วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

5 Canons of Rhetoric




หลัก 5 ประการในการจัดทำสุนทรพจน์

          Cicero (106 B.C. - 43 B.C.) นักสุนทรพจน์ที่ยิ่งใหญ่ชาวโรมัน ได้เขียนหลัก 5 ประการในการจัดทำสุนทรพจน์ไว้ในหนังสือของเขาชื่อ De Inventione เมื่อประมาณ 50 ปีก่อนคริสต์ศักราช ต่อมาในปีที่ 95 ของคริสต์ศักราช นักสุนทรพจน์ที่ยิ่งใหญ่ชาวโรมันอีกผู้หนึ่ง คือ Quintilian (35 B.C. - 24 A.D.) ได้ขยายหลักสุนทรพจน์ของ Cicero ให้ลงลึกในรายละเอียดและเขียนเป็นหนังสือรวม 12 เล่มชื่อ Institutio Oratoria หนังสือชุดนี้ได้ใช้เป็นตำราหลักในการศึกษาการจัดเตรียมและการกล่าวสุนทรพจน์สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน


          หลักหรือข้อบัญญัติในการจัดทำและแสดงสุนทรพจน์ให้มีพลังและน่าประทับใจ ประกอบด้วย

1. เตรียมเรื่อง (Invention)
          เป็นกระบวนการกลั่นกรองและประมวลความคิด (brainstorming ideas) ให้ออกมาเป็นคำพูดที่สร้างความสนใจให้กับผู้ฟัง อาจเป็นส่วนที่ยากที่สุดในการจัดเตรียมหรือกล่าวสุนทรพจน์ เพราะเป็นการสร้างกรอบของสุนทรพจน์ให้โดดเด่นขึ้นมาจากความว่างเปล่า เป้าหมายก็คือการระดมความคิดทั้งหลายที่จะนำมากล่าวให้สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ฟังได้มากที่สุด องค์ประกอบสำคัญที่จะต้องนำมาพิจารณาในการจัดเตรียมสุนทรพจน์ (invention phrase) ได้แก่

     1.1 ผู้ฟัง (your audience)
          สุนทรพจน์ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ฟัง คือสุนทรพจน์ที่มีข้อความเกี่ยวข้องหรือกล่าวกับผู้ฟัง หากคุณเป็นผู้ที่กำลังเตรียมการเพื่อกล่าวสุนทรพจน์ คุณต้องศึกษาคุณสมบัติทั่วไปของผู้ฟัง เช่น กลุ่มอายุ, ระดับความรู้, อาชีพ, รวมถึงภูมิหลังทางวัฒนธรรม เช่น ผู้ฟังกลัวหรือวิตกกังวลในเรื่องใด มีความต้องการอะไร ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่าควรนำข้อเท็จจริงอะไรมาใส่ไว้ในสุนทรพจน์ นอกจากนั้นยังช่วยให้รู้ว่าควรจะโน้มน้าวความรู้สึกของผู้ฟังด้วยวิธีใดจึงจะได้ผลมากที่สุด

     1.2 หลักฐาน (your evidence)
          ในการวางแผนหรือร่างสุนทรพจน์ ควรรวบรวมหลักฐานไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ข้อเท็จจริง สถิติ กฎหมาย วิธีที่ดีที่สุดคือการผสมผสานหลักฐานเหล่านี้เข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม การชักจูงผู้ฟังแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มอาจต้องใช้หลักฐานที่แตกต่างกัน ผู้ฟังบางคนชอบให้มีประจักษ์พยานหรือสถิติที่ชัดเจนจึงจะคล้อยตาม บางคนชอบที่จะให้มีเจ้าหน้าที่ชั้นสูง คนใกล้ชิดที่ตนเชื่อถือ หรือผู้มีชื่อเสียงเป็นผู้ให้การรับรองคำกล่าวนั้นจึงจะเชื่อ คุณจึงต้องพยายามศึกษาว่าจะใช้หลักฐานประเภทใดที่น่าเชื่อถือและโน้มน้าวผู้ฟังได้ดีที่สุด

     1.3 เทคนิคดึงดูดความสนใจ (the means of persuasion)
          การโน้มน้าวผู้ฟังให้เกิดความสนใจติดตามสุนทรพจน์ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่สมัยอริสโตเติล มี 3 ประเภท
       1.3.1 Ethos เน้นที่ความน่าเชื่อถือของผู้แสดงสุนทรพจน์ว่ามีความรู้หรือเชี่ยวชาญในเรื่องที่นำมาเสนอมากน้อยเพียงใด รู้จริงหรือเพียงแค่เก็บเรื่องของผู้อื่นมาเล่าต่อ
       1.3.2 Pathos เน้นที่อารมณ์ร่วมระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ซึ่งอาจเป็นความสนุกสนาน ตื่นเต้น ฮึกเหิม หรือเศร้าโศก
       1.3.3 Logos เน้นที่ความเป็นเหตุเป็นผลของข้อมูลที่นำเสนอ และการอธิบายขยายความให้เข้าใจได้ตามเจตนาของผู้พูด

          ผู้เตรียมสุนทรพจน์จึงต้องตัดสินใจว่าจะเลือกใช้การชักชวนในรูปแบบใดจึงจะสามารถโน้มน้าวผู้ฟังได้ดีที่สุด อาจจะใช้ทุกแบบผสมผสานกัน หรือเลือกเน้นที่แบบใดแบบหนึ่ง ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติและความถนัดของผู้พูด

