แนวปฏิบัติ 8 ประการในการกำกับควบคุมตนเอง
ในแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิต เราทุกคนล้วนมีทางเลือกว่าจะรับมือกับมันอย่างไร อาจเป็นในเชิงบวกหรือในเชิงลบ แต่ถึงจะรู้อยู่แก่ใจว่า การรับมือหรือตอบโต้ในเชิงลบจะมีผลเสียมากกว่าผลดี เราก็มักจะตอบโต้สถานการณ์ที่กดดันด้วยพฤติกรรมในเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นการแผดเสียง การแสดงอาการโกรธจนหน้าแดงตัวสั่น บางครั้งถึงขั้นขว้างปาข้าวของหรือด่าทอด้วยคำหยาบคาย สาเหตุก็เพราะ พื้นฐานจิตใจของบุคคลที่ยังไม่ได้รับการพัฒนามักจะมีกิเลส ตัณหา อุปาทาน เป็นฐานของความคิด เมื่ออารมณ์เข้าครอบงำการใช้เหตุผล สิ่งที่เป็นพื้นฐานของความคิดเหล่านั้นจึงถูกปลดปล่อยออกมา มากน้อยตามแรงกดดัน กว่าจะรู้สึกตัวหรือสงบสติอารมณ์ได้ พฤติกรรมทั้งหลายที่แสดงออกไปก็ส่งผลเสียทั้งต่อตนเอง บุคคลที่เกี่ยวข้อง และองค์กร ผลเสียที่ว่านั้นจะมีผลกระทบรุนแรงขึ้นอีกหลายเท่าหากผู้นั้นอยู่ในฐานะผู้นำหรือผู้บริหารขององค์กร
การหมั่นฝึกให้ตนเองคิดและแสดงออกในทางบวกซึ่งหมายถึงสามารถใช้เหตุผลและสติแทนการใช้อารมณ์ จะช่วยให้การมีพฤติกรรมตอบโต้ในเชิงลบลดน้อยลง ความคิดและพฤติกรรมของบุคคล มีความสัมพันธ์ต่อความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน ผู้มุ่งหวังจะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการโดยมีทัศนคติที่ดีและพฤติกรรมที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่รุมเร้ากดดัน จำเป็นต้องพัฒนาความสามารถในการกำกับและควบคุมตนเอง (self-regulation) ด้วยการฝึกฝนให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสัญชาติญาณ เพราะในสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ เช่น ความโกรธ ความต้องการเอาชนะ ความรู้สึกท้อแท้หดหู่ อารมณ์เหล่านี้จะเข้ามาบดบังหลักเหตุผลจนขาดสติ ผู้ที่ได้ฝึกฝนการกำกับควบคุมตนเองมาเป็นอย่างดีแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถควบคุมอารมณ์ รับมือกับสถานการณ์ และแก้ไขปัญหาโดยไม่ถูกอารมณ์เข้าครอบงำ
ความหมายของการกำกับควบคุมตนเอง (Self-Regulation)
การกำกับควบคุมตนเอง คือความสามารถในการเก็บรักษาอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน (disruptive emotion) และไตร่ตรองก่อนที่จะมีพฤติกรรมใด ๆ ออกไป แบ่งการกำกับควบคุมตนเอง เป็น 2 ประเภท ได้แก่
(1) การกำกับควบคุมพฤติกรรม (Behavioral self-regulation) เป็นความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์และการแสดงพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับเป้าหมายและคุณค่าของตนเอง เช่น คุณอาจไม่อยากตื่นแต่เช้ามือเพื่อออกมาวิ่ง แต่ก็ตัดใจออกมาวิ่งได้ตั้งแต่เช้ามืดเพราะการมีร่างกายที่แข็งแรงและมีสุขภาพดี เป็นเป้าหมายที่คุณให้คุณค่าความสำคัญมากกว่าการนอนต่ออีก 1-2 ชั่วโมง
