ฐานความคิด 10 ฐานที่ใช้ในการสร้างกลยุทธ์
Henry Mintzberg ศาสตราจารย์ด้านการบริหาร มหาวิทยาลัย McGill ประเทศแคนาดา มีความเห็นว่า ในการสร้างหรือกำหนดกลยุทธ์ระดับองค์กร ผู้สร้างได้อาศัยฐานความคิดที่แตกต่างกันอยู่ 10 ฐาน (school of thought) อันเป็นที่มาของทฤษฎีการบริหารที่มีชื่อเสียงชื่อ the Theory of the 10 Management Roles หรือเรียกกันทั่วไปว่า 10 Schools of Thought ฐานความคิดทั้ง 10 ประกอบด้วย1. การออกแบบ (The design school)
องค์กรควรออกแบบกลยุทธ์ให้องค์กรมีศักยภาพภายในที่ match กับโอกาสที่มีอยู่ภายนอก การกำหนดกลยุทธ์จะทำด้วยกระบวนการที่ผ่านการวางแผนมาอย่างรัดกุม โดยมี CEO ขององค์กรเป็นบุคคลหลักในการสร้างและควบคุม กลยุทธ์ที่สร้างจะเรียบง่าย ชัดเจนไม่กำกวม มีความเป็นเอกลักษณ์ที่นำมาใช้เฉพาะกับองค์กรของตน กลยุทธ์จะนำไปใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้มีแผนการดำเนินงานในรายละเอียดแล้วเท่านั้นและถือว่าการมีแผนการดำเนินงาน เป็นจุดสิ้นสุดของกระบวนการออกแบบกลยุทธ์ ฐานความคิดเรื่องการออกแบบเป็นการวางรากฐานการวางแผนกลยุทธ์ขององค์กรโดยวิเคราะห์องค์กรทั้งภายนอกและภายในเพื่อให้ทราบว่า องค์กรอยู่ในสถานะอย่างไรเมื่อเทียบกับตลาดที่เป็นเป้าหมาย นำจุดแข็งขององค์กรจากการวิเคราะห์ SWOT มาเปรียบเทียบกับจุดแข็งของตลาด หลังจากนั้นจึงนำผลการเทียบเคียงนั้นมาใช้ในการออกแบบกลยุทธ์
วิธีการนี้ใช้ได้ดีในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างมั่นคงซึ่งคู่แข่งไม่สามารถเข้ามาจู่โจมตลาดได้โดยฉับพลัน องค์กรมีเวลาที่จะนำกลยุทธ์มาปรับปรุงศักยภาพของตนให้เข้ากับสภาวะตลาดหรือตำแหน่งทางการตลาดที่เป็นเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ฐานความคิดด้านการออกแบบจะทำให้เกิดกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ
· CEO มีวิสัยทัศน์ที่ดี สามารถวิเคราะห์สถานะภายในและภายนอกองค์กรได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง
· แผนการดำเนินกลยุทธ์มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร ไม่ปล่อยให้ความเรียบง่ายของกลยุทธ์มาบดบังข้อเท็จจริงซึ่งมักจะซับซ้อนตามธรรมชาติของการแข่งขัน
· CEO ซึ่งเป็นทั้งผู้สร้างและควบคุมการดำเนินกลยุทธ์ ไม่มีอคติเข้าข้างตนเองจนมองข้ามความบกพร่องที่มีอยู่ในกลยุทธ์ ควรมีหน่วยงานอิสระทำหน้าที่ควบคุมการดำเนินกลยุทธ์แทน CEO และมีข้อมูลป้อนกลับให้ CEO ได้นำไปใช้ในการปรับกลยุทธ์
2. การวางแผน (The planning school)
