เมื่อเรื่องเล่าเป็นสิ่งเพิ่มเติมสีสันให้ชีวิต คนส่วนใหญ่จึงชอบฟังเรื่องเล่าและรู้สึกกระตือรือร้นหากทราบว่าจะมีใครมาเล่าเรื่องให้ฟัง เรื่องเล่าสามารถเปลี่ยนวิธีคิดของเราได้ ผู้บริหารจึงมักใช้เรื่องเล่าเป็นเครื่องมือกระตุ้นพลังของลูกทีม กลไกการทำงานของเรื่องเล่าจะเริ่มที่การสร้างความเข้าใจ อาจเป็นความเข้าใจในสิ่งใหม่ หรือตอกย้ำสิ่งที่เข้าใจอยู่เดิมให้เข้มข้นขึ้นจนพร้อมที่กระทำตามความคิดนั้น เรื่องเล่าที่มีพลังอาจสร้างให้เกิดเป็นความเชื่อความศรัทธา สามารถทำลายอุปสรรคกีดขวางและเปลี่ยนสถานการณ์ที่เลวร้ายให้กลายเป็นดีได้ เรื่องเล่าที่กระตุ้นจินตนาการจนเกินจริงไปบ้าง ควรนำมาใช้เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเท่านั้น ถ้านำมาใช้เป็นหลักจะกลายเป็นมอมเมาให้ลุ่มหลง ผู้นำและผู้บริหารที่มีชื่อเสียงทั้งหลายเข้าใจในพลังของเรื่องเล่าเป็นอย่างดีและมักใช้เรื่องเล่าเป็นเครื่องมือในการบรรยายหรือชี้ประเด็นที่ต้องการจะนำเสนอ ใครๆ ก็สามารถใช้เรื่องเล่าให้เป็นประโยชน์ได้ ถ้าหมั่นฝึกฝน
เรื่องเล่าแต่ละประเภทเหมาะสำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ กันไป มีเรื่องเล่าอยู่ 6 ประเภทที่สามารถนำมาใช้ได้ในการทำงาน
1. เรื่องเล่าประเภทแนะนำตัวเอง (Who I am “Stories”)
เป็นเรื่องที่ควรนำใช้เมื่อจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำทีมงาน เช่นเป็นผู้บริหารหน่วยงาน หรือเป็นหัวหน้าทีมงานแบบข้ามสายงาน ถ้าคุณเป็นผู้อยู่ในสถานะดังกล่าว ไม่ควรปล่อยให้สมาชิกในทีมคิดหรือไปค้นหาเอาเองว่าคุณคือใคร เพราะสิ่งที่พวกเขาคิดหรือฟังมามักจะเป็นในแง่ลบ เช่น บ้าอำนาจ นำทีมไม่เป็น หรือความรู้ไม่พอ อะไรทำนองนั้น และสุดท้ายก็ยังไม่รู้ว่าคุณเป็นใครในข้อเท็จจริงอยู่นั่นเอง แต่หากคุณชิงเล่าประวัติส่วนตัวให้พวกเขาฟังเสียนับตั้งแต่วันแรกที่รับหน้าที่เป็นผู้นำทีม คุณสามารถเล่าให้พวกเขาฟังได้ว่าคุณมีแรงบันดาลใจอะไร มีความเป็นมาในชีวิตอย่างไร จะช่วยให้พวกเขายอมรับคุณเป็นพวกได้ง่ายขึ้น เป้าหมายของการเล่าประวัติส่วนตัวควรอยู่ที่การชี้ข้อบกพร่องของตัวเองหรือความผิดพลาดในอดีต ไม่ใช่การยกตัวเองจนน่าหมั่นไส้ การนำเรื่องส่วนตัวที่เป็นข้อบกพร่องมาเล่าสู่กันฟังทำให้ผู้ฟังมีความรู้สึกว่าคุณไว้ใจเขาจึงเอาเรื่องที่ควรปกปิดมาเปิดเผยให้ทราบ นอกจากนั้นการเล่าข้อบกพร่องของตัวเองยังทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าคุณเป็นผู้ที่เข้าถึงได้ จับต้องได้อย่างปุถุชนคนหนึ่ง แต่ข้อบกพร่องหรือความผิดพลาดที่นำมาเล่านั้นไม่ควรเป็นเรื่องร้ายแรงจนไม่น่าให้อภัย
