วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2565

10 Principles of Reinvention [Osborne and Gaebler]

 

หลัก 10 ประการในการปฏิรูป
งานราชการส่วนท้องถิ่น

          David Osborne และ Ted Gaebler ผู้เขียนหนังสือชื่อ Reinventing Government (1992) มีความเห็นว่า ระบบการทำงานของรัฐบาลอเมริกันซึ่งสร้างขึ้นมาในยุคอุตสาหกรรมและในช่วงวิกฤติการณ์ทางทหารและทางเศรษฐกิจ มีความเหมาะสมกับยุคและวิกฤติการณ์เหล่านั้น แต่ไม่ใช่รูปแบบรัฐบาลที่ดีที่สุดสำหรับยุคต่อมาซึ่งเป็นยุคข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนมีความต้องการเพิ่มขึ้นมากทั้งในเรื่องการให้บริการ ทางเลือกในการใช้บริการ และคุณภาพของการบริการ รัฐบาลจึงควรปรับเปลี่ยนวิธีการให้บริการจากเดิมซึ่งเป็นแบบราชการ ให้มีความเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น คือ มีความยืดหยุ่น สร้างสรรค์ รวมทั้งปรับปรุงระบบการให้บริการให้มีอะไรที่แปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นมา          David Osborne และ Ted Gaebler เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาจากสภาพสังคมอเมริกันนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 ซึ่งประชาชนต้องการโอกาสที่จะได้ซื้อหาสินค้าบริการที่มีคุณภาพและมีผู้ให้บริการที่มีประสิทธิภาพ แต่ระบบราชการไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกเช่นนั้น นอกจากนั้น ตัวระบบราชการเองก็มีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยกฎระเบียบ จึงหวังประสิทธิภาพอะไรไม่ได้ สถานการณ์ยิ่งแย่ลงนับตั้งแต่ปี 1982 เมื่องบประมาณซึ่งได้รับจากรัฐบาลกลางได้ถูกตัดทอน ส่งผลให้มลรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นไม่สามารถให้บริการและปรับปรุงคุณภาพงานตามความต้องการของประชาชนได้

          เพื่อเป็นทางออกของปัญหา Osborne และ Gaebler ได้เสนอให้มีองค์กรที่เรียกว่า Entrepreneurial Government เป็นรัฐบาลในรูปแบบใหม่ซึ่งมุ่งเน้นประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ, มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง, ลดความเป็นระบบราชการ, และส่งเสริมให้มีการแข่งขันทั้งภายในและภายนอกองค์กร Osborne และ Gaebler เรียกผู้รับบริการจากรัฐบาลรูปแบบใหม่นี้ว่า “ลูกค้า” ซึ่งมีอำนาจในการเลือกผู้ให้บริการในสาขาต่างๆ อาทิ โรงเรียน, การบริการด้านสุขภาพ, และบ้านพักอาศัย โดยมีทางเลือกให้ใช้หลายรูปแบบ ทั้งของรัฐบาล เอกชน และองค์กรที่ไม่แสวงกำไร Entrepreneurial Government ตามความหมายของ Osborne และ Gaebler หมายถึงรัฐบาลระดับมลรัฐหรือระดับท้องถิ่น ไม่ใช่รัฐบาลกลาง

          วิสัยทัศน์และ road map ของ Osborne และ Gaebler ในการปรับเปลี่ยนระบบงานของรัฐบาลให้เป็น Entrepreneurial Government ประกอบด้วยหลัก 10 ประการ ดังนี้

1.  เป็นรัฐบาลตัวเร่ง (ถือหางเสือ ไม่ใช่พาย)
          Osborne และ Gaebler มีความเห็นว่า แต่ละภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ คือ รัฐบาล เอกชน และองค์กรที่ไม่แสวงกำไร ควรเป็นผู้ผลิตสินค้าหรือให้บริการที่ตนถนัด

