การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เป็นกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพที่สามารถใช้ข้อมูลนำเข้าทั้งที่เป็นคุณภาพและปริมาณ มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับการทำวิจัย Kurt Lewin ศาสตราจารย์ชาวเยอรมัน-อเมริกันของสถาบัน MIT (ผู้มีชื่อเสียงในเรื่องจิตวิทยาเด็กและทฤษฎีจิตวิทยาที่ชื่อว่า Gestalt Psychology) เป็นผู้ใช้คำว่า Action Research เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1944 โดยได้นำแนวคิดเรื่องดังกล่าวมาเขียนเป็นบทความชื่อ Action Research and Minority Problems (1946)
Lewin มีความเห็นว่า การทำวิจัยที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้วิจัยจะต้องเข้ามีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดในการทำวิจัยด้วยการนำเสนอแนวคิด ทฤษฎี และสรุปบทเรียนที่ได้จากการวิจัยเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องและความรู้ที่ได้จากงานวิจัยได้ถูกนำไปใช้ เขาเชื่อว่าความสำเร็จในการทำวิจัยเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือระหว่างนักวิจัยซึ่งเป็นผู้มีความรู้ในทางวิชาการ (academic) กับผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ (practitioner) การให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และผู้วิจัยได้ใช้ภาวะผู้นำในการนำและให้การสนับสนุนในจังหวะที่ถูกต้องเหมาะสม จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ แนวคิดดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ให้กำเนิด (founder) เครื่องมือการบริหารการเปลี่ยนแปลงในชื่อ Action Research
ความหมายของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research)
Lewin อธิบาย Action Research ว่าหมายถึง การวิจัยที่สามารถกระทำในสภาพเงื่อนไขและพฤติกรรมทางสังคมได้หลากหลายรูปแบบ กรรมวิธีการวิจัยจะเป็นขั้นตอนที่หมุนวนเป็นวงแบบก้นหอย เน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากงานวิจัย บางครั้งจึงเรียกกรรมวิธีนี้ว่า วงรอบการวิจัย (Research Cycle) หรือ การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) และโดยเหตุที่วัตถุประสงค์หลักของการวิจัยนี้คือการค้นหาสิ่งบกพร่องและนำความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปปรับปรุงแก้ไขให้เกิดการพัฒนาที่ดียิ่ง ๆ ขึ้น จึงนิยมนำกรรมวิธีการวิจัยแบบนี้ไปใช้ในการแก้ปัญหาทางสังคมด้วย เช่น การวิจัยโดยครูผู้สอนเพื่อแก้ปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนหรือนักศึกษา
กระบวนการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ
แบ่งการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการออกเป็น 7 ขั้นตอน ได้แก่
1. คัดเลือกเรื่องที่จะทำวิจัย (Selecting focus)
ผู้วิจัยและทีมงานร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่าควรทำวิจัยในเรื่องใด เรื่องดังกล่าว ควรเหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ คุ้มค่ากับเวลาที่ใช้ในงานวิจัย มีความสมจริง สามารถนำผลที่ได้มาจัดการแก้ปัญหาได้ (realistic solution)
2. สำรวจทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง (Clarifying and establishing theory)
ผู้วิจัยและทีมงานร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่าเรื่องที่คัดเลือกมานั้น มีทฤษฎีหรือแนวคิดใดที่สามารถนำมาใช้อ้างอิงเพื่อการตั้งสมมุติฐานในการทำวิจัยได้บ้าง สมควรใช้กรรมวิธีใดในการทำวิจัยจึงจะเหมาะสมกับเวลาและทรัพยากรทั้งหลายที่มี
3. กำหนดคำถามเพื่อการวิจัย (Identifying research questions)
ผู้วิจัยและทีมงานร่วมกันตั้งคำถามที่จะนำไปใช้ในการวิจัย
4. เก็บข้อมูล (Collecting data)
ข้อมูลหรือคำตอบที่ชัดเจน (valid) และเชื่อถือได้ (reliable) เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการทำวิจัยเพราะเป็นสิ่งที่นักวิจัยใช้ในการประมวลคำตอบของคำถามและวิเคราะห์หาข้อสรุป การสร้างความมั่นใจว่าคำตอบที่ได้ มีคุณภาพอย่างที่ต้องการ การหาคำตอบต่อคำถามในการวิจัยจึงควรหาจากผู้มีประโยชน์ได้เสียหลาย ๆ แหล่งเพื่อให้ได้คำตอบจากหลายมุมมอง (triangulation) เช่นถ้าเป็นการวิจัยในองค์กรก็สอบถามหรือสัมภาษณ์พนักงานระดับผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน และผู้ใต้บังคับบัญชา หรือถ้าเป็นการทำวิจัยในสถานศึกษา ก็สอบถามหรือสัมภาษณ์ผู้ปกครอง เพื่อนนักเรียน ครู การสังเกตก็เป็นวิธีการเก็บข้อมูลที่นิยมใช้ในการทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพราะเสียค่าใช้จ่ายน้อยและได้ข้อมูลที่เก็บจากสถานการณ์หรือพฤติกรรมจริง แต่ผู้จะทำการสังเกตควรได้รับการอบรมเพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมเป้าหมายที่จะสังเกต รวมทั้งการตัดอคติที่เกี่ยวข้องออกไปก่อนที่จะเข้าทำการสังเกต
5. วิเคราะห์ข้อมูล (Analyzing data)
