การเข้าไปให้คนอื่นตั้งคำถามที่เราไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น หลายคนต้องมานั่งเสียใจในภายหลังว่าน่าจะตอบอย่างนั้นอย่างนี้ หรือไม่น่าตอบอย่างนั้นอย่างนี้ นอกจากความตื่นเต้นจะมาจากการถูกตั้งคำถามที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนแล้ว ยังมาจากความสับสนลังเลเนื่องจากคำตอบทุกคำตอบจะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้สัมภาษณ์ว่าดีพอจะคัดเลือกเราเข้าทำงานหรือไม่ ปัญหาเหล่านี้จะลดลงหรืออย่างน้อยก็เพิ่มความมั่นใจแก่ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ได้มากถ้าผู้จะเข้ารับการสัมภาษณ์ได้รู้หลักการตอบคำถาม ได้เตรียมคำตอบ และได้ซักซ้อมเวลาที่ใช้ตอบไว้เป็นการล่วงหน้า
1. อย่าฝืนความรู้สึกตื่นเต้นของตนเองมากเกินไป ยอมปล่อยให้ตนเองตื่นเต้นบ้างก็ได้ ที่สำคัญคือต้องคุมสติให้อยู่ มิเช่นนั้นจะฟังคำถามไม่รู้เรื่อง
2. ฝึกซ้อมตอบคำถามที่คาดว่าจะถูกถาม อย่าท่องคำตอบที่เตรียมไว้เพราะหากคำถามเบี่ยงเบนไปจากที่คาดเพียงเล็กน้อยก็อาจกลายเป็นตอบไม่ตรงคำถามได้
3. เตรียมซ้อมจับเวลา อย่าใช้เวลาในการตอบแต่ละคำตอบยาวเกิน 2 นาที การตอบที่กระชับ ตรงประเด็น ดีกว่าการพูดยาวแต่วกวน
4. ค้นหาเจตนาของผู้ถามว่าต้องการคำตอบอะไรจากคำถามนั้น เกือบร้อยทั้งร้อย ผู้ถามต้องการทราบข้อมูลด้านศักยภาพเพื่อดูความเหมาะสมในการรับเข้าทำงานในตำแหน่งนั้นๆ และเป็นคำตอบที่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับคำตอบของผู้สมัครรายอื่นได้ว่าใครเหนือกว่า แม้จะเป็นคำถามที่ธรรมดาที่สุด เช่น “ช่วยเล่าเรื่องของคุณให้ฟังหน่อย” ก็มีวัตถุประสงค์อยู่ตรงนี้เช่นกัน พึงระลึกว่าผู้ถามไม่มีเวลามานั่งคุยเล่นกับเรา
5. ปกติแล้วถ้าเราตอบไม่เข้าเป้าตามความต้องการของผู้ถาม ถ้าคำตอบนั้นไม่ไร้สาระจนผู้ถามตัดสินใจได้ในทันทีว่าท่านไม่เหมาะที่จะรับเข้าทำงานแล้ว ผู้ถามจะถามซ้ำโดยระบุเจตนาที่แท้จริงหรือไม่ก็ตั้งคำถามอื่นที่ชัดเจนขึ้นเพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการ เพราะฉะนั้นถ้าท่านได้โอกาสที่จะได้ตอบใหม่ จงอย่าปล่อยให้พลาดเป็นครั้งที่สอง
6. จงเรียบเรียงคำตอบก่อนตอบ เน้นการขายจุดเด่นของตนไม่ใช่การให้ข้อมูลที่ไม่มีความหมาย
7. จงอย่าโกหกแต่ใช้การตอบแบบเลี่ยงจะดีกว่า ผู้สัมภาษณ์ที่มีประสบการณ์สูงจะจับสังเกตจากอากัปกริยาของท่านได้ไม่ยากนักถ้าท่านโกหก และหลังจากนั้นคำถามที่สุดโหดจะหลั่งไหลมาใส่ท่านเพื่อให้รู้ว่าท่านโกหกเขาหรือไม่
ผมบังเอิญได้ไปพบเอกสารต่างประเทศซึ่งได้รวบรวมคำถามที่ถามบ่อยในการเลือกรับพนักงาน เห็นว่าเป็นคำถามที่ก็ใช้ถามกันแพร่หลายในบ้านเราเช่นกัน จึงขอนำมาฝากท่านที่สนใจเพื่อการเตรียมตัว ดังนี้
เป็นคำถามที่ได้ยินกันบ่อยมาก และผู้เข้าสัมภาษณ์หลายคนก็ไปใช้เวลาเล่าเรื่องภายในครอบครัว เช่นมีพี่น้องกี่คน เรียนจบมาจากไหน มีงานอดิเรกอะไร ซึ่งไม่ได้ช่วยเพิ่มคุณค่าอะไรให้กับตนเองเลย
คำตอบต่อคำถามประเภทนี้ ต้องเป็นเรื่องของความสำเร็จในชีวิตที่ภาคภูมิใจ หากเพิ่งจบใหม่ก็ต้องพูดถึงวิชาที่ชอบและทำคะแนนได้ดีและเชื่อมโยงให้เห็นให้ได้ว่าจะช่วยให้เกิดประโยชน์กับองค์กรในตำแหน่งที่ตนสมัครอย่างไร หากเคยผ่านงานมาแล้ว ต้องพูดถึงประสบการณ์ของงานในอดีตโดยเชื่อมโยงให้เข้ากับงานที่สมัคร
2. อะไรคือจุดแข็งที่สำคัญของคุณ
ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอะไร ต้องมีท่าทีถ่อมตัว ไม่ใช่คุยโม้โอ้อวด ท้าทาย ยกตนข่มท่าน คำตอบที่ผู้ถามอยากได้ยินส่วนมากไม่พ้นเรื่องต่อไปนี้
o ประวัติความสำเร็จโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนทีเกี่ยวกับความต้องการขององค์กร
o ความฉลาด หรือความสามารถในการบริหาร (ถ้าสมัครในตำแหน่งตั้งแต่หัวหน้างานขึ้นไป)
o ความซื่อสัตย์
o คุณสมบัติที่เข้ากันได้กับวัฒนธรรมองค์กร เช่นถ้าเป็นบริษัทที่เน้นภาพลักษณ์ทางสังคม จุดแข็งก็อาจเป็นความสามารถในการทำกิจกรรมกลุ่ม หรือถ้าเป็นบริษัทที่เน้นคุณภาพสินค้า จุดแข็งก็อาจเป็นประวัติของการร่วมทีมงาน ISO ที่สำคัญอย่าโกหก ถ้าไม่มีจุดแข็งในข้อนี้ก็ข้ามไปเลือกข้ออื่นตอบ
o มีเจตคติเชิงบวก มองโลกในแง่ดี หรือมีอารมณ์ขัน
o มีทักษะในการสื่อสารที่ดี
o อุทิศตน ทุ่มเทเวลาให้กับงาน พร้อมที่จะทำงานหนักเพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมายอย่างมีคุณภาพ
o มีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน
o มีความกระตือรือร้นพร้อมแรงจูงใจภายในตน
o มีความเชื่อมั่น มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง และมีความสามารถในการเป็นผู้นำ
3. อะไรคือจุดอ่อนที่สำคัญของคุณ
o ประวัติความสำเร็จโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนทีเกี่ยวกับความต้องการขององค์กร
o ความฉลาด หรือความสามารถในการบริหาร (ถ้าสมัครในตำแหน่งตั้งแต่หัวหน้างานขึ้นไป)
o ความซื่อสัตย์
o คุณสมบัติที่เข้ากันได้กับวัฒนธรรมองค์กร เช่นถ้าเป็นบริษัทที่เน้นภาพลักษณ์ทางสังคม จุดแข็งก็อาจเป็นความสามารถในการทำกิจกรรมกลุ่ม หรือถ้าเป็นบริษัทที่เน้นคุณภาพสินค้า จุดแข็งก็อาจเป็นประวัติของการร่วมทีมงาน ISO ที่สำคัญอย่าโกหก ถ้าไม่มีจุดแข็งในข้อนี้ก็ข้ามไปเลือกข้ออื่นตอบ
o มีเจตคติเชิงบวก มองโลกในแง่ดี หรือมีอารมณ์ขัน
o มีทักษะในการสื่อสารที่ดี
o อุทิศตน ทุ่มเทเวลาให้กับงาน พร้อมที่จะทำงานหนักเพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมายอย่างมีคุณภาพ
o มีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน
o มีความกระตือรือร้นพร้อมแรงจูงใจภายในตน
o มีความเชื่อมั่น มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง และมีความสามารถในการเป็นผู้นำ
ระวังอย่าเผยจุดอ่อนออกไป มิฉะนั้นคุณอาจได้เกรด A ในเรื่องความซื่อสัตย์ แต่ได้เกรด F ในการสอบสัมภาษณ์ นั่นหมายถึงไม่ได้งาน
ดังนั้นแทนที่จะสารภาพจุดอ่อนของตนออกไป คำตอบที่เหมาะสมควรอยู่ในรูปที่ว่าเราชอบอะไรและไม่ชอบอะไร และต้องให้มั่นใจว่าสิ่งที่ชอบที่บอกออกไปจะต้องสอดคล้องกับคุณสมบัติความสำเร็จในตำแหน่งงานที่สมัคร ส่วนสิ่งที่ไม่ชอบ จะต้องเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เช่น อาจตอบว่า จุดอ่อนของคุณคือชอบทำงานโดยลืมดูแลสุขภาพ หรือจุดอ่อนของคุณคือไม่ชอบทานอาหารรสจัดทำให้บางครั้งผู้ร่วมงานหาว่าเป็นคนช่างเลือก อย่างนี้เป็นต้น
4. ช่วยเล่าเรื่องที่คุณได้ทำแต่ไม่สำเร็จ แต่ตอนนี้มารู้สึกว่าน่าอับอายมาสักเรื่องซิ
เจอคำถามแบบนี้ ผู้เข้าสอบสัมภาษณ์บางคนเริ่มรู้สึกผ่อนคลาย มีอะไรในชีวิตก็พรั่งพรูมาไม่ขาดสายเพราะเห็นว่าเป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวกับงาน ผลก็คือสอบตก ขอย้ำเตือนกันอีกครั้งนะครับ ไม่มีคำถามใดในห้องสัมภาษณ์ที่ไม่เกี่ยวกับการรับคุณเข้าทำงานไม่ว่าคำถามนั้นจะธรรมดาแค่ไหนก็ตาม
ไม่ว่าชีวิตของคุณจะล้มเหลวผิดพลาดมาเพียงใด อย่าแสดงว่าคุณจมอยู่กับความรู้สึกนั้น คำตอบที่เหมาะสมควรออกแนวกลางๆ ว่าในชีวิตของคุณไม่เคยพบความล้มเหลวผิดพลาดอย่างใดที่ทำให้เกิดเป็นความเสียหาย มีก็แต่เพียงอุปสรรคปัญหาที่เข้ามาซึ่งสำหรับคุณมองว่าเป็นธรรมดาของการทำงานที่ทุกคนต้องประสบ แต่คุณก็ได้ปรับปรุงวิธีการทำงานโดยใช้การวางแผนงานและตรวจสอบ feedback อย่างสม่ำเสมอ
5. ทำไมคุณจึงลาออกจากที่ทำงานเก่า
นี่เป็นคำถามยอดนิยมที่ทำคนตกม้ามาเยอะแล้ว ใครก็ตามที่ถูกตั้งคำถามข้อนี้ห้ามว่าร้าย ระบายความคับแค้นอัดอั้นใดๆ ที่มีต่อโรงงาน บริษัท คณะกรรมการ ผู้บังคับบัญชา ลูกน้อง พนักงาน หรือลูกค้าเก่าของตนเป็นอันขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามพูดถึงความขัดแย้งส่วนตัว การเข้ากันไม่ได้ หรือคำตอบใดๆ ที่แสดงให้เข้าใจไปได้ว่าคุณเป็นคนมีปัญหาในเรื่องความรู้ความสามารถ ความซื่อตรง หรือการการควบคุมอารมณ์
สำหรับผู้ที่ยังไม่ลาออกจากที่ทำงานเก่าก็จงบอกออกไปตรงๆ ว่าคุณยังไม่ได้ลาออกเพราะคุณจะได้เปรียบมากกว่าคนที่ลาออกมาเป็นผู้ว่างงานแล้ว คำตอบที่อาจจะโหลแต่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้คือ ต้องการหาประสบการณ์ใหม่ แต่มันจะดีขึ้นมากถ้าสามารถอธิบายให้ชัดเจนว่าตำแหน่งที่คุณสมัครนี้มีหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไรและเหมาะกับความรู้ความสามารถของคุณอย่างไร
สำหรับผู้ที่ออกจากงานมาแล้ว หากถูกไล่ออกมาด้วยเหตุที่บริษัทเก่าเลิกกิจการ หรือถูกควบรวม หรือถูกยุบทั้งแผนก ก็ควรเล่าไปตามตรง อย่าโกหก เพราะเรื่องเช่นนี้ไม่ใช่ข้อบกพร่องเป็นการส่วนตัวและเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ไม่ยาก ในทางตรงกันข้ามควรให้เหตุผลอย่างมืออาชีพ อย่าแสดงความขมขื่น อาลัยอาวรณ์ใดๆ ออกมาเพราะไม่มีส่วนเพิ่มคะแนนการสอบสัมภาษณ์ แต่ถ้าลาออกมาด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่อย่างที่กล่าวมาก็ควรตอบเป็นกลางๆ เช่นหาประสบการณ์ เพิ่มรายได้ให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของคุณ เป็นต้น
6. นิ่งเงียบ ไม่ตั้งคำถาม
เป็นไม้ตายอีกอย่างที่ผู้สัมภาษณ์มักนำมาใช้ คือ หลังจากที่ผู้เข้าสอบได้ตอบคำถามไปแล้วผู้สัมภาษณ์กลับนั่งเงียบ ภาวะแบบนี้ทำให้ผู้เข้าสอบอึดอัดเพราะไม่รู้ว่าตนได้พูดอะไรผิด ในที่สุดก็สติแตกละล่ำละลักแก้คำตอบที่ได้ตอบไปแล้ว ผลก็คือได้ทำให้คำตอบที่หนักแน่นในตอนแรกกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีแก่นสารหาความแน่นอนไม่ได้ หลังจากนั้นข้าศึกคือคำถามที่แหลมคมทั้งหลายก็ประเดประดังกันมาจนรับไม่อยู่
