วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2565

10 Common Decision - Making Mistakes

 


ความผิดพลาดพื้นฐาน 10 ประการ
ในการตัดสินใจ

          การตัดสินใจในทางธุรกิจจำเป็นจะต้องมององค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจให้ครบถ้วน บ่อยครั้งที่ผู้บริหารตัดสินใจโดยมองแต่ผลดีในทางธุรกิจแต่กลับมองข้ามผลเสียที่จะเกิดกับพนักงาน          แต่การมององค์ประกอบในการตัดสินใจให้ได้ครบถ้วน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การได้เรียนรู้ความผิดพลาดพื้นฐานที่มักเกิดขึ้นในการตัดสินใจ จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คุณได้ระมัดระวัง อย่างน้อยก็ไม่พลาดกระทำผิดในเรื่องต่อไปนี้

1.  เลื่อนการตัดสินใจไปเรื่อยๆ
          แม้การตัดสินใจจำเป็นต้องมององค์ประกอบต่างๆ ให้ครบถ้วน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเลื่อนการตัดสินใจออกไปเรื่อยๆ คนที่ชอบเลื่อนการตัดสินใจมักมองการตัดสินใจเป็นภาพรวมๆ เลยลังเลไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหนดี นอกจากนั้น คนเหล่านี้มักต้องการอะไรที่สมบูรณ์ครบถ้วนที่สุด จึงชะลอการตัดสินใจจนกลายเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับตนเองโดยไม่จำเป็น

          การตัดสินใจมีความสัมพันธ์กับเวลา หากถึงเวลาที่ควรจะต้องตัดสินใจแต่ไม่ได้ตัดสินใจ อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่าเดิมจนไม่ว่าจะตัดสินใจแบบใดก็มีแต่ผลเสีย การแบ่งเรื่องที่จะต้องตัดสินใจออกเป็นส่วนย่อย และลงมือทำการใดๆ ในส่วนที่ตัดสินใจนั้นให้เกิดผลขึ้นมาบ้างก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คุณสามารถเริ่มการตัดสินใจ และทำให้ส่วนที่เหลือไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด

          จงสลัดความกลัวออกไปและยอมรับว่า การตัดสินใจมีความเสี่ยง บางครั้งก็ถูกบางครั้งก็ผิด ความผิดถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้

2.  เลือกไม่ถูกว่าจะตัดสินใจอย่างไรดี
          บางครั้งเราจะมองเรื่องที่ต้องตัดสินใจเป็นเรื่องถึงเป็นถึงตาย มันดูยิ่งใหญ่มากจนไม่รู้ว่าจะเลือกตัดสินใจอย่างไร การตกอยู่ในสภาวะอย่างนั้น ต่อให้คุณตัดสินใจได้ คุณก็คงใช้ประโยชน์จากการตัดสินใจนั้นไม่ได้มากนักเพราะความระแวงที่ซ่อนอยู่ในใจว่าทางเลือกที่ได้เลือกไปนั้นอาจเป็นการตัดสินใจที่ผิด ในสถานการณ์เช่นนี้ คุณควรลองนึกถึงผลเสียที่ร้ายแรงที่สุดที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจผิดพลาดของคุณ คิดถึงความเสี่ยงและผลเสียของแต่ละทางเลือก แล้วจึงเลือกทางเลือกที่มีผลเสียน้อยที่สุด ขอให้จัดกรอบความคิดเสียใหม่ว่า ไม่มีทางเลือกใดที่ไม่มีข้อเสีย เพราะมิเช่นนั้นแล้ว มันคงไม่สร้างความลำบากใจให้คุณได้ถึงขนาดนี้ ต่อให้คุณเลือกมันได้อย่างถูกต้อง ก็ยังต้องมีปัญหาอุปสรรคหรืองานที่จะต้องสานต่อจากการตัดสินใจนั้นอยู่ดี เพราะกระบวนการตัดสินใจไม่ได้จบลงที่การเลือก เพียงแต่ในการเลือกนั้นจะต้องมองเลยไปถึงการปฏิบัติด้วยว่าเมื่อตัดสินใจแล้วจะสามารถปฏิบัติได้หรือไม่

          หากคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปั่นป่วนวุ่นวายในชีวิตประจำวัน หรือรับฟังผู้อื่นมากเกินไป วิธีหนึ่งที่ช่วยได้ คือ การหาที่สงบๆ หายใจเข้าลึกๆ เพื่อให้สมองปลอดโปร่ง รับฟังเสียงภายในของตนเอง ประเมินข้อเท็จจริงให้ชัด แล้วจึงค่อยตัดสินใจ

3.  คิดไม่เป็นระบบ
          สัญชาติญาณ เป็นคุณสมบัติที่ดีของบุคคล แต่ไม่ควรนำมาใช้โดยขาดการวิเคราะห์ เรามักนำสัญชาติญาณมาใช้เมื่อปัญหานั้นมีความคล้ายคลึงกับปัญหาที่เคยพบมาในอดีต หรือเมื่อร่างกายอ่อนล้าจนไม่ต้องการเค้นหาเหตุผลอะไรอีก การตัดสินใจที่สำคัญๆ เช่นการออกสินค้าตัวใหม่ เป็นการตัดสินใจในระดับที่ต้องการการวิเคราะห์ทางเลือกแต่ละตัวอย่างเป็นระบบซึ่งมักกระทำในรูปการตัดสินใจร่วมกันของคณะกรรมการบริหารซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของทุน ทุกแง่มุมจะได้รับการหยิบยกมาอภิปรายกันด้วยเหตุผลและหลักฐานประกอบเพื่อให้มั่นใจว่า ทุกปัจจัยที่สำคัญจะได้รับการนำขึ้นมาพิจารณา

          แม้ว่าการตัดสินใจแบบกลุ่มในรูปคณะกรรมการจะเป็นที่นิยม แต่ก็อย่ายึดถือรูปแบบมากกว่าวิธีการ กระบวนการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลและเป็นระบบต่อไปนี้อาจนำมาใช้ได้หากคุณจะต้องตัดสินใจเรื่องที่มีความสำคัญมากๆ รวมถึงการตัดสินใจในรูปคณะกรรมการ

     · ตรวจสอบข้อเท็จจริงและนิยามปัญหาให้ชัดเจน
     · ศึกษาและร่วมกันพิจารณาทางเลือกทั้งหลายที่เป็นไปได้ของปัญหานั้น
     · กำหนดมาตรฐานความสำเร็จและล้มเหลวของแต่ละทางเลือก
     · แจกแจงรายละเอียดของผลที่คาดว่าจะได้รับของแต่ละทางเลือก
     · ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดและทดสอบมัน
     · ติดตามและวิเคราะห์ผลที่ได้รับจากการทดสอบ
     · หากผลการทดสอบตอบปัญหาได้ก็ใช้มัน มิเช่นนั้นก็ทดสอบทางเลือกอื่น


          ทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะตัดสินใจนั้น ควรสอดคล้องกับลำดับความสำคัญและคุณค่าที่คุณให้ความสำคัญในชีวิต ลำดับความสำคัญเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้คุณตัดสินใจง่ายขึ้นในกรณีที่ทางเลือกมีข้อดีข้อเสียที่ใกล้เคียงกัน

4.  ไม่พิจารณามุมมองให้หลากหลาย
          พวกเราหลายคนมักจะพลาดที่ต้องรีบตัดสินใจโดยเฉพาะเมื่อมีเส้นตายและตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน แต่ก่อนที่จะตัดสินใจ เราควรคิดทบทวนเสียก่อนว่ามันจำเป็นต้องรีบตัดสินใจจริงหรือไม่ บางครั้งมันไม่ได้จำเป็นอะไรที่จะต้องรีบตัดสินใจแต่ที่ทำไปก็เพียงเพื่อให้ตนเองรู้สึกว่าได้ทำบางสิ่งที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จไปเท่านั้น ผลที่เกิดตามมาคือ เป็นการผลักตนเองให้ตกไปอยู่ในความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น เพราะการรีบตัดสินใจ หมายความว่าเราได้ข้ามบางสิ่งที่ควรพิจารณาให้รอบคอบกว่านี้ไป ดังนั้นไม่ว่าคุณจะตกอยู่ในสถานการณ์รีบด่วนอย่างไร ก็ควรให้มั่นใจว่าคุณได้พิจารณามุมมองต่างๆ ในมุมกว้างแล้ว ก่อนที่คุณจะตัดสินใจในเรื่องสำคัญใดๆ ควรใช้แบบตรวจสอบเพื่อให้เห็นภาพรวมของบุคคลและสิ่งต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจ การพิจารณาสถานการณ์จากมุมมองที่แตกต่างกัน 6 ประการ (ลูกค้า, พนักงาน, กระบวนการเปลี่ยนผ่าน, ผู้มีประโยชน์ได้เสีย, เจ้าของกิจการ, และข้อจำกัดของสภาพแวดล้อม) ตามหลัก CATWOE Analysis จะทำให้การมองปัญหาของคุณมีความครอบคลุมและสมบูรณ์มากขึ้น