(2) การกำกับควบคุมอารมณ์ (Emotional self-regulation) เป็นความสามารถในการกำกับควบคุมอารมณ์และความรู้สึกให้เป็นเชิงบวกแม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ยั่วยุ ความสามารถนี้ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นเพราะช่วยให้คุณมีบุคลิกที่น่าเชื่อถือ นุ่มนวล และน่าคบหา
คุณสมบัติของผู้มีความสามารถในการกำกับควบคุมตนเอง
1) มีความตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) เป็นความตระหนักรู้ในความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของตน ช่วยให้สามารถควบคุมตนเองให้อยู่ในความสงบ ตอบสนองสถานการณ์หรือพฤติกรรมของผู้อื่นได้ด้วยเหตุด้วยผล
2) มีความเพียร (Persistence) มุ่งเข้าสู่เป้าหมายโดยไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคทั้งภายนอกและภายใน บุคคลผู้มีความสามารถในการกำกับควบคุมตนเองจะใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะยึดมั่นกับคุณค่าและเป้าหมายของตน ให้น้ำหนักความสำคัญกับสถานการณ์ซึ่งอยู่ในอำนาจการควบคุม และยอมปล่อยวางสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ความมุ่งมั่นพากเพียรที่กระทำลงไปจึงเป็นการกระทำที่สมควรต่อเหตุและผล ไม่ดื้อรั้นดันทุรังทำในสิ่งที่ไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จ
3) มีความสามารถในการปรับการตอบสนองอารมณ์ของตนให้รับกับสถานการณ์ (Adaptability) ระงับจิตใจของตนให้นิ่งเมื่อรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจ และกระตุ้นตัวเองเมื่อรู้สึกท้อถอย จึงเป็นผู้ที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง มีความยืดหยุ่นในการพิจารณามุมมองและความคิดเห็นที่หลากหลาย แยกแยะประเด็นที่ซับซ้อนได้อย่างไม่สับสน สามารถปรับรูปแบบการทำงานของตนให้เข้ากับเพื่อนร่วมงานได้เป็นอย่างดี
4) มองเห็นข้อดีของผู้อื่น (Optimism) การฝึกควบคุมจิตใจและอารมณ์ตนเอง ช่วยให้ผู้ฝึกฝนสามารถรักษาอารมณ์ของตนให้สงบ ไม่หวั่นไหวเมื่อรู้สึกเครียดหรือกดดัน สามารถมองวิกฤติเป็นโอกาสที่จะเรียนรู้และใช้ความพยายามให้มากขึ้นในอนาคต การมองสถานการณ์ในมุมบวกนอกจากจะช่วยให้สามารถปรับพฤติกรรมและการแสดงออกของตนแล้ว ยังสามารถรักษาสติให้มั่นคง ไม่หวั่นไหวไปตามสถานการณ์
ทฤษฎีการกำกับควบคุมตนเอง (Self-Regulation Theory: SRT)
เป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงกระบวนการและองค์ประกอบที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจว่าจะคิด รู้สึก และทำสิ่งหนึ่งสิงใด องค์ประกอบดังกล่าวได้แก่
1. มาตรฐานพฤติกรรมที่คาดหวัง
2. แรงจูงใจที่จะมีพฤติกรรมตามมาตรฐาน
3. การตรวจติดตามสถานการณ์และความคิดที่จะทำให้มีพฤติกรรมนอกมาตรฐาน
4. กำลังใจที่บุคคลสามารถใช้เป็นพลัง ไม่ให้มีพฤติกรรมนอกมาตรฐาน
องค์ประกอบทั้งสี่จะตอบโต้ซึ่งกันและกันจนได้ผลออกมาเป็นการกระทำของบุคคล ระดับความสำเร็จในการกำกับควบคุมตนเองจะขึ้นอยู่กับแรงจูงใจ การตรวจติดตาม และความตั้งใจ (willpower) ว่าจะมีพลังพอที่จะเหนี่ยวรั้งให้บุคคลมีพฤติกรรมตามมาตรฐานที่คาดหวังไว้ได้แค่ไหนเพียงใด พลังขององค์ประกอบดังกล่าว จะมีมากหรือน้อย อยู่ที่การฝึกฝนของแต่ละบุคคล
การพัฒนาความสามารถในการกำกับควบคุมตนเอง
