วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2565

ABCD Model for Instructional Objectives


เขียนวัตถุประสงค์การเรียนรู้
ด้วยหลัก ABCD

          วัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่เขียนได้ดี จะให้ภาพที่ชัดเจนว่าผู้สอนหรือหลักสูตรนี้คาดหวังให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ หรือทักษะอะไร วัตถุประสงค์การเรียนรู้ควรมีความจำเพาะเจาะจงและสามารถวัดผลได้ซึ่งนอกจากจะช่วยเป็นแนวทางให้แก่ผู้สอนแล้ว ยังเป็นแนวทางให้ผู้เรียนได้พัฒนาไปตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ด้วย นักจิตวิทยาการสอน Robert Mager ได้เสนอรูปแบบการเขียนวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่เรียกว่า ABCD Model for Instructional Objectives โดยเขาได้แนะนำให้ผู้กำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ถามตนเองว่า หลังการเรียนรู้ ผู้เรียนจะมีความรู้ที่ไม่เคยรู้, สามารถทำอะไรที่ไม่เคยทำ, หรือมีความแตกต่างอย่างไรระหว่างก่อนกับหลังเรียน คำตอบที่ได้จะเป็นรากฐานในการกำหนดวัตถุประสงค์และผลที่คาดหวังจะได้รับจากการเรียนรู้

          วัตถุประสงค์การเรียนรู้ ต้องเขียนให้ชัดเจนไม่กำกวม สามารถสังเกตและวัดผลได้ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ เน้นผลที่จะได้รับอย่างจำเพาะเจาะจง วัตถุประสงค์การเรียนรู้ เป็นส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งในการออกแบบการสอนเพราะเป็นเค้าโครง (roadmap) ให้กับการออกแบบและการเขียนหลักสูตร เราเรียกกระบวนการคิดทบทวนรวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรและเนื้อหาการสอนซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ ทักษะ พฤติกรรมได้ตามวัตถุประสงค์ว่า ข้อตกลงในการปฏิบัติ (Performance Agreement) เพราะเป็นการสร้างความสอดคล้องกัน ตั้งแต่เหตุจนถึงผล จนเป็นเหมือนข้อตกลงหรือข้อยุติว่าผู้เรียนจะได้รับผลอะไรตามวัตถุประสงค์นั้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระดับ

     o ระดับที่หนึ่ง เป็นวัตถุประสงค์โดยรวมของการสอน หรือจุดประสงค์ปลายทาง (terminal objectives)

     o ระดับที่สอง เป็นเป้าหมายที่จะช่วยให้บรรลุจุดประสงค์ปลายทาง หรือจุดประสงค์นำทาง (enabling objectives)

          ผู้เขียนวัตถุประสงค์การเรียนรู้ควรระบุด้วยว่าจะวัดความสำเร็จของวัตถุประสงค์แต่ละระดับอย่างไร

รูปแบบของวัตถุประสงค์การเรียนรู้
          คำว่า ABCD ที่ปรากฏใน ABCD Learning Objectives มาจากอักษรตัวแรกของคำสี่คำ ได้แก่

1. ผู้เรียน (Audience)
     1.1 ระบุให้ชัดเจนว่า ใครคือผู้เรียน
     1.2 มักกำหนดผู้เรียนไว้เฉพาะในวัตถุประสงค์ระดับที่หนึ่ง (terminal objectives)

          ตัวอย่างเช่น การฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ในโครงการกู้ชีพฉุกเฉิน ควรระบุให้ชัดว่า แต่ละหัวข้อของการอบรม ผู้เรียนเป็นแพทย์ (medical doctor), หรือนักปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ (paramedic), หรือพนักงานฉุกเฉินทางการแพทย์ (emergency medical technician)

2. พฤติกรรม (Behavior)
     2.1 ระบุความสามารถหรือพฤติกรรม (performance) ที่คาดหวังให้ผู้เรียนสามารถแสดงให้เห็นได้ภายหลังการเรียนรู้ ใช้คำกริยาที่แสดงการกระทำซึ่งอาจเลือกใช้คำตามการจัดหมวดหมู่ของบลูม (Bloom’s taxonomy) ให้ตรงกับเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์การเรียนรู้ให้มากที่สุด