          เมื่อคุณมีภาพรวมของปัญหาแล้ว คุณก็สามารถใช้เครื่องมืออื่นๆ มาช่วยในการตัดสินใจจากมุมมองที่หลากหลายและจากปัจจัยที่คุณอาจไม่เคยคิดมาก่อนได้

5.  ไม่ได้นำผู้มีประโยชน์ได้เสียเข้ามาร่วมพิจารณา
          ในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคลอื่น คุณจำเป็นต้องนำผู้มีประโยชน์ได้เสียที่สำคัญเข้ามาร่วมพิจารณา เขาเหล่านั้นจะมีข้อมูลเชิงลึกที่ส่งผลกระทบต่อการเลือกของคุณและจะทำให้การตัดสินใจของคุณดีขึ้น ยิ่งกว่านั้น การที่ผู้มีประโยชน์ได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมก็ยังมีประโยชน์มากขึ้นไปกว่าเรื่องการตัดสินใจเลือก เพราะคุณมักจะต้องอาศัยบุคคลเหล่านี้เป็นผู้นำการตัดสินใจของคุณไปปฏิบัติ

          ทำให้ผู้มีประโยชน์ได้เสียเหล่านี้มีบทบาทที่ชัดเจนเป็นกลุ่มผู้ร่วมในการตัดสินใจเพื่อที่จะสร้างความรู้สึกผูกพันให้เกิดขึ้นกับพวกเขา ขอรับฟังความคิดเห็นจากพวกเขาและสนับสนุนให้พวกเขาคิดในเชิงบวก คุณอาจใช้เครื่องมือต่างๆ มาสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้

6.  ปล่อยให้เกิดความคิดติดกลุ่ม
          ในขณะที่จำเป็นต้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจ คุณก็ต้องระวังไม่ให้เกิดความคิดติดกลุ่ม (groupthink) ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อความต้องการประชามติของกลุ่มไปครอบงำความคิดของบุคคล ทำให้ไม่กล้าเสนอทางเลือก วิพากษ์วิจารณ์ หรือนำเสนอแนวคิดอื่นที่อาจไม่เป็นที่ยอมรับ ความคิดติดกลุ่มเป็นผลมาจากธรรมชาติทั่วไปของมนุษย์ที่ไม่อยากตกเป็นผู้ผิดพลาดอยู่เพียงผู้เดียว และเป็นผลมาจากความคิดที่ว่า ทำตามคนอื่นง่ายกว่าการทำอะไรที่แปลกออกไป ความคิดติดกลุ่มจะเข้ามาบดบังความคิดดีๆ เพราะคุณอาจไม่ได้นำทางเลือกอื่นๆ มาพิจารณาให้รอบคอบ การป้องกันก็คือ จะต้องสร้างกระบวนการตรวจสอบว่าอะไรคือพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของกลุ่ม เครื่องมือการตัดสินใจบางตัว สามารถช่วยแยกแยะกระบวนการทางความคิดที่ใช้ในการตัดสินใจของกลุ่มได้ว่ามีพื้นฐานการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลหรือไม่

          นอกจากความคิดติดกลุ่มที่กล่าวมาแล้ว ยังมีความความลำเอียงแบบอื่นๆ อีกมากที่เข้ามามีส่วนทำให้การตัดสินใจไม่ได้เป็นไปตามเหตุตามผล อาทิ การด่วนสรุป (anchoring), เอาประสบการณ์ในอดีตมาตัดสินอนาคต (the gambler’s fallacy), การตำหนิผู้อื่นว่าผิดแทนที่จะมองที่สถานการณ์อย่างเป็นธรรม (fundamental attribution error)