     1.4 เวลา (timing)
          คนเราจะรับรู้เรื่องราวหรือแนวคิดได้มากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละสภาพแวดล้อม เช่น ไม่ควรเสนอขอความช่วยเหลือจากผู้ฟังในเวลาที่ผู้ฟังเองก็ยังไม่มีความมั่นคงและอยู่ระหว่างรอความช่วยเหลืออยู่เช่นกัน ผู้พูดจึงต้องเข้าใจว่าในสภาพแวดล้อมขณะนั้นควรนำเสนอเรื่องอะไร และควรใช้เวลาในการกล่าวสุนทรพจน์ยาวเท่าไร ในบางสถานการณ์ สุนทรพจน์ที่สั้นกระชับและจัดเตรียมข้อมูลมาเป็นอย่างดี จะดีกว่าสุนทรพจน์ที่ยาวจนผู้ฟังขาดความสนใจติดตาม ตัวอย่างเช่น สุนทรพจน์ของประธานาธิบดีลินคอล์นที่เมือง Gettysburg (Gettysburg Address) มีความยาวเพียง 273 คำ ใช้เวลากล่าวไม่ถึง 3 นาที แต่เป็นที่จดจำและกล่าวขานกันมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 150 ปี ในขณะที่สุนทรพจน์ของ Edward Everett นักปาฐกถาที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งซึ่งแสดงสุนทรพจน์ในโอกาสเดียวกันยาวกว่า 2 ชั่วโมง กลับไม่มีผู้ใดจำได้เลยว่าเขากล่าวอะไรในวันนั้น

     1.5 โครงสร้างทางความคิด (format of argument)
          ในการร่างหรือแสดงสุนทรพจน์ แม้คุณจะรู้อยู่เต็มอกว่าตั้งใจจะเขียนหรือกล่าวเรื่องอะไร แต่พอจะต้องมาเขียนเป็นร่าง ก็อาจขาดเค้าโครงหรือลำดับที่ชัดเจน วกวนอยู่แต่ในกรอบแคบๆ ที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ คุณจึงควรนำหลัก 2 ประการในการจัดโครงสร้างทางความคิดซึ่งนักกล่าวสุนทรพจน์ตั้งแต่สมัย Cicero, Quintilian ได้แนะนำไว้ มาใช้ ดังนี้
       1.5.1 ตั้งประเด็น (Stasis) เป็นขั้นตอนที่ช่วยให้ผู้พูดมีความชัดเจนในประเด็นหลักของเรื่อง ด้วยการตั้งคำถาม 4 ข้อกับตนเอง
     o จะพูดเรื่องอะไร (questions of fact) บุคคล ความคิด หรือปัญหา ที่จะนำมากล่าวนั้นมีจริงหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหา อะไรคือที่มาของปัญหา มีข้อเท็จจริงอะไรมาสนับสนุนความคิดดังกล่าว
     o จะแสดงเรื่องนั้นให้ชัดเจนมากที่สุดได้อย่างไร (questions of definition) มีแง่มุมที่ทำให้คิดต่างออกไป แทรกอยู่หรือไม่ จะสามารถนำส่วนที่คล้ายกันมาจัดรวมเป็นกลุ่มเดียวกันได้หรือไม่
     o เป็นเรื่องดีหรือไม่ดี (questions of quality) ถูกหรือผิด สำคัญหรือไม่มีแก่นสาร
     o เป็นเรื่องถูกกาลเทศะที่จะนำมาเสนอในที่นี้หรือไม่ (questions of procedures / jurisprudence) ต้องการให้ผู้ฟังทำอะไรต่อหลังจากจบสุนทรพจน์นี้


          คำถามเหล่านี้อาจฟังดูพื้นๆ แต่เมื่อจะต้องให้ได้คำตอบ คุณจะมีความคิดที่ชัดเจนมากขึ้นว่า สมควรจะจับประเด็นเรื่องเหล่านั้นอย่างไร จึงไม่ควรข้ามขั้นตอนที่ดูจะธรรมดานี้ไปเมื่อจะต้องจัดโครงสร้างทางความคิด

       1.5.2 จัดหมวดหมู่ (Topics of invention) เพื่อช่วยให้ผู้แสดงสุนทรพจน์ได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดต่างๆ และจัดโครงสร้างทางความคิดให้ตกผลึก Aristotle ได้แบ่งการแสดงสุนทรพจน์ออกเป็นสองหมวดใหญ่ๆ คือ หมวดสามัญ (common) กับหมวดพิเศษ (special) ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะหมวดสามัญเพียงหมวดเดียวเพราะเป็นเรื่องทั่วไปที่สามารถนำไปใช้กับการแสดงสุนทรพจน์ได้ทุกเรื่อง ประกอบด้วยหัวข้อที่ต้องให้ความสำคัญ ดังนี้
     o นิยามเรื่อง (definition): ในการอภิปรายเรื่องใดก็ตาม ผู้ที่จับประเด็นได้อย่างถูกต้องและพูดได้ตรงตามหัวข้อโดยไม่หลงไปกล่าวในเรื่องอื่นๆ จนเลยเถิด จะเป็นผู้ได้รับชัยชนะในการแสดงสุนทรพจน์หรือในการอภิปรายเสมอ เราจะเห็นตัวอย่างจากนักการเมืองที่พยายามตีกรอบเรื่องที่พูดให้เป็นตามที่ต้องการนำเสนอ อาจแตกเรื่องออกเป็นหัวข้อย่อยๆ บ้างก็ได้ แต่หัวข้อย่อยเหล่านั้นจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับหัวเรื่องใหญ่ที่เป็นประเด็นในการพูด
     o เปรียบเทียบ (compare): การเปรียบเทียบหรืออุปมาอุปมัยจะช่วยให้ผู้ฟังเห็นภาพที่คุณต้องการนำเสนอได้ชัดเจนและอยู่ในความทรงจำได้ดีกว่าการพูดไปเรื่อยๆ ซึ่งยิ่งนานก็อาจทำให้ผู้ฟังสับสนหรือหมดความสนใจ
     o สาเหตุและผลที่ได้รับ (cause and effect): เป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลในการชักจูงผู้ฟังให้คล้อยตาม ควรยกข้อเท็จจริงมาประกอบด้วยเพื่อให้เกิดความเชื่อถือในข้อสรุปที่จะกล่าวแก่ผู้ฟัง
     o สถานการณ์ (circumstance): เรื่องเดียวกันอาจมีผลลัพธ์ต่างกันในแต่ละสถานการณ์ ผู้พูดจึงควรเน้นสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร ต่างจากสถานการณ์โดยทั่วไปหรือไม่อย่างไร อาจชักจูงผู้ฟังให้เห็นผลที่จะเกิดในอนาคตโดยยกตัวอย่างสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่คล้ายกันซึ่งเคยเกิดขึ้นในอดีตมาสนับสนุนความเห็นว่าน่าจะเกิดผลเช่นเดียวกันในอนาคต