มักใช้สถิติขั้นสูง เช่น Correlation analysis มาคำนวณหาค่าความสัมพันธ์และความแม่นตรงของข้อมูล หรืออาจใช้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ (focus group) เพื่อหาแนวโน้มของคำตอบที่จะนำไปใช้ในการจัดการกับปัญหา
6. รายงานผลการวิจัย (Reporting)
นักวิจัยและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลมาพิจารณาว่าเป็นไปตามสมมุติฐานที่กำหยดไว้ในเบื้องต้นหรือไม่ ค้นพบปัญหาอะไรบ้าง จัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง และสรุปรวมเป็นรายงานเพื่อใช้ในการวางแผนการแก้ไขต่อไป
7. วางแผนการปฏิบัติ (Action planning)
ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการจัดทำ Action Research นี้เองที่ทำให้การวิจัยประเภทนี้แตกต่างจากการวิจัยประเภทอื่น กล่าวคือนักวิจัยจะนำผลการวิจัยที่ศึกษาได้ มาวางแผนการปฏิบัติโดยมีเป้าหมายอยู่ที่การแก้ไขปัญหาตามรายงานที่กล่าวไว้ในขั้นตอนที่หก
แผนที่จัดทำขึ้น (Planning) จะนำไปปฏิบัติ (Action) และติดตามผล (Results) โดยกิจกรรมทั้งสามนี้จะให้ข้อมูลป้อนกลับซึ่งกันและกันในลักษณะการวนรอบ (loop) จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย
เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการ
แม้ว่าเครื่องมือที่นำมาใช้ในการทำวิจัย จะแตกต่างกันไปตามกรรมวิธีการวิจัยและปัญหาที่ทำการศึกษา แต่สำหรับการวิจัยเชิงปฏิบัติการซึ่งต้องการการมีส่วนร่วมของผู้ทำวิจัยและผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาในการวิจัย เครื่องมือต่อไปนี้จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญทั้งในด้านการศึกษาลักษณะของปัญหา และประสิทธิผลในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เครื่องมือดังกล่าว ได้แก่
o การสังเกตพฤติกรรมของบุคคลและกลุ่มบุคคล
o การบันทึกภาพและเสียงของเหตุการณ์ พฤติกรรม
o การสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องที่ทำการศึกษา
o การติดตามและจดบันทึก
o การสำรวจด้วยแบบสอบถาม
ในการสังเกตและติดตามเหตุการณ์รวมถึงพฤติกรรม ผู้วิจัยและทีมงานจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกลุ่มสังคมนั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ข้อมูลที่ได้รับ ไม่เป็นเพียงผลของการสังเกต แต่เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยตรงในฐานะผู้มีส่วนร่วมกับพฤติกรรมในสังคมที่ศึกษา วิธีการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้วิจัยและทีมงานเข้าใจปัญหาได้ดีขึ้น Lewin ได้เสนอเงื่อนไข 5 ประการที่จะช่วยให้การวิจัยเชิงปฏิบัติการประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมาย ประกอบด้วย
1) การวิจัยต้องเป็นการวิจัยซึ่งมีพื้นฐานที่มาจากปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง (problem-based)
2) ต้องให้ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาเป็นศูนย์กลางของการวิจัย
3) ในการอภิปรายผล จะต้องนำสถานการณ์แวดล้อมที่เป็นอยู่ในขณะนั้นมาประกอบการพิจารณาด้วย
4) ผลการวิจัยจะต้องมีข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหา
5) ข้อเสนอดังกล่าวจะต้องมีทฤษฎีรองรับ
ลักษณะของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ
นอกจากลักษณะการทำวิจัยแบบวนรอบเพื่อแก้ปัญหาที่พบ ให้เป็นผลสำเร็จแล้ว การวิจัยเชิงปฏิบัติยังมีลักษณะที่เด่นชัดอีกสามลักษณะ กล่าวคือ
1) มุ่งทดสอบสมมุติฐานในสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่จริงในสังคม (Positivist approach action research) หรือ classical action research
2) ให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจปัจจัยที่มีอยู่ในกลุ่มสังคมที่ศึกษา มองธุรกิจว่าเป็นผลจากความสัมพันธ์และปฏิกิริยาทางสังคม (Interpretive action research) หรือ contemporary action research
3) ศึกษาความเป็นมาของปรากฏการณ์ในปัจจุบันโดยไม่ด่วนสรุปจากสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า (Critical action research)
การนำผลการวิจัยที่ได้มาใช้วางแผนการแก้ไขปัญหา จึงเป็นเสมือนการตรวจผลการวิจัยรวมถึงการทดสอบทฤษฎีซ้ำโดยไม่ด่วนสรุปว่าผลการศึกษาวิจัยที่ได้มานั้นถูกต้องและเป็นจริง แต่จุดอ่อนที่สำคัญอย่างหนึ่งของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ คือ การวนรอบซ้ำเพื่อการปรับแต่งแผนหรือการปฏิบัติซึ่งใช้ระยะเวลานานพอสมควรกว่าจะสามารถวัดผลได้ ขณะเดียวกันกลับอิงอยู่กับผลการวิจัยที่ทำในครั้งแรก จึงอาจเกิดข้อขัดแย้งระหว่างผลการศึกษาวิจัยกับผลการปฏิบัติอันเนื่องมาจากความเป็นพลวัตที่ไม่หยุดนิ่งของสังคม
บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
- Action Plan
- Change Model [Lewin]
- Critical Thinking
- Reflective Cycle (Graham Gibbs)
- Tips to improve your research skills
---------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น