     2.2 ความสามารถหรือพฤติกรรมนี้ จะต้องเปิดเผย สังเกตได้ และวัดได้ แม้ว่าโดยธรรมชาติแล้ว เรื่องดังกล่าวจะเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ภายในตัวบุคคลหรือเป็นคุณสมบัติทางด้านจิตใจก็ตาม เพราะหากผู้สอนไม่สามารถเห็น, ได้ยิน, สัมผัส, ลิ้มรส, หรือได้กลิ่น (เช่น สอนการทำอาหาร) สิ่งที่เป็นความสามารถหรือทักษะของผู้เรียน ก็จะมั่นใจไม่ได้ว่าผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องดังกล่าวแล้วหรือไม่ เพียงใด

     2.3 ในกรณีที่เป็นทักษะ ควรเป็นทักษะที่ใช้และรู้จักกันทั่วไป

     2.4 ความสามารถหรือพฤติกรรม มีความหมายรวมไปถึงการแสดงออกถึงการมีความรู้หรือทักษะเหล่านั้นด้วย เช่น
  • ด้านปัญญา (cognitive) เน้นความสามารถในการจดจำ. อธิบาย, สามารถให้ความเห็นเพิ่มเติม แก้ไข หรือวิจารณ์สิ่งที่เรียนรู้มาได้
  • ด้านการเคลื่อนไหว (psychomotor) เน้นการใช้กล้ามเนื้อในการเคลื่อนย้ายวัตถุ สิ่งของต่าง ๆ หรือทักษะที่ต้องใช้การสอดประสานของกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหว เช่น เต้นรำ, ว่ายน้ำ
  • ด้านจิตใจ (affective) แบ่งเป็นสองประเภทได้แก่ ทัศนคติ และ ค่านิยม ที่มีต่อการเรียนรู้ ตั้งแต่การตระหนัก การตัดสินใจ การแสดงพฤติกรรม และการประเมิน
  • ด้านความสัมพันธ์ (interpersonal) เน้นทักษะการแสดงปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยความสัมพันธ์ที่แสดงออกมา ไม่จำเป็นต้องตรงตามความรู้สึกหรือความเชื่อที่แท้จริงของตน

3. สภาพเงื่อนไข (Condition)
     3.1 ระบุสภาพแวดล้อมหรือบริบทซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการเรียนรู้

     3.2 อะไรคือสิ่งที่ผู้เรียนจะได้รับ หรือควรจะได้รู้มาก่อนจึงจะทำให้การเรียนรู้นี้สำเร็จตามวัตถุประสงค์

4. ระดับ (Degree)
     4.1 ต้องทำให้สำเร็จมากน้อยเพียงใด

     4.2 พฤติกรรมที่แสดงออกมาต้องดีในระดับใด เช่น ถูกต้องสมบูรณ์ 100% หรือเพียง 80% ก็ยอมรับได้ ฯลฯ

          การเขียนวัตถุประสงค์การเรียนรู้ อาจไม่ระบุเงื่อนไข (C) หรือระดับ (D) ก็ได้ ขึ้นอยู่กับเป้าหมายการเรียนรู้ของผู้สอน และไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ ABCD

หลักสำคัญในการเขียนวัตถุประสงค์การเรียนรู้
     1. ถ้าเป็นไปได้ ก่อนเขียนวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ผู้สอนควรทดสอบความรู้ที่ผู้เรียนมีมาแต่เดิม (prior knowledge) ว่าผู้เรียนได้รู้เนื้อหาที่ผู้สอนตั้งใจจะสอนแล้วหรือไม่ เพียงใด, ผู้เรียนมีประสบการณ์อะไรบ้างก่อนมาเข้าชั้นเรียนนี้, มีความเข้าใจหรือไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด เรื่องราวที่เป็นเงื่อนไขในการสอนหรือไม่ ผลการทดสอบจะช่วยให้ผู้สอนสามารถกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ให้น่าสนใจ เพิ่มพูน และเป็นความรู้หรือทักษะที่ผู้เรียนไม่รู้หรือไม่สามารถทำได้มาก่อน