2. เตรียมการนำเสนอ (Arrangement)
          เป็นกระบวนการปรุงแต่งความคิด (organizing speech) ที่สามารถจูงใจผู้ฟังให้คล้อยตาม ด้วยการแบ่งสุนทรพจน์ที่แสดงออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่

     2.1 การกล่าวนำ (Introduction)
          มีหน้าที่อยู่ 2 อย่าง คือ
       2.1.1 เกริ่นนำ (introducing your topic) เพื่อแจ้งเรื่องหรือความมุ่งหมายของสุนทรพจน์ให้ผู้ฟังทราบ เช่น เพื่อเชิญชวน, เพื่อให้ความรู้, เพื่อยกย่อง ฯลฯ การเกริ่นนำมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อความสำเร็จของสุนทรพจน์ ผู้ฟังจะใช้เวลาไม่กี่วินาทีในการตัดสินว่าสุนทรพจน์นั้นควรค่าแก่การติดตามหรือไม่ หากผู้แสดงสุนทรพจน์ไม่สามารถดึงความสนใจของผู้ฟังได้ตั้งแต่แรก ก็คงยากที่จะดึงความสนใจของผู้ฟังให้กลับมาได้ในภายหลัง

          การเกริ่นนำที่เรียกความสนใจของผู้ฟัง อาจเริ่มด้วยการยกคำกล่าวของผู้มีชื่อเสียง ตั้งคำถาม หรือเล่าข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะพูดและจับอารมณ์ความรู้สึก (captivating story) ของผู้ฟัง บางคนเริ่มด้วยเรื่องตลกทั้งๆ ที่บรรยากาศแวดล้อมค่อนข้างตึงเครียด ถึงจะสามารถทำให้ผู้ฟังขำได้ แต่ก็ทำให้ความน่าเชื่อถือในตัวผู้พูดและเรื่องที่ผู้พูดจะกล่าวต่อไปลดลงด้วยเช่นกัน

       2.1.2 สร้างความน่าเชื่อถือ (establishing credibility) Quintilian ได้แนะนำให้เน้นไปที่การสร้างความน่าเชื่อถือในตัวผู้พูด (Ethos: ดูข้อ 1.3.1) เป้าหมายสำคัญที่สุดในช่วงการกล่าวนำ ไม่ได้อยู่ที่ความสมเหตุสมผลของเรื่องราว แต่อยู่ที่ความน่าเชื่อถือของผู้พูดว่าเป็นผู้ที่นำข้อเท็จจริงและแนวคิดที่เป็นประโยชน์ซึ่งยากที่จะหาฟังจากที่อื่น มากล่าวให้ฟังหรือไม่

     2.2 ข้อเท็จจริง (Statement of facts)
          เป็นข้อมูลภูมิหลังหรือความเป็นมาของเรื่องที่จะพูดซึ่งผู้ฟังควรทราบ วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ฟังมีข้อมูลเพียงพอที่จะทำความเข้าใจบริบทของเรื่องที่จะกล่าวต่อไป ถ้าคุณต้องการใช้สุนทรพจน์ของคุณชักชวนผู้ฟังให้กระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใด คุณต้องทำให้ผู้ฟังเชื่อก่อนว่ามีปัญหาที่ต้องการการแก้ไขด้วยการกระทำดังกล่าวอยู่จริง ภูมิหลังที่นำมากล่าวไม่ควรจัดเป็นข้อๆ แต่ควรเรียบเรียงให้อยู่ในรูปของเรื่องเล่า เราจะเห็นทนายความชอบใช้วิธีนี้ในการนำเสนอเรื่องราวต่อศาลด้วยการทยอยนำเสนอข้อเท็จจริงประกอบการชี้แจงเป็นระยะๆ

     2.3 การแบ่งเรื่องที่พูดออกเป็นตอนๆ (Division)           เป็นวิธีที่ Quintilian ได้แนะนำให้กระทำภายหลังการนำเสนอข้อเท็จจริง เป็นการเชื่อมโยงข้อเท็จจริงเข้ากับเรื่องที่จะพูด สรุปหัวเรื่องที่จะบรรยาย เปรียบเหมือนแผนที่การเดินทาง (roadmap) ของเหตุผลและอารมณ์ที่ผู้ฟังจะติดตามได้ตลอดว่าเรื่องที่ผู้พูดกำลังนำเสนอเป็นเรื่องที่เท่าไร ยังมีเรื่องอะไรที่จะตามมา สมควรติดตามฟังต่อไปหรือไม่

