วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563

จะทำอย่างไรเมื่อมีความสามารถต่ำกว่าที่เจ้านายต้องการ

          
          ไม่มีใครอยากถูกคนอื่นมองว่าเป็นคนที่ไม่มีความสามารถในการทำงานหรือถูกมองว่าฝีมือไม่ถึงขั้น แม้จะเป็นความรู้สึกอึดอัด เหี่ยวเฉา ไร้ค่า แต่ในชีวิตการทำงาน เราก็คงต้องพานพบความรู้สึกเช่นนั้นบ้างเป็นบ้างครั้ง เพราะในชีวิตทำงาน จะมีผู้คาดหวังผลงานจากเรามากกว่าความสามารถของเราที่มีอยู่จริงเสมอ
           
          ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือ เรามักไม่ค่อยรู้ตัวว่ามีฝีมือหรือความรู้ความชำนาญต่ำกว่าที่มาตรฐานงานต้องการ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความซับซ้อนของงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความคาดหวังของหัวหน้างานที่มีต่อเราเพิ่มสูงขึ้นทั้งปริมาณ คุณภาพ และความรวดเร็วโดยเราอาจไม่ทันรู้ตัว แต่หากเราได้มีโอกาสรับรู้ความบกพร่องของเราหรือความคาดหวังที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าความรู้ความสามารถของเรา เช่น จากการบอกเล่าของเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ฝ่ายบุคคล หรือจากความรู้สึกของตนเองเพราะรู้สึกยุ่งยากทุกครั้งที่ต้องปฏิบัติภารกิจ ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา

          Jean-Francois Manzoni ศาสตราจารย์ด้านภาวะผู้นำและการพัฒนาองค์กรของสถาบัน IMD International ได้กล่าวถึงสิ่งที่ผู้ที่ประสงค์จะพัฒนาตนเองจะต้องทำนอกเหนือไปจากการศึกษาเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะ และนับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผู้ต้องการพัฒนาตนเองจะประสบความสำเร็จได้ ดังนี้

1. ยอมรับว่าตนมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข  
          อุปสรรคแรกของการพัฒนาอยู่ที่ แม้จะมีข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ค่อนข้างชัดเจนว่าเราเป็นคนที่ฝีมือยังไม่ถึงขั้น เช่น จากยอดขายที่ไม่เข้าเป้า หรือจากคำบอกกล่าวของผู้บังคับบัญชา จากเพื่อนร่วมงาน หรือจากรายงานต่างๆ เราก็ยังมักจะเข้าข้างตัวเองและกล่าวโทษคนอื่นหรือโทษสถานการณ์ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เรามีผลการปฏิบัติงานเป็นเช่นนั้น เช่น โทษทีมงานซึ่งให้เราเข้าไปทำงานด้วยว่า ไม่ให้ความร่วมมือ หรือโทษระบบบริหารจัดการที่เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งว่า มีข้อบกพร่อง หรือในกรณีการขาย ก็โทษพื้นที่ที่มอบหมายให้ไปดูแลว่า เขี้ยวกว่าพื้นที่ที่ผู้อื่นรับผิดชอบ
            
          ไม่ว่าสิ่งที่เรายกขึ้นมาอ้างหรือกล่าวโทษนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่จริงแท้แน่นอนก็คือ เราคือองค์ประกอบหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้น Manzoni แนะนำให้เราลดทิฐิแล้วหันมาพิจารณาผลการปฏิบัติงานของตนเองอย่างเป็นกลาง พยายามแยกปัญหาให้ออกว่าปัญหาอะไรที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้และปัญหาอะไรที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลง การขอให้เพื่อนร่วมงานช่วยเป็นกระจกสะท้อนข้อบกพร่องของเรา ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ควรทำ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องยอมรับว่าตนต้องมีข้อบกพร่องที่ค้นหาให้พบ ยอมรับมัน และมุ่งมั่นที่จะแก้ไขให้ดีขึ้น