กระบวนการสร้างกลยุทธ์ต้องจัดทำอย่างเป็นทางการ เป็นขั้นเป็นตอน มีกระบวนการที่ชัดเจนพร้อมกำหนดเวลาที่จะใช้ในแต่ละขั้น ตั้งแต่การวิเคราะห์มาจนถึงการปฏิบัติ แต่ละขั้น มีรายการตรวจสอบและเทคนิคการวัดผล CEO เป็นผู้รับผิดชอบกระบวนการทั้งหมด โดยมีพนักงานที่เป็นนักวางแผนเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมการปฏิบัติ กลยุทธ์ที่พร้อมให้นำไปใช้จะต้องมีรายละเอียดที่ครอบคลุมถึงวัตถุประสงค์ งบประมาณ โครงการ และแผนการปฏิบัติต่างๆ ในการจัดทำกลยุทธ์ต้องบันทึกกระบวนการทั้งหมดเกี่ยวกับการวางแผนรวมถึงตัวแผนตั้งแต่ต้นจนจบไว้เป็นเอกสาร การวางแผนกลยุทธ์ถือว่าเป็นกระบวนการที่โดดเด่นและมีความสำคัญ และจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเมื่อผู้บริหารจะต้องตัดสินใจในเรื่องใหม่ใดๆ เพราะแผนจะช่วยให้ผู้บริหารมีทิศทางที่ชัดเจนที่จะพาองค์กรให้ก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง
ปัญหาการจัดทำกลยุทธ์ตามฐานความคิดนี้อาจเกิดขึ้นกับกลยุทธ์และแผนระยะยาวที่วางล่วงหน้าไว้หลายปีและในระหว่างเวลาดังกล่าวได้มีเหตุการณ์บางสิ่งซึ่งอยู่นอกแผนเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมหรือองค์กร จึงควรนำการวางแผนในสถานการณ์จำลอง (scenario planning) มาใช้เป็นเครื่องมือในการจำทำแผนกลยุทธ์ด้วย
3. การกำหนดตำแหน่งของสินค้าและบริการ (The positioning school)
เน้นที่เนื้อหาสาระของกลยุทธ์พร้อมคำอธิบายกรอบการตัดสินใจ กลยุทธ์มีลักษณะเป็นแนวทางกว้างๆ ที่ระบุตำแหน่งขององค์กรในอุตสาหกรรมและจะสามารถปรับตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ในอุตสาหกรรมนั้นให้ดีขึ้นได้อย่างไร นักวิเคราะห์จึงเป็นผู้มีบทบาทหลักที่สำคัญในกระบวนการสร้างกลยุทธ์ โดยจะเป็นผู้ป้อนผลการคาดหมายให้ผู้บริหารเป็นผู้ตัดสินใจ ตามฐานความคิดนี้ โครงสร้างของตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างขององค์กร
อย่างไรก็ตาม การให้ความสำคัญไปที่ตัวแปรเชิงกลยุทธ์บางตัวมากเกินไป เช่น ส่วนแบ่งการตลาด BCG matrix, 5 Forces แต่มองข้ามศักยภาพที่มีอยู่ภายในองค์กร อาจทำให้สภาพแวดล้อมภายนอกดูน่ากลัวเกินไป ผลที่ได้รับคือกลยุทธ์ที่ผิดไปจากที่ควรเป็น
4. การใช้ความสามารถทางธุรกิจของผู้นำ (The entrepreneur school)
วิสัยทัศน์ของ CEO เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดกลยุทธ์ โดยกลยุทธ์จะสร้างขึ้นมาจากวิสัยทัศน์ของผู้นำว่าองค์กรควรจะพัฒนาต่อไปอย่างไรในอนาคต กระบวนการกำหนดกลยุทธ์เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นขั้นเป็นตอน เน้นไปที่ประสบการณ์ ดุลยพินิจ สติปัญญา และสัญชาติญาณของผู้นำ ผู้นำจะอยู่ใกล้ชิดกับผู้นำกลยุทธ์ไปปฏิบัติเพื่อปรับแผนได้เมื่อจำเป็น องค์กรมีโครงสร้างง่ายๆ เพียงคอยรับคำสั่งของผู้นำ
การสร้างกลยุทธ์จะเป็นการฉกฉวยโอกาสมากกว่าการแก้ปัญหา อำนาจของบุคลากรจะรวมศูนย์อยู่ที่ผู้นำ องค์กรจะมีสภาพอ่อนแอทั้งด้านแผนงานและโครงสร้างการทำงาน แผนงานจะปรับแก้หรือเปลี่ยนตามวิสัยทัศน์ของผู้นำ เป้าหมายขององค์กรคือการเจริญเติบโต ไม่ใช่ประสิทธิภาพการทำงานหรือการลดค่าใช้จ่าย การกำหนดกลยุทธ์โดยอาศัยผู้นำเพียงคนเดียวนี้ ไม่ค่อยมีในวงการธุรกิจ เพราะการจะหา CEO ที่มีทั้งวิสัยทัศน์และความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่าง Steve Jobs, Bill Gates, หรือ Marx Zuckerberg ไม่ใช่จะหาได้ง่ายๆ
