วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565

10 Common Presentation Mistakes

 


ความผิดพลาดพื้นฐาน 10 ประการ
ในการนำเสนองาน

          เชื่อว่าทุกท่านไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติงานคงได้เคยนำเสนองาน (presentation) ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาบ้าง เช่น การนำเสนอโครงการเพื่อขอรับความเห็นชอบ การรายงานผลการปฏิบัติงาน หรือการฝึกอบรมทั้งแบบภายในและภายนอกองค์กร ในส่วนของผู้บริหาร ภารกิจที่ต้องทำเป็นกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่ง คือ การให้ข้อมูลหรือการแสดงวิสัยทัศน์และโน้มน้าวให้บุคคลที่เกี่ยวข้องยอมรับในสิ่งเหล่านั้น การนำเสนองานที่มีความซับซ้อนในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติงานทุกคนจึงจำเป็นต้องหมั่นฝีกฝนทักษะการนำเสนองานและเรียนรู้ว่าอะไรเป็นข้อผิดพลาดที่ควรหลีกเลี่ยง

          ความผิดพลาดพื้นฐาน 10 ประการในการนำเสนองานที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่คุณควรหลีกเลี่ยงอย่าให้เกิดขึ้นกับการนำเสนองานของคุณเป็นอันขาด

1.  เตรียมตัวมาไม่พอ
          คุณคงเคยเห็นการนำ เสนองานในลักษณะคล้าย talk show ที่พิธีกรขึ้นไปพูดแบบสบายๆ บนเวที มี slide หรือ video ขึ้นบนจอภาพขนาดใหญ่ด้านหลังและเปลี่ยนสัมพันธ์ไปตามจังหวะการบรรยายแบบลื่นไหล มันทำให้รู้สึกว่า การขึ้นไปกล่าวอะไรบนเวทีต่อหน้าผู้ชมเป็นร้อยหรือเป็นพัน ช่างเป็นเรื่องที่ง่ายดายเสียเหลือเกิน แต่ในความเป็นจริง ผู้บรรยายเหล่านั้นล้วนใช้เวลาในการเตรียมตัวและซักซ้อมมานาน บางครั้งเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ระยะเวลาที่ใช้ในการเตรียมการ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น เนื้อหาในการนำเสนอ, ความคุ้นเคยกับข้อมูลที่นำเสนอ, การมีหรือไม่มีทีมงานในการจัดทำ slide หรือ video, ความครบถ้วนของ checklist ที่ใช้ในการวางแผน, รวมไปถึงเพดานบินหรือประสบการณ์ของผู้นำเสนอ ยิ่งผู้นำเสนองานมีเวลาวางแผนและเตรียมการนานเท่าไร การนำเสนอก็จะยิ่งมีคุณภาพและมีความต่อเนื่องที่ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น การนำเสนองานที่เตรียมตัวมาไม่ดีพอ จะสร้างความอึดอัดแก่ผู้ฟังซึ่งอยากให้การนำเสนอนั้นจบลงโดยเร็วที่สุด ในส่วนผู้นำเสนองานเองก็คงจะรับรู้ได้ด้วยตนเองว่าการนำเสนอของตนขาดความต่อเนื่อง ยิ่งเห็นผู้ฟังเกาศีรษะหรือยกนาฬิกาขึ้นมาดูบ่อยครั้ง ก็แทบจะรีบจบๆ และไปเกิดใหม่ให้รู้แล้วรู้รอด ดังนั้น หากคุณไม่อยากตกไปอยู่ในสภาพดังกล่าว ก็ควรให้ความสำคัญกับการเตรียมการในการนำเสนองานให้มากที่สุด

