วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

Absorption Costing


ต้นทุนรวม

ต้นทุนรวม คืออะไร
          ต้นทุนรวม (Absorption costing หรือ Full costing) คือวิธีการคำนวณมูลค่าสินค้าคงเหลือ (inventory) ในงบการเงินเพื่อนําเสนอให้กับบุคคลภายนอก เช่น ผู้ถือหุ้น, เจ้าหนี้. ธนาคาร, หน่วยงานราชการ ตามหลักการบัญชีที่รับรองกันโดยทั่วไป ต้นทุนรวมประกอบด้วยต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตทั้งหมดทั้งต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปรโดยจะยังไม่นับเป็นค่าใช้จ่ายในเดือนที่องค์กรจ่าย แต่จะรวมอยู่ในมูลค่าของสินค้าคงเหลือในรูปของสินทรัพย์จนกว่าสินค้านั้นจะได้จำหน่ายออกไป จึงบันทึกเป็นต้นทุนขาย (cost of goods sold) ในงบกําไรขาดทุน

องค์ประกอบของต้นทุนรวม
          ต้นทุนสินค้าในระบบต้นทุนรวม (absorption costing) ประกอบด้วย

     1. วัตถุดิบทางตรง (direct materials)
          ได้แก่วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้า

     2. แรงงานทางตรง (direct labor)
          ได้แก่ต้นทุนแรงงานที่ใช้ในการผลิตสินค้า

     3. ค่าใช้จ่ายการผลิตผันแปร (variable manufacturing overhead)
          ได้แก่ต้นทุนผันแปรที่ใช้ในการผลิตสินค้าซึ่งจะผันแปรไปตามปริมาณการผลิต เช่น ค่าน้ำมัน, ค่าไฟฟ้า (บางตำราจัดให้ค่าไฟฟ้าเป็นค่าใช้จ่ายการผลิตกึ่งผันแปร semi-variable เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงในอัตราส่วนเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการผลิต)

     4. ค่าใช้จ่ายการผลิตคงที่ (fixed manufacturing overhead)
          ได้แก่ต้นทุนการผลิตสินค้าซึ่งไม่ผันแปรตามปริมาณการผลิต เช่น ค่าเช่าโรงงาน, ค่าเบี้ยประกันภัย

          ค่าใช้จ่ายในการขายและค่าใช้จ่ายในการบริหาร ทั้งคงที่และผันแปร จะนับเป็นค่าใช้จ่ายในเดือนที่จ่าย หรือต้นทุนประจำงวด (period costs) ไม่ใช่ต้นทุนสินค้าในระบบต้นทุนรวม เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ผลิต แต่เป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในงวดหรือในเดือนนั้น ๆ

ขั้นตอนการคิดต้นทุนสินค้าในระบบต้นทุนรวม
     1. กระจายค่าใช้จ่ายเข้าสู่กลุ่มต้นทุนต่าง ๆ (Assign costs to cost pools)

     2. คำนวณค่าใช้จ่ายตามปริมาณการใช้ (Calculate usage) ของกิจกรรมหรือวัตถุดิบ ทั้งวัตถุดิบทางตรง, แรงงานทางตรง, ค่าใช้จ่ายการผลิตผันแปร, ค่าใช้จ่ายการผลิตคงที่ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าชนิดนั้น


     3. รวมค่าใช้จ่ายที่อยู่ในกลุ่มต้นทุนตามข้อสอง หารด้วยจำนวนสินค้าที่ผลิตได้ ผลที่ได้คือต้นทุนสินค้าต่อหน่วยในระบบต้นทุนรวม

ค่าใช้จ่ายในการผลิตคิดเข้างาน (Absorbed overhead)
          ค่าใช้จ่ายในการผลิตคิดเข้างาน หมายถึงค่าใช้จ่ายการผลิตที่ประมาณการไว้ล่วงหน้าสำหรับการผลิตในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หารด้วยจำนวนชั่วโมงการทำงานที่คาดว่าจะใช้ในการผลิต หรือผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับจากการผลิต

          ค่าใช้จ่ายในการผลิตคิดเข้างานที่สูงไป (over-absorbed overhead) หมายถึงค่าใช้จ่ายการผลิตที่ประมาณไว้ล่วงหน้า สูงกว่าค่าใช้จ่ายการผลิตที่เกิดขึ้นจริง

