วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

6 Thinking Hats and 6 Action Shoes [Edward de Bono]


เทคนิคการคิดจากมุมมองของหมวก 6 ใบและรองเท้า 6 คู่
          Edward de Bono เป็นผู้พัฒนาแนวคิดที่เรียกว่า 6 thinking hats และ 6 Action Shoes เพื่อเปลี่ยนวิธีมองปัญหาโดยใช้การตรวจสอบข้อมูลและความคิดเห็นจากสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม หรือในหลายๆ กลุ่ม ด้วยมุมมองที่หลากหลายในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เพื่อให้ได้การตัดสินใจที่นำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมที่สุด

          Dr. Edward de Bono เป็นนักฟิสิกส์ นักเขียน และที่ปรึกษาแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ นวัตกรรม และทักษะทางความคิด เคยได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการพิจารณารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี ค.ศ. 2005 เขาได้เขียนหนังสือชื่อ Six Thinking Hats (1985) และ Six Action Shoes (1991) กล่าวถึงวิธีการควบคุมธุรกิจ หรือสถานการณ์ในชีวิตโดยการใช้เทคนิคการคิดหลากหลายรูปแบบ วิธีการคิดแบบ 6 Thinking Hats ของเขาเป็นแนวคิดที่มีชื่อเสียงมากในวงการศึกษาและการฝึกอบรม เป็นการคิดเพื่อแก้ปัญหาแบบ lateral thinking คือ การใช้เหตุผลทางอ้อมในการแก้ปัญหา (เช่นในกรณีที่กษัตริย์โซโลมอนใช้ความรักของแม่เป็นเหตุผลในการพิสูจน์ว่าใครเป็นแม่ที่แท้จริงในคดีแย่งชิงทารก) และ parallel thinking ซึ่งเป็นการวางกระบวนความคิดของทีมงานให้ส่งเสริมกันและกัน ช่วยให้การประชุมปรึกษาหารือมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถบรรลุการตัดสินใจที่มีคุณภาพได้ในเวลาอันรวดเร็ว

แนวคิด Six Thinking Hats 
          สมมุติฐานของแนวคิด คือ การทำงานของสมองมนุษย์จะคิดเรื่องราวไปในทิศทางที่แตกต่างกว้างขวางจนไร้ขอบเขต หากสามารถจัดโครงสร้างทางความคิดให้เป็นหมวดหมู่ ก็จะช่วยพัฒนาความคิดให้แหลมคมชัดเจนจนมองเห็นจุดอ่อนจุดแข็งของเรื่องราวและนำไปสู่ทางเลือกเพื่อการตัดสินใจต่อไปได้ de Bono จัดความคิดที่มีอยู่มากมายให้เป็น 6 กลุ่มและสร้างสัญลักษณ์ของความคิดนั้นด้วยหมวก 6 ใบ 6 สี เขาเชื่อว่าเมื่อใช้ความคิดไปทีละกลุ่ม เหมือนสวมหมวกทีละใบ จะช่วยให้ผู้พิจารณาได้มุมมองที่ชัดเจนตามกลุ่มทางความคิดของหมวกแต่ละใบ ซึ่งหากไม่แยกคิดในแต่ละส่วนแล้ว อาจยึดมั่นถือมั่นตามสัญชาติญาณ, อคติ ฯลฯ Six thinking hats จึงเป็นเทคนิคที่มีพลังซึ่งช่วยให้ได้คิดและตัดสินใจจากมุมมองที่สำคัญ หลากหลาย ครอบคลุม และไม่ยึดติดอยู่กับวิธีคิดและการตัดสินใจแบบเดิม

          การคิดแบบ 6 thinking hats จะใช้การตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบเนื้อหาสาระของปัญหาและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องตามรูปแบบความคิดที่กำหนดไว้เป็นคุณสมบัติของหมวกแต่ละใบ ดังนี้