          หากคุณเพิ่งเริ่มนำเสนองานด้วย PowerPoint คุณควรเขียนเรื่องที่จะใช้อธิบายแต่ละ slide เอาไว้ล่วงหน้า เป็นกึ่ง outline กึ่งคำบรรยาย เพื่อช่วยในการกล่าวนำ slide แต่ละอัน อย่างไรก็ตาม การมี script ยังไม่เพียงพอ คุณต้องนำ script นั้นมาท่องและฝึกฝนการนำเสนอซ้ำหลายๆ ครั้งซึ่งจะช่วยให้คุณได้เห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้การนำเสนอของคุณมีความน่าสนใจมากขึ้น เช่น การเว้นจังหวะ การเน้นเสียง การกวาดสายตา การใช้มือประกอบท่าทางการบรรยาย การฝึกฝนการนำเสนอแต่ละครั้ง นอกจากจะช่วยพัฒนาเทคนิคการนำเสนอของคุณให้ดูเป็นธรรมชาติแล้ว ยังช่วยให้คุณได้ทราบว่าเนื้อหาที่เตรียมมามีความเหมาะสมกับเวลาที่กำหนดไว้หรือไม่ หากสิ่งที่คุณเตรียมมาต้องใช้เวลามากกว่าที่กำหนด ก็ควรปรับการนำเสนอให้กระชับ ไม่ใช่รีบร้อนพูดหรือผ่าน slide ไปอย่างไม่ให้ความสำคัญ ในทางตรงข้าม หากพบว่าเรื่องที่คุณเตรียมมามีน้อยกว่าเวลาที่กำหนด ก็ควรเพิ่มเนื้อหา ไม่ใช่นำเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องมาพูด หรือถ่วงเวลาให้หมดๆ ไป

2.  ไม่มาก่อนเวลาเพื่อตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์
          นักกีฬาที่เก่งๆ ล้วนต้องมาศึกษาสนามและสภาพแวดล้อมอย่างน้อย 1-2 วันก่อนการแข่งขัน และหากสามารถลงซ้อมในสนามจริงได้ก็จะถือเป็นโอกาสที่ดี การนำเสนองาน แม้จะไม่ต้องมาก่อนเวลามากมายนัก แต่การมาก่อนเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก็มีความจำเป็น เพราะนอกจากเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสถานที่แล้ว ยังเพื่อตรวจสอบความเข้ากันได้ของอุปกรณ์ทั้งของคุณและของเจ้าของสถานที่ คุณไม่ควรคิดว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการนำเสนองานทุกแห่ง ใช้ได้เหมือนกันหมด ลองสมมุติว่าถ้าปลั๊กเครื่อง notebook ของคุณเกิดเสียบกับเต้าเสียบไม่ได้ หรือ notebook ของคุณซึ่งอัดแน่นไปด้วย slide ที่เตรียมมาเป็นอย่างดีไม่สามารถต่อสัญญาณเข้ากับเครื่อง projector หรือเมื่อกด remote เพื่อเดิน slide แต่ remote ไม่ทำงาน ขณะเดียวกันพิธีกรก็กำลังรอกล่าวเชิญประธานขึ้นเปิดงาน ในสถานการณ์ดังกล่าว แม้ปัญหาต่างๆ จะสามารถแก้ไขได้ภายในเวลาไม่นานนัก แต่คุณก็คงไม่แคล้วที่จะต้องถูกตำหนิที่ไม่มาก่อนเวลาเพื่อตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ อยู่ดี หากผู้ฟังมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อคุณตั้งแต่ยังไม่เริ่มการนำเสนองาน จะเป็นอคติในใจที่จะพาลจ้องจับผิดในเรื่องอื่นๆ ต่อไปอีก หากการนำเสนอของคุณไม่โดดเด่นจริงๆ แล้ว โอกาสที่จะเปลี่ยนทัศนคติเชิงลบของผู้ฟังให้กลายเป็นบวกและกลับมาชื่นชมหรือปลาบปลื้มกับเรื่องที่คุณนำเสนอนั้น เป็นเรื่องที่ยากเอามากๆ

3.  ไม่แจ้งขอบเขตเนื้อหา
          ผู้นำเสนองานบางคน เมื่อขั้นเวทีได้ก็พรั่งพรูเรื่องที่ตนเตรียมมาเป็นฉากๆ โดยไม่ได้คิดเลยว่าผู้ฟังจะสามารถติดตามการนำเสนอของตนได้หรือไม่ ผลที่ได้รับเมื่อเสร็จสิ้นการนำเสนอก็คือ ผู้ฟังไม่สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวที่นำเสนอ และที่แย่ไปกว่านั้นคือ มีความสับสนไม่เข้าใจในเรื่องที่ตนอยากมาหาคำตอบมากขึ้นไปกว่าเดิม

