วันพุธที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2566

ADL Matrix

 


ตารางกลยุทธ์ธุรกิจแบบ ADL

          ในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ จำเป็นต้องพิจารณาวงจรชีวิตของอุตสาหกรรมว่าอยู่ในสถานะใด คู่แข่งเป็นอย่างไร และกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ใช้อยู่เหมาะกับสถานะของอุตสาหกรรมและสภาพการแข่งขันหรือไม่ บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากที่สุดบริษัทหนึ่ง คือ Arthur D Little ได้เสนอเครื่องมือที่ผู้บริหารสามารถนำไปใช้ในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจโดยพิจารณาจากปัจจัยหลักสองประการ คือ

     o สถานภาพการแข่งขัน (Competitive Position) ของธุรกิจว่ามีความสามารถในการแข่งขันมากน้อยในระดับใด

     o ธุรกิจอยู่ในช่วงใดของวงจรชีวิตอุตสาหกรรม (Industry Maturity)

ADL Matrix คืออะไร
          ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจชื่อ Arthur D Little ได้พัฒนาเครื่องมือที่ใช้ประกอบการพิจารณากำหนดกลยุทธ์ธุรกิจโดยเรียกเครื่องมือนี้ตามชื่อบริษัทว่า ADL Matrix แนวคิดหลักของเครื่องมือนี้คือ ธุรกิจหรือบริษัทไม่สามารถกำหนดกลยุทธ์โดยดูแต่สถานะด้านการแข่งขันของตน แต่จะต้องนำวงจรชีวิตของอุตสาหกรรมมาพิจารณาด้วย ตัวอย่างเช่น หากสินค้าของบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดสูงและมั่นคง บริษัทนั้นย่อมใช้กลยุทธ์ทุ่มการลงทุนในสายการผลิตเพื่อครองส่วนแบ่งการตลาดให้มากที่สุด แต่กลยุทธ์ดังกล่าวกลับไม่ควรนำมาใช้หากในวงจรชีวิตของอุตสาหกรรมนั้น ส่วนแบ่งการตลาดเริ่มนิ่ง มีคู่แข่งมากซึ่งเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่าตลาดเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ในกรณีดังกล่าว หากบริษัทลงทุนเพิ่มเพื่อครองตลาดให้มากที่สุดก็อาจพบปัญหาสินค้าระบายไม่ออก ราคาตก และอาจต้องปิดสายการผลิต กลยุทธ์ที่หน่วยธุรกิจควรนำมาใช้จึงควรเปลี่ยนไปเป็นการรักษาส่วนแบ่งการตลาดนั้นไว้และให้ความสำคัญกับตลาดที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาใหม่แทน ADL matrix จึงเป็นเครื่องมือที่แนะนำกลยุทธ์กว้าง ๆ แต่ชัดเจน ผู้บริหารสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางวางแผนกลยุทธ์ที่เหมาะสมได้

(1) วงจรชีวิตอุตสาหกรรม (Industry Maturity หรือ Industry Life Cycle)
          อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นภาคส่วนใดก็ตาม จะมีวงจรชีวิตคล้าย ๆ กันเป็น 4 ช่วง คือ

     1. ช่วงเปิดตัวสินค้าในอุตสาหกรรม (Embryonic) ลักษณะที่สำคัญคือ
          o ตลาดเติบโตอย่างรวดเร็ว
          o การแข่งขันน้อยมาก
          o นำเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ มาใช้
          o มีการลงทุนสูง
          o สินค้าราคาสูง


     2. ช่วงเติบโต (Growth)
          o ตลาดยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
          o ยอดขายเพิ่ม
          o มีคู่แข่งเกิดขึ้นในตลาด แต่ไม่มากนัก
          o บริษัทได้รับผลตอบแทนจากการนำสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างเป็นกอบเป็นกำ


     3. ช่วงอิ่มตัว (Mature)
          o ตลาดและส่วนแบ่งทางการตลาดเริ่มนิ่ง (stable)
          o มีฐานลูกค้าเฉพาะรายหลัก ๆ ไม่มีการเติบโตอย่างที่เคยเป็นมา
          o มีคู่แข่งมากมาย
          o ต้องใช้ความพยายามในการสร้างความแตกต่างไปจากคู่แข่ง


     4. ช่วงถดถอย (Aging)
          o ความต้องการสินค้าลดลง ราคาลดต่ำลง
          o ลูกค้าเริ่มไม่ให้ความสำคัญกับสินค้านั้นในตลาด
          o การลงทุนเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดกลายเป็นความสิ้นเปลืองที่ไม่คุ้มค่า
          o ธุรกิจเริ่มแยกตัวจากตลาด หรือร่วมประคับประคองกันไปจนไม่มีสินค้าเข้าสู่ตลาด


(2) สถานภาพในการแข่งขัน (Competitive Position)
          ADL matrix แบ่งสถานภาพทางการแข่งขันออกเป็น 5 ลักษณะ ได้แก่

