วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2565

10 Ways to Overcome a Fear of Networking

 


10 วิธีเอาชนะความกลัวเมื่อต้องเข้าสังคม

          คุณมีพฤติกรรมอย่างไรเวลาเข้าที่ประชุม หรือร่วมงานเลี้ยงในชมรมอาชีพ หรือในการเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ คุณเดินเข้าไปในกลุ่มผู้คนและสร้างความคุ้นเคยอย่างเป็นธรรมชาติ หรือค่อยๆ กระมิดกระเมี้ยนขอเข้าไปร่วมกลุ่มโดยรับรู้ได้ในความเป็นส่วนเกินของตนเอง การเข้าร่วมกลุ่มร่วมสังคมเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับหลายๆ คน อาจเป็นเพราะความคิดมาก เก็บตัว ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง ขี้อาย ผ่านประสบการณ์ที่เลวร้ายมา หรือเพิ่งเริ่มมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ในการเข้าสังคม แม้ว่าความกลัวการเข้าสังคมเป็นเรื่องยากที่จะกำจัดมันออกไป ก็ยังนับว่าโชคดีที่ความสามารถในการเข้าสังคมไม่ใช่เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่เป็นทักษะที่ใครๆ ก็เรียนรู้ได้ คุณไม่จำเป็นต้องมีลีลาที่นุ่มนวล หรือมีท่าทีที่โอ่อ่าผ่าเผยอะไรนักหนา ขอเพียงแต่คุณใช้กลยุทธ์ที่ถูกต้อง คุณก็ประสบความสำเร็จในการเข้าสังคมได้          วิธีการเอาชนะความกลัวในการเข้าสังคมที่จะกล่าวต่อไปนี้ ไม่ใช่วิธีที่แนะนำเพื่อนำไปใช้เข้าสังคมทั่วไป เช่น ในงานบวช หรืองานแต่งงานลูกของเพื่อน ซึ่งหากคุณไม่สามารถเข้ากับใครได้ในงานเหล่านั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ส่งผลเสียหายอะไรแก่ใคร แต่บทความนี้จะเน้นไปที่การเข้าสังคมซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่การงานของคุณ เพราะความผิดพลาดหรือล้มเหลวในการเข้าสังคมเหล่านี้ หากเป็นส่วนหนึ่งในความรับผิดชอบของหน้าที่การงาน นอกจากจะสร้างความเสียหายหรือเสียโอกาสให้แก่องค์กรแล้ว ยังเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าคุณไม่เหมาะกับงานระดับบริหาร คุณจึงควรให้ความสำคัญกับการฝึกฝนทักษะการเอาชนะความกลัวในการเข้าสังคมที่จะกล่าวต่อไปนี้ และหากคุณสามารถเข้าสังคมที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานได้แล้ว การเข้าสังคมทั่ว ๆ ไปก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ไม่เป็นปัญหาอะไรสำหรับคุณอีกต่อไปด้วยเช่นกัน

          10 วิธีเอาชนะความกลัวในการเข้าสังคม ได้แก่

1.  ปรับทัศนคติและเลือกสังคมที่จะเข้าร่วม
          เริ่มด้วยการทบทวนทัศนคติของคุณต่อการเข้าสังคม หลายคนมองการเข้าสังคมว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อน่ารำคาญ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง การเข้าสังคมเป็นวิธีที่คุณสามารถสร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและได้รับประโยชน์ในทางธุรกิจด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำและด้วยเวลาที่น้อยที่สุดวิธีหนึ่ง หลักในการเข้าสังคมอยู่ที่ คุณควรมองผู้มาร่วมงานว่าเป็นผู้มีคุณค่าต่อการคบหาและเรียนรู้ หลายคนในงานนั้นอาจจะกลายเป็นเพื่อนที่สร้างความมั่นคงและเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานของคุณได้ในโอกาสต่อไป