2. เรื่องเล่าชี้แจงเหตุผลที่มาทำหน้าที่นี้ (Why I am here “Stories”)
เป้าหมายของการเล่าเรื่องประเภทนี้คล้ายกับประเภทแรก คือลดความกินแหนงแคลงใจและทำให้ผู้ร่วมงานของคุณเชื่อว่าคุณไม่มีวาระซ่อนเร้น จะมีก็แต่ความตั้งใจที่มาร่วมงานกับพวกเขาให้บรรลุเป้าหมายที่มีร่วมกัน ในการเล่า ควรทำให้ผู้ฟังเกิดความมุ่งหวังที่จะร่วมกันทำงาน ไม่ใช่หวังว่าจะได้คุณมาเป็นที่พึ่งพาจนไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ เหตุผลที่นำมาเล่าควรเป็นเหตุผลของส่วนรวม มิเช่นนั้นผู้ฟังอาจเกิดความรู้สึกต่อต้านไม่อยากให้ความร่วมมือเพราะไม่ต้องการเป๋นบันไดหรือเครื่องมือให้คุณก้าวไปสู่เป้าหมายส่วนตัวของคุณ
3. เรื่องเล่าประเภทคำสอน (Teaching Stories)
การสอนให้เข้าใจโดยไม่มีการยกตัวอย่างประกอบคงทำให้สำเร็จได้ยาก อีสบเป็นนักเล่าที่ทุกคนรู้จักกันดี เขาสามารถให้คำสอนที่เป็นคติธรรมต่างๆ ได้อย่างไม่น่าเบื่อและยังเป็นที่จดจำของคนกว่าค่อนโลกยาวนานหลายศตวรรษ นิทานเรื่อง “เด็กเลี้ยงแกะ” ของเขาสามารถให้คำสอนให้คนไม่โกหก หรือเห็นความเป็นห่วงของผู้อื่นเป็นเรื่องสนุกสนาน ไม่ขอความช่วยเหลือพร่ำเพรื่อเว้นแต่เมื่อมีเหตุจำเป็นจริงๆ การถ่ายทอดเนื้อหาที่เป็นสาระโดยใช้เรื่องเล่าเช่นที่อีสบทำ จะช่วยให้การบรรยายของคุณมีความชัดเจนและช่วยให้ผู้ฟังสามารถจดจำผูกโยงเรื่องของคุณกับเรื่องเล่าตามคำสอนนั้นได้ดียิ่งขึ้น การเลือกใช้น้ำเสียงและลีลาในการเล่า ก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่ควรเลือกให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ฟัง
4. เรื่องเล่าเพื่อถ่ายทอดเจตนารมณ์ (Vision Stories)
ใช้เมื่อต้องการสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นความมุ่งหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องการย้ำเตือนทีมงานว่าพวกเขากำลังกระทำอะไรและทำไปเพื่ออะไร เรื่องประเภทนี้นำมาใช้กระตุ้นให้เกิดการกระทำและสร้างขวัญกำลังใจ คุณควรหาเรื่องเล่าที่สามารถทำให้ทีมงานหวลระลึกถึงเป้าหมายสุดท้ายของภารกิจ อีกทั้งเหตุผลที่ทุกคนต้องพยายามทำให้สำเร็จ การเล่าเรื่องประเภทนี้ควรถ่ายทอดออกมาจากเจตนาและความมุ่งหวังที่ฝังลึกในจิตใจของคุณเอง อย่าท่องมาเล่า
5. เรื่องเล่าประกอบความหมายของคุณค่า (Values in Action Stories)