1. หมวกสีฟ้า (Blue Hat) 
          เป็นการมองภาพใหญ่ของเรื่องราว (the big picture and managing) ในลักษณะการควบคุมกระบวนการ สำรวจปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่ามีอะไรบ้าง มีลำดับความสำคัญอย่างไร มีกระบวนการและความเป็นมาอย่างไร เป็นมุมมองด้านการบริหารจัดการที่ผู้นำทีมหรือผู้บริหารใช้ในการดูแลความคิดของหมวกสีอื่น ๆ อีก 5 ใบให้มั่นใจว่าการแสดงความคิดเห็นยังอยู่กับปัญหาและเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาหนทางที่เป็นไปได้ในการแก้ไข มีพัฒนาการทางความคิดที่นำไปสู่การวางแผนการปฏิบัติ ไม่ใช่การทะเลาะเบาะแว้ง ปะทะคารม หรือวนเวียนอยู่กับเรื่องที่ควรได้ข้อยุติไปแล้ว

          คำถามที่นำมาใช้กับหมวกสีฟ้า ได้แก่
     o ปัญหาคืออะไร
     o จะนิยามปัญหานี้อย่างไร
     o อะไรคือเป้าหมายและผลลัพธ์ที่ต้องการ
     o การแก้ปัญหานี้จะส่งผลอะไรบ้าง
     o อะไรคือวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการ


2. หมวกสีขาว (White Hat) 
          เป็นการมองข้อมูลที่มีอยู่และดูว่าได้เรียนรู้อะไรจากมัน วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มที่เกิดขึ้นในอดีต คาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตโดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่เป็นฐานในการพิจารณา ค้นหาช่องว่างระหว่างสิ่งที่รู้แล้วกับสิ่งที่ต้องรู้แล้วพยายามเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว ที่สำคัญคือ ต้องวางใจให้เป็นกลาง ไม่นำความชอบไม่ชอบในเรื่องใดหรือกับใครมาเป็นอคติในการพิจารณา ไม่ด่วนสรุปเรื่องราวโดยอาศัยข้อมูลหรือมุมมองที่คับแคบ การรู้ว่ามีช่องว่างอะไรที่ขาดหายไปจะช่วยให้มองเห็นวิธีที่จะเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้น ทำให้กรอบการปรึกษาหารือของทีมงานมีความกระชับขึ้น

          การตอบคำถามต่อไปนี้จะช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริง
     o จากข้อมูลที่มีอยู่ทำให้รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้
     o ยังไม่รู้อะไรอีกบ้าง
     o ได้เรียนรู้อะไรจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่
     o จำเป็นต้องใช้ข้อมูลประเภทใด เรื่องอะไร ในการแก้ปัญหา
     o ปัจจุบันมีทางออกอะไรบ้างหรือไม่ที่สามารถนำใช้ในการแก้ปัญหา


          ให้สมาชิกทีมงานช่วยกันตอบคำถามเหล่านี้ด้วยการแลกเปลี่ยนความรู้ของแต่ละคนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหา

3. หมวกสีแดง (Red Hat) 
          เป้าหมายหลักของหมวกสีแดงคือ การจัดทำข้อเสนอและแผนงานที่มาจากความรู้สึกและข้อสมมุติฐานที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ (hunch) เป็นการเปิดใจให้กว้าง ผูกโยงข้อมูลหรือข้อสมมุติฐานที่มาจากอารมณ์ความรู้สึกเข้ากับปัญหาเพื่อให้ได้ทางออกที่เป็นไปได้โดยไม่ติดอยู่กับข้อจำกัดเรื่องข้อเท็จจริงของข้อมูล ขณะเดียวกันก็คิดด้วยว่าคนอื่นๆ จะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไรหรือไม่ ทำไมพวกเขาเหล่านั้นจึงไม่เข้าใจเหตุผลของเรา

