วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

2-Factor Theory of Emotion [Schachter and Singer]




    ทฤษฎีอารมณ์จากเหตุสองปัจจัย
          
          นักวิจัยได้พยายามค้นหาเหตุผลเพื่ออธิบายว่า อารมณ์ของมนุษย์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีผลต่อการสั่งการของสมองหรือสติปัญญาของมนุษย์อย่างไร ทำให้มีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความคิดและอารมณ์เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960 หลายทฤษฎี ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติใหญ่ทางความคิดด้านจิตวิทยา หนึ่งในทฤษฎีแรกๆ ที่พัฒนาขึ้นมาในช่วงนี้ คือ ทฤษฎีอารมณ์จากเหตุสองปัจจัย (Two-Factor Theory of Emotion) ของนักวิจัยสองท่าน คือ Stanley Schachter และ Jerome E. Singer ซึ่งมีแนวคิดหลักว่า อารมณ์เป็นผลจากการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างสองปัจจัย คือ ความตื่นตัวทางร่างกาย (physiological arousal) กับ การลงความเห็นทางปัญญา (cognitive label) โดยความตื่นตัวทางร่างกายจะได้รับการตีความตามปัญญาหรือความรู้ความเข้าใจของบุคคลในแต่ละสถานการณ์ ส่งผลให้เกิดเป็นอารมณ์หรือความรู้สึก
     
          บุคคลจะตีความสิ่งเร้าตามประสบการณ์ในอดีตของตนเป็นหลัก และอาศัยบริบทของสถานการณ์ในขณะนั้นเป็นส่วนประกอบ เช่น ถ้าคุณไปเห็นงูที่สวนหลังบ้าน งูที่เห็นจะไปกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทอัตโนมัติ ให้เกิดความตื่นตัวทางร่างกาย สมองจะตีค่า (label) ความตื่นตัวออกมาเป็นความกลัว ความกลัวนี้คืออารมณ์ซึ่งจะมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นกับบริบทหรือเงื่อนไขประกอบ เช่น งูมีขนาดเท่าไร ห่างจากคุณเท่าไร คุณมีอุปกรณ์ป้องกันตัวหรือไม่ เคยมีประสบการณ์การเผชิญหน้ากับงูมาก่อนหรือไม่ ฯลฯ
          
          ลำดับขั้นของการเกิดอารมณ์จึงเริ่มจากการที่บุคคลเกิดความตื่นตัวทางร่างกาย หลังจากนั้นสมองจะหาเหตุผลมาอธิบายความรู้สึก โดยทั่วไปก็โดยใช้ประสบการณ์มาพิจารณาว่าสิ่งที่เข้ามาเร้าให้เกิดความตื่นตัวนั้นคืออะไร มีสิ่งประกอบอื่นเข้ามาเสริมหรือลดค่าของสิ่งเร้านั้นหรือไม่ เพียงใด แล้วจึงเกิดเป็นอารมณ์

เหตุการณ์ >> ความตื่นตัวทางร่างกาย >> การให้เหตุผล >> อารมณ์

          อีกตัวอย่างเกี่ยวกับบทบาทของสภาพแวดล้อมที่มีต่อสิ่งเร้า สมมุติว่าคุณกำลังเดินไปที่รถซึ่งจอดอยู่ในที่มืดตามลำพังคนเดียว ทันใดนั้น มีผู้ชายแปลกหน้าคนหนึ่งโผล่ออกมาจากแนวต้นไม้ใกล้ๆ และปรี่มาที่คุณ ตามทฤษฎีอารมณ์จากเหตุสองปัจจัยของ Schachter–Singer กระบวนการก่อเกิดอารมณ์จะเริ่มจากสิ่งเร้าภายนอก (ผู้ชายแปลกหน้า) ก่อให้เกิดสิ่งเร้าทางร่างกาย (หัวใจเต้นแรงและตัวสั่น) สมองจะให้เหตุผลตามประสบการณ์ว่าเป็นอันตราย และสั่งการจากการตีความให้เกิดอารมณ์ คือความกลัว