คุณค่าแต่ละอย่าง เช่น ความซื่อสัตย์ ความดี ความสุข มีความหมายแตกต่างกันไปในจิตสำนึกของแต่ละบุคคล เมื่อใดที่คุณต้องการปลูกฝังคุณค่าในเรื่องใดให้กับทีมงาน ขอให้เริ่มจากนิยามตามความหมายของคุณก่อน เช่น ถ้าต้องการปลูกฝังคุณค่าในด้านการให้บริการแก่ลูกค้า ก็ควรอธิบายความหมายและคุณค่าของการให้บริการแก่ลูกค้าให้ทีมงานฟังซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่คุณจะได้รู้ว่าทีมงานของคุณมีมุมมองในเรื่องเหล่านั้นอย่างไร ควรใช้เวลาในการปลูกฝังนานเท่าใด เริ่มที่ใครก่อนหลังอย่างไร เป็นต้น
6. เรื่องเล่าประเภทวัดใจ (“I Know What You ‘re Thinking” Stories)
ลักษณะสำคัญของเรื่องเล่าประเภทนี้คือ การบรรยายสรรพคุณของสิ่งใดๆ ด้วยความมั่นอกมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม พร้อมกับท้าทายให้ทดลองพิสูจน์ความจริงในสิ่งที่ได้เล่าไป ในการเล่าสรรพคุณ ผู้เล่าอาจประเมินไปด้วยว่าผู้ฟังมีความคิดเห็นหรือมีความรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เล่านั้น ผู้เล่าไม่ควรพยายามหักล้างความคิดของผู้ฟัง เพราะจะสร้างการต่อต้านมากกว่าการยอมรับ สิ่งที่ควรอธิบายคือการแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ผู้อื่นคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเล่านั้นมีข้อเท็จจริงอื่นที่ผู้ฟังอาจยังไม่ทราบ เราจะเห็นเรื่องเล่าประเภทนี้บ่อยมากในการโฆษณาสินค้าที่มักจบลงด้วยประโยคที่ว่า “ถ้าไม่ดียินดีคืนเงิน”
แม้ว่าเรื่องเล่าจะมีหลายชนิดหลายประเภทดังที่กล่าวมาแล้วนี้ แต่ทุกประเภทมีหลักที่ผู้เล่าควรคำนึงถึงไม่ว่าจะเล่าในสถานการณ์ใด ได้แก่
1) จริงใจ
นักเล่าที่ดีจะต้องเล่าด้วยความจริงใจ ไม่เสแสร้ง ในการฝึกเล่า ไม่ควรฝึกการสร้างอารมณ์ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอารมณ์หรือความรู้สึกเช่นนั้น เพราะนั่นหมายความว่าคุณกำลังฝึกการเสแสร้งให้เหมือนจริงซึ่งไม่ควรทำอย่างยิ่ง สิ่งที่ควรฝึกคือ ฝึกการถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกที่แท้จริงผ่านน้ำเสียงและจังหวะจะโคนในการเล่า ไม่ต้องถึงขั้นสะอึกสะอื้นหรือแผดเสียง โปรดระลึกไว้เสมอว่า คนฟังไม่ได้โง่ เขาแยกแยะออกได้ว่าคุณกำลังแสดงละครหรือกำลังถ่ายทอดความรู้สึกผ่านสาระสำคัญของเนื้อหา
3) ซ้อมให้ดีเสียก่อน
2) คิดถึงใจผู้ฟังบ้าง
เรื่องเล่าที่ยาวเกินไป มักน่าเบื่อ คุณไม่จำเป็นต้องเก็บรายละเอียดมากมายหากไม่มีความเกี่ยวข้องจำเป็นกับเนื้อหา ในทางจิตวิทยา ผู้ฟังจะมีความตั้งใจฟังอยู่เพียงช่วงสั้นๆ เพื่อค้นหาว่าเป็นเรื่องที่เขาสนใจจะฟังหรือไม่ ผู้เล่าควรใช้ช่วงนาทีทองนี้ให้เป็นประโยชน์ในการเรียกความสนใจให้ได้ หากทำไม่สำเร็จในช่วงนี้แล้ว คุณก็อาจเห็นผู้ฟังยกข้อมือขึ้นดูเวลา แหงนมองเพดานห้อง หรือส่ายสายตามองสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ภายในห้อง แม้คุณจะไม่รู้ว่าเขากำลังมองหาอะไร แต่คงไม่ใช่คุณอย่างแน่นอน