          ความกลัวการเข้าสังคมของคุณอาจมาจากความกลัวว่า ผู้ไปในงานล้วนเป็นนักธุรกิจซึ่งคงไม่ต้อนรับคนแปลกหน้า, กลัวว่าการเข้าไปในกลุ่ม จะเป็นการไปขัดจังหวะการสนทนา, กลัวไปแล้วไม่รู้จักใคร, ไม่รู้จะพูดอะไร หรือถ้าพูดแล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำให้การสนทนาดำเนินต่อเนื่องไปได้อย่างไร ที่สำคัญ คือกลัวถูกปฏิเสธด้วยการเดินจากไปของผู้ที่คุณเพิ่งกล่าวคำทักทาย ฯลฯ แม้ว่าความกลัวคนแปลกหน้าจะเป็นสิ่งที่เราได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เล็ก และเป็นส่วนหนึ่งของสัญชาติญาณการเอาชีวิตรอดของสัตว์ทั้งหลายซึ่งก็รวมมนุษย์ด้วย แต่เมื่อการเข้าสังคมเป็นภารกิจภาคบังคับในการปฏิบัติงาน คูณก็ควรพยายามปรับทัศนคติเสียใหม่ว่า คุณไม่ได้ด้อยกว่าใครที่มาในงานนั้น แต่ละคนที่มาก็ล้วนมาเพื่อทำความรู้จักกัน สร้างเครือข่ายที่เป็นประโยชน์และความสำเร็จร่วมกัน ทุกคนต่างได้เคยผ่านประสบการณ์ความรู้สึกเช่นเดียวกับคุณมาในการเข้าสังคมครั้งแรก พวกเขาจึงเข้าใจในท่าทีประหม่าและตื่นกลัวของคุณและพร้อมให้ความช่วยเหลือให้คุณปรับตัวได้ในเวลาอันสั้น

          ที่สำคัญ ไม่ใช่ทุกสังคมจะมีความสำคัญเท่ากันหมด และไม่มีความจำเป็นอะไรที่คุณจะต้องเข้าร่วมในทุกงานที่คุณรู้ หรือจะต้องหาเรื่องมาพูดคุยกับทุกๆ คนที่อยู่ในงาน ในทางปฏิบัติ คุณควรเลือกคุยให้ถูกคน ถูกเวลา และถูกสถานที่ และคุยในประเด็นที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับงานที่คุณทำเป็นหลัก ส่วนที่เพิ่มเติมไปกว่านั้นล้วนเป็นกำไร คุณอาจได้พบผู้คนเหล่านั้นในงานอื่นอีก ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น คุณก็จะไม่ใช่คนแปลกหน้าหรือน้องใหม่อีกต่อไป

2.  ศึกษาข้อมูลเบื้องต้น
          ถ้าเป็นไปได้ คุณควรขอรายชื่อผู้เข้าร่วมงานเพื่อดูว่ามีใครมาบ้าง, มีกี่คนที่คุณรู้จักและเขาเหล่านั้นน่าที่จะแนะนำคุณให้รู้จักผู้ร่วมงานคนอื่นต่อไปได้หรือไม่, ควรเตรียมนามบัตรไปกี่ใบ, ควรเข้าไปพูดคุยกับใครมากที่สุด คุณควรศึกษาความสนใจและงานของบุคคลที่เป็นเป้าหมาย เช่น เขาเคยทำ presentation ในเรื่องใด เคยเขียนหนังสืออะไร เคยได้รับรางวัลหรือการประกาศเกียรติคุณมาก่อนหรือไม่ หากคุณหารายละเอียดในเรื่องที่กล่าวมาไม่พบ อย่างน้อยคุณก็ควรเตรียมคำถามเพื่อขอรับคำแนะนำในเรื่องที่เขาน่าจะมีความเชี่ยวชาญ คนทุกคนจะมีจุดอ่อนตรงที่พร้อมจะเปิดประคูต้อนรับผู้ที่ยกย่องหรือให้เกียรติเขา คุณอาจติดต่อไปก่อนวันงานเพื่อขอพบและพูดคุยกับเขาในงานก็ได้ การได้นัดหมายไว้ก่อนล่วงหน้าจะทำให้คุณมีความกลัวที่จะถูกปฏิเสธน้อยลง และการมีข้อมูลเกี่ยวกับการงานและความสนใจของเขาจะช่วยให้คุณมีประเด็นในการสนทนาและคำถามที่ชัดเจนในการหารือ