ในสถานการณ์นิ่งเงียบเช่นนี้ วิธีที่ดีที่สุดคือย้อนถามไปว่าจะให้ตอบในเรื่องใดเพิ่มเติมหรือไม่ เมื่อเราเป็นฝ่ายรุกด้วยการป้อนคำถาม ผู้สัมภาษณ์ก็คงจะเงียบต่อไปไม่ได้ หลังจากนั้นความกดดันก็จะลดลงหรือเปลี่ยนไปสู่คำถามอื่นต่อไป
7. ทำไมเราควรจะรับคุณเข้าทำงาน
ผู้เข้าสัมภาษณ์ที่เจอคำถามแบบนี้โดยเฉพาะคนขี้เกรงใจจะรู้สึกอึดอัดเพราะจำเป็นต้องตอบคำถามในเชิงบวกสุดๆ แต่ก็กระดากที่จะพูดยกตนเองเลยตอบแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย พูดจาถ่อมตัวหรือบางรายก็ตอบไปว่าแล้วแต่การพิจารณา ถ้าตอบแนวนี้ก็ตกแน่นอน
วิธีที่ดีที่สุดให้นึกถึงประกาศรับสมัครงานที่เราสมัครเข้ามาว่าเขาเน้นอะไร ใช้ความต้องการของผู้สัมภาษณ์นั่นเองเป็นโจทย์แล้วขยายความสามารถและประสบการณ์ของตนให้รับกับความต้องการของเขา นี่คือการตอบที่ตรงคำถามที่สุด อย่าอ้อมไปอ้อมมา หรือ แล้วแต่การพิจารณา... เป็นอันขาด
8. คุณไม่คิดว่าคุณมีคูณสมบัติสูงเกินกว่าตำแหน่งหรือ
คำถามนี้มักจะใช้หลังจากการสัมภาษณ์ได้ดำเนินไปแล้วระยะหนึ่งจนผู้สัมภาษณ์เริ่มเห็นแล้วว่าผู้สมัครมีความรู้ความสามารถที่จะทำงานในตำแหน่งนั้นได้ แต่ผู้สัมภาษณ์ยังมีความกังวลว่าผู้สมัครจะอยู่เพียงระยะสั้น เมื่อได้งานที่อื่นที่มีค่าตอบแทนหรือตำแหน่งที่ดีกว่าก็จะลาออก ทำให้ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาคัดเลือกกันใหม่
คำตอบที่จะได้คะแนนสำหรับคำถามนี้จึงอยู่ที่การสร้างความมั่นใจว่าเรามาสมัครงานที่นี่ก็เพราะเป็นงานที่เรามีความรู้ความสามารถที่จะทำงานได้โดยไม่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้มากนักซึ่งก็เป็นผลดีสำหรับทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายนายจ้างก็ได้ลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนา ได้ลดระยะเวลาการเริ่มปฏิบัติงาน ทางฝ่ายผู้สมัครก็มีโอกาสได้ใช้ความรู้ความสามารถในงานที่ตนถนัด โอกาสความก้าวหน้าในตำแหน่งและค่าตอบแทนจึงน่าจะอยู่ไม่ไกล สิ่งที่สำคัญคือการแสดงความจริงใจในคำตอบเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าผู้จ้างจะได้รับประโยชน์จากการจ้างผู้มีคุณสมบัติสูงกว่าตำแหน่ง ในขณะเดียวกันก็เชื่อว่าผู้สมัครจะทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน คำตอบที่เน้นไปในเรื่องความหวังความก้าวหน้าในระยะยาวในงานที่ถนัดซึ่งมีความหมายมากกว่าตำแหน่งหน้าที่หรือค่าตอบแทนที่อาจไม่สูงนักในระยะสั้น จะเป็นหัวใจในการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้
9. คุณมองภาพตัวคุณเองเป็นอย่างไรหลังจากนี้ไปอีก 5 ปี
เป็นคำถามเพื่อแอบล้วงความตั้งใจจริงที่จะทำงานในตำแหน่งที่สมัครรวมไปถึงความกระตือรือร้นและความทะเยอทะยาน เป็นคำถามที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการตอบมากเพราะถ้าฟันธงไปเลยว่าคิดว่าคุณจะได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็จะดูเป็นผู้ที่ความมั่นใจมากเกินไป แต่ถ้าตอบกว้างแบบไร้จุดหมายก็จะดูเป็นคนไร้แก่นสารในชีวิต
คำตอบที่ดีที่สุดจึงเป็นทางสายกลางโดยสร้างความมั่นใจกับผู้สัมภาษณ์ว่าคุณกำลังสร้างอนาคตระยะยาวเนื่องจากงานที่สมัครนี้เป็นงานที่คุณชอบและทำได้ดี สำหรับภาพในอนาคตอีก 5 ปีคุณมีความเชื่อมั่นว่าถ้าผลงานออกมาดีโอกาสในอนาคตย่อมมีให้คุณอย่างแน่นอน ตอบแค่นี้ก็น่าจะพอครับ
10. ลองพูดถึงบริษัทในอุดมคติของคุณทั้งในเรื่องที่ตั้งและลักษณะงาน
เป็นคำถามที่มาจากความรู้สึกว่าคุณสมบัติของคุณสูงกว่าตำแหน่งงานที่สมัคร เช่นบริษัทเดิมของคุณอาจใหญ่หรือมีชื่อเสียงกว่าบริษัทที่มาสมัคร แต่แทนที่ผู้สัมภาษณ์จะถามตรงไปตรงมาก็ถามแบบกระทบซึ่่งเป็นรูปแบบคำถามของผู้สัมภาษณ์ที่มีประสบการณ์
ถ้าเจอคำถามแบบนี้ คำตอบที่เหมาะสมที่สุดต้องใช้ความจริงใจและความจริงที่เป็นสาเหตุให้ท่านต้องออกมาหางานใหม่ แต่อย่ายกบริษัทเก่าของท่านขึ้นมาเปรียบเทียบเพราะไม่มีใครยินดีที่จะรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ตรงๆ แม้จะเป็นเรื่องจริงก็ตาม ขอให้พูดถึงสาเหตุที่ท่านต้องออกมาหางานใหม่เพียงสั้นๆ โดยอย่าให้เกิดภาพลบแก่ตนเองในเรื่อง ความรู้ความสามารถ การทำงานเป็นทีม ข้อขัดแย้งทางความคิด และเน้นความเหมาะสมของการใช้ความรู้ความสามารถของคุณในการทำงานกับบริษัทที่มาสมัคร เน้นโอกาสการได้ทำงานตามที่ประกาศรับสมัคร ที่สำคัญจะต้องยกเหตุผลที่จำเพาะเจาะจงโดยนำคุณสมบัติของคุณกับความต้องการในประกาศรับสมัครมา match กันให้ได้ ไม่จำเป็นต้องซื่อถึงขนาดบอกว่าบริษัทในอุดมคติของผมคือ... คำอธิบายตามที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นตัวอธิบายได้เองว่าบริษัทในอุดมคติของคุณรวมทั้งที่ตั้งก็คือบริษัทที่คุณกำลังนั่งสอบสัมภาษณ์อยู่นั่นเอง
11. ทำไมคุณถึงต้องการทำงานที่บริษัทของเรา
คำถามประเภทนี้ต้องการการศึกษาข้อมูลก่อนเข้าสัมภาษณ์ แหล่งสืบค้นข้อมูลมีมากมาย เช่น website ของบริษัท รายงานประจำปี จดหมายข่าว บุคคลที่รู้จักบริษัทนั้น supplier โฆษณาที่พบตามสื่อต่างๆ บทความที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนั้น เป็นการศึกษาเพื่อให้ทราบประเภทหรือชนิดของสินค้าหรือการบริการ การลงทุน ปัญหาอุปสรรค หรือการขยายการลงทุน ข้อมูลเหล่านี้จะแสดงให้เห็นว่าคุณได้ทำการบ้านหรือมีการเตรียมตัวที่ดีก่อนเข้าสัมภาษณ์ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคุณมีการวางแผนการทำงานและมีระบบการทำงานที่น่าเชื่อถือซึ่งเป็นแต้มต่อที่สำคัญในการพิจารณารับเข้าทำงาน
12. ตอนนี้คุณมีงานอะไรที่เป็นทางเลือกอยู่บ้าง
คำถามนี้ต้องการให้คุณแสดงความอ่อนแอออกมา ผู้เข้าสัมภาษณ์หลายคนนึกว่าเป็นโอกาสดีที่ตนจะได้อ้อนเพื่อให้ได้งาน เลยตอบไปแบบคนไร้ค่า เช่นว่า ไม่มีงานอื่นอีกเลย ถ้าครั้งนี้ไม่ได้งานที่สัมภาษณ์นี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเอาเงินที่ไหนมาประทังชีวิตอะไรทำนองนี้ ตกครับ รับประกันว่าตกเพราะผู้สัมภาษณ์กำลังทำหน้าที่คัดสรรหาคนสู้ปัญหาเข้าทำงาน ไม่ใช่คนที่ชอบร้องขอซึ่งอาจไปขอจนเกิดปัญหากับเขาได้ในภายหลัง
คำตอบที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ยังไม่ลาออกจากงานปัจจุบัน จึงควรอธิบายให้ทราบถึงโอกาสความสำเร็จของงานที่ทำอยู่รวมทั้งเหตุผล แม้ว่าคุณจะชอบงานที่ทำอยู่แต่ก็อยากแสวงหาสิ่งอื่นเพิ่มเติม ซึ่งรวมทั้งความท้าทาย ค่าตอบแทน ความรับผิดชอบที่สูงขึ้น และอย่าลืมบอกไปด้วยว่าเรากำลังมองโอกาสที่อื่นอยู่อีกที่สองที่ อย่าลืมว่าการที่คุณยังมีงานทำอยู่นั่นเป็นความได้เปรียบ ควรต้องตั้งกำแพงไว้สูงหน่อย ถ้าไม่ได้ก็ทำงานต่อไปแต่ถ้าได้ คุณจะมีโอกาสก้าวกระโดดที่สำคัญ ไม่มีอะไรเสียครับ และแม้ว่าคุณจะว่างงานอยู่ก็ยังสามารถบอกได้ว่าคุณได้สมัครงานที่อื่นอยู่อีกที่สองที่ ซึ่งเป็นคำตอบที่ไม่น่าเกลียดอะไรเพราะไม่มีที่ไหนรับรองว่าคุณจะได้งาน แต่อย่าเน้นมากมิเช่นนั้นจะกลายเป็นการท้าทายว่าไม่รับก็ไม่ง้อ ถ้าเช่นนั้นก็คงสอบตกครับ
13. ทำไมคุณจึงว่างงานอยู่ตั้งนาน
เป็นคำถามที่มีวัตถุประสงค์คล้ายกับข้อที่แล้ว คือดูว่าคุณมีความเข้มแข็งและไหวพริบอย่างไร หลายคนเจอคำถามนี้ก็หลอมละลายเป็นขี้ผึ้ง สารภาพหมดเปลือกว่าสมัครที่ไหนก็ไม่มีใครรับ ถ้าตอบอย่างนี้ก็ต้องนับที่นี่เพิ่มเข้าเป็นอีกหนึ่งที่ละครับ
คำตอบที่ควรจะเป็นคือ เป็นตัวคุณเองที่ค่อนข้างต้องเลือกองค์กรที่คุณจะเข้าทำงานเพราะคุณต้องการทำงานที่คุณมีความสนใจและมีความถนัด นอกจากนั้นการได้ทำงานที่ตนชอบและถนัดจะทำให้คุณมีขวัญกำลังใจที่จะทุ่มเททำงานเพื่อความก้าวหน้าในอนาคต อาจฟังแล้วเฝื่อนๆ บ้างก็จำเป็น มาถึงขั้นนี้มัวเขินอยู่ก็แป็กแน่นอนครับ
14. ช่วยบอกตามความสัตย์จริงว่าหัวหน้าของคุณมีจุดอ่อนและจุดแข็งอะไรบ้าง
เปิดโอกาสให้วิจารณ์อย่างนี้ผู้เข้าสัมภาษณ์หลายรายสับนายเก่าหรือนายปัจจุบันเสียเละด้วยเข้าใจว่าจุดอ่อนอันมีมากมายของหัวหน้าคือความชอบธรรมและเป็นความสมเหตุสมผลที่คุณต้องออกมาหางานใหม่ ตกอีกแล้วครับ
โปรดจำไว้เสมอว่าในห้องสอบสัมภาษณ์ ต้องเน้นคำตอบไปในแง่บวกแม้ว่าบรรยากาศจะดูเหมือนเปิดทางให้วิพากษ์วิจารณ์ได้ก็ตาม ที่จริงแล้วผู้สัมภาษณ์ไม่ได้สนใจหรอกว่าหัวหน้าเก่าหรือหัวหน้าปัจจุบันของคุณเป็นคนอย่างไร สิ่งที่เขาสนใจคืออยากรู้ว่าคุณเป็นคนอย่างไรต่างหาก ถ้าคุณแสดงตนว่าขาดความจงรัก มองโลกในแง่ลบ กล้าวิจารณ์หัวหน้าลับหลังเมื่อโดนบีบหรือได้โอกาสที่จะทำ คุณก็คงไม่ผ่านการสัมภาษณ์อย่างแน่นอน ดังนั้นถ้าโดนคำถามนี้ ขอให้ใช้เป็นโอกาสที่จะแสดงความจงรักและซื่อตรงต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายที่คุณทำงานด้วย
15. หนังสือดีๆ ที่คุณเพิ่งอ่านเล่มสุดท้ายชื่ออะไร
เป็นอีกคำถามหนึ่งที่คุณควรต้องเตรียมตัวก่อนเข้าสอบสัมภาษณ์โดยเฉพาะงานที่คุณสมัครเป็นงานที่จำเป็นต้องใช้ความรู้ความสามารถ แต่ก็ไม่ต้องเตรียมจนดูไม่สมจริงเว้นแต่คุณกำลังสมัครเข้าเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หนังสือที่เตรียมไว้เป็นคำตอบในข้อนี้ควรเป็นเรื่องที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นหนังสือคุณภาพและให้ภาพพจน์ที่ดีสำหรับผู้อ่าน และอย่าลืมเตรียมหนังสือนิยายหรือนิทานที่รู้จักกันทั่วไปไว้สักเรื่องเพราะหนังสือที่ดีไม่ได้จำกัดเฉพาะหนังสือวิชาการเท่านั้น
16. ช่วยเล่าเรื่องหรือเหตุการณ์ที่นับเป็นข้อบกพร่องในการทำงานของคุณ