     2.4 ความสมเหตุสมผล ((Proof)
          เป็นเนื้อหาหลักของสุนทรพจน์ซึ่งคุณต้องยกเหตุผลมาประกอบเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ฟัง (ดู 1.3.3) เนื้อหาที่นำมากล่าวนี้จะต้องสัมพันธ์สอดคล้องกับความเป็นมาที่ได้นำมากล่าวไว้ก่อนหน้านี้ (ดู 2.2) เพื่อให้เนื้อหาที่พูดมีน้ำหนัก หากคุณมีคำแนะนำให้ผู้ฟังทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด คุณต้องสร้างความมั่นใจว่าข้อแนะนำของคุณคือทางออกที่ดีที่สุดของปัญหา

     2.5 จุดอ่อน (Refutation)
          หลังจากได้นำเสนอแนวคิดของคุณไปแล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาชี้ให้เห็นว่าแนวคิดของคุณก็อาจมีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องอยู่ในเรื่องใดบ้าง อาจฟังดูแปลกๆ ที่ทำไมจะต้องมาพูดขัดกับความคิดเห็นหรือข้อเสนอของตนเอง แต่ที่จริงแล้ว การนำเสนอดังกล่าวกลับเพิ่มพลังการสนับสนุนให้กับความคิดเห็นของคุณ เนื่องจาก
     · ให้โอกาสคุณได้ตอบคำถามแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกับผู้ฟังที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของคุณ และได้ไขข้อข้องใจที่อาจติดค้างอยู่ในใจของผู้ฟัง หากคุณไม่หยิบยกข้อโต้แย้งหรือจุดอ่อนในแนวคิดของคุณขึ้นมาพูดก่อน ผู้ฟังที่เห็นแย้งกับคุณก็คงเป็นฝ่ายลุกขึ้นมาพูดเอง ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น อาจเป็นการชี้ว่าคุณคิดไม่รอบคอบหรือแอบซ่อนบางอย่างไว้ในความคิด
     · การชี้ให้เห็นจุดอ่อนในเรื่องที่คุณนำเสนอ เป็นวิธีการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวคุณและเรื่องที่คุณได้กล่าวมาทั้งหมด (ดู 1.3.1) การถ่อมตัวลงบ้างจะสามารถเรียกความไว้วางใจจากผู้ฟังได้มาก และยังช่วยลดความรู้สึกต่อต้านลงไปได้อีกด้วย ตราบใดที่ความเห็นหรือข้อเสนอของคุณไม่มีเกราะเหล็กที่ห่อหุ้มคุ้มกัน การชี้ให้เห็นจุดอ่อนของความคิดของตนเองจะช่วยเรียกความเห็นอกเห็นใจและความไว้วางใจจากผู้ฟังได้เป็นอย่างมาก


     2.6 สรุป (Conclusion)
          เป้าหมายในส่วนนี้คือการสรุปรวมความคิดเห็นหรือข้อเสนอของคุณให้มีพลังและติดตรึงในความทรงจำให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ โดยคุณจะต้องสร้างอารมณ์ร่วมของผู้ฟังลงไปในข้อสรุปดังกล่าว (ดู 1.3.2)

3. จัดรูปแบบการนำเสนอ (Styles)
          เป็นการพิจารณาว่าจะนำเสนอความคิดของคุณออกมาอย่างไรให้ผู้ฟังเกิดความสนใจที่จะติดตาม เปรียบได้กับการห่อของขวัญ ผู้รับยินดีที่จะได้รับของขวัญที่ห่ออย่างประณีตมากกว่าของขวัญที่ห่ออย่างลวกๆ ด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ทั้งๆ ที่ผู้รับก็ยังไม่รู้ว่าห่อทั้งสองมีอะไรอยู่ข้างใน แต่เขาก็ตัดสินใจได้แล้วว่าควรเลือกรับของขวัญห่อใดที่น่าจะสร้างความพอใจให้แก่เขาได้มากกว่า รูปแบบ (style) การนำเสนอสุนทรพจน์ก็มีความสำคัญแก่ผู้ฟังไม่ต่างจากไปจากรูปแบบการห่อของขวัญเช่นกัน

          ศิษย์สองคนของอริสโตเติล คือ Theophrastus (371 B.C. - 287 B.C.) และ Demetrius (350 B.C. - 280 B.C.) เป็นผู้พัฒนารูปแบบการนำเสนอสุนทรพจน์ที่ดีไว้เมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช Cicero และ Quintilian ได้นำแนวทางดังกล่าวมาพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อสอนให้กับลูกศิษย์ของพวกเขาในระยะต่อมา รูปแบบของสุนทรพจน์ที่ประทับใจผู้ฟัง ประกอบด้วย

     3.1 ถูกต้องตามหลักภาษา (Correctness)
          การใช้คำและภาษาที่ถูกต้องทั้งไวยากรณ์และสำนวน ช่วยให้ผู้ฟังไม่รู้สึกขัดหู ขบขัน หรือเข้าใจผิด สามารถสื่อสารสิ่งที่ต้องการถ่ายทอดออกไปได้ตรงตามเจตนา ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ภาษาได้ถูกต้องเหมาะสมยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในตัวผู้พูดเพราะแสดงว่าผู้พูดเป็นผู้มีการศึกษาที่ดี มีความเข้าใจและให้ความสำคัญกับความแตกต่างของคำและสำนวนในภาษา หากคุณต้องการสะกดผู้ฟังให้ติดตามสุนทรพจน์ของคุณ ก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งใดๆ ที่จะมาฉุดผู้ฟังออกจากเรื่องที่คุณพูด อย่าปล่อยให้ผู้ฟังมีเหตุที่จะลดความน่าเชื่อถือในตัวคุณลงไปเพราะความไม่ใส่ใจในการเลือกใช้ภาษาให้ถูกต้อง