     1) โดดเด่น (Dominant)
          o เป็นผู้นำตลาดที่มีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง
          o ไม่มีการแข่งขันในตลาด หรือถ้ามีก็น้อยมาก
          o ส่วนมากจะเป็นผลมาจากการนำสินค้าใหม่ใน brand ที่มีชื่อเสียงเข้าสู่ตลาด


     2) แข็งแกร่ง (Strong)
          o มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงและมั่นคง
          o อาจอยู่ในฐานะผู้นำตลาด หรืออันดับสองของตลาด
          o การแข่งขันของคู่แข่งไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัท


     3) เป็นที่นิยมของลูกค้า (Favorable)
          o มีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกับของคู่แข่งอีกหลายราย
          o มีความได้เปรียบในการแข่งขันเฉพาะในบางพื้นที่
          o ไม่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตน มีศักยภาพในการแข่งขันเสมอกัน
          o ต้องใช้ความพยายามในการรักษาความได้เปรียบของตนในแต่ละพื้นที่


     4) เริ่มอึดอัด (Tenable)
          o ไม่ค่อยมีบทบาทในตลาด
          o ส่วนแบ่งการตลาดมีอยู่เพียงในตลาดเฉพาะ (niche market) หรือในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่คู่แข่งไม่ให้ความสนใจ
          o คู่แข่งกำลังแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไปโดยอาศัยคุณสมบัติที่โดดเด่นในสินค้าของตนเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน


     5) อยู่ยาก (Weak)
          o บริษัทสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดออกไปอย่างต่อเนื่อง
          o สายการผลิตมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะสร้างกำไร


          เมื่อนำวงจรชีวิตอุตสาหกรรมและสถานภาพการแข่งขันมาทำเป็นตาราง (matrix) จะได้ตารางที่ประกอบด้วยช่องรวม 20 ช่อง แต่ละช่องจะมีกลยุทธ์กว้าง ๆ ที่ควรนำไปใช้ในแต่ละสถานการณ์ รวม 20 กลยุทธ์ ดังนี้

วงจรชีวิตอุตสาหกรรม

กลยุทธ์

เปิดตัว

(Embryonic)

เติบโต

(Growth)

อิ่มตัว

(Mature)

ถดถอย

(Aging)

โดดเด่น

(Dominant)

·  ทุ่มเทสร้างส่วนแบ่งตลาด

·  ลงทุนสูง 

·   รักษาสถาน ภาพในอุตสาหกรรมและส่วนแบ่งตลาด

·   ลงทุนเพื่อรักษาสถานภาพการเติบโต

·   รักษาสถาน ภาพ, สร้างการเติบโตของส่วนแบ่งตลาดไปพร้อมการเติบโตของอุตสาหกรรม

·  ลงทุนเพิ่มตามความจำเป็น

·  รักษาสถาน ภาพในอุตสาหกรรม

·  ลงทุนเพิ่มตามความจำเป็น

แข็งแกร่ง

(Strong)

·   ทุ่มเทสร้างส่วนแบ่งตลาด

·  หาหนทางเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน

·  ลงทุนสูง

·   ทุ่มเทสร้างส่วนแบ่งตลาด

·   หาหนทางเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน

·   ลงทุนเพื่อเพิ่มการเติบโตและสถานภาพ

·   รักษาสถาน ภาพ, สร้างการเติบโตของส่วนแบ่งตลาดไปพร้อมการเติบโตของอุตสาหกรรม

·   ลงทุนเพิ่มตามความจำเป็น

·   รักษาสถาน ภาพในอุตสาหกรรมหรือตัดรายจ่ายเพื่อคงกำไรไว้ให้มากที่สุด

·   ลงทุนเพิ่มให้น้อยที่สุด

เป็นที่นิยม (Favorable)

·  ชะลอการสร้างส่วนแบ่งตลาด

·  หาหนทางเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน

·  เลือกลงทุนเฉพาะสินค้าที่ได้รับความนิยม

·  หาหนทางเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันและส่วนแบ่งตลาด

·   เลือกลงทุนเพื่อเพิ่มสถานภาพในอุตสาหกรรม

·      พัฒนาสินค้าในตลาดเฉพาะหรือในปัจจัยที่สร้างความแตกต่างและรักษามันไว้

·   ลงทุนเพิ่มให้น้อยที่สุด

·  ตัดรายจ่ายเพื่อคงกำไรไว้ให้มากที่สุดหรือวางแผนถอนตัว

·  ลงทุนให้น้อยที่สุดหรือหาทางออกจากการลงทุนที่มีอยู่

เริ่มอึดอัด (Tenable)

·  หาหนทางปรับปรุงสถานภาพในอุตสาหกรรม

·  เลือกลงทุนเฉพาะสินค้าที่มั่นใจว่าไปรอด

·   พัฒนาสินค้าในตลาดเฉพาะหรือในปัจจัยที่สร้างความแตกต่างและรักษามันไว้

·   เลือกลงทุนเฉพาะสินค้าที่ได้รับความนิยม

·  พัฒนาสินค้าในตลาดเฉพาะหรือในปัจจัยที่สร้างความแตกต่างและรักษามันไว้หรือวางแผนถอนตัว