เป็นคำถามที่ล้วงจุดอ่อนในการทำงานของคุณและเพื่อดูว่าคุณพร้อมที่จะรับคำวิจารณ์ข้อบกพร่องในการทำงานหรือไม่ จึงไม่ถูกต้องนักที่คุณจะปฏิเสธว่าไม่เคยทำอะไรที่บกพร่อง เว้นแต่คุณกำลังจะบอกว่าคุณไม่เคยทำอะไรเลย
คำตอบที่เหมาะสมจึงควรเริ่มด้วยการเน้นผลการทำงานที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่เนื่องจากไม่มีใครสมบูรณ์เพียบพร้อมจนไม่มีที่ติ คุณก็เป็นผู้หนึ่งที่ไม่สามารถรอดพ้นในเรื่องนี้เช่นกัน ขอให้ยกตัวอย่างความผิดพลาดที่ไม่ร้ายแรงในชีวิตการทำงานของคุณสักเรื่องสองเรื่อง ที่สำคัญต้องบอกว่าความผิดพลาดเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่คุณได้เรียนรู้ และคุณได้ใช้วิธีใดในการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร้องนี้ สุดท้ายขอให้สรุปว่าความบกพร่องหรือผิดพลาดเหล่านั้นสอนคุณได้มากและคุณมั่นใจว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก
17. งานอดิเรกของคุณคืออะไร
ฟังดูเป็นคำถามเบาๆ ที่ค่อนข้างผ่อนคลาย แต่ที่จริงแล้วผู้เข้าสัมภาษณ์หลายคนต้องสอบตกเพราะคำถามข้อนี้มาเยอะแล้ว ผู้เข้าสอบมักจะพยายามทำให้ผู้สัมภาษณ์มองผู้เข้าสอบว่าเป็นผู้ที่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เป็นคนไม่อยู่เฉย แต่อย่าลืมว่าทุกกิจกรรมต้องมีเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องระวังความรู้สึกของผู้สัมภาษณ์ว่าจะมองการใช้เวลาของเราว่าไปทำให้การทำงานให้เขาได้รับผลกระทบหรือไม่
ถ้าเป็นไปได้ควรศึกษาวัฒนธรรมขององค์กรนั้นก่อนเข้าสอบ ตัวอย่างเช่นถ้าองค์กรนั้นไม่ใช่พวกที่สนับสนุน CSR ก็อย่าเผลอไปบอกงานอดิเรก คือใช้เวลาในวันหยุดไปในกิจกรรมเพื่อสังคม คำตอบที่เหมาะสมอาจแบ่งตามวัยของคุณ เช่นถ้ามีอายุเกิน 50 ปีก็ควรเป็นงานอดิเรกที่ส่งเสริมสุขภาพและความสมบูรณ์แข็งแรงเพื่อให้เห็นว่าคุณมีความพร้อมที่จะทำงานหนักเพื่อองค์กร หากมีอายุในวัยหนุ่ม งานอดิเรกที่ตอบควรเป็นอะไรที่ส่งเสริมสติปัญญาความรู้หรือความมีเครือข่าย เช่น อ่านหนังสือ หรือเป็นสมาชิกชมรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการทำงาน สิ่งที่จะลืมไม่ได้เป็นอันขาด คือเขาจะจ้างคุณเพื่อเข้าไปทำงานให้ เขาไม่ได้จ้างครอบครัวของคุณหรือกิจกรรมที่คุณชื่นชอบที่ไม่ได้มีส่วนสนับสนุนการทำงานของเขาไม่ว่ากิจกรรมเหล่านั้นจะมีคุณธรรมน่าชื่นชมเพียงใด อย่างดีก็ให้คะแนนได้แค่เป็นกลาง แต่คงไม่ได้เป็นบวก ที่พูดมานี้ไม่ได้หมายความว่าผมไม่ส่งเสริมคุณธรรมหรือการกระทำเพื่อสังคมแต่อย่างใด แต่กำลังจะเตือนให้ท่านอย่าลืมว่านี่เป็นคำถามเพื่อการสอบสัมภาษณ์งานซึ่งการให้คะแนนจะใช้หลักผลประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับจากการทำงานของคุณเท่านั้น
18. คำถามที่จี้ไปที่ข้อบกพร่องสำคัญ
ถ้าผู้สัมภาษณ์อ่านประวัติของคุณอย่างละเอียด อาจมีบางเรื่องที่ผู้สัมภาษณ์เห็นเป็นข้อบกพร่องและจี้ไปที่จุดนั้นเหมือนเป็นจุดสลบที่จะใช้จัดการกับคุณได้ เช่นหลังจากเรียนจบมาก็ไม่มีประวัติการศึกษาหรืออบรมเพิ่มเติมอีกเลย หรือไม่มีความชำนาญพิเศษใดๆ หรืออาจมีช่วงที่ว่างงานหรืออยู่ในตำแหน่งเดิมเป็นเวลานาน หากคุณไม่สามารถอธิบายให้เห็นภาพเชิงบวกได้ คำถามข้อนี้จะเป็นคำถามตัดคะแนนที่สำคัญ คำถามเหล่านี้เกิดจากความกังวลของผู้สัมภาษณ์เหมือนความกังวลของผู้ที่กำลังจะตัดสินใจซื้อสินค้า หน้าที่ของผู้ขายจึงไม่ใช่เพียงการลดความกังวลเพราะแม้จะลดได้ก็อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ลูกค้าซื้อสินค้า หน้าที่ของผู้ขายหรือหน้าที่ของผู้เข้าสอบเมื่อเจอคำถามที่ห่วงกังวลเช่นนี้คือการทำให้ความกังวลนั้นหายไปทั้งหมดให้ได้
คำตอบที่เหมาะสมสำหรับคำถามเอาตายเช่นนี้ต้องเป็นคำตอบที่แสดงแสดงความซื่อตรงเปิดเผย ยอมรับข้อเท็จจริงนั้นอย่างหน้าชื่นตาบาน(เพราะคุณเขียนไว้ในประวัติเอง) เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าคุณไม่มีอะไรซ่อนเร้นซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการกำจัดความกังวลใจของผู้สัมภาษณ์ หลังจากนั้นห้ามขอโทษขอโพยที่ประวัติคุณมีข้อบกพร่อง คุณต้องแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ยกขึ้นมานั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่ข้อบกพร่องในชีวิตของคุณ การแสดงเจตคติเชิงบวกก็เป็นอีกก้าวหนึ่งของการกำจัดความกังวล พยายามพลิกข้อบกพร่องให้เป็นโอกาส เช่นถ้าคุณไม่ได้ศึกษาต่อก็อย่าไปโอดครวญว่าครอบครัวยากจน พี่น้องหลายคน แต่ควรอธิบายว่าคุณได้ใช้เวลาทั้งหมดไปในการทำงานเพื่อเรียนรู้จากการทำงาน และถ้าคุณได้มีความก้าวหน้าไม่น้อย หรืออาจจะมากกว่าผู้ที่เรียนมากกว่าคุณก็จะยิ่งดี ที่สำคัญอย่าไปวนอยู่กับเรื่องที่ผู้สัมภาษณ์จี้ แต่ควรพูดในภาพรวมโดยเฉพาะในสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ต้องการว่าคุณสมบัติอื่นของคุณมีอะไรบ้างที่สามารถทำให้ความต้องการนั้นสำเร็จได้
19. คุณรู้สึกอย่างไรถ้าต้องมีหัวหน้าที่มีอายุน้อยกว่า หรือที่เป็นผู้หญิง (ถ้าคุณเป็นผู้ชาย)
อย่าเพียงแต่ตอบแบบอัตโนมัติว่าคุณไม่มีความรู้สึกอะไร เพราะคำตอบเพียงแค่นั้นไม่ได้ช่วยให้คุณได้คะแนนจากการสัมภาษณ์
คำตอบที่เหมาะสมควรแสดงความมั่นใจว่าการที่มีผู้บริหารอายุน้อย หรือเป็นผู้หญิงแสดงว่าองค์กรให้ความสำคัญกับผู้ปฏิบัติงานที่ความรู้ความสามารถ ไม่นำเรื่องอายุ เพศ เชื้อชาติ ศาสนามาเกี่ยวข้อง คุณจึงมีความมั่นใจว่าหัวหน้าของคุณเป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่แท้จริง เป็นแรงจูงใจที่คุณแสวงหาและพร้อมที่จะทุ่มเทให้กับการทำงานเพราะโอกาสได้เปิดกว้างให้กับคุณแล้ว องค์กรที่มีผู้บริหารอายุน้อยหรือเป็นผู้หญิงย่อมมีความภาคภูมิใจในการใช้หลักคุณธรรม (merit system) มากกว่าหลักความต้องการส่วนตัว (spoil system) คุณจึงควรนำความภาคภูมิใจนี้มาเป็นเป้าหมายในการตอบ
20. ถามข้อมูลที่เป็นความลับ
เวลาที่ผู้สัมภาษณ์กดดันผู้เข้าสอบให้เล่าเรื่องที่เป็นความลับเกี่ยวกับนายจ้างปัจจุบันหรือนายจ้างเดิม คุณอาจรู้สึกอึดอัดเพราะถ้าบอกไปก็อาจถูกมองว่าเป็นคนเชื่อถือไม่ได้ แต่ถ้าไม่บอกก็อาจทำให้ผู้สัมภาษณ์ไม่พอใจหรือถูกมองว่าเป็นคนดื้อดึงหัวแข็ง การตั้งคำถามลักษณะนี้มีเหตุผลสองประการ
ประการที่หนึ่ง: ต้องการสืบข้อมูลจริงๆ โดยเฉพาะเมื่อผู้สมัครมาจากบริษัทที่เป็นคู่แข่ง แต่ในขณะนั้นผู้สัมภาษณ์อาจยังไม่ได้ตัดสินใจรับคุณเข้าทำงานหรืออาจอยากรู้ว่าถ้ารับคุณเข้าทำงานแล้ว คุณมีข้อมูลที่มีคุณค่าหรือสามารถเปิดเผยข้อมูลที่ต้องการให้ได้ในภายหลังหรือไม่
ประการที่สอง: เป็นเพียงต้องการหยั่งดูว่าเมื่ออยู่ในสภาพกดดันแล้ว คุณเป้นผู้ที่จะเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับหรือไม่
สิ่งที่ควรทำคือ แสดงความซื่อสัตย์ต่อนายจ้างปัจจุบันหรือนายจ้างเก่าของคุณ เพราะสิ่งนี้เป็นสินทรัพย์ที่มีคุณค่าในความเป็นมนุษย์ หากคุณเปิดเผยข้อมูลที่ถือว่าเป็นความลับออกไปแม้แต่นิดเดียว ทุกสิ่งที่คุณได้มาตั้งแต่ก้าวเข้ามานั่งในห้องสัมภาษณ์จะหมดสิ้นไปโดยทันที วิธีที่เหมาะสมคือการใช้การตอบแบบการทูต เช่น การพูดว่าโดยทั่วไปแล้วคุณเป็นคนเปิดเผยและพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่สำหรับข้อมูลที่เป็นความลับขององค์กรเป็นเรื่องที่ไม่สมควรนำออกเปิดเผยสู่ภายนอก คุณจำเป็นต้องเคารพต่อผู้ที่ให้เกียรติในการให้คุณได้รับรู้ความลับดังกล่าว ที่สำคัญเวลาตอบในส่วนนี้ต้องระวังสีหน้าท่าทางของตนเอง อย่าแสดงอาการโกรธขึ้งเกรี้ยวกราดที่มาล้วงข้อมูลเพื่อแลกกับการรับเข้าทำงาน แต่ขอให้อธิบายด้วยน้ำเสียงปกติเพราะนี่เป็นวิธีการที่ระดับมืออาชีพเขานำออกมาใช้กัน
21. คุณจะพูดโกหกเพื่อบริษัทได้หรือไม่
คำถามนี้เป็นการให้คุณเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งในระหว่างคุณธรรมสองประการ คือ ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง และความจงรักภักดีต่อองค์กร
พยายามตอบแบบเป็นกลาง เช่น คุณจะไม่ทำให้บริษัทต้องได้รับความเสียหายและจะหาหนทางอธิบายที่ไม่เป็นการโกหกแต่ก็ไม่ส่งผลเสียต่อองค์กร เพราะการโกหกในวันนี้อาจถูกเปิดเผยในวันหน้าซึ่งจะยิ่งเสียหายมากกว่า แต่หากถูกผู้สัมภาษณ์กดดันหนัก คือ ให้ตอบว่าโกหกได้หรือไม่ได้ ควรตอบไปว่า ไม่ได้ เพราะเป็นคำตอบที่มีโอกาสได้มากกว่าเสีย
22. หากย้อนอดีตได้ มีอะไรที่คุณอยากจะแก้ไขทำใหม่ให้ต่างไปจากเดิม
เป็นคำถามที่ต้องการล้วงความผิดหวังหรือปัญหาในชีวิตที่ยังติดอยู่ในความทรงจำและอาจมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติงานแม้เวลาจะผ่านไปนานแล้ว
คำตอบที่เหมาะสมควรตอบว่าคุณเป็นคนมีความสุข พอใจในการกระทำของตนเองและมองโลกในแง่ดี เพราะฉะนั้นแม้จะมีโอกาสให้ได้แก้ตัวใหม่ก็ไม่มีเรื่องใดที่คุณต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข แต่ทุกครั้งที่คุณพบปัญหา คุณได้นำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงแก้ไขตนเองมาโดยตลอด
23. มีอะไรที่คุณคิดว่าน่าจะทำได้ดีขึ้นกับงานสุดท้ายของคุณไหม
เป็นคำถามที่ต้องการล้วงปัญหาในการทำงานของคุณอีกแล้ว อย่าสารภาพปัญหาใดๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใหญ่เล็กเพียงใดเป็นอันขาด จำไว้เสมอว่าคำถามที่ต้องการรู้ผลในทางลบ ต้องตอบเป็นบวกเสมอ หากคุณตอบเป็นลบคือเล่าปัญหาให้ผู้สัมภาษณ์ฟัง จะกลายเป็นหนังชีวิตซึ่งจบลงด้วยการตายของผู้เข้าสอบอย่างแน่นอน