          คำถามหลักที่ใช้เพื่อการเปิดกว้างทางความคิดของหมวกสีแดง ได้แก่
     o มีสัญชาติญาณความรู้สึกอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องหรือข้อเสนอนี้
     o ตามความรู้สึกที่มี นอกเหนือจากข้อเสนอหรือทางออกที่มีผู้นำเสนอมาแล้ว ยังน่าจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างอื่นอีกหรือไม่
     o มีความรู้สึกอย่างไรกับทางแก้ปัญหาที่เลือกไว้
     o คิดว่าเป็นทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ ผู้อื่นคิดอย่างไร ทำไมจึงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว


4. หมวกสีเหลือง (Yellow Hat) 
          เป็นความกระตือรือร้นและมองโลกในแง่ดี (optimism) เป็นการค้นหาประโยชน์และคุณค่าที่ได้รับจากการตัดสินใจในทางเลือกต่าง ๆ ไม่ปิดกั้นความคิดจากข้อจำกัดใด ๆ สร้างแรงจูงใจให้มีความหวังอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องมีทางออกหรือคำตอบของปัญหาแม้สถานการณ์จะค่อนข้างบีบคั้นจนอยากเลิกล้มการดำเนินการ

          คำถามที่ควรนำมาใช้ ได้แก่
     o อะไรคือหนทางที่ดีที่สุดในการจัดการกับปัญหา
     o ทำอย่างไรจึงจะสามารถใช้หนทางนั้นได้
     o อะไรคือประโยชน์ระยะยาวที่จะได้รับจากการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าว


5. หมวกสีดำ (Black Hat) 
          เป็นมุมมองตรงกันข้ามกับหมวกสีเหลือง มองสถานการณ์ว่าอาจเปลี่ยนไปในทางลบได้ทุกเมื่อ เป็นการชี้ข้อผิดพลาด จุดอ่อน และอันตรายที่มีอยู่ในความคิดเห็นหรือข้อเสนอนั้น ขุดลึกลงไปจากระดับพื้นผิวเพื่อค้นหาว่ามีปัญหาอะไรแฝงตัวอยู่หรือไม่ ทำไมทางเลือกนั้นจึงอาจใช้ไม่ได้ผล เป็นโอกาสที่ผู้บริหารหรือผู้นำจะได้ปรับแผนหรือจัดทำแผนสำรองเพื่อรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น ช่วยให้แผนงานมีความรอบคอบรัดกุมและมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้น

          คำถามที่ช่วยสร้างแนวคิดของหมวกสีดำ ประกอบด้วย
     o การแก้ปัญหาตามแนวคิดของหมวกสีเหลือง อาจล้มเหลวได้อย่างไร
     o แนวคิดนี้มีข้อบกพร่องหลักอยู่ที่เรื่องใด
     o มีความเสี่ยงและผลเสียอะไรบ้างที่อาจเกิดขึ้น
     o มีทรัพยากร ทักษะ และความสามารถที่จะทำตามแนวคิดของหมวกสีเหลืองหรือไม่


6. หมวกสีเขียว (Green Hat) 
          เป็นการคิดสร้างสรรค์ นอกกรอบเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ให้กว้างขวางมากขึ้นไปอีก หมวกสีเขียวอาจเสนอความคิดหลุดโลกอย่างไรก็ได้เพราะบ่อยครั้งที่ทางออกของปัญหาก็มาจากส่วนเล็ก ๆ ที่อยู่ในความคิดเหล่านั้น จึงควรปล่อยให้เป็นความคิดที่อิสระที่ไม่มีการตัดสินว่าผิดหรือถูก

          คำถามที่ควรใช้เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่กว้างขวาง ได้แก่
     o มีทางเลือกอะไรที่เป็นไปได้บ้าง
     o จะเอาทางเลือกนี้ไปทำในรูปแบบอื่นได้หรือไม่
     o สามารถมองปัญหานี้ในมุมมองอื่นได้หรือไม่
     o จะคิดให้นอกกรอบไปจากกฎเกณฑ์ที่ใช้กันอยู่ได้อย่างไรหรือไม่


          ในความเห็นของ de Bono แนวคิดเรื่อง 6 Thinking Hats สามารถนำไปใช้ได้ทั้งกับบุคคลแต่ละคนหรือกับทีมงาน