     · งานที่รัฐบาลถนัด คือ การกำหนดนโยบาย, การสร้างความเสมอภาคทางสังคม, การกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจ และการป้องกันการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
     · ในส่วนของเอกชนซึ่งอยู่ในตลาดที่มีความยืดหยุ่นและการแข่งขัน งานที่ถนัด คือ การผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ และการให้ทางเลือกแก่ลูกค้า
     · งานที่องค์กรไม่แสวงกำไรถนัด คือ การให้บริการบุคคลหรือสินค้าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือมีแต่คิดในราคาที่ไม่แสวงหากำไร


          รัฐบาลจึงควรทำงานที่ตนถนัดในฐานะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (catalytic government) คือ เป็นผู้ให้แนวทางและทิศทางในการดำเนินงาน (steering) เช่น ออกมาตรการจูงใจด้านภาษี, ให้รางวัล, จัดทำสัญญา ส่วนการพาย (row) หรือการผลิตสินค้าและบริการ ควรเป็นงานของเอกชนและองค์กรไม่แสวงหากำไร หากให้รัฐบาลเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการ โดยมีคนซึ่งไม่มีความสามารถ (แต่ไม่สามารถให้ออกได้เพราะเป็นข้าราชการ) เป็นผู้ทำงาน สินค้าและบริการที่รัฐบาลโดยข้าราชการเหล่านั้นผลิต ก็คงไม่มีคุณภาพและมีต้นทุนสูงโดยใช่เหตุ รัฐบาลในรูปแบบใหม่จึงควรแยกการให้แนวทางและทิศทางในการดำเนินงาน ออกจากการผลิตสินค้าและบริการ และพัฒนาบุคคลากรไปในเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน

          การทำภารกิจที่แต่ละภาคส่วนถนัดในลักษณะที่สอดประสานสัมพันธ์กัน จะช่วยให้ “ลูกค้า” ได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกลง

2.  เป็นรัฐบาลของชุมชน (เอื้ออำนาจให้ผู้อื่นทำ ไม่ใช่ทำเอง)
          Osborne และ Gaebler พยายามช่วยให้รัฐบาลมีผลการปฏิบัติงานที่ดีขึ้นด้วยการให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการให้บริการ เช่น อาจถ่ายโอนความรับผิดชอบในการบริการ ให้ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการเอง ชุมชนอยู่ใกล้กับปัญหาของเขามากกว่ารัฐบาล เขาจึงสามารถเข้าใจและลงลึกปัญหาได้ดีกว่ารัฐบาล และด้วยเหตุที่การแก้ไขปัญหาเป็นประโยชน์โดยตรงของพวกเขา ชุมชนจึงมีความมุ่งมั่นจริงจัง มีความยืดหยุ่น สร้างสรรค์ในวิธีการแก้ปัญหา และบ่อยครั้งที่สามารถบรรลุเป้าหมายของภารกิจได้ดีกว่ารัฐบาล

          รัฐบาลที่เป็นของชุมชน (community-owned government) สามารถช่วยชุมชนจัดการกับปัญหาของตนให้ดีขึ้นได้ด้วยการกำจัดอุปสรรคที่กีดขวางการดำเนินงานของชุมชน เช่น การแก้ไขกฎระเบียบ, ส่งเสริมการดำเนินงานของชุมชน, ให้เงินอุดหนุน, ให้การฝึกอบรม, ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค และแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาชุมชน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในเรื่องต่อไปนี้ (1) บริการที่ให้ ได้ตกถึงมือผู้ที่ต้องการใช้บริการ (2) มีโครงสร้างการดำเนินงานที่แสดงให้เห็นการโกงกินได้อย่างชัดเจนถ้ามีการโกงกินเกิดขึ้น (3) ชุมชนที่ได้รับมอบอำนาจ สามารถสนองความต้องการและประโยชน์สุขของสมาชิกชุมชนได้อย่างเหมาะสม