          จากตัวอย่างเดียวกัน หากเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเป็นว่า คุณกำลังเดินไปที่รถซึ่งจอดในเวลากลางวัน มีหญิงแก่คนหนึ่งเดินออกมาจากแนวต้นไม้ใกล้ๆ และมุ่งมาที่คุณ เป็นไปได้อย่างมากว่า แทนที่คุณจะเกิดความกลัว คุณอาจคิดว่าหญิงแก่นั้นต้องการความช่วยเหลือจากคุณและคุณก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ

          เหตุการณ์อย่างเดียวกัน ก่อให้เกิดอารมณ์ที่แตกต่างกัน เหตุการณ์แรกทำให้เกิดความกลัว แต่เหตุการณ์ที่สองทำให้เกิดความสงสารเห็นใจ

การทดสอบทฤษฎี
          นอกจากกระบวนการการเกิดอารมณ์แล้ว Two-Factor Theory of Emotion ยังอธิบายในลักษณะย้อนศรเพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความตื่นตัวทางร่างกายซึ่งเป็นสิ่งเร้า กับการใช้ปัญญาในการหาเหตุผล ให้ชัดเจนขึ้น ดังนี้


อารมณ์ >> การให้เหตุผล >> สาเหตุความตื่นตัวทางร่างกาย

          เมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้น ร่างกายจะรับรู้ด้วยความรู้สึกที่ตื่นตัว เช่น เมื่อโกรธ ร่างกายจะสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรง พูดเสียงดัง บุคคลจะใช้สภาพแวดล้อมที่อยู่ในขณะนั้นเพื่อค้นหาสาเหตุของอารมณ์ (emotional cue) และนำมาใช้อธิบายความรู้สึกตื่นตัวนั้น บุคคลจะสามารถควบคุมตนเองได้ดีขึ้นถ้ารู้สาเหตุหรือเหตุผลที่เกิดสิ่งเร้านั้น แม้ความรู้นั้นจะไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงก็ตาม


          Schachter และ Singer ได้ทดสอบทฤษฎีของเขาในปี ค.ศ. 1962 กับนักศึกษาชายจำนวน 184 คน เพื่อศึกษาว่าบุคคลใช้ข้อมูลในสภาพแวดล้อม มาอธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายอย่างไร ทั้งความรู้สึกตื่นตัวที่เกิดกับร่างกาย และอารมณ์ที่ได้รับการกระตุ้นจากความตื่นตัว Schachter และ Singer มีข้อสมมุติฐานในการทดสอบ 3 ประการ

     1)  ถ้าบุคคลรับรู้ว่ามีความตื่นตัวขึ้นในร่างกาย เช่น หัวใจเต้นแรง มือสั่น โดยไม่สามารถหาสาเหตุได้ เขาจะรับเอา (label) ความรู้สึกนั้นไว้ และให้เหตุผลไปตามความรู้ความเข้าใจของตน

     
2)  ถ้าบุคคลรับรู้ว่ามีความตื่นตัวขึ้นในร่างกายโดยมีความรู้ความเข้าใจที่สมเหตุสมผล (เช่น ที่รู้สึกเช่นนี้เพราะเพิ่งได้รับการฉีดยามา) เขาก็ไม่น่าที่จะให้เหตุผลของความรู้สึกหรืออารมณ์ของตนไปในทางอื่น

     3)  ถ้าบุคคลตกอยู่ในสถานการณ์ที่เคยทำให้เขามีอารมณ์ เขาจะแสดงอารมณ์หรือเกิดอารมณ์นั้นอีกเมื่อร่างกายมีความรู้สึกตื่นตัว


          นักศึกษาทุกคนได้รับแจ้งว่า ยาที่ฉีดคือยาใหม่ชื่อ Suproxin เพื่อทดสอบความสามารถในการมองเห็น แต่ตามความเป็นจริง นักศึกษาได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มที่หนึ่ง (Epinephrine informed)
          ได้รับการฉีด epinephrine หรือ adrenaline และได้รับแจ้งว่าอาจมีผลข้างเคียง เช่น มือสั่น หัวใจเต้นแรง หน้าชาและแดง กลุ่มนี้ได้รับความคาดหวังว่า เมื่อรู้สึกถึงความตื่นตัวทางร่างกายอันเป็นผลจากการได้รับสารกระตุ้นแล้ว เมื่อมีอารมณ์กับเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้า ก็จะเข้าใจได้ว่า อารมณ์ของตนที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลมาจากผลข้างเคียงของยา ทำให้สามารถควบคุมอารมณ์ของตนได้ดีขึ้น