ควรชี้แจงว่าโดยทั่วไปแล้วเรามักจะเข้าใจปัญหาและเห็นหนทางออกที่ดีและชัดเจนมากขึ้นเมื่อเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นแล้ว เข้าทำนอง เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้วทุกคนล้วนฉลาดกันหมด แต่ถ้าจะให้ย้อนไปคิดเสียดายก็คือการย่ำซ้ำรอย และที่สำคัญอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับงานของคุณมักจะมาจากปัจจัยภายนอกที่เกินอำนาจการควบคุมของตัวคุณ แต่ทุกอย่างก็เป็นบทเรียนและประสบการณ์ที่ทำให้คุณแกร่งขึ้นและพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า
24. คุณทำงานภายใต้กระแสกดดันได้ไหม
เป็นคำถามที่ง่าย แต่การตอบต้องน่าเชื่อถือด้วย การตอบที่ดีควรยกตัวอย่างความสำเร็จของการทำงานในอดีตภายใต้ภาวะกดดันสักเรื่องสองเรื่อง
25. อะไรที่มักทำให้คุณโกรธ
รัก โลภ โกรธ หลง เป็นกิเลสของมนุษย์ เพราะฉะนั้นอย่าไปตอบว่าคุณไม่เคยโกรธเพราะมันไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ ขอให้นึกย้อนไปถึงกริยาอาการที่คุณแสดงออกมาตลอดการสัมภาษณ์ ถ้าคุณเคยหลุดโกรธอะไรออกมาก็ใช้สาเหตุที่ทำให้คุณมีอาการเช่นนั้นเป็นคำตอบ ซึ่งแม้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วได้ แต่อย่างน้อยก็แสดงว่าคุณเป็นคนยอมรับความจริง แต่ถ้าคุณโชคดีสามารถเก็บอาการได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด คำตอบที่เหมาะสมกับบุคลิกภาพที่คุณแสดงออกก็คือ โดยธรรมชาติแล้ว คุณเป็นคนใจเย็นและมองโลกในแง่ดี อาจมีไม่พอใจบ้างแต่ก็ไม่ถึงขั้นรุนแรง
ในกรณีที่ตำแหน่งที่คุณสมัครเป็นตำแหน่งตั้งแต่หัวหน้างานขึ้นไป ก็ควรเสริมด้วยว่าคุณสมบัติเหล่านี้มีส่วนช่วยให้งานในหน่วยงานของคุณดำเนินไปได้อย่างราบรื่น มีความสามัคคี และมีสปิริตในการทำงาน คุณเชื่อว่าการสื่อสารอย่างชัดเจนในสิ่งที่มุ่งหวังจะช่วยให้พนักงานมีความผูกพันมุ่งมั่นต่องานซึ่งคุณจะคอยติดตามและตรวจสอบความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้ามีใครนอกลู่นอกทาง คุณจะต้องรู้แต่เนิ่นๆ และหากได้ใช้การพูดคุยอยางเปิดอกและติดตามการแก้ไขแล้วพนักงานนั้นก็ยังไม่แก้ไข คุณจะสอบหาสาเหตุทันที ในกรณีที่ไม่มีเหตุผลอันสมควรนั่นแหละที่จะทำให้คุณโกรธและใช้มาตรการที่เหมาะสมกับเหตุและสถานการณ์นั้น คุณเชื่อว่าหากได้รับคนดีๆ เข้าทำงาน จูงใจเขาให้มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้วยการเฝ้าติดตามอย่างสม่ำเสมอ เหตุการณ์ที่กล่าวมานั้นก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น
26. ทำไมเงินเดือนของคุณที่ผ่านมาต่ำกว่าราคาตลาด
อย่าไปตอบว่าคุณเป็นคนมักน้อย ไม่ชอบเงินนะครับ มันฟังแล้วเป็นพระเอกมากไปหน่อย ขอให้ตอบไปว่าคุณชอบมีเงินเดือนสูงๆ เหมือนคนทั่วไปแต่ก็มีปัจจัยอื่นที่อาจมีความสำคัญไม่น้อยกว่าเงิน คุณมาสมัครงานที่นี่ก็เพื่อหาเงิน แต่การได้ทำงานที่คุณชอบก็สำคัญเช่นกัน ถ้าความสำเร็จมาถึง เงินก็จะตามมาเอง
27. ใครเป็นแรงบันดาลใจในชีวิตของคุณ ช่วยบอกเหตุผลด้วย
เป็นคำถามที่ต้องการดูความพร้อมในการเตรียมการและความสอดคล้องของเหตุผล ถ้ามัวนั่งนึกอยู่ก็แสดงว่าคุณเป็นผู้ที่ไม่มีแรงบันดาลใจอะไร แต่ถ้านึกอะไรได้ก็ตอบ เช่นไปยกเอาใครที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานและไม่สามารถอธิบายให้ดีได้ก็จะเสียคะแนน ตามหลักการสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์จะเลือกคนที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ ประสบการณ์ในอดีตอาจมีส่วนช่วย แต่เมื่อเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เปลี่ยนเจ้านาย เปลี่ยนลูกน้อง เปลี่ยนสินค้า เปลี่ยนวิธีการทำงาน ก็ต้องมาเรียนรู้กันใหม่ ความสามารถในการปรับตัวและรับการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การเรียนรู้ที่ดีและเป็นธรรมชาติมากที่สุดคือการใช้แรงดลใจหรือแรงบันดาลใจที่อยู่เบื้องหลังการเรียนรู้
คำตอบที่เหมาะสมในข้อนี้จึงควรยกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน อาจเป็นกรรมการบริษัทเก่า หัวหน้าหรือผู้บริหารในองค์กร หรือแม้กระทั่งพี่เลี้ยงในสายงานก็ได้ ขอให้ยกตัวอย่างการใช้คำพูด การกระทำ หรือเทคนิคการทำงานที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณประสบความสำเร็จ ที่สำคัญต้องเน้นไปที่คุณสมบัติที่มีความหมายต่องานที่คุณกำลังสมัครเข้าทำงาน จะช่วยให้เห็นได้ชัดว่าคุณเป็นผู้ที่เรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลา
28. อะไรเป็นการตัดสินใจที่ลำบากใจที่สุดที่เคยทำ
เป็นคำถามที่มีวัตถุประสงค์คล้ายข้อที่แล้ว คือ ดูความพร้อมและความสอดคล้องของเหตุผล ขอให้ยกตัวอย่างการตัดสินใจพร้อมอธิบายเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นการตัดสินใจที่ลำบาก กระบวนการในการตัดสินใจ ความกล้าหาญหรือวิธีการที่ทำให้การตัดสินใจสัมฤทธิ์ผล และผลดีที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจที่แม้จะลำบากใจแต่ก็พิสูจน์ในภายหลังแล้วว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
29. งานอะไรที่น่าเบื่อที่สุดที่เคยทำ
หากหยิบยกงานอะไรที่น่าเบื่อออกไปแม้แต่เรื่องเดียว คุณจะกลายเป็นผู้ที่ไม่เหมาะสมกับการทำงานทันที เพราะสถานการณ์ซึ่งเกิดขึ้นได้ในอนาคตอาจทำให้งานที่ทำเข้าลักษณะงานที่น่าเบื่อได้โดยง่าย
จึงขอย้ำหลังจากที่ย้ำมาหลายครั้งนะครับว่า เมื่อคำถามเป็นลบให้ตอบเป็นบวกเสมอ คำตอบที่เหมาะสมในกรณีนี้จึงควรตอบว่าคุณไม่เคยปล่อยตัวเองเกิดความรู้สึกเบื่องานที่ทำ คุณสนุกกับการทำงานหนัก คุณเชื่อว่าในทุกๆ องค์กรจะมีความท้าทายและปัญหาที่รอการตัดสินใจและการแก้ไข หากจะเกิดความรู้สึกเบื่อขึ้นมาก็หมายความว่าไม่ได้กระตุ้นตัวเองให้เข้าไปจัดการกับปัญหาได้มากพอซึ่งสิ่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้นกับคุณเลย
30. คุณมีประวัติการขาดงานหลายวันตอนอยู่ที่ทำงานเก่าใช่หรือไม่
คำถามประเภทนี้แสดงว่าผู้สัมภาษณ์มีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณอยู่บ้างแล้ว การโกหกจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้าย และอย่างที่กล่าวไว้ในชุดแรกๆ ผมได้เน้นผู้เข้าสอบไม่ให้โกหก เพียงแต่ต้องฉลาดที่จะตอบคำถามด้วยข้อเท็จจริงเท่านั้น กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน
หากในข้อเท็จจริงคุณไม่มีประวัติการหยุดงานเป็นเวลาหลายวัน ขอให้ยืนยันว่าคุณมีสถิติการมาทำงานที่ดีมาตลอดชีวิตการทำงานพร้อมทั้งใส่ไข่ไปอีกนิดด้วยการอธิบายความสำคัญของสถิติการมาทำงาน อาจยกตัวอย่างประกอบให้เห็นว่าในกรณีพนักงานนั้นเป็นพนักงานระดับปฏิบัติการจะส่งผลอย่างไร หรือถ้าเป็นระดับบริหารจะส่งผลอย่างไร แต่ถ้าคุณเคยมีประวัติการหยุดงานหลายวันจริง ก็ให้ยอมรับเพียงแต่พยายามลดความรุนแรงของผลกระทบโดยชี้แจงให้ชัดเจนว่าสถิติที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกรณีพิเศษอย่างไรและสถานการณ์ที่เป็นเหตุให้ต้องหยุดงานนั้นได้ยุติลงแล้ว
31. ถ้าเรารับคุณเข้าทำงาน คุณคิดว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
คำถามนี้เป็นคำถามเอาตายอีกอันหนึ่ง ไม่ว่าคุณจะฉลาดปราดเปรื่องและมีประสบการณ์มายาวนานเพียงใดก็ตาม คุณไม่มีทางรู้สถานการณ์ที่แท้จริงก่อนที่จะเข้าไปทำงานหรือก่อนที่จะได้ศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งของการปฏิบัติงานและของพนักงาน สถานะทางการเงิน วิธีการปฎิบัติงาน ฯลฯ ถ้าคุณพุ่งเข้าใส่คำถามประเภทนี้เพื่อแสดงความรู้ความสามารถใดๆ ก็ตาม เขาจะว่าคุณมั่ว ไม่ว่าบรรยากาศในห้องสัมภาษณ์จะอบอุ่นเป็นกันเองสักเพียงใดก็ตาม คุณก็คือคนนอก ไม่มีใครรวมทั้งผู้สัมภาษณ์ที่อยากให้คนนอกที่อวดรู้เข้ามาสร้างความวุ่นวายในองค์กรที่เขาอุตส่าห์สร้างสมการพัฒนามาเป็นเวลายาวนาน
คำตอบที่เหมาะสมจึงควรขอโอกาสให้คุณได้เข้าไปทำงานเพื่อศึกษาวิเคราะห์การดำเนินงานขององค์กรก่อนจึงจะสามารถให้คำแนะนำได้ โดยจะศึกษาทั้งสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่เป็นอยู่เพื่อทำความเข้าใจในปัญหาทั้งสาเหตุและสภาพของผลที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นจึงขอประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อหาหนทางแก้ไขเป็นข้อเสนอต่อไป
32. ผมคิดว่าคุณมีประสบการณ์ไม่มากเท่าที่เราต้องการ
เป็นคำบอกกล่าวมากกว่าคำถาม และถ้าผู้สอบเออออเห็นด้วยก็ตกทันทีเพราะเท่ากับยอมรับตามที่ผู้สัมภาษณ์สังเกตเห็น ข้อสังเกตนี้ไม่เกี่ยวกับคุณวุฒิแต่เกี่ยวกับประสบการณ์ซึ่งนับเป็นทางออกที่คุณควรนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์
ก่อนที่จะตอบข้อนี้ควรสำรวจว่าจุดอ่อนด้านประสบการณ์ตามที่ผู้สัมภาษณ์พูดถึงเป็นประสบการณ์ด้านใด สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้คือให้นึกถึงสิ่งที่ระบุไว้ในใบประกาศรับสมัครงานเพราะเป็นความต้องการของผู้สัมภาษณ์ คุณจะรอดได้ก็ต่อเมื่อสามารถนำความต้องการนั้นมาเชื่อมโยงเข้ากับจุดแข็งของคุณ การตอบควรเริ่มด้วยการยอมรับความสำคัญของประสบการณ์ที่ผู้สัมภาษณ์พูดถึง และอธิบายเพิ่มเติมว่าคุณมีความสามารถอะไรที่เป็นจุดแข็งของคุณซึ่งไม่ได้แสดงไว้ในใบสมัคร ซึ่งหากนำจุดแข็งดังกล่าวมาพิจารณาร่วมด้วยกับประสบการณ์ของคุณแล้วมั่นใจว่าจะสามารถสนองความต้องการขององค์กรนี้ได้อย่างไร สิ่งที่สำคัญคือคุณต้องพยายามเคลื่อนย้ายจุดสนใจของผู้สัมภาษณ์ออกไปจากจุดอ่อนของคุณและให้มาสนใจในภาพการรวมประสบการณ์เข้ากับจุดแข็งของคุณแทน หากคุณยังพยายามอธิบายว่าคุณมีประสบการณ์มากพอ เท่ากับคุณกำลังทำสงครามกับผู้ที่กำลังตัดสินคุณซึ่งไม่ใช่วิธีที่ฉลาดแต่อย่างใด ในการอธิบายนี้ต้องตัด ego ออกให้หมดโดยอย่าแสดงความไม่พอใจออกมาเป็นอันขาด