การนำแนวคิดเรื่อง Six Thinking Hats ไปใช้ในทางปฏิบัติ 
          ในการพิจารณาปัญหา จะมีลำดับกิจกรรมที่นำหมวก 6 ใบมาใช้แตกต่างกัน ทุกกิจกกรมจะเริ่มต้นและสิ้นสุดที่หมวกสีฟ้าเสมอ กล่าวคือสมาชิกจะเริ่มที่การมองปัญหาในภาพรวมที่มีอยู่ หลังจากได้ใช้มุมมองของหมวกสีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแต่ละกิจกรรมแล้ว จึงกลับมาดูที่ภาพรวม (หมวกสีฟ้า) อีกครั้งว่ามีความคิดเห็นร่วมที่แตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ อย่างไร แล้วจึงก้าวสู่กิจกรรมทางความคิดในลำดับต่อไป

ลำดับกิจกรรมในการแก้ไขปัญหา หมวกที่ใช้ในแต่ละลำดับกิจกรรม
  ความคิดเริ่มต้น   ฟ้า, ขาว, เขียว, ฟ้า
  พิจารณาทางเลือก

  ฟ้า, ขาว, เขียว, เหลือง, ดำ, แดง, ฟ้า
  กำหนดวิธีการแก้ปัญหา   ฟ้า, ขาว, ดำ, เขียว, ฟ้า
  ข้อมูลป้อนกลับ   ฟ้า, ดำ, เขียว, ฟ้า
  การวางแผนกลยุทธ์

  ฟ้า, เหลือง, ดำ, ขาว, ฟ้า, เขียว, ฟ้า
  การปรับปรุงกระบวนการ


  ฟ้า, ขาว, ขาว (ความคิดเห็นของบุคคลภายนอก), เหลือง, ดำ, เขียว, แดง, ฟ้า
  การแก้ไขปัญหา

  ฟ้า, ขาว, เขียว, แดง, เหลือง, ดำ, เขียว, ฟ้า
  ทบทวนผลการปฏิบัติ

  ฟ้า, แดง, ขาว, เหลือง, ดำ, เขียว, ฟ้า

          ผู้ใช้หมวก 6 ใบทางความคิดจะมีมุมมองที่หลากหลายซึ่งช่วยให้เกิดประโยชน์ในเรื่องต่อไปนี้
     o เพิ่มความร่วมมือและลดปฏิกิริยาหรือพฤติกรรมต่อต้าน
     o ได้พิจารณาประเด็น ปัญหา การตัดสินใจ โอกาสและความเป็นไปได้ในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ
     o ได้ใช้กระบวนการทางความคิดเชิงกลุ่มโดยไม่ยึดติดอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (parallel thinking) ทำให้เกิดความคิดและทางออกของปัญหาที่ดีกว่าการติดอยู่แต่ในกรอบแคบ ๆ
     o ทำให้การประชุมใช้เวลาสั้นลงและมีผลงานมากขึ้น
     o ลดข้อขัดแย้งระหว่างสมาชิกทีมงานและผู้เข้าร่วมประชุม
     o ส่งเสริมนวัตกรรมด้วยการกระตุ้นให้เกิดความคิดดี ๆ ได้มากและเร็วขึ้น
     o สร้างบรรยากาศการประชุมซึ่งมุ่งผลงานและทำให้อยากเข้ามีส่วนร่วม
     o ไม่จำกัดความคิดอยู่กับทางออกของปัญหาเท่าที่มองเห็น แต่แสวงหาทางเลือกอื่น ๆ ที่เป็นไปได้และมีความเหมาะสม
     o ได้มองเห็นโอกาสในขณะที่คนอื่นมองเห็นแต่ปัญหา
     o ได้ความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนและตรงประเด็น
     o ได้มองปัญหาจากมุมมองใหม่ที่อาจไม่เคยได้รับการพิจารณา
     o ได้ทบทวนข้อดีข้อเสียอย่างครอบคลุม
     o ได้มองสถานการณ์อย่างรอบด้าน
     o ได้ตรวจสอบอคติที่มุ่งแต่จะปกป้องตนเอง (turf protection)
     o ได้ผลงานที่สำคัญและมีความหมาย ด้วยเวลาที่น้อยลง