ก่อนที่คุณจะเล่าเรื่องอะไรขอให้ลองซ้อมเล่าดูก่อน แม้จะเป็นสักครั้งหน้ากระจกหรือหน้ากล้องวิดีโอ ก็ช่วยได้มากตอนขึ้นเล่าจริง ในการเล่าเรื่อง ไม่ผิดอะไรที่คุณจะถือโน้ตชิ้นเล็กๆ ที่จดลำดับหัวข้อหรือชื่อเฉพาะที่จำยากหรืออาจออกเสียงผิดพลาด และหยิบขึ้นมาดูบ้างเป็นครั้งคราว การซ้อมจะช่วยให้การต่อเนื้อหาจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่งมีความกลมกลืน ลื่นไหล พยายามให้ท่าทางหรือภาษากายที่ใช้ ดูเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าคุณจะแนะนำตัวเอง เล่าเหตุผลความเป็นมา แสดงเจตนาวิสัยทัศน์ หรืออื่นๆ เป้าหมายที่สำคัญคือทำให้ผู้ฟังเชื่อในสิ่งที่คุณเล่า แต่มันคงจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนั้นไปได้ถ้าคุณพูดติดๆ ขัดๆ พูดไปแล้วก็กลับมาพูดใหม่
4) ใส่สีสัน
หมายถึงการทำให้เรื่องที่เล่ามีชีวิตชีวา สีสันของเรื่องเล่าควรมีความสัมพันธ์กับประเภทของเรื่องเล่านั้น เช่น ถ้าเป็นการแนะนำตนเอง การเล่าก็ควรมีบรรยากาศเบาๆ ในช่วงที่กล่าวถึงการศึกษา อาจมีมุกขำๆ สอดแทรกบ้าง แต่เมื่อถึงช่วงประสบการณ์ทำงาน ก็ควรจริงจังมากขึ้น มีบรรยากาศที่เกี่ยวกับประสบการณ์ความสำเร็จในการแก้ปัญหา การได้รับความร่วมมือที่ดีจากเพื่อนร่วมงาน ที่สำคัญจะต้องไม่ทำให้การเล่าเป็นการอ่านข่าว ควรมีท่าทางประกอบ มีโทนเสียงสูงต่ำ ยกตัวอย่างประกอบให้มากเข้าไว้เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจในสิ่งที่คุณเล่าให้มากที่สุด
เรื่องเล่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการสื่อสารได้ก็ต่อเมื่อผู้เล่าสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้ชัดเจน สร้างความสนใจได้ตลอดเวลาที่เล่า แบ่งการเล่าออกเป็นการเกริ่นนำ เนื้อหา และบทสรุป อย่าทำให้ “เรื่องเล่า” กลายเป็น “เรื่องเหล้า” ที่ฟังจบแล้วไม่รู้เรื่อง
บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
- Advantages of Story Points
- Communication Skills
- Effective Communication
- Informal Communication and the Grapevine
- Leadership Practices
- Presentation Exercise
- Time Management Skills
- การเป็นผู้นำที่ได้ใจคน ต้องมีพรสวรรค์เท่านั้นหรือ
-----------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น