          ผู้นำเสนองานที่ดี ก่อนจะเริ่มการบรรยาย ควรแจ้งให้ผู้ฟังได้ทราบโดยสรุปว่าเป็นการนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับอะไร มีลำดับหัวข้อเป็นอย่างไร มีการพักกี่ครั้ง รูปแบบการนำเสนอจะเป็นแบบบรรยายล้วนหรือมีกิจกรรมที่ผู้ฟังจะมีส่วนร่วมด้วยในลักษณะเช่นใด คาดหวังว่าผู้ฟังจะได้รับความรู้ความเข้าใจในเรื่องหรือประเด็นใดเป็นพิเศษ และจะเปิดโอกาสให้ซักถามได้ตลอดเวลาหรือหลังเสร็จสิ้นการบรรยาย การชี้แจงกรอบการนำเสนอให้ผู้ฟังทราบเสียตั้งแต่เริ่ม จะทำให้ผู้ฟังมีความคุ้นเคยกับเรื่องที่จะรับฟัง เกิดความกระตือรือร้นที่จะติดตาม และเข้าใจบทบาทการมีส่วนร่วมของตน การนำเสนอจะมีบรรยากาศความเป็นกันเอง ผ่อนคลาย และผู้ฟังมีความสนใจที่จะรับรู้ข้อมูลที่นำเสนอมากยิ่งขั้น นอกจากนั้น การแจ้งเป้าหมายที่คาดหวังว่าผู้ฟังจะได้รับ ยังช่วยในการประเมินผลหลังเสร็จการนำเสนอด้วยว่าการนำเสนอบรรลุเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่

4.  ใช้เนื้อหาที่ไม่เหมาะกับระดับความรู้ของผู้ฟัง
          วัตถุประสงค์หลักของการนำเสนอ ก็คือเพื่อถ่ายทอดเนื้อหาเรื่องราวให้ผู้ฟังได้ทราบ อย่างน้อยคุณพอสันนิษฐานได้ว่าผู้ฟังมาเพราะมีความสนใจในหัวข้อที่คุณจะนำเสนอ แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด คุณควรรู้ด้วยว่าผู้ฟังมีความรู้ในเรื่องนั้นมากน้อยเพียงใดอะไรคือความต้องการหรือแรงจูงใจให้พวกเขามาฟังคุณ วิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลดีคือ การทักทายผู้ฟังด้วยคำถามกว้างๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยและประเมินระดับความรู้ความเข้าใจของผู้ฟังเพื่อจะได้จัดเนื้อหาและการใช้คำให้เหมาะกับระดับความรู้ของผู้ฟัง

          ในการนำเสนอ คุณควรหลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์เฉพาะวงการ (jargon) เว้นแต่เป็นคำที่รู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลาย และหากไม่ใช้จะสร้างความไขว้เขวหรือเข้าใจผิดในสิ่งที่คุณต้องการจะแจ้งให้ทราบ อย่างไรก็ตาม ก็ควรถามย้ำให้แน่ใจก่อนดำเนินเรื่องต่อไปว่า ผู้ฟังเข้าใจความหมายของศัพท์เฉพาะหรือคำย่อ (acronym) ทั้งหลายที่นำมาใช้นั้นหรือไม่ จริงอยู่ที่การใช้คำย่อและศัพท์เฉพาะวงการ ช่วยคุณประหยัดเวลาในการนำเสนอ แต่จะมีประโยชน์อะไรถ้าการประหยัดเวลาของคุณทำให้ผู้ฟังต้องเสียสมาธิไปกับการถอดคำย่อหรือทบทวนความหมายของศัพท์เฉพาะเหล่านั้นและติดตามการนำเสนอของคุณได้ไม่ต่อเนื่อง