·  เลือกลงทุนเฉพาะสินค้าที่ได้รับความนิยม

·  ค่อยๆ ถอนตัวออกจากตลาด

·  ถอนตัวจากการลงทุน

อยู่ยาก

(Weak)

·  มั่นใจว่าผลตอบแทนต้องสูงกว่าการลงทุน มิเช่นนั้นก็ออกจากตลาด

·  ตัดสินใจว่าจะลงทุนต่อหรือถอนตัว

·  หาหนทางเพิ่มส่วนแบ่งตลาดและสถานภาพธุรกิจหรือถอนตัวจากตลาด

·  ตัดสินใจว่าจะลงทุนต่อหรือถอนตัว

·   หาหนทางเพิ่มส่วนแบ่งตลาดและสถานภาพธุรกิจ หรือวางแผนการถอนตัวจากตลาด

·   เลือกลงทุนหรือถอนตัว

·  ออกจากตลาด


การใช้ ADL Matrix
          ADL Matrix จะให้กลยุทธ์กว้าง ๆ ในสถานการณ์ร่วมระหว่างวงจรชีวิตของอุตสาหกรรมและสถานภาพการแข่งขันของบริษัท เป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องปรับกลยุทธ์นั้นให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงทางธุรกิจของตนในขณะนั้น การใช้ ADL Matrix มีขั้นตอน ดังนี้

1) ระบุว่าวงจรชีวิตอุตสาหกรรมอยู่ในขั้นใด (Identify your industry maturity category)
          แม้จะใช้คำว่าอุตสาหกรรม แต่การประเมินในหัวข้อนี้ก็เป็นการประเมินที่ตัวสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่ง (segment) ที่อยู่ในตลาดว่าอยู่ในวงจรชีวิตใด ได้แก่ เพิ่งเปิดตัว, เติบโต, อิ่มตัว, หรือถดถอย ไม่ใช่สินค้าทุกประเภทในอุตสาหกรรมนั้น

2) ระบุสถานภาพการแข่งขันของคุณ (Determine your competitive position)
          ประเมินสถานภาพการแข่งขันของสินค้าของคุณเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด และการตอบรับของลูกค้า ว่ามีสถานะเป็นอย่างไร เป็นการประเมินสถานภาพที่เป็นจริงในปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่สถานะที่คาดหวังจะให้เป็น

3) กำหนดสถานะร่วมในตาราง (Plot your matrix position)
          นำผลการประเมินของข้อ 1) และข้อ 2) มา plot หาจุดร่วมในตาราง ในทางปฏิบัติ การระบุตำแหน่งวงจรชีวิตอุตสาหกรรมและสถานภาพการแข่งขันในขณะนั้นอาจมีลักษณะก้ำกึ่ง คืออยู่ระหว่างตำแหน่ง ระบุให้ชัดเจนว่าเป็นช่องใดเลยไม่ได้ จึงแนะนำให้เลือกกลยุทธ์ที่อยู่รอบ ๆ สถานะที่ก้ำกึ่งดังกล่าว แล้วพิจารณาว่ากลยุทธ์ใดที่น่าจะเหมาะสมกับสถานะของบริษัทมากที่สุด

          กลยุทธ์ที่กำหนดได้เป็นเพียงทิศทางกว้าง ๆ ซึ่งไม่มีรายละเอียดในการนำไปใช้ ด้วยเหตุนี้ ในการจัดทำแผนกลยุทธ์ จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือวิเคราะห์อื่น ๆ (ดูบทความที่แนะนำให้อ่านประกอบ) เพื่อให้ทราบว่าการเปลี่ยนแปลงในเรื่องใดที่จำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้นเพื่อให้ทิศทางกลยุทธ์ใน matrix นั้นประสบผลสำเร็จ

จุดเด่นและข้อจำกัดของ ADL Matrix

   จุดเด่น

     o ใช้ง่าย
     o ให้โอกาสการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
     o ช่วยสร้างแผนพัฒนาองค์กรแบบบูรณาการ



   ข้อจำกัด

     o การระบุวงจรชีวิตหรือสถานภาพการแข่งขัน มักใช้ความคิดเห็นของผู้ประเมิน (subjective) โดยขาดการวิเคราะห์ติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดและคู่แข่งอย่างใกล้ชิด จึงอาจได้กลยุทธ์ที่ไม่เหมาะสมกับสถานะที่เป็นจริงของตลาดและอุตสาหกรรม
     o สภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนไปมาอาจส่งผลกระทบต่อการวิเคราะห์
     o วงจรชีวิตของอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย และในบางภาคของธุรกิจอุตสาหกรรม พัฒนาการของวงจรชีวิตก็ไม่ได้เป็นเส้นตรง
     o อาจใช้เวลานานกว่าจะได้รู้วงจรชีวิตอุตสาหกรรมและสถานภาพการแข่งขัน กลยุทธ์ที่ได้จึงอาจล้าสมัย ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว


          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
---------------------------------



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น