          ค่าใช้จ่ายในการผลิตคิดเข้างานที่ต่ำไป (under-absorbed overhead) หมายถึงค่าใช้จ่ายการผลิตที่ประมาณไว้ล่วงหน้า ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายการผลิตที่เกิดขึ้นจริง

          ตัวอย่างเช่น กิจการมีค่าใช้จ่ายคงที่ในการผลิตจำนวน 100,000 บาท โดยคาดหวังจะได้รับผลผลิตตามอัตราการผลิตปกติ (normal capacity) ที่ 5,000 ชิ้น ค่าใช้จ่ายคงที่ในการผลิตคิดเข้างาน เท่ากับ 20 บาทต่อชิ้น (100,000 / 5,000)

          เดือนมกราคม กิจการผลิตสินค้าได้ 4,000 ชิ้น ค่าใช้จ่ายคงที่ในการผลิตคิดเข้างาน เท่ากับ 25 บาทต่อชิ้น (100,000 / 4,000) กรณีนี้เรียกว่าค่าใช้จ่ายในการผลิตคิดเข้างานต่ำไป (under-absorbed overhead) โดยมีต้นทุนสินค้าที่สูงกว่าประมาณการ 5 บาทต่อชิ้น ถ้าสินค้าขายในราคาเดิม จะส่งผลให้กำไรสินค้าลดลง 20,000 บาท (4,000 x 5)

          เดือนกุมภาพันธ์ กิจการผลิตสินค้าได้ 6,250 ชิ้น ค่าใช้จ่ายคงที่ในการผลิตคิดเข้างาน เท่ากับ 16 บาทต่อชิ้น (100,000 / 6,250) กรณีนี้เรียกว่าค่าใช้จ่ายในการผลิตคิดเข้างานสูงไป (over-absorbed overhead) โดยมีต้นทุนสินค้าที่ต่ำกว่าประมาณการ 4 บาทต่อชิ้น ถ้าสินค้าขายในราคาเดิม จะส่งผลให้กำไรสินค้าเพิ่มขึ้น 25,000 บาท (6,250 x 4)

ข้อดีของการคิดต้นทุนสินค้าในระบบต้นทุนรวม
     1. เป็นระบบการคิดต้นทุนสินค้าที่ระบบบัญชีซึ่งได้รับการยอมรับทั่วไป (Generally Accepted Accounting Principles: GAAP) กำหนดให้ใช้ในการคิดมูลค่าสินค้าคงเหลือในงบดุลเพื่อแสดงต่อบุคคลภายนอก เช่น ผู้ถือหุ้น, เจ้าหนี้

     2. เป็นระบบการคิดต้นทุนสินค้าที่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทุกประเภททั้งคงที่และผันแปรเอาไว้ทั้งหมด จึงเหมาะที่จะใช้เป็นฐานในการกำหนดราคาขายของสินค้า

ข้อเสียของการคิดต้นทุนสินค้าในระบบต้นทุนรวม
          ข้อเสียที่สำคัญคือ ความเป็นไปได้ที่จะสร้างความเข้าใจผิดให้กับบุคคลภายนอกในกรณีที่ในรอบบัญชีนั้น กิจการมีปริมาณการผลิตสูงกว่าปริมาณการขาย ต้นทุนการผลิตคงที่ของสินค้าที่ยังไม่ได้ขายจะไม่ปรากฏในงบกำไรขาดทุน แต่จะไปอยู่ในสินค้าปลายงวด ต้นทุนขายในรอบบัญชีที่มีการผลิตมากกว่าขายจึงต่ำกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้กำไรของกิจการในรอบบัญชีดังกล่าวสูงกว่าความเป็นจริง (เมื่อเทียบกับการคิดกำไรขาดทุนในระบบต้นทุนผันแปร) นอกจากนั้น มูลค่าของสินค้าคงเหลือซึ่งเป็นสินทรัพย์ของกิจการยังเพิ่มมากขึ้นเพราะมีต้นทุนการผลิตคงที่ของสินค้าปลายงวดรวมอยู่ด้วย อาจทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานะและความสามารถในการทำกำไรของกิจการได้

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
  • Activity-Based Costing (ABC)
  • Cost Benefit Analysis (CBA)
  • Cost Management
  • Direct Costing
  • Overhead Costs & Overhead Value Analysis
  • Sunk-Cost Effect
  • Total Cost of Ownership (TCO)
  • Transaction Cost Theory
-----------------------------



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น