5.  น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง
          การนำเสนอที่กระชับได้เนื้อหาสาระ ดีกว่าการนำเสนอที่ลากยาวไปเรื่อยๆ แบบน้ำท่วมทุ่ง แต่หาสาระไม่ได้ การนำเสนอควรมีประเด็นที่สำคัญเพียงสองสามประเด็นและรีบเข้าสู่ประเด็นเหล่านั้นก่อนที่ผู้ฟังจะหมดความสนใจที่จะติดตาม มีผู้เคยศึกษาในเรื่องระยะความสนใจที่ผู้ฟังจะมีต่อการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ และพบว่า ผู้ฟังที่เป็นผู้ใหญ่จะมีช่วงเวลาในการให้ความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉลี่ยเพียงประมาณ 15-20 นาที ดังนั้น หากคุณต้องการให้ผู้ฟังติดตามการนำเสนอของคุณตั้งแต่ต้นจนจบ คุณต้องสร้างความสนใจใหม่ขึ้นมาในทุก 15-20 นาที ด้วยการวางแผนการนำเสนอว่า ในแต่ละช่วงจะมีประเด็นอะไรบ้าง จะเปิดประเด็นนั้นด้วยวิธีใดหรือด้วยกิจกรรมอะไร จะรักษาความสนใจของผู้ฟังให้ต่อเนื่องและสรุปเนื้อหาในแต่ละประเด็นอย่างไร ที่สำคัญจะต้องแน่ใจว่าประเด็นที่นำเสนอเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ผู้ฟังต้องการ

          คุณต้องขยายความประเด็นที่นำเสนอเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจว่าข้อมูลนั้นมีความหมายอย่างไร ไม่ใช่เพียงแค่นำเสนอว่าข้อมูลนั้นมีเนื้อหาว่าอะไร คุณควรวิเคราะห์และอธิบายว่าทำไมสิ่งนี้จึงเกิดขึ้นและจะส่งผลอย่างไรในอนาคต การนำเสนอที่ดีจึงไม่เน้นที่ปริมาณข้อมูล แต่จะเป็นการสร้างสมดุลระหว่างข้อมูล (information) กับความเข้าใจในข้อมูล (insight) สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ ต้องไม่นำเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องมาปะปน หากเมื่อใดทีคุณจะออกนอกเรื่องหรือต้องการชวนคุย ควรแจ้งให้ผู้ฟังทราบก่อนเพื่อปรับอารมณ์ในการรับฟังและไม่สับสนกับสิ่งที่คุณนำเสนอ

6.  ใช้สื่อไม่เป็น
          สื่อซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุดอย่างหนึ่งในการนำเสนองาน คือ PowerPoint เพราะสามารถแสดงได้ทั้งภาพ ข้อความ และลูกเล่นเคลื่อนไหว รวมทั้งสามารถ link ภาพ slide เข้ากับ video และเสียงบันทึกต่างๆ ได้ด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้นำเสนองานบางคนไม่พิถีพิถันในการใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพนี้ เช่น ใช้สีพื้นของ slide หรือสีตัวอักษรที่ไม่เข้ากับแสงในห้อง, ใช้ font ที่อ่านยากหรือขนาดเล็กเกินไป, ใช้ภาพที่มี pixel น้อย เมื่อนำมาเข้า projector จึงแตกหรือซีด, ใช้ animation ที่มีตัวอักษรหรือภาพ วิ่งเข้าวิ่งออกหรือหมุนวนพร้อมมีเสียงครืดคราดโดยไม่จำเป็น สิ่งเหล่านี้นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้การนำเสนอมีความน่าสนใจมากขึ้นแต่อย่างใดแล้ว ยังทำให้เข้าใจไปได้ว่า คุณค่าของเรื่องที่นำเสนอคงน้อยเสียจนต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้มาประกอบ

          Slide ที่ดีในการนำเสนองาน คือ slide ที่ดูง่ายที่สุด สื่อความหมายอย่างตรงไปตรงมา ใน slide ชิ้นหนึ่ง ควรสื่อข้อความหรือชี้ประเด็นเพียงเรื่องเดียวซึ่งจะช่วยให้คุณบีบเรื่องที่นำเสนอได้กระชับ และผู้ฟังสามารถ focus ความสนใจในเรื่องนั้นได้ชัดเจน