     2. ต้องหมั่นทบทวนหลักสูตรและเนื้อหาการสอนซ้ำแล้วซ้ำอีก (reiterative) และปรับข้อตกลงในการปฏิบัติ (Performance Agreement) ให้ตรงตามวัตถุประสงค์, มีความเป็นไปได้, และเป็นธรรมในตอนประเมินผล หากเห็นว่าเนื้อหาส่วนใดไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ก็อาจจะ
          2.1 เขียนวัตถุประสงค์ใหม่ให้สอดคล้องกับเนื้อหา หรือ
          2.2 ปรับแก้เนื้อหาให้สอดรับกับวัตถุประสงค์ หรือ
          2.3 ทำทั้งสองอย่างไปพร้อมกัน

     3. เลือกคำแสดงพฤติกรรมที่คาดหวังให้ถูกต้อง หลีกเลี่ยงการใช้คำหรือภาษาที่ไม่ชัดเจนหรือไม่สามารถวัดในเชิงวัตถุวิสัยได้ (objectively) เช่น แทนที่จะกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ว่า “เข้าใจ (understand)” ซึ่งมีความหมายกว้างจนไม่รู้ว่าต้องการให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมหรือความสามารถทำอะไร ผู้กำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้จึงควรเปลี่ยนไปใช้คำใน Bloom’s taxonomy ที่ตรงกับเจตนามากที่สุดแทน เช่นคำว่า บรรยาย (describe), อธิบาย (explain), ถอดความ (paraphrase), กล่าวซ้ำ (restate), สรุป (summarize), อภิปราย (discuss) เป็นต้น

          แม้ว่าเนื้อหาที่ว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นในด้าน (domain) ใด ระดับใด จะเกี่ยวข้องกับการกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ แต่เนื่องจากไม่ได้มีผลโดยตรงต่อการเขียนวัตถุประสงค์ ฯ นอกจากนั้นยังมีเนื้อหาที่ค่อนข้างลงลึกในละเอียด ผู้เขียนจึงขอนำเรื่องดังกล่าวไปเขียนในหัวข้อเรื่อง “Bloom’s Taxonomy” ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ในโอกาสต่อไป

ปัญหาที่มักพบในการเขียนวัตถุประสงค์การเรียนรู้
     1. เขียนวัตถุประสงค์ไว้กว้าง ๆ หรือหลายวัตถุประสงค์จนกลายเป็นความซับซ้อน

     2. ระบุพฤติกรรมที่ไม่มีวิธีการประเมินผล เช่นระบุว่า “ผู้เรียนเข้าใจ.....”

     3. บอกแต่การสอน เช่น อาจระบุหัวข้อหรือข้อมูลกว้าง ๆ แต่ไม่ได้กล่าวถึงเงื่อนไขว่าผู้เรียนจะนำข้อมูลตามหัวข้อเหล่านั้นไปใช้ให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร

     4. ภารกิจที่มอบหมายให้ไปปฏิบัติมีความคลุมเคลือ ไม่จำเพาะเจาะจง เช่นระบุว่า “มีพฤติกรรมที่ถูกต้องตามที่สอน” ตลอดจนไม่ระบุเงื่อนไขและระดับที่ควรเป็น ทำให้ผู้เรียนไม่มั่นใจว่าได้ทำภารกิจนั้นสำเร็จตามความมุ่งหวังของผู้สอนหรือไม่

ประโยชน์ที่ได้รับจากการเขียนวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ชัดเจน
1. ทำให้รู้ว่าต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้และความสามารถอะไร
          เราอาจกล่าวได้ว่า วัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ก็คือความรู้หรือทักษะที่ผู้สอนคาดหวังให้ผู้เรียนได้รับหรือแสดงออกเป็นพฤติกรรมได้จากการเรียน การเลือกเนื้อหา หัวข้อ และความเป็นเหตุเป็นผลที่นำเสนอเป็นลำดับล้วนมีผลโดยตรงต่อการกำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ผู้สอนต้องการให้ผู้เรียนได้รับ

2. ช่วยในการออกแบบหลักสูตร
          เมื่อมีเป้าหมายที่จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อะไร ย่อมเป็นเรื่องง่ายที่จะออกแบบหลักสูตรที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายดังกล่าว นอกจากนั้นยังช่วยในการประเมินผลและติดตามความก้าวหน้าว่าผู้เรียนจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ หรือผู้สอนควรปรับเปลี่ยนวิธีการสอนรวมทั้งเนื้อหาและเครื่องมือการสอนอย่างไร