แนวปฏิบัติ 8 ประการในการกำกับควบคุมตนเองซึ่งควรนำไปฝึกฝนและใช้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ประกอบด้วย
1. ใช้ความซื่อตรงเป็นตัวนำ (Leading with integrity)
การใช้ความซื่อตรงเป็นหลักในการกำกับควบคุมตนเอง ทำได้โดย
1.1 เป็นต้นแบบพฤติกรรมที่ดี (good role model) ให้กับทีมงาน
1.2 สร้างบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (trusting environment) ระหว่างสมาชิก
1.3 ทำแต่สิ่งที่ดีงาม (practicing what you preach)
1.4 ใช้ชีวิตให้สอดคล้องสัมพันธ์กับคุณค่า (value) ของตนเอง
คงจะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดีหากเราไม่เน้นมาตรฐานพฤติกรรมที่มุ่งหวังว่าจะต้องเป็นพฤติกรรมที่ดี การพัฒนาความสามารถในการกำกับควบคุมตนเองจึงต้องเริ่มจากการเป็นผู้มีความซื่อตรงทั้งต่อตนเองและผู้อื่น นำมาตรฐานพฤติกรรมนั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิตจนกลายเป็นสัญชาติญาณว่าควรจะมีพฤติกรรมอย่างไรเมื่อตกอยู่ในภาวะกดดัน ไม่ใช่เสแสร้งแกล้งทำไปในแต่ละสถานการณ์ ผู้ที่ตั้งใจพัฒนาตนเองโดยใช้ความซื่อตรงเป็นตัวนำ จะทำแต่สิ่งที่ถูกต้องสมควรตามหลักเหตุและผลแม้การกระทำเช่นนั้นจะไม่ใช่ทางเลือกที่ง่ายที่สุด พวกเขามักประสบความสำเร็จเพราะได้รับการยอมรับจากผู้อื่น ความซื่อตรงเป็นคุณธรรมที่ต้องยึดมั่นอย่างเคร่งครัด ไม่มีผ่อนปรน ถึงจะทำให้ต้องเสียโอกาสหรือเสียเปรียบผู้อื่นไปบ้าง แต่ในระยะยาวแล้ว ความซื่อตรงย่อมส่งผลดีต่อผู้มีคุณธรรมนี้เสมอ เราจึงควรใช้ความซื่อตรงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ยอมรับความผิดพลาดอย่างตรงไปตรงมาและรับผิดชอบในสิ่งที่ตนได้ทำ ผู้คนในสังคมมักแสดงกับผู้อื่นในลักษณะที่ผู้อื่นทำกับเขา ดังนั้นหากไม่ต้องการให้ผู้อื่นทำไม่ดีต่อเรา ก็ไม่ควรทำไม่ดีกับเขาก่อน ดังนั้น หากคุณอยู่ในฐานะผู้นำ ก็ควรมีพฤติกรรมการแสดงออกในเชิงบวกและมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอไม่ว่าสถานการณ์จะยุ่งยากลำบากเพียงใด การเป็นต้นแบบที่ดี จะให้แนวทางการปฏิบัติที่สมควรแก่สมาชิกทีมงานของคุณด้วยเช่นกัน
2. พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง (Being open to change)
การพัฒนาตนเองให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง ทำได้โดย
2.1 กล้าที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่เป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างซึ่งหน้า ไม่อ้อมค้อมหรือบ่ายเบี่ยงด้วยข้ออ้างต่าง ๆ นา ๆ
2.2 พัฒนาตนเองให้สามารถปรับตัวให้เข้ากันได้กับทุกสถานการณ์โดยยังคงมีความคิดเชิงบวกและมีความซื่อตรงเป็นตัวนำในการดำเนินการ
ผู้สามารถกำกับควบคุมตนเองจะมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง สามารถปรับพฤติกรรมของตนให้เข้ากับสถานการณ์ที่แตกต่างได้ง่าย มองการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกและใช้การเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเอง ตรงข้ามกับผู้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะเต็มไปด้วยความเครียดและรับผลกระทบที่มีต่อทั้งร่างกายและจิตใจของตนเอง
