ABC Model เป็นเทคนิคสำคัญเทคนิคหนึ่งที่นักจิตวิทยาใช้ในการบำบัดแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมโดยมีกรอบความคิดว่า ความเชื่อหรือความคิดที่บุคคลสร้างขึ้นมาเพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตน จะมีอิทธิพลต่ออารมณ์และพฤติกรรมที่บุคคลใช้ตอบโต้เหตุการณ์นั้น ความมุ่งหมายหลักของ ABC Model จึงมุ่งไปที่การจัดโครงสร้างความคิดของบุคคลเสียใหม่ให้เป็นในทางบวกเพื่อพฤติกรรมที่แสดงออกมาจะได้เป็นพฤติกรรมที่ไม่ใช้อารมณ์ มีเหตุมีผล และเป็นที่ยอมรับของบุคคลอื่นได้มากขึ้น
ABC Model เป็นผลงานของนักจิตวิทยาและนักวิจัยชื่อ Dr. Albert Ellis มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า การบำบัดแบบเน้นเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรม (Rational Emotional-Behavior Therapy: REBT) เป็นเทคนิคที่นำมาใช้กับการบำบัดที่เรียกว่า การบำบัดโดยปรับความคิดเพื่อพฤติกรรมที่ดี (Cognitive behavioral Therapy: CBT) เพื่อช่วยผู้รับการบำบัดสามารถปรับ (reshape) ความคิดหรือความรู้สึกในแง่ลบให้เป็นแง่บวกด้วยการ
o ฝึกให้บุคคลตระหนักถึงผลเสียของความเชื่อ ซึ่งเป็นความคิดแง่ลบ ที่มีต่ออารมณ์และพฤติกรรม
o พัฒนาการสร้างความคิดเชิงบวกเพื่อใช้อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตน
คำว่า ABC เป็นคำที่ย่อมาจาก
A (Activating events) หมายถึงเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้น
B (Beliefs) หมายถึงความเชื่อหรือคำอธิบายที่บุคคลสร้างขึ้นมาเพื่อตอบคำถามว่าทำไมเหตุการณ์นั้นจึงเกิดขึ้นกับตน
C (Consequences) หมายถึงผลอันเกิดจากการนำความเชื่อหรือความคิดที่ตนสร้างขึ้นมา ไปใช้หรืออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผลดังกล่าวอาจอยู่ในรูปของอารมณ์ความรู้สึกภายในหรือพฤติกรรมที่แสดงออกมาภายนอก
ABC Model มีฐานความคิดว่า สิ่งเร้าหรือสถานการณ์ภายนอก (A) ไม่ได้เป็นปัจจัยให้เกิดอารมณ์หรือพฤติกรรม (C) สิ่งที่มาเร้าให้เกิดอารมณ์หรือพฤติกรรมคือความเชื่อที่บุคคลสร้างขึ้นมา (B) หรืออาจกล่าวในทางกลับกันได้ว่า อารมณ์และพฤติกรรมของบุคคล (C) ไม่ได้ถูกกำหนดโดยตรงจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ (A) แต่เป็นผลมาจากเหตุการณ์นั้นได้ถูกปรุงแต่งในกระบวนความคิดและความเชื่อของบุคคล (B) ซึ่งแบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่ ความเชื่อที่เป็นเหตุเป็นผล (rational belief) และความเชื่อที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล (irrational belief) ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า การบิดเบือนทางจิตใจ (cognitive distortion) เป้าหมายของ ABC Model จึงเป็นการช่วยให้บุคคลสร้างความเชื่อที่เป็นเหตุเป็นผลในกระบวนความคิดและกำจัดความเชื่อที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลนั้นทิ้งไป
การนำ ABC Model ไปใช้พัฒนาอารมณ์และพฤติกรรม
นักจิตวิทยาจะให้บุคคลที่เข้ารับการบำบัด
o พิจารณาสิ่งเร้าหรือเหตุการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้น (A) ว่ามีสาระแก่นสารหรือความมีเหตุมีผลมากน้อยเพียงใด ช่วยให้บุคคลมีเวลาหยุดคิด ไม่ปล่อยให้ความเชื่อที่ตนสร้างขึ้นมา มีปฏิกิริยาในรูปอารมณ์หรือพฤติกรรมโดยไร้การไตร่ตรอง (automatic thought)
o ทบทวนผลเสียของความเชื่อแง่ลบที่สร้างขึ้นมา (B) กับ อารมณ์ที่รู้สึกและพฤติกรรมที่เคยแสดงออกไป (C) การทบทวนความรู้สึกของตนเองจะช่วยให้บุคคลได้มองเห็นความบกพร่องของตนตลอดจนผลเสียที่เกิดจากอารมณ์และพฤติกรรมนั้น
ลองพิจารณาสถานการณ์ต่อไปนี้หรือคล้ายกันนี้ซึ่งอาจเคยเกิดขึ้นกับคุณ
o เพื่อนร่วมงานของคุณมาถึงที่ทำงาน แต่ไม่ได้ทักทายคุณ
o เพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งจัดงานเลี้ยงแต่ไม่ได้เชิญคุณเข้าร่วมงาน
o ญาติของคุณวางแผนจัดงานแต่งงาน ได้ขอให้ญาติคนอื่น ๆ ช่วย แต่ไม่เคยบอกหรือขอให้คุณช่วย