กลุ่มที่สอง (Epinephrine ignorant)
          ได้รับการฉีด epinephrine แต่ไม่ได้รับแจ้งว่าจะมีผลข้างเคียงจากการฉีดยาอย่างไร กลุ่มนี้ได้รับความคาดหวังว่า เมื่อไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ว่าอารมณ์ของตนมีสาเหตุมาจากอะไร ก็จะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนที่เกิดขึ้นได้

กลุ่มที่สาม (Epinephrine misinformed)
          ได้รับการฉีด epinephrine และได้รับแจ้งข้อมูลที่เป็นเท็จว่าจะรู้สึกขาชา คันตามร่างกาย และมึนหัวเล็กน้อย กลุ่มนี้ได้รับความคาดหวังว่า เมื่ออาการที่เกิดขึ้นไม่ตรงกับคำที่ได้รับแจ้ง จึงไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายความรู้สึกตื่นตัวของตนได้ การควบคุมอารมณ์จึงไม่น่าต่างจากกลุ่มที่สอง

กลุ่มที่สี่ (Control group)
          ได้รับการฉีดยาหลอก (placebo) และไม่ได้รับแจ้งว่าจะมีอาการข้างเคียงใดๆ กลุ่มนี้ถูกใช้เป็นกลุ่มควบคุมเพราะเป็นกลุ่มที่ไม่มีการตื่นตัวทางร่างกาย อารมณ์ไม่ได้ถูกกระตุ้นด้วยอำนาจของยา อารมณ์ที่มีกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าจึงไม่ไม่รุนแรงเหมือนสามกลุ่มแรกที่ถูกฉีดสารกระตุ้น

          หลังจากฉีดยาให้นักศึกษาครบทุกคนแล้ว ผู้วิจัยได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยกับนักศึกษา แสดงท่าทีโมโหโกรธเคืองบ้าง แสดงอารมณ์เบิกบานมีความสุขบ้าง โดยมีผู้วิจัยเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ด้านนอก มองผ่านกระจกที่เห็นจากภายนอกด้านเดียวและให้คะแนนสภาวะอารมณ์ของนักศึกษาเป็นสามลำดับ หลังจากนั้นจึงให้นักศึกษาตอบแบบสอบถามแบบให้คะแนนตั้งแต่ 1-5 (Likert Scale) และวัดการเต้นของหัวใจ

          ผลการวิจัยจากการสังเกตและการตอบแบบสอบถาม พบว่า การแสดงท่าทีโกรธเคืองหรือเบิกบานยินดีของนักวิจัย ส่งผลต่อนักศึกษาแต่ละกลุ่มต่างกัน (น้อยสุด = 1, มากสุด = 4)

กลุ่ม การแสดงออกถึง
ความสุข
การแสดงออกถึง
ความโกรธ
 1) Informed 1 1
 2) Ignored 3 3
 3) Misinformed 4 ไม่มีข้อมูล
 4) Placebo 2 2
            
          จากผลการทดสอบดังกล่าว แสดงว่า นักศึกษาที่ไม่ทราบว่าทำไมพวกเขาจึงมีความรู้สึกตื่นตัว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับแจ้งเรื่องผลข้างเคียงของยา และกลุ่มที่ได้รับข้อมูลมาไม่ตรงกับอาการที่ตนรู้สึก จะเข้าใจว่าความรู้สึกนั้นเป็นผลมาจากการแสดงออกของนักวิจัย และพลอยมีอารมณ์คล้อยตามไปตามสิ่งที่ปรากฏนั้นในระดับที่มากกว่ากลุ่มที่มีข้อมูลและกลุ่มที่ไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในร่างกาย