หากคุณมีความยุ่งยากในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ขอให้มองการเปลี่ยนแปลงนั้นโดยไม่นำอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง วิเคราะห์ว่าจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างมีประสิทธิผลได้อย่างไร อาจนำเครื่องมือ เช่น SWOT, การวิเคราะห์ความเสี่ยง, การวิเคราะห์ผลกระทบ มาช่วยหาช่องทางที่จะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส สามารถจัดการกับภัยที่คุกคามไม่ให้มีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของตน
3. ค้นหาความอ่อนไหวของตน (Identify your trigger)
การกำจัดจุดอ่อนที่มีอยู่ในตน ทำได้โดย
3.1 รวบรวมความตระหนักรู้ในตน (self awareness) เพื่อค้นหาว่าอะไรคือจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง
3.2 ประเมินว่ามีสิ่งใดบ้างที่สามารถเข้ามามีอิทธิพล สร้างความหวั่นไหวหรือความอ่อนแอทางจิตใจจนนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด หรือการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
จุดอ่อนของบุคคล และ สิ่งที่เข้ามากระตุ้นให้เกิดการตอบโต้ที่ไม่สมควร เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงและสะเก็ดไฟที่เมื่อนำมาอยู่ใกล้กันย่อมลุกไหม้กลายเป็นความเสียหายได้โดยยากจะระงับ การพัฒนาความสามารถในการกำกับควบคุมตนเองในเรื่องนี้ ควรทำด้วยการบันทึกส่วนที่เปราะบางของตนไว้ทุกครั้งที่รับรู้ได้ถึงแรงกระตุ้น การรำลึกถึงและจดบันทึกเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้วอาจไม่ได้ช่วยแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ถึงอารมณ์และพฤติกรรมตอบโต้ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต เมื่อรู้แล้วก็พิจารณาว่าควรนำพฤติกรรมแบบใดมาใช้แทนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้น เมื่อฝึกฝนบ่อยครั้งเข้า จะช่วยให้สามารถกำกับควบคุมตนเองได้ดีขึ้น
4. ฝึกฝนพัฒนาวินัยของตน (Practicing self-discipline)
การพัฒนาวินัยของตนเอง จะต้องเริ่มที่ความมุ่งมั่นว่าจะนำความคิดริเริ่มดี ๆ มาใช้ในการทำงานและเพียรพยายามให้บรรลุเป้าหมายโดยไม่ท้อถอย
นักวิจัยสองท่าน คือ Thomas Bateman และ Bruce Barry ได้กล่าวไว้ในผลการศึกษาของเขาเรื่อง Masters of the Long Haul (2012) ว่า การกำกับควบคุมตนเอง เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการบรรลุเป้าหมายระยะยาว ผู้ที่ต้องการบรรลุเป้าหมายที่ท้าทาย มักจะต้องเผชิญกับความยุ่งยากลำบากและท้อถอย จะมีก็แต่เพียงผู้ที่อดทนเดินหน้าต่อไปเท่านั้นที่จะบรรลุความสำเร็จได้ การพัฒนาความสามารถในการกำกับควบคุมตนเองด้วยความบากบั่น พากเพียร และมีวินัยในตนเอง จะช่วยให้คุณพร้อมที่จะทำงานหนักแม้จะอยากวางมือเพราะเป้าหมายยังดูห่างไกลเกินเอื้อม การหมั่นนึกถึงความรู้สึกของตนเมื่อบรรลุถึงเป้าหมาย จะทำให้คุณไม่มัวแต่จะผลัดวันประกันพรุ่งหรือยกเลิกสิ่งที่มุ่งหวังเสียกลางคัน