33. คุณคิดอย่างไรถ้าต้องทำงานจนดึกรวมทั้งต้องมาทำงานในวันหยุด
คำถามนี้คงง่ายมากที่จะตอบรับว่าไม่มีปัญหาสำหรับผู้ที่สามารถทำเช่นนั้นได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโสด แต่สำหรับผู้ที่มีครอบครัวหรือเพิ่งสร้างครอบครัวพร้อมลูกเล็ก หากปฏิเสธไปก็เท่ากับปฏิเสธที่จะสัมภาษณ์ต่อนั่นเอง การตอบคำถามข้อนี้จะเป็นเครื่องผูกมัดคุณไม่เฉพาะในช่วงทดลองงานแต่ยาวไปถึงการประเมินผลปฎิบัติงานด้วยถ้าคุณไม่สามารถทำตามที่ได้รับปากไว้ในวันสัมภาษณ์นี้ได้
ถ้าคุณมีปัญหาในเรื่องเวลาทำงานเช่นนั้นจริงๆ อย่าตอบรับว่าทำได้โดยไม่มีปัญหา แต่ขอให้ตอบไปว่าคุณเป็นคนชอบทำงานหนักอยู่แล้วและเท่าที่ผ่านมา คุณได้นำงานที่รีบด่วนไปทำต่อที่บ้านจนสำเร็จตามกำหนดทุกครั้ง แต่หากการทำงานนอกเวลานั้นเป็นการประชุมซึ่งโดยปกติก็คงไม่มีบ่อยนัก คุณคิดว่าครอบครัวของคุณคงเข้าใจความจำเป็นในเรื่องนี้ได้ คำถามข้อนี้ถ้าผู้เข้าสอบเป็นพนักงานในสายการผลิตก็คงต้องประเมินสถานการณ์ของตนและตอบตามข้อเท็จจริง ถ้าสิ่งที่คุณได้ตอบไปก่อนหน้านี้มีคุณค่าพอ การจัดสายการผลิตที่ไม่ต้องอยู่กะหรือทำล่วงเวลาในวันหยุดก็น่าจะมีความเป็นไปได้ แต่ถ้าเขาไม่รับจริงๆ ก็ถือว่าเป็นข้อจำกัดด้านคุณสมบัติของเราที่ต้องยอมรับครับ
34. คุณพร้อมที่จะย้ายสาขาหรือเดินทางหรือไม่
เป็นคำถามในเชิงปฏิบัติการจริง ถ้าคุณพร้อมที่จะทำเช่นนั้นอยู่แล้วก็ง่ายมากที่จะตอบ แต่ถ้าไม่มั่นใจ จะมีทางเลือกตอบอยู่ 3 ทางแล้วแต่ว่าคุณร้อนงานขนาดไหน
ทางที่หนึ่ง: ตอบปฏิเสธแล้วปิดโอกาสการได้งานนั้นไปเลย
ทางที่สอง: ตอบแบบสงวนสิทธิในการพิจารณาอีกครั้งเมื่อต้องย้ายหรือเดินทาง
ทางที่สาม: เป็นทางที่ขอแนะนำ คือ เปิดทางเลือกในการตัดสินใจในอนาคตของตนไว้โดยแจ้งผู้สัมภาษณ์ไปว่า ไม่มีปัญหา ทั้งนี้เพื่อให้คุณสมบัติของเราไม่มีจุดอ่อน เพราะเมื่อถึงตอนนั้นคุณยังมีโอกาสได้ตัดสินใจใหม่อีกครั้งว่าคุ้มไหมที่จะย้ายไปทำสาขาอื่นหรือต้องเดินทาง นอกจากนั้นก่อนจะถึงเวลานั้นจริง คุณอาจมีงานอื่นที่ดีกว่าหรือได้ค้นพบว่างานที่คุณทำไม่เหมาะกับตัวคุณ ไม่ต้องรอถึงวันย้ายสาขาหรือเดินทางไปไหนก็ตั้งใจจะลาออกอยู่แล้วก็ได้ อย่าเข้าใจว่าผมแนะนำให้โกหกเพือให้ได้งานนะครับ แต่ในทางปฏิบัติยังมีตัวแปรอื่นอีกมากที่ถ้าจะนั่งซักถามกันก็จะเสียมากกว่าได้ เช่น ย้ายไปที่ไหน ย้ายไปนานเท่าไร ได้สวัสดิการหรือผลประโยชน์ตอบแทนอะไรเพิ่มขึ้นหรือไม่ การนับอายุงานเป็นอย่างไร ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ฯลฯ
ส่วนใหญ่ผู้เข้าสอบพอเจอคำถามนี้เข้าใจว่าเขาต้องการทดสอบความเด็ดขาดในการตัดสินใจและในความเป็นผู้นำ เลยตอบไปด้วยความภาคภูมิใจว่าคุณไล่คนออกมาเยอะแล้ว แถมยังเพิ่มสีสันว่าไม่เคยมีใครมาฟ้องร้องเรียกสิทธิอะไรจากองค์กรได้อีกด้วย แท้จริงแล้วคำถามนี้ต้องการดูว่าคุณมีความสามารถในการเลือกรับคนเข้าทำงานและบริหารงานได้ดีเพียงใด ยิ่งคุณตอบว่าเคยไล่คนออกมากก็ยิ่งต้องตอบคำถามต่อไปให้ได้ว่าทำไมคุณจึงไม่สามารถควบคุมบุคคลเหล่านั้นและคุณเลือกรับคนเหล่านั้นเข้ามาทำงานได้อย่างไร
การมุ่งอธิบายแต่เรื่องการไล่ออกจึงเป็นการเปิดการ์ดให้ผู้สัมภาษณ์โยนคำถามเข้าใส่ได้ง่ายเพราะที่จริงแล้วการไล่คนออกไม่ใช่จุดแข็งในการบริหารงาน คุณจึงควรอธิบายกระบวนการบริหารงานที่คุณนำมาใช้ทั้งในส่วนการเลือกรับคนเข้าทำงานและในส่วนของการไล่ออกจากงาน โดยอธิบายว่าวิธีการบริหารงานของคุณคือการเลือกรับคนที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ ให้การฝึกอบรมและการพัฒนาด้วยวิธีการต่างๆ ให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถยิ่งๆ ขึ้น กระตุ้นให้มีความกระตือรือร้นในการทำงานและภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม โดยตัวคุณเองจะร่วมปฎิบัติงานกับบุคคลเหล่านั้นเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายร่วมกัน ปกติแล้วเมื่อดำเนินการเช่นนี้แล้วก็ไม่มีพนักงานคนใดที่สมควรถูกไล่ออก แต่ถ้าพนักงานนั้นเปลี่ยนพฤติกรรมไปอย่างมาก หรือพัฒนาไม่ขึ้นไม่ว่าด้วยสาเหตุใดซึ่งพนักงานที่เข้าข่ายที่ว่านี้จะมีจำนวนไม่มากนัก การไล่ออกหรือให้ออกจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จำเป็นต้องทำซึ่งก็ต้องทำอย่างรวดเร็วและโปร่งใสด้วย เพราะพนักงานที่ไม่ดีสามารถทำให้เกิดความเสียหายและบั่นทอนขวัญกำลังใจของพนักงานที่ดีได้ทั้งทีม
36. ทำไมเปลี่ยนงานบ่อย
เป็นคำถามที่สะท้อนความกังวลว่าคุณจะทำงานกับเขาได้ไม่นาน แต่ที่ห่วงมากกว่านั้นคือห่วงบุคลิกภาพของคุณว่าเป็นคนเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ หรือเป็นคนที่มีปัญหาในองค์กรที่เข้ากับใครไม่ได้
ทางที่ดีที่สุดก่อนที่จะส่งประวัติไปก็ควรดูว่าประวัติการทำงานของเรามีการเข้าออกงานบ่อยจนน่าจะเป็นข้อสังเกตหรือไม่ หากใช่ก็ควรตัดประวัติในส่วนปลีกย่อยที่ไม่สำคัญออก ประวัติการทำงานไม่ต้องละเอียดถึงเดือน เอาแค่ปีก็พอซึ่งจะช่วยให้การเชื่อมต่อของเวลาดูดีขึ้น แต่ถ้าทำอย่างนั้นแล้วก็ยังถูกถามอีกก็ขอให้ดูว่าการเปลี่ยนงานของคุณเกิดบ่อยในช่วงใดซึ่งควรมีแค่สองช่วง คือช่วงเริ่มต้นการทำงาน หรือช่วงหลัง หากเป็นช่วงแรกก็อธิบายว่าเป็นการค้นหางานที่เหมาะกับความถนัดอย่างแท้จริงเพราะอายุยังน้อย หากเกิดมาเปลี่ยนงานบ่อยในช่วงหลังจะอธิบายยากหน่อย แต่ก็ควรอิงกับข้อเท็จจริงให้มาก ที่สำคัญอย่าโทษหรือโยนความผิดให้คนนั้นคนนี้ ควรยืนยันให้หนักแน่นว่าคุณปรารถนาที่จะมีความมั่นคงในการทำงาน สาเหตุการออกจากงานพยายามให้เป็นสาเหตุจากเหตุการณ์ที่เกินอำนาจการควบคุมของคุณ ไม่ใช่เกิดจากความขัดแย้งหรือข้อบกพร่องส่วนบุคคล คุณอาจอ้างอิงถึงสถานที่ทำงานที่คุณทำอยู่เป็นเวลานานที่สุดประกอบด้วยก็ได้
37. คุณคิดว่าบทบาทที่สมควรสำหรับตำแหน่งงานที่คุณสมัครคืออะไร
เป็นคำถามที่ต้องการการเชื่อมโยงทางความคิดระหว่างตำแหน่งงานที่สมัครกับภาพที่ใหญ่กว่า คือความสำเร็จขององค์กร ชุมชน หรือธุรกิจอุตสาหกรรม เป็นคำถามที่ใช้ถามเมื่อประวัติการทำงานของผู้สมัครค่อนข้างแตกต่างจากองค์กรที่มาสมัครเข้าทำงาน เช่น เดิมเคยเป็นข้าราชการในองค์กรขนาดใหญ่ แต่มาสมัครงานในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง ความผิดพลาดที่พบบ่อยคือผู้สมัครลืมถอดหมวกของตัวเอง นำเอาบทบาทในองค์กรของตนมาตอบเป็นบทบาทในองค์กรใหม่โดยไม่ศึกษาวัฒนธรรมขององค์กรใหม่นี้ให้ดีเสียก่อน
คำตอบที่เหมาะสมจึงต้องนำเอาภาพสามภาพมาประกอบเป็นภาพเดียว คือ องค์ประกอบความสำเร็จของงานในตำแหน่งหน้าที่ที่มาสมัคร วัฒนธรรมขององค์กรที่มาสมัคร และความต้องการในตำแหน่งตามที่ระบุในประกาศรับสมัคร เมื่อประกอบภาพทั้งสามนี้เข้าด้วยกันแล้ว จึงค่อยประมวลออกมาเป็นคำตอบ อย่าเพียงแต่เอาคำบรรยายลักษณะงานโดยทั่วไปในตำแหน่งงานนั้นมาตอบเป็นอันขาด
38. คุณจะพูดอะไรกับผู้บังคับบัญชาถ้าเขาเชื่อมั่นในความคิดใดๆ เอามากๆ แต่คุณเห็นว่ามันเป็นความคิดที่ใช้ไม่ได้
เป็นคำถามที่ต้องการวัดการตัดสินใจระหว่างคุณธรรมสองประการเหมือนที่เคยนำมาเสนอก่อนหน้านี้ คือ ระหว่างความจงรักและความซื่อตรง ขอย้ำอีกครั้งนะครับ เมื่อไรที่มีคำถามให้เลือกระหว่างคุณธรรมสองประการไม่ว่าจะพลิกแพลงคำถามเป็นอย่างไรก็ตาม ขอให้เลือกตอบที่ความซื่อตรงเสมอ ขอให้ระลึกไว้เสมอว่าคุณเป็นคนนอก ถ้าคุณเลือกตอบความจงรักภักดีเขาจะมองว่าคุณกำลังประจบเขาเพื่อให้ได้งาน เพราะทั้งคุณและเขาไม่เคยรู้จักกันมาก่อน การเลือกตอบที่ความซื่อตรงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เลือกที่จะเคารพตนเองก่อนที่จะเคารพในคนอื่น และยังเป็นการแสดงคุณธรรมที่ไม่อาจปฏิเสธได้อีกด้วย
คำตอบที่เหมาะสมจึงควรพูดถึงเรื่องความไว้วางใจที่จำเป็นต้องสร้างให้เกิดมีขึ้นตลอดระยะเวลาการทำงาน หากโดยพื้นฐานแล้วผู้บังคับบัญชาของคุณไม่เคยไว้วางใจคุณเลย ไม่ว่าคุณจะตอบอย่างไรออกไปก็คงไม่ต่างกันมากนักเพราะจะเป็นความคิดเห็นที่ไม่มีความหมาย แต่ถ้าผู้บังคับบัญชามีความเชื่อใจและไว้วางใจคุณอย่างน้อยในระดับหนึ่ง คุณก็ควรแสดงความคิดเห็นออกไปด้วยเหตุด้วยผลโดยชี้ลงไปที่ข้อมูลเฉพาะที่ทำให้คุณมีความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ถ้าผู้บังคับบัญชายังยืนกรานที่จะทำตามความคิดเห็นของเขา คุณก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลังเพื่อให้สิ่งนั้นสำเร็จให้จงได้
39. คุณอยากเปลี่ยนแปลงอะไรในอดีตเพื่อให้งานมีความก้าวหน้ามากกว่านี้บ้าง
เป็นคำถามที่รื้อฟื้นความเจ็บปวดฝังใจที่คุณลืมไม่ลงคล้ายกับที่เคยนำมาเสนอก่อนหน้านี้ มาถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านคงมองเห็นภาพรวมของการสัมภาษณ์งานแล้วนะครับว่าแท้จริงแล้วมีหลักสำคัญอยู่ไม่กี่หลัก แต่สำหรับผู้สัมภาษณ์ที่มีประสบการณ์สามารถพลิกแพลงหลักการให้เป็นคำถามได้มากมาย ผู้ตอบจึงควรต้องมีหลักในการตอบโดยถอดอัตตาในตัวเองออกไป ไม่ติดยึดกับความรู้สึกจนกลายเป็นจุดอ่อน