     3.2 ชัดเจน (Clarity)
          คงยากที่จะให้ผู้ฟังเห็นคล้อยตามหากพวกเขาไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณพยายามจะบอก คุณจึงไม่ควรใช้คำที่หรูหรา สวิงสวาย หรือประโยคที่ซับซ้อน จนผู้ฟังสับสน ยิ่งคุณใช้คำและโครงสร้างประโยคที่ธรรมดาเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้คุณดูเป็นผู้รู้มากขึ้นเท่านั้น แต่การพูดให้ชัดเจนโดยใช้คำง่ายๆ สามัญ ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณจำเป็นต้องจับแก่นของเรื่องที่จะพูดให้มั่นและกล่าวออกไปด้วยคำพูดที่ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้ อาจนำเทคนิคต่อไปนี้มาช่วย

       3.2.1 พูดในลักษณะที่นักเรียนชั้นมัธยมต้นสามารถเข้าใจได้ หากเด็กมัธยมต้นเข้าใจ ผู้ใหญ่ที่มีการศึกษาระดับปานกลางก็น่าจะเข้าใจได้เช่นกัน ลองฝึกเอาเรื่องทางจริยธรรม หรือข้อกฎหมายที่ซับซ้อน หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ มาเรียบเรียงใหม่โดยใช้ถ้อยคำง่ายๆ พูดให้เด็กชั้นมัธยมต้นฟัง การปรับคำและโครงสร้างประโยคเพื่อตอบคำถามของเด็ก จะช่วยให้คุณพบตัวเองว่าควรแก้ไขการใช้คำพูดอย่างไรในสุนทรพจน์ของคุณ

       3.2.2 หลีกเลี่ยงการใช้ passive voice เพราะทำให้ประโยคของคุณยืดยาวโดยไม่จำเป็นและทำให้คำกริยาที่เป็นตัวกระทำการของประโยคขาดพลัง เช่น แทนที่จะพูดว่า “ประสงค์ได้รับความพอใจในเรื่องที่คุณพูด” ควรพูดว่า “ประสงค์พอใจเรื่องที่คุณพูด”

       3.2.3 ไม่ใช้ประโยคที่สั้นหรือยาวเกินไป แต่ละประโยคควรประกอบด้วยคำประมาณ 20 คำ

       3.2.4 แต่ละหัวข้อควรมีแนวคิดหลักเพียงเรื่องเดียวและควรพูดสาระสำคัญของแนวคิดให้จบภายใน 5-6 ประโยค ส่วนจะขยายความในรายละเอียดให้เห็นภาพหรือเพิ่มความหนักแน่นในเนื้อหา ก็ควรเป็นตัวอย่างที่ตรงกับสาระสำคัญนั้นให้มากที่สุด

     3.3 ประจักษ์ชัด (Evidence)
          ภาษาที่ใช้ในการแสดงสุนทรพจน์จะต้องมีชีวิตชีวาและเข้าถึงอารมณ์ของผู้ฟัง คนส่วนใหญ่มีอารมณ์คล้อยตามด้วยสาเหตุของอารมณ์มากกว่าเหตุผล วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการสร้างการตอบสนองทางอารมณ์ของผู้ฟัง ก็คือการใช้การบรรยายที่ให้เกิดภาพที่ผู้ฟังยอมรับว่าเป็นประจักษ์พยานของเรื่องที่พูด เช่นในการแสดงสุนทรพจน์เพื่อระดมทุนช่วยเหลือเด็กผู้ยากไร้ แทนที่จะยกสถิติขึ้นมากล่าวว่ามีเด็กยากไร้อยู่ในพื้นที่ใด จำนวนเท่าไร ต้องการเงินเท่าไร ผู้แสดงสุนทรพจน์ควรบรรยายให้เห็นสภาพความลำบากของเด็ก ความทนทุกข์ที่ต่อเนื่องยาวนานโดยปราศจากความช่วยเหลือ การสูญเสียชีวิตของเด็กที่สามารถช่วยได้หากได้รับความช่วยเหลือทันเวลา ฯลฯ อารมณ์ที่เป็นผลจากการบรรยายที่ให้เห็นภาพความเดือดร้อน มีอำนาจในการชักชวนมากกว่าข้อเท็จจริงแห้งๆ ทางสถิติ

     3.4 มีคุณค่า (Propriety)
          เป็นการเลือกใช้คำพูดให้เหมาะกับเรื่อง วุฒิภาวะของผู้ฟัง และสถานการณ์ ตัวอย่างเช่นการกล่าวในงานแต่งงาน โฆษกในงานไม่ควรเล่าประวัติที่เสียหายของเจ้าบ่าวต่อหน้าเจ้าสาว พ่อแม่ของเจ้าสาว และแขกที่มาร่วมงานแม้ว่าเรื่องสำมะเลเทเมาในวัยรุ่น หรือการชอบพูดจาเพ้อเจ้อไร้สาระของเจ้าบ่าวนั้น จะเป็นนิสัยที่จริงของเจ้าบ่าวก็ตาม

     3.5 มีสีสัน (Ornateness)
          เป็นการสร้างชีวิตชีวาให้กับสุนทรพจน์โดยใช้คำที่มีสีสัน อาศัยความคล้องจองของคำทำให้ผู้ฟังมีความรู้สึกร่วมไปกับการบรรยาย เทคนิคที่นำมาใช้กันบ่อยๆ เช่น การสรุปเรื่องเป็นบทกลอนสั้นๆ ซึ่งนอกเหนือจากความเพลิดเพลินแล้ว ยังเป็นการแสดงภูมิของผู้กล่าวสุนทรพจน์ว่ามีทักษะทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือที่ผู้ฟังอยากติดตามฟังในโอกาสต่อไปด้วย