5. ปรับแก้ความคิดลบ (Reframe negative thoughts)
การปรับแความคิดลบ ทำได้โดย
5.1 วิเคราะห์ความคิดลบที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุด้วยผล ไม่เข้าข้างตนเอง ว่าความคิดและความรู้สึกเหล่านั้นมีจุดอ่อนอยู่ที่ใด สถานการณ์ที่เลวร้ายนั้นที่จริงเกิดมาจากอะไร
5.2 ปรับเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกลบ และทดแทนด้วยความคิดและความรู้สึกที่เป็นเชิงบวก
เมื่อใดที่คุณพบกับประสบการณ์แย่ ๆ หรือมีอุปสรรคในการทำงานซึ่งทำให้คุณมีความคิดในเชิงลบ ขอให้ถามตนเองอย่างตรงไปตรงมาว่าสิ่งเหล่านั้นมีเหตุผลและความเป็นมาอย่างไร เช่น การที่ผู้บังคับบัญชาไม่ได้มอบหมายงานให้คุณ แต่กลับมอบหมายให้คนซึ่งคุณเห็นว่ามีความรู้ความสามารถน้อยกว่า ก็ไม่ควรตอบโต้สถานการณ์นั้นด้วยความก้าวร้าว ลบหลู่การตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา แต่ควรถือเอาสถานการณ์ที่คุณควบคุมไม่ได้นั้นเป็นโอกาสที่จะแสดงความใจกว้างยอมรับและเสนอตัวเข้าช่วยเหลือตามสมควร ขณะเดียวกันก็หันมาทบทวนตนเองว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร และจัดการปรับปรุงแก้ไขมันเพื่อโอกาสที่ดีขึ้นในครั้งต่อไป
อีกวิธีหนึ่งคือการพยายามหาส่วนที่เป็นบวกในสถานการณ์นั้น การเปลี่ยนมุมมองเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจเปลี่ยนความคิดของคุณและสร้างความหวังให้เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น คุณได้รับข้อมูลป้อนกลับหรือคำวิจารณ์บางอย่างที่ทำให้รู้สึกขุ่นมัวและเกิดความคิดลบจนหัวหมุนไปหมด ก็ควรลองคิดทบทวนว่าในข้อมูลป้อนกลับที่ได้รับนั้น มีส่วนใดที่เป็นข้อเท็จจริงอยู่บ้าง ถ้ามี จะปรับปรุงแก้ไขอย่างไรในครั้งต่อไป อย่าทิฐิดึงดันว่าตนต้องเป็นฝ่ายถูกเสมอไป หากข้อมูลที่ได้รับไม่ใช่ข้อเท็จจริง ก็ควรชี้แจงเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดนั้น
6. สงบใจเมื่ออยู่ภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน (Keeping calm under pressure)
การกำกับควบคุมตนเอง เป็นเรื่องของความสามารถในการสงบใจ ไม่หวั่นไหวเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ยุ่งยากบีบคั้น เมื่อใดที่คุณอยู่ในสถานการณ์ที่อาจไม่สามารถควบคุมอารมณ์ ขอให้
6.1 ถอนตัวออกจากสถานการณ์นั้นสักระยะหนึ่ง อาจจะด้วยการปลีกตัวออกมา (physically) หรือ
6.2 ผ่อนคลายด้วยการสูดลมหายใจลึก ๆ และปล่อยออกช้าๆ สักห้ารอบ (mentally) ใช้สมาธิจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกเพื่อให้จิตของตนหยุดการติดพันอยู่กับสถานการณ์นั้น
ยิ่งฝึกควบคุมตนเองบ่อย ๆ ก็จะยิ่งสามารถควบคุมตนเองได้ดียิ่งขึ้น
7. หมั่นนึกถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น (Considering the consequences)
เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่บีบคั้นกดดัน ก่อนที่คุณจะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างใดออกไป ขอให้
7.1 นึกถึงภาพในอดีตที่คุณแสดงออกไปในขณะที่ไม่สามารถควบคุมตนเอง เช่น การตะเบ็งเสียง การกล่าวผรุสวาทด่าทอ