          ความรู้และทักษะที่สำคัญซึ่งช่วยสนับสนุนกระบวนการคิดแบบ 6 thinking hats
     (1) การพัฒนาภาวะผู้นำ
     (2) การบริหารทีมงานและการสื่อสาร
     (3) การคิดอย่างสร้างสรรค์
     (4) การเป็นผู้นำการประชุมและทักษะการตัดสินใจ
     (5) การพัฒนาสินค้า กระบวนการ และการบริหารงานโครงการ
     (6) การวิเคราะห์ ประเมินข้อเท็จจริงเพื่อการตัดสินใจและแก้ไขปัญหา
     (7) การเปลี่ยนแปลงขององค์กร


แนวคิด Six Action Shoes 
          เมื่อสำรวจความคิดและตัดสินใจแล้วว่าจะใช้ทางเลือกใด ขั้นต่อไปคือการนำทางเลือกนั้นมาปฏิบัติ de Bono ได้เสนอแนวทางการปฏิบัติ 6 รูปแบบที่ควรนำมาพิจารณาว่าจะใช้รูปแบบหรือส่วนผสมของรูปแบบอย่างไรจึงจะทำให้การปฏิบัติประสบผลสำเร็จตามความมุ่งหมายได้อย่างดีที่สุด de Bono ใช้รองเท้าซึ่งมีสีที่แตกต่างกัน 6 สีเป็นสัญลักษณ์ของแนวทางปฏิบัติแต่ละแนวทาง ดังนี้

(1) รองเท้าสำนักงาน สีฟ้า (Navy Formal Shoes) 
          สีกรมท่าหรือฟ้าน้ำทะเล เป็นสีที่ใช้กับเครื่องแบบทางการทหารซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎระเบียบที่ใช้ประจำ รองเท้าสีฟ้าจึงสื่อความหมายว่า “ทำตามที่บัญญัติไว้ในหนังสือ” หรือ ทำไปทีละขั้นตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ

          พฤติกรรมการปฏิบัติแบบรองเท้าสีฟ้า มีลักษณะดังนี้
     o ทำตามกฎที่กำหนดไว้
     o ใช้ความระมัดระวัง
     o ปฏิบัติตามตำราและตามที่ทำ ๆ กันมาในอดีต (routine behavior)


          มีหลายกรณีที่การปฏิบัติตามกฎระเบียบเป็นสิ่งจำเป็นและให้ผลสำเร็จได้ดีกว่าการตัดสินใจทำไปตามอิสระ ในสถานการณ์เช่นนี้ การทำไปอย่างที่เคยทำกันมาจึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ก้าวต่อไปได้

(2) รองเท้ากีฬา สีเทา (Gray Sneakers) 
          สีเทาเป็นสีของการทำงานโดยใช้สมอง สำรวจสิ่งต่าง ๆ ในรายละเอียด สื่อความหมายถึงการเก็บรวบรวมข้อมูล (collect information) เพื่อเป็นฐานทฤษฎีหรือข้อสมมุติฐานที่จะทำการทดสอบต่อไป

          พฤติกรรมการปฏิบัติแบบรองเท้าสีเทา มีลักษณะดังนี้
     o ทำใจเป็นกลาง ไม่ด่วนสรุป (neutrality)
     o ใช้ความคิด เหมือนส่วนที่เป็นสีเทาของสมอง และ
     o ไม่ผลีผลาม (unobtrusive action)


          รองเท้าสีเทาจึงเน้นไปที่การเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบให้กว้างขวางครอบคลุมให้มากที่สุดเพื่อใช้เป็นฐานในการดำเนินการอื่น ๆ ต่อไป

