วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

Adrenaline in Workplace

 


คุณและโทษของอดรีนาลีนในการทำงาน

          อดรีนาลีน (adrenaline) หรือ epinephrine เป็นฮอร์โมนและสารสื่อประสาทที่หลั่งจากต่อมหมวกไตเมื่อตระหนักถึงภัยหรือสิ่งเร้า ทำให้กล้ามเนื้อหลอดเลือดหัวใจทำงานอย่างเต็มที่ อัตราการเต้นของหัวใจและแรงดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น เหงื่อออก หายใจถี่ มีปริมาณโลหิตและอ็อกซิเจนในอวัยวะและกล้ามเนื้อมากขึ้น การหลั่งอดรีนาลีนเป็นส่วนหนึ่งของปฏิกิริยาตามธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดและหลุดพ้นจากสภาวะกดดันที่เป็นอันตราย เมื่อร่างกายหลั่งอดรินาลีน บุคคลจะมีความรู้สึกกระฉับกระเฉง ตื่นตัว มีความสุข บางคนถึงขั้นเสพติด เข้าทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงเพราะอยากมีความรู้สึกดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เช่น ขับรถแข่ง, โดดจากเครื่องบินหรือหน้าผาสูง, โหนรอกข้ามป่าหรือหุบเหว ฯลฯ

ประโยชน์ของอดรีนาลีน
          อดรีนาลีน ช่วยสร้างตวามตื่นตัวให้กับร่างกาย เราจึงเห็นองค์กรหลายแห่ง นิยมให้พนักงานออกกำลังกายเบา ๆ ก่อนเริ่มทำงาน อดรีนาลีนอาจไม่มีผลโดยตรงต่อการทำงานเป็นทีม แต่การได้มีประสบการณ์ร่วมกันในกิจกรรมหรือภารกิจที่น่าตื่นเต้น จะช่วยกระชับความสัมพันธ์และความเห็นอกเห็นใจกัน นอกจากนั้นการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันจะช่วยสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน

          นักวิจัยจาก the University of Essex School of Sport, Rehabilitation and Exercise Science ได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้โดยทำการทดสอบกับพนักงานจาก the International Quarter London (IQL Stratford) เพื่อยืนยันว่า อดรีนาลีนซึ่งหลั่งออกมาเมื่อร่างกายรู้สึกตื่นเต้น มีประโยชน์ต่อร่างกาย การทดสอบทำในช่วงเช้าด้วยการให้พนักงานไหลลงมาจากหอสูงของ ArcelorMittal Orbit ตามท่อพลาสติกใส ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ยาว 178 เมตร มีการหักเลี้ยว 12 จุด พนักงานจะไหลลงมาด้วยความเร็วประมาณ 15 ไมล์ต่อชั่วโมง ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 40 วินาที จากการสัมภาษณ์พนักงานทำให้ทราบว่า ความตื่นเต้นดังกล่าวสร้างความสุข ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้สึกมีพลัง และสมาธิให้กับคนงานได้มากขึ้นกว่าเดิม

          การวัดผลที่เป็นเชิงปริมาณทำด้วยการให้ผู้ทดสอบตอบแบบสอบถามก่อนและหลังเสร็จการทดสอบ พบว่า ระดับค่าเฉลี่ยความเครียดของผู้รับการทดสอบภายหลังกิจกรรมลดลงประมาณ 25% ความตื่นตัวกระฉับกระเฉง (energy) เพิ่มขึ้นประมาณ 32% หลังจากนั้น 6 ชั่วโมง พบว่าระดับความเครียดยังอยู่ในระดับต่ำเท่าเดิม คือต่ำกว่าก่อนทำกิจกรรมประมาณ 25% ขณะที่ความคิดสร้างสรรค์ (creativity and productivity) ยังสูงกว่าก่อนทำกิจกรรมประมาณ 12%

          ผลการศึกษาวิจัยนี้พอสรุปได้ว่า การกระตุ้นให้มีการหลั่งอดรีนาลีนในช่วงเช้าอาจช่วยลดความเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างวันลงไปได้ อย่างไรก็ตาม หากต้องการได้ผลสรุปในเชิงทฤษฎี ก็จำเป็นต้องขยายการวิจัยให้มากและกว้างขวางกว่านี้

โทษของอดรีนาลีน
          อดรีนาลีน ถ้ามีในระดับที่เหมาะสมก็จะเป็นประโยชน์กับการทำงาน วิธีทั่วไปที่ผู้บริหารหรือหัวหน้าทีมงานมักใช้ในการกระตุ้นอดรีนาลีนของลูกน้อง คือการกำหนดเส้นตายของงาน การมีกำหนดแล้วเสร็จที่แน่นอนและไม่กระชั้นเกินไปจะช่วยให้ทีมงานมีการวางแผนงานและมุ่งเน้นที่เป้าหมาย แต่การที่สร้างสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศที่กดดันเช่นนี้อยู่บ่อย ๆ หรืออย่างต่อเนื่อง กลับจะเป็นผลเสียเพราะแต่ละคนมีความทนต่ออดรีนาลีนแตกต่างกัน บางคนซึ่งได้รับอดรีนาลีนสูงเกินระดับที่เขาผู้นั้นจะสามารถควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมของตนได้ ก็จะเครียดจนเพี้ยนไปได้เช่นกัน