3. ช่วยให้แผนการสอนมีลำดับขั้นตอน
          แผนการสอนจะช่วยให้หลักสูตรที่จัดเตรียมไว้ได้รับการถ่ายทอดตามลำดับเหตุผลหรือเนื้อหา ช่วยให้เป้าหมายใหญ่ถูกแบ่งซอยออกเป็นเป้าหมายย่อยเพื่อให้ผู้เรียนสามารถติดตาม เรียนรู้ และพัฒนาไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนได้ทั้งหมด

          ตัวอย่างวัตถุประสงค์การเรียนรู้

          A = Audience (ผู้เรียน)
          B = Behavior (พฤติกรรม ความรู้ความสามารถ ทักษะ)
          C = Condition (สภาพเงื่อนไข)
          D = Degree (ระดับ)

     o จากตัวอย่างกิจกรรมที่ให้มา(C) ผู้เรียน(A) จะสามารถระบุและอธิบายพร้อมเหตุผลได้อย่างชัดเจนว่า กิจกรรมใดเป็นกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้ (constructivist activities) และกิจกรรมใดไม่เป็นกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้ (non-constructivist activities) เพราะเหตุใด(B) โดยใช้คำอธิบายไม่เกิน 20 คำในแต่ละกิจกรรม(D)

     o จากตัวอย่างประโยคที่เขียนในรูปอดีต (past tense) หรือปัจจุบัน (present tense)(C) นักเรียน(A) จะสามารถเขียนประโยคนั้นใหม่ให้เป็นรูปอนาคต (future tense)(B) ได้อย่างถูกต้องทั้งกาล (tense) และกาลวิเศษณ์ (adverb of time)(D)

     o จากตัวการ์ตูนสองตัวที่นักเรียนเป็นผู้เลือกขึ้นมาเอง(C) นักเรียนผู้นั้น(A) จะสามารถระบุลักษณะเด่น (trait) ของการ์ตูนแต่ละตัวได้ 5 อย่าง, นำลักษณะเหล่านั้นมาผสมผสานเข้าด้วยกัน ทำให้โดดเด่นเห็นชัด, หรือเปลี่ยนให้เป็นลักษณะตรงข้ามกับที่มีอยู่เดิม แล้วนำตัวการ์ตูนที่มีลักษณะใหม่นั้นมาสร้างเป็นเรื่องราวโดยใช้ภาพประกอบการเดินเรื่องไม่เกิน 20 ภาพ (frame)(B) และเป็นเรื่องราวที่สามารถบ่งบอกลักษณะเด่นของตัวการ์ตูนนั้นได้ 3-5 ลักษณะ(D)

     o จากคานทรงตัวที่ยกสูงในระดับมาตรฐาน(C) นักเรียน(A) ในชุดเครื่องแต่งกายของนักกายกรรมคานทรงตัว(C) จะสามารถเดินตลอดความยาวของคานจากด้านหนึ่งไปสุดอีกด้านหนึ่ง(B) ได้อย่างมั่นคง ไม่ตกจากคาน ภายในเวลา 6 วินาที(D)

     o จากการให้โอกาสทำงานร่วมกับบุคคลชาติพันธ์ต่าง ๆ(C) นักเรียนผู้ร่วมทีม(A) จะแสดงทัศนคติที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นในเรื่องการไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและสีผิว(B) วัดได้จากแบบสำรวจความคิดเห็นและการสังเกตของนักเรียนที่ไม่ได้ร่วมอยู่ในทีม(D)

     o จากกรณีศึกษาที่ยกมา(C) นักเรียน(A) จะสามารถวิเคราะห์ความต้องการ(B) ได้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง(D)

     o นักเรียน(A) จะสามารถนำกฎเรื่องส่วนเบี่ยงบานมาตรฐาน(B) ไปใช้กับข้อมูลที่มีการกระจายแบบระฆังคว่ำได้(C)

     o จากกรณีศึกษาที่ให้มา(C) สิ่งที่ผู้เรียน(A) จะสามารถทำได้(B) เป็นอย่างน้อย(D) ก็คือการวิเคราะห์ความต้องการ(B)

          โปรดสังเกต ตัวอย่างวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง ABCD และไม่จำเป็นต้องเขียนเรียลำดับ ABCD

          บทความที่ขอแนะนำให้อ่านประกอบ

---------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น