คุณควรตอบไปว่าคุณมีความสุขกับความก้าวหน้าในสายงานอาชีพของคุณ ในกรณีที่สามารถคาดการณ์ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ก็จะวางแผนการดำเนินงานให้เหมาะสม แต่ชีวิตว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัวหรือชีวิตการทำงานเป็นสิ่งที่วางแผนงานอย่างไรก็คงให้ครบถ้วนไม่ได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด มองไปข้างหน้าโดยไม่ประมาทซึ่งเป็นสิ่งที่คุณทำมาโดยตลอด คุณไม่เคยนึกเสียใจใดๆ ในการตัดสินใจของคุณหรืออยากแก้ตัวในสิ่งที่ได้ทำไปในอดีตเลย
40. คุณจะทำอย่างไรถ้าเพื่อนพนักงานในระดับเดียวกับคุณไม่ค่อยให้ความร่วมมือและการกระทำเช่นนั้นมีผลกระทบต่อหน่วยงานของคุณ
เป็นคำถามที่ต้องการรู้ทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์และการแก้ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในหน่วยงาน ผู้สัมภาษณ์บางคนตอบว่า ใครทำอะไรก็ได้อย่างนั้น เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ บางคนก็ตอบว่า ควรรายงานให้ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดได้ทราบ ถ้าตอบแนวนี้ก็ตกแน่นอนครับเพราะคำตอบแรกก็ออกมาในแนวตัวใครตัวมัน ส่วนคำตอบที่สองก็ออกมาในแนวปัดสวะให้พ้นตัว
คำตอบที่เหมาะสมจึงควรเริ่มด้วยหลักมนุษย์สัมพันธ์ของการเป็นเพื่อนพนักงานที่คุณจะเข้าไปพูดคุยกับผู้นั้นและขอความร่วมมือแบบสร้างสรร หากได้รับการปฏิเสธหรือต่อต้าน ก็ควรจะได้อธิบายให้ทราบถึงผลดีที่จะได้รับร่วมกันและผลเสียที่จะเกิดกับองค์กรและลูกค้า แม้ว่าผู้นั้นไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความคิด คณก็จะไม่ยอมให้ปัญหานั้นผ่านไปเฉยๆ คุณจะไม่ยอมละความพยายามและจะขยายขอบเขตผู้เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาให้กว้างขึ้นทั้งที่เป็นหัวหน้าและลูกน้องของบุคคลผู้นั้นรวมทั้งผู้บังคับบัญชาของคุณเองถ้าจำเป็นเพื่อให้ทุกคนได้เห็นผลที่เกิดขึ้นหากการแก้ไขประสบความสำเร็จและเพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีของทีมงาน
41. คุณก็ทำงานกับบริษัทล่าสุดนี้มาตั้งนาน ไม่รู้สึกลำบากใจที่จะเปลี่ยนบริษัทใหม่หรือ
ผู้เข้าสัมภาษณ์บางคนไปหลงติดกับคำว่าลำบากใจ ก็หาเหตุผลเพื่อมาอธิบายว่าลำบากใจอย่างไร และไม่ลำบากใจอย่างไร ขอให้ระลึกไว้อย่างหนึ่งครับว่าในห้องสัมภาษณ์ต้องคิดอย่างน้อยสองชั้น คำถามนี้ต้องการรู้ว่าเมื่อคุณทำงานจนเกิดความคุ้นเคยกับวิธีการทำงาน บรรยากาศ และวัฒนธรรมขององค์กรเก่าแล้ว จะสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้หรือไม่ หรือต้องใช้เวลาในการปรับตัวซึ่งในระหว่างนั้นอาจทำให้เกิดความเสียหายจากวิธีการทำงานแบบเก่าซึ่งไม่เหมาะสมกับที่แห่งใหม่นี้
การตอบคำถามนี้คุณควรกล่าวย้อนไปถึงพัฒนาการที่คุณมีอยู่ในปัจจุบันก็ล้วนมาจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะของการเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่อยู่นิ่ง พูดถึงตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบซึ่งคุณผ่านมาหลายรูปหลายแบบ คุณจึงกล้าที่จะพูดได้ว่าคุณมีความสามารถในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและเข้ารับผิดชอบงานที่มอบหมายด้วยความรู้สึกท้าทายในความรู้ความสามารถ พร้อมกันนั้นก็ขอให้เปรียบเทียบงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันกับตำแหน่งงานที่มาสมัครว่ามีความคล้ายคลึงและแตกต่างกันอย่างไร โดยอธิบายให้เห็นว่าการมาทำงานในสถานที่ใหม่นี้ไม่ได้สร้างความรู้สึกหนักใจในเรื่องการปรับตัวแต่อย่างใดเพราะความต้องการของที่ทำงานใหม่นี้เข้ากับทักษะและประสบการณ์ของคุณได้เป็นอย่างดี
42. ผมจะขอติดต่อที่ทำงานเก่าของคุณเพื่อการอ้างอิงได้ไหม
ถ้าคุณอ้ำๆ อึ้งๆ หรือแสดงท่าทีไม่ให้ความร่วมมือไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ผู้สัมภาษณ์จะเข้าใจได้อย่างเดียวว่าบางสิ่งหรือทุกสิ่งที่คุณตอบมาไม่ว่าจะเป็นประวัติการทำงาน การประสานงาน การสื่อสาร ความสามารถในการทำงานหรือในการบริหาร ฯลฯ ล้วนเป็นเท็จ
คุณควรแจ้งให้ผู้สัมภาษณ์ทราบว่าการมาสมัครงานของคุณนี้ยังไม่ได้แจ้งให้ที่ทำงานเก่าทราบและคุณก็ยังต้องการเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับก่อน ต่อเมื่อผู้สัมภาษณ์ตกลงใจที่จะรับคุณเข้าทำงานแล้ว เมื่อนั้นคุณก็พร้อมที่ให้ตรวจสอบข้อมูลทุกสิ่งที่คุณได้แสดงหรือชี้แจงมาเพราะเป็นความภาคภูมิใจของคุณเช่นกัน
43. ช่วยเล่าตัวอย่างความคิดสร้างสรรค์ ทักษะในการวิเคราะห์ หรือความสามารถในการบริหารของคุณให้ฟังหน่อย
ถ้าคุณหยุดนิ่งไป หรือมีอาการใคร่ครวญไม่ว่าจะแหงนหน้ามองเพดาน เคาะนิ้วบนโต๊ะ หรือยิ้มไปยิ้มมา ก็แสดงว่าคุณนึกความสามารถดังกล่าวไม่ออก มันอาจไม่เคยมีมาก่อนเลย หรืออาจเคยมีเมื่อครั้งหนึ่งนานมาแล้วก็ได้
นี่จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คุณจะต้องเตรียมตัวก่อนที่จะเข้าสัมภาษณ์ ขอให้นึกเสมอว่าคุณกำลังเป็นพนักงานขาย ถ้าสินค้าเป็นตัวคุณ คุณจะต้องต้องเตรียมข้อดีอะไรที่จะไปเล่าให้ผู้ซื้อหรือในที่นี้คือผู้สัมภาษณ์ฟังบ้าง ไม่ใช่เตรียมแต่ข้อมูล แต่คุณยังจะต้องฝึกซ้อมการอธิบายที่น่าเชื่อถือ ชัดเจนและชักนำผู้ฟังให้มีความเห็นคล้อยตามด้วย ไม่ใช่พอถึงขั้นอธิบายก็วกไปวกมาจนไม่เห็นว่าเป็นความสามารถของคุณได้อย่างไร
44. มีอะไรในตัวคุณที่คิดว่าต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นบ้าง
แปลไทยเป็นไทยก็คือ คุณมีข้อบกพร่องอะไรที่เรายังไม่รู้บ้างนั่นเอง อย่าตกหลุมพรางด้วยการสารภาพไปเรื่อยเปื่อยหรือปฏิเสธว่าไม่มีนะครับ
คำตอบที่เหมาะสมคือการบอกถึงคุณสมบัติบางอย่างที่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญหรือที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่งานหรือองค์กร และถ้าเป็นคุณสมบัติที่แท้จริงแล้วก็ไม่ใช่ข้อเสียหายเสียทีเดียวได้ก็ยิ่งดี เช่น การไม่ค่อยยอมรับข้อมูลก่อนการตรวจสอบซ้ำซึ่งทำให้งานที่คุณนับผิดชอบต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้น หรือการเขียนหนังสือเร็วจนลายมืออ่านยากซึ่งคุณก็กำลังแก้ไขอยู่ เป็นต้น
45. มีอะไรที่คุณเป็นกังวลอยู่บ้าง
หากยอมรับว่ามีความกังวลอะไรอยู่บ้าง ก็เท่ากับว่าคุณเป็นผู้สูญเสียที่กำลังมองหาทางออก เมื่อมีใครเปิดช่องให้ก็เลยพรั่งพรูออกมา แต่ถ้าบอกว่าไม่มีอะไรที่เป็นกังวลอยู่เลย ก็ดูไม่น่าเชื่อถือสักเท่าไร
คำตอบที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องของการขอทำความเข้าใจในความหมายของคำว่า “ความกังวลก่อน” สำหรับคุณแล้ว คุณไม่คิดว่าสิ่งที่ยังคั่งค้างในใจเป็น “ความกังวล” แต่คุณคิดว่าเป็น “ความมุ่งหวัง” ซึ่งคุณมีอยู่เต็มเปี่ยม อธิบายไปว่าคุณเป็นผู้ที่เน้นเป้าหมายความสำเร็จของงานเป็นที่ตั้ง ตราบใดที่งานนั้นยังไม่สำเร็จ คุณก็ยังมีความมุ่งหวังที่จะหาหนทางทำมันให้สำเร็จให้จงได้
46. ปกติคุณทำงานสัปดาห์ละกี่ชั่วโมง
คำถามแบบนี้ไม่ต้องการคำตอบเป็นจำนวนชั่วโมง แต่ต้องการทราบมุมมองของคุณต่อการใช้เวลาในการทำงาน ถ้าคุณเป็นคนบ้างานและเท่าที่พูดคุยกันมาก็รู้สึกด้วยว่าผู้สัมภาษณ์ชอบอย่างนั้น กรณ๊นี้ก็ตอบไปเลยว่าปกติคุณทำงานจนดึกดื่นแม้กระทั่งในวันหยุดเพราะครอบครัวคุณเข้าใจดีว่าการปล่อยให้คุณทำเช่นนั้นโดยเสรีทำให้คุณมีความสุขและครอบครัวของคุณก็ยอมรับสภาพเพื่อคุณได้
แต่ถ้าคุณไม่ได้บ้างานถึงขนาดนั้น หรือคุณยังต้องการให้เวลากับครอบครัวหรือกับชีวิตทางสังคม ก็ควรตอบไปว่าปกติคุณเป็นคนทำงานหนัก และแม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าผู้ถามไม่ได้ต้องการรู้จำนวนชั่วโมง ก็ควรเน้นไปว่าจะให้ตอบเป็นชั่วโมงคงไม่ได้ รู้แต่ว่าไม่เคยมีอะไรที่ทำให้คุณมีความสุขและสนุกมากไปกว่าการได้แก้ปัญหาให้กับองค์กร การครุ่นคิดถึงการแก้ปัญหานี้ไม่จำกัดเวลาหรือสถานที่ มันทำให้คุณมั่นใจว่าทางออกเพื่อการแก้ปัญหาต่างๆ ที่คุณสรุปได้นั้นได้ผ่านการคิดใคร่ครวญมามากพอ
47. ส่วนที่ยากที่สุดของการทำงานในตำแหน่งที่คุณสมัครคืออะไร
คำถามนี้ ถ้าตอบตรงคำถาม ตอบอย่างไรก็ผิด กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นอะไรที่คุณตอบว่ายาก ผู้สัมภาษณ์จะมองว่าสิ่งที่คุณตอบมานั้น คือ จุดอ่อนในการทำงานของคุณ หรือพูดอีกอย่างก็คือ คุณมีปัญหากับการทำงานในเรื่องนั้นในตำแหน่งที่คุณมาสมัครนั่นเอง
คำตอบที่เหมาะสมจึงควรให้คำนิยามคำว่า “ยาก” เสียใหม่ว่าเป็น “การ ท้าทาย” ซึ่งเมื่อให้นิยามคำนี้ใหม่แล้ว ตอบอะไรก็ถูก เพราะทุกเรื่องในการทำงานไม่ว่าในตำแหน่งใดก็เป็นเรื่องท้าทายทั้งสิ้น เมื่อให้คำนิยามของคำว่า “ยาก” ใหม่แล้วก็ตอบสิ่งที่ท้าทายที่สุดในตำแหน่งงานและเพิ่มเติมไปด้วยว่าคุณมีความถนัดในเรื่องนั้นเพียงไรโดยมีกระบวนการทำงานอย่างไรจึงประสบผลสำเร็จในเรื่องนั้น
48. ปัญหาจากกรณีสมมุติ
บางครั้งผู้สัมภาษณ์จะยกกรณีตัวอย่างสมมุติขึ้นมาและถามผู้เข้าสอบว่าคุณจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร การที่จะพยายามตอบทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงไม่สมบูรณ์ จะแสดงว่าในการทำงานจริงผู้เข้าสอบก็คงจะรีบสรุปหาทางแก้ไขปัญหาไปดุ่ยๆ อย่างนั้นเหมือนกัน
คำตอบที่เหมาะสมสำหรับคำถามประเภทนี้จึงควรตอบในในรูปกระบวนการทำงานที่สมเหตุสมผลที่จะใช้ในการวิเคราะห์ปัญหา ควรจะต้องปรึกษาใคร จะมีวิธีการหาทางออกที่เป็นไปได้อย่างไร รวมไปถึงการติดตามความก้าวหน้าจะใช้วิธีการอย่างไร การตอบในลักษณะกระบวนการจะสะท้อนให้เห็นภาพที่น่าเชื่อถือว่าคุณเป็นผู้ทราบกระบวนวิธีการทำงาน เป็นคำตอบที่เป็นต่อและได้เปรียบมากกว่าการฟันธงตอบไปว่าจากกรณีสมมุติดังกล่าวต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ครับ