          อดรีนาลีน ไม่ได้หลั่งออกมาเฉพาะเวลาที่รู้สึกว่ากำลังตกอยู่ในอันตรายเท่านั้น แต่ยังหลั่งออกมาเมื่อบุคคลรู้สึกเครียดกับภาระงานที่ต้องทำให้สำเร็จ ตัวอย่างเช่น ศัลยแพทย์ที่กำลังจะทำการผ่าตัดซึ่งเสี่ยงต่อชีวิตของคนไข้ หรือทนายความที่อยู่ระหว่างรอคำพิพากษาของศาล ร่างกายจะหลั่งอดรีนาลีนออกมาเพื่อไล่ความรู้สึกเบื่อหน่าย โดดเดี่ยว วิตกกังวลให้หมดไป ทำให้บุคคลมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น บุคคลที่พบว่า หากตนต้องอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่กดดันมาก ๆ จะเกิดพลังฮึด (เพราะการหลั่งของอดรีนาลีน) จึงอาจพยายามสร้างแรงกดดันให้กับตนเองมาก ๆ เพื่อให้เกิดพลังดังกล่าว ผลก็คือบุคลิกภาพของเขาเหล่านั้นจะเปลี่ยนไป กลายเป็นคนฉุนเฉียว, โกรธง่าย, ร่วมงานกับใครไม่ได้, บ้างาน (workaholism), ไม่ไว้ใจใคร, เสียดุลยภาพระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการทำงาน เราเรียกบุคคลประเภทนี้ว่า เป็นผู้เสพติดอดีนาลีนโดยไม่รู้สึกตัว เขาจะไม่รู้ว่าเขากำลังตกอยู่ในปัญหา ไม่คิดว่าจะต้องบำบัดรักษาตัวอย่างไรจนกว่าจะเกิดปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นจากการควบคุมตนเองไม่ได้ เช่น หย่าร้าง, ตกงาน, หรือไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย

อันตรายจากการเสพติดอดรีนาลีนในการทำงาน
          ผู้เสพติดอดรีนาลีน แทนที่จะทำงานในสภาพเงื่อนไขที่ปลอดภัยกับตำแหน่งหน้าที่หรือธุรกิจของตน กลับมักพาตนเองหรือธุรกิจเข้าสู่ภาวะที่มีความเสี่ยง เช่น อาสาเข้ารับผิดชอบโครงการจำนวนมาก หรือ เข้ารับซื้อบริษัทหรือธุรกิจที่เกินกำลังความสามารถของตน ผู้เสพติดอดรีนาลีนมักชอบที่จะทำงานในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยการแข่งขันแบบสุด ๆ และอาจระเบิดความโกรธหรือความก้าวร้าวออกมาเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องปกป้องตนเองจากการแสดงความคิดเห็นหรือคำวิจารณ์ของผู้อื่น ผู้บริหารและหัวหน้าทีมงานจึงควรรักษาบรรยากาศการทำงานไม่ให้ตึงเครียดเกินไป ให้ทีมงานมีอดรีนาลีนในระดับที่สร้างสรรค์ (productive) ไม่ให้เกินเลยไปถึงระดับที่สร้างความบาดหมาง (abusive) จนมองผู้ร่วมทีมเป็นศัตรูหรือเป็นคู่แข่งที่ต้องเอาชนะ สภาพการทำงานของทีมงานที่ไม่สร้างสรรค์อันเนื่องมาจากมีอดรีนาลีนพลุ่งพล่านมากเกินไป ได้แก่

  • ปิดบังข้อมูลระหว่างกัน สมาชิกทีมงานต่างต้องคาดหมายกันเอาเองว่าควรทำภารกิจที่ประชุมตกลงกันไว้ เมื่อใด
  • หัวหน้าทีมที่มีอดรีนาลีนมากเกินไปมักเข้าสอดแทรกการทำงานของทีมงานในรายละเอียด (micromanagement) ส่งผลให้งานล่าช้าหรืออาจต้องเริ่มต้นกันใหม่หากหัวหน้าทีมเห็นว่ายังไม่สมบูรณ์เพียงพอ
  • หัวหน้าทีมกำหนดเป้าหมายที่ต้องการไม่ชัดเจน เปลี่ยนไปมา และแสดงความไม่รับผิดชอบหากงานล้มเหลว
  • กลุ่มงานหรือหน่วยงานทั้งหลายที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกันหรือสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด (silo functions) แต่มีสมาชิกที่มีอดรีนาลีนพลุ่งพล่าน จะตัดสินใจตามความคิดเห็นหรือเพื่อประโยชน์ของตนโดยไม่ปรึกษากลุ่มหรือหน่วยงานอื่นที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจนั้น