3.  เป็นรัฐบาลแห่งการแข่งขัน (ให้มีการแข่งขันกันให้บริการ)
          Osborne และ Gaebler เชื่อว่าการแข่งขัน เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการทำให้การใช้จ่ายในการให้บริการของรัฐมีคุณภาพและประสิทธิภาพดีขึ้น การแข่งขันในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องยกการให้บริการของรัฐไปให้เอกชนทำ เพียงแต่ไม่ควรให้รัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดการให้บริการ เมื่อใดที่ผู้ให้บริการต้องร่วมในการแข่งขัน พวกเขาจะหาทางลดค่าใช้จ่าย สนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของ “ลูกค้า” และพยายามสร้างความพอใจให้เกิดขึ้น ตรงข้ามกับการผูกขาดที่ผู้ผูกขาดไม่มีความจำเป็นต้องคิดริเริ่มอะไร เป็นการทำงานที่ตกอยู่ใต้การควบคุมของระบบราชการและอำนาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ

          การแข่งขันทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการให้หน่วยงานราชการแข่งกับภาคเอกชน, ให้ภาคเอกชนแข่งขันกันเอง, หรือแม้กระทั่งการผลักดันให้หน่วยงานรัฐบาลด้วยกันแข่งขันกัน การแข่งขันไม่ได้จำกัดตัวอยู่แค่เรื่องการให้บริการแก่ประชาชน แม้กระทั่งงานพิมพ์เอกสาร, การทำบัญชี, การจัดซื้อ, และการซ่อมแซมในสำนักงาน ก็สามารถทำได้ดีขึ้นถ้าเปิดโอกาสให้มีการแข่งขัน การแข่งขันส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปการทำสัญญาจ้างเอกชน อย่างไรก็ตามก็ยังมีหลุมพรางที่อาจเกิดข้อผิดพลาดได้ เช่น ในการเขียนและติดตามสัญญา ซึ่งอาจทำให้เกิดการผูกขาดขึ้นมาจากสัญญาที่บกพร่อง หรือการยกสัญญาให้กับนักการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม

          อย่างไรก็ตาม Osborne และ Gaebler เชื่อว่าการโกงกินในรัฐบาลที่ส่งเสริมการแข่งขัน (competitive government) จะสามารถหลีกเลียงได้ถ้าสามารถดำเนินการตามเงื่อนไขต่อไปนี้

     · การประมูล เป็นการแข่งขันที่แท้จริง
     · เป็นการแข่งขันในเรื่องราคา และคุณภาพของผลงาน
     · มีการติดตามการดำเนินงานของผู้รับเหมาอย่างใกล้ชิด
     · มีองค์กรที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองมาเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งการประมูล การจัดทำสัญญา การตรวจติดตามผู้รับเหมา


          รัฐบาลในรูปแบบใหม่จะต้องสร้างกฎเกณฑ์ที่ให้ความเสมอภาคและตรวจติดตามผู้ให้บริการให้รับผิดชอบในผลการดำเนินงานด้วย

4.  เป็นรัฐบาลขับเคลื่อนภารกิจ (แปลงกฎเกณฑ์ให้เป็นการขับเคลื่อนในองค์กร)
          Osborne และ Gaebler มีความเห็นว่า หน่วยงานของรัฐควรขับเคลื่อนด้วยภารกิจของหน่วยงาน ไม่ใช่ด้วยกฎระเบียบหรืองบประมาณ กฎระเบียบที่เกี่ยวกับการปฏิบัติ, บุคคลากร, การจัดซื้อ, และการบัญชี จะฝังตัวอยู่ในระบบที่ขับเคลื่อนด้วยกฎระเบียบ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าและการขาดประสิทธิภาพของรัฐบาล แต่องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยภารกิจ จะให้อิสระแก่ข้าราชการในการปฏิบัติภารกิจขององค์กร ส่งผลให้เกิดความมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความคิดริเริ่ม และความยืดหยุ่นในการทำงาน การสร้างรัฐบาลที่ขับเคลื่อนด้วยภารกิจ (Mission-driven Government) ควรยกเลิกกฎระเบียบที่สะสมกันมาและกิจกรรมทั้งหลายที่ล้าสมัยไปเสียให้หมด งานสำคัญสองอย่างที่ต้องยกเครื่องใหม่ คือ งานงบประมาณและงานบุคคล ระเบียบวิธีการงบประมาณควรเปลี่ยนแปลงโดยสร้างแรงจูงใจให้ข้าราชการประหยัดเงินงบประมาณ, เปิดโอกาสให้สามารถใช้ทรัพยากรเพื่อทดสอบแนวคิดใหม่ๆ, ให้ผู้บริหารมีอำนาจในการตอบสนองกับเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลง, สร้างสิ่งแวดล้อมที่สามารถคาดการณ์ได้