o ผู้บังคับบัญชามาถามว่างานที่ได้รับมอบหมาย จะเสร็จได้หรือยัง
o เพื่อนของคุณไม่ได้มากินมื้อเที่ยงตามที่นัดกันไว้
ในแต่ละสถานการณ์ คุณอาจเกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างต่อไปนี้
- โกรธ
- เสียใจ น้อยใจ
- เครียด
- กลัว
- โทษตัวเอง
ลองนำตัวอย่างแรกมาใช้ใน ABC Model
Activating event: เพื่อนร่วมงานของคุณมาถึงที่ทำงาน แต่ไม่ได้ทักทายคุณ
Belief: เพื่อนคนนั้นเห็นคุณไม่มีค่า ไม่มีความหมาย ทักทายไปก็ไม่ได้ทำให้เขาได้อะไร สู้ไปทักทายผู้บังคับบัญชาหรือคนอื่นที่เขายอมรับว่าเป็นเพื่อนจะดีกว่า
Consequence: ความรู้สึกเสียใจ น้อยใจ คุณเริ่มมีพฤติกรรมเก็บตัว ไม่สู้หน้าใคร พบใครก็ไม่ทักทายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเพื่อนผู้นั้น จะทำเป็นมองไม่เห็นเพื่อตอบโต้สิ่งที่เขาได้เคยทำกับคุณ
นักจิตวิทยาบางท่านได้แนะนำให้เรียกขั้นตอนที่บุคคลปรับความเชื่อหรือสิ่งที่ตนสร้างขึ้นมาใหม่ว่า Disputation (D) และเรียกผลที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังการปรับเปลี่ยนความเชื่อแล้วว่า New Effect (E) ซึ่งนำมาใช้อธิบายในตัวอย่างได้ดังนี้
Disputation: เพื่อนคนนั้นอาจไม่ทันเห็นคุณ หรือเขาอาจมีเรื่องอื่นที่รบกวนจิตใจอยู่จนไม่มีแก่จิตแก่ใจที่จะทักทาย หรือต่อให้เขาไม่ทักทายคุณ ก็ไม่เห็นจะเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไร ไม่เห็นจะต้องนำมาเก็บเป็นอารมณ์
New Effect: รู้สึกเห็นใจเพื่อนคนนั้นและต้องการให้ความช่วยเหลือหากเขากำลังประสบปัญหา ไม่ถือสาและพร้อมให้อภัย คุณเองก็สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ตามปกติ ไม่ต้องคอยหลบหรือไม่สู้หน้าใคร
การปรับความเชื่อให้เป็นความคิดเชิงบวกไว้เสมอ เป็นการตีกรอบความคิดในเชิงป้องกันไม่ให้จิตใจต้องกระเพื่อมไปตามสถานการณ์หรือเหตุการณ์ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดและจะมาในรูปแบบใด ลองเปรียบเทียบความเชื่อเดิม (B) กับความเชื่อใหม่ (D) จะเห็นได้ว่าก็ใช้หลักความคิดเชิงบวกเช่นกัน ผลที่เกิดขึ้นใหม่ (E) จึงเป็นในทางบวกที่ไม่เสียมิตรและสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข
สถานการณ์ที่ไม่เหมาะกับการใช้หลักเหตุผลของ ABC Model
ABC Model มุ่งเน้นการเปลี่ยนความเชื่อที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลให้เป็นความเชื่อที่เป็นเหตุเป็นผล แต่ในกรณีความโศกเศร้า (grief) ของบุคคล เช่น จากการสูญเสียผู้ที่เป็นที่รักหรือคนสำคัญในครอบครัว เราไม่สามารถนำหลักของ ABC Model ไปพิจารณาว่าความโศกเศร้าเป็นความรู้สึกที่มีเหตุมีผลหรือไม่ สิ่งที่ควรทำในที่นี้คือการใช้หลักอนิจจังให้ผู้สูญเสียได้ยอมรับว่าการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเป็นเรื่องที่ไม่มีใครจะหลีกเลี่ยงได้ เป็นธรรมดาที่ผู้สูญเสียจะรู้สึกโศกเศร้า แต่อย่าปล่อยให้ความรู้สึกโศกเศร้านั้นรุนแรงยาวนานจนเป็นผลเสียต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิต
ข้อแนะนำเมื่อตั้งใจจะเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดี
การเปลี่ยนวิธีคิดไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะหากบุคคลนั้นอยู่กับการมีความคิดเชิงลบมายาวนาน หรือยังไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องเปลี่ยนให้เป็นเชิงบวก อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำต่อไปนี้อาจช่วยให้สามารถเปลี่ยนวิธีคิดได้
1. ทำความเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
ผู้ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตมักคิดหรือคาดหวังให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในทันทีทันใด เมื่อการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นรวดเร็วอย่างที่หวัง ก็มักจะหวนกลับไปมีวิธีคิดแบบเก่าและล้มเลิกการพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนตัวเองไป จึงควรเข้าใจเสียตั้งแต่แรกว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ จะสำเร็จได้ก็ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ อย่ายกเลิกความพยายามหรือกลับไปมีวิธีคิดแบบเดิม