49. อะไรคือสิ่งท้าทายที่สุดที่คุณเคยประสบ
นี่ก็เป็นอีกคำถามหนึ่งซึ่งผู้เข้าสอบต้องเตรียมคำตอบก่อนเข้าสอบ ผู้เข้าสอบที่ไม่ได้เตรียมตัวมามักจะย้อนไปเอาเรื่องท้าทายครั้งเก่าก่อน บางคนเอาตั้งแต่สอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนมัธยมดังๆ ในวัยเด็ก หรือการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งตอบได้แต่น่าจะไม่ได้คะแนนจากการตอบเพราะผู้สัมภาษณ์ยังไม่เห็นว่าจะเกี่ยวข้องกับงานอย่างไร
คำตอบที่จะได้คะแนนจากการสอบสัมภาษณ์นี้ควรเป็นเรื่องความท้าทายที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญต่อคุณภาพงานของคุณ หรือเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติที่จำเป็นในการทำงาน เช่น ภาวะผู้นำ ความคิดริเริ่ม ทักษะการบริหาร ทักษะการโน้มน้าวชักชวน ความกล้าหาญ ความมั่นคงแน่วแน่ ความฉลาดมีไหวพริบ เป็นต้น
50. คุณเคยคิดทำธุรกิจของตนเองหรือไม่
คำถามนี้ต้องระมัดระวังในการตอบเป็นอย่างมาก หากคุณตอบว่าไม่เคย ก็อาจถูกมองว่าเป็นพวกที่ขาดความกระตือรือร้น ไม่กล้ารับผิดชอบ ไม่ดิ้นรนขวนขวาย หากตอบว่าเคย ก็อาจถูกมองว่าอาจแอบประกอบธุรกิจระหว่างยังทำงานซึ่งจะทำให้ได้งานไม่เต็มที่ หรือหวาดระแวงว่าคุณพร้อมจะลาออกไปพร้อมข้อมูลสำคัญของบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจของคุณตามความตั้งใจเมื่อไรก็ได้
คำตอบที่เหมาะสมจึงควรต้องศึกษาวัฒนธรรมขององค์กรก่อน ถ้าองค์กรเป็นองค์กรขนาดใหญ่ซึ่งน่าจะมีระเบียบวิธีปฏิบัติงานที่ครบถ้วนรัดกุม อย่าไปให้ความสำคัญกับการใฝ่ฝันหรือคิดสร้างสิ่งใหม่เช่นการประกอบธุรกิจของตนเองมากนัก เน้นคำตอบไปที่ความใฝ่ฝันที่จะได้ทำงานในตำแหน่งบริหารขององค์กรขนาดใหญ่ที่สามารถใช้ระเบียบวิธีปฏิบัติที่เข้มแข็งสร้างสรรผลงานที่ผู้คนยอมรับ แต่ถ้าองค์กรเป็นองค์กรขนาดกลางหรือขนาดเล็กที่น่าจะให้อิสระในการคิดและการร่วมเสนอแนะความคิดเห็นได้มาก คำตอบที่เหมาะสมควรอยู่ในรูปของการคิดที่จะได้ร่วมกับผู้มีประสบการณ์ในการทำงานซึ่งเปิดโอกาสให้คุณได้ใช้ความคิดริเริ่มให้เป็นประโยชน์ และไม่ว่าจะตอบแบบใด ที่สำคัญต้องเน้นว่าการคิดมีธุรกิจของตนเองไม่ได้อยู่ในหัวของคุณในขณะนี้เลย แต่ความคิดที่จะทำงานให้เสมือนเป็นธุรกิจของตนเองซึ่งต้องทำงานอย่างหนักและมีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่คือสิ่งที่คุณคิดอยู่ตลอดเวลา
51. เป้าหมายของคุณคืออะไร
ผู้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่คือผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่าผู้ถูกสัมภาษณ์ บุคคลเหล่านี้คือผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน และสิ่งที่ทำให้บุคคลเหล่านี้ประสบความสำเร็จได้ก็ไม่พ้นการมีเป้าหมายที่ชัดเจนและพยายามที่จะมุ่งเข้าสู่เป้าหมายนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อคุณได้รับคำถามเช่นนี้ ขอให้ตอบเป้าหมายของคุณให้มีความจำเพาะเจาะจง ลำพังแค่ตอบไปว่าต้องการทำงานให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่เพียงพอ
คุณควรระบุเป้าหมายในชีวิตของคุณเป็นเรื่องๆ เช่น เรื่องงานอาชีพ เรื่องการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เรื่องครอบครัว เรื่องการให้บริการแก่สังคม แสดงให้ผู้สัมภาษณ์ได้เห็นว่าคุณไม่ได้มีชีวิตอยู่เพียงด้านเดียว และในทุกๆ ด้านของชีวิต คุณมีเป้าหมายที่ชัดเจน เป้าหมายเป็นเรื่องของใครของมัน ไม่มีผิดถูก แต่ควรต้องกำหนดระยะของความสำเร็จเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน ระยะเวลาที่คาดหวังในความสำเร็จของแต่ละขั้นตอนนั้น ทำไมเป้าหมายนั้นจึงมีความสำคัญต่อชีวิตคุณ ที่สำคัญอย่ายึดเวทีสัมภาษณ์เป็นของคุณ ชกให้เข้าเป้าในเวลาไม่เกิน 2 นาทีเพื่อจะได้ตอบคำถามอื่นเพราะคุณมีระยะเวลาการสัมภาษณ์จำกัด หากต้องลงจากเวทีก่อนครบยก คนแพ้คือคุณ ไม่ใช่กรรมการ
52. เวลาเลือกรับคนเข้าทำงาน คุณพิจารณาอะไรบ้าง
แสดงความคิดเห็นจากประสบการณ์และความคิดของคุณ แต่อย่างน้อยควรครอบคลุมสามเรื่องนี้ คือ
1) ผู้สมัครมีความสามารถที่จะทำงานได้หรือไม่ (คุณสมบัติ)
2) ผู้สมัครจะทำงานหรือไม่ (แรงจูงใจ)
3) ผู้สมัครเข้ากับงานได้หรือไม่ (ทีมงาน)
อย่าไปตกใจหรือโต้แย้งว่าคุณไม่ได้มาสมัครงานในตำแหน่งพนักงานขาย เพราะการขายก็คือการสนองความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งของบุคคลด้วยสินค้าหรือบริการที่มีราคาไม่แพงไปกว่าความต้องการที่บุคคลนั้นมีต่อสิ่งนั้น ในการทำงานไม่ว่าในตำแหน่งใดจึงไม่พ้นไปจากการทำหน้าที่พนักงานขายโดยมีสินค้าหรือบริการคือความรู้ความสามารถ ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ของคุณนั่นเอง
หลักสำคัญของการขาย คือ ค้นหาความต้องการของลูกค้าและทำให้เขาได้รับความต้องการนั้นด้วยสินค้าหรือบริการของคุณ คำตอบที่เหมาะสมจึงควรเริ่มที่การพูดคุยเพื่อค้นหาความต้องการของลูกค้าก่อนด้วยคำถามพื้นฐาน เช่น ได้ใช้เครื่องเย็บกระดาษมาก่อนหรือไม่ ใช้ขนาด (size) อะไร คุณภาพสินค้าที่ใช้อยู่เป็นอย่างไร ทำไมจึงต้องการซื้อเพิ่ม โดยพร้อมกันไปกับการพูดคุยก็อธิบายคุณลักษณะที่ดีของเครื่องเย็บกระดาษของคุณซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าไปด้วย แล้วจบลงด้วยการปิดการขายด้วยคำถามที่ว่าด้วยคุณสมบัติของเครื่องเย็บกระดาษที่ผู้สัมภาษณ์กล่าวมาทั้งหมดนั้น ผู้สัมภาษณ์ต้องการซื้อในราคาเท่าไร ไม่ว่าผู้สัมภาษณ์จะตอบเท่าไร (ยกเว้นขอฟรี) ขอให้คุณสรุปการขายว่าตกลงขาย เพราะนี่เป็นเพียงสถานการณ์สมมุติ ไม่ใช่การขายจริง สิ่งที่คุณได้ขายไปแล้วไม่ใช่เครื่องเย็บกระดาษแต่เป็นทักษะในการเจรจาและการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลที่เป็นเป้าหมายในการเจรจา เมื่อคุณได้ขายมันไปแล้วก็ไม่ควรมายื้อด้วยการสาละวนกับการต่อรองขอขยับราคาทั้งๆ ที่เป็นกรณีสมมุติ ซึ่งนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นมาแล้ว ยังสร้างความรำคาญแก่ผู้สัมภาษณ์อีกด้วย
54. คุณต้องการเงินเดือนเท่าไร
เป็นคำถามที่ต้องใช้ทักษะการต่อรองมากที่สุด หากตอบผิดก็อาจไม่ได้งานหรืออาจได้รับเงินเดือนน้อยกว่าที่ควร
มีข้อแนะนำ 5 ประการสำหรับตอบคำถามเรื่องเงินเดือน
1) ต้องไม่เป็นผู้เริ่มก่อน พนักงานขายที่ดีจะขายสินค้าหรือบริการของตนก่อนเสนอราคา คุณควรให้ผู้สัมภาษณ์ต้องการคุณก่อน คุณจึงจะมีอำนาจต่อรอง
2) ถ้าผู้สัมภาษณ์ยกคำถามนี้มาถามตั้งแต่เริ่ม หรือในช่วงต้นๆ ซึ่งคุณยังขายคุณค่าในตัวคุณไม่หมด ควรขอเลื่อนการตอบคำถามนั้นด้วยคำพูดทำนอง เงินก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณแต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าสำหรับคุณคือโอกาสที่ได้ทำงานที่คุณรักและมีความก้าวหน้าในสายงาน ดังนั้นถ้าไม่ติดขัดอะไร อยากขอให้สัมภาษณ์จนมั่นใจก่อนว่าคุณมีความเหมาะสมกับตำแหน่งนี้แล้วค่อยมาคุยเรื่องเงินเดือน
3) กฎข้อที่หนึ่งของการเจรจาต่อรอง คือ ผู้ที่มีข้อมูลมากกว่าเป็นผู้ชนะ ดังนั้นหลังจากที่คุณได้ขายความเชื่อถือในตัวคุณไปจนถึงคำถามเรื่องเงินเดือน ขอให้ตอบไปว่าคุณเชื่อว่าบริษัทมีอัตราเงินเดือนสำหรับตำแหน่งนี้อยู่แล้ว จะช่วยแจ้งให้คุณทราบอัตราดังกล่าวได้หรือไม่ หรือตอบว่าคุณต้องการเงินเดือนที่สมกับความสามารถและคุณสมบัติของคุณ คุณมั่นใจว่าบริษัทจะให้ค่าตอบแทนคุณอย่างเป็นธรรม ไม่ทราบว่าตำแหน่งที่คุณสมัครนี้มีอัตราเงินเดือนเท่าไร เมื่อคุณมีข้อมูลแล้ว การตัดสินใจหรือการต่อรองจะกลับมาเริ่มที่ฝ่ายคุณ
4) ก่อนเข้าสัมภาษณ์งาน คุณควรสำรวจค่าจ้างในอัตราตลาดก่อน ตามปกติแล้วการเปลี่ยนงานจะมีการบวกเพิ่มเข้าไปอีก 20-25% เงินเดือนเพื่อการต่อรองจึงไม่ควรต่ำกว่าอัตรานั้น
5) อย่าโกหกเรื่องเงินเดือนที่คุณได้รับอยู่ในปัจจุบันแต่ขอให้พูดถึงเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่นอกเหนือจากเงินเดือนให้ชัดเจน เปรียบเทียบกับของบริษัทใหม่โดยรักษาการเพิ่มสุทธิอยู่ที่ประมาณ 20-25%
55. คำถามในเรื่องส่วนตัว
ในการสัมภาษณ์รอบลึกๆ ผู้เข้าสอบอาจพบกับผู้บริหารระดับสูงซึ่งไม่ค่อยมีประสบการณ์การสัมภาษณ์ และมักติดนิสัยที่จะสอบถามเรื่องราวที่ตนสนใจโดยไม่เกรงใจ เช่น คำถามเกี่ยวกับการสมรส ครอบครัว ความเชื่อทางศาสนา การมีส่วนร่วมทางการเมือง วงศ์ตระกูล โรคประจำตัว ความพิการบกพร่องทางร่างกาย
มีหลายวิธีที่จะจัดการกับคำถามเหล่านี้
1) อาจถือสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวโดยไม่ให้คำตอบ แต่การปฏิบัติเช่นนี้อาจทำให้ผู้สัมภาษณ์เข้าใจผิดและให้คุณไม่ผ่านการสัมภาษณ์ก็ได้
2) อาจยอมสละความเป็นส่วนตัวโดยการตอบคำถามไปตามจริงถ้าคิดว่าการทำเช่นนั้นจะช่วยคุณได้
3) ใช้การเลี่ยงแบบการทูตโดยแจ้งผู้สัมภาษณ์ว่าคุณมีความรู้สึกไม่สบายใจต่อคำถามดังกล่าว จึงขอไม่ตอบคำถามนี้
แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกวิธีการใดที่กล่าวมาข้างต้น ต้องมั่นใจว่าคำถามนั้นไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานที่คุณสมัครมิเช่นนั้นแล้วจะเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่ผู้เข้าสอบจะปฏิเสธการตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับงานที่จะต้องปฏิบัติ
56. คำถามที่ซ่อนอยู่ในใจผู้สัมภาษณ์