7.  ใช้ slide ที่มีตัวอักษรแน่นเกินไป
          หลักพื้นฐานในการนำเสนองานด้วย PowerPoint คือ ต้องทำให้ดูง่าย เข้าใจง่าย ไม่ควรอัดข้อความเข้าไปใน slide จนแน่นเป็นพรืด ยังไงๆ คุณก็ต้องอธิบาย slide นั้นอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นอะไรต้องใส่ข้อความอะไรลงไปใน slide ให้มากมาย แต่ละ bullet ควรมีเฉพาะคำสำคัญที่แสดงให้ผู้ชมเห็นว่า เรื่องที่กำกับด้วย bullet แต่ละรายการมีความแตกต่างกันอย่างไรจึงต้องใช้คนละ bullet เท่านั้น แต่ละ slide ไม่ควรมีมากกว่า 3-4 bullets เพื่อให้ slide ของคุณมีความโล่ง และมีหัวเรื่องปรากฏอยู่บน screen ไม่มากจนเกินที่จะจดจำ สำหรับจำนวน slide ที่จะใช้ในการนำเสนอ ควรคัดสรรเฉพาะที่มีความสำคัญและไม่ควรเกิน 10 slides ต่อการนำเสนอครึ่งชั่วโมงซึ่งเมื่อพ้นครึ่งชั่วโมงแล้ว คุณควรพักการใช้ slide มาเป็นการนำเสนอด้วยวิธีอื่น เช่น ถ้าเป็นการฝึกอบรม ก็เป็นการทำกิจกรรมกลุ่ม ถ้าเป็นการประชุมหรือสัมมนา ก็เป็นการตั้งคำถามให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็น

8.  พูดฟังไม่ได้ศัพท์
          ในวันหนึ่งๆ เรามีการพูดคุยกับคนต่างๆ มากมาย แต่พอขึ้นไปพูดบนเวทีหรือต่อหน้าผู้ฟังจำนวนมากกลับพูดไม่ออก ซึ่งไม่นับเป็นเรื่องแปลกอะไรเพราะการพูด เป็นทักษะที่ต้องการการฝึกฝน เหตุที่คุณพบความแตกต่างในการพูดสองสถานการณ์นั้น เป็นเพราะคุณได้ฝึกฝนมาเฉพาะการพูดระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่ม หรือกับเพื่อนฝูงที่สนิทกัน แต่การพูดต่อหน้าผู้ฟังจำนวนมาก เป็นสภาพแวดล้อมที่คุณอาจไม่ได้ฝึกมา หรือฝึกมาแต่ยังไม่มากพอ

          เป้าหมายของการนำเสนองาน ไม่ว่าจะมีผู้ฟังมากน้อยเพียงใด ก็คือการทำให้ผู้ฟังเข้าใจในสิ่งที่คุณนำเสนอ คุณต้องทำให้ผู้ฟังแต่ละคนรู้สึกว่าคุณกำลังพูดกับเขาโดยตรง มีความเชื่อมั่นทั้งต่อตัวคุณและเรื่องราวที่คุณนำเสนอ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากคุณก้มหน้าก้มตาพูด อ่าน note หรือ slide ด้วยความประหม่าหรือขาดความมั่นใจ วิธีที่แนะนำให้ใช้กันทั่วไป คือ การสูดหายใจลึกๆ ให้อ็อคซิเจนขึ้นไปเลี้ยงสมองให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการลดความเครียดและทำให้หัวใจเต้นช้าลง คุณต้องพูดให้หนักแน่น ชัดถ้อยชัดคำ อย่าหันหลังอธิบายข้อมูลบน screen ให้ผู้ฟังโดยคิดว่าจะช่วยหลบสายตาผู้ฟังที่กำลังจับจ้องมาที่ตน เทคนิคนี้ช่วยได้ก็ไม่นานเพราะสุดท้ายแล้วคุณก็หนีการเผชิญหน้าไปไม่พ้น ตรงกันข้าม คุณควรใช้การสบตาผู้ฟังและพูดกับตนเองว่า เขาเหล่านั้นกำลังมาเรียนรู้สิ่งที่คุณรู้มากกว่าเขา อย่าปล่อยให้จิตปรุงแต่งไปในทางลบ การเปลี่ยนมาใช้การตั้งคำถามสั้นๆ เช่น เกี่ยวกับอายุงานของผู้ฟัง หรือสินค้าขององค์กร ก็เป็นเทคนิคที่ดีอีกเทคนิคหนึ่ง เพราะการที่ผู้ฟังสามารถตอบคำถามของคุณได้โดยไม่มีความประหม่าเหมือนอย่างที่คุณเป็น จะทำให้คุณมองเห็นข้อผิดพลาดจากอุปทานความกลัวที่คุณสร้างขึ้นมาเอง และสามารถผ่านสถานการณ์ที่อึดอัดนี้ไปได้ในที่สุด

