิจการ การจัดการแหล่งทุน การซ้อขายแลกเปลี่ยน การพัฒนาธุรกิจ การจัดสรรเงินลงทุน มักมีคะแนนสูงในทักษะการมีอิทธิพลทางความคิด ซึ่งต่างจากผู้ทำงานด้านการเงินที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนอื่น หรือมีในระดับที่น้อยกว่า เช่น นักบัญชี นักวิเคราะห์การเงิน นักวิเคราะห์หุ้น และนักบริหารจัดการความเสี่ยงในการลงทุน

     5. Communications and Public Relations
          ผู้ทำงานในด้านการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์จะมีทักษะที่คล้ายกับนักการตลาด คือ มีคะแนนสูงทั้งด้านการจูงใจด้วยภาพหรือคำพูด และการบริหารทีมงาน และจะต่างกันก็ตรงที่ นักสื่อสารและประชาสัมพันธ์จะมีคะแนนโดยเฉลี่ยในทักษะด้านการจูงใจด้วยภาพหรือคำพูดสูงกว่านักการตลาด แต่มีคะแนนด้านการบริหารทีมงานต่ำกว่านักการตลาด เหตุผลคือ นักสื่อสารและประชาสัมพันธ์จะเน้นไปที่ผลที่เกิดกับตัวบุคคลมากกว่านักการตลาด ในขณะที่นักการตลาดจะเน้นไปที่การทำงานเป็นทีมมากกว่านักสื่อสารและประชาสัมพันธ์


Influence Interpersonal Creativity Leadership
Sales Major



Sales Management




Major
Marketing minor

Major minor +
Human Resources
minor

Major


Deal Maker Major



Public Relation



Major +

minor

          ทักษะ 4 ประเภทนี้ไม่ใช่ทักษะเฉพาะที่มีได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง คนๆ หนึ่งอาจมีความสนใจและมีทักษะที่กล่าวมาได้มากกว่าหนึ่งประเภท แต่การมีทักษะหรือความสนใจในหลายประเภทก็ไม่ได้หมายความว่าจะดี เพราะความสนใจเป็นพิเศษในประเภทอื่นที่เพิ่มขึ้นมานั้น อาจไม่ได้เป็นประโยชน์ต่องานที่ทำ ความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเป็นพิเศษ อาจเป็นผลเสียต่องานบางประเภทที่ไม่ควรนำทักษะนั้นไปใช้ การมอบหมายงานที่ต้องการทักษะอย่างหนึ่งให้คนที่มีความสนใจหรือทักษะอีกอย่างหนึ่ง จึงเป็นการบริหารงานที่ผิดพลาด นอกจากนั้น ในการบริหารจัดการทีมงาน ผู้บริหารหรือผู้นำก็ควรคัดเลือกสมาชิกทีมงานที่มีมีคุณสมบัติหรือทักษะ 4 ประเภทนี้ในสัดส่วนที่สมดุล หากจะหนักไปด้านใดด้านหนึ่งก็ควรเป็นทักษะที่ส่งเสริมงานนั้น เช่นในเรื่องการขาย ก็อาจประกอบด้วยผู้มีทักษะในเรื่องการสร้างอิทธิพลทางความคิด และทักษะด้านการบริหารจัดการทีมงาน ในสัดส่วนที่สูงกว่าทักษะในเรื่องการให้คำปรึกษาหรือทักษะการจูงใจด้วยสื่อโฆษณาได้ แต่ก็ไม่ควรมากกว่ากันจนกลายเป็นการครอบงำการแสดงออกของผู้ทักษะในด้านอื่นที่มีสัดส่วนน้อยกว่า

          แม้ว่าทักษะแต่ละประเภทจะมีข้อดีหรือจุดเด่นในตัวของมันเอง ก็ไม่ได้ความว่าทักษะประเภทหนึ่งจะมีความสำคัญต่อการทำงานของทีมงานมากกว่าทักษะประเภทอื่น ในความเป็นจริงแล้ว การประสานข้อดีหรือจุดเด่นของทักษะแต่ละประเภทในลักษณะส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันจนทำให้เกิดพลวัตกลุ่มและผลงานของทีมต่างหากที่มีความสำคัญมากที่สุด

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ


---------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น