2. ขอรับความช่วยเหลือจากผู้มีอำนาจหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง  
          หากเราทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ไม่ยอมรับพัฒนาการใหม่ๆ เพราะคิดว่าตนเองทำดีที่สุดแล้ว ก็คงยากที่จะแก้ไขปัญหาที่เป็นข้อบกพร่องของตนเองได้ นอกจากนั้น ในการทำงาน ยังมีปัญหาอื่นอีกมากมายที่เราไม่สามารถจัดการแก้ไขได้ด้วยตนเอง เช่น ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างการทำงาน จึงไม่ได้เป็นเรื่องน่าอายอะไรที่เราจะเข้าพบผู้บังคับบัญชาเพื่อขอรับความช่วยเหลือและคำปรึกษาแนะนำ การขอรับความช่วยเหลือในลักษณะนี้ ควรชัดเจนว่าต้องการให้เขาช่วยอะไร มิฉะนั้นจะกลายเป็นเพียงการไปปรับทุกข์หรือแก้ตัวในความผิดพลาดหรือความบกพร่องของตน ผู้บังคับบัญชาจะสามารถช่วยเหลือเราได้ดีขึ้นถ้าเราจะบอกเขาไปตรงๆ ตามความคิดของเราว่า เขาจะช่วยเราได้อย่างไร บ่อยครั้งที่การพูดจาหารือกันแบบตรงไปตรงมานี้ ผู้บังคับบัญชาจะมีโอกาสได้ชี้แจงข้อจำกัดที่เราไม่เคยทราบมาก่อนและผู้บังคับบัญชาก็ไม่เคยทราบว่าข้อจำกัดนั้นเป็นปัญหาของเรา ความเข้าใจที่ดีระหว่างกันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาทั้งการพัฒนาความรู้ความสามารถของผู้ปฏิบัติงาน การแก้ไขปรับปรุงระบบและเงื่อนไขการทำงาน ตลอดจนการมอบหมายงานให้เหมาะสมกับระดับความรู้ความสามารถของผุ้ปฏิบัติ

          บุคคลใกล้ชิดในการทำงาน เช่น เพื่อนร่วมงาน พี่เลี้ยง หรือแม้กระทั่งคนที่เขียนรายงานว่าเราเป็นคนที่มีความสามารถไม่ถึงขั้น ล้วนมีส่วนช่วยพัฒนาเราได้ทั้งสิ้น ถ้าเราไม่ยึดติดกับทิฐิของตนมากจนเกินไป เราควรขอให้เขาให้ข้อมูลแก่เราว่าเราทำงานไม่ดีอย่างไร ควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร การทำเช่นนี้จะเป็นผลดีสองประการ คือ

     (1) ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกในพฤติกรรมของเราที่เราอาจมองไม่เห็นหรือไม่รู้ตัว
     (2) ผู้ที่เราไปขอคำปรึกษาจะช่วยกระจายข่าวให้คนอื่นรู้ว่า เรากำลังคิดจะปรับปรุงตัว คนเหล่านั้นจะมองเราดีขึ้นและกล้าที่จะเข้ามาช่วยให้ความเห็นหรือคำแนะนำแก่เราเพราะรู้ว่าเราพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงตัวเองแล้ว

     3. ข้อบกพร่องหลักที่จะต้องแก้ไข 
                 คนเรามีข้อบกพร่องมากมายหลายแง่มุม แต่เรื่องหลักๆ ที่เราจำเป็นต้องตรวจสอบเพราะเป็นองค์ประกอบหลักในการพัฒนาตนเอง ได้แก่
   o ความพยายาม: เราได้ใช้เวลาและทุ่มเทกับงานมากพอหรือไม่
   o กลยุทธ์: เรามีแผนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเป้าหมายและวิธีการทำงาน การจัดสรรเวลา การประเมินผล การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบหรือไม่
   o ความพร้อม: เรามีทักษะ ความรู้ และความสามารถพอที่จะทำงานตามกลยุทธ์ของเราหรือไม่


          การหมั่นตั้งคำถามตัวเองในสามเรื่องนี้จะช่วยให้มองเห็นสิ่งที่ควรแก้ไข คำตอบที่เราได้จากคำถามนี้คือสิ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญในการปรับปรุง

     4. เรียกคุณค่าของตนที่เสียไปกลับคืนมา 
          ระหว่างที่เราเริ่มที่จะปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเอง เราอาจพบว่า ข้อบกพร่องเหล่านั้นได้ทำลายคุณค่าความน่าเชื่อถือในตัวเราไปเสียแล้ว ตัวบ่งชี้ที่สังเกตได้ก็คือ งานที่เราได้รับมอบหมายให้ทำ ล้วนเป็นงานที่ไม่มีความสำคัญ ไม่ท้าทาย เมื่อมีงานสำคัญใหม่ๆ เข้ามา หัวหน้างานก็ไม่มอบหมายให้เราเป็นผู้รับผิดชอบหรือไม่แม้แต่จะให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกว่ากำลังอยู่ในสภาพการณ์เช่นนั้น สิ่งที่จะต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาตนเอง คือ ควรเพิ่มความระมัดระวังในพฤติกรรมใดๆ ที่จะยิ่งทำลายคุณค่าของตนเอง การได้รับโอกาสให้แสดงความรู้ความสามารถ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามีความรู้ความสามารถพอหรือไม่เท่านั้น แต่ยังอยู่ที่คุณค่าของเราในความรู้สึกของหัวหน้าหรือผู้เกี่ยวข้องด้วยว่า เขาคิดเห็นอย่างไร เราจึงควรยุติการขยายตัวของความรู้สึกที่ไม่ดีเหล่านั้นด้วยการหยุดพฤติกรรมที่ทำลายคุณค่าของตนเอง เช่น การมาทำงานสาย การกลับก่อนเวลา การไม่ให้ความร่วมมือในการทำงาน การไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง ฯลฯ