3.  กำหนดเป้าหมาย
          กำหนดเป้าหมายในการเข้าสังคมในครั้งนี้ไว้สักเรื่องสองเรื่องเพื่อให้มีทิศทางและความมุ่งหวังที่ชัดเจนว่าคุณเข้าไปมีส่วนร่วมในครั้งนี้เพื่ออะไร เป้าหมายที่ว่านั้น เช่น ต้องการพูดคุยกับผู้ที่น่าจะได้เป็นลูกค้าของคุณสัก 3-5 คน, ต้องการสร้างความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับใครสักคนสองคนซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ภารกิจในอนาคตอันใกล้จะมาถึง, หรือต้องการทำความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ หากนี่เป็นการตั้งเป้าหมายครั้งแรกของคุณในการเข้าสังคม ก็อย่าได้เล็งผลเลิศในความสำเร็จอะไรนัก โปรดระลึกไว้เสมอว่า ไม่มีความจำเป็นอะไรที่คุณจะต้องเที่ยวไปขอจับมือกับคนนั้นคนนี้ทั่วทั้งงาน และไม่จำเป็นต้องอยู่จนงานเลิก แต่หากคุณทำเป้าหมายได้เสร็จเร็ว คุณอาจอยู่ร่วมงานนั้นเพียงครึ่งชั่วโมงก็นับเป็นความสำเร็จในการเข้าสังคมของคุณในวันนั้นแล้ว

4.  เตรียมเรื่องที่จะคุยและฝึกซ้อมให้คล่องปาก
          หลายคนกังวล ไม่รู้จะมีอะไรไปพูดเวลาเข้าสังคม ในกรณีเช่นนี้คุณควรเตรียมหัวเรื่องหรือหัวข้อคำถามสั้นๆ สักสองสามเรื่องและจำมันไว้ เพื่อคุณจะมีเรื่องในวงสนทนา ไม่ใช่ยืนเงียบๆ คอยแต่พยักหน้าหรือหัวเราะตามคนอื่น นอกจากหัวข้อสนทนาหรือคำถามแล้ว คุณก็ควรเตรียมคำทักทายสั้นๆ ที่สุภาพ หรือคำชื่นชมที่เหมาะสมกับบทสนทนาของผู้อื่น เตรียมคำตอบสั้นๆ เกี่ยวกับงานในความรับผิดชอบ, วัตถุประสงค์ที่มาร่วมในงานนี้, ต้องการแบ่งปันเรื่องราวหรือเรียนรู้เรื่องอะไร จากใคร, รู้จักกับใครในงานนี้ ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้คุณต้องปากคอสั่นเวลาถูกตั้งคำถาม หรือเดินออกจากงานแบบมือเปล่า สิ่งสำคัญที่ต้องจดจำคือ คำตอบของคุณไม่ควรเยิ่นเย้อ เพราะบ่อยครั้งที่คำถามเหล่านั้นเป็นเพียงคำถามตามมารยาท เป็นคำถามคั่นบทสนทนา ผู้ถามอาจไม่ได้ต้องการรู้อะไรจริงจังจากคุณ จงเตรียมคำถามกลับเพื่อคุณจะได้กลับมาเป็นฝ่ายฟัง คนอื่นชอบที่จะให้คุณเป็นผู้ฟัง และถ้าคุณเป็นผู้ฟังที่ดี แสดงความสนใจติดตามพร้อมคำถามสั้นๆ เป็นระยะ คุณจะได้เพื่อนในงานได้เร็วกว่าการพูดอย่างแคล่วคล่องแต่คู่สนทนาขอตัวเดินจากไป

5.  ถึงงานให้เร็วหน่อย
          การไปถึงงานในขณะที่งานได้เริ่มไปแล้วและผู้ที่มาร่วมงานได้มีการจับกลุ่มพูดคุยกันแล้ว จะทำให้คุณดูหมดความหมายและความสำคัญลงไป แต่หากคุณมาเป็นคนแรกๆ คุณจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ได้ก่อนที่งานจะเริ่ม มองเห็นได้ว่าพื้นที่ไหนเป็นที่ที่คุณควรไปอยู่ ซักซ้อมคำถามคำตอบที่จะใช้ในการสนทนา และสามารถเริ่มสนทนากับผู้จัดงานหรือผู้มาร่วมงานที่ทยอยกันเข้ามาโดยไม่มีความรู้สึกกดดันมากนักเพราะเสมือนคุณเป็นเจ้าถิ่นหรือเจ้าภาพงานเสียเอง