          ระบบงบประมาณของรัฐบาลรูปแบบเก่าจะมีกฎระเบียบที่ส่งเสริมผู้บริหารให้ผลาญเงิน งบประมาณจะถูกแบ่งออกเป็นรายการ การจะนำเงินในรายการหนึ่งซึ่งมีมากเกิน ไปใช้กับอีกรายการหนึ่งซึ่งมีไม่พอ จะทำไม่ได้เพราะถือว่าเป็นการใช้เงินผิดประเภท ขณะเดียวกัน หากเงินในรายการใดใช้ไม่หมด เงินส่วนนั้นก็จะถูกตัดคืนคลัง และในปีถัดไป หน่วยงานนั้นก็จะได้รับงบประมาณน้อยลงเพราะถือว่าไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ ระเบียบวิธีงบประมาณเช่นนี้เป็นแรงจูงใจให้ข้าราชการพยายามผลาญเงินให้หมดไปภายในปีงบประมาณนั้น

          ระบบการจ่ายค่าตอบแทนของงานบุคคลก็ควรเปลี่ยนจากการจ่ายมากน้อยตามอายุงาน มาเป็นการจ่ายตามผลงาน การเลื่อนตำแหน่งหรือการให้ออกจากงานก็ต้องเป็นไปตามผลการปฏิบัติงาน ไม่ใช่ตามระบบอาวุโสหรือความรู้สึก มีการวัดผลการปฏิบัติงานที่เป็นธรรม ทวนสอบได้ เช่นการประเมินผลแบบ 360 องศาที่ประเมินทั้งผลการปฏิบัติงาน และมนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน

5.  เป็นรัฐบาลที่เน้นผล (วัดกันที่ output ไม่ใช่ input)
          เมื่อปรับปรุงแก้ไขระเบียบให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นแล้ว ก็จะต้องเพิ่มความรับผิดชอบลงไปด้วย แต่ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นมานี้จะเปลี่ยนจาก input เช่น การต้องใช้งบประมาณให้หมด มาเป็นความรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้น เป็นรัฐบาลที่เน้นที่ผลงาน (Result-oriented Government) โดยรัฐจะเป็นผู้วัดผลการปฏิบัติงานที่แต่ละหน่วยงานได้ทำลงไปและปูนบำเหน็จรางวัลให้ตามความสำเร็จที่ได้รับ

          รัฐบาลในรูปแบบใหม่จะต้องเรียนรู้การวัดผลที่ได้จากการใช้จ่ายงบประมาณ เช่น ถนนสะอาดเพียงใด ผู้รับการฝึกอบรมสามารถนำความรู้มาใช้ได้มากน้อยเพียงใด และความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพของพวกเขาจะเป็นอย่างไร รัฐบาลจะต้องเรียนรู้ที่จะวัดว่า “ลูกค้า” ของเขามีความพอใจในระบบขนส่งมวลชน สวนสาธารณะ และโรงเรียนของลูกๆ เขาอย่างไร การวัดผลสำเร็จของการใช้งบประมาณวิธีหนึ่ง คือ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ และนำข้อมูลที่ได้ มากำหนดเป็นเป้าหมายเพื่อการปรับปรุง โดยจะเน้นว่าจะสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างไร ไม่ใช่จะอัดงบประมาณเพิ่มลงไปเท่าไรทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ปรับปรุงความสามารถในการปฏิบัติงาน

