สมัยก่อน เวลาที่เราชมว่าใครฉลาด จะหมายความว่าบุคคลนั้น หัวดี หรือมีความฉลาดทางปัญญา (Intelligence quotient: IQ) มีโอกาสความก้าวหน้าในชีวิต ในสุภาษิตไทยเองก็มีคำกล่าวว่า “คนโง่ย่อมตกเป็นเหยื่อของคนฉลาด” ซึ่งมีความหมายไปในเชิงดูถูกผู้มีปัญญาน้อยว่าย่อมต้องแพ้คนมีปัญญามากกว่าวันยันค่ำ ความฉลาดทางปัญญาจึงเป็นเหมือนเครื่องชี้ความสำเร็จของบุคคลทั้งในการศึกษาเล่าเรียนและในการประกอบอาชีพการงาน การทำข้อสอบที่ตรงหรือใกล้เคียงกับธงคำตอบมากที่สุด หรือความสามารถทำปัญหาให้หมดไปโดยไม่คำนึงถึงวิธีการจึงเป็นเครื่องวัดความฉลาดของบุคคลในสมัยนั้น ความฉลาดทางปัญญาแบ่งออกเป็นสองประเภท คือฉลาดไหวพริบ (Aptitude) และฉลาดเรียนรู้ (Achievement)
จนกระทั่งประมาณต้นทศวรรษที่ 1990 Daniel Goleman ได้นำเสนอผลงานวิจัยว่า ความฉลาดทางปัญญามีส่วนในความสำเร็จของบุคคลเพียงไม่เกิน 20% ส่วนที่เหลืออีก 80% เป็นผลมาจากปัจจัยอื่น ส่วนใหญ่ในนั้นคือความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient: EQ) ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติที่สำคัญสองประการ ได้แก่
1) ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตนเองและมีความคิดเชิงบวก (Intrapersonal intelligence) แม้เมื่อมีอารมณ์โกรธ โมโห เสียใจ กลัว รังเกียจ อับอาย และสามารถใช้อารมณ์ที่เป็นบวก เช่น ความเบิกบาน ร่าเริง ยินดี นั้น มากำกับกริยาอาการที่ตนแสดงออกได้
2) ความสามารถในการเข้าใจในอารมณ์ ความรู้สึก ของบุคคลอื่น (Interpersonal intelligence) รับฟังปัญหาของผู้อื่นด้วยความเห็นอกเห็นใจ พร้อมที่จะให้ความดูแลช่วยเหลืออย่างจริงจัง ผู้มีความฉลาดทางอารมณ์ประเภทนี้จะสามารถเรียกความมั่นใจของบุคคลอื่นที่เสียไปให้กลับคืนมาได้
ความฉลาดทางอารมณ์มีคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาความปลอดภัยมากกว่าความฉลาดทางปัญญา ผู้ที่รับผิดชอบในการพัฒนางานความปลอดภัยต้องมีความมั่นใจและมุ่งมั่นที่จะ ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์ในการทำงาน (intrapersonal) ในขณะเดียวกันก็ต้องกระตุ้นการมีส่วนร่วมและประสานงานกับหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบริหารงานความปลอดภัยประสบผลสำเร็จด้วยความเข้าอกเข้าใจในปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ (interpersonal)
ในส่วนของตัวพนักงานเองก็จำเป็นต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ที่จะไม่ลัดขั้นตอนความปลอดภัยเพียงเพื่อให้ได้งานซึ่งเป็นประโยชน์สำเร็จเฉพาะหน้า แต่ยอมที่จะใส่อุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลหรือทำตามขั้นตอนการปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บหรืออันตรายจากการลัดขั้นตอนการทำงานหรือไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันภัยนั้นมีไม่มากนัก
ความฉลาดทางอารมณ์ในสถานที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็น interpersonal คือส่วนสำคัญที่ขาดหายไป ทุกๆ คนดูเหมือนจะมีธุระส่วนตัวมากมาย มีเรื่องที่ต้องทำอีกมากแต่ยังมีเวลาไม่พอที่จะทำ พวกเขาจึงมองเพื่อนพนักงานที่มีพฤติกรรมเสี่ยงด้วยสายตาที่เฉยเมย ไม่เคยแม้แต่จะคิดที่จะกล่าวคำตักเตือนเพราะไม่ใช่ธุระ และอาจโดนย้อนกลับมาด้วยคำพูดที่ทำให้เสียใจ ทุกคนมองแต่ประโยชน์ของตนเองและรักษาตนเองให้รอดเท่านั้น ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ หากเพื่อนพนักงานเกิดได้รับบาดเจ็บขึ้นมา แทนที่พวกเขาจะนึกเสียใจที่ไม่ได้กล่าวตักเตือน แต่กลับสมน้ำหน้าที่เพื่อนพนักงานนั้นไม่รู้จักระมัดระวังตนเอง แต่ละคนมองความปลอดภัยเป็นเรื่องส่วนตัวทำนอง กรรมใครกรรมมัน
หากองค์กรใดมีวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันดังที่กล่าวมา ซึ่งก็เชื่อว่าส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนั้น ต่อให้องค์กรนั้นได้รางวัลการรับรองคุณภาพอะไรมา โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุในงานก็เป็นความเสี่ยงที่ซ่อนตัวอยู่และพร้อมที่จะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ จึงเป็นความจำเป็นที่องค์กรจะต้องสร้างความฉลาดทางอารมณ์ให้เกิดขึ้นแก่พนักงานทุกระดับโดยเร่งด่วนโดยถือเป็นนโยบายขององค์กร
เป็นความโชคดีอย่างหนึ่งที่ ความฉลาดทางอารมณ์เป็นเรื่องที่สอนและเรียนรู้กันได้ เครื่องมือหนึ่งที่นำมาใช้กัน คือกระบวนการที่เรียกว่า ความปลอดภัยเชิงพฤติกรรม (Behavior-based safety) ด้วยการฝึกอบรมให้พนักงานทุกคนรับรู้บทบาทของตนที่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่เฝ้าสังเกตพฤติกรรมการทำงานของเพื่อนร่วมงานโดยเปิดเผย และให้ข้อมูลป้อนกลับในรูปการปรึกษาหารือร่วมกันในเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมติกรรมที่ปลอดภัยและพฤติกรรมเสี่ยง วิธีนี้จะช่วยปลูกฝังความรู้สึกห่วงใยและยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นให้เกิดขึ้นกับพนักงานทั้งหลายอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ได้ผลอย่างยั่งยืน การประกาศให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นนโยบาย จะช่วยให้การทำงานมีระบบ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรับรู้ว่าสิ่งที่เพื่อนพนักงานให้การตัดเตือนนั้นไม่ใช่การยุ่งเรื่องของชาวบ้าน แต่เป็นมาตรการความปลอดภัยที่ตนเองก็ต้องทำต่อเพื่อนพนักงานอื่นเมื่อกำหนดการได้เวียนมาถึง เป็นการเรียนรู้ตามธรรมชาติและเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานซึ่งไม่ได้ส่งผลดีเฉพาะในเรื่องความปลอดภัย
บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
--------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น