6.  พาเพื่อนไปด้วย
          การมีเพื่อนไปร่วมงานด้วยช่วยให้คุณไม่รู้สึกเคอะเขินเมื่อต้องพบกับผู้ร่วมงานที่ไม่รู้จัก สามารถเปิดการสนทนาด้วยการแนะนำตนเองและเพื่อนด้วยความรู้สึกที่มั่นใจมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การมีเพื่อนไปด้วย จะทำให้คุณมีมุกในการเปิดสนทนา เริ่มด้วยการคุยกันเองและโยงเรื่องเข้าไปสู่เรื่องที่กลุ่มมีส่วนร่วม แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระมัดระวังเมื่อพาเพื่อนไปร่วมงานด้วย คือ อย่าเกาะกันเองจนไม่ได้เข้ากลุ่มซึ่งจะทำให้ไม่ได้ประโยชน์อะไรในการไปร่วมสังคม พยายามต่างคนต่างคุยกับคนอื่น และค่อยกลับมาคุยกันเองบ้างเมื่อกลุ่มเริ่มหมดเรื่องที่จะคุย

7.  ไม่ตื่นกลัวให้ใครเห็น
          ความกลัวมักแสดงออกมาด้วยภาษากาย คุณจึงจำเป็นจะต้องทำตัวทำใจให้สบายๆ เพื่อให้อาการที่ปรากฏ ดูดี น่าเชื่อถือ แม้ว่าคุณอาจกำลังสั่นเทิ้มจนหัวใจแทบกระดอนออกมาข้างนอก หรืออยากไปเกิดใหม่ให้รู้แล้วรู้รอดไปเสียตั้งแต่เดี๋ยวนั้น แต่ถ้าคุณมีความหนักแน่นและแสดงออกด้วยภาษากายที่เปี่ยมด้วยความมั่นใจในตนเอง คุณก็จะดูเป็นคนที่เอาจริงเอาจัง ดึงดูดคนอื่นให้เข้ามาหาคุณ ซึ่งสบายกว่าการที่คุณต้องเป็นฝ่ายเข้าไปหาคนอื่น คุณควรผ่อนคลาย ระมัดระวังท่าทางที่แสดงออก และไม่ลืมยิ้ม คุณควรทำตัวเปิดเผย ไม่กอดอก สบสายตากับผู้ที่คุณต้องการที่จะพูดคุยด้วย และอยู่ในกลุ่มคนที่คุณต้องการเข้ามีส่วนร่วม หากมือคุณไม่สั่นจนเกินไป ก็ควรถือแก้วน้ำ ถ้วยกาแฟ หรือสูจิบัตรงานเพื่อตัดปัญหาไม่รู้จะเอามือไปวางที่ไหน อย่ามัวยุ่งกับการอ่านข้อความในโทรศัพท์มือถือหรือคุยโทรศัพท์จนหลุดออกจากกลุ่ม และควรเข้าไปพูดคุยกับผู้ที่มีท่าทีเปิดรับการสนทนา ไม่ใช่คนที่คิ้วผูกโบว์ หรือกลุ่มที่มีคนแน่นจนเกินไป คุณไม่ควรเกาะอยู่กับคนที่คุณรู้จักแล้ว นานเกินไป ควรเดินให้รอบๆ งาน หากเป็นงานเลี้ยงแบบ cocktail จุดวางอาหารก็เป็นสถานที่ที่คุณควรไปยืนบ้างเป็นครั้งคราวเพราะเป็นจุดที่ง่ายต่อการเริ่มสนทนา หากงานนั้นมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล ก็ควรระมัดระวังอย่าดื่มมากเกินไปจนเผลอแสดงกริยาหรือคำพูดที่ไม่สมควรออกมา การเข้าสังคมเป็นเหมือนดาบสองคม มันสามารถสร้างสัมพันธ์ได้ มันก็ทำลายชื่อเสียงคุณให้เสียหายได้เช่นกัน