4. การจดจำ (Memory)
          เป็นกระบวนการเรียนรู้และจดจำสุนทรพจน์เพื่อให้สามารถแสดงได้โดยไม่ต้องใช้บันทึกประกอบ การจดจำที่ว่านี้ยังรวมไปถึงการจดจำคำกล่าวของบุคคลที่มีชื่อเสียง การอ้างอิงแหล่งที่มา และข้อเท็จจริงอื่นๆ ที่จะช่วยให้ผู้แสดงสุนทรพจน์สามารถขยายความให้กว้างขวางออกไปในเรื่องที่ไม่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าได้

     4.1 จดจำเรื่องที่จะพูด (Memorizing one’s speech)
          ในสมัยกรีกโบราณ การแสดงสุนทรพจน์จะกระทำปากเปล่าท่ามกลางที่ชุมนุมสาธารณะ ผู้แสดงจะต้องจดจำเนื้อหาและสามารถพูดได้โดยไม่ใช้บันทึกช่วยจำ ผู้คนในสมัยนั้นมักจะดูถูกนักพูดที่ต้องอาศัยบันทึกช่วยจำ หากผู้ใดล้วงบันทึกขึ้นมาดู จะถูกหัวเราะเยาะและเย้ยหยันว่าอ่อนหัด แม้กระทั่งในสมัยปัจจุบันนี้ การจดจำเรื่องที่จะพูดได้อย่างแม่นยำจะสร้างความเชื่อถือให้กับทั้งตัวผู้พูดและเนื้อหาที่นำมาพูด การพูดไปอ่านบันทึกไป จะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ผู้พูดไม่ได้สบตาหรือแสดงภาษากายต่อผู้ฟัง และทำให้ผู้ฟังเข้าใจไปได้ว่าเรื่องที่พูด ไม่ได้มาจากความตั้งใจจริงของผู้พูด แต่เป็นเพียงการอ่านสิ่งที่ผู้อื่นเขียนขึ้นมาให้อ่านเท่านั้น
  

          เทคนิคที่มีชื่อเสียงมากที่สุดซึ่งช่วยให้นักสุนทรพจน์กรีกโบราณสามารถจดจำเรื่องที่พูดซึ่งอาจยาวกว่า 2-3 ชั่วโมงได้อย่างถูกต้องตามลำดับขั้นตอน เรียกว่า “method of loci” เทคนิคนี้เขียนไว้ในตำราการกล่าวสุนทรพจน์ของโรมัน ชื่อ ad Herennium เป็นเทคนิคช่วยจำที่ได้ผลดีมากและยังคงใช้กันอยู่จนทุกวันนี้ วิธีการคือ ผู้แสดงสุนทรพจน์จะนำโครงร่าง (layout) ของบ้านที่ตนรู้จักหรือคุ้นเคยมาเป็นโครงร่างของเรื่องที่จะพูด เช่น ใช้ภาพห้องรับแขกเป็นจุดเริ่มหรือการเกริ่นนำ อาจสมมุติให้ชุดรับแขกเป็นการกล่าวทักทายผู้ฟัง รูปภาพบนฝาผนังเป็นเรื่องที่จะท้าวความ เมื่อจบบทนำแล้ว ก็อาจจินตนาการให้ห้องครัวเป็นเรื่องหรือหัวข้อที่1, โรงรถ เป็นหัวข้อที่ 2 ฯลฯ ด้วยเทคนิควิธีนี้ ผู้พูดจะสามารถลำดับเรื่องราวที่จะพูดได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ตกหล่นหรือวกวน

     4.2 ทำให้เรื่องที่พูดเป็นที่จดจำ (Making one’s speech memorable)
          จะมีประโยชน์อะไรถ้าจะต้องจัดเตรียมสุนทรพจน์มาอย่างยากลำบาก จดจำให้คล่องปาก แต่ไม่มีใครจำได้ว่าคุณพูดว่าอะไร คุณจึงจำเป็นต้องตรวจสอบร่างสุนทรพจน์ของคุณว่าได้บรรจุถ้อยคำที่จะทำให้ผู้ฟังได้จดจำไว้อย่างเพียงพอเหมาะสมหรือไม่ การที่จะทำให้สุนทรพจน์มีพลังในการชักจูงใจผู้ฟังได้อย่างแท้จริง ควรใช้วิธีการต่อไปนี้


4.2.1  เรื่องที่คุณพูด ต้องเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะฟัง (captivating story) มิเช่นนั้นคงยากที่จะทำให้เขาจดจำอะไรได้ หากคุณสามารถสร้างความสนใจในตอนเปิดสุนทรพจน์ได้แล้ว ก็นำหลักเตรียมการนำเสนอ (ดูข้อ 2) มาใช้เพื่อทำให้เรื่องที่นำมาเสนอ เป็นเรื่องง่ายต่อการจดจำ โดยระหว่างการเกริ่นนำ คุณควรให้ผู้ฟังได้ทราบถึงสิ่งที่คุณต้องการนำมาสื่อสาร เช่น อาจเริ่มว่า คุณมีเรื่องที่นำมาหารือกี่เรื่อง อะไรบ้าง ไม่ใช่พูดไปเรื่อยๆ จนจบ และเมื่อจบเรื่องที่หนึ่ง ควรหยุดสักเล็กน้อยแล้วแจ้งให้ผู้ฟังทราบว่าตอนนี้จบเรื่องที่หนึ่งแล้ว ต่อไปจะพูดถึงเรื่องที่สอง คือเรื่อง... การหยุดทบทวนว่าสุนทรพจน์ของคุณดำเนินไปถึงไหน และจะต่อไปที่ใด จะช่วยเน้นความสำคัญของประเด็นที่ช่วยให้ผู้ฟังสามารถจดจำเรื่องที่คุณพูดได้ชัดเจนและแม่นยำขึ้น