2. นึกถึงผลที่จะได้รับจากการเปลี่ยนแปลง
แรงจูงใจเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าคุณไม่มีเหตุผลว่าทำไมจะต้องมีพฤติกรรมใหม่ ก็จะไม่มีเหตุผลที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ในทางตรงกันข้าม หากผลที่จะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมีความหมายต่อคุณมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นในทางบวกหรือทางลบ คุณก็คงต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณเพื่อให้ได้รับหรือไม่ได้รับผลนั้น คุณจึงควรหมั่นนึกถึงผลเสียที่จะได้รับ หรือรางวัลที่จะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงพฤตืกรรมนั้น
3. เชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้
หลายคนเชื่อว่าตนไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ทั้งหลาย แต่จากผลการวิจัย การเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเรื่องที่ทำได้หากปฏิบัติในแนวทางที่ถูกต้อง รักษาแนวคิด (mindset) ที่ดีไว้ให้มั่นคง ขอรับความช่วยเหลือหรือคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ อย่าปล่อยให้ความท้อถอยหรือความกลัวมาฉุดรั้งให้กลับไปมีความเชื่อเก่า ๆ ที่เป็นปัญหาอีก
4. ปรึกษาผู้รู้เพื่อรับคำแนะนำ
การขอรับคำปรึกษาจากผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต (mental health) อาจเป็นเรื่องจำเป็นหากคุณไม่มั่นใจว่าจะใช้วิธีใดจึงจะสามารถเลิกวิธีคิดที่เป็นปัญหา การเปลี่ยนวิธีคิดเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ การมีผู้รู้ที่คอยให้คำแนะนำและวิเคราะห์ทั้งสิ่งเร้าและพฤติกรรมที่แสดงออก จะช่วยให้ได้คำแนะนำที่ถูกต้องว่าควรปรับแนวคิดอย่างไรจึงจะช่วยให้เกิดพฤติกรรมที่เหมาะสม
ผู้อ่านบางท่านอาจได้เคยอ่านแนวคิดเรื่อง ABC Model ในบทความอื่นซึ่งกล่าวว่า ABC เป็นคำย่อมาจาก Antecedent, Behavior และ Consequence โดยเปลี่ยน B ซึ่งเป็นอักษรตัวกลาง จาก Belief เป็น Behavior ส่วน Consequence เปลี่ยนจากอารมณ์และพฤติกรรม มาเป็นผลของการมีอารมณ์หรือการแสดงพฤติกรรม แม้ว่าการอธิบายและการให้ความหมายจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่หลักสำคัญก็ไม่ได้แตกต่างกัน คือเป็นแนวคิดเชิงระบบ input, process และ output ที่กล่าวถึงอิทธิพลของเหตุการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่มีต่อความเชื่อที่บุคคลสร้างขึ้นมา จนเกิดเป็นอารมณ์หรือพฤติกรรม
ผู้อ่านที่เป็นชาวพุทธอาจสังเกตว่า ABC Model และ CBT เป็นแนวคิดซึ่งสอดคล้องกับหลักธรรมทางพุทธศาสนาในเรื่องปฏิจจสมุปบาท ที่กล่าวว่า
o เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ (อายตนะทั้ง 6) จึงมี
o เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะ (การกระทบหรือสัมผัส) จึงมี
o เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา (ความรู้สึกขอบหรือไม่ชอบ) จึงมี
บุคคลจึงควรใช้อุเบกขาควบคุมเวทนาไม่ให้ถูกปรุงแต่ง (สังขาร) ด้วยอารมณ์และความโกรธจนก่อให้เกิดทุกข์
หลักธรรมทางพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็นอกาลิโก คือ เป็นจริงโดยไม่จำกัดเวลา สอดคล้องกับผลงานวิจัยทางจิตวิทยาของ Dr. Robert Ellis ซึ่งเพิ่งถูกค้นพบในอีก 2,600 ปีต่อมา
บทความที่ขอแนะนำให้อ่านประกอบ
- 2-Factor Theory of Emotion
- Applied Behavior Analysis (ABA)
- Cognitive Behavioral Therapy (CBT)
- Mindfulness
- Overcoming Negative Beliefs
- Person-Centered Therapy
- Positive or Negative Thinker
- Self-Determination Theory (SDT)
- Transactional Theory of Stress and Coping
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น