8.  เปิดเผยจริงใจ
          การพยายามเข้าสังคมอาจเป็นความกดดัน แต่ขอให้เตือนตนเองอยู่เสมอว่า การเข้าสังคมเป็นเรื่องของสองฝ่าย การสนทนาไม่ใช่เป็นเรื่องของคุณแต่เพียงฝ่ายเดียว การพยายามใดๆ ที่ไม่เป็นธรรมชาติอาจทำให้คุณแสดงท่าทางประจบประแจงอะไรออกมาจนน่าเกลียด ลดศักดิ์ศรีในตนเอง และพลอยทำให้คุณเกลียดหรือแหยงการเข้าสังคมไปอีกนานโดยเฉพาะถ้าอีกฝ่ายแสดงท่าทีเบื้อหน่ายรำคาญหรือไม่เป็นมิตรให้คุณเห็น ถ้ามันกระอักกระอ่วนมากนัก คุณก็อาจสารภาพไปตรงๆ เลยว่าคุณรู้สึกกดดันเพียงใด การที่คุณไม่เสแสร้งแกล้งทำ จะเรียกความเห็นใจและเป็นจุดสร้างความสัมพันธ์ที่ดี การเข้าสังคมไม่จำเป็นที่คุณจะต้องสามารถบรรลุสิ่งที่มุ่งหมายได้โดยครบถ้วน คุณอาจเข้าสังคมในงานนี้ได้ดีกว่าอีกงาน ขอให้คิดอยู่เสมอว่า เมื่อใดที่คุณรู้สึกว่างานใดที่คุณไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ควรค้นหาข้อบกพร่องเพื่อเรียนรู้และนำไปแก้ไขในงานต่อไป

9.  ปลีกตัวบ้างเป็นระยะ
          การเข้าสังคมอาจสร้างความเหนื่อยล้าแก่คุณได้ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ เมื่อใดที่คุณรู้สึกล้า คุณควรปลีกตัวออกมาสูดอากาศข้างนอกเสียบ้าง จะเป็นที่ไหนก็ได้ที่ทำให้คุณได้เปลี่ยนบรรยากาศและสร้างความกระปรี้กระเปร่าให้กับสมองของคุณ อาจเป็นในห้องน้ำ หรือห้องว่างข้างๆ ของห้องจัดงาน (ถ้ามี) อาจแวบมาหลับสักนิดในรถ ออกมาจิบกาแฟ หรือแม้แต่การออกมาเดินดูอะไรเล่นข้างนอกห้อง ก็ช่วยสร้างความตื่นตัวที่จะกลับเข้าไปพูดคุยต่อได้อีก

10.  สังเกตกริยาของคู่สนทนา
          บางคนตั้งใจสร้างความประทับใจในการเข้าสังคมมากเสียจนกระทั่งไม่ยอมหยุดพูดเรื่องที่ๆได้เตรียมมา โดยไม่สังเกตเลยว่าการจ้อไม่หยุดของตนได้สร้างความหงุดหงิดรำคาญให้คู่สนทนาหรือเพื่อนร่วมวงมากมายเพียงใด ทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเข้าสังคมจึงเป็นความสามารถในการรับรู้ว่าเมื่อไรควรพูด เมื่อไรควรหยุด หรือเมื่อไรควรโยนเรื่องที่มีความสนใจร่วมกันเข้าสู่การสนทนา ในการสนทนา คุณควรระมัดระวังเรื่องเวลาว่าคุณใช้มากไปหรือไม่ หมั่นสังเกตภาษากายของผู้อื่นที่เขาอาจส่งออกมาเพราะต้องการให้คุณหยุด เช่น กอดอก หรือหันไปดูส่วนอื่นของห้อง ขอให้จำไว้ว่าการสนทนาของคุณควรกระชับและสร้างความประทับใจ เมื่อจบการสนทนา อย่าลืมแลกนามบัตรและควรเขียนโน้ตสั้นๆ เกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ ข้อมูลสั้นๆ เกี่ยวกับเจ้าของนามบัตรไว้ด้านหลังนามบัตรนั้นทันทีเพื่อป้องกันการสับสนเนื่องจากได้รับมาหลายใบ และหากคู่สนทนาคือผู้ที่อยู่ในเป้าหมายของคุณ คุณอาจขอนัดหมายวันและสถานที่เพื่อการพบกันในครั้งหน้า หรือส่ง email ตามไปในวันรุ่งขึ้น

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ

  • Arts of Concise Conversations
  • Authenticity
  • Body Language
  • Crafting and Elevator Pitch
  • Empathic Listening
  • Golden Rules of Goal Setting
  • Ice Breakers
  • Improve Your Memory
  • Professional Networking
  • Rest, Relaxation and Sleep
---------------------------------



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น