วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ความเครียด ใครเป็นคนสร้าง



        ความเครียด เป็นความกดดันที่เกิดเมื่อเรารู้สึกไม่มั่นใจว่าจะสามารถผ่านปัญหาอุปสรรคที่เผชิญอยู่ได้หรือไม่ ความเครียดจะส่งผลทางบวกหรือทางลบ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถควบคุมความเครียดที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด ความเครียดจะส่งผลในทางบวกหากเราสามารถควบคุมความรู้สึกที่กดดันนั้นได้ พลังที่สร้างขึ้นมาเพื่อเอาชนะความเครียดจะเป็นพลังที่หาไม่ได้ในเวลาปกติ นักกรีฑาที่สมาธิดีๆ สามารถใช้พลังจากความเครียดให้เป็นประโยชน์ในการแข่งขัน พวกเขามักจะทำสถิติในการแข่งขันได้ดีกว่าในเวลาซ้อม แต่เมื่อใดที่เรารับเอาความเครียดมาไว้กับตัว ไม่พยายามที่จะเอาชนะหรือไม่สามารถเอาชนะความรู้สึกกดดันได้ ความเครียดจะส่งผลในทางลบ สร้างความล้มเหลวไม่เป็นท่าในเรื่องง่ายๆได้ เช่น การออกมาพูดในที่ชุมชน หากเรารับความกดดันที่จิตใจสร้างขึ้นมา อัดมันลงไปในสมองของเราว่า คนฟังคอยจ้องจับผิดอยู่, เรื่องที่จะพูด ตัวเองก็รู้ไม่ค่อยลึกซึ้ง, พูดไปจะเป็นที่ยอมรับของผู้ฟังหรือไม่, จะมีคนลุกขึ้นสอบถามแล้วตอบไม่ได้หรือไม่ ฯลฯ หากเป็นเช่นนั้น เราก็จะเกิดกลัวจนสั่นสะท้านไปทั้งตัว น้ำเสียงก็จะสั่นเครือไปตามจินตนาการที่สร้างขึ้นมา เงื่อนไขที่เราสร้างขึ้นมานี้เองคือความเครียด ยิ่งคิดก็ยิ่งน่ากลัว ยิ่งถ้าเรื่องที่พูดเป็นเรื่องที่ผูกพันกับความสำเร็จของงานที่มีความสำคัญ เช่นการออกมาเป็นพิธีกรในงานเปิดตัวสินค้า ความกลัวความล้มเหลวจะยิ่งเกาะติดกลายเป็นความหวาดหวั่นจนแทบจะเดินกลับเข้าเวทีไปเลย
    
          การแก้ไขความเครียดเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก ทุกคนคงพอจำได้ว่าเราเครียดเพียงใดเวลาที่จะเข้าห้องสอบ นั่นเป็นเพราะเรามีความรู้สึกไม่มั่นใจว่าเรามีความรู้พอที่จะทำข้อสอบนั้นได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ต้องเสียเวลาไปอีกเทอมหนึ่ง เสียเวลาอ่านหนังสืออีกรอบ แต่ถ้าการสอบนั้นไม่มีคะแนนตัดสิน เป็นเพียงการซ้อมตอบคำถาม ความรู้สึกจะเปลี่ยนไป ความเครียดคงไม่รุนแรงเท่าสถานการณ์แรก จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า ผู้สร้างความเครียดนั้นก็คือตัวเราเอง สร้างขึ้นมาจากความกลัวความล้มเหลวในอนาคตจากเงื่อนไขที่มองไม่เห็นตัว แต่ถ้าการสอบไม่มีผลสอบได้สอบตก ความเครียดจะหายไป

          เป็นไปได้ไหมว่าเมื่อใดก็ตามที่เราเผชิญกับความเครียด เราจะสร้างเงื่อนไขใหม่ขึ้นมาว่า เราจะทำให้ดีที่สุด แต่ต่อให้ทำไม่สำเร็จก็ไม่เสียหายอะไร ความพยายามที่จะลดความเครียด ทำได้ยากกว่าการไม่ให้ความสำคัญกับผลที่จะเกิด เพราะความพยายามที่จะลดความเครียดเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องกับตัวแปรทั้งภายในและภายนอกมากมาย เช่น ต้องปลุกปลอบใจตัวเองว่าเราทำได้ ไม่มีใครเก่งไปกว่าเรา คนที่มาแวดล้อมล้วนไม่เอาไหน จริงๆ แล้วเราจะยอมรับข้อสมมุติใหม่นี้ได้จริงหรือ เปรียบเทียบกับความคิดว่าเลวที่สุดก็ไม่ถึงตาย อย่างหลังนี่น่าจะสร้างขึ้นมาง่ายกว่าไหมครับ

     ผมเขียนบทความนี้หลังจากดู 4+1 superstar ออกมาให้สัมภาษณ์ความรู้สึกหลังจากการออก concert ครั้งแรกในชีวิต ทุกคนพูดเหมือนกัน คือ กลัวจนสั่นแม้จะซ้อมมาอย่างหนัก และแม้จะได้ซ้อมมากขึ้นเมื่อรายการต้องเลื่อนจากปีที่แล้ว ก็ยังกลัว แต่สิ่งที่สร้างความกล้าให้แก่พวกเขา คือ การสร้างความรู้สึกขึ้นมาว่า นี่คือการ entertain คนดู ทุกคนมาดูพวกเขาทำอะไรสนุกๆ ไม่เห็นเสียหายอะไร ถ้าเขาร้องเพลงคล่อมจังหวะ หรือเต้นผิดไปสัก 2-3 steps บางคนก็บอกกับตัวเองว่า “แล้วมันก็จะผ่านไป” ถ้ามอง ภาพรวมๆ ก็พอสรุปได้ว่า การเอาชนะเงื่อนไขที่เขาสร้างขึ้นมาก็คือ “การไม่ให้
ความสำคัญกับความผิดพลาด

      บางท่านอาจคิดแย้งผมในใจว่า พูดอย่างนี้ช่างไม่รับผิดชอบในภารกิจเอาเสียเลย ก็ต้องขอทำความเข้าใจตรงนี้ว่า การเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี เตรียมให้มากและให้ดีที่สุดนั่นแหละคือความรับผิดชอบ แต่เมื่อถึงเวลาต้องปฏิบัติ เราต้องสลัดความกลัวต่อความล้มเหลวออกไป หากยังเกาะติดกับความพยายามทำให้สำเร็จให้ได้ ความเครียดมันจะทำให้คิดอะไรไม่ออก ทำอะไรไม่ถูก เผลอๆ จะยืนสั่นอยู่ตรงนั้นเอาง่ายๆ มาถึงตอนนี้ก็คงต้องคิดในใจว่า ตายเป็นตาย อุปมาอย่างที่มีคำกล่าวว่า ถ้าความตายยังไม่กลัว แล้วจะกลัวอะไรนั่นแหละครับ ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับผลที่จะเกิดขึ้น เราจะกล้าทำได้ทุกสิ่ง อย่างที่เรียกว่าเห็นช้างเท่าหมู แต่นั่นหมายความว่าเราต้องเตรียมตัวมาอย่างดีนะครับ มิเช่นนั้นจะกลายเป็น ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา แทน

      ลองนำหลักนี้ไปปฏิบัติ หากสำเร็จก็ยินดีด้วย หากไม่สำเร็จ ขอให้พยายามต่อไปครับ

      บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ



--------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น