วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

Achieving Economies of Scale

 


การประหยัดจากการเพิ่มขนาดการผลิต

          Economies of scale หรือ การประหยัดจากขนาด หมายถึงความได้เปรียบของต้นทุนการผลิต (cost advantage) อันเนื่องมาจากการเพิ่มการผลิตหรือการให้บริการในปริมาณที่เหมาะสมกับความสามารถในการบริหาร (เพื่อไม่ให้เยิ่นเย้อ ต่อไปในบทความนี้จะใช้คำว่า การผลิต ในความหมายรวมทั้งการผลิตและการบริการ) ต้นทุนการผลิตที่กล่าวมานั้น เป็นได้ทั้งต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปร โดยอยู่ในรูปความสัมพันธ์เชิงผกผันระหว่าง

     1) การเพิ่มปริมาณการผลิต กับ ต้นทุนคงที่ต่อหน่วย กล่าวคือ ยิ่งเพิ่มปริมาณการผลิต ต้นทุนคงที่ต่อหน่วยก็จะยิ่งลดลง

     2) การเพิ่มปริมาณการผลิต กับ ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย กล่าวคือ ยิ่งเพิ่มปริมาณการผลิต การผลิตก็จะยิ่งเสถียรและมีประสิทธิภาพ ส่วนสูญเสียลดลง ประกอบกับราคาวัตถุดิบที่ลดลงเนื่องจากการซื้อในปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนผันแปรต่อหน่วยลดลง

          กลไกของการประหยัดจากขนาดอันเป็นผลจากประสิทธิภาพในการผลิต สอดคล้องกับแนวคิดของ Adam Smith นักเศรษฐศาสตร์ชาวสก็อตผู้กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญสองประการที่ทำให้ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นจากการผลิต คือ การแบ่งงานกันทำ (division of labor) และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (specialization) เมื่อใดที่ผู้ปฏิบัติงานอยู่ประจำกับงานของตน เขาจะมีทักษะสูงขึ้นกับงานที่ทำ ผลงานที่ได้จะมีคุณภาพดีขึ้น เสร็จได้เร็วขึ้น การผลิตมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอันเนื่องมาจากผลผลิตสูงขึ้นด้วยเวลาและค่าใช้จ่ายที่ลดลง

ประเภทของ Economies of Scale
          Alfred Marshall นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ อธิบายความแตกต่างระหว่างการประหยัดจากภายในและการประหยัดจากภายนอกไว้ ดังนี้

1. การประหยัดจากภายใน (Internal Economies of Scale)
          หมายถึงการประหยัดจากขนาดอันเป็นผลมาจากความสามารถของปัจจัยภายในหน่วยธุรกิจ เช่น การซื้อวัตถุดิบในราคาที่ถูกลงเมื่อซื้อมากขึ้น, ความสามารถของผู้บริหารในการบริหารการผลิต, ทักษะการตัดสินใจของผู้บริหาร, เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารขององค์กร, การกระจายต้นทุนคงที่ไปตามปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น 

2. การประหยัดจากภายนอก (External Economies of Scale)
          หมายถึงการประหยัดจากขนาดอันเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน (เครือข่ายถนน, ท่าเรือ, การขนส่งทางอากาศ, การติดต่อสื่อสาร) ที่ช่วยให้ต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบของทั้งอุตสาหกรรมลดลง

          แต่ปัจจัยภายนอก ก็อาจส่งผลกระทบทางลบต่อทั้งอุตสาหกรรมได้เช่นเดียวกัน เช่น ในกรณีที่มีการเติบโตทางอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนพื้นที่ แรงงาน วัตถุดิบ ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นทั้งอุตสาหกรรม

          ผู้ประสบความสำเร็จจากการประหยัดจากขนาด คือผู้ที่สามารถนำจุดเด่นของปัจจัยภายใน และโอกาสของปัจจัยภายนอก มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของตนให้ต้นทุนต่อหน่วยการผลิตลดลงเมื่อเพิ่มปริมาณการผลิต

ปัจจัยสำคัญภายในที่มีผลต่อการประหยัดจากขนาด
   1. การจัดซื้อและประสิทธิภาพการทำงานประจำ
          องค์กรสามารถลดต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยของวัตถุดิบได้ โดยซื้อวัตถุดิบจำนวนมาก (in bulk) ตามเงื่อนไขบันไดราคา / ปริมาณ นอกจากนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพของหน้าที่งานประจำ เช่น การวิจัยและพัฒนา, การโฆษณา, การขาย, ความรู้และทักษะของพนักงาน ก็ช่วยให้ต้นทุนต่อหน่วยการผลิตลดลง