6.  เป็นรัฐบาลที่มี “ลูกค้า” เป็นตัวขับเคลื่อน (สนองความต้องการของลูกค้า ไม่ใช่ระบบราชการ)
          วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณบังเกิดผล คือ การให้ทรัพยากรแก่ “ลูกค้า” และให้ “ลูกค้า” นำทรัพยากรนั้นไปใช้เลือกผู้ให้บริการของเขาเอง ผู้ให้บริการจำเป็นต้องพยายามตอบสนองความต้องการของ “ลูกค้า” เพื่อไม่ให้ตนต้องหลุดออกไปจากธุรกิจที่ทำอยู่ พวกเขาจะพยายามลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มคุณภาพของสินค้าและบริการ เหตุผลที่ให้ “ลูกค้า” เป็นผู้เลือกก็เพราะแต่ละคนต่างมีความต้องการที่แตกต่างกัน เช่นแทนที่รัฐบาลจะสร้างสถาบันการศึกษาหรือโรงพยาบาลสำหรับทหารผ่านศึกเป็นการเฉพาะ ก็อาจเปลี่ยนไปให้ voucher เพื่อการศึกษา และ voucher เพื่อการรักษาพยาบาล และให้ทหารผ่านศึกนั้นมีสิทธิที่จะเลือกเข้าเรียนที่สถาบันการศึกษาหรือรับการรักษาที่สถานพยาบาลใดก็ได้ที่เขาพอใจ

          การบริการในบางเรื่อง เช่น การศึกษาภาคบังคับ รัฐบาลที่มีลูกค้าเป็นตัวขับเคลื่อน (Customer-driven Government) อาจเปลี่ยนระบบการให้เงินอุดหนุนจากเดิมที่ให้ตามขนาดของโรงเรียน มาเป็นให้ตามรายหัวของนักเรียนที่เข้าเรียนซึ่งจะมีผลให้แต่ละโรงเรียนต้องแข่งขันกันสร้างคุณภาพทางการศึกษาเพื่อรักษาหรือเพิ่มจำนวนผู้ลงทะเบียนเรียน รัฐบาลในรูปแบบใหม่สามารถพัฒนาความคิดริเริ่มไปได้อีกมากมายโดยใช้หลัก “ลูกค้า” เป็นผู้เลือกหรือเป็นตัวขับเคลื่อนนี้

7.  เป็นรัฐบาลที่ทำวิสาหกิจ (หามากกว่าจ่าย)
          แทนที่รัฐบาลจะตั้งหน้าตั้งตาขึ้นภาษีเพื่อให้ได้เงินมาใช้ในการให้บริการแก่ประชาชน รัฐบาลควรแสวงหาความคิดใหม่ๆ ในการหารายได้ (Enterprising Government) มาเป็นค่าใช้จ่ายในการให้บริการ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีเช่น

     · ให้ผู้ประกอบการเช่าใช้ที่ดินของราชการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์
     · เก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้บริการ เช่น ค่าเก็บขยะ ค่าที่จอดรถ หรือค่ามลพิษจากผู้ก่อมลพิษ เช่น ค่ากำจัดน้ำเสียจากผู้ใช้น้ำประปา
     · ลงทุนเล็กน้อยในกิจการที่มีโอกาสสร้างรายได้ เช่น การให้เช่าใช้ศูนย์ประชุมหรือพื้นที่ว่างของราชการในย่านธุรกิจเพื่อการแสดงสินค้า
     · ปรับเปลี่ยนผู้บริหารจากข้าราชการที่ติดยึดกับกฎระเบียบ ให้มาเป็นข้าราชการที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ในการประหยัดค่าใช้จ่ายและหารายได้


8.  เป็นรัฐบาลที่คาดการณ์ล่วงหน้า (มุ่งป้องกันแทนที่จะแก่ไข)
          รัฐบาลที่คาดการณ์ล่วงหน้า (Anticipatory Government) จะพยายามป้องกันปัญหา ไม่ให้เกิด แทนที่จะตามแก้ปัญหา มาตรการที่สามารถนำมาใช้มีหลายวิธี เช่น