5. การทำความเข้าใจในความรู้สึกนึกคิด (The cognitive school)
เป็นการวิเคราะห์ในทางจิตวิทยาว่า มนุษย์ทำความเข้าใจกับเรื่องราวต่างๆ และมีกระบวนการประมวลผลข้อมูลอย่างไร กลยุทธ์ที่ผุดขึ้นในสมองของนักกลยุทธ์จะอยู่ในรูปของแนวคิด แผนผัง แผนงาน และกรอบความจริงที่มีอยู่ เป็นกระบวนการสร้างกลยุทธ์ที่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำความเข้าใจของนักกลยุทธ์แต่ละคน
ฐานความคิดนี้ไม่ค่อยมีคนนำไปใช้ในทางปฏิบัติ เป็นกระบวนการทางความคิดมากกว่าที่จะได้กลยุทธ์อะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากนั้น ผู้บริหารเองก็ไม่ค่อยกล้าทุ่มไปในทิศทางที่นักกลยุทธ์แนะนำเนื่องจากเป็นการจัดทำกลยุทธ์ที่ไม่เป็นระบบและไม่น่าเชื่อถือ ข้อทูลที่ประมวลขึ้นมาก็มีพื้นฐานมาจากความเชื่อของตัวนักกลยุทธ์เอง
6. การเรียนรู้ (The learning school)
ผู้บริหารให้ความสนใจมากเป็นพิเศษกับแนวคิดและการปฏิบัติว่าสิ่งใดใช้ได้ สิ่งใดใช้ไม่ได้ และนำสิ่งที่เรียนรู้มาได้นี้ผนวกเข้าในแผนปฏิบัติการ ตามฐานความคิดนี้ โลกมีความสลับซับซ้อนเกินกว่าจะสร้างกลยุทธ์ให้สำเร็จสมบูรณ์ได้ในคราวเดียว จึงควรกำหนดกลยุทธ์ขึ้นมาทีละขั้นเล็กๆ ตามความสามารถในการปรับตัวหรือการเรียนรู้ขององค์กร นับเป็นทางออกทางหนึ่งในการรับมือกับความซับซ้อนและความผันแปรซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้
การจัดทำกลยุทธ์จึงเป็นกระบวนการการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในทุกพื้นที่ขององค์กร และโดยเหตุที่การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การจัดทำและนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติจึงดูเป็นเรื่องปกติสามัญในงานประจำที่ดูแทบไม่ออกว่ามีการนำกลยุทธ์อะไรมาใช้หรือไม่ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติในรูปการแสดงออกของพฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด ผู้นำจะเป็นผู้มีบทบาทในการจัดกระบวนการเรียนรู้ กลยุทธ์ถูกสร้างจากล่างขึ้นบน เป็นผลมาจากการเรียนรู้ที่ค่อยๆ สะสมเพิ่มพูนขึ้นมาในองค์กร เป็นรูปแบบการสร้างกลยุทธ์ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง แต่เป็นทฤษฎีที่ได้รับการยืนยันจากการทดลองแล้วว่าเกิดขึ้นได้จริง กลยุทธ์ที่สร้างขึ้นมาจากฐานความคิดนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องของการกำหนดตำแหน่งขององค์กรในตลาด แต่เป็นเรื่องการสร้างและยกระดับทรัพยากรจากส่วนล่างขององค์กรขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม การสร้างกลยุทธ์ตามฐานความคิดนี้ก็มีจุดอ่อนให้ต้องพิจารณาในหลายเรื่อง
· แทนที่องค์กรจะสร้างวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่ใช้ปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ องค์กรกลับมาจัดการกับเรื่องปลีกย่อยในระยะสั้นซึ่งในที่สุดแล้วอาจไม่ใช่กลยุทธ์ เป็นเพียงแค่ tactic ในการจัดการกับปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