7.2 นึกถึงผลเสียที่ได้รับจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้น เช่น การหมดความเชื่อถือจากลูกน้องหรือผู้บังคับบัญชา
7.3 นึกถึงพฤติกรรมที่คุณกำลังจะแสดงออกไปว่ามีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด รวมถึงผลในระยะยาวที่จะติดตามมาในอนาคต
แล้วคุณจะเข้าใจเองว่าทำไมการควบคุมตนเองภายใต้สถานการณ์บีบคั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญกับชีวิตของคุณ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัวหรืออนาคตหน้าที่การงาน
8. เชื่อมั่นในตนเอง (Believing in yourself)
องค์ประกอบอีกประการหนึ่งของความสามารถในการกำกับควบคุมตนเองคือ ความเชื่ออย่างแรงกล้าในศักยภาพของตนว่าสามารถทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จได้ (self-efficacy) การพัฒนาหรือสร้างเสริมความเชื่อมั่นนี้ ทำได้ด้วยการ
8.1 นึกถึงประสบการณ์ความสำเร็จที่เคยทำได้ในอดีต
8.2 เข้าร่วมในชุมชนหรือสังคมที่คิดบวกและมีความเชื่อมั่นในตนเอง การได้เห็นความสำเร็จของผู้ที่มีทักษะและความสามารถใกล้เคียงกับตน จะกระตุ้นความเชื่อมั่นว่าตนเองก็สามารถสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน
8.3 การหมั่นคิดในเชิงบวกว่าตนเองก็เป็นคนมีความสามารถ ประกอบกับการบริหารความเครียด ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนคลายความรู้สึกกดดัน หรือการนึกถึงผลเสียที่จะได้รับจากการไม่สามารถควบคุมตนเอง จะช่วยให้ความเชื่อมั่นในตนเองเพิ่มสูงขึ้น
สังเกตได้ว่า แนวทางการกำกับควบคุมตนเองทั้งหมดที่กล่าวมา ต้องการเวลาชั่วระยะหนึ่งระหว่างสถานการณ์กดดันที่เกิดขึ้นกับการแสดงพฤติกรรม ระยะที่ว่านี้เป็นช่วงเวลาเพียงสั้น ๆ ที่มีค่าอย่างยิ่งที่ใช้ในการคิดทบทวนเหตุผล ข้อดีข้อเสีย ก่อนแสดงพฤติกรรมใด ๆ ออกไป ช่วงเวลาที่มีคุณค่าดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับคุณไม่ได้หากอารมณ์ได้แทรกเข้ามาครอบงำจิตใจของคุณเสียก่อน การฝึกฝน ฝึกฝน และฝึกฝนระงับอารมณ์ตามแนวทางกำกับควบคุมตนเอง จะช่วยให้คุณมีโอกาสได้ช่วงเวลาการใช้สติอย่างมีคุณภาพ สามารถกำกับควบคุมตนเองโดยไม่ถูกอารมณ์หรือความคิดลบมาชักนำให้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกไป มันอาจไม่สามารถสำเร็จได้รวดเร็วอย่างใจ หรืออาจล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ตราบใดที่คุณยังมองเห็นคุณประโยชน์ที่จะได้รับจากความสามารถในการกำกับควบคุมตนเอง ก็ขออย่าได้ท้อถอยที่จะฝึกฝนให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสัญชาติญาณของคุณ
บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
- Affirmation
- Emotional Intelligence
- Impact Analysis (IA)
- Mindfulness
- Preserving Integrity
- Risk Analysis
- Self-Awareness
- Stress Diary
- Stress Management
- SWOT analysis
- Transactional Theory of Stress and Coping
- Visualization
---------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น