     · ใช้การป้องกันแทนการเผชิญกับความเสี่ยง เช่น การป้องกันอัคคีภัย แทนที่จะต้องวิ่งวุ่นกันทั่วเมืองเพื่อดับไฟที่นั่นที่นี่ รัฐบาลควรเน้นที่การใช้วัสดุสร้างอาคาร, การมีระบบ sprinkler ในอาคาร, ในระดับบ้านพักอาศัยควรมี breaker ตัดไฟเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร
     · รัฐบาลควรส่งเสริมให้ชุมชนมีคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายกิจกรรมในอนาคตของชุมชน (Future Commission) เมื่อได้เป้าหมายแล้วก็ประสานกับรัฐบาลเพื่อการสนับสนุนและร่วมมือเพื่อให้กิจกรรมนั้นสำเร็จ แทนที่จะรอให้เกิดปัญหาหรือความจำเป็นขึ้นมา แล้วค่อยมาหาทางแก้ไข
     · ใช้กระบวนการวางแผนเชิงกลยุทธ์ เริ่มตั้งแต่การตรวจสอบสถานภาพที่เป็นอยู่ของชุมชนและการมองล้ำเข้าไปในอนาคต, การกำหนดเป้าหมาย, การสร้างกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้น, และการติดตามวัดผลความสำเร็จ


9.  เป็นรัฐบาลที่กระจายอำนาจจากศูนย์กลาง (จากการใช้อำนาจตามสายการบังคับบัญชา มาเป็นการมีส่วนร่วมและทำงานเป็นทีม)
          หลักสำคัญประการหนึ่งของรัฐบาลกระจายอำนาจ (Decentralized Government) คือการมีอิสระการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร การรวมอำนาจตัดสินใจไว้ที่ส่วนกลางเป็นการจำกัดความสามารถขององค์กรในการตอบสนองสิ่งท้าทายต่างๆ ในระบบรวมอำนาจ ความรู้จะไปกองรวมอยู่ที่ส่วนยอดขององค์กรซึ่งผู้ตัดสินใจจะอยู่ไกลจากข้อเท็จจริง ส่วนองค์กรกระจายอำนาจ จะมอบอำนาจให้แก่บุคคลที่มีหนทางสร้างสรรค์และสามารถแก้ปัญหาได้ โดยทั่วไปแล้ว บุคคลที่มีคุณสมบัติเช่นว่านั้นก็มักจะอยู่ในส่วนล่างของสายบังคับบัญชาในองค์กร การกระจายอำนาจจะช่วยให้องค์กรมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของ “ลูกค้า” เมื่อผู้เกี่ยวข้องเหล่านั้นเข้าใจสภาพปัญหาและสถานการณ์แล้ว เขาจึงจะสามารถตัดสินใจได้ถูกต้อง การทำให้ข้าราชการมีความรู้สึกเป็นเจ้าของปัญหา จะช่วยให้องค์กรสามารถแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้นและตัวองค์กรเองก็จะพัฒนาขึ้นมาได้ในอีกระดับหนึ่ง การกระจายอำนาจจึงทำให้เกิดความคิดริเริ่มใหม่ๆ การมอบความไว้วางใจให้ข้าราชการมีอำนาจตัดสินใจได้ในระดับหนึ่ง จะสร้างความรู้สึกมุ่งมั่นผูกพัน ทำให้เกิดขวัญกำลังใจส่งผลให้มีผลงานเพิ่มขึ้น

10.  เป็นรัฐบาลที่เน้นการตลาด (เพิ่มการเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งตลาด)
          Osborne และ Gaebler มองบ้านเมืองว่าเป็นเหมือนตลาด (marketplace) ที่กว้างขวาง ซับซ้อน มีทั้งประชาชนและองค์กรซึ่งต่างก็ตัดสินใจตามสิ่งจูงใจและข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ วิธีที่ดีที่สุดที่รัฐบาลที่เน้นการตลาด (Market-oriented Government) จะตอบสนองความต้องการของประชาชนในตลาดได้ คือ การใช้นโยบายและกลไกตลาดเป็นเครื่องมือเพื่อการส่งมอบสินค้าและบริการแก่ประชาชน แทนการพยายามไปควบคุมโดยตรงด้วยการบังคับใช้กฎระเบียบทางธุรการอย่างที่ปฏิบัติกันมา

          Entrepreneurial Government ตามแนวคิดของ Osborne และ Gaebler เป็นชนวนความคิดให้รองประธานาธิบดี Al Gore นำมาจัดตั้ง the National Performance Review (NPR) ขึ้นในปี 1994

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ

  • Bureaucratic Theory [Max Weber]
  • Customer Service Mindset
---------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น