· กลยุทธ์และแผนงานที่สร้างขึ้นมา อาจไม่ได้รับการเรียนรู้เนื่องจากองค์กรให้ความสนใจไปกับความแตกต่างหลายๆ เรื่องพร้อมกัน
· กระบวนการเรียนรู้อาจตกอยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มความคิด เช่น การคิดตามผู้นำ (group think) ซึ่งจะจำกัดความคิดริเริ่มให้น้อยลง
7. การใช้อำนาจ (The power school)
การสร้างกลยุทธ์เป็นกระบวนการต่อรองระหว่างผู้มีอำนาจทั้งหลายภายในองค์กร และ/หรือ ระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กร การสร้างกลยุทธ์จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดอยู่รอดต่อไปได้ ทุกแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจจะถูกนำมาอภิปราย ช่วยให้อุปสรรคทั้งหลายถูกกำจัดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รูปแบบประชาธิปไตยในการนำเสนอความคิด ทำให้การตัดสินใจที่ได้ ได้รับการยอมรับตามกติกา การสร้างกลยุทธ์ตามฐานความคิดนี้ทำให้ทราบว่าใครมีความเห็นเหมือนกับกลุ่มหรือฝ่ายใด
แต่การเมืองก็ทำให้เกิดความไม่ลงรอยทางความคิด เป็นการใช้เวลาและทรัพยากรไปกับการเจรจาต่อรองหรือชักจูงผู้มีอำนาจอื่นให้ยอมรับแนวคิดหรือมาร่วมกับฝ่ายตน เกิดความสูญเสียทั้งเวลาและโอกาส การยอมรับของผุ้มีอำนาจอีกฝ่ายก็อาจไม่ใช่การยอมรับโดยดุษฎี อาจเกิดคลื่นใต้น้ำ หรือถึงขั้นบ่อนทำลายการปฏิบัติ ให้กลยุทธ์ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย
8. การใช้คุณค่าและวัฒนธรรมองค์กร (The cultural school)
การสร้างกลยุทธ์เป็นกระบวนการรวบรวมและประสานการมีส่วนร่วมของกลุ่มและหน่วยงานทั้งหลายในองค์กร กลยุทธ์ที่สร้างขึ้นมาจึงสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมองค์รวมขององค์กร เป็นการเน้นให้เห็นว่ากระบวนการทางสังคม ความเชื่อ และคุณค่าซึ่งมีอยู่ในองค์กรมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากต่อการตัดสินใจและต่อการสร้างกลยุทธ์
ความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมและกลยุทธ์จะเห็นได้จาก
(1) วัฒนธรรมจะทำหน้าที่เหมือนไส้กรองความคิดในการตัดสินใจของบุคคล เป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการกำหนดกลยุทธ์
(2) ก่อนที่จะเรียนรู้กลยุทธ์ใหม่ องค์กรจำเป็นต้องให้แน่ใจว่าสมาชิกในองค์กร ไม่มีใครยังติดยึดอยู่กับวัฒนธรรมซึ่งเป็นฐานความคิดของกลยุทธ์เก่า ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
(3) การสร้างกลยุทธ์จะเน้นไปที่คุณค่าหลักขององค์กร เช่น นวัตกรรม คุณภาพ จะไม่ฝืนสร้างกลยุทธ์ที่อาจทำให้เกิดข้อขัดแย้งทางวัฒนธรรม
9. ความสำคัญของสภาพแวดล้อม (The environmental school)
เป็นการตอบสนองอิทธิพลของสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีต่อองค์กร ฐานความคิดนี้เชื่อว่าสภาพแวดล้อมภายนอก มีความสำคัญต่อการสร้างกลยุทธ์มากกว่าฐานความคิดอื่น เครื่องมือที่นำมาใช้มากที่สุด คือ การวิเคราะห์สถานการณ์ เพราะสถานการณ์เป็นสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อองค์กรโดยตรง
อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างรวดเร็ว การสร้างกลยุทธ์เพื่อตอบสนองสภาพแวดล้อมจึงเหมือนการวิ่งตามแก้ปัญหา ซึ่งไม่สมเหตุผลและไม่ค่อยได้ผลในทางปฏิบัติ
10. การปรับแต่งสมรรถนะขององค์กร (The configuration school)
เป็นกระบวนการแปลงโครงสร้างการตัดสินใจขององค์กรจากแบบหนึ่ง ไปเป็นอีกแบบหนึ่ง ตามฐานความคิดนี้ กลยุทธ์และการพัฒนาองค์กรมีความใกล้ชิดเกี่ยวข้องกันมากและควรทำให้กลมกลืนสอดรับกัน องค์กรคือสภาวะหรือคุณสมบัติที่ปรับเปลี่ยนสืบทอดมาภายในสภาพแวดล้อมแบบใดแบบหนึ่ง กลยุทธ์ที่สร้างขึ้นมาจึงต้องส่งเสริมความเติบโตก้าวหน้าขององค์กรในสภาพแวดล้อมนั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่มีการปรับตัวตามกลยุทธ์ อาจส่งผลให้องค์กรมีสภาพที่ไม่มั่นคงในระยะสั้นได้ การสร้างกลยุทธ์จึงมักจะเน้นไปที่การรักษาความมั่นคงขององค์กรไว้หรืออย่างน้อยก็เป็นกลยุทธ์ที่สามารถปรับตัวให้รับกับการเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ทำให้องค์กรได้รับผลกระทบที่รุนแรงโดยฉับพลัน แต่จะต้องเป็นกลยุทธ์ที่สามารถปรับเข้ากับสภาพแวดล้อมในช่วงเวลานั้นๆ ได้
ฐานความคิด 10 ประการนี้ แม้จะเป็นฐานในการสร้างกลยุทธ์ระดับองค์กร แต่คำว่ากลยุทธ์ตามความหมายของ Henry Mintzberg ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ใช้ในการพัฒนาองค์กรให้เจริญก้าวหน้าเท่านั้น แต่ยังหมายถึงกลยุทธ์ที่ผู้มีอำนาจต่างๆ ในองค์กรสร้างขึ้นมาโดยอาศัยอำนาจการเมืองภายในองค์กร เพื่อให้เกิดความมั่นคงกับตนเองผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ฐานความคิดในการสร้างกลยุทธ์ที่ Mintzberg นำเสนอ จึงไม่ได้หมายถึงฐานความคิดที่ดีที่ Mintzberg แนะนำให้นำมาใช้ แต่เป็นการประมวลฐานความคิดที่ Mintzberg คิดว่าอยู่เบื้องหลังการสร้างกลยุทธ์เท่านั้น ผู้สนใจจึงควรศึกษาบทความอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับฐานความคิดเหล่านี้ประกอบไปด้วยเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าฐานความคิดใด สมควรนำไปใช้ ในสถานการณ์ใดและในเงื่อนไขอย่างไร
บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ
- Appreciative Inquiry
- BCG Matrix
- Boston Matrix
- Capabilities and Competences
- Cultural Dimensions [Hofstede & Trompenaars]
- Cultural Intelligence
- Game Theory
- Johari Window Model
- Knowledge Management
- Levers of Control [Simons]
- Mission and Vision Statements
- Organizational Learning
- Stakeholder Management
- SWOT Analysis
- Team Leadership Styles
- Value Chain Management
- Whole Brain Model [Herrmann]
---------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น