       4.2.2 ใช้คำพูดที่มีสีสันและสร้างจินตนาการ (figure of speech) เช่นที่ Winston Churchill กล่าวเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2483 ระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อปลุกขวัญกำลังใจและขอรับการสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎร (House of Common) แห่งสหราชอาณาจักร Churchill ใช้คำว่า “we shall fight” ซ้ำกันมากกว่าสิบครั้งเพื่อให้เกิดภาพที่ชัดเจนว่า สหราชอาณาจักรควรทุ่มเทไปกับภารกิจนี้อย่างไร วาทะกรรมดังกล่าวยังเป็นที่จดจำกันมาจนถึงปัจจุบัน

     4.3 เก็บตุนวลีเด็ด (Keeping a treasury of rhetorical fodder)
          นอกเหนือจากการจดจำเรื่องที่พูดให้แม่นยำโดยไม่ต้องอาศัยโพย และเลือกเฟ้นคำที่ติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ฟังแล้ว คุณควรจดจำข้อมูล, คำกล่าวที่มีชื่อเสียง, ข้อเท็จจริง, และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการกล่าวสุนทรพจน์เอาไว้ด้วย วิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ คือการมีสมุดพกเล็กๆ ตืดตัว เมื่อเกิดความคิดอะไรดีๆ หรือพบข้อมูล ฯลฯ ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคตก็จดลงไว้ เมื่อมีเวลาก็นำขึ้นมาทบทวนจนเป็นวลีหรือคติประจำตัว ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อถึงคราวฉุกเฉินจำเป็น เปรียบได้กับการมีเพลงเก่งที่สามารถร้องได้ทุกงาน หรือความสามารถในการรำวงและการเต้นรำจังหวะพื้นฐานที่สามารถร้อง รำ หรือเต้นได้โดยไม่เคอะเขินเมื่อมีผู้กล่าวเชิญ

5. แสดงสุนทรพจน์ (Delivery)
          หัวข้อการจัดรูปแบบการนำเสนอ (ดู 3. Style) จะเน้นไปที่การเลือกใช้ภาษา ส่วนหัวข้อการแสดงสุนทรพจน์ จะเน้นไปที่วิธีการนำเสนอว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้สิ่งที่คุณต้องการสื่อสาร ไปถึงผู้ฟังได้ดีที่สุด นักพูดสมัยกรีกและโรมันโบราณจะใช้ภาษากายและมือไม้ทำท่าทาง รวมไปถึงการเปลี่ยนน้ำเสียงหนักเบา เน้นกระแทก สูง ต่ำ ในระหว่างการกล่าวในที่ชุมนุมชน ศิลปะดังกล่าวถูกนำมาใช้ในทุกโอกาส แต่สำหรับการแสดงสุนทรพจน์ในปัจจุบัน ผู้พูดจำเป็นต้องคิดถึงอุปนิสัยของผู้ฟังซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม บางกลุ่มชอบให้แสดงท่าทางและภาษากายประกอบ แต่บางกลุ่มชอบผู้พูดที่ดูสุขุมเยือกเย็นและมองผู้พูดที่มีท่าทางเยอะว่าไร้การศึกษาหรือจำเป็นต้องใช้ท่าทางประกอบเรื่องที่ไม่มีสาระให้ดูมีน้ำหนัก ผู้ที่จะแสดงสุนทรพจน์จึงควรศึกษาพื้นฐานทางวัฒนธรรมของผู้ฟัง (ดูข้อ 1 การเตรียมเรื่อง และข้อ 2 การเตรียมการนำเสนอ) เพื่อให้สุนทรพจน์ของคุณเป็นสุนทรพจน์ที่ออกแบบมาสำหรับผู้ฟังกลุ่มนั้นอย่างแท้จริง
          ต่อไปนี้เป็นเทคนิคการกล่าวสุนทรพจน์ที่สร้างความประทับใจแก่ผู้ฟัง

     5.1 หยุดให้เป็น (Master the pause)
          คนส่วนใหญ่จะตื่นเต้นเมื่อต้องพูดในที่สาธารณะ จึงพยายามพูดให้เร็วจะได้ผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปให้เร็วที่สุด การตะบี้ตะบันพูดให้จบๆ นี้ ทำให้ผู้พูดพลาดเทคนิคที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการแสดงสุนทรพจน์ไป นั่นคือการหยุดในช่วงสั้นๆ (pause) การหยุดจะสร้างความสนใจให้เกิดแก่ผู้ฟัง เป็นความเงียบที่ช่วยให้สิ่งที่คุณจะกล่าวต่อไปเป็นเรื่องที่ทุกคนจะได้ยินไปพร้อมกัน แต่หากคุณเลือกหยุดเพื่อกล่าวสิ่งที่ไม่เป็นสาระ จะเกิดผลตรงกันข้าม คือนอกจากผู้ฟังจะผิดหวังที่อุตส่าห์ตั้งใจ ยังอาจกลายเป็นความขบขันและเสื่อมศรัทธาในตัวผู้พูดไปได้ในทันที

     5.2 ใช้ภาษากายให้เป็น (Watch your body language)
          ในการแสดงสุนทรพจน์ สิ่งที่สื่อสารออกไปไม่ได้มีเพียงคำพูด ภาษากายของคุณไม่ว่าจะเป็นท่าทาง การผงกหรือโยกคลอนศีรษะ รวมไปถึงการเดินบนเวที ล้วนสื่อสารบางสิ่งออกไปพร้อมกับการพูดของคุณด้วย คุณจึงควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการใช้ภาษากาย บางโอกาส การหยุดอยู่กับที่จะสร้างน้ำหนักให้กับเรื่องที่สื่อสาร แต่ในบางโอกาส การเคลื่อนไหวท่าทางและการเดินกลับสร้างความมีชีวิตชีวาให้ชวนติดตามมากกว่า