เป็นคำถามที่ซ่อนอยู่ในใจของผู้สัมภาษณ์โดยไม่ได้ถาม เนื่องจากไม่ได้ถามออกมาผู้เข้าสอบจึงไม่มีโอกาสที่จะชี้แจง และการที่ไม่ได้ชี้แจงนี้เองที่อาจส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อผู้เข้าสอบเพราะผู้สัมภาษณ์อาจสรุปเอาเองว่าข้อสงสัยนั้นต้องเป็นไปตามที่เขาคิดอย่างแน่นอน คำถามที่ซ่อนอยู่ในใจนี้อาจมาจากลักษณะทางกายภาพของร่างกาย หรือประวัติส่วนตัวที่อ่านจากใบสมัครงาน เช่น เป็นคนขาเป๋ จบมาจากสถาบันที่มีประวัติการวิวาทกับสถาบันอื่น มาจากครอบครัวคนต่างด้าว มีอายุค่อนข้างมากสำหรับตำแหน่งที่สมัคร ฯลฯ สิ่งเหล่านิอาจเข้ารบกวนจิตใจของผู้สัมภาษณ์จนเกิดเป็นคำถามว่า คุณเหมาะกับงานที่จะได้รับมอบหมายหรือไม่ แต่ผู้สัมภาษณ์ก็ไม่กล้าที่จะถามเพราะกฎหมายแรงงานไม่อนุญาตให้นำเรื่องเหล่านี้มากีดกันการเข้าทำงาน ในขณะเดียวกันผู้สอบก็ไม่สามารถที่จะตอบคำถามในใจนี้ถ้าผู้สัมภาษณ์ไม่ได้ถามเพราะอาจทำให้ผู้สัมภาษณ์ไม่พอใจ และที่ร้ายไปกว่านั้นก็เป็นไปได้ที่ผู้สัมภาษณ์ยังไม่ทันคิดถึงเรื่องดังกล่าวเลยจนกระทั่งผู้เข้าสอบหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดและสะกิดให้ผู้สัมภาษณ์เกิดความหวาดระแวงว่าผู้เข้าสอบคงมีปัญหาในขั้นรุนแรง ไม่ทางกายภาพก็ทางจิตใจ จึงร้อนตัวนัก
วิธีที่ดีที่สุด คือ อย่าหยิบเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาออกตัวก่อนที่ผู้สัมภาษณ์ถาม แต่ในขณะเดียวกันจะต้องเตรียมคำตอบที่เหมาะสมต่อคำถามที่ซ่อนเร้นเหล่านี้ไว้เพื่อใช้ตอบผู้สัมภาษณ์ให้มีความมั่นใจว่าคุณไม่มีปัญหาอย่างที่เขาคิดในทันทีที่ผู้สัมภาษณ์นำเรื่องนี้ขึ้นมาถาม
57. ส่วนไหนของงานที่คุณต้องใช้ความพยายามมากที่สุด
คำถามข้อนี้ต่างจากข้อที่เคยนำมาเสนอก่อนหน้านี้ซึ่งเคยแนะนำให้เปลี่ยนนิยามจากคำว่า “ยาก” เป็น “ท้าทาย” เพราะข้อนี้ผู้สัมภาษณ์ไม่ได้ถามว่า ยาก แต่ถามว่า ใช้ความพยายามมากที่สุด การจะให้นิยามใหม่สำหรับคำนี้จึงทำได้ยากกว่าคำถามก่อน และส่วนที่ต้องใช้ความพยายามมากที่สุดที่คุณหยิบยกขึ้นมาเป็นคำตอบ ก็อาจหมายถึงปัญหาการทำงานของคุณด้วย
คำตอบที่เหมาะสมจึงควรเปลี่ยนส่วนน้อยให้เป็นส่วนใหญ่ หรือให้เป็นเรื่องปกติโดยตอบว่า คุณได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในทุกงานที่คุณเข้ารับผิดชอบโดยเฉพาะงานที่มีผลกระทบในวงกว้างหรือเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของนโยบาย หรือกฎระเบียบที่ออกใหม่
58. คุณให้นิยาม “ความสำเร็จ” ว่าอย่างไร และจะวัดได้อย่างไร
เป็นคำถามที่ไม่ยาก แต่หากไม่ได้เตรียมตัวไว้ล่วงหน้าก็อาจตอบกว้างหรือแคบเกินไปได้
คำตอบที่เหมาะสมคือ การให้นิยามที่บุคคลทั่วไปคุ้นเคยและเข้าใจกันอยู่แล้วแต่พยายามจัดคำพูดให้สอดคล้องกับความสำเร็จในชีวิตการทำงานของคุณ เช่น ความสำเร็จ คือ การได้บรรลุผลตามเป้าหมายสำคัญที่ตั้งเอาไว้ ส่วนการวัดความสำเร็จจะดูจากความก้าวหน้าทั้งในส่วนของการบรรลุตามเป้าหมายและความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคกีดขวางการบรรลุเป้าหมาย หลังจากนั้นก็ยกตัวอย่างความสำเร็จในอดีตของคุณสักเรื่องสองเรื่องโดยชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ความก้าวหน้าจนกระทั่งบรรลุเป้าหมายหรือความสำเร็จนั้นเป็นอย่างไร รู้ได้อย่างไรว่ามีความก้าวหน้าเกิดขึ้น เป็นต้น
59. คำถามเกี่ยวกับความคิดเห็นส่วนตัว
ปกติแล้วคำถามประเภทนี้จะไม่นำมาถามกันเพราะแต่ละคนก็คิดไม่เหมือนกันและอาจนำไปสู่ความบาดหมางได้ แต่ผู้สัมภาษณ์บางคนก็นำมาถามเพื่อดูไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือบางครั้งก็เป็นเรื่องที่ผู้สัมภาษณ์เกิดสะกิดใจจากบางตอนของการสัมภาษณ์ ทำให้นึกไปถึงเรื่องที่เพิ่งอ่านจากหนังสือพิมพ์หรือที่เพิ่งฟังวิทยุมาเมื่อเช้า ถ้าคุณให้ความคิดเห็นสอดคล้องกับของผู้สัมภาษณ์ก็ดีไป แต่หากไม่สอดคล้องหรือตรงกันข้าม ผู้สัมภาษณ์จะไม่มาโต้เถียงหรือพยายามทำให้คุณเปลี่ยนความคิดเห็น แต่อาจให้คุณตกสัมภาษณ์ได้
การตอบคำถามประเภทความคิดเห็นส่วนตัวโดยเฉพาะในเรื่องการเมือง ศาสนา ไม่ควรตอบแบบฟันธง แต่ควรใช้วิธีป้อนคำถามกลับ เช่น คิดอย่างไรจึงถามในเรื่องนี้ หรือ คุณก็คิดอย่างนั้นหรือ ฯลฯ ซึ่งจากคำตอบของเขาจะให้แนวคิดบางอย่างมาเป็นจุดเริ่มต้นคำตอบของเราได้ แต่ถ้าผู้สัมภาษณ์ยังยืนกรานสร้างแรงกดดันให้ผู้สอบแสดงความคิดเห็น ก็ควรตอบไปตามความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่โดยขอให้เกริ่นนำก่อนด้วยว่า เท่าที่ทราบ คนส่วนใหญ่มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร สำหรับตัวผู้สอบเองยังไม่อยากฟันธงเพราะต้องมีข้อมูลมากกว่านี้ พร้อมกันนั้นก็โยนคำถามกลับไปว่าผู้สัมภาษณ์มีข้อมูลที่ว่านั้นหรือไม่ เช่นนี้ก็จะลดความกดดันไปได้มาก
60. ถ้าคุณถูกล็อตตารี่รางวัลที่หนึ่งชุดใหญ่ คุณยังจะทำงานต่อหรือไม่
วัตถุประสงค์ของคำถามนี้อยู่ที่ต้องการรู้ว่าผู้เข้าสอบมีเจตคติในเรื่องการทำงานอย่างไร
คำตอบที่เหมาะสมไม่ควรตอบแบบมั่นอกมั่นใจว่าจะยังคงทำงานกับบริษัทของผู้สัมภาษณ์ต่อไปอย่างแน่นอนหากได้รับการคัดเลือกเพราะจะออกมาในแนวประจบประแจงมากกว่าความจริงใจ ควรตอบไปว่าการถูกรางวัลที่หนึ่งชุดใหญ่ย่อมให้ชีวิตคุณมีทางเลือกและความยืดหยุ่นในการตัดสินใจมากขึ้น แต่สิ่งที่คุณคิดว่าคงไม่เปลี่ยนแปลงคือความเชื่อที่ว่า การทำงานและประสบความสำเร็จในการทำงานทำให้คุณมีความสุข การถูกรางวัลใหญ่ขนาดนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยจนอาจพูดได้ว่าจะไม่เกิดขึ้นกับชีวิตของคุณ ที่สำคัญยังเป็นเรื่องของอนาคต จึงอยากให้ความสำคัญกับปัจจุบันให้มากที่สุดคือการทำงานด้วยความรู้และความสามารถที่มีให้ดีที่สุด
61. คุณคิดว่าได้ทำงานที่ดีที่สุดแล้วหรือยัง
เชื่อว่าผู้เข้าสอบส่วนใหญ่คงจะไม่เผลอไปตอบรับว่าใช่ เพราะเท่ากับไปพูดว่างานที่คุณกำลังสมัครเข้าทำงานนี้มีคุณค่าหรือความสำคัญน้อยกว่าที่คุณเคยได้ทำมา
คำตอบที่เหมาะสมคือ การให้นิยามของคำว่างานที่ดีที่สุดว่าในความหมายของคุณคืองานที่มีความท้าทายและมีความก้าวหน้าตอบแทนความสำเร็จ ซึ่งในความเห็นของคุณ งานที่ดีที่สุดนั้นอยู่ข้างหน้า เป็นอนาคตของการทำงาน คุณมีโอกาสได้ทำงานที่ดีมามากในอดีตแต่ก็ยังคิดว่ายังไม่ใช่งานที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
62. ทำไมเราจึงควรจะรับคุณเข้าทำงานทั้งๆ ที่สามารถเลื่อนคนของเราเองเข้ารับตำแหน่งนี้ได้
เมื่อได้ยินคำถามนี้ขอให้ดีใจได้แล้วครับว่าผู้สัมภาษณ์มีความโน้มเอียงที่จะเลือกคุณเข้าทำงานแล้ว เพียงแต่อาจต้องการยืมคำตอบของคุณไปใช้อธิบายคนบางคนในหน่วยงานที่อาจตั้งคำถามนี้กับเขาในภายหลัง
คำตอบที่เหมาะสมจึงควรเริ่มที่การโอนอ่อนผ่อนตามความคิดเห็นของผู้สัมภาษณ์ด้วยการแสดงความเห็นว่า เป็นนโยบายที่ดีที่จะส่งเสริมคนภายในเพราะการรับบุคคลจากภายนอกเป็นการแสดงว่าคนในไม่มีความเหมาะสมที่จะได้รับการคัดเลือก แต่ในทางปฏิบัติ ผู้บริหารทุกคนต้องการให้หน่วยงานที่อยู่ในความรับผิดชอบมีความก้าวหน้าและมีศักยภาพในการทำงานที่ดีที่สุด การบรรจุบุคคลเข้าทำงานในแต่ละตำแหน่งจึงต้องเลือกคนที่คิดว่าเหมาะสมที่สุดซึ่งในส่วนตัวของคุณเองคิดว่าเป็นผู้มีความเหมาะสมสำหรับงานดังกล่าว พร้อมกันนั้นก็ให้เหตุผลประกอบสิ่งที่ได้พูดไป
63. ช่วยเล่าข้อบกพร่องของบริษัทของเราเท่าที่คุณทราบ
อย่าเผลอเล่าเรื่องใดที่เป็นข้อบกพร่องออกไปเพราะไม่มีใครต้องการได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งหน้าไม่ว่าผู้นั้นจะแสดงตนว่าเป็นคนใจกว้างแค่ใดก็ตาม
ผู้สอบควรตอบเฉพาะส่วนที่เป็นเชิงบวกเท่านั้นเพื่อไม่ให้เกิดคำถามตามมาซึ่งจะยิ่งยุ่งยากในการตอบมากขึ้นกว่านี้
64. ถ้ามีคะแนนเต็มสิบ ผมควรได้คะแนนผู้สัมภาษณ์สักเท่าไร
ถ้าผู้เข้าสอบบอกให้เต็มสิบ ก็เป็นการประจบ แต่ถ้าให้น้อยกว่านั้นก็จะต้องถูกกดดันให้ต้องอธิบายส่วนที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น
ผู้สอบจึงไม่ควรให้คะแนนเป็นตัวเลข แต่ขอให้แสดงความคิดเห็นตามลักษณะของการตั้งคำถาม เช่น เป็นคำถามแบบกดดัน ต้อนหน้าต้อนหลัง หรือเป็นคำถามที่ต้องการทราบรายละเอียดในขั้นตอนการปฏิบัติ หรือเป็นคำถามที่ต้องการความคิดเห็น ไม่ว่าคำถามของผู้สัมภาษณ์ผู้นั้นจะมีลักษณะเป็นอย่างไรก็ขอให้เลือกใช้คำในเชิงบวกเท่านั้น อย่าวิจารณ์ไปในเชิงลบหรือทำให้ผู้สัมภาษณ์เสียหาย จากคำตอบที่อ้างอิงถึงรูปแบบหรือลักษณะของคำถาม อย่างน้อยคุณก็ได้คะแนนไปครึ่งหนึ่งแล้วเพราะเป็นความเป็นจริงที่ผู้สัมภาษณ์คนอื่นก็รับรู้อยู่ ส่วนการให้คะแนนเป็นตัวเลขต้องขอตัวที่ไม่สามารถให้ได้เพราะคุณมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยตรงจึงไม่สมควรให้ความเห็น หลังจากนั้นก็ขอบคุณผู้สัมภาษณ์ที่ให้โอกาสคุณได้ตอบคำถามต่างๆ ที่มีคุณภาพและหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับการคัดเลือกเข้าทำงาน
ก็เป็นอันจบชุดคำถามและแนวคำตอบซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์พอสมควรเพื่อการเตรียมตัวสอบสัมภาษณ์ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการสอบและได้เข้าทำงานตามที่ตั้งใจไว้ครับ
บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
- Behavioral Interviewing
- Competency-Based Interview
- Interview Preparation
- Interview Questions
- Interview Skills
- Interview Tips based on Psychological Research
- Media Interview Exercise
- Program Manager Interview Questions
- ประเภทและข้อดีข้อเสียของการสัมภาษณ์
-----------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น