7.  เชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป
          เรามักจะเห็นสิ่งต่างๆ ในแบบที่เราอยากให้เป็น มีความสับสนระหว่างความปรารถนากับความเป็นจริง ชอบเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องตัดสินใจ จึงคิดได้แต่เฉพาะสิ่งที่อยู่ในใจจนอาจละเลยทางเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่า ยิ่งกว่านั้น เรามักจะขยายส่วนที่ดีของการตัดสินใจให้ใหญ่โตเกินจริง ในขณะเดียวกันก็ย่อส่วนที่ไม่ดีลงจนแทบไม่เหลือ (halo effect) ความหลงตัวและเชื่อมั่นในวิชาความรู้ของตนเองมากเกินไปก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนอื่นยกย่องให้คุณเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ คนเรามักมีชื่อเสียงขึ้นมาจากความเชี่ยวชาญและการใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจที่เป็นไปตามระเบียบวิธีพิจารณาและการใช้ความระมัดระวัง แต่พวกเขาก็อาจพลาดได้หากมีความเชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป

          เมื่อใดที่คุณเชื่อแต่ความคิดเห็นของตนเอง เมื่อนั้นคุณก็จะมีอคติยึดติดที่คอยแต่จะหาข้อมูลมาสนับสนุนความเชื่อที่มีและปฏิเสธข้อมูลที่ขัดแย้งกับสิ่งที่คุณเชื่อว่าถูก อคติดังกล่าวจะชักจูงคุณให้ตัดสินใจผิดพลาดเพราะคุณไม่ได้ให้ความสำคัญกับทุกข้อมูลที่เกี่ยวข้อง วิธีหนึ่งที่ช่วยไม่ให้เกิดอคติดังกล่าว คือการแยกสาระที่เป็นข้อเท็จจริงในตัวของมัน (objective) ออกจากความคิดเห็น (subjective)

8.  ไม่นึกถึงผลที่จะเกิดตามมา
          บางครั้งเรามีความลำบากใจที่จะตัดสินใจเพราะไม่แน่ใจในผลที่จะเกิดตามมาในระยะยาว จึงคิดอยู่แต่ผลที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น บางครั้งก็ตัดสินใจไปภายใต้ภาวะกดดันแบบให้มันผ่านๆ ไปซึ่งในความเป็นจริงยังไม่ควรตัดสินใจ บางครั้งก็เผลอรับปากไปโดยไม่ทันคิด เอาตัวเข้าไปผูกมัดจนดิ้นไม่หลุด บางครั้งก็ตัดสินใจไปตามอารมณ์ที่พลุ่งพล่านขึ้นมาโดยไม่ทันคิดถึงผลที่จะตามมาทั้งๆ ที่หากใช้เวลามากขึ้นอีกนิด ชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียของการตัดสินใจ ก็จะหยุดหรือลดการตัดสินใจที่ผิดพลาดลงได้ โศกนาฏกรรมที่เกิดกับเรือไททานิค ก็เป็นผลมาจากการตัดสินใจรีบเร่งเดินทางให้ไปถึงที่หมาย 24 ชั่วโมงก่อนกำหนด เพื่อลบคำสบประมาทว่าเป็นเรือใหญ่เดินทางช้า กัปตันได้ละเลยคำเตือนเรื่องภูเขาน้ำแข็งและคำเตือนให้ชะลอความเร็วเรือเพื่อความปลอดภัย แต่กลับเดินเรือด้วยความเร็วปกติโดยไม่คำนึงถึงผลร้ายที่จะเกิดตามมา

          วิธีหนึ่งในการจัดวางทางเลือกและสำรวจผลที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต คือการสร้างต้นไม้ตัดสินใจซึ่งช่วยให้คุณสามารถสำรวจผลกระทบทั้งปวงที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจ คำนวณความเสี่ยงและผลดีที่จะได้รับจากทางเลือกต่างๆ ในลักษณะที่ง่ายในการประเมินผล

          นอกจากนั้นคุณยังสามารถวิเคราะห์สถานการณ์สมมุติซึ่งจะช่วยให้คุณมองเห็นผลที่จะเกิดตามมานั้นว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอนาคต สามารถตัดสินใจในบริบทต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ระบุผลที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดหรือที่มีผลกระทบมากที่สุดจากการตัดสินใจของคุณ ด้วยการวางแผนและตัดสินใจบนพื้นฐานเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นได้มากที่สุดนี้ คุณจะมีความเชื่อมั่นในการใช้เหตุผลของคุณ แม้ว่าในที่สุด ผลที่เกิดจะต่างไปจากที่คุณคิดบ้างก็ตาม

9.  สื่อสารไม่ดี
          เมือใดที่คุณตัดสินใจในสิ่งที่มีผลกระทบต่อผู้อื่น คุณต้องแจ้งให้พวกเขาทราบ ความผิดพลาดที่ร้ายแรงมากที่สุดอย่างหนึ่งคือการที่ไม่สื่อสารการตัดสินใจออกไปในเวลาหรือด้วยวิธีการที่เหมาะสม ผลที่อาจเกิดขึ้นก็คือข่าวลือที่อาจแพร่กระจายออกไปในทีมงานหรือทั่วทั้งองค์กร ขอให้คิดถึงคนที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของคุณว่าพวกเขาต้องการข้อมูลอะไร และอะไรจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่คุณจะสื่อสารออกไป หากการตัดสินใจนั้นมีผลกระทบที่สำคัญ หรือถึงขั้นวิกฤติ คุณควรจะแจ้งให้เขาทราบด้วยตนเอง

10.  ยึดติดกับความคิดแรก
          ไม่มีใครอยากที่จะยอมรับว่าตนตัดสินใจผิด เป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนความคิดแรกที่ได้ตัดสินใจไปแล้วแม้ว่าจะรู้อยู่เต็มอกจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า ไม่มีประสิทธิภาพและสุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเขาเหล่านั้นมองอนาคตในแง่ดีมากเกินไป เชื่ออยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่ได้ตัดสินใจไปในตอนแรกนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและตนก็ได้ทุ่มเททั้งชีวิตและจิตใจไปกับสิ่งนั้นมามากแล้ว Concorde เป็นสายการบินความเร็วสูงที่ไม่เคยมีโอกาสมีกำไรมาตั้งแต่แรก แต่ผู้บริหารก็ยังดันทุรังดำเนินธุรกิจต่อไปจนกระทั่งเกิดโศกนาฏกรรมตายหมู่ร้อยกว่าชีวิต จึงยอมปิดโครงการ

          ต้องเข้าใจก่อนว่า ทั้งเวลาและเงินที่ได้ใช้ไปแล้วนั้น เป็นต้นทุนจมที่ไม่อาจเรียกคืนได้ ในการชั่งใจว่าจะเดินหน้าต่อไปตามที่ได้ตัดสินใจหรือไม่ จึงไม่ควรนำเรื่องเวลาและเงินที่ได้ใช้จ่ายไปแล้วมาคิดมากนัก สิ่งที่จะต้องทำ คือดูที่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏและตัดสินใจไปโดยไม่นำอารมณ์ไปยึดติดกับสิ่งที่เรียกกลับคืนไม่ได้ ทำนองเดียวกับนักเล่นหุ้นซึ่งยึดติดอยู่กับราคาที่ซื้อไว้ แม้ราคาหุ้นตัวนั้นกำลังหล่นลงเหว ก็ยังตัดสินใจกอดหุ้นไว้ไม่ยอมปล่อยเพราะเสียดายเงินที่จ่ายไปและมองโลกในแง่ดีว่าในไม่ช้าราคาคงจะดีดกลับขึ้นมา ผลที่จะเกิดขึ้นก็คงไม่จำเป็นต้องอธิบายต่อ

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ

  • Analytic Hierarchy Process
  • Avoiding Psychological Bias in Decision Making
  • Consensus Oriented Decision Making Model
  • Decision Making Analysis
  • Force Field Analysis
  • Futures Wheel
  • Group Decision Making
  • Ladder of Inference
  • Multiple-Criteria Decision Making
  • ORAPAPA
  • Pareto Analysis
  • Perceptual Positions
  • Personal Preparation for Great Decision Making
  • Quantitative Decision Making
  • RAPID Decision Making Model
  • Reactive Decision Making
  • Scenario and Contingency Planning
----------------------------------





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น