     5.3 ปรับน้ำเสียงให้มีสูงต่ำ (Vary your tone)
          การเปลี่ยนเสียงให้มีสูงต่ำ เป็นสัญญาณที่แสดงว่าคุณกำลังเปลี่ยนสิ่งที่คุณเล่าให้เป็นคำถาม หรือกำลังกระทบกระเทียบเสียดสีผู้ใด หรือกำลังถึงตอนที่น่าตื่นเต้นที่ชวนให้ติดตาม เป็นการปรับอารมณ์ผู้ฟังให้คล้อยไปตามความต้องการของคุณ นับเป็นเป้าหมายที่สำคัญประการหนึ่งในการแสดงสุนทรพจน์

     5.4 แสดงท่าทางให้เป็นธรรมชาติ (Let gestures flow naturally)
          ในการแสดงสุนทรพจน์ ผู้พูดจำเป็นต้องซักซ้อมสิ่งที่ต้องการนำเสนอซ้ำแล้วซ้ำอีก บ่อยครั้งที่แม้แต่ท่าทางก็อาศัยการจดจำว่าเมื่อพูดถึงตอนนี้ต้องยกมือขึ้นมา ทำให้การแสดงออกของภาษากายดูไม่เป็นธรรมชาติ ไม่สัมพันธ์กับน้ำเสียงและเรื่องราว ในการซักซ้อมสุนทรพจน์ คุณควรเน้นไปที่เนื้อหาและการถ่ายทอดความตั้งใจ ส่วนท่าทางควรเป็นไปตามธรรมชาติของตัวคุณเอง อาจขอให้เพื่อนช่วยดูตอนซ้อมและให้ความเห็นก่อนแสดงจริงก็ได้

     5.5 ปรับความช้า-เร็วให้สัมพันธ์กับอารมณ์ (Match your speed with your emotion)
          ความช้าเร็วของคำพูดควรสัมพันธ์กับอารมณ์ที่คุณแสดงออกหรือต้องการชักจูงผู้ฟัง เช่นถ้าคุณพูดอย่างรวดเร็ว ควรใช้เพือแสดงความโกรธ ความสับสน ความต้องการแก้แค้น ในขณะที่ถ้าคุณพูดช้าแบบลากเสียง ควรนำมาใช้เมื่อต้องการเน้นอารมณ์ว่าเอาจริงเอาจังกับเรื่องนั้นเป็นอย่างมาก เป็นต้น

     5.6 ปรับความหนักเบาของเสียง (Vary the force of your voice)
          ความหนักเบาของเสียง แสดงถึงความแตกต่างของอารมณ์ หากสิ่งที่พูดเต็มไปด้วยความโกรธ ก็ควรใช้เสียงที่ดังกว่าปกติ อาจไม่ถึงกับต้องตะโกน เพียงแต่ให้ดังกว่าที่พูดอยู่บ้างเพื่อให้รู้สึกถึงความหนักแน่นของอารมณ์ แต่เมื่อใดที่ต้องการเรียกความสนใจ คุณอาจใช้เสียงที่เบาลง อ่อนโยนราวกับว่ากำลังจะเล่าความลับบางสิ่งให้ผู้ฟัง การปรับความหนักเบาของเสียงและความเร็วช้าของจังหวะการพูด เป็นศิลปะที่ต้องการการฝึกฝนเป็นประจำ

     5.7 ออกเสียงให้ชัดถ้อยชัดคำ (Enunciate)
          ความประหม่า ความตั้งใจที่จะพูดหลายๆ เรื่องที่เตรียมมา ทำให้เกิดการพูดแบบลิ้นรัวได้ จะเห็นได้บ่อยจากเบื้องหลังการถ่ายทำละครที่ผู้แสดงต้องขอโทษผู้กำกับเพราะต้องถ่ายซ้ำเนื่องจากการพูดลิ้นรัวจนไม่เป็นคำของตน ดังนั้น ในการซักซ้อม หากพบว่ามีคำใดที่มักจะพูดลิ้นรัว ควรจดเป็นหมายเหตุไว้และพิจารณาว่า เป็นเพราะคำเหล่านั้นออกเสียงได้ลำบากเอง เช่น ระนอง ระยอง ยะลา ก็อาจจะเปลี่ยนคำพูดใหม่เป็นประโยคอื่นที่ออกเสียงได้ง่ายกว่า หรือหากเป็นเพราะความรีบร้อนลนลานของตนเอง ก็ควรฝึกซ้อมปรับอารมณ์และการแสดงออกของตนจนไม่เกิดข้อผิดพลาด

     5.8 สบตาผู้ฟัง (Look your audience in the eye)
          การสบตาจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง การสบตาไม่ควรใช้การกวาดตาไปรอบๆ แต่ควรมองที่ผู้ฟังครั้งละ 1-2 คนและมองอยู่ชั่วระยะหนึ่งซึ่งไม่สั้นหรือนานเกินไป เพราะหากสั้นไปก็ดูเหมือนว่าไม่ให้ความสำคัญ แต่นานไป อาจทำให้ผู้ฟังที่คุณมอง เกิดความอึดอัด กลัวว่าจะถูกตั้งคำถาม หรือคิดว่าคุณกำลังใช้สายตาล่วงเกินเขาอยู่ก็เป็นได้

          ข้อบัญญัติ 5 ประการนี้ มีคุณประโยชน์ไม่เฉพาะการจัดเตรียมและการกล่าวสุนทรพจน์เท่านั้น ยังสามารถใช้เป็นหลักและแนวทางในการเขียนหนังสือหรือบทความให้อยู่ในความทรงจำของผู้อ่านได้อีกด้วย

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ

  • 10 Common Communication Mistakes
  • Establishing Credibility
  • Genderlect and Linguistic Styles
  • Persuasion Tools Model
  • Persuasive Speech (Alan Monroe)
  • Powers of Persuasion
  • Problem Definition Process

---------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น