9.  ไม่สร้างอารมณ์คล้อยตาม
          ความผิดพลาดพื้นฐานอีกอย่างหนึ่งที่มักพบเห็นบ่อยครั้งในการนำเสนองาน คือ การไม่เชื่อมโยงผู้ฟังเข้ากับเรื่องที่นำเสนอ การนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ไม่ได้เป็นเพียงการนำข้อมูลหรือข้อเท็จจริงมาแจ้งให้ทราบ แต่จะต้องดึงผู้ฟังให้มีอารมณ์ร่วมไปกับเนื้อหาที่นำเสนอด้วย คุณจะต้องพยายามสอดแทรกอารมณ์เข้าไปในการนำเสนอ ไม่ว่าจะด้วยการแสดงภาพ สถิติตัวเลข ข้อเท็จจริงที่อาจไม่ค่อยมีผู้รู้ หรือข้อขัดแย้งทั้งหลายที่มีอยู่ การเล่าเรื่องหรือการเปรียบเทียบเรื่องราวเหตุการณ์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้การนำเสนอของคุณมีความเด่นชัดมากขึ้น วิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลเป็นอย่างดี คือ การใช้ชุดคำถามแบบ 5W เช่น อะไรคือความหมายที่แท้จริงของเรื่องที่นำเสนอ ทำไมเราจึงต้องมาทำความเข้าใจในเรื่องนี้ สิ่งที่นำเสนอนี้นี้จะนำไปใช้ได้อย่างไรจึงเกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อผู้ฟังมีส่วนร่วมในการตอบคำถามแล้ว การสอดแทรกตัวอย่าง หรือคำคม เพื่อดึงผู้ฟังให้มีส่วนร่วมทางอารมณ์ก็จะทำได้ไม่ยากนัก อารมณ์ร่วมจะเป็นสิ่งที่ประทับในความทรงจำและผู้ฟังสามารถนำไปใช้ปฏิบัติตามธรรมชาติได้โดยไม่ต้องจดหรือท่องจำ และนับเป็นความสำเร็จในการนำเสนอในทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นในเชิงวิชาการ การขายสินค้า หรือแม้แต่การรายงานผลการปฏิบัติงาน

10.  ไม่สบตาผู้ฟัง
          ผู้นำเสนอบางคนกลัวการถูกจับจ้องมองมาที่เขา จึงใช้วิธีมองแต่โน้ตที่เตรียมมาและ PowerPoint บน screen เมื่อมีผู้ฟังถาม ก็ตอบโดยก้มหน้ามองพื้นหรือเงยหน้ามองเพดานในลักษณะครุ่นคิด การพูดคุยโดยไม่สบตา เป็นลักษณะของผู้ที่กำลังพูดเท็จหรือกำลังปกปิดอะไรบางอย่าง ไม่ว่าผู้นำเสนอจะตั้งใจเช่นนั้นหรือไม่ก็ตาม แต่ผู้ฟังคงอดคิดเช่นนั้นไม่ได้ การนำเสนอที่ดี ผู้นำเสนอควรสบตาผู้ฟังไปรอบๆ เพื่อแสดงความจริงใจ เปิดเผย และเป็นการสังเกตภาษากายของผู้ฟังไปด้วยในเวลาเดียวกัน ในกรณีที่มีผู้ฟังน้อย ควรสบตาผู้ฟังให้ครบทุกคน แต่ถ้ามีผู้ฟังมาก ควรมองไปที่หน้าผากของพวกเขา วิธีนี้จะช่วยให้คุณกวาดสายตาไปได้หลายๆ เที่ยวโดยไม่ลายตา

          บทความที่เกี่ยวข้องซึ่งขอแนะนำให้อ่านประกอบ

  • 7 C’s of Effective Communication
  • Better Public Speaking
  • Body Language
  • Centering
  • Creating Effective Presentation Visuals
  • Jargon Busting
  • Keep It Simple, Stupid (KISS)
  • Managing Presentation Nerves
  • Physical Relaxation Techniques
  • Presentation Planning Checklist
  • Questioning Techniques
  • Risk Analysis
  • Storytelling
  • การวางแผนการสื่อสาร
  • การสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง
  • ทักษะการตอบคำถามเฉพาะหน้า
---------------------------------




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น