          Schachter และ Singer สรุปผลการทดสอบนี้ว่าเป็นไปตามสมมุติฐานของเขา คือ อารมณ์ของบุคคล เป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างความตื่นตัวของร่างกาย กับ สภาพแวดล้อม (การได้ทราบข้อมูลเรื่องผลกระทบของยา) เมื่อบุคคลเข้าใจสาเหตุการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ก็สามารถจัดการกับอารมณ์ของตนไม่ว่าจะเป็นความเบิกบานยินดี หรือความโกรธ ได้ดีกว่าผู้ที่ไม่รู้

          นอกจากการทดลองของ Schachter และ Singer แล้ว ยังมีงานของนักวิจัยท่านอื่นซึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับสิ่งเร้ามาอย่างไม่ถูกต้อง (misattribution of arousal) งานวิจัยที่ว่านั้นเป็นของ Donald G. Dutton และ Arthur P. Aron โดยใช้สิ่งเร้าตามธรรมชาติมาทำให้เกิดการตื่นตัวของร่างกาย ในการทดลอง เขาให้ชายสองกลุ่มเดินข้ามสะพานที่ต่างกัน สะพานหนึ่งเป็นสะพานแขวนที่แคบและน่าหวาดเสียว แขวนอยู่บนเหวลึก อีกสะพานหนึ่งปลอดภัยและมั่นคงกว่า ที่ปลายสะพานทั้งสองมีหญิงสาวรออยู่ เธอให้ชายที่ขามสะพานตอบแบบสอบถามซึ่งรวมถึงการให้อธิบายภาพสองแง่สองมุม และเบอร์โทรคิดต่อหากต้องการสอบถามเพิ่มเติม แนวคิดในการทดลองนี้เพื่อทราบว่าชายกลุ่มใดจะเป็นผู้โทรไปหาหญิงสาว และเพื่อวัดความคิดในเรื่องเพศที่เขาเขียนในแบบสอบถามภายหลังข้ามสะพาน ผลการทดลองพบว่า ชายกลุ่มที่ข้ามสะพานน่าหวาดเสียวโทรไปหาหญิงสาวเพื่อติดตามผลการศึกษาเป็นจำนวนมากกว่ากลุ่มที่ข้ามสะพานไม่หวาดเสียว และสิ่งที่เขียนในแบบสอบถามก็มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องเพศมากกว่าด้วย การให้ความเห็นจากการทดลองเพื่อประกอบ Two-Factor Theory of Emotion ซึ่งนับว่าผิดพลาดคือ ไปสรุปว่า ที่ผลการทดลองออกมาเช่นนี้เป็นเพราะชายกลุ่มที่ข้ามสะพานหวาดเสียวได้แปลงความตื่นตัวที่เกิดกับร่างกายจากความกลัวและตื่นเต้นไปเป็นความรู้สึกทางเพศที่มีต่อหญิงสาว

          นอกจากนี้ยังมีการทดลองที่ทำซ้ำการทดลองของ Schachter และ Singer อีกหลายครั้ง เช่นการทดลองของ Maslach ซึ่งข้อสรุปว่า เมื่อบุคคลไม่สามารถอธิบายสาเหตุของอารมณ์หรือการกระตุ้นทางรางกายที่เกิดขึ้นกับตน จะเกิดอารมณ์ไปในทางลบ คือโกรธ หรือกลัว

          ทฤษฎีอารมณ์จากเหตุสองปัจจัย (Two-Factor Theory of Emotion) นี้มีความสอดคล้องกับแนวคิดทางพุทธศาสนาในเรื่องเวทนา 5 ที่ว่า ในความรู้สึกซึ่งเกิดจากผัสสะของอายตนะ หากบุคคลมีสติ มีศีล และหลักธรรมอยู่ในใจ จะช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจ (ปัญญา) ที่จะจัดการกับสิ่งเร้า สามารถให้เหตุผลกับการเกิดของอารมณ์ และควบคุมอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรู้ทัน

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
  • ABC Model of Behavior
  • Emotional Cycle of Change [Kelley and Conner]
  • Emotion Wheel (Robert Plutchik)
  • Theory of Emotion [Cannon-Bard]

---------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น