          เมื่อไดที่เราคิดว่าตนเองมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปรับปรุงส่วนที่เป็นข้อบกพร่องได้บ้างแล้ว อย่าคิดเข้าข้างตนเองว่าเราแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้สำเร็จแล้ว แต่ควรขอให้ผู้เกี่ยวข้อง เช่น หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน ช่วยแนะนำว่าเขาได้เห็นความก้าวหน้าหรือการพัฒนาในตัวเราบ้างหรือไม่ มีคำแนะนำอะไรเพิ่มเติมให้เราบ้าง การเรียกคุณค่าของตนที่สูญเสียไป อาจต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะมีคนเห็นการเปลี่ยนแปลงของเรา และอาจต้องใช้เวลามากกว่านั้นกว่าจะมีคนกล้ามอบงานที่สำคัญให้เราทำ ความอดทน มุ่งมั่นไม่ถอดใจ เป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการเรียกคุณค่าและความเชื่อถือที่เสียไปกลับคืนมา

          อย่างไรก็ตาม แม้เราจะสามารถแก้ไขปรับปรุงความรู้ความสามารถในการทำงานให้ดีขึ้นได้แล้วก็ตาม ก็เป็นไปได้ที่จะยังไม่มีใครให้ความไว้วางใจ หรือรับเราเข้าเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน อาจเป็นเพราะคุณค่าในตัวเราได้ลดต่ำลงจนไม่มีใครให้ความสนใจว่าเราจะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้หรือไม่ หรือเพราะงานที่เราทำอยู่ล่าสุดนี้ไม่มีความสำคัญจนคนทั้งหลาย แม้แต่หัวหน้าของเราเอง คิดว่าเราคงสามารถทำงานได้เพียงระดับพื้นฐานเช่นนั้น ถ้าสถานการณ์เป็นเช่นที่กล่าวมา และเรามั่นใจว่าตนเองมีความสามารถที่จะเติบโตได้ในที่อื่น ก็ควรหาทางขยับขยายเปลี่ยนหน่วยงานหรือสถานทีทำงานไปเสียเลย บางครั้งการยอมถอยก็เป็นทางออกที่ดีหากเราได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว คนเรามีเวลาที่จะสร้างความสำเร็จในชีวิตการทำงานภายในองค์กรได้คนละเพียง 40 ปีเป็นอย่างมาก อย่าปล่อยให้เวลาที่แสนสั้นนี้ต้องนับถอยหลังไปเปล่าๆ โดยไม่มีอะไรดีขึ้น 

สิ่งที่ควรทำ 
     1) ทบทวนอย่างจริงจังด้วยเหตุผลและประสบการณ์ว่า ข้อบกพร่องของเรานั้น ข้อบกพร่องใดที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้เอง และข้อบกพร่องใดที่จำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น
     2) มีความตั้งใจมั่นที่จะแก้ไขข้อบกพร่องของตน
     3) ลงมือแก้ไขความบกพร่องของตนทันที ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
     4) ลดทิฐิ กล้าที่จะขอรับคำแนะนำและความช่วยเหลือจากผู้อื่น

    
สิ่งที่ไม่ควรทำ
     1. เข้าข้างตนเอง โทษผู้อื่นหรือสถานการณ์ว่าเป็นสาเหตุของการที่เรามีฝีมือไม่ถึงขั้น
     2. คิดเอาเองว่า ขอเพียงแต่เราปรับปรุงตัวเองแล้วคนอื่นก็จะเห็นได้เอง
     3. จมอยู่กับงานที่ถูกคนอื่นตราหน้าว่าไม่มีปัญญาทำให้ดีได้ โดยไม่คิดจะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ

------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น