การป้องกันและแก้ไขปัญหาบุคลากรเสพติดอดรีนาลีน
          การเสพติดอดรีนาลีน ก็ไม่ต่างอะไรจากการเสพติดในสิ่งอื่น ๆ คือทำให้รู้สึกดีได้ชั่วครั้งชั่วคราว ผู้เสพติดจะรู้สึกหลุดพ้นจากความรู้สึกกดดัน นอกจากนั้นยังรู้สึกฮึกเหิม มีพลัง ปลอดโปร่งเหมือนตนมีอำนาจในการควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง ผู้เสพติดความรู้สึกเหล่านี้จึงมองไม่เห็นโทษของอดรีนาลีนตราบใดที่ยังไม่เกิดผลเสียใด ๆ จากพฤติกรรมที่แสดงออกไปและไม่รู้ตัวว่าตนเสพติดอดรีนาลีนเพราะไม่ได้เกิดจากการกิน ฉีด หรือสูดดมเหมือนการเสพยาเสพติดทั่ว ๆ ไป แต่เป็นความเชื่อมั่นที่เกินขอบเขตการควบคุมที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการหลั่งของอดรีนาลีน ยิ่งเชื่อมั่นสูงถึงขั้นบ้าบิ่น ก็จะยิ่งอันตรายโดยผู้นั้นมองความเสี่ยงหรืออันตรายนั้นว่าเป็นเรื่องปกติที่คนที่มีความสามารถ (เช่นตน) ต้องทำได้อยู่แล้ว

          เห็นได้ว่า แม้อดรีนาลีนจะช่วยให้บุคคลมีความอดทนต่อปัญหาอุปสรรคเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ แต่การปล่อยให้พนักงานหรือผู้บริหารต้องตกอยู่ในสภาพตึงเครียด หวาดวิตกอย่างต่อเนื่องเพราะเห็นว่าองค์กรจะได้รับประโยชน์ จะส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพและลักษณะนิสัยการทำงานของบุคลากรในระยะยาว ผู้บริหารและหัวหน้าทีมงานจึงควรนำแนวทางต่อไปนี้มาใช้เพื่อป้องกันไม่เกิดความเครียดในการทำงานซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการติดอดรีนาลีน กล่าวคือ

     o สร้างทีมผู้นำที่ประสานการทำงานกันแบบข้ามสังกัด เน้นการแก้ปัญหาและการทำความเข้าใจกับข้อจำกัดและความจำเป็นทั้งของตนและของหน่วยงานอื่น

     o สื่อสารกับผู้ฟังและผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการให้ชัดเจน พร้อมทั้งตรวจสอบความเข้าใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

     o กำหนดและสื่อสารเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นให้ชัดเจน ไม่เฉพาะแต่กับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน แต่ให้รวมไปถึงเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการทำให้สำเร็จด้วย

     o จัดทำแผนฟื้นฟูซึ่งครอบคลุมทุกเรื่องที่อาจผิดพลาดได้ ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาใดขึ้นภายหลังก็จะเป็นเรื่องที่ได้คาดคิดมาก่อน ช่วยให้สามารถจัดการกับปัญหาได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากกว่าการต้องจัดการกับปัญหาที่ไม่ได้เคยคาดคิดมาก่อน

     o จัดการกับปัญหาตั้งแต่แรกด้วยการแจ้งสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นให้ทีมงานได้ทราบ อย่าปล่อยให้ความผิดพลาดนั้นเกิดอยู่นานหรือบานปลายจนกลายเป็นวิกฤติ ทีมงานควรรู้ว่าอะไรเป็นปัญหาหรือมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหาเพื่อร่วมกันแก้ไข อย่าละเลยความเสี่ยงและมาสรุปด้วยการโทษว่าความผิดพลาดนั้นเป็นความผิดหรือความรับผิดชอบของผู้ใด

          นอกจากนั้น ผู้ที่รู้สึกว่าตนอาจเสพติดการมีอดรีนาลีนพลุ่งพล่านเมื่ออยู่ในสภาพบีบคั้นหรือมีความเครียดก็สามารถใช้วิธีเหล่านี้ในการบำบัด ได้แก่

     o นอนหลับให้เพียงพอในแต่ละวัน

     o ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ฝืนต่อสภาพร่างกายมากเกินไป

     o ทานอาหารให้ครบหมู่ ทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากไปหรือน้อยไป

     o อ่านข้อมูลข่าวสารหรือหนังสือที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานที่ทำบ้าง

     o ทำสมาธิ ฝึกจิตให้ปล่อยวาง เดินสายกลาง ไม่ยึดติดหรือวิตกกับเรื่องใดมากเกินไป

     o ขอรับคำแนะนำจากนักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตบำบัดเพื่อลดความตึงเครียด


          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ

  • Absence Management
  • Avoiding Micromanagement
  • Demand-Control Model of Job Stress
  • Getting More Exercise
  • Managing Stress
  • Meditation for Stress Management
  • Theory of Constraints [Eliyahu Goldratt]
  • Theory of Motivation [McClelland]
---------------------------------




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น