(3) รองเท้าลุยงานสนาม สีน้ำตาล (Brown Brogues) 
          สีน้ำตาลเป็นสีของพื้นดิน หมายถึงการเปลี่ยนสถานะจากความคิดมาเป็นการปฏิบัติ รองเท้าสีน้ำตาลจึงสื่อความหมายว่าเป็นการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงแบบเท้าติดดิน คือ ด้วยการประเมินสถานการณ์ กำหนดลำดับความสำคัญ และลงมือปฏิบัติตามควรของเหตุและผล

          พฤติกรรมการปฏิบัติแบบรองเท้าน้ำตาล มีลักษณะดังนี้
     o ปฏิบัติโดยไม่ติดยึดอยู่กับกรอบความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง (pragmatism)
     o นำมาใช้ปฏิบัติได้จริง (practicality)
     o มีแผนในการปฏิบัติ แต่พร้อมเปลี่ยนแปลงเป็นแผนอื่นได้ถ้าจำเป็น
     o มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ไม่ว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้น


(4) รองเท้าความปลอดภัยสีส้ม (Orange Gumboots) 
          สีส้มเป็นสีของสัญญาณเตือนให้หลีกพ้นจากภาวะวิกฤติ รองเท้าสีส้มจึงสื่อความหมายถึงการตอบสนองต่อสัญญาณเตือนเหตุฉุกเฉิน (emergency response)

          พฤติกรรมการปฏิบัติแบบรองเท้าสีส้ม มีลักษณะดังนี้
     o ลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน โดยการประเมินสถานการณ์และกลยุทธ์การปฏิบัติอย่างละเอียดถี่ถ้วน สมเหตุสมผล ชัดเจน ไม่กำกวม
     o ติดตามและจัดลำดับความสำคัญของผลที่ได้รับจากการปฏิบัติและไม่ได้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและระมัดระวัง


(5) รองเท้าแตะใส่ในบ้าน สีชมพู (Pink Slippers)
          สีชมพูเป็นสีที่ให้ความรู้สึกสบาย น่าทนุถนอม และทำความเข้าใจได้ ขณะเดียวกันก็ให้ความเคารพต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น (human caring)

          พฤติกรรมการปฏิบัติแบบรองเท้าแตะสีชมพู มีลักษณะดังนี้
     o ตัดความบาดหมางทางจิตใจที่มีต่อผู้เห็นต่าง
     o ปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเคารพ ความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจเท่าที่จะสามารถทำได้
     o มีความเชื่อพื้นฐานที่ว่า ความเข้าใจกัน (care) ควรมีให้กับทุกคน


(6) รองเท้าใส่ขี่ม้า สีม่วง (Purple Riding Boots) 
          สีม่วงเป็นสีแห่งพิธีการ ความหรูเลิศ และความสำนึกรับผิดชอบในสิ่งที่ควรทำ เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้อำนาจหน้าที่

          พฤติกรรมการปฏิบัติแบบรองเท้ารองเท้าสีม่วง มีลักษณะดังนี้
     o แสดงพฤติกรรมและการใช้ดุลยพินิจตามบทบาทหน้าที่ที่กำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอ
     o แจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบว่าเป็นการกระทำตามหน้าที่ ไม่ใช่พฤติกรรมส่วนตัว


          ถึงจะเป็นการแสดงพฤติกรรมตามบทบาทหน้าที่ แต่ผู้แสดงพฤติกรรมดังกล่าวก็ยังสามารถความคิดเห็นใหม่ ๆ เพิ่มเติมได้ ทั้งนี้จะต้องเคารพต่อหลักความยุติธรรมและความเสมอภาคที่ยอมรับได้ทางสังคม เป็นบทบาทที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ไม่อยู่เหนือกฎหมาย

          ทั้ง Six Thinking Hats และ Six Action Shoes เป็นเพียงทักษะการใช้ความคิดเพื่อการตัดสินใจ ผู้นำมาใช้จำเป็นต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการบริหารและการจัดการพอสมควรจึงจะสามารถประยุกต์แนวคิดเข้ากับการปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จตามที่มุ่งหวังได้

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
---------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น