   2. การบริหาร
          การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารภายในองค์กร เช่น การจ้างผู้บริหารที่มีทักษะและประสบการณ์สูง, การลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการทำงาน, การมีสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจน (clear-cut chain of command), การกำจัดช่องโหว่หรือจุดรั่วไหลของค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น, การใช้ประโยชน์จากต้นทุนทุนคงที่ให้คุ้มค่า เช่น การโฆษณา กำลังการผลิตส่วนเกิน, รวมถึงการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การบริหารสินค้าคงคลังแบบส่งเมื่อใช้ (just-in-time inventory) ก็ล้วนช่วยให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลงเป็นอย่างมาก

   3. เทคโนโลยี
          ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการบริหาร การผลิตและงานประจำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการใช้ปัจจัยการผลิตได้เช่นกัน

          นอกจากสามปัจจัยหลักนี้แล้ว ยังมีปัจจัยรองอื่น ๆ ที่ช่วยให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยลดลงเมื่อเพิ่มกำลังการผลิต เช่น เครดิตทางการเงินที่ดีขึ้นช่วยให้เงินทุนที่นำมาใช้มีต้นทุนที่ต่ำลง, การกระจายการผลิตและสถานที่เก็บสินค้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ช่วยลดความเสี่ยงของอุบัติภัยและอัตราเบี้ยประกันภัย เป็นต้น

          ปัจจัยภายในต่างจากปัจจัยภายนอกตรงที่ ปัจจัยภายในเป็นสิ่งที่หน่วยธุรกิจต้องสร้างและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพด้วยตนเอง การรู้จักจุดอ่อนจุดแข็งของตน การรู้จักคู่แข่ง การรู้ความต้องการในตลาด การพัฒนาปัจจัยภายในของตน และการใช้ประโยชน์จากปัจจัยภายนอกให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของหน่วยธุรกิจ เป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการได้รับประโยชน์เมื่อเพิ่มปริมาณการผลิต

การประหยัดและไม่ประหยัดจากขนาด

          จากรูป แสดงต้นทุนต่อหน่วยระยะยาว (Long-Run Average Costs: LRAC) ของหน่วยธุรกิจซึ่งมีต้นทุนต่อหน่วยลดลงจาก C เป็น C1 เมื่อเพิ่มปริมาณการผลิตจาก Q เป็น Q2 ซึ่งเป็นปริมาณการผลิตที่เหมาะสมที่สุดสำหรับกระบวนการผลิตและการบริหารของหน่วยธุรกิจในปัจจุบัน

          การเพิ่มปริมาณการผลิตไม่ได้ช่วยให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลงเสมอไป เหตุผลก็คือ การได้เปรียบจากการประหยัดจากขนาด ไม่ได้เป็นผลมาจากปริมาณการผลิตแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับดุลยภาพของปัจจัยแวดล้อมอื่นเมื่อเพิ่มปริมาณการผลิตด้วย เช่น ความเพียงพอของวัตถุดิบ, ประสิทธิภาพในการบริหารงาน, ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและกำลังการผลิตของเครื่องจักร การเพิ่มปริมาณการผลิตจนปัจจัยแวดล้อมส่งผลในทางลบ เช่น วัตถุดิบขาดแคลนหรือต้องหามาในราคาที่สูงกว่าเดิม ผลผลิตที่เพิ่มมีอัตราต่ำกว่าการเพิ่มของมูลค่าปัจจัยการผลิต ส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มสูงขึ้นและเกิดการไม่ประหยัดจากขนาด (diseconomies of scale) จากรูปข้างต้น เป็นกรณีที่หน่วยธุรกิจเพิ่มปริมาณการผลิตมากกว่า Q2 ซึ่งเป็นปริมาณที่ต้นทุนการผลิตกลับเพิ่มสูงขึ้นและไม่ได้รับความได้เปรียบจากการประหยัดจากขนาดอีกต่อไป

การลดข้อจำกัดของการประหยัดจากขนาด
          ข้อได้เปรียบจากปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการประหยัดจากขนาด ดังที่กล่าวมาข้างต้น ถูกจำกัดบทบาทและอิทธิพลของมันลง เนื่องจาก

     1. เทคโนโลยีในปัจจุบันมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ราคาของเครื่องจักรเครื่องมือและอุปกรณ์ในการผลิต มีราคาลดหลั่นตามความสามารถในการผลิตและผลผลิตที่ได้ ส่งผลให้ผู้ผลิตขนาดเล็กสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตขนาดใหญ่ได้มากขึ้น

     2. การจ้างผู้ให้บริการภายนอก (outsource service) เช่นในงานบัญชี การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ การตลาด งานกฎหมาย และเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร มีอัตราค่าบริการเป็นสัดส่วนตามขนาดของหน่วยธุรกิจ มีการแข่งขันสูงในขณะที่มาตรฐานการให้บริการไม่แตกต่างกัน ทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับงานบริการของหน่วยธุรดิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่ใกล้เคียงกันมากขึ้น

     3. การผลิตชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็ก (Micro-manufacturing) ที่มีความเที่ยงตรงเป็นหน่วยไมครอน เคยผูกขาดอยู่กับผู้ผลิตขนาดใหญ่เพราะต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการพัฒนาเทคโนโลยี ได้กระจายตัวไปตามผู้ผลิตภายนอก (outsource manufacturing) ทำให้การผูกขาดสินค้าบริการประเภทนี้ลดลง

     4. เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร สามารถเชื่อมต่อกับผู้ผลิตท้องถิ่น (hyperlocal manufacturing) ได้มากกว่าแต่ก่อน ทำให้ผู้ผลิตขนาดเล็กสามารถจ้างวานผู้ผลิตในท้องที่ต่าง ๆ ให้ทำงานส่งให้กับตนได้ในราคาที่ไม่สูงเหมือนการผลิตเอง เช่น การผลิตเสื้อผ้า ก็สามารถจ้างผู้รับจ้างผลิต (job shop) ให้ผลิต พิมพ์ซิลค์สกรีน รวมทั้งติด logo ของบริษัทพร้อมวางจำหน่ายในพื้นที่นั้น ๆ โดยประหยัดทั้งค่าตั้งเครื่อง (setup) และค่าขนส่ง

     5. ตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา มีข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ชี้ว่า ราคาของสินค้าประเภททุน รวมถึงราคาเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของประเทศอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ลดลงอย่างมากในรอบสามทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้การได้เปรียบจากขนาดมีบทบาทต่อต้นทุนการผลิตลดลงจากเดิม

          ความสะดวกในการเข้าถึงเทคโนโลยีและการให้บริการดังกล่าว ทำให้ข้อจำกัดในการขยายกิจการและปริมาณการผลิต ลดลงกว่าแต่ก่อน ผู้ผลิตรายเล็กและรายใหญ่ต่างมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดเมื่อเพิ่มปริมาณการผลิต ใกล้เคียงกันมากขึ้น

การประหยัดจากขนาด และ การประหยัดจากประเภท
          การประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) คือการที่หน่วยธุรกิจสามารถลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยได้ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตของสินค้าบริการประเภทใดประเภทหนึ่ง

          ส่วนการประหยัดจากประเภท (Economy of Scope) คือการลดต้นทุนสินค้าบริการด้วยการใช้ปัจจัยการผลิตเดียวกัน เช่น เครื่องจักร เพื่อการผลิตสินค้าบริการมากกว่าหนึ่งประเภท การใช้เครื่องจักรเครื่องเดียวกันผลิตสินค้าสองประเภท ย่อมมีต้นทุนต่ำกว่าการใช้เครื่องจักรสองเครื่องเพื่อการผลิตสินค้าแต่ละประเภท ตัวอย่างเช่นสายการผลิตรถยนต์ อาจใช้สายการผลิตเดียวกันในการผลิตรถขนส่งขนาดเล็กและรถยนต์นั่งส่วนบุคคล การแตกประเภทการผลิตออกไปในสายการผลิตเดิม นอกจากจะช่วยให้สามารถซื้อวัตถุดิบร่วมในปริมาณมากขึ้นด้วยราคาที่ต่ำลงแล้ว ยังไม่เป็นการเพิ่มปริมาณรถประเภทใดประเภทหนึ่ง (supply) ให้มากเกินความต้องการ (demand) ของตลาดอีกด้วย

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
  • Asset Management
  • B2B Marketing
  • B2C Marketing
  • Bargaining Power of Customers
  • Bargaining Power of Suppliers
  • Just in Time (JIT)
  • Materials Management
  • Product-Market Differentiation Model
  • Resource Dependence Theory (RDT)
---------------------------------




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น