วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2565

10 Commandments for Media Consumers


บัญญัติ 10 ประการสำหรับผู้บริโภคสื่อ

          บัญญัติ 10 ประการสำหรับผู้บริโภคสื่อ หรือ 10 Commandments for Media Consumers เป็นรายการตรวจสอบเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสื่อประเมินบทบาทของตนที่มีต่อสื่อสาธารณะได้อย่างถูกต้อง          Cees Hamelink เป็นผู้สร้างรายการตรวจสอบที่เรียกว่าบัญญัติ 10 ประการนี้ขึ้นมา โดยเขียนไว้ในบทความชื่อ “Ethics for Media Users” ลงพิมพ์ในวารสาร the European Journal of Communication ฉบับเดือนธันวาคม 1995 เขาเป็นผู้สนใจในเรื่องจริยธรรมของหนังสือพิมพ์และความรับผิดชอบของสื่อสารมวลชน Hamelink กล่าวถึงบทบาทของผู้บริโภคสื่อในสามกลุ่ม คือ ผู้ชม ผู้อ่าน และผู้ฟัง ที่ต้องเอาจริงเอาจังกับความเป็นอิสระ ความมีคุณภาพ และความรับผิดชอบในการทำงานของสื่อ ผู้บริโภคสื่อจะต้องไม่เพียงแต่รับรู้เพียงข้อมูลที่สื่อนำเสนอออกมา แต่จะต้องมีการกระทำเชิงรุกต่อการดำเนินงานของสื่อด้วย Hamelink เสนอบัญญัติ 10 ประการขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสื่อได้มีทางเลือกในการบริโภคสื่ออย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม โดยผู้บริโภคจะต้อง

     1. เป็นผู้บริโภคสื่อที่ให้ความเอาใจใส่ต่อข้อเท็จจริง และรู้จักแยกแยะถูกผิด
     2. ต่อสู้การเซ็นเซอร์สื่อทุกรูปแบบอย่างเอาจริงเอาจัง
     3. ไม่ขัดขวางความเป็นอิสระของบรรณาธิการสื่อ
     4. ไม่ยอมรับหรือให้การรับรองพฤติกรรมคลั่งเชื้อชาติและพฤติกรรมทางเพศที่สื่อนำเสนอ
     5. หมั่นค้นหาแหล่งข้อมูลทางเลือกอยู่เสมอ
     6. ไม่ใช้แหล่งข้อมูลแต่เพียงแหล่งเดียว
     7. ปกป้องความเป็นส่วนตัวของตนเอง
     8. ทำตนให้เป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
     9. ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ที่มุ่งแต่ผลประโยชน์ทางการค้า โกงกิน หรือมีอคติในการนำเสนอข้อมูล
     10. เรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ผลิตสื่อ


          อย่างไรก็ตาม Hamelink ได้เตือนผู้บริโภคสื่อไม่ให้ยึดติดกับข้อบัญญัติดังกล่าวอย่างไม่ลืมหูลืมตา เพราะประเด็นในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมและทางเลือกในการปฏิบัตินั้น จำเป็นต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับบริบทและปรับให้เข้ากับสถานการณ์ เป้าหมายหลักของบัญญัติ 10 ประการของ Hamelink เป็นเพียงการให้แนวทางทั่วไปแก่ผู้บริโภคสื่อ ไม่ใช่เป็นกฎตายตัว นอกจากนั้น การตอบสนองของผู้บริโภคที่มีต่อสื่อยังขึ้นอยู่กับตัวแปรอื่นๆ เช่น ลักษณะด้านประชากร วัฒนธรรม คุณค่า และรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคสื่อแต่ละคนอีกด้วย

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ

  • Creating a Social Media Strategy
  • Handling Social Media Criticism
  • Multimedia
  • OASIS Framework
  • Social Media Programs
  • Social Media Pyramid